ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ลงวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๗
โดยที่ปรากฏว่า ได้มีกลุ่มบุคคลดําเนินการที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายและนําไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ โดยมีการปลุกระดม เชิญชวน ทําให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา และการสื่อสารด้วยวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่ทําให้เกิดความไม่สงบขึ้นในหลายพื้นที่ และเพื่อให้มีการกระทําที่ลวงละเมิดกฎหมายของแผ่นดิน คําสั่งและหมายของศาล ด้วยการยุยงให้ประชาชนชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีการปิดการจราจรในถนนสําคัญ บุกรุกและยึดสถานที่ราชการหลายแห่ง ไล่ข้าราชการพนักงาน หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกจากสถานที่ราชการ ตัดน้ําตัดไฟ ปิดระบบฐานข้อมูล เอาโซ่คล้องประตูเพื่อไม่ให้ข้าราชการ พนักงาน หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐทํางานได้ทําให้การบริการของรัฐให้แก่ประชาชน ไม่ว่าการจดทะเบียนใบอนุญาต หรือการบริการขั้นพื้นฐาน ไม่สามารถทํางานได้ตามปกติ ก่อให้เกิดความวุ่นวายเกิดความล่าช้า และสูญเสียทางเศรษฐกิจ มีความพยายามจะเข้าควบคุมตัวผู้บริหารหรือบุคคลสําคัญที่มีอํานาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน ขัดขวางการใช้ชีวิตโดยปกติสุขของประชาชนทั่วไป ทําให้ประชาชนส่วนใหญ่เดือดร้อน เสียหายและเกรงกลัวอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินตลอดจนมีการใช้กําลังขัดขืนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายมีการกระทําการในลักษณะอันเป็นการขัดขวางการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่กําลังจะจัดให้มีขึ้นอันกระทบต่ออํานาจอธิปไตยและสิทธิของปวงชนชาวไทยตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้โดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายซึ่งมาตรา ๒๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย คุ้มครองและผูกพันรัฐสภา ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง รวมทั้งมีการใช้สถานที่เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่มีเจตนาบิดเบือนให้เกิดความเข้าใจผิดเพื่อให้กระทําการให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่ต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีบุคคลบางกลุ่มได้ก่อเหตุร้ายหลายครั้งโดยต่อเนื่องเพื่อมุ่งให้เกิดความเสียหายและไม่ปลอดภัยต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน จากสถานการณ์ที่มีเหตุยืดเยื้อและมีการละเมิดต่อกฎหมายเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าจะได้มีการประกาศใช้มาตรการต่าง ๆ ตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพื่อป้องกัน ควบคุม และแก้ไข ระงับ ยับยั้ง การกระทําดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะมีการกระทําที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและกระบวนการใช้กฎหมายยิ่งขึ้น เพื่อนําไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศและเกิดความเสียหายหรือไม่ปลอดภัยต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์ การกระทําของกลุ่มบุคคลดังกล่าวเป็นการชุมนุมโดยไม่สงบและมุ่งหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมาย กรณีเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ อันเป็นการกระทําที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อกระบวนการการเลือกตั้งและกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย และกระทบต่อการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนผู้บริสุทธิ์ในการนี้ คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินในการประชุมวันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๗ได้เสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีถึงความจําเป็นเร่งด่วนท่ีจะต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ยุติโดยเร็ว โดยให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อําเภอลาดหลุมแก้วจังหวัดปทุมธานี และอําเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๕ มาตรา ๖ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๖มาตรา ๓๘ มาตรา ๔๑ มาตรา ๔๓ มาตรา ๔๕ และมาตรา ๖๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทําได้โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรีอําเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และอําเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ถึงวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๗
เชิงอรรถ
แก้ไข- ↑ ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนพิเศษที่ ๑๓ ง/หน้า ๑ - ๒/๒๑ มกราคม ๒๕๕๗
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"