รายงานการค้าขาย
ในกรุงสยาม
ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์

รายงานการค้าขายกรุงสยาม ได้เขียนในปีคฤศตศักราช ๑๖๗๘ ฤๅจุลศักราช ๑๐๔๐ แปลจากหนังสืออังกฤษเกี่ยวข้องด้วยกรุงสยามครั้งโบราณ ใช้ด้วยตัวอักษรแลตัวสกดผิดกว่าปัตยุบันนี้ เมื่อเทียบสมัยตามศักราช ก็ตกเปนในปลายแผ่นดินพระนารายน์มหาราชครั้งกรุงทวาราวดีศรีอยุทธยาโบราณ ๒๑๕ ปีมานี่แล้ว

ผู้เขียนหนังสือเรื่องการค้าขายในกรุงสยามฉบับนี้ (หมายเลขที่แลตัวอักษร โอ.ซี. ๔๖๙๖) เปนลายมือเดียวเหมือนกันกับหนังสือฉบับหมาย โอ.ซี. ๔๖๔๑, กล่าวความว่า ตัวเขาได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำการในบริษัทอินเดียทิศตวันออกแล้ว, แลว่า ตัวเขาได้อยู่ในกรุงศรีอยุทธยามาสี่ปีแล้ว. บุทคลผู้เดียวเท่านั้นที่ต้องเปนคนเขียนหนังสือฉบับนี้ ก็คือ ยอชไวต์,[1] แลการข้อนี้อาจที่จะชี้แจงให้เห็นชัดได้ว่า เหตุใดจึงได้เห็นว่า หนังสือทั้งสองฉบับนั้นเปนลายมือคนเขียนผู้เดียวกัน

ถึงท่านผู้สมควรเปนที่เคารพนับถือ โรเบอตปาเกอ ผู้รับธุระสำหรับกิจการต่างของบริษัทอินเดียทิศตวันออกอังกฤษอันมีเกียรติยศ ที่ประชุมปฤกษาตั้งอยู่ณเมืองบันตัม[2]

ไม่ได้ลงวัน

ดูกร ท่านผู้สมควรเปนที่เคารพนับถือแลมีชื่อเสียงเกียรติยศ เจ้าข้า

ท่านได้มีกรุณาอนุเคราะห์ตามน้ำใจที่ข้าพเจ้าสมัคอาสาเข้าทำการในบริษัทอันมีเกียรติยศของข้าพเจ้า โดยการที่อนุญาตให้ข้าพเจ้าเข้าทำการงานของท่านทั้งหลายนั้น ชักให้ข้าพเจ้ายินดีที่จะพากเพียรใช้ความพยายามอุสาหะของข้าพเจ้าเพื่อจะให้เกิดคุณประโยชน์แก่ท่านทั้งหลายทวียิ่งขึ้นไป, แลข้าพเจ้าจะทำการโดยซื่อสัตย์สุจริต, แลตั้งใจมั่นเอาใจใส่ทำการน่าที่สำคัญโดยเต็มกำลังแลสติปัญญาสามารถของข้าพเจ้าเปนอย่างดีที่สุด, เพราะฉนั้น ก่อนที่ข้าพเจ้าจะสามารถยื่นรายงานสำคัญที่จะได้เปนเครื่องให้ท่านเห็นความสวามิภักดิ์ของข้าพเจ้าดีกว่านี้ขึ้นไปอิกบ้าง, ครั้งนี้ ข้าพเจ้าขอส่งรายงานเรื่องการค้าขายทั้งปวงในพระราชอาณาจักรสยามนี้มากำนันท่านก่อน, หวังใจว่า รายงานฉบับนี้คงจะเปนคุณบ้างในทางดำริห์หารือเรื่องกิจการของบริษัทมีเกียรติยศในที่นี้, ล้วนเปนความจริงแท้ทุกข้อความตามที่ข้าพเจ้าได้สืบสวน, แลสังเกตตลอดเวลาสี่ปีที่ข้าพเจ้าได้อยู่ที่นี่นั้น ทำให้ข้าพเจ้าได้ทราบ

(ข้อแรก เขากล่าวด้วยเรื่องเงินตราสำหรับบ้านเมือง, แลถ้อยคำของเขาพรรณาในการข้อนี้ปรากฎยาวกว่าสองสามน่ากระดาษ แต่อ่านเอาความไม่ได้, ด้วยว่าหนังสือนั้นชำรุดเสียมาก, แท้จริง กระดาษทั้งห้าน่าที่เขียนรายงานเต็มไปนั้นชำรุดเสียมาก เพราะชื้นฤๅเพราะเพลิงในตอนล่างกึ่งหนึ่ง, แลยังต้องปิดกระดาษใหม่ทับให้แน่นหนา ก็ทับตัวอักษรเสียน่าหนึ่งอิกด้วย)

สินค้าที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง

เมืองสยามนี้บริบูรณ์ด้วยสิ่งสินค้าต่าง ๆ ซึ่งเปนประโยชน์ แลมีค่าอย่างยิ่งเกิดขึ้นในบ้านเมืองเอง การบรรทุกสินค้าออกไปจำหน่ายถึงหัวเมืองต่างประเทศนั้น, อาจที่จะทำการค้าขายที่นี่ได้มากทีเดียว, สิ่งสินค้าต่าง ๆ นั้น คือ เนื้อไม้, หมาก, ดีบุก, ฝาง, ช้าง, เกลือสินเธาว์, ตะกั่ว, งาช้าง, สินค้าทั้งปวงเหล่านี้ พระมหากระษัตริย์รวบรัดเอาเสียหมด, แลมอบให้เจ้าพนักงานคลังสินค้าของพระองค์เปนผู้จำหน่ายขาย คนอื่นทั้งปวงนอกนั้นห้ามอย่างกวดขันมิให้ซื้อสินค้าเหล่านั้นจากมือคนอื่น, แลข้าพเจ้าได้เห็นการลงโทษอย่างแรงได้ทำแก่ราษฎรบางคนในการที่บังอาจล่วงพระราชโองการ, แต่ถ้าคนต่างประเทศล่วงละเมิดเช่นนั้นบ้าง เจ้าพนักงานมักจะทำเปนไม่รู้ไม่เห็นเสียโดยความกรุณา

เนื้อไม้

เนื้อไม้เมืองนี้เปนอย่างเอก ที่ฝรั่งเรียกกันว่า เนื้อไม้บันนา เปนอย่างวิเศษ นับถือกันยิ่งกว่าเมืองไหนในโลกนี้หมด, เครื่องหอมอย่างอุดมนี้มีในป่าใกล้เขตรกัมโพชา, การค้าเนื้อไม้นี้ตกอยู่ในเงื้อมมือแขกเปอเซียนผู้มีบันดาศักดิ์ผู้หนึ่งซึ่งได้รับยศเปนที่ออกพระศรีมโนราช เปนคนพระมหากระษัตริย์ทรงชุบเลี้ยง, แลได้ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานอนุญาตให้ทำการค้าขายเฉภาะสินค้าอย่างนี้ ได้พ้นจากเปนของต้องห้ามนับในสินค้าของหลวงมาหลายปี, แต่ต่อมา ก่อนเวลาท่านที่ล่วงแล้วถึงแก่กรรม การรับผูกขาดนั้นต้องคืน, แลการค้าเนื้อไม้เดี๋ยวนี้เปนน่าที่เจ้าพนักงานคลังสินค้าของพระเจ้าแผ่นดินค้าขายเปนของหลวง เนื้อไม้นี้พวกแขกมัรส์ใช้กันมากในเมืองฮินดูสตาน เมืองไฮโดรบัด แลเมืองเบงคอล, แต่ในเมืองเตอกีแลซีอาเรเบียยังยิ่งใช้มากขึ้นไปอิก, แลการที่เฉภาะต้องใช้มากนั้น ก็คือ ในการบูชาพระมะหะหมัดในเมืองเมดีนา, แลเมืองเมกกะ (ฤๅที่แขกเมืองไทยเรียกว่า กบิลพัสดุ์) ท่านออกพระใช้จำหน่ายขายเปนราคาต่าง ๆ สุดแท้แต่ชนิดเนื้อไม้ดีเพียงใด อย่างดีที่สุดนั้นราคาหาบละ ๑๖ ชั่ง เนื้อไม้ที่ยังไม่ได้จำหน่ายอิกมาก ข้าพเจ้าได้ทราบว่า ส่งไปขายที่เมืองโมกาในทเลแดง เปนราคาแฟรสเสลต่อ ๓๐๐ ปอนด์ จำนวนนี้เกือบตรงต่อหาบละ ๑๕๐๐ ปอนด์ (ต่อไปในน่านี้ยังมีความอิกมากว่าด้วยเรื่องต้องการดีบุก, แต่ลบเลือนไปเสียหมด เอาความติดต่อกันไม่ได้ ถัดนั้นไป สังเกตเค้าว่าด้วยเรื่องช้าง พรรณาถึงการบรรทุกลงกำปั่นที่เมืองตะนาวศรี, แต่ก็อ่านไม่ได้ถนัดอิก. เรื่องหมากนั้นเปนข้อความที่กล่าวถัดนั้นไป.)

หมาก

หมากนั้นมีที่สวนสำหรับเปนที่เพาะปลูกในระหว่างเมืองนนทบุรี (ชื่อเมืองนี้สงไสยสำเนียงไม่ชัด แต่ใกล้กว่าอื่น) นี้ แลปากแม่น้ำใกล้เมืองบางกอก ในสวนเหล่านี้เก็บได้ปีหนึ่งประมาณ ๒๕๐๐๐ หาบ เจ้าของสวนนั้นถูกบังคับอย่างกวดขันต้องให้ขายหมากของตัวทั้งสิ้นแก่พระมหากระษัตริย์เปนราคาหาบละ ๖ สลึง แลพระองค์โปรดให้ขายอิกต่อหนึ่งเปนราคาหาบละ ๑ ตำลึงให้แก่โปตุเกตที่เมืองมะเกา, แลจีนที่เมืองกึงตั๋ง. มีเรือกำปั่นมาจากท่าเมืองทั้งสองนี้ปีละ ๕ ฤๅ ๖ ลำ แลรับบรรทุกสินค้าต่าง ๆ มีสินค้าอย่างนี้เปนสินค้าสำคัญ, แลยังมีพ่อค้าราษฎรในเมืองนี้อิกบ้างทำการค้าขายอย่างนั้นด้วย

ฝาง

ไม้ฝางนั้นมีชุกชุมในหัวเมืองต่าง ๆ ในพระราชอาณาจักรสยามมาก สินค้าอย่างนี้บรรทุกออกไปจำหน่ายเมืองยี่ปุ่น, แลเมืองจีน พระมหากระษัตริย์ทรงรับซื้อจากราษฎรของพระองค์, ราษฎรขนมาส่งที่คลังสินค้าของพระเจ้าอยู่หัวเปนราคาหาบละ ๒ สลึง ๑ เฟื้อง แลพระองค์โปรดให้จำหน่ายขายอิกเปนราคาตามธรรมดาหาบละ ๖ สลึง, แต่ในปีคฤศตศักราช ๑๖๗๗ (ฤๅจุลศักราช ๑๐๓๙) พระองค์โปรดให้ขึ้นราคาเปนหาบละ ๒ บาท ด้วยทราบข่าวว่า ราคาในเมืองจีนขึ้น, ครั้นต่อมา ก็กลับลดราคาลงอิกคงเท่าราคาเดิม ๖ สลึง

เกลือสินเธาว์

เกลือสินเธาว์ของเมืองนี้นั้นเปนชนิดอย่างดีทีเดียว, แลทำมาอย่างดีตั้งแต่ข้าพเจ้าเคยเห็น, พระมหากระษัตริย์ขายพระราชทานแก่ราษฎรของพระองค์เปนราคาหาบละ ๕ บาท แต่เมื่อจำหน่ายจากพระเจ้าอยู่หัว สินค้าอย่างนี้เปนราคาถึง ๑๗ บาท ราคานี้เปนพิกัดราคาหลวง, แลตามราคานั้นได้ขายไปทุก ๆ ปี ๆ ละมาก ๆ ให้แก่นายห้างหลวงของเจ้าแผ่นดินที่เมืองเอ้หมึง, แลเมืองสำหรับให้เจ้าในเมืองนั้นใช้ในการสงครามที่รบพุ่งกันติดต่อในระหว่างเมืองเอ้หมึง แลพวกตาด, แลเมืองญวน กับเมืองตั้งเกีย

ตะกั่ว

ตะกั่วในเมืองนี้มีไม่สู้มาก เหมือนดีบุกเปน (อ่านไม่ออก) มีพิกัดราคาหาบละ ๑๐ บาท

งาช้าง

งาช้างนั้น ราษฎรเที่ยวแสวงหากันในป่า (อ่านไม่ออก) ปีหนึ่งพาลงมายังพระนครประมาณ ๖๐๐ ฤๅ ๗๐๐ หาบ ผู้ที่พาลงมา (อ่านไม่ออก) โดยเจ้าพนักงานคลังสินค้าของพระองค์ เปนราคาดังต่อไปนี้ คือ

งา กิ่ง ราคาหาบ ละ ๑๖ ตำลึง
" " " ๑๔ "
" " " ๑๒ "
" " " ๑๐ "
" " " –๘ "
(ต่อไปนี้อิกสามบรรทัดอ่านไม่ออกทีเดียว)

สินค้าที่เลวลงไปดังต่อไปนี้นั้น คนทั้งปวงมีอิศรภาพที่จะค้าขายได้ คือ เหล็ก น้ำตาล ไม้ซุง เกลือ น้ำมันมะพร้าว เชรูน (ไม่รู้ว่าอะไร) เขาสัตว์

เหล็ก

แร่เหล็กนั้นมีในแขวงเมืองเหนืออันเปนพระราชอาณาจักรราวแถบเมืองศุโขไทยแลเมืองพิศณุโลก ทำได้พอใช้สอยในบ้านเมือง, แลปีหนึ่ง ๆ ยังได้บรรทุกออกไปจำหน่ายณเมืองมะนิลาบ้าง ราคาตามธรรมดานั้น ๖ ถึง ๗ บาทต่อหาบ

เข้า

เมืองนี้เปนเมืองอุดมสำหรับการเพาะปลูก ถ้าไม่ดีกว่าเมืองอื่น ๆ หมดทั่วพิภพบรรดาที่บริบูรณ์ด้วยพืชพรรณ ก็นับเปนเมืองที่มีเข้ามากอย่างยิ่ง, หัวเมืองที่ใกล้เคียงแถบแหลมมลายูก็ได้ใช้เข้าเมืองนี้ทุก ๆ ปี จำหน่ายออกไปไกลจนกระทั่งเมืองมะลากา, แลเมื่อปีใดพเอิญเข้ามีน้อย, แลเข้าแพงไปถึงเมืองชวา เหมือนเช่นได้เคยมีในปีคฤศตศักราช ๑๖๗๖ แล ๑๖๗๗ (ฤๅจุลศักราช ๑๐๓๘ แล ๑๐๓๙) นั้น ชาววิลันดาแลชาติอื่น ๆ พากันพาเรือกำปั่นเข้ามาบรรทุกเข้าในเมืองนี้ออกไปจำหน่ายเปนหลายลำ, สินค้าอย่างนี้ขายกันที่นี่ตามมาตราอย่างหนึ่ง เรียกกันว่า ภารา ๘๐ ภาราเปน ๑ เกวียน ถ้าคิดเปนน้ำหนักพอตรงกันกับ ๓๐ หาบพอดี, ว่าตามธรรมดาที่เคยมา ราคาอยู่ในเกวียนละ ๑๐ ตำลึง ๑๒ บาท, แต่ปีนี้ ราคาเข้าขึ้นมาก แพงถึงอิกเท่าตัว แลการบรรทุกออกไปจำหน่ายในหัวเมืองต่างประเทศ ห้ามขาดอย่างกวดขันทีเดียว, เพราะว่า น้ำท่วมครั้งนี้มากเกินที่เคยได้พบได้รู้ในความจำของมนุษย์, ทำให้เข้าซึ่งได้หว่านไว้แล้วในแผ่นดินฉิบหายไปเสียมาก.

น้ำตาล

น้ำตาลนั้นทำกันชุมมากที่เมืองพิศณุโลก เมืองกำแพงเพ็ชร แลเมืองศุโขไทย ได้บรรทุกไปจำหน่ายณเมืองยี่ปุ่นแลเมืองมะลากาทุก ๆ ปี เปนอันมาก ราคาธรรมดานั้นหาบละ ๒ บาท ๓ สลึง

ไม้ซุง

เมืองนี้เปนเมืองที่ในป่าทั่วไป (อ่านไม่ออก) เต็มไปด้วยไม้ซุง ที่ล่องมาแล้ว (อ่านไม่ออก) พวกวิลันดาบรรทุกเอาออกไปจำหน่ายเมืองมะลากา (อ่านไม่ออก) (ต่อนี้ไปอิกสิบเอ็ดฤๅสิบสองบรรทัด มีเค้าตัวอักษร แต่อ่านไม่ออกแท้ทีเดียว)

เขาสัตว์

เขากระบือ, โค, เนื้อ แลกวาง ลงมาจากเมืองข้างเหนือ ๆ มาก, แลพวกวิลันดาเขากว้านซื้อเอาหมด ด้วยเขาได้รับผูกขาดที่จะเปนผู้ซื้อได้คนเดียว

เรือกำปั่นที่ใช้ในการค้าขาย

เรือกำปั่นที่ใช้นั้น พวกต่างประเทศที่คุ้นเคยไปมาค้าขายต่อท่าเมืองนี้ ก็คือ มาจากเมืองกึงตั๋ง, เมืองมะเกา, เมืองเอ้หมึง, เมืองญวน, เมืองสุรัต, แลเมืองคอร์แมนเดล

เมืองกึงตั๋งแลเมืองมะเกา

สิ่งสินค้าที่บรรทุกมาจากเมืองกึงตั๋งแลเมืองมะเกานั้น คือ ไหมดิบ แลแพรไหม, ปรอท, ทองขาว, ถ้วยชาม, ทองแดงแท่ง, แลเครื่องเหล็กเปนกะทะแลอื่น ๆ

ไหมดิบ

ไหมดิบนั้น ตามธรรมเนียมขายกันประมาณราคาหาบละ ๕๐๐ บาท จนถึงคราวเข้ามามากเกินธรรมดา เช่นมีมาเมื่อปีกลายนี้ ทำให้ราคาถูกลง คงหาบละ ๔๕๐ บาท, สินค้าอย่างนี้ พระมหากระษัตริย์, แลพ่อค้าจีน รับซื้อไว้สำหรับเปนสินค้าส่งไปเมืองยี่ปุ่น, ที่ใช้ในพระราชอาณาจักรนี้นั้นน้อยทีเดียว, ถึงแพรก็เหมือนกันอย่างนั้น, คือ แพรหนังไก่, แพรต่วน, แพรดอก, แลแพรหลิน, ก็บรรทุกออกไปด้วยเหมือนกัน

ทองขาว

เครื่องทองเหลืองทองขาวก็บรรทุกออกไปจากเมืองนี้สู่ตลาดเมืองนั้นด้วยเหมือนกัน แต่ที่บรรทุกสิ่งสินค้าอย่างนี้ออกไปจำหน่ายมากนั้นมักบรรทุกไปพร้อมกันกับปรอท, แลเครื่องถ้วยชามอย่างดีนั้น ไปเมืองสุรัต, เมืองคอร์แมนเดล, แลเมืองเบงคอล

ทองแดงแท่งแลเครื่องเหล็ก

ทองแดงแท่งนั้น, ใช้ทำของหลายอย่าง เช่น ขันน้ำ, แลโตกถาด สำหรับใช้เปนเครื่องเรือน เหมือนดังเครื่องเหล็กก็ใช้เปนเครื่องเรือนกันด้วยเหมือนกับที่เมืองนี้ แลบรรทุกออกไปจำหน่ายยังหัวเมืองแขกมลายูด้วย

ส่งสินค้าจากเมืองนี้

สินค้าต่าง ๆ ที่ส่งออกไปจำหน่ายเมืองกึงตั๋งแลมะเกา นอกจากสิ่งสินค้าที่เกิดในพื้นบ้านพื้นเมืองนั้น ๆ ซึ่งกำปั่นเหล่านี้ต้องการบรรทุก, ตามที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้ว, เขาก็ซื้อสิ่งสินค้าต่าง ๆ บรรทุกออกจากเมืองนั้น ๆ เหมือนเช่นกฤษณา จากเมืองตีมอร์, พริกไทย, การะบูน, แลรังนก, (อ่านไม่ออก) จากที่นี้ โดยพวกแขกมลายูในเรือสำเภาย่อม ๆ, แลผ้าต่างเมืองสุรัตบ้าง (อ่านไม่ออก) ก็ซื้อโดยจีนเมืองกึงตั๋งด้วยเหมือนกัน (อ่านไม่ออก)

ค้าขายต่อเมืองเอหมึง

เรามีปีหนึ่ง ๒ ฤๅ ๓ ลำ สำเภามาจากเมืองเอหมึง (ต่อไปนี้อ่านเอาความไม่ได้เลย)

ค้าขายกับเมืองญวน

เรือกำปั่นที่มาจากเมืองญวนนั้นเปนของกษัตริย์เมืองนั้น, มาเพราะมุ่งหมายเพื่อจะซื้อเกลือสินเธาว์, แลตะกั่ว, สินค้าที่เขาพามานั้นมักเปนทองคำ, กับมีกลำพักบ้าง ไม้อย่างนี้ใช้อบร่ำเปลืองมากกว่าเนื้อไม้, ใช้กันมากในเมืองยี่ปุ่น, ขายได้ที่นั้นแพง ๒ ฤๅ ๓ หนักกว่าน้ำหนักเงิน

ค้าขายกับอินเดีย

เรือกำปั่นที่มาจากเมืองสุรัต, แลเมืองคอร์แมนเดลนั้น, บรรทุกสินค้าผ้าต่าง ๆ หลายชนิดสำหรับใช้ในบางเมืองนั้น ๆ แลบรรทุกไปยังเมืองยี่ปุ่น, เมืองจีน, แลเมืองมนิลา, ซึ่งเขาแลกเอาดีบุก ทองแดง, ทองเหลือง, ทองขาว, แลเครื่องถ้วยชาม, แต่ผ้าเปนอันมากที่เรือกำปั่นเหล่านี้บรรทุกมายังท่านั้น ๆ, พระมหากระษัตริย์เมืองนี้โปรดให้เอามา แลยังมีเรือกำปั่นเปนหลายลำของพวกแขกมัวร์ มาจากเมืองเบงคอล, แลเมืองเมตชเลปะตัน มายังท่าเมืองตะนาวศรี, ถึงแล้วขนขึ้นเดินบกมายังเมืองนี้, แลการค้าขายอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ ตกอยู่ในเงื้อมมือพวกแขกเปอเซียนแลพวกแขกมัวร์รวบรัดทำเสียหมด, ด้วยพวกแขกเหล่านี้เขากำลังมีอำนาจเปนเจ้าเปนนายเมืองแถบนั้นเสียทีเดียว เปนทั้งเจ้าการค้าขายด้วย การที่เขามีกำลังขึ้นได้ก็เพราะความกรุณาเกื้อหนุนของท่านออกพระศรีมโนราชซึ่งข้าพเจ้าได้เอ่ยถึงนามท่านมาแล้ว, ท่านผู้นี้ ๓๐ ปีมานี่แล้ว, ได้เปนที่ปฤกษาราชการแผ่นดิน ของพระมหากระษัตริย์กรุงสยาม, ท่านตั้งความเพียรพยายามเปนอย่างยิ่งยวด ถึงจะเปนการเสียหายแก่ตัวท่านเองอย่างไรบ้างก็ไม่ว่า คิดแต่จะช่วยให้คนร่วมชาติในบ้านเมืองเดิมของท่านค้าขายดีทวีผลประโยชน์ยิ่งขึ้นอย่างเดียว, แลทั้งตั้งใจอุดหนุนแขกพวกที่นับถือสาสนามะหะหมัดด้วยกัน, ความมาดหมายของท่านสำเร็จได้ดีทีเดียว, หัวเมืองที่ท่านตั้งใจเพาะปลูกพวกชาติของท่านลงไว้ในเมืองแถบนั้นจนมีผู้คนมากมายเกือบจะเท่ากับพลเมืองเดิม แต่ยังยิ่งดีกว่าพลเมืองขึ้นไปเสียอิก โดยขบวนมีทรัพย์สมบัติแลอำนาจ ผู้สำเร็จราชการเมืองตะนาวศรีแล (อ่านไม่ออก) แลเมืองมะริดก็เปนแขกชาวเปอเซียน, แลยังหัวเมืองใหญ่ ๆ แถบนั้นทางที่จะผ่านเข้ามาศรีอยุทธยา เช่น เมืองเพ็ชรบุรี, เมืองปราณบุรี, เมืองกุยบุรี, แลเมืองอื่น ๆ ก็เปนแขกเปอเซียนด้วย นายเรือของพระมหากระษัตริย์ที่ใช้ใบจากเมืองตะนาวศรีไปยังเมืองมะเกาแลเมืองเบงคอลก็เปนแขกเปอเซียน, นายห้างของพระเจ้ากรุงสยามซึ่งโปรดให้ไปอยู่ในเมืองโน้น ๆ สำหรับเปนธุระดูแลราชภาระก็เปนแขกเปอเซียนอิกด้วย. การที่จะเอาใจให้มีมานะอุสาหะทเยอทยานหาความชอบให้ได้ราชการนั้น ทรงยกย่องให้มีเกียรติยศเปนถึงที่ราชทูต (อ่านไม่ออก) ในเมืองนนทบุรี (สงไสย) ที่นี้ก็มีพ่อค้ามาก (อ่านไม่ออก)

(ต่อนี้ไปอิกประมาณหลายสิบบรรทัด, เลือนเต็มที เหลือนิไสยซึ่งจะอ่านเอาความได้)

มีเรือสำเภาปีละลำหนึ่งบ้าง สองลำบ้าง ส่งไปยังเมืองยี่ปุ่น, แลเมืองกึงตั๋ง, แลบางทีไปยังเมืองเอ้หมึง, แต่พระมหากษัตริย์แต่ชั่วส่งไปยังเมืองมนิลาปีละหนึ่งลำทุกปี, การแต่งเรือทั้งการเดินเรือแลการค้าขายนั้น ให้จีนจัดการทั้งที่ในเมืองนี้ก็เหมือนกันกับที่เมืองต่างด้าว ผู้จัดการนั้นเปนนายห้างต้นเรือนฤๅผู้รับใช้อิกต่อหนึ่ง ท่านเจ้าพนักงานใหญ่นั้นเปนข้าราชการของพระมหากษัตริย์ เปนคนมีบุญอำนาจวาศนามาก ตำแหน่งยศของท่านนั้น ออกยาศรีพิพัฒน์

เรือสำเภาอื่น ๆ ในท่าเมืองนี้เปนของเจ๊กแทบทั้งสิ้น เว้นไว้แต่ ๒ ลำฤๅ ๓ ลำ เปนของพ่อค้าชาติอื่น

เรือสำเภาที่ไปเมืองยี่ปุ่นนั้นออกในเดือนมิถุนายนแลกลับในเดือนมกราคม สินค้าที่เกิดในเมืองนี้ที่บรรทุกระวางเรือนั้น ก็ตามที่ได้กล่าวแล้ว, คือ ฝาง, น้ำตาล, เชรูน, (ไม่รู้ว่าอะไร) งาช้าง, แลเขาต่าง ๆ บ้าง พวกจีนก็สามารถที่จะหาอำนาจแย่งพวกบริษัทวิลันดาที่ผูกขาดได้บ้างเหมือนกัน, นอกนั้น ยังบรรทุกผ้าต่าง ๆ เมืองสุรัตแลเมืองคอร์แมนเดลไปเปนอันมาก, แลเกือบจะขนสรรพสิ่งทั้งปวงที่ทำในประเทศยุโรปส่งเข้ามาที่นี่กลับทวนส่งออกไปด้วยหมด, เมื่อขากลับ เขาบรรทุกสินค้ายี่ปุ่นมา, คือ โกแปง (ไม่รู้ว่าอะไร) ทองคำ, ทองแดง, แลเครื่องถ้วยชาม

โกแปง (ไม่รู้ว่าอะไร) ทองคำ

ราคาโกแปง (ไม่รู้ว่าอะไร) ทองคำที่เมืองนี้นั้นตกอยู่ในระหว่างท่อนฤๅอันละ ๑๓. แล ๑๔. บาท

ทองแดง

ทองแดงของพวกพ่อสำเภานั้นมักเคยถูกเวลาจำเปนที่ต้องรีบร้อนขายจะได้ซื้อสินค้าอื่นรีบกลับให้ทันฤดูกาล, เมื่อแรก ๆ มาถึง อาจที่จะซื้อได้หาบละ ๖ ตำลึง ๑ บาทเปนเงินสด, แลในเวลาเดียวกัน เรียกราคาหาบละ ๘ ตำลึงในการที่จะแลกกับสินค้าอื่น ๆ, แลสินค้าอย่างนี้เคยราคาขึ้นในการซื้อขายด้วยเงินสดอิกทุกคราว เมื่อถึงฤดูที่จะขึ้นในปีหนึ่งปีหนึ่ง, คือ เมื่อเวลาจะบรรทุกสินค้าอย่างนี้ออกไปจำหน่ายที่เมืองสุรัตแลเมืองคอร์แมนเดล, แต่ก่อน พระมหากษัตริย์ทรงรวบกว้านซื้อสินค้าอย่างนี้เอาเสียพระองค์เดียวมาก, แลใช้สินค้าแลกเปลี่ยนต่อสินค้าอย่างอื่นเปนราคาหาบละ ๑๒ ตำลึง, แต่ต่อมาอิกสองปี ออกพระศรีมโนราชกราบทูลให้พระพุทธเจ้าอยู่หัวลดพิกัดราคาลงเปนหาบละ ๘ ตำลึง แลยอมอนุญาตให้คนทั้งปวงมีอำนาจซื้อขายได้โดยใจปราถนา, แลคิดใช้พระราชทรัพย์ที่ขาดไปนี้ด้วยจัดเปนวิธีชักภาษีสิบลดหนึ่ง เอาตามทองแดงทั้งปวงที่บรรทุกเข้ามา

เครื่องถ้วยชามเมืองยี่ปุ่น

เดี๋ยวนี้ พวกพ่อค้าสำเภาเขาพากันบรรทุกเครื่องถ้วยชามเมืองยี่ปุ่นเข้ามามาก ข้าพเจ้าได้เลือกเอาเครื่องถ้วยชามอย่างดีต่ออย่างดี ฤๅเลวต่อเลวด้วยกัน มาเทียบกันกับของเมืองจีนปีก่อน เห็นปรากฎชัดได้ว่า ดีสู้ของจีนไม่ได้เลย แลเมื่อปีก่อนนี้ พากันแตกตื่นบรรทุกเข้ามามากมายผิดปรกติ ราคาตกถูกลงมากทีเดียว

เมืองมะนิลา

เรือสำเภาของพระมหากษัตริย์ที่แต่งไปเมืองมะนิลาปีละครั้งนั้นบรรทุก (อ่านไม่ออก) ของเมืองสุรัตแลเมืองคอร์แมนเดล ไหมดิบ แลแพรต่าง ๆ ของเมืองจีน (อ่านไม่ออก) เหล็ก, แลขากลับบรรทุก (ต่อนี้ไปมีสองบรรทัดอ่านไม่ออก)

ในเมืองนี้ ไม่มีภาษีเข้าออกที่ต้องเสีย, จะบรรทุกสินค้าอะไรเข้ามา, ฤๅบรรทุกสินค้าอะไรออกไปก็ได้ เว้นไว้แต่สิบลดที่ได้ชักเอาแต่ทองแดงเมื่อก่อนนี้มาแล้ว, แต่ไทยได้เรียนวิธีมาจากจีนที่จะเก็บภาษีวัดปากเรือ ไม่ว่าใครต้องเสียภาษีหมด เว้นไว้แต่อังกฤษกับวิลันดา

บริษัทวิลันดาค้าขาย

พวกบริษัทวิลันดาเข้ามาทำการค้าขายในเมืองนี้ราวปีคฤศตศักราช ๑๖๗๐ (ฤๅจุลศักราช ๑๐๓๒), ที่พักของเขาตั้งห้างอยู่ริมแม น้ำ, มีคนไว้ใจเชื่อถือเขามาก, แลคุ้นเคยกันอย่างธรรมเนียมบ้านเมืองเรียบร้อยดีทีเดียว จำนวนฝรั่งในห้างของเขามีประมาณ ๒๕ คน, คนเหล่านี้เปนจำพวกช่างแลคนเรือเสียกว่าครึ่ง, แลนายห้างของเขามีช่วงออกไปตั้งอยู่ที่ท่าอิกเมืองหนึ่งในพระราชอาณาจักรของพระมหากษัตริย์สยาม เรียกกันว่า เมืองนครศรีธรรมราช ห่างกรุงศรีอยุทธยาออกไปทางทิศใต้ประมาณราว ๑๒๐๐๐ เส้น

การค้าขายในเมืองนี้ แต่ก่อนเปนผลประโยชน์แก่พวกวิลันดามาก, เขาบรรทุกผ้าต่าง ๆ เปนอันมากมาจากเมืองสุรัต, แลเมืองคอร์แมนเดล ขายได้รวดเร็วมีกำไรมาก, แลทั้งได้กำไรในสินค้าดีบุกที่เขากว้านจัดซื้อเตรียมไว้ที่เมืองนี้สำหรับบรรทุกกลับออกไปจำหน่ายในท้องตลาดเมืองนั้น ๆ, แต่กำไรที่หาได้ในสินค้าทั้งสองอย่างนี้เสื่อมโทรมลง, ด้วยสินค้าผ้าต่าง ๆ ก็จืดจาง เพราะการค้าขายของพวกแขกมัวร์เมืองตะนาวศรีทวียิ่งขึ้น, แลเรือกำปั่นออกจากเมืองสุรัตก็ใช้ใบตรงมาเมืองนี้ทีเดียว, แลซ้ำทำให้มีผ้ามากมายหลายอย่างต่าง ๆ นา ๆ เหลือเฟือเกินปราถนา, แลลดตัดราคาลงต่ำกว่าผ้าพวกวิลันดาสั่งมาจากเมืองบะเตเวียมาก ทั้งได้ทราบว่า ผ้าของชาววิลันดาที่ส่งเข้ามาก็ยังกำหนดราคาให้ขายราคาเท่านี้เท่านั้น สู้การค้าขายของพวกแขกเขาไม่ไหว, ข้าพเจ้าได้ทราบความจากผู้ควรเชื่อถือได้แน่ว่า จำนวนเงินที่เขาขายผ้าได้ทั้งปีเดียวนี้ไม่คุ้มค่าต้นทุนเสียอิก

(ต่อนี้ไปอิกกว่าสิบเจ็ดบรรทัด, ลบเลือนเสียหมด อ่านไม่ออกมาก เอาความไม่ได้เลย)

เขามีอำนาจผิดกว่าคนสามัญในการที่จะให้การค้าขายของเขามีผลได้, อำนาจเหล่านั้น หัวข้อก็ผูกขาดปิดซื้อปิดขายดีบุกที่เมืองนครศรีธรรมราช, แลมีอำนาจที่จะซื้อดีบุกจากราษฎรที่นี่เปนราคาภาราละ ๑๕ ตำลึง ๒ บาท ซึ่งทำให้เขารวยมาก ด้วยอำนาจรังแกราษฎรนี้ เขาได้ด้วยความเกื้อหนุนของออกยาพิชิต (สงไสย) แต่ได้เท่านี้ยังไม่พอโลภเจตนาของเขา, ด้วยว่า เขายังได้พยายามอิกเปนหลายครั้งหลายคราเพื่อจะเขยิบอำนาจเอื้อมออกไปอิก, แลอยากที่จะตั้งตัวเปนเจ้าการค้าขายทั้งปวงเสียทีเดียว, เขากราบทูลวิงวอนรบกวนพระเจ้าอยู่หัวจะให้โปรดบังคับให้ดีบุกหลวงทั้งปวงตกมาเปนของเขาด้วย, ตั้งแต่ข้าพเจ้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุทธยาแล้ว ครั้งหนึ่ง เขากราบทูลขอรับเหมาซื้อดีบุกทั้งบ้านทั้งเมืองบรรดาที่จะถลุงได้เปนราคาภาราละ ๑๖ ตำลึง เปนเงินสดฤๅภาราละ ๑ ชั่ง กำหนดใช้เงินต่อปีหนึ่ง, แลการรับเหมานี้จะขอสัญญาติดต่อไปสิบปี, แต่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงรับ, แลกลับเปนเคราะห์ดีของเขาในการที่พระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิเสธเสีย, ด้วยสินค้าอย่างนั้นราคาตกลงมากที่เมืองสุรัตแลเมืองอื่น ๆ เปนการสุดกำลัง ไม่มีทางที่เขาจะหากำไรได้เลย, แต่เปนบุญที่เขายังมีสติพอที่ไม่คิดพยายามที่จะรวบซื้อเอาคนเดียวหมดในคราวนี้ ข้าพเจ้าซ้ำได้ทราบว่า เขาบอกเปิดไม่รับซื้อดีบุกที่ผู้มาขายให้เสียอิก, จำนวนดีบุกที่เขาได้จัดซื้อที่นี่, แลที่เมืองนครศรีธรรมราช มีอยู่แล้วไม่เกิน ๘๐๐ ภารา, ซื้อที่เมืองนครศรีธรรมราชราคาภาราละ ๑๕ ตำลึง, แต่ซื้อที่นี่ เคยซื้อเปนพิกัดราคาภาราละ ๑๕ ตำลึง ๒ บาท จนถึงเวลานี้ นายห้างจึงขอร้องลดราคาลง ทั้งที่เมืองนครศรีธรรมราชด้วย, แลยังได้ยินพูดว่า จะต้องลดราคาที่นี่แลที่โน่นลงอิก, ข้าพเจ้าตรองเห็นอยู่แล้วว่า เปนการสำคัญของเขา จำเปนจริง ๆ ที่จะต้องทำเช่นนั้น เพราะราคาที่ซื้อที่นี่ภาราละ ๑๕ ตำลึง แลที่สุรัต ปอนด์ละ ๙ รูปี, ฤๅ ๒๙ ปะโกดาส์ แกนดีที่เมืองเมตชเลเปตัน (ด้วยว่า ในบัดนี้ เปนราคาในท้องตลาดเมืองเหล่านั้น) คงจะไม่ใคร่พอที่จะเขม็ดแขม่เสียค่าระวาง นอกนั้น ยังถูกค่าที่ซื้อด้วยเงินสดดองไว้อิก. เดี๋ยวนี้ พวกวิลันดาเขากำลังลงเงินลงทองซื้อเขาต่าง ๆ ซึ่งยังคงเปนกำไรให้ทำการค้าขายใหญ่อยู่ที่นี่ได้แทนการค้าใหญ่ สองอย่างที่ไม่เปนผล (อ่านไม่ออก)

(เหลือนี่อ่านไม่ออกทีเดียว)


  1. ยอชไวต์คนนี้เปนผู้พาวิชเยนทรเข้ามาเมืองไทย
  2. เมืองบันตัมอยู่ที่เกาะชวา เปนที่ตั้งห้างของอังกฤษในสมัยนั้น