ประกาศพระราชบัญญัติและพระราชกำหนดต่าง ๆ รัชชกาลที่ 8/เล่ม 1/เรื่อง 4

คำแถลงการณ์ของรัฐบาล

เนื่องในการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ รัฐบาลขอแถลงให้ประชาชนทราบทั่วกันว่า นับจำเดิมแต่ประเทศสยามได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบการปกครองโดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญแล้ว รัฐบาลก็ได้ดำเนินการปกครองประเทศเป็นที่เรียบร้อยตลอดมา ทั้งนี้ ก็โดยอาศัยพระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ครั้นต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๗๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชปรารภมายังรัฐบาลว่า ใคร่จะเสด็จพระราชดำเนินไปรักษาพระเนตร์ณต่างประเทศเป็นครั้งที่ ๒

เมื่อคณะรัฐมนตรีได้ทราบพระราชดำริดั่งนั้น จึ่งได้ประชุมปรึกษาลงมติว่า ในระหว่างเวลาที่กล่าวแล้ว เป็นเวลาซึ่งการกบฏเพิ่งเสร็จสิ้นไปใหม่ ๆ บ้านเมืองยังไม่สู้เป็นปกติเรียบร้อยดีนัก อันการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จนิวัตน์มาประทับยังกรุงเทพพระมหานครนั้นย่อมเป็นการอุ่นเกล้าฯ แก่ประชาชนยิ่งนัก ฉะนั้น ถ้าหากจะเสด็จไปรักษาพระเนตร์ยังต่างประเทศเสียในขณะนี้ ก็จะเป็นที่ว้าเหว่แก่ประชาชน ดั่งปรากฏว่า ได้มีปัญหาเช่นนี้ถกถามกันในสภาผู้แทนราษฎรด้วยประการดั่งกล่าวแล้ว รัฐบาลจึ่งกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ควรประทับรับการรักษาอยู่ในพระมหานคร โดยใช้แพทย์ที่เชิญมาจากต่างประเทศ แต่พระองค์ก็ได้มีพระบรมราชวินิจฉัยโดยเด็ดขาดว่า จำเป็นต้องไปรักษายังต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลก็จำต้องสนองพระบรมราชวินิจฉัยนั้นตามพระราชประสงค์

ในระหว่างที่พระองค์ได้ทรงประทับรักษาพระเนตร์อยู่ณต่างประเทศ รัฐบาลก็ได้ทำการติดต่อกับพระองค์ตลอดมาเป็นที่เรียบร้อยปราศจากอุปสรรคใด ๆ ทั้งปวง จนเมื่อรัฐบาลได้นำร่างพระราชบัญญัติอากรมฤดกและการรับมฤดก พุทธศักราช ๒๔๗๖ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยออกประกาศใช้เป็นกฎหมาย พระองค์ได้ทรงทักท้วงในบางประการ แต่เมื่อรัฐบาลได้กราบบังคมทูลพระกรุณาจนเป็นที่พอพระราชหฤทัยแล้ว ก็ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชบัญญัติที่กล่าวแล้วออกประกาศใช้เป็นกฎหมายอยู่จนบัดนี้ ต่อมา รัฐบาลได้นำร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณอาญา พ.ศ. ๒๔๗๗ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. ๒๔๗๗ และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาทหาร พ.ศ. ๒๔๗๗ รวม ๓ ฉะบับ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติแล้ว ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยออกประกาศใช้เป็นกฎหมาย แต่พระองค์ไม่ทรงพอพระราชหฤทัยในหลักการบางอย่าง จึ่งพระราชทานร่างพระราชบัญญัติทั้ง ๓ นั้นคืนไปยังสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสภาฯ ได้ลงมติยืนตามเดิม รัฐบาลจึ่งนำร่างพระราชบัญญัติทั้ง ๓ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อขอให้ทรงลงพระปรมาภิไธยอีกครั้งหนึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม แต่ก็ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายในกำหนดรัฐธรรมนูญฯ

ในระหว่างนี้ รัฐบาลได้ทราบมาว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีข้อข้องพระราชหฤทัยบางประการ ซึ่งถ้ารัฐบาลมิได้จัดการถวายให้เป็นการสมพระราชประสงค์แล้ว พระองศ์ก็อาจทรงสละราชสมบัติได้ รัฐบาลจึ่งได้รีบจัดถวายเพื่อให้ต้องพระราชหฤทัยทุกประการ แต่ต่อมามิช้า รัฐบาลก็ได้รับทราบเกล้าฯ จากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัตติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงสละราชสมบัติ ในตอนนี้ รัฐบาลรู้สึกวิตกเป็นอันมาก เพราะมิทราบกรณีและเหตุผลโดยชัดแจ้ง จึ่งได้ตั้งแต่งให้เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ และนายนาวาตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น. เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นผู้แทนรัฐบาลออกไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทณประเทศอังกฤษ และให้พยายามกราบบังคมทูลพระกรุณาอัญเชิญเสด็จกลับพระมหานคร คณะผู้แทนรัฐบาลก็ได้กระทำตามคำสั่งโดยเต็มที่ แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะพระองค์ได้ทรงขอร้องต่อรัฐบาลหลายประการ ในประการที่ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ รัฐบาลก็ได้จัดสนองพระราชประสงค์เท่าที่จะจัดถวายได้ ในส่วนที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็เป็นอันนอกเหนืออำนาจที่รัฐบาลจะจัดถวายได้ตามพระราชประสงค์ ในที่สุด ได้แสดงพระราชประสงค์มาว่า ขอให้นำเรื่องทั้งหมดขึ้นเสนอสภาผู้แทนราษฎรเพื่อวินิจฉัย ซึ่งรัฐบาลก็ได้ปฏิบัติตามพระราชประสงค์โดยนำเรื่องขึ้นเสนอสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ซึ่งเมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้อภิปรายกันแล้ว สภาผู้แทนราษฎรได้เห็นชอบพร้อมกันตามที่รัฐบาลได้ปฏิบัติไป และลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ผ่านระเบียบวาระไปได้ตามข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร

บัดนี้ ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติพระราชทานมายังรัฐบาลแต่วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ รัฐบาลได้รับพระราชกระแสใส่เกล้าฯ ด้วยความโทมนัสอย่างยิ่ง เพราะรัฐบาลรู้สึกอยู่ว่า ได้มีความจงรักภักดีและซื่อสัตย์สุจริตต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้อยู่เต็มที่ตลอดมา ได้พยายามทุกทางจนสุดความสามารถที่จะทานทัดขัดพระราชประสงค์มิให้ทรงสละราชสมบัติ แต่ก็หาสมตามความมุ่งหมายไม่ ฉะนั้น รัฐบาลจึ่งได้นำพระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติขึ้นเสนอสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับทราบไว้ด้วยความโทมนัส และในโอกาสนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัง ซึ่งเป็นผู้รักษาการให้เป็นไปตามกฎมนเทียรบาล ได้นำรายพระนามพระราชวงศ์ซึ่งสมควรจะเป็นผู้สืบสันตติวงศ์ โดยมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทรงลงพระนามว่าทรงตรวจถูกต้องแล้ว ขึ้นเสนอสภาผู้แทนราษฎร เพื่อรับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา ๕ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ในที่สุด สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบให้สถาปนาพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสืบราชสันตติวงศ์ต่อไปตั้งแต่วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ และได้ลงมติเห็นชอบให้ตั้งนายพันเอก พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ นายนาวาตรี พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ร.น. และเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา ๑๐ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม

ตามเหตุการณ์ดั่งได้กล่าวมาแล้ว ประกอบด้วยมีเวลาอันจำกัด รัฐบาลจึ่งขอแถลงให้ประชาชนทราบไว้แต่โดยย่อเสียชั้นหนึ่งก่อน ส่วนเรื่องราวโดยละเอียดนั้น รัฐบาลจะได้โฆษณาให้ทราบโดยตลอดพร้อมด้วยสำเนาพระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติในโอกาสอันเร็วที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในรัฐบาลนี้ว่า รัฐบาลนี้ย่อมรักษาระบอบการปกครองโดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเสมอ

ในที่สุดนี้ รัฐบาลขอให้ข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนตลอดจนอาณาประชาราษฎรจงตั้งอยู่ในความสงบ อย่าหลงเชื่อในข่าวอกุศลใด ๆ ซึ่งหากจะมีผู้ก่อให้เกิดขึ้น และช่วยเหลือร่วมมือกันเพื่อยังความเรียบร้อยให้แก่ประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ จงทุกประการ

วันที่ ๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗
(ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๑ วันที่ ๗ มีนาคม หน้า ๑๓๓๔)