ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 28 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2501
ความสัมพันธไมตรีอันดีระหว่างไทยกับกัมพูชาซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงและสนิทสนมกันมาแต่โบราณกาลเสมือนพี่น้องได้เสื่อมคลายลงในระยะหลังนี้ เริ่มแต่ได้มีการเรียกร้องเขาพระวิหาร ดินแดนส่วนหนึ่งของไทย ไปเป็นของกัมพูชา แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ประเทศไทยต้องตกเป็นเป้าแห่งการโจมตีของวิทยุกระจายเสียงและหนังสือพิมพ์ในพนมเปญเรื่อยมา โดยรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ดำเนินการใด ๆ ให้เป็นที่เสียหายแก่กัมพูชาเลย แม้กระทั่งเมื่อคณะปฏิวัติได้เข้าควบคุมการบริหารประเทศแล้ว ก็ยังมีความเชื่อมั่นอยู่ว่า ยังมีหนทางเจรจาเพื่อหาโอกาสทำความเข้าใจกันได้ และสถานการณ์คงจะคลี่คลายไปในทางดีขึ้นในอนาคตอันใกล้ แต่ในที่สุด รัฐบาลกัมพูชาก็กลับเป็นฝ่ายที่ริเริ่มตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทย โดยเหตุผลง่าย ๆ จนเป็นที่ประหลาดใจแก่วงการเมืองทั่วไปเป็นอย่างยิ่ง และไม่ทราบว่าจะมีแผนการณ์ร้ายใด ๆ แฝงอยู่หรือไม่
โดยที่คณะปฏิวัติถือว่า ความปลอดภัยของประเทศไทยและประชาชนชาวไทยมีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น และจากผลแห่งการตระเวนตรวจสอบความปลอดภัยตลอดชายแดนนับแต่จังหวัดอุบลราชธานีจนถึงจังหวัดตราดโดยรอบคอบ เห็นว่า นอกจากปิดพรมแดนโดยเด็ดขาดแล้ว ยังจำเป็นจะต้องทวีการป้องกันชายแดนให้มากยิ่งขึ้นอีก ฉะนั้น
๑.ให้หน่วยป้องกันชายแดนทุกหน่วยและทุกแห่งอยู่ในฐานะเตรียมพร้อมที่จะเผชิญกับการรุกรานหรือการละเมิดใด ๆ ได้ทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นการล่วงล้ำชายแดนหรือการปฏิบัติเยี่ยงโจรต่อประชาชนชาวไทย จะต้องได้รับการต่อต้านและปฏิบัติตอบอย่างเด็ดขาดและรุนแรงที่สุด
๒.ให้กรมตำรวจจัดกำลังตำรวจตระเวนชายแดนไปเพิ่มที่เขาพระวิหารอีก ๖ เท่าจากที่มีกำลังรักษาอยู่เดิมโดยเร็วที่สุด และให้ถือว่าเป็นผืนแผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวไทยที่ชนชาติอื่นจะล่วงล้ำและละเมิดไม่ได้
ในการนี้ ให้ชักธงชาติไทยขึ้นไว้ให้เห็นโดยชัดเจน
จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
หัวหน้าคณะปฏิวัติ
บรรณานุกรม
แก้ไข- "ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 28 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2501". (2501, 27 พฤศจิกายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 75, ตอน 100 ก, ฉบับพิเศษ. หน้า 1–2.
งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
- ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
- แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก