ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ที่ 1/2563
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ลงวันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ นายกรัฐมนตรีได้มีประกาศโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑ วรรคสอง แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ข้อ ๑ ลงวันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ ๓๖/๒๕๖๓ เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เรื่อง แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบ และพนักงานเจ้าหน้าที่ ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ตามข้อ ๒ ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง มีหน้าที่และอำนาจในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตามที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ นั้น
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง จึงกำหนดสถานที่ควบคุมตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ดังนี้
ข้อ๑กรณีที่มีการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่สงสัยว่า จะเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำเช่นว่านั้น หรือปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้ส่งตัวไปควบคุมสถานที่ ดังต่อไปนี้
(๑)กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค ๑ ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
(๒)กรมทหารราบที่ ๒๑ รักษาพระองค์ ค่ายนวมินทราชินี ตำบลบ้านสวน อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี
ข้อ๒ในการดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามข้อกำหนดนี้ ให้ใช้มาตรการตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยระมัดระวังมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควร
ให้หัวหน้าผู้ควบคุมสถานที่มีอำนาจกำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาในการควบคุม การเยี่ยม ได้ตามที่เห็นสมควร โดยให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
- ประกาศ ณ วันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๓
- พลตำรวจเอก สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข
- ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
- หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง
บรรณานุกรม
แก้ไข- "ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ที่ 1/2563 เรื่อง กำหนดสถานที่ควบคุม ลงวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2563". (2563, 16 ตุลาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 137, ตอน พิเศษ 243 ง. หน้า 11.
งานนี้เป็นสาธารณสมบัติ เพราะเนื้อหาทั้งหมดเป็นข้อมูลข่าวสารที่เป็นสาธารณะ และหาผู้สร้างสรรค์แท้ ๆ ไม่ได้ ทำให้ขาดคุณสมบัติในการมีลิขสิทธิ์