ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4/ภาค 1/เรื่อง 1

ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔
๑ ประกาศพระราชบัญญัติมรฎกสินเดิมแลสินสมรศ
(คัดจากหมายรับสั่ง เดือน ๘ ปีกุญตรีศก จุลศักราช ๑๒๑๓)

ศุภมัศดุ จุลศักราช ๑๒๑๓ ศุกรสังวัจฉระกติกมาศสุกรปักษฉัษฐีดฤถีครุวารปริเฉทกาลกำหนด พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏ สมมุติเทพยพงศ์ วงศาดิศวรกระษัตริย์ วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ ราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงทศพิธราชธรรม์อนันตคุณวิบุลยปรีชาอันมหาประเสริฐ เสด็จออกเหนือสุวรรณบัลลังก์ภายใต้พระมหาบวรเสวตรฉัตรณพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสุริยพิมานโดยสถานอุตราภิมุข พร้อมด้วยพระบรมวงศ์แลเสนาบดีมุขมนตรีกระวีชาติราชพฤฒาโหราจารย์เฝ้าเบื้องบาทบงกชมาศตามอันดับ.

พระยามหาอำมาตย์นำข้อความนายภามาร้องถวายฎีกากล่าวโทษพระยาชลบุรีกรมการกับขุนเทพอาญาขุนศาลขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า เดิมอำแดงอูมารดาจีนหกให้เถ้าแก่มาขออำแดงเจียมต่อนายสุกอำแดงดีบิดามารดาอำแดงเจียมให้เปนภรรยาจีนหก มีเงินสินสอด ๑๐ ตำลึง เงินทุน ๒ ชั่ง เรือนหอฝากระดานหลังหนึ่ง นายสุกอำแดงดียกอำแดงเจียมให้อยู่กินเปนผัวเมียกับจีนหก เกิดบุตรด้วยกันคนหนึ่ง อยู่มาจีนหกตาย ฝ่ายอำแดงอูมารดาจีนหกมาฟ้องต่อพระยาชลบุรีจะขอเอาสินเดิมคืน พระยาชลบุรีประทับฟ้องให้ขุนมหาดไทยเปนตุลาการพิจารณาเสร็จสำนวน ส่งสัจเข้ามาให้พระกระเสมผู้ปรับ ๆ สัจไปว่า ให้อำแดงเจียมคืนเงินทุน ๒ ชั่งกับเรือนหอหลังหนึ่งให้กับอำแดงอูมารดาจีนหกตามกฎหมาย ฝ่ายอำแดงเจียมมีคำทุเลาว่า อำแดงเจียมกับจีนหกมีบุตรด้วยกันคนหนึ่ง จะไม่ได้ส่วนทรัพย์ของปู่ย่าบ้างฤๅ อำแดงเจียมไม่ยอมติดใจอยู่ พระยาชลบุรีขุนมหาดไทยให้ยกคำเสีย จะเร่งเอาสินเดิมคืนให้อำแดงอูมารดาจีนหกผู้ตายตามใบสัจ

จึงมีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า ซึ่งพระกระเสมปรับสัจว่า ให้อำแดงเจียมคืนสินเดิมให้อำแดงอูมารดาจีนหนั้นหาเปนยุติธรรมไม่ ประเพณีบิดามารดาประกอบให้บุตรมีภริยาสามีแล้ว บริจาคเงินทองทรัพย์สิ่งของทั้งปวงให้แก่บุตรชายบุตรหญิงปราถนาจะให้สืบสกุลวงศ์เปนเชื้อสายบริบูรณ์ไปภายน่า บุตรเขยบุตรสะใภ้อยู่กินเปนผัวเมียกันจนมีบุตรด้วยกัน บุตรของผู้ตายนั้นก็นับเนื่องอยู่ในหลาน เปนสัมพันธญาติ์ หาใช่ผู้อื่นไม่ ควรจะให้บุตรผู้ตายซึ่งเปนหลานได้ส่วนแบ่งปันทรัพย์มรฎกในสินเดิมบ้าง จึงจะเปนยุติธรรม ตั้งแต่นี้สืบไปเมื่อน่าถ้าชายหญิงสมรศด้วยกันเขาตายจากกัน สินเดิมมากน้อยเท่าใด ให้ทำเปน ๑๐ ส่วน ให้หลานซึ่งเปนบุตรของผู้ตายได้ส่วนแบ่งปัน คนหนึ่งให้ได้ส่วนหนึ่ง ถ้ามีบุตร ๒-๓-๔-๕-๖-๗-๘-๙ คน ก็ให้ได้คนละส่วนจงทุกคน ถ้าสินเดิมนั้นเหลืออยู่มากน้อยเท่าใด จึงให้คืนสินเดิมให้กับบิดามารดาญาติพี่น้องของผู้ตายไป ถ้าผู้ตายมีบุตรถึง ๑๐ คนแล้ว ก็ให้ยกสินเดิมเสีย อย่าให้คืนสินเดิมให้แก่บิดามารดาญาติพี่น้องของผู้ตายเลย ถ้าผู้ตายมีสินสมรศมาก บิดามารดาญาติพี่น้องของผู้ตายหาแบ่งปันเอาสินสมรศไม่ จะขอเอาสินเดิมคืน ดังนี้ก็อย่าให้เอาเงินในสินเดิมมาแบ่งปันให้แก่หลานเลย ด้วยเหตุว่าหลานได้ส่วนแบ่งในสินสมรศมากกว่าที่จะได้ส่วนแบ่งปันในสินเดิมแล้ว ถ้าสินสมรศที่บิดามารดาญาติพี่น้องจะยกให้ไว้แก่หลานไม่แบ่งปันเอานั้นน้อยกว่าที่จะได้ส่วนแบ่งปันในสินเดิม ก็ให้คิดแบ่งเฉลี่ยในสินเดิมไปบรรจบกับสินสมรศให้ครบคนละส่วนทุกคน ถ้าบิดามารดาฝ่ายชายก็ดีหญิงก็ดีถึงแก่มรณภาพทั้งบิดามารดา ยังแต่ญาติพี่น้องจะขอเอาสินเดิมคืน ก็ให้แบ่ง ๑๐ ส่วน ให้บุตรผู้ตายได้คนละ ๒ ส่วน เหลืออยู่เท่าใดจึงแบ่งปันให้ตามพระราชกฤษฎีกาเดิม ถ้าไม่มีบุตรด้วยกัน มีสินเดิมมากน้อยเท่าใด ให้ทำเปน ๒๐ ส่วน ถ้าอยู่กินเปนผัวเมียกันใน ๑๐ ปีลงมา ฝ่ายชายก็ดี หญิงก็ดี ตายจากกัน สินเดิมมีมากน้อยเท่าใด ให้คืนให้กับบิดามารดาญาติพี่น้องของผู้ตายตามมากน้อย ถ้าอยู่กินด้วยกันพ้น ๑๐ ปีขึ้นไป ฝ่ายชายหรือหญิงก็ดีตายจากกันตั้งแต่ ๑๑ ปีขึ้นไปถึง ๑๙ ปี ให้คิดลดสินเดิมไว้ส่วนผู้ตาย ให้ผู้ยังปีละส่วน ถ้าอยู่กินด้วยกันถึง ๒๐ ปีขึ้นไป เขาตายจากกัน ก็อย่าคืนสินเดิมให้แก่บิดามารดาญาติพี่น้องของผู้ตายนั้นเลย สินสมรศทำได้ด้วยกันมากน้อยเท่าใด ให้แบ่งปันให้กับบิดามารดาญาติพี่น้องบุตรหลานเขาผู้ตาย ตามพระราชกฤษฎีกาเดิม.