ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2501

ประกาศของคณะปฏิวัติ
ฉบับที่ ๓

โดยที่คณะปฏิวัติเห็นสมควรที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเสียใหม่ให้เป็นไปด้วยความเหมาะสม ฉะนั้น ในชั้นนี้ จึงให้

๑. ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๙๕

๒. สภาผู้แทนราษฎร สมาชิกภาพแห่งสภาผู้แทนราษฎร และคณะรัฐมนตรี เป็นอันสิ้นสุดลง

๓. ศาลทั้งหลายคงมีอำนาจดำเนินการพิจารณาและพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามบทกฎหมายเช่นเดิมทุกประการ

๔. คณะปฏิวัติจะได้รับภาระบริหารประเทศ โดยมีกองบัญชาการปฏิวัติ ซึ่งมีจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติในนามของปวงชนชาวไทย เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดรักษาสถานการณ์ทั่วราชอาณาจักร ทั้งนี้ จนกว่าจะได้ตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่

๕. ให้ปลัดกระทรวงทุกกระทรวงรักษาการในหน้าที่ และบรรดาอำนาจที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ว่า เป็นอำนาจของรัฐมนตรี ให้เป็นอำนาจของปลัดกระทรวง การปฏิบัติงาน ให้ขึ้นตรงต่อหัวหน้าปฏิวัติ ราชการใด ๆ เป็นงานปกติ ให้ปลัดกระทรวงสั่งทำไปตามระเบียบปฏิบัติที่เคยทำมา ส่วนเรื่องที่เป็นปัญหาและมีความผูกพัน ถ้าหากเป็นเรื่องด่วน ให้ปลัดกระทรวงเสนอขอความวินิจฉัยต่อหัวหน้าคณะปฏิวัติโดยผ่านทางหัวหน้ากองอำนวยการ สำหรับราชการทหาร ให้ผ่านทางหัวหน้ากองอำนวยการฝ่ายทหาร สำหรับข้าราชการพลเรือน ให้ผ่านทางหัวหน้ากองอำนวยการฝ่ายพลเรือน

คณะปฏิวัติขอให้พี่น้องประชาชนพลเมืองไว้วางใจว่า คณะปฏิวัติจะดำเนินการเพื่อจุดประสงค์อันเดียว คือ ประโยชน์และความปลอดภัยของประเทศชาติ ทหารตำรวจซึ่งรักษาการณ์อยู่ตามจุดต่าง ๆ ทั่วพระนครมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย คุ้มครองให้ความปลอดภัยแก่ประชาชนทั่วไป แต่ในเวลาเดียวกัน ทหารตำรวจที่รักษาการณ์อยู่นั้นก็ได้รับคำสั่งให้ทำการปราบปรามอย่างเข้มแข็ง ถ้าหากจะมีเรื่องร้ายไม่สงบเกิดขึ้น

คณะปฏิวัติจะยังไม่ทำการตรวจข่าวหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์ทั้งหลายอาจพิมพ์ออกจำหน่ายได้โดยไม่ต้องผ่านการตรวจข่าวก่อน เพราะคณะปฏิวัติเชื่อใจว่า หนังสือพิมพ์ทั้งหลายจะให้ความร่วมมือแก่การปฏิวัติครั้งนี้ ด้วยวิธีเสนอข่าวความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ตามที่เป็นจริงและด้วยความเป็นธรรม ให้ความคิดเห็นโดยบริสุทธิ์ใจในทางที่จะช่วยกันสร้าง ไม่ใช่ทางทำลาย การกระทำใด ๆ ของหนังสือพิมพ์ที่เป็นไปในทางก่อเรื่องร้าย เสนอความเท็จแก่ประชาชน หรือปราศจากความเป็นธรรม จะต้องถูกยับยั้งด้วยอำนาจปฏิวัติ ซึ่งจำเป็นสำหรับรักษาความสงบและความปลอดภัยของประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนังสือพิมพ์ที่ทำตนเป็นปากเสียงของชนต่างชาติ ออกเสียงเถียงแทน หรือเชิดชูลัทธิที่เป็นภัย เช่น ลัทธิคอมมิวนิสต์ หรือพยายามยุแยกให้แตกสามัคคีในชาติโดยทางตรง ทางอ้อม หรือด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง จะต้องประสพการปราบปรามอย่างเด็ดขาด

ประกาศ ณ วันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๑
จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
หัวหน้าคณะปฏิวัติ

บรรณานุกรม แก้ไข

 

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก