ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ ภาค ๑
ประกาศปีกุญ พ.ศ. ๒๓๙๔ ปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕
ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๙๖
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรุณวดี
โปรดให้พิมพ์เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๖๔
พิมพ์ที่โรงพิมพ์ไทย

คำนำ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรุณวดี มีรับสั่งมายังหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครว่า ในปีระกา พ.ศ. ๒๔๖๔ นี้ พระชนมายุเสมอด้วยพระชัณษาสมเด็จพระบรมชนกนารถ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระประสงค์จะทรงพิมพ์หนังสือสักเรื่อง ๑ เนื่องในทักษิณานุปทานซึ่งทรงบำเพ็ญเพื่ออุทิศถวายพระราชกุศลสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมชนกนารถฯ โปรดให้กรรมการช่วยเลือกเรื่องหนังสือในหอพระสมุดฯ ถวาย

หนังสือพิมพ์ในงานพระชนมายุสมะมงคลเช่นนี้ เคยพิมพ์เรื่องนับเนื่องในพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หนังสือเช่นนั้นมีอยู่ในหอพระสมุดฯ อิกเรื่อง ๑ ซึ่งเห็นสมควรพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรุณวดี จะทรงพิมพ์ในงานพระชนมายุสมะมงคลได้ คือ ประกาศในรัชกาลที่ ๔ ด้วยเปนหนังสือแสดงพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แลทรงพระราชนิพนธ์เองโดยมาก แต่ทว่าเปนหนังสือเรื่องใหญ่อยู่ จำนวนประกาศแต่ที่รวบรวมได้ฉบับที่มีหอพระสมุดฯ เบ็ดเสร็จถึงราว ๔๐๐ เรื่อง มากเกินกว่าที่จะพิมพ์แจกในคราวเดียวทั้งหมด จึงคิดว่าควรจะแบ่งพิมพ์เป็นภาค ๆ เรียกว่าประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ ทำนองเดียวกับหนังสือประชุมพงศาวดาร ซึ่งหอพระสมุดฯ ได้พิมพ์มา ได้กราบทูลหาฤๅพระองค์เจ้าอรุณวดี ทรงพระดำริห์เห็นชอบด้วย จึงได้รวมประกาศเฉพาะปีที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ในรัชกาลที่ ๔ คือ ตั้งแต่ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๙๕ จนตลอดปีฉลู พ.ศ. ๒๓๙๖ จัดเปนประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ ภาคที่ ๑ ถวายพระองค์เจ้าอรุณวดีทรงพิมพ์ในสมุดเล่มนี้

โดยโอกาศที่ได้จัดการพิมพ์หนังสือถวายในงานพระชนมายุสมะมงคลนี้ กรรมการหอพระสมุดฯ ขอถวายพระพรแด่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรุณวดี ขอให้พระองค์ทรงเจริญพระชนมายุ วรรณะ ศุขะ พละ ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพศิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลทุกประการเทอญฯ

สภานายก
หอพระสมุดวชิรญาณ
วันที่ ๑๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๖๔

อธิบายความว่าด้วยประกาศรัชกาลที่ ๔

ประเพณีประกาศพระราชกฤษฎีกาแต่โบราณ เมื่อสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินดำรัสสั่งให้ประกาศกิจการอันใด คือ เช่นตั้งพระราชบัญญัติเปนต้น โดยปรกติมักดำรัสสั่งให้อาลักษณ์เปนพนักงานเรียบเรียงข้อความที่จะประกาศลงเปนหนังสือ บางทีดำรัสให้ผู้อื่นรับพระราชโองการมาสั่งอาลักษณ์ให้เรียบเรียงประกาศก็มี ผู้รับสั่งมักเปนเจ้าน่าที่ซึ่งจะต้องอำนวยการที่ประกาศ แต่ที่มิใช่เปนเจ้าน่าที่เปนแต่ข้าเฝ้าคนใดคนหนึ่ง ดำรัสใช้ตามสดวกพระราชหฤไทยก็มี ลักษณที่อาลักษณ์เรียบเรียงประกาศนั้น ตั้งข้อความเปนหลัก ๕ อย่าง คือ (๑) วันเดือนปีที่สั่ง (๒) นามผู้สั่ง ถ้าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินดำรัสสั่งเอง ก็อ้างแต่ว่ามีพระราชโองการ ถ้ามีผู้อื่นมาสั่ง ก็อ้างนามผู้นั้นรับพระราชโองการ (๓) กล่าวถึงคดีอันเปนมูลเหตุแห่งประกาศนั้น (๔) พระราชวินิจฉัย (๕) ข้อบัญญัติพระราชนิยมที่ให้ประกาศ เมื่ออาลักษณ์ร่างเสร็จแล้ว คงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายทรงตรวจแก้ก่อนจึงประกาศ แต่ข้อนี้หาได้กล่าวไว้ให้ปรากฎไม่ ลักษณที่ประกาศนั้นแต่โบราณเปนน่าที่กรมพระสุรัสวดี โดยเปนผู้ถือบาญชีกระทรวงทบวงการทั้งปวง ที่จะคัดสำเนาประกาศแจกจ่ายไปยังกรมต่าง ๆ ทุกกรม ส่วนหัวเมืองทั้งปวงนั้น เมื่อมหาดไทย กลาโหม กรมท่า อันเปนเจ้ากระทรวงบังคับบัญชาหัวเมือง ได้รับประกาศจากกรมพระสุรัสวดี ก็คัดสำเนาส่งไปยังหัวเมืองอันขึ้นอยู่ในกรมนั้น ๆ อิกชั้น ๑ ลักษณการที่จะประกาศให้ราษฎรทราบพระราชกฤษฎีกานั้น ประเพณีเดิม ในกรุงเทพฯ กรมเมืองให้นายอำเภอเปนเจ้าพนักงานไปเที่ยวอ่านประกาศตามตำบลที่ประชุมชน ส่วนหัวเมืองทั้งปวง เจ้าเมืองกรมการให้กำนันเปนพนักงานอ่านประกาศ เมื่อพนักงานจะอ่านประกาศที่ตำบลไหน ให้ตีฆ้องเปนสัญญาเรียกราษฎรมาประชุมกัน แล้วอ่านประกาศให้ฟังณที่นั้น วิธีประกาศเช่นว่ามานี้จึงเรียกกันเปนสามัญว่า “ตีฆ้องร้องป่าว” ส่วนต้นฉบับประกาศพระราชกฤษฎีกาทั้งปวงนั้น อาลักษณ์รักษาไว้ในหอหลวงฉบับ ๑ คัดส่งไปรักษาไว้ที่ศาลาลูกขุนอันเปนที่ประชุมเสนาบดีฉบับ ๑ แลส่งไปรักษาไว้ที่ศาลหลวงอันเปนที่ประชุมผู้พิพากษาด้วยอิกฉบับ ๑ ประเพณีเดิมมีลักษณดังว่ามานี้

หนังสือประกาศชั้นเดิม ต้นร่างแลสำเนามักเขียนในสมุดดำด้วยเส้นดินสอขาว ส่วนตัวประกาศที่ส่งไปณที่ต่าง ๆ มักใช้เขียนลงม้วนกระดาษข่อยด้วยดินสอดำ เพราะวิธีตีพิมพ์หนังสือไทยยังไม่เกิดขึ้นในชั้นนั้น มาจนในรัชกาลที่ ๓ พวกมัชชันนารีอเมริกันตั้งโรงพิมพ์หนังสือไทยขึ้น ความปรากฎว่า เมื่อปีกุญ พ.ศ. ๒๓๘๒ พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้โรงพิมพ์พวกอเมริกันพิมพ์หมายประกาศห้ามมิให้คนสูบฝิ่นแลค้าขายฝิ่น เปนหนังสือ ๙๐๐๐ ฉบับ นับเปนครั้งแรกที่ได้พิมพ์หมายประกาศ แต่พิมพ์ครั้งนั้นแล้วมิได้ปรากฎว่าพิมพ์ประกาศเรื่องอื่นต่อมาอิก ถึงรัชกาลที่ ๔ ในชั้นแรก ประกาศต่างๆ ก็ยังใช้เขียนแจกตามแบบเดิม ปรากฎแต่ว่า ทรงแก้ไขวิธีแจกประกาศ ซึ่งแต่เดิมกรมพระสุรัสวดีเปนพนักงานเขียนประกาศแจกจ่ายไปตามกระทรวงทบวงการต่าง ๆ นั้น โปรดฯ ให้กรมต่าง ๆ ไปคัดสำเนาหมายประกาศเองณหอหลวง ยังคงส่งสำเนาประกาศไปแต่ที่มหาดไทย กลาโหม แลกรมท่า สำหรับจะได้มีท้องตราประกาศออกไปตามหัวเมือง การที่แก้ไขชั้นนี้ก็พอเห็นเหตุได้ คงเปนเพราะการเขียนประกาศแจกจ่ายมาแต่ก่อน เปนการมากมายเหลือกำลังพนักงานกรมพระสุรัสวดี แจกไปไม่ทั่วถึงทุกกระทรวงทบวงการได้จริงดังที่กล่าวในลักษณประกาศ จึงได้โปรดฯ ให้กรมอื่น ๆ ไปคัดประกาศเอาเองณหอหลวง ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ นั้น โปรดฯ ให้สร้างโรงพิมพ์หลวงขึ้นที่ในพระบรมมหาราชวัง ขนานนามว่าโรงอักษรพิมพการ (อยู่ตรงพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญบัดนี้) เริ่มพิมพ์หมายประกาศเมื่อปีมเมีย พ.ศ. ๒๔๐๑ ในชั้นต้นโปรดเกล้าฯ ให้ทำเปนหนังสือพิมพ์ข่าวออกโดยระยะเวลา ขนานนามว่าหนังสือราชกิจจานุเบกษา บอกข่าวในราชสำนักแลเก็บความจากประกาศต่าง ๆ ซึ่งได้ออกในระยะนั้นบอกไว้ให้ทราบเพียงเนื้อความ หนังสือราชกิจจานุเบกษาซึ่งออกในรัชกาลที่ ๔ ครั้งนั้น พิเคราะห์ดูเรื่องที่พิมพ์เปนพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมาก เห็นจะไม่มีผู้อื่นกล้ารับผิดชอบเปนผู้แต่ง ครั้นต่อมาทรงติดพระราชธุระอื่นมากขึ้น ไม่มีเวลาพอจะทรงแต่งหนังสือราชกิจจานุเบกษา เพราะฉนั้น พิมพ์อยู่ได้สักปี ๑ จึงต้องหยุด แต่การที่พิมพ์หมายประกาศเห็นจะนิยมกันมาก เมื่อหยุดหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว จึงโปรดฯ ให้พิมพ์แต่หมายประกาศแลให้พิมพ์ตลอดเรื่อง ไม่คัดแต่เนื้อความเหมือนอย่างที่ลงพิมพ์ในหนังสือราชกิจจานุเบกษามาแต่ก่อน ทำเปนใบปลิวแจกตามกระทรวงทบวงการ แลจ่ายไปปิดไว้ตามที่ประชุมชนแทนป่าวร้อง เปนประเพณีสืบมาจนรัชกาลที่ ๕ จนกลับออกหนังสือราชกิจจานุเบกษาอิกเมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ แต่นั้นบันดาประกาศจึงใช้ลงในหนังสือราชกิจจานุเบกษา แลเลิกวิธีแจกจ่ายหมายประกาศอย่างแต่ก่อนสืบมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

เพราะเรื่องตำนานเปนดังแสดงมา ประกาศในรัชกาลที่ ๔ จึงมีสำเนาเปน ๒ ชนิด คือ ประกาศในชั้นต้นเมื่อยังมิได้ตั้งโรงพิมพ์หลวงนั้น มีแต่สำเนาเปนแต่หนังสือเขียน ประกาศตอนหลังเมื่อตั้งโรงพิมพ์หลวงแล้ว มีสำเนาเปนหนังสือพิมพ์ สำเนาประกาศชั้นที่เปนหนังสือเขียนมีฉบับน้อยมาแต่เดิม ยิ่งนานก็ยิ่งหายากขึ้นทุกที ประกาศที่มีฉบับพิมพ์หาง่ายกว่า จึงมีผู้รวบรวมไว้บ้าง แต่ก็ไม่ปรากฎว่ามีใครที่สามารถรวบรวมไว้ได้หมดทุกฉบับ เปนแต่มีกันมากบ้างน้อยบ้าง การที่รวบรวมประกาศรัชกาลที่ ๔ พิมพ์ขึ้นใหม่ให้เปนสาธารณประโยชน์ ได้จับทำเมื่อครั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ ทรงบัญชาการโรงพิมพ์หลวง แลเปนผู้จัดการหนังสือราชกิจจานุเบกษาซึ่งกลับพิมพ์อิกในรัชกาลที่ ๕ นั้น ได้ทรงหาสำเนาประกาศครั้งรัชกาลที่ ๔ มาพิมพ์ไว้ในหนังสือราชกิจจานุเบกษาบ้าง เมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ ออกหนังสือพิมพ์ดรุโณวาท ก็ได้ทรงหาฉบับมาพิมพ์ไว้ในหนังสือดรุโณวาทอิกบ้าง ต่อมาเมื่อหอพระสมุดวชิรญาณออกหนังสือพิมพ์ กรรมการหอพระสมุดฯ ก็หาสำเนาประกาศรัชกาลที่ ๔ มาพิมพ์ไว้ในหนังสือวชิรญาณอิกบ้าง แต่ที่รวบรวมประกาศรัชกาลที่ ๔ พิมพ์เปนเล่มสมุดโดยเฉพาะ พึ่งมาพิมพ์เมื่อครั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ทรงบัญชาการโรงพิมพ์หลวง ได้ทรงพยายายามหาฉบับแต่ที่ต่าง ๆ มารวบรวมพิมพ์ขึ้นเมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔) พิมพ์ได้ ๓ เล่มสมุด โรงอักษรพิมพการเลิก โรงพิมพ์อักษรนิติจึงพิมพ์ต่อมาอิกเล่ม ๑ รวมเปน ๔ เล่มด้วยกัน

เมื่อตั้งหอพระสมุดสำหรับพระนคร กรรมการได้รวบรวมประกาศรัชกาลที่ ๔ บันดามีอยู่ในหนังสือต่าง ๆ ที่กล่าวมา แลหาฉบับได้เพิ่มเติมมาแต่ที่อื่นอิก คือ ได้ฉบับซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ ได้ทรงรวบรวมไว้ประทานมาราย ๑ ได้สำเนาประกาศรัชกาลที่ ๔ ในจำพวกหนังสือซึ่งหอพระสมุดฯ หาได้จากที่ต่าง ๆ แห่งละเรื่องสองเรื่องก็มีหลายราย แต่ที่สำคัญนั้นคือได้ในสำเนาหมายรับสั่งกระทรวงมหาดไทยซึ่งส่งมายังหอพระสมุดฯ มีสำเนาหมายประกาศรัชกาลที่ ๔ ปรากฎอยู่ในจดหมายรายวันของกรมมหาดไทยหลายเรื่อง ล้วนเปนประกาศในชั้นที่ยังมิได้มีการพิมพ์ เริ่มแต่ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๙๔ อันเปนปีแรกพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเปนต้นมา กรรมการจึงเห็นว่า สมควรจะพิมพ์ประกาศรัชกาลที่ ๔ ซึ่งมีฉบับอยู่ในหอพระสมุดฯ ให้เปนสาธารณะประโยชน์ได้

แต่ประกาศรัชกาลที่ ๔ ซึ่งมีฉบับอยู่ในหอพระสมุดฯ เปนประกาศพระราชนิยมก็มี เปนประกาศพระราชบัญญัติก็มี ความที่ประกาศยังคงใช้เปนกฎหมายแลประเพณีอยู่ก็มี ยกเลิกเสียแล้วก็มี การที่หอพระสมุดฯ พิมพ์ ประสงค์จะพิมพ์ประกาศรัชกาลที่ ๔ บันดามี ไม่เลือกว่าอย่างใดใด ความมุ่งหมายมีแต่จะให้ประโยชน์ในทางศึกษาโบราณคดีแลวรรณคดีเปนประมาณ จึงขอบอกไว้ให้ท่านผู้อ่านทราบว่า บันดาประกาศในฉบับซึ่งหอพระสมุดฯ พิมพ์นี้ มิใช่สำหรับจะเอาไปยกอ้างใช้ในทางอรรถคดีที่ใด ๆ เพราะความในประกาศเรื่องใดจะยังคงใช้อยู่ฤๅจะยกเลิกเสียแล้ว ข้อนี้กรรมการหอพระสมุดฯ มิได้เอาเปนธุระสอบสวน ประสงค์จะให้อ่านแต่เปนอย่างเปนจดหมายเหตุเก่าเท่านั้น

สารบานเรื่อง
ประกาศพระราชบัญญัติมรดกสินเดิมแลสินสมรศ น่า
ประกาศเรื่องโจททิ้งฟ้อง ๑๐
ประกาศเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม ๑๓
ประกาศให้ข้าราชการลอกพระราชบัญญัติจากหอหลวง ๑๗
ประกาศห้ามตัดกระบวนทางเสด็จ ๑๙
ประกาศพระราชทานนามหม่อมเจ้า ๒๑
ประกาศว่าด้วยสังฆทาน ๒๒
ประกาศให้ใช้ในคำว่าสมเด็จให้ถูกตามเกียรติยศ ๒๘
ประกาศห้ามไม่ให้ใช้คำว่าชอบเนื้อเจริญใจแลติดเนื้อต้องใจในคำกราบทูล ๒๙
๑๐ ประกาศเรื่องนามพระยาอิศรานุภาพแลพระธัญญาภิบาล ๓๐
๑๑ ประกาศเรื่องเรียกกะปิน้ำปลาว่าเยื่อเคยน้ำเคย ฉบับที่ ๑ ๓๑
๑๒ ประกาศเรื่องเรียกกะปิน้ำปลาว่าเยื่อเคยน้ำเคย ฉบับที่ ๒ ๓๒
๑๓ ประกาศเรื่องนามพระอินทรอาสา ขุนอินทโรดม ๓๓
๑๔ ประกาศนามพระที่นั่งสุทไธสวรรย์แลพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ๓๔
๑๕ ประกาศเตือนผู้ที่ใช้อักษรผิด ๓๕
๑๖ ประกาศว่าด้วยการสร้างวัด ๓๖
๑๗ ประกาศพระราชบัญญัติฝ่ายพระบวรราชวังเรื่องเล่นเบี้ยในพระบวรราชวัง ๓๘
๑๘ ประกาศเรื่องถวายฎีกา ๔๕
๑๙ ประกาศเรื่องนามหลวงบันเทาทุกขราษฎร์ ๔๖
๒๐ ประกาศว่าด้วยเรื่องฟ้องหาปาราชิก ๔๘
๒๑ ประกาศห้ามคฤหัสถ์ไม่ให้สมคบภิกษุสามเณรที่ประพฤติอนาจาร ๕๐
๒๒ ประกาศว่าด้วยเรียกชื่อกรมล้อมพระราชวัง ๕๘
๒๓ ประกาศว่าด้วยถวายของในงานโกนจุก ๕๙

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก