ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 16 (2475)

ดูฉบับอื่นของงานนี้ที่ ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 16
ตราของราชบัณฑิตยสภา
ตราของราชบัณฑิตยสภา
ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑๖
พงศาวดารเมืองพระตะบอง ของเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์
นางจิตรา อภัยวงศ
พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ
รองอำมาตย์เอก ขาบ อภัยวงศ
ปีวอก พ.ศ. ๒๔๗๕
พิมพ์ที่โรงพิมพ์พระจันทร์ ท่าพระจันทร์ พระนคร

นางจิตรา อภัยวงศ จะทำการปลงศพสนองคุณรองอำมาตย์เอก ขาบ อภัยวงศ ผู้สามี แจ้งความมายังราชบัณฑิตยสภาขออนุญาตพิมพ์หนังสือประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑๖ เป็นครั้งที่ ๒ เพื่อแจกแก่ญาติมิตรผู้มาแสดงไมตรีจิตรในงานนั้น กรรมการราชบัณฑิตยสภาได้อนุญาตให้ตามประสงค์

หนังสือพงศาวดารเมืองพระตะบองที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ เจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ (เยีย) แต่งทั้ง ๒ เรื่อง เรื่อง ๑ เมื่อในรัชชกาลที่ ๔ พระยาอภัยภูเบศร์ (นอง) ถึงอนิจกรรม เจ้าพระยาคทาธรฯ ยังเป็นพระยาคทาธรฯ เข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท มีรับสั่งให้พระราชเสนาถามลำดับวงศสกุลผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบองแต่ก่อนมา เจ้าพระยาคทาธรฯ จึงชี้แจงให้จดเนื้อความทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๐๓ อีกเรื่อง ๑ นั้นแต่งเมื่อในรัชชกาลที่ ๕ เวลาเจ้าพระยาคทาธรฯ เป็นพระยาผู้สำเร็จราชการเมืองแล้ว ในสมัยนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้รวบรวมหนังสือพงศาวดารต่าง ๆ อันปรากฏได้พิมพ์มาในประชุมพงศาวดารแล้วหลายเรื่อง เช่นพงศาวดารเมืองหลวงพระบางนั้นเป็นต้น และครั้งนั้นพระยาราชเสนามีราชการออกไปเมืองพระตะบอง ทำนองจะทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้ไปหาหนังสือพงศาวดารเมืองพระตะบองเข้ามาถวายด้วย จึงปรากฏว่า เจ้าพระยาคทาธรฯ ได้เรียบเรียงหนังสือพงศาวดารเมืองพระตะบองมอบให้พระยาราชเสนานำเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายอีกเรื่อง ๑ จึงเป็น ๒ เรื่องด้วยกัน ในการที่พิมพ์นี้ ได้เอาเรื่องแต่งทีหลังพิมพ์ไว้ข้างหน้า เพราะเห็นเป็นเรื่องพงศาวดารเมือง ส่วนเรื่องที่แต่งก่อนว่าด้วยวงศสกุลของผู้สำเร็จราชการเมือง จึงให้พิมพ์ไว้ข้างหลัง.

ในการพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ เจ้าภาพได้นำประวัติของผู้มรณะส่งมาขอให้พิมพ์ไว้เป็นที่ระลึกด้วย จึงได้พิมพ์ไว้ต่อคำนำนี้ไป.

ราชบัณฑิตยสภา
วันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๕

รองอำมาตย์เอก ขาบ อภัยวงศ
พ.ศ. ๒๔๔๓–๒๔๗๔


ข้าพระพุทธเจ้า พระยาคทาธรธรณินทร์ ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง ขอพระราชทานทำเรื่องพงศาวดารกษัตริย์กรุงกัมโพชาธิบดีกับลำดับเจ้าเมืองพระตะบองส่งให้พระยาราชเสนานำน้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท

เดิมเมื่อครั้งกรุงธนบุรี เจ้าองค์ตนเป็นสมเด็จพระอุไทยราชาเจ้ากรุงกัมโพชาธิบดี ภายหลังสมเด็จพระอุไทยราชาให้เจ้าองค์รามน้องต่างมารดาขึ้นครองราชสมบัติเป็นสมเด็จพระรามาธิบดี สมเด็จพระอุไทยราชาลดลงมาอยู่ที่สมเด็จพระมหาอุปโยราช ครั้นศักราช ๑๑๔๒ ปีชวด โทศก (พ.ศ. ๒๓๒๓) สมเด็จพระมหาอุปโยราชถึงแก่พิราลัย ฝ่ายสมเด็จพระรามาธิบดีเจ้ากรุงกัมโพชาประพฤติการไม่เป็นยุตติธรรม เสียประเพณีบ้านเมืองไป ฟ้าทะละหะ ชื่อ มู พระยาจักรี ชื่อ ฟาง พระยาเดโช ชื่อ แทน เจ้าเมืองกะพงสวายพี่น้อง ๓ คน กับพระยากลาโหม ชื่อ ชู ขุนนางเหล่านี้เป็นฝักฝ่ายของสมเด็จพระอุปโยราช คิดก่อการกำเริบ ได้สมัคพรรคพวกมาก จับสมเด็จพระรามาธิบดีเจ้ากรุงกัมโพชาสำเร็จโทษเสีย แล้วไปรับราชบุตรและราชธิดาสมเด็จพระอุปโยราชมาแต่เมืองบาพนม คือ องค์เอง ชาย ๑ องค์เมญ ๑ องค์อี ๑ องค์เภา ๑ หญิง ๓ คน มาไว้เมืองพุทไทเพ็ชร์ แล้วฟ้าทะละหะตั้งตัวเป็นเจ้าฟ้ามหาอุปราช พระยาจักรีตั้งตัวเป็นพระองค์แก้ว พระยากลาโหมตั้งตัวเป็นสมเด็จเจ้าพระยา แต่พระยาเดโชเป็นเจ้าเมืองกะพงสวายอยู่ตามเดิม ฝ่ายพระยายมราช ชื่อ แบน และพระยาพระเขมรทั้งปวงซึ่งเป็นข้าสมเด็จพระรามาธิบดี ก็พากันหนีเข้ามาณเมืองพระตะบอง บอกข้อราชการบ้านเมืองซึ่งเกิดจลาจลเข้ามาณกรุงธนบุรี ณเดือนยี่ ปีชวด โทศก ในแผ่นดินตาก

ครั้นศักราชได้ ๑๑๔๔ ปีขาล จัตวาศก (พ.ศ. ๒๓๒๕) แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ โปรดเกล้าฯ ให้พระยายมราช แบน ออกไปปราบปรามกรุงกัมโพชาเรียบร้อยแล้ว พระยายมราช แบน จึงส่งเจ้าองค์เอง ชาย ๑ เจ้าองค์เมญ ๑ เจ้าองค์อี ๑ เจ้าองค์เภา ๑ หญิง ๓ เข้ามาณกรุงเทพฯ เวลานั้น เจ้าองค์เองยังเยาว์อยู่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งพระยายมราช แบน เป็นฟ้าทะละหะ ให้อยู่รักษากรุงกัมโพชาธิบดี ตั้งทัพใหญ่อยู่ณเมืองอุดงมีไชย

ครั้นศักราชได้ ๑๑๕๖ ปีขาล ฉศก (พ.ศ. ๒๓๓๗) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์โปรดเกล้าฯ อภิเศกให้เจ้าองค์เองออกไปเป็นสมเด็จพระรามาธิบดีครองกรุงกัมโพชา จึงทรงขอแยกเมืองพระตะบอง เมืองนครเสียมราฐ มาขึ้นแก่กรุงเทพฯ แล้วโปรดให้ฟ้าทะละหะ แบน พาขุนนางพระยาพระเขมรพรรคพวกเข้ามาตั้งอยู่ณเมืองพระตะบอง โปรดเกล้าฯ ตั้งให้ฟ้าทะละหะเป็นที่เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง (๑) เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ได้ถวายบุตรชายคน ๑ ชื่อ นายรศ มาเป็นมหาดเล็กรับราชการอยู่ณกรุงเทพฯ

สมเด็จพระรามาธิบดีพระองค์เองไปครองกรุงกัมโพชานั้น มีราชบุตร ชื่อ เจ้าองค์จันทร์ ๑ เจ้าองค์สงวน ๑ เจ้าองค์อิ่ม ๑ เจ้าองค์ด้วง ๑ แต่เจ้าองค์จันทร์กับเจ้าองค์สงวนร่วมมารดากัน เจ้าองค์อิ่มกับเจ้าองค์ด้วงร่วมมารดากัน สมเด็จพระรามาธิบดีองค์เองครองกรุงกัมโพชาได้ ๓ ปี ถึงแก่พิราลัย จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งเจ้าองค์จันทร์เป็นสมเด็จพระอุไทยราชา ตั้งเจ้าองค์สงวนเป็นมหาอุปโยราช ตั้งเจ้าองค์อิ่มเป็นพระมหาอุปราช แต่เจ้าองค์ด้วง น้องสุดท้องนั้น ยังเล็กอยู่ และเจ้าองค์จันทร์ เมื่อครั้งโปรดเกล้าฯ ให้ออกไปเป็นสมเด็จพระอุไทยราชาครองกรุงกัมโพชานั้น ชนมายุได้ ๑๖ พรรษา

เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ แบน เป็นเจ้าเมืองพระตะบองได้ ๑๖ ปี ถึงแก่กรรม ครั้นณปีมะเมีย โทศก แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยจึงโปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระยาพิบูลย์ราช แบน เป็นขุนนางในเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ เป็นที่พระยาอภัยภูเบศร์ เจ้าเมืองพระตะบอง (๒) ทรงตั้งนายรศ มหาดเล็ก บุตรเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ แบน เป็นพระวิเศษสุนทร ผู้ช่วยราชการ

ฝ่ายกรุงกัมโพชาธิบดี สมเด็จพระอุไทยราชากับมหาอุปโยราชเกิดร้าวรานบาดหมางกัน สมเด็จพระอุไทยราชาให้จับพระยาจักรี ชื่อ แบน ฆ่าเสีย ว่า เป็นฝักฝ่ายข้างมหาอุปโยราช ๆ มีความรังเกียจ จึงพาพระมหาอุปราชกับเจ้าองค์ด้วงและพระยาพระเขมรพรรคพวกเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่ณกรุงเทพฯ ฝ่ายสมเด็จพระอุไทยราชาก็ลงเรือพาพระยาพระเขมรไปพึ่งเจ้าเวียดนามเมืองญวนขอกองทัพญวนขึ้นมารักษากรุงกัมโพชาธิบดี ครั้งนั้น หัวเมืองเขมรที่ต่อแดนเมืองพระตะบองคงขึ้นอยู่กับกรุงเทพฯ และที่เมืองโพธิสัตว์ คล้องได้พระยาช้างเผือก พระยาสวรรคโลก ชื่อ เวด เจ้าเมืองโพธิสัตว์ จึงส่งเข้ามาถวายณกรุงเทพฯ พระราชทานนามว่า พระยาเศวตกุญชร พระยาสวรรคโลกมีความรังเกียจสมเด็จพระอุไทยราชา ก็พาครอบครัวเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารณกรุงเทพฯ พระยาพิบูลย์ราชเป็นที่พระยาอภัยภูเบศร์ เจ้าเมืองพระตะบอง ได้ ๕ ปี ถึงแก่กรรมเมื่อปีจอ ฉศก (พ.ศ. ๒๓๕๗) จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งพระวิเศษสุนทร รศ บุตรเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ แบน เป็นพระยาอภัยภูเบศร์ เจ้าเมืองพระตะบอง (๓) พระยาอภัยภูเบศร์ รศ เป็นเจ้าเมืองได้ ๑๓ ปี ณปีกุน นพศก (พ.ศ. ๒๓๗๐) ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาอุดมภักดี ชื่อ เชด กับพระยาปลัดกรมการเมืองพระตะบอง บอกกล่าวโทษพระยาอภัยภูเบศร์ รศ เข้ามาณกรุงเทพฯ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เอาตัวพระยาอภัยภูเบศร์ รศ เข้ามาตั้งเป็นพระพิพิธภักดีรับราชการณกรุงเทพฯ ตั้งพระยาอุดมภักดี เชด เป็นพระยาอภัยภูเบศร์ เจ้าเมืองพระตะบอง (๔) ต่อมา

ฝ่ายเจ้าองค์สงวน ซึ่งเป็นพระมหาอุปโยราช เข้ามาอยู่ณกรุงเทพฯ ถึงแก่พิราลัย ครั้นณปีมะเส็ง เบญจศก (พ.ศ. ๒๓๗๖) จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯ ที่สมุหนายก เป็นแม่ทัพใหญ่ยกออกไปตีกรุงกัมโพชา สมเด็จพระอุไทยราชาก็ลงเรือหนีลงไปเมืองไซ่ง่อน กองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯ ยกติดตามไปจนถึงเปียมเนา มีกองทัพญวนขึ้นมาป้องกัน ได้รบกับกองทัพไทยหลายเวลา กองทัพไทยติดตามเอาตัวสมเด็จพระอุไทยราชาไม่ได้ กองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯ ก็เลิกกลับเข้ามาตั้งอยู่ณเมืองพระตะบอง

ครั้นณปีมะเส็ง ฉศก พระยาอุดมภักดี ซึ่งเป็นพระยาอภัยภูเบศร์ เจ้าเมืองพระตะบอง ได้ ๘ ปี ถึงแก่กรรม ฝ่ายสมเด็จพระอุไทยราชาซึ่งหนีลงไปพึ่งเจ้าเวียดนามณเมืองญวน กลับเข้ามาถึงกรุงกัมโพชา ก็ถึงแก่พิราลัย สมเด็จพระอุไทยราชามีราชธิดา ๔ องค์ ชื่อ เจ้าองค์แบน ๑ ชื่อ เจ้าองค์มี ๑ ชื่อ เจ้าองค์เภา ๑ ชื่อ เจ้าองค์สงวน ๑ ต่างมารดากันทั้ง ๔ องค์ เจ้าเวียดนามจึงตั้งเจ้าองค์มี บุตรสมเด็จพระอุไทยราชาที่ ๒ ให้ครองกรุงกัมโพชาธิบดี

ถึงปีจอ สัมฤทธิศก (พ.ศ. ๒๓๘๑) โปรดให้ก่อกำแพงเมืองพระตะบอง ทรงตั้งเจ้าองค์อิ่ม พระมหาอุปราช เป็นเจ้าเมืองพระตะบอง (๕) ตั้งพระยาปลัด ชื่อ รศ ให้เป็นพระยาวิเศษสุนทร มีเครื่องยศพานทอง กระบี่บั้งทอง กองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯ ก็เลิกเข้าไปณกรุงเทพฯ

ณปีกุน เอกศก (พ.ศ. ๒๓๘๒) มีท้องตราโปรดออกไปที่เมืองพระตะบองว่า ให้ยกเป็นกระบวนทัพไปสอดแนมจับพวกด่านเมืองโพธิสัตว์เข้ามาณกรุงเทพฯ จะได้ไต่ถามด้วยข้อราชการกรุงกัมโพชาธิบดี เจ้าองค์อิ่ม เจ้าเมืองพระตะบอง จึงจัดให้พระพิทักษ์บดินทร์ พระนรินทรโยธา คุมกองทัพยกไปตั้งณเมืองระสือ คอยจับคนเมืองโพธิสัตว์ อยู่ภายหลัง เจ้าองค์อิ่มคิดกบฏ จับพระยาปลัด พระยกรบัตร กับกรมการ และกวาดต้อนครอบครัวลงเรือหนีไปเมืองพนมเปน แต่ครัวที่กวาดต้อนไปทางบกนั้น กองทัพพระพิทักษ์บดินทร์ พระนรินทรโยธา จับไว้ได้ จึงบอกข้อราชการเข้ามาณกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขัดเคืองเจ้าเขมร จึงโปรดเกล้าฯ ให้จำเจ้าองค์ด้วงไว้ที่ณทิมกรมพระตำรวจ ภายหลัง พระยาศรีสหเทพ (เพ็ง) กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า เจ้านายฝ่ายเขมรหมดเชื้อสาย เหลือแต่นักองค์ด้วงองค์เดียว ดุจแก้วหาค่ามิได้ ถ้านักองค์ด้วงเป็นอันตราย เมืองเขมรจะทำการไม่ตลอด ขอรับพระราชทานนักองค์ด้วงไปคุมไว้ที่บ้านพระยาศรีสหเทพ จะได้ทนุบำรุงมิให้เป็นอันตรายได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานให้พระยาศรีสหเทพรับตัวไป ให้ขุนจำนงอักษรเป็นผู้ดูและอุปถัมภ์บำรุงนักองค์ด้วงไว้ที่บ้านพระยาศรีสหเทพ นักองค์ด้วงจึงได้ยกนักโถ น้องนักเทพ ซึ่งเป็นญาติฝ่ายมารดานักองค์ด้วง ให้เป็นภรรยาขุนจำนงอักษร

ฝ่ายกรุงกัมโพชาธิบดี องเตียงกุน แม่ทัพญวน ให้ส่งเจ้าองค์มี ผู้ครองกรุงกัมโพชาธิบดี กับเจ้าหญิงราชธิดาสมเด็จพระอุไทยราชา และขุนนางพระยาพระเขมรผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นเสนาบดีผู้สำเร็จราชการหลายนาย ไปไว้ณเมืองเว้ ส่วนเจ้าองค์อิ่ม พระมหาอุปราช ซึ่งเป็นกบฏจับกรมการเมืองพระตะบองและครอบครัวออกไปกรุงกัมโพชาธิบดีนั้น องเตียงกุนก็ให้คุมตัวส่งไปไว้ณเมืองเว้ แต่กรมการเมืองพระตะบองที่มีชื่อเสียงเป็นคนแขงแรง ญวนให้ฆ่าเสียณกรุงกัมโพชาธิบดีบ้าง แยกย้ายไปไว้ตามหัวเมืองญวนซึ่งขึ้นกับเมืองเว้บ้าง องเตียงกุน แม่ทัพ ก็คิดจัดการจะครอบครองเอากรุงกัมโพชาธิบดีเป็นหัวเมืองของญวน ขุนนางพระยาพระเขมรหัวเมืองซึ่งขึ้นกับกรุงกัมโพชาธิบดีและไพร่บ้านพลเมืองก็ได้ความเดือดร้อน ก็พากันคิดก่อการกำเริบลุกลามฆ่าฟันกองทัพญวน กองทัพญวนยกมาปราบปรามเขมร ๆ กับญวนก็เป็นข้าศึกกันขึ้น

เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงบอกข้าราชการเข้ามาณกรุงเทพฯ ขอเจ้าองค์ด้วงออกไปณเมืองพระตะบอง แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชาก็ยกกองทัพพาเจ้าองค์ด้วงไปจากเมืองพระตะบอง ไปตั้งทัพใหญ่อยู่ณเมืองอุดงมีไชย องเตียงกุนก็ยังตั้งทัพอยู่ณเมืองพนมเปน รบพุ่งกันต่อมา ญวนยกขึ้นมาตีเมืองอุดงมีไชย เจ้าพระยาบดินทรเดชาตีกองทัพญวนแตกไป องเตียงกุนเห็นจะปราบปรามเมืองเขมรไม่ได้ ก็เสียใจ จึงให้เลิกกองทัพลงเรือถอยไปจากเมืองพนมเปน แล้วองเตียงกุน แม่ทัพ ก็กินยาพิศตาย เจ้าพระยาบดินทรเดชาก็เลื่อนกองทัพลงไปตั้งอยู่เมืองพนมเปน

เจ้าเวียดนามจึงตั้งให้องคำทรายเป็นแม่ทัพใหญ่มาตั้งอยู่ที่ณเมืองโชฎก แล้วให้มาพูดจาขอเลิกสงครามเป็นไมตรีกัน ญวนยอมให้เจ้าองค์ด้วงเป็นเจ้ากรุงกัมโพชาธิบดี และยอมส่งเจ้าองค์มี กับเจ้าองค์เภา เจ้าองค์สงวน ขุนนางและเสนากรุงกัมโพชาธิบดี และครอบครัวเมืองพระตะบอง ซึ่งเจ้าองค์อิ่มกวาดต้อนเอาไปนั้น คืนมาให้กองทัพไทยณกรุงกัมโพชาธิบดี ขอแต่ให้เจ้าองค์ด้วงส่งเครื่องบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงเวียดนาม ๓ ปีครั้ง ๑ ตามธรรมเนียม ญวนก็จะไม่มาเบียดเบียฬกรุงกัมโพชาธิบดีต่อไป ก็เป็นการตกลงเลิกรบกัน แต่เจ้าองค์แบนเป็นราชธิดาสมเด็จพระอุไทยราชานั้น ญวนมีความสงไสยว่า เป็นบุตรนักเทพ หลานเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ จึงให้ประหารชีวิตรเสียณเมืองเว้ เจ้าองค์อิ่ม พระมหาอุปราช ก็ถึงแก่พิราลัยที่เมืองญวน

ถึงปีมะแม นพศก (พ.ศ. ๒๓๙๐) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งองค์ด้วงเป็นสมเด็จพระหริรักษ์รามามหาอิศราธิบดี เจ้ากรุงกัมโพชาธิบดี กองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชาก็เลิกกลับเข้ามาณกรุงเทพฯ แล้วโปรดเกล้าฯ ตั้งพระนรินทรโยธา ชื่อ ม่วง ให้เป็นพระยาอภัยภูเบศร์ เจ้าเมืองพระตะบอง (๖) แล้วองค์สมเด็จพระหริรักษ์ฯ ถวายเจ้าองค์ราชาวดี ๑ เจ้าองค์ศรีสวัสดิ ๑ เจ้าองค์วัตถา ๑ เข้ามารับราชการณกรุงเทพฯ

ครั้นถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งเจ้าองค์ราชาวดีเป็นองค์พระนโรดมพรหมบริรักษ์มหาอุปราช ตั้งเจ้าองค์ศรีสวัสดิเป็นองค์พระหริราชดไนยไกรแก้วฟ้า ไปช่วยราชการองค์สมเด็จพระหริรักษ์ฯ ณกรุงกัมโพชาธิบดี แต่เจ้าองค์วัตถาให้อยู่รับราชการณกรุงเทพฯ ทรงตั้งหลวงอภัยพิทักษ์ ชื่อ เยีย บุตรพระยาอภัยภูเบศร์ เป็นพระคทาธรธรณินทร์ ผู้ช่วยราชการเมืองพระตะบององค์สมเด็จพระหริรักษ์ฯ ครองกรุงกัมโพชาธิบดีได้ ๑๓ ปี ถึงปีวอก โทศก (พ.ศ. ๒๔๐๓) ก็ถึงแก่พิราลัย ฝ่ายพระยาอภัยภูเบศร์ บิดาพระคทาธรธรณินทร์ เป็นเจ้าเมืองพระตะบองได้ ๑๓ ปี ก็ถึงอนิจกรรม จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งพระคทาธรธรณินทร์ เยีย ให้เป็นผู้รั้งราชการเมืองพระตะบอง

ครั้งนั้น โปรดเกล้าฯ พระราชทานอนุญาตให้เจ้าองค์วัตถาออกไปเยี่ยมศพสมเด็จพระหริรักษ์ฯ ณกรุงกัมโพชาธิบดี องค์สมเด็จพระนโรดมกับเจ้าองค์วัตถาก็เกิดร้าวรานบาดหมางถึงรบพุ่งกัน เจ้าองค์วัตถาแตกหนีมาทางเมืองกะพงสวายเข้ามาณเมืองนครเสียมราฐ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าเมืองพระตะบองรับเจ้าองค์วัตถาส่งเข้ามาณกรุงเทพฯ ภายหลัง พระยาพระเขมรที่เป็นพรรคพวกเจ้าองค์วัตถาคิดก่อการกำเริบลุกลามขึ้นยกเป็นกระบวนทัพไปรบกับกองทัพองค์สมเด็จพระนโรดม กองทัพองค์สมเด็จพระนโรดมแตก องค์สมเด็จพระนโรดมก็พาครอบครัวพระยาพระเขมรหนีเข้ามาเมืองพระตะบอง แล้วก็บอกข้อราชการเข้ามาณกรุงเทพฯ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยามุขมนตรีคุมกองทัพออกไปตั้งอยู่ณเมืองพระตะบองคิดระงับเหตุการณ์ที่กรุงกัมโพชาธิบดี แต่องค์สมเด็จพระนโรดมนั้น ให้เข้ามาเฝ้าทูลละอองฯ ณกรุงเทพฯ ต่อมา กองทัพเจ้าพระยามุขมนตรีเลื่อนออกไปตั้งอยู่ณเมืองอุดงมีไชย แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ส่งองค์สมเด็จพระนโรดมออกไปทางเรือขึ้นที่เมืองกำปอดไปณเมืองอุดงมีไชย กองทัพเจ้าพระยามุขมนตรีก็เลิกกลับเข้ามาณกรุงเทพฯ

ถึงปีกุน เบญจศก (พ.ศ. ๒๔๐๖) จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งองค์พระนโรดมให้เป็นองค์สมเด็จพระนโรดม เจ้ากรุงกัมโพชาธิบดี ครั้นปีชวด ฉศก (พ.ศ. ๒๔๗๐) โปรดเกล้าฯ ตั้งพระคทาธรธรณินทร์ เยีย บุตรพระยาอภัยภูเบศร์ เป็นที่พระยาคทาธรธรณินทร์ เจ้าเมืองพระตะบอง (๗)

คิดลำดับกษัตริย์ซึ่งครองกรุงกัมโพชาธิบดี เจ้าองค์ตนซึ่งเป็นสมเด็จพระอุไทยราชา ที่ ๑ เจ้าองค์รามเป็นสมเด็จพระรามาธิบดี ที่ ๒ เจ้าองค์เองเป็นสมเด็จพระรามาธิบดี ที่ ๓ เจ้าองค์จันทร์เป็นสมเด็จพระอุไทยราชา ที่ ๔ เจ้าองค์มี บุตรหญิงเจ้าองค์จันทร์ ที่ ๕ เจ้าองค์ด้วงเป็นสมเด็จพระหริรักษ์ ที่ ๖ เจ้าองค์ราชาวดีเป็นองค์สมเด็จพระนโรดม ที่ ๗ ลำดับกษัตริย์ครองกรุงกัมโพชาธิบดีสิ้นเท่านี้

เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ แบน ยกจากกรุงกัมโพชาธิบดีตั้งอยู่ณะเมืองพระตะบองเมื่อจุลศักราช ๑๑๕๖ ปีขาล ฉศก (พ.ศ. ๒๓๓๗) ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ครั้นศักราชได้ ๑๒๐๐ ปีจอ สัมฤทธิศก (พ.ศ. ๒๓๘๑) แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯ ที่สมุหนายก ออกมาตั้งหลักเมืองก่อกำแพงเมืองพระตะบอง คิดลำดับเจ้าเมืองพระตะบอง เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ แบน ที่ ๑ พระยาพิบูลย์ราช ชื่อ แบน เป็นพระยาอภัยภูเบศร์ ที่ ๒ พระยาวิเศษสุนทร ชื่อ รศ เป็นพระยาอภัยภูเบศร์ ที่ ๓ พระอุดมภักดี ชื่อ เชด เป็นพระยาอภัยภูเบศร์ ที่ ๔ เจ้าองค์อิ่ม พระมหาอุปราช เป็นเจ้าเมืองพระตะบอง ที่ ๕ พระนรินทรโยธา ชื่อ ฟอง เป็นพระยาอภัยภูเบศร์ ที่ ๖ พระคทาธรธรณินทร์ ชื่อ เยีย เป็นพระยาคทาธรธรณินทร์ ที่ ๗ เมืองพระตะบอง

แต่งต่อมาเมื่อจะพิมพ์หนังสือนี้

ถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เลื่อนเกียรติยศพระยาคทาธรฯ เยีย ขึ้นเป็นเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์เมื่อปีเถาะ ตรีศก (พ.ศ. ๒๔๓๔) เจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ถึงอสัญกรรมปีมะโรง จัตวาศก (พ.ศ. ๒๔๓๕) ทรงตั้งพระอภัยพิทักษ์ ชุ่ม บุตรเจ้าพระยาคทาธรฯ เยีย เป็นพระยาคทาธรธรณินทร์ ผู้ว่าราชการเมืองพระตะบอง นับเป็นที่ ๘ ต่อมาถึงปีวอก พ.ศ. ๒๔๓๙ โปรดให้รวมหัวเมืองเขมร ๔ เมือง คือ เมืองพระตะบอง ๑ เมืองนครเสียมราฐ ๑ เมืองพนมศก ๑ เมืองศรีโสภณ ๑ เข้าเป็นมณฑล เรียกว่า มณฑลบุรพา โปรดให้พระยาศักดาภิเดชวรฤทธิ ดั่น เป็นสมุหเทศาภิบาลคนแรก ต่อมา ทรงตั้งพระยาคทาธรธรณินทร์ ชุ่ม เป็นสมุหเทศาภิบาลรับราชการมาจนรัฐบาลไทยทำหนังสือสัญญากับรัฐบาลฝรั่งเศสยอมคืนหัวเมืองเขมรให้แก่กรุงกัมโพชาเมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๔๕๐ พระยาคทาธรธรณินทร์ ชุ่ม ไม่สมัคไปอยู่กับต่างประเทศ ขออพยพเข้ามาเป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่ในพระราชอาณาจักร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งเป็นเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองปราจิณบุรีจนบัดนี้.

วงศ์สกุลผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง

วันพฤหัศบดี เดือนยี่ ขึ้นค่ำ ๑ จุลศักราช ๑๒๒๒ ปีวอก โท (พ.ศ. ๒๔๐๓) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระราชเสนาเรียงพงศาวดารเมืองพระตะบองทูลเกล้าฯ ถวาย

พระราชเสนาได้หาตัวพระคทาธรธรณินทร์และกรมการผู้ใหญ่ในเมืองพระตะบองมาถาม ให้การว่า เมื่อครั้งแผ่นดินเจ้าตาก ขุนนางเขมรจับองค์สมเด็จพระรามาธิบดีฆ่าเสีย แล้วพระยายมราช แบน เข้ามาณกรุงเทพฯ ครั้นถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระยายมราช แบน ออกไปปราบปรามเมืองเขมรสำเร็จแล้ว พระยายมราชส่งนักพระองค์เองกับเจ้าผู้หญิงเข้ามาณกรุงเทพฯ จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งพระยายมราช แบน เป็นฟ้าทะละหะ เป็นผู้รักษากรุงกัมพูชาธิบดีอยู่เมืองไผทเพ็ชร์ ประมาณสี่ห้าปี จึงโปรดเกล้าฯ ให้เศกนักพระองค์เองเป็นองค์สมเด็จพระนารายน์รามาธิบดีออกไปครอบครองเมืองไผทเพ็ชร์ ฟ้าทะละหะ แบน เข้ามาเฝ้าทูลละอองฯ

ณปีขาล ฉศก จุลศักราช ๑๑๕๖ ปี (พ.ศ. ๒๓๓๗) โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านสังแกขึ้นเป็นเมืองพระตะบอง ทรงตั้งฟ้าทะละหะ แบน เป็นเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ผู้สำเร็จราชการ ให้ยกเอาเมืองนครเสียมราฐมาเป็นเมืองขึ้นเมืองพระตะบองด้วย เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ แบน ถวายบุตร หญิง ชื่อ นักอยู่ ชาย ชื่อ นายรศ เข้ามาทำราชการอยู่ณกรุงเทพฯ พระนารายน์รามาธิบดีว่าราชการได้ ๓ ปี ถึงแก่พิราลัย จึงโปรดตั้งนักพระองค์จันทร์ บุตรสมเด็จพระนารายน์รามาธิบดี เป็นองค์สมเด็จพระอุไทยราชาธิราช ครอบครองกรุงกัมพูชาณเมืองไผทเพ็ชร์ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ แบน ยกนักเทพ บุตรหญิง ให้เป็นห้ามองค์สมเด็จพระอุไทยราชาธิราชคนหนึ่ง ให้นายมา บุตร เป็นมหาดเล็กคนหนึ่ง พระอุไทยราชาธิราชตั้งนายมา บุตรเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ แบน เป็นขุนนางหลายที่ จนมาเป็นที่พระองค์แก้ว นักเทพมีบุตรหญิงกับพระอุไทยราชาธิราชคนหนึ่ง ชื่อ นักองค์แป้น เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ แบน ว่าราชการได้ ๑๖ ปี ถึงแก่กรรมณปีมะเส็ง เอกศก พ.ศ. ๒๓๕๒

ณปีมะเมีย โทศก พ.ศ. ๒๓๕๓ ถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ทรงตั้งพระยาพิบูลย์ราช ชื่อ แบน เป็นพระยาอภัยภูเบศร์ ผู้ว่าราชการเมืองพระตะบอง นับเป็นที่ ๒ ทรงตั้งนายรศ มหาดเล็ก บุตรเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ แบน เป็นที่พระวิเศษสุนทร ผู้ช่วยราชการ ทรงตั้งนายเตียง บุตรพระยาพิบูลยราช แบน เป็นที่พระภักดีบริรักษ์ ผู้ช่วยราชการ ทรงตั้งนายอง บุตรเลี้ยงพระยาพิบูลยราช แบน เป็นที่พระวิชิตสงคราม ปลัดเมืองนครเสียมราฐ

พระยาอภัยภูเบศร์ แบน ว่าราชการได้ ๕ ปี ถึงอนิจกรรมเมื่อเดือน ๑๐ ปีจอ ฉศก (พ.ศ. ๒๓๕๗) ครั้นณเดือน ๑๒ ปีจอ ฉศกนั้น โปรดให้พระมหาเทพนำเครื่องยศออกไปตั้งพระวิเศษสุนทร รศ บุตรเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ แบน เป็นพระยาอภัยภูเบศร์ ผู้ว่าราชการเมืองพระตะบอง นับเป็นที่ ๓ ตั้งพระภักดีบริรักษ์ เตียง บุตรพระยาอภัยภูเบศร์พิบูลย์ เป็นพระยาวิเศษสุนทร ตั้งนายศรี น้องชายพระยาวิเศษสุนทร เตียง เป็นพระภักดีบริรักษ์ ผู้ช่วย

ครั้นณปีกุน สัปตกศก (พ.ศ. ๒๓๕๘) พระยาสังขโลก นอง เจ้าเมืองโพธิสัตว์ ยกกองทัพมาตีเมืองพระตะบอง ๆ สู้รบจับพระยาสังขโลก นอง ได้ ส่งเข้ามาณกรุงเทพฯ แล้วพระยาจักรี เชด เมืองพระตะบอง ถวายบุตรชาย ชื่อ นายศุข บุตรเขย ชื่อ นายแก้ว เข้ามาเป็นมหาดเล็ก จึงทรงตั้งนายแก้ว บุตรเขยพระยาจักรี เชด เป็นพระรัตนวาที

ครั้นถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระภักดีบริรักษ์ น้องชายพระยาวิเศษสุนทร เตียง ถึงแก่กรรม โปรดให้เลื่อนพระรัตนวาที แก้ว เป็นพระพิทักษ์บดินทร ผู้ช่วยราชการเมืองพระตะบอง ทรงตั้งพระยาจักรี เชด เป็นที่พระยาอุดมภักดี อยู่มา พระพิทักษ์บดินทร แก้ว ป่วยถึงแก่กรรม พระยานครเสียมราฐเข้ามาเฝ้าทูลละอองฯ ก็ป่วยถึงแก่กรรม จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งพระวิชิตสงคราม อง บุตรเลี้ยงพระยาอภัยภูเบศร์ แบน เป็นที่พระยานครเสียมราฐ แต่พระยาอภัยภูเบศร์ร รศ ว่าราชการได้ ๑๓ ปี ณเดือน ๔ ปีกุน นพศก (พ.ศ. ๒๓๗๐) พระยาอุดมภักดี เชด พระยาปลัด รศ กรมการเมืองพระตะบอง บอกกล่าวโทษพระยาอภัยภูเบศร์ รศ เป็นเนื้อความหลายข้อ มีตราให้หาตัวพระยาอภัยภูเบศร์ รศ เข้ามาอยู่ณกรุงเทพฯ แล้วทรงตั้งเป็นพระยาพิพิธภักดี อยู่รับราชการในกรุงฯ แล้วตั้งพระยาอุดมภักดี เชด เป็นพระยาอภัยภูเบศร์ ผู้ว่าราชการเมืองพระตะบอง นับเป็นที่ ๔ ทรงตั้งนายศุข บุตรพระยาอภัยภูเบศร์ เชด เป็นพระภักดีบริรักษ์ ตั้งนายโสม บุตรพระยาอภัยภูเบศร์ เชด เป็นพระพิทักษ์บดินทรเมืองพระตะบอง ทรงตั้งพระวัง นอง บุตรเขยเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ แบน เป็นพระยามโนไมตรี เจ้าเมืองระสือ

ครั้นณปีขาล โทศก (พ.ศ. ๒๓๗๓) พระองค์แก้ว บุตรเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ แบน หนีเข้ามา โปรดให้เป็นเจ้าเมืองสวายเจียก ถึงปีเถาะ ตรีศก (พ.ศ. ๒๓๗๕) พระยามโนไมตรี นอง เกลี้ยกล่อมได้พระยาสังขโลก กด เจ้าเมืองโพธิสัตว์ เข้ามาณกรุงเทพฯ ณปีมะเส็ง เบญจศก เจ้าพระยาบดินทรเดชายกออกไปเมืองพนมเปน แล้วกลับมาเมืองพระตะบอง เมื่อปีมะเมีย ฉศก (พ.ศ. ๒๓๗๗) พระยาอภัยภูเบศร์ เชด ถึงอนิจกรรม โปรดเกล้าฯ ตั้งองค์อิ่มเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง นับเป็นที่ ๕ พระราชทานพานทองพระยาปลัด รศ ตั้งพระยามโนไมตรี นอง บุตรเขยเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ แบน เป็นพระนรินทรโยธา ตั้งพระยานครเสียมราฐเป็นพระยานุภาพไตรภพ เจ้าเมือง ให้ยกเมืองนครเสียมราฐมาขึ้นกรุงเทพฯ แต่นั้น แล้วทรงตั้งพระยาวิเศษสุนทร เตียง เป็นเจ้าเมืองอรัญประเทศ แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชากลับเข้ามากรุงเทพฯ

ถึงเดือนอ้าย ปีกุน เอกศก (พ.ศ. ๒๓๘๒) นักพระองค์อิ่มเป็นกบฏ จับพระยาปลัด รศ พระยกรบัตร กรมการ แล้วพาหนีไปหาญวน ครั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชายกออกไปถึงเมืองพระตะบอง ให้พระพิทักษ์ดินทร โสม บุตรพระยาอภัยภูเบศร์ เชด ว่าที่เจ้าเมือง ให้พระนรินทรโยธา นอง ว่าที่ปลัด ให้นายโสม บุตรพระนรินทรโยธา นอง เป็นที่หลวงอภัยพิทักษ์ ให้พระมหาดไทย จัน บุตรพระพิทักษ์บดินทร แก้ว เป็นพระยามโนไมตรี แล้วคิดทำศึกกับญวนได้ ๒ ปี พระพิทักษ์บดินทร โสม ถึงแก่กรรม พระนรินทรโยธาได้รั้งราชการเมืองพระตะบอง

ครั้นณปีวอก โทศก (พ.ศ. ๒๓๙๓) ทรงตั้งพระนรินทรโยธา นอง บุตรพระยาธิราชวงศา เป็นพระยาอภัยภูเบศร์ ผู้ว่าราชการเมืองพระตะบอง นับเป็นที่ ๖ และทรงตั้งหลวงอนุรักษ์มนตรี เกต เป็นที่ปลัดเมืองมาจนในแผ่นดินปัตยุบันนี้ (คือ ในรัชชกาลที่ ๔) ครั้นพระปลัด เกต เป็นโทษ ทรงตั้งพระยามโนไมตรี จัน พี่ชายพระปลัด เกต เป็นที่พระยาปลัด ตั้งพระปลัด เกต เป็นที่พระสุพรรณพิศาล จางวางส่วยทอง

พระยาอภัยภูเบศร์ นอง ว่าราชการเมืองมาได้ ๑๒ ปี ณวันศุกร เดือน ๑๐ แรม ๗ ค่ำ ปีวอก โทศก (พ.ศ. ๒๔๐๓) ถึงอนิจกรรม เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ แบน มีบุตรชายหญิงรวม ๑๖ คน มีรายชื่อดังนี้

พระยาอภัยภูเบศร์ รศ ๑

พระองค์แก้ว มา ๑

พระนรินทรบริรักษ์ อุ่ม ๑

พระยกรบัตร ดม ๑

หลวงเมือง เม้า ๑

หลวงสัจจาคมเมืองโตนด ๑

นายกอง ๑

นายเกต ๑

รวมบุตรชาย ๘

หม่อมอยู่ ๑

นักเทพ ห้ามนักพระองค์จันทร์ ๑

อำแดงมี ภรรยาพระสุพรรณพิศาล ๑

อำแดงปก ๑

อำแดงแป้น ๑

อำแดงนวม ๑

อำแดงเมียด ๑

อำแดงแก้ว ๑

รวมบุตรหญิง ๘ คน

พระยาอภัยภูเบศร์ แบน (ที่ ๒) มีบุตรชายหญิงรวม ๙ คน มีรายชื่อดังนี้

พระวิเศษสุนทร เตียง ๑

พระภักดีบริรักษ์ ศรี ๑

พระยานุภาพไตรภพ อง บุตรเลี้ยง ๑

หลวงอาสาประเทศ ๑

นายเสือ ๑

รวมบุตรชาย ๕ คน

อัมพา ทำราชการอยู่ในกรุง ๑

อำแดงแป้น ๑

อำแดงมก ๑

อำแดงเมน ๑

รวมบุตรหญิง ๔ คน

พระยาอภัยภูเบศร์ รศ มีบุตรชายหญิงรวม ๑๐ คน มีรายชื่อดังนี้

พระพิทักษ์สรไกร อยู่เมืองนครราชสิมา ๑

นายแก้ว ๑

นายเมียก ๑

นายฉิม ๑

นายเพ็ชร์ ๑

รวมบุตรชาย ๕ คน

เอม ภรรยาพระยานุภาพไตรภพเมืองนครเสียมราฐ ๑

กอง ภรรยาเจ้าพระยานครราชสิมา ๑

แป้น ภรรยาพระยาราชสุภาวดี ๑

ทับ ภรรยาพระยายมราชเมืองอุดงมีไชย ๑

อำแดงแย้ม ๑

รวมบุตรหญิง ๕ คน

พระยาอภัยภูเบศร์ เชด มีบุตรชายหญิงรวม ๔ คน มีรายชื่อดังนี้

พระภักดีบริรักษ์ ศุข ๑

พระพิทักษ์บดินทร โสม ๑

รวมบุตรชาย ๒ คน

อำแดงแก้ว ภรรยาพระยาพิทักษ์บดินทร แก้ว ๑

อำแดงกอง ภรรยาพระเสนาธิบดีเมืองพระตะบอง ๑

รวมบุตรหญิง ๒ คน

นักพระองค์อิ่มมีบุตรชายหญิงรวม ๓ คน มีรายชื่อดังนี้

นักองค์ทิม ชาย ๑

นักองค์มี หญิง ๑

นักองค์ดารา หญิง ๑

พระยาอภัยภูเบศร์ นอง มีบุตรชายรวม ๕ คน มีรายชื่อดังนี้

หลวงอภัยพิทักษ์ เป็นพระคทาธรธรณินทร์ เยีย ๑

นายทองอยู่ ๑

นายขำ ๑

นายบัว ๑

นายยศ ๑

แต่งใหม่เมื่อจะพิมพ์หนังสือนี้

เจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ เยีย มีบุตรชายหญิงรวม ๔ คน มีรายชื่อดังนี้

เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ชุ่ม ๑

คุณหญิงขลิบ ภรรยาพระยาณรงค์เรืองฤทธิ บุตรเจ้าพระยามุขมนตรี ๑

นางเทศ ภรรยาพระโยธาธิราช ทองคำ บุตรเจ้าพระยามุขมนตรี ๑

นางสมบุญ ภรรยาหม่อมเทวาธิราช ม.ร.ว.แดง อิศรเสนา ณอยุธยา ๑

เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ชุ่ม อภัยวงศ์ มีบุตรชายหญิงหลายคน บุตรภรรยาหลวงรวม ๔ คน คือ

พระอภัยพิทักษ์ เลื่อม แต่งงานกับนางสาวสงวน สิงหเสนี ธิดาพระยาณรงค์เรืองฤทธิกับคุณหญิงขลิบ ๑

พระยาอภัยวงศ์วรเศรษฐ์ ช่วง ๑

หม่อมเชื่อม ท.จ. ในพระองค์เจ้าจรูญศักดิกฤดากร ๑

คุณหญิงรื่น ภรรยาพระยากัลยาณวัฒนวิศิษฎ์ เชียร กัลยาณมิตร บุตรเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ ๑

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก