ประกาศให้ใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2483

ตราราชโองการ
ตราราชโองการ
ประกาศ
ให้ใช้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่
ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
คณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร
ลงวันที่ ๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐)

โดยที่จารีตประเพณีของไทยแต่โบราณมา ได้ถือวันแรม ๑ ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ เป็นการสอดคล้องต้องกับคติแห่งพระพุทธศาสนา ซึ่งถือฤดูเหมันต์เป็นการเริ่มต้นปี ต่อมา จารีตอันนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปตามคติพราหมณ์ ซึ่งใช้วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนห้า เป็นวันขึ้นปีใหม่ ครั้นภายหลังเมื่อทางราชการนิยมใช้สุริยคติ จึ่งได้ถือวันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นต้นปีมาตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๓๒

แต่ในนานาอารยประเทศทั้งปวง ตลอดถึงประเทศใหญ่ ๆ ทางปลายบุรพทิศนี้ ได้นิยมใช้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นต้นปี การนิยมใช้วันที่ ๑ มกราคมนี้ มิได้เกี่ยวข้องกับลัทธิศาสนา จารีตประเพณี หรือการเมืองของชาติใดประเทศใด แต่เป็นการคำนวณโดยวิทยาการทางดาราศาสตร์ และนิยมใช้กันมาเป็นเวลากว่าสองพันปี เมื่อประเทศไทยได้นิยมถือสุริยคติตามอย่างนานาประเทศแล้ว ก็เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะใช้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นต้นปีเหมือนอย่างประเทศทั้งหลาย เพราะวันที่ ๑ มกราคม ก็ใกล้เคียงกับวันแรม ๑ ค่ำ ของไทย และเป็นการใช้ฤดูหนาวเริ่มต้นปี การใช้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ จะเป็นการสอดคล้องต้องตามจารีตประเพณีโบราณของไทย ต้องตามคติแห่งพระบวรพุทธศาสนา และได้ระดับกับนานาอารยประเทศทั้งมวล

อนึ่ง ได้มีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติปีประดิทิน พุทธศักราช ๒๔๘๓ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันที่ ๑๗ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๘๓ และพระราชบัญญัตินั้นก็เป็นอันใช้ได้ตั้งแต่วันที่ ๑๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓ เป็นอันว่าทางรัฐนั้นได้ใช้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันเริ่มปีใหม่แล้ว

จึ่งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ คณะสงฆ์ และอาณาประชาราษฎร์ทั้งมวล นิยมถือวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ให้ถือเป็นจารีตประเพณีของชาติตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และขอให้ปีใหม่อันเริ่มขึ้นในวันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ นี้ จงเป็นเวลารุ่งอรุณแห่งชีวิต ให้ชาติไทยได้รับความเจริญและก้าวหน้าขึ้นสู่ความรุ่งโรจน์ใหญ่หลวง ให้อาณาประชาราษฎร์ทั้งปวงได้รับความร่มเย็นเป็นสุขทั่วกันเทอญ

ประกาศมา ณ วันที่ ๒๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓ เป็นปีที่ ๗ ในรัชชกาลปัจจุบัน

  • ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
  • พิบูลสงคราม
  • นายกรัฐมนตรี

บรรณานุกรม

แก้ไข
 

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก