ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 4 ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2501

ประกาศของคณะปฏิวัติ
ฉบับที่ ๔

เนื่องจากประกาศฉบับที่ ๒ ของคณะปฏิวัติที่ได้แจ้งให้มหาชนทราบว่า การยึดอำนาจครั้งนี้ได้กระทำด้วยความจำเป็นที่สถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกรัดรึงตึงเครียด เป็นภัยใหญ่หลวงแก่ประเทศชาติ ไม่สามารถแก้ไขด้วยวิธีอื่น ไม่สามารถหลีกเลี่ยงไปใช้วิธ๊ใดนอกจากยึดอำนาจและทำการปฏิวัติในทางที่เหมาะสมนั้น คณะปฏิวัติขอชี้แจงแสดงเหตุผลให้แจ้งชัดต่อไป

ทางสถานการณ์ภายใน ลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นภัยยิ่งใหญ่ เป็นที่ประจักษ์แจ้งอยู่ทั่วไปในเรื่องความแทรกซึมของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่พยายามสร้างอิทธิพลเหนือจิตใจของประชาชนชาวไทย การแทรกแซงของตัวแทนคอมมิวนิสต์มีอยู่ทุกกระแส ในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ใช้วิธีโฆษณาชวนเชื่อและแผนการที่ฉลาดหลายอย่าง ทุ่มเทเงินทองเป็นจำนวนมหาศาล ดำเนินการทั้งในทางลับและเปิดเผย ทำความพยายามทุกวิถีทางที่จะให้เกิดความเสื่อมโทรมระส่ำระสายในประเทศ ขุดโค่นราชบัลลังก์ ล้มล้างพระพุทธศาสนา และทำลายสถาบันทุกอย่างที่ชาติไทยได้ผดุงรักษาด้วยความเสียสละอย่างยิ่งยวด

พวกตัวแทนและเครื่องมือของคอมมิวนิสต์ได้ก่อกวน กีดขวาง ทำความยากลำบากในการที่จะบริหารกิจการของประเทศให้ลุล่วงไปถึงจุดประสงค์อันเป็นคุณประโยชน์ การเจรจากับต่างประเทศก็ประสบความขัดข้อง ด้วยเหตุที่บุคคลพวกนั้นคอยแต่จะสร้างสถานการณ์ให้เกิดความกินแหนงแคลงใจกับประเทศที่เป็นมิตร รัฐบาลไม่มีเวลาหรือโอกาสที่จะระดมกำลังความคิดและกำลังแรงเพื่องานจรรโลงประเทศชาติ มัวแต่ต้องเผชิญกับการก่อกวนและอุปสรรคภายในที่คนพวกนั้นสร้างขึ้นโดยจงใจแต่ที่จะทำลาย ยิ่งกว่านั้น ยังพยายามทำทั้งในการติดต่อทางลับและการโฆษณาโดยเปิดเผยให้ต่างประเทศขาดความไว้วางใจในชาติไทย โดยมิได้คำนึงว่า การกระทำนั้น ๆ จะเกิดความเสียหายร้ายแรงแก่ประเทศชาติเพียงไร

ปวงชนชาวไทยได้เสียสละเสี่ยงภัยนำระบอบรัฐธรรมนูญเข้ามาใช้ เพื่อถือเอาสิทธิและเสรีภาพเป็นทางจรรโลงประเทศชาติ แต่มีคนบางพวกบางเหล่าที่เห็นแก่ตัวเองแอบอิงเอาระบอบรัฐธรรมนูญเป็นทางก่อกวนทำลายความสงบ ใช้สิทธิและเสรีภาพเป็นเครื่องมือขัดขวางความก้าวหน้าของการงาน ก่อความร้าวฉาน ยุแยกให้แตกสามัคคีกันในชาติ จูงใจคนให้โน้มเอียงไปในทางเป็นปฏิปักษ์ซึ่งกันและกัน ต้องการจะเห็นแต่ความยุ่งยาก ความเสื่อมโทรมระส่ำระสาย และความแตกสลายของประเทศชาติในที่สุด

เรื่องทั้งหลายเหล่านี้เป็นแผลร้ายพิษแรงสำหรับประเทศชาติ ไม่มีทางจะบำบัดด้วยวิธีการปลีกย่อยแต่ละเรื่องแต่ละราย ไม่สามารถจะแก้ไขด้วยวิถีทางเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนตัวคน หรือเพียงแต่แก้ระบอบบางอย่าง เปรียบประดุจโรคร้ายที่ไม่มีทางรักษาด้วยากินยาทา จำเป็นต้องใช้วิธีผ่าตัดถึงชั้นศัลยกรรม การปฏิวัติเป็นวิธีเดียวที่จะรักษาโรคร้ายของประเทศชาติดังที่กล่าวนี้

นอกจากเหตุการณ์ภายใน เหตุการณ์ภายนอกก็เพิ่มความลำบากหนักใจยิ่งขึ้นทุกที โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแถวถิ่นใกล้เคียงกับประเทศไทย เหตุร้ายอาจจะเกิดขึ้นในวันในพรุ่ง และถ้าเหตุร้ายเหล่านั้นเข้ามาถึงประเทศไทย ในขณะที่บ้านเมืองของเราเต็มไปด้วยความคิดทำลายกัน ความเป็นปรปักษ์ซึ่งกันและกัน ความกลั่นแกล้งเสกสรรค์สร้างสถานการณ์ที่แรงร้าย และความต้องการของคนพวกที่อยากเห็นความเสื่อมโทรมระส่ำระสายอยู่เช่นนี้ ประเทศชาติก็จะถึงความแตกดับโดยไม่มีปัญหา ทางเดียวที่จะกอบกู้ประเทศชาติไว้ได้ ก็ด้วยการตัดสินใจเสี่ยงภัยต่อสู้กับความคิดในทางทำลาย หาทางสร้างสรรค์เสถียรภาพให้แก่ประเทศชาติใหม่ให้อยู่บนรากฐานตามระบอบประชาธิปไตยอย่างมั่นคง จัดระบบเศรษฐกิจและสังคมที่เหมาะสมกับความเป็นอยู่ของชาติและประชาชนชาวไทย มีแผนการที่จะยึดถือปฏิบัติเป็นแนวทางที่ถาวร เพื่อให้เกิดผลแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง

และเพื่อให้บรรลุถึงจุดหมายอันนี้ จำเป็นที่คณะปฏิวัติต้องทำการยึดอำนาจ โดยยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๙๕ ด้วยเหตุที่บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไม่รัดกุมพอที่จะแก้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในบัดนี้ได้ รัฐบาลต้องลาออกไปก็ด้วยเหตุนี้ จำเป็นต้องสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ให้รัดกุมเข้มแข็งพอที่จะต่อสู้กับภัยเฉพาะหน้าของประเทศชาติ การเลิกรัฐธรรมนูญเป็นผลให้สภาผู้แทนราษฎรต้องหมดอายุไปด้วย คณะปฏิวัติมีความเสียใจที่พฤติการณ์ต้องเป็นเช่นนี้ ทั้ง ๆ ที่คณะปฏิวัติมิได้มีความคิดเป็นปฏิปักษ์ต่อสภาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด ตรงกันข้าม คณะปฏิวัติเห็นอกเห็นใจที่ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาลที่ลาออกไปได้ปฏิบัติงานมาโดยเต็มความสามารถ อุปสรรคทั้งหลายหรือภัยของชาติไม่ได้เกิดจากการมีสภาผิดหรือมีรัฐบาลผิด แต่เกิดจากพฤติการณ์อันพ้นวิสัยที่สภาหรือรัฐบาลจะแก้ไขด้วยเครื่องมือที่มีอยู่ในปัจจุบัน จำเป็นต้องสร้างเครื่องมือใหม่ให้มีทางจรรโลงประเทศชาติได้ตามความปรารถนา

นอกจากเรื่องสร้างรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว แผนการปฏิวัติในเรื่องอื่น ๆ จะเป็นอย่างไร จะได้แจ้งให้มหาชนทราบในประกาศฉบับหลัง ๆ ในชั้นนี้ คณะปฏิวัติขอยืนยันให้ประกันไว้ก่อนว่า

๑.จะเคารพรักษาสิทธิมนุษยชนตามปฏิญญาสากลที่ได้ทำขึ้นในสมัชชาแห่งสหประชาชาติ จะไม่ทำอะไรให้ผิดพลาดละเมิดปฏิญญานั้น นอกจากจะมีเหตุการณ์ที่จำเป็นต้องทำเพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศชาติอย่างแท้จริง

๒.จะเชิดชูรักษาไว้ซึ่งอิสรภาพของศาล ให้ศาลมีอิสระสมบูรณ์ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามบทกฎหมาย โดยมิต้องอยู่ใต้อาณัติ อิทธิพล หรือการแทรกแซงอย่างหนึ่งอย่างใด จากคณะปฏิวัติหรือจากรัฐบาลที่คณะปฏิวัติจะตั้งขึ้นเลยเป็นอันขาด

๓.จะปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศอย่างสมบูรณ์ ความผูกพันใด ๆ ที่ประเทศไทยมีอยู่ตามสัญญาระหว่างประเทศ คณะปฏิวัติและรัฐบาลซึ่งคณะนี้จะจัดตั้งขึ้นจะถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และจะเคารพปฏิบัติตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและและที่เป็นขนบประเพณีซึ่งยึดถือปฏิบัติกันมาในระหว่างนานาอารยะประเทศทั้งหลาย นอกจากนั้น จะได้ปฏิบัติหน้าที่อันมีอยู่ตามฐานะภาคีประเทศในสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งอาเซียตะวันออกเฉียงใต้

๔.ในประการสำคัญที่สุด คณะปฏิวัติจะยึดมั่นอยู่เสมอว่า พระมหากษัตริย์กับชาติไทยจะแยกจากกันมิได้ ประวัติศาสตร์ของชาติไทยตั้งแต่ต้นมาจนบัดนี้ตั้งอยู่บนรากฐานสถาบันที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่สัญญาลักษณ์ของชาติ และทรงเป็นมิ่งขวัญของประชาชน คณะปฏิวัติจะรักษารากฐานแห่งสถาบันอันนี้ไว้โดยเต็มกำลังความสามารถ และจะกระทำทุกวิถีทางที่จะให้องค์พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะ จะมิให้มีการละเมิดอย่างหนึ่งอย่างใดต่อพระองค์ ต่อพระบรมวงศานุวงศ์ และต่อราชประเพณีที่ชาติไทยได้เชิดชูยกย่องมาตลอดกาล

ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า คณะปฏิวัติจะรักษาคำมั่นสัญญาในประกัน ๔ ข้อที่กล่าวข้างต้นนี้ ผู้รักสงบ ผู้หวังดีต่อประเทศชาติ ผู้ที่ไม่ประกอบกรรมทำความแตกร้าวทำลาย จะไม่ต้องรับความกระทบกระเทือนอย่างหนึ่งอย่างใดในการปฏิวัติครั้งนี้เลย

ประกาศ ณ วันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๑
จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
หัวหน้าคณะปฏิวัติ

บรรณานุกรม แก้ไข

 

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก