ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๕ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕
ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๔ และ ๒๕ ลงวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ จัดตั้งนครหลวงกรุงเทพธนบุรีและเทศบาลนครหลวงขึ้นมาบริหารราชการให้ดำเนินไปโดยประหยัด มีประสิทธิภาพ บังเกิดความเจริญแก่นครหลวงกรุงเทพธนบุรี และให้สอดคล้องกับนโยบายของการบริหารราชการส่วนกลางยิ่งขึ้น ซึ่งปรากฎว่าบังเกิดผลดีมาเป็นลำดับ แต่โดยที่นครหลวงกรุงเทพธนบุรี เป็นมหานครมีประชากรอยู่หนาแน่นและเป็นศูนย์รวมของกิจการต่าง ๆ มีความจำเป็นที่จะต้องจัดรูปการปกครองและการบริหารให้มีลักษณะพิเศษ เพื่อให้การพัฒนานครหลวงกรุงเทพธนบุรีมีประสิทธิภาพโดยการปรับปรุงระเบียบบริหารราชการ ส่วนราชการและแบ่งขอบเขตท้องที่การปกครองให้มีเจ้าหน้าที่ที่สามารถทำงานแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้น สามารถบริการอำนวยสะดวกและเข้าถึงประชาชนในเขตนครหลวงกรุงเทพธนบุรีโดยแท้จริงและรวดเร็ว หัวหน้าคณะปฏิวัติจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ให้เรียกนครหลวงของประเทศไทยว่า "กรุงเทพมหานคร"
กรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๕ มีเขตท้องที่ตามที่นครหลวงกรุงเทพธนบุรีมีอยู่ในวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับ
ข้อ ๒ การจัดระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้
ข้อ ๓ กรุงเทพมหานครมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารตามนโยบายของรัฐบาล มติคณะรัฐมนตรี และคำสั่งของนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้เหมาะสมกัท้องที่และประชาชน และเป็นหัวหน้าบังคับบัญชาบรรดาข้าราชการและลูกจ้างของกรุงเทพมหานคร และจะให้มีรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้ช่วยปฏิบัติราชการแทนก็ได้
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการของกรุงเทพมหานคร และมีอำนาจหน้าที่ตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กำหนด
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นข้าราชการการเมือง แต่งตั้งและถอดถอนโดยคณะรัฐมนตรี
ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีสิทธิเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี ตามที่นายกรัฐมนตรีกำหนด
ข้อ ๔ ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีผู้ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหลายคน ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ให้ปลัดกรุงเทพมหานครเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีปลัดกรุงเทพมหานครหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งข้าราชการชั้นพิเศษในกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รักษาราชการแทน
ข้อ ๕ กรุงเทพมหานครนอกจากมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและหรือรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้มีปลัดกรุงเทพมหานครคนหนึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมราชการประจำกรุงเทพมหานคร กำกับ เร่งรัด ติดตามผลการปฏิบัติราชการของหน่วยงานต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร และเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการของกรุงเทพมหานครรองจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และจะให้มีรองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการรองจากปลัดกรุงเทพมหานครก็ได้
ข้อ ๖ ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีอำนาจหน้าที่ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด กฎหมายว่าด้วยเทศบาล กฎหมายว่าด้วยสุขาภิบาล และกฎหมายอื่น กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเทศมนตรี คณะเทศมนตรีแล้วแต่กรณี ทั้งนี้ เว้นแต่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้จะได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
ข้อ ๗ อำนาจในการสั่งหรือการอนุญาต การให้อนุมัติหรือการปฏิบัติราชการที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะพึงปฏิบัติหรือดำเนินตามกฎหมายใด ถ้ากฎหมายว่าด้วยการนั้นมิได้บัญญัติในเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะมอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือให้รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปลัดกรุงเทพมหานครหรือหัวหน้าเขต ปฏิบัติราชการแทนในนามผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก็ได้ แต่ถ้าจะมอบอำนาจให้หัวหน้าแขวงปฏิบัติราชการแทนต้องให้ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก่อน
การมอบอำนาจตามวรรคหนึ่ง ให้ประกาศในเทศกิจจานุเบกษาของกรุงเทพมหานคร
ข้อ ๘ กรุงเทพมหานครมีสภากรุงเทพมหานครซึ่งประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งเขตละหนึ่งคน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งมีจำนวนเท่ากับจำนวนเขตในกรุงเทพมหานคร
สมาชิกสภากรุงเทพมหานครให้อยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปีนับตั้งแต่วันเปิดประชุมสภากรุงเทพมหานครครั้งแรก แต่ถ้าตำแหน่งสมาชิกว่างลงเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวออกตามวาระ ให้เลือกตั้งหรือแต่งตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครให้เต็มตำแหน่งที่ว่างภายในกำหนดเก้าสิบวัน แต่สมาชิกสภากรุงเทพมหานครที่เข้ามาแทนนั้นให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ซึ่งตนแทน
ถ้าตำแหน่งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครว่างลงก่อนถึงกำหนดออกตามวาระไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน จะไม่เลือกตั้งหรือแต่งตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครแทนตำแหน่งที่ว่างนั้นก็ได้
ข้อ ๙ สมาชิกภาพแห่งสภากรุงเทพมหานครย่อมสิ้นสุดลงเมื่อ
( ๑ ) ถึงคราวออกตามวาระ หรือยุบสภากรุงเทพมหานคร
( ๒ ) ลาออกโดยยื่นใบลาออกต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือ
( ๓ ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสั่งให้ออกโดยเห็นว่ามีความประพฤติในทางจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่ง หรือเสื่อมเสียแก่ราชการกรุงเทพมหานครหรือกระทำการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือไม่มาประชุมสภากรุงเทพมหานครสามครั้งติดกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
ข้อ ๑๐ ให้สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเลือกประธานสภาคนหนึ่งและรองประธานสภาไม่เกินสองคน
การประชุมสภากรุงเทพมหานคร ให้เป็นไปตามข้อบังคับว่าด้วยการประชุมสภากรุงเทพมหานคร
ในระหว่างที่ยังไม่มีข้อบังคับตามวรรคสอง ให้นำข้อบังคับว่าด้วยการประชุมสภาจังหวัดมาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ ๑๑ สภากรุงเทพมหานครมีอำนาจตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครโดยไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมาย เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้
ในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนั้นจะกำหนดโทษผู้ละเมิดข้อบัญญัติไว้ด้วยก็ได้ บทกำหนดโทษมิให้กำหนดโทษจำคุกเกินหนึ่งเดือน หรือปรับเกินกว่าห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับเกินกว่านี้
ข้อ ๑๒ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้เสนอร่างข้อบัญญัติ
ร่างข้อบัญญัติที่ได้เห็นชอบของสภากรุงเทพมหานครแล้วให้ประธานสภากรุงเทพมหานครเสนอผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเพื่อลงนาม และเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและเทศกิจจานุเบกษาของกรุงเทพมหานครแล้วให้ใช้บังคับได้
ร่างข้อบัญญัติใดที่ไม่มีกำหนดโทษ ถ้าสภากรุงเทพมหานครไม่เห็นชอบด้วย ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเสนอร่างข้อบัญญัตินั้น ให้สภากรุงเทพมหานครพิจารณาใหม่ภายในกำหนดสามสิบวัน นับแต่วันที่สภากรุงเทพมหานครไม่เห็นชอบด้วย ถ้าสภากรุงเทพมหานครยืนยันตามเดิม ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณา ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นชอบด้วย ก็ให้ส่งร่างข้อบัญญัตินั้นคืนให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครลงนามประกาศใช้บังคับ ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไม่เห็นชอบด้วยร่างบัญญัติเป็นอันตกไป
ข้อ ๑๓ ให้แบ่งพื้นที่กรุงเทพมหานครออกเป็นเขต มีหัวหน้าเขตคนหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการปฏิบัติราชการภายในเขต และเป็นหัวหน้าปกครองบังคับบัญชาบรรดาข้าราชการภายในเขต
ข้อ ๑๔ ในเขตหนึ่งนอกจากจะมีหัวหน้าเขตเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาและรับผิดชอบดังกล่าวในข้อ ๑๓ จะมีผู้ช่วยหัวหน้าเขตเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ และช่วยหัวหน้าเขตปฏิบัติราชการแทนก็ได้
ข้อ ๑๕ ในเขตหนึ่ง ๆ จะแบ่งออกเป็นแขวงเพื่อให้มีหัวหน้าแขวงคนหนึ่งเป็นผู้ช่วยรับผิดชอบการปฏิบัติราชการภายในแขวง และเป็นหัวหน้าปกครองบังคับบัญชาบรรดาข้าราชการภายในแขวง และจะมีผู้ช่วยหัวหน้าแขวงเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและช่วยหัวหน้าแขวงปฏิบัติราชการแทนก็ได้
ข้อ ๑๖ ให้หัวหน้าเขตปฏิบัติราชการโดยขึ้นตรงต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและให้หัวหน้าแขวงขึ้นตรงต่อหัวหน้าเขต
ข้อ ๑๗ การแบ่งกรุงเทพมหานครออกเป็นเขตให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
การแบ่งเขตออกเป็นแขวง ให้กระทำเป็นประกาศของกระทรวงมหาดไทย
ในระหว่างที่ยังไม่ได้แบ่งเขตตามวรรคหนึ่ง หรือแบ่งเขตออกเป็นแขวงตามวรรคสองให้ถือเขตอำเภอเป็นเขตตามข้อ ๑๓ และเขตตำบลเป็นเขตแขวงตามข้อ ๑๕
ข้อ ๑๘ ให้หัวหน้าเขตมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด กฎหมายว่าด้วยเทศบาล กฎหมายว่าด้วยสุขาภิบาล กฎหมายอื่นได้กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอ หัวหน้าแขวงเขตเทศบาลนครหลวง ประธานกรรมการและคณะกรรมการสุขาภิบาล และตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมอบหมาย
ในกรณีที่เห็นเป็นการสมควร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอาจสั่งให้รวมอำนาจหน้าที่ใดของเขตใดเข้าด้วยกันและให้หัวหน้าเขตใดเป็นผู้รับผิดชอบในอำนาจหน้าที่นั้นก็ได้
ข้อ ๑๙ ให้หัวหน้าแขวงมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมาย ระเบียบ คำสั่งที่ได้กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกำนันผู้ใหญ่บ้าน ไปพลางก่อนจนกว่าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงหรือมอบหมาย
ในกรณีที่เห็นเป็นการสมควร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอาจสั่งให้หัวหน้าแขวงใดรับผิดชอบและปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าแขวงอื่นอีกด้วยก็ได้
ข้อ ๒๐ ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และสารวัตรกำนัน ในเขตอำเภอชั้นนอกคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีคำสั่งยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลง
ให้กำนันเป็นหัวหน้าแขวงโดยตำแหน่งจนกว่ากระทรวงมหาดไทยจะประกาศยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลง
ประกาศตามความในวรรคหนึ่งให้ลงในเทศกิจจานุเบกษาของกรุงเทพมหานคร
ข้อ ๒๑ ให้จัดระเบียบราชการของกรุงเทพมหานครดังนี้
( ๑ ) สำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
( ๒ ) สำนักงานปลัดกรุงเทพมหานคร
( ๓ ) หน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น
การจัดระเบียบตามความในวรรคหนึ่งให้ทำเป็นประกาศกระทรวงมหาดไทย และประกาศในราชกิจจานุเบกษาและเทศกิจจานุเบกษาของกรุงเทพมหานคร
ข้อ ๒๒ งบประมาณประจำปีของกรุงเทพมหานคร ต้องตราเป็นข้อบัญญัติ ถ้าข้อบัญญัติออกไม่ทันปีใหม่ให้ใช้ข้อบัญญัติงบประมาณปีก่อนนั้นไปพลาง
ข้อ ๒๓ รายได้ และรายจ่ายของกรุงเทพมหานครให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นรายได้และรายจ่ายของนครหลวงกรุงเทพธนบุรี องค์การบริหารนครหลวงกรุงเทพธนบุรี เทศบาลนครหลวง และสุขาภิบาลต่าง ๆ ในเขตนครหลวงกรุงเทพธนบุรีหรือที่จะได้มีกฎหมายกำหนดให้
ข้อ ๒๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลกรุงเทพมหานคร และมีอำนาจสั่งยุบสภากรุงเทพมหานครได้
ข้อ ๒๕ ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ งบประมาณของนครหลวงกรุงเทพธนบุรี องค์การบริหารนครหลวงกรุงเทพธนบุรี เทศบาลนครหลวง สุขาภิบาลต่าง ๆ ในเขตนครหลวงกรุงเทพธนบุรี ไปเป็นของกรุงเทพมหานคร
ข้อ ๒๖ ให้โอนบรรดาข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างขององค์การบริหารนครหลวงกรุงเทพธนบุรี เทศบาลนครหลวง สุขาภิบาลในเขตนครหลวงกรุงเทพธนบุรี ไปเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างของกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี
ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานครใช้บังคับ ให้นำกฎหมายและระเบียบว่าด้วยข้าราชการพลเรือน ข้าราชการส่วนจังหวัด พนักงานเทศบาล พนักงานสุขาภิบาล และลูกจ้าง มาใช้บังคับแก่บุคคลเหล่านั้นโดยอนุโลม แล้วแต่กรณี
ข้อ ๒๗ ให้บรรดาข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้าง ของนครหลวงกรุงเทพธนบุรี องค์การบริหารนครหลวงกรุงเทพธนบุรี พนักงานเทศบาลและลูกจ้างของเทศบาลนครหลวงและพนักงานและลูกจ้างของสุขาภิบาลในเขตนครหลวงกรุงเทพธนบุรี คงปฏิบัติงานของกรุงเทพมหานครต่อไปตามที่เคยปฏิบัติ ณ สถานที่เดิมจนกว่ากรุงเทพมหานครจะสั่งเปลี่ยนแปลง
การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการภาษีอากร การทะเบียน และการอื่น ๆ รวมทั้งการติดต่อประสานงานให้ดำเนินไปเช่นเดิมจนกว่าจะมีกฎหมายหรือคำสั่งเปลี่ยนแปลง
ข้อ ๒๘ ให้บรรดาคำสั่งของนครหลวงกรุงเทพธนบุรี ข้อบัญญัติขององค์การบริหารนครหลวงกรุงเทพธนบุรี เทศบัญญัติเทศบาลนครหลวง ข้อบังคับสุขาภิบาล ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือประกาศของหน่วยงานดังกล่าวซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันประกาศให้ใช้บังคับประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับต่อไปในเขตพื้นที่เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ จนกว่าจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง
ข้อ ๒๙ บทบัญญัติแห่งกฎหมาย ระเบียบหรือข้อบังคับใดอ้างถึงจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล ให้ถือว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คำสั่ง ระเบียบ หรือข้อบังคับนั้นอ้างถึงกรุงเทพมหานครเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับประกาศของปฏิวัติฉบับนี้
ข้อ ๓๐ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร และประกาศ หรือคำสั่งซึ่งมีผลใช้บังคับกับประชาชนหรือควรให้ประชาชนทราบ ให้ประกาศในเทศกิจจานุเบกษาของกรุงเทพมหานคร
ข้อ ๓๑ ให้สมาชิกสภานครหลวงกรุงเทพธนบุรี สมาชิกสภาเทศบาลนครหลวงและกรรมการสุขาภิบาลในเขตนครหลวงกรุงเทพธนบุรี ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับพ้นจากตำแหน่ง
ข้อ ๓๒ ภายใต้ข้อบังคับข้อ ๓๔ ให้นายกเทศมนตรี เทศมนตรีแห่งเทศบาลนครหลวง ประธานกรรมการสุขาภิบาล และรองประธานกรรมการสุขาภิบาล ในเขตนครหลวงกรุงเทพธนบุรี ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับพ้นจากตำแหน่ง
ข้อ ๓๓' ในสี่ปีแรกของการจัดตั้งกรุงเทพมหานครให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครแทนการเลือกตั้งตามจำนวนที่ระบุไว้ในข้อ ๘
ข้อ ๓๔ ในระหว่างที่ยังมิได้มีการแต่งตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ผู้ว่าราชการนครหลวงกรุงเทพธนบุรี นายกเทศมนตรีเทศบาลนครหลวง เทศมนตรีเทศบาลนครหลวง คงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามเดิมจนกว่าจะมีคำสั่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ข้อ ๓๕ ในระหว่างที่ยังมิได้แต่งตั้งหัวหน้าเขตให้นายอำเภอและประธานกรรมการสุขาภิบาลในเขตนครหลวงกรุงเทพธนบุรีคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามเดิมจนกว่าจะมีการแต่งตั้งหัวหน้าเขต
ข้อ ๓๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้
ข้อ ๓๗ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
- ประกาศ ณ วันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕
- จอมพล ถ. กิตติขจร
- หัวหน้าคณะปฏิวัติ
เชิงอรรถ
แก้ไข- ↑ ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา/เล่ม ๘๙/ตอน ๑๙๐ ง พิเศษ/หน้า ๑๘๗๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"