ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 19 (พิมพ์ครั้งที่ 1)/คำนำ

คำนำ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา มีรับสั่งมายังกรรมการหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครว่า ทรงพระศรัทธาจะพิมพ์หนังสือแจกในงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าจอมมารดาโหมด รัชกาลที่ ๔ เจ้าจอมมารดาของพระองค์ท่าน สักเรื่อง ๑ ให้กรรมการหอพระสมุดฯ ช่วยเลือกหาเรื่องหนังสือถวาย ข้าพเจ้าจึงได้รวบรวมจดหมายเหตุครั้งรัชกาลที่ ๔ จัดเปนหนังสือประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๑๙ ถวายกรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชาทรงพิมพ์ตามพระประสงค์

เรื่องหนังสือที่พิมพ์ในประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๑๙ นี้ ๓ เรื่อง ด้วยกัน คือ จดหมายเหตุหอสาตราคม เรื่อง ๑ จดหมายเหตุของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ เรื่อง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จทอดพระเนตรสุริยอุปราคาที่หว้ากอ เรื่อง ๑ แปลจดหมายเหตุของเซอร์แฮรีออด เจ้าเมืองสิงคโปร์ ขึ้นมาเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่หว้ากอ เรื่อง ๑ จะอธิบายพอให้ทราบเค้าเงื่อนของจดหมายเหตุทั้ง ๓ เรื่องนั้นเปนดังนี้ คือ

๑) จดหมายเหตุหอสาตราคม นั้น ประเพณีมีมาแต่โบราณกำหนดเปนน่าที่ของนายเสน่ห์หุ้มแพรมหาดเล็ก คน ๑ แลนายสุจินดาหุ้มแพรมหาดเล็ก คน ๑ เปนพนักงานจดหมายเหตุต่าง ๆ อันมีในราชสำนัก เก็บรักษาไว้ในหอสาตราคม ประเพณีอันนี้ ได้ทราบว่า ยังมีอยู่เมื่อในรัชกาลที่ ๔ จะมีติดต่อมาแต่โบราณฤๅเปนการเลิกกันไปเสียแล้วคราว ๑ พึ่งมาโปรดให้กลับมีขึ้นใหม่เมื่อในรัชกาลที่ ๔ ข้อนี้หาทราบไม่ เพราะข้าพเจ้าไม่เคยเห็นจดหมายเหตุหอสาตราคม ได้เคยถามข้าราชการเก่า ๆ ก็ยังไม่พบผู้ใดที่ได้เคยเห็น จนปีมะแม พ.ศ. ๒๔๖๒ นี้ หอพระสมุดฯ ได้สมุดดำเก่า ๆ มาแต่ที่แห่ง ๑ หลายเล่มด้วยกัน มีจดหมายเหตุหอสาตราคมครั้งรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๔๐๒ กับปีวอก พ.ศ.๒๔๐๓ อยู่ในนั้นตอน ๑ ได้สืบถามข้าราชการครั้งรัชกาลที่ ๔ ซึ่งยังมีอยู่ในเวลานี้ บอกว่า พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น ศรีเพ็ญ) เปนนายเสน่ห์อยู่ในเวลานั้น แลนายสุจินดานั้นชื่อ หรั่ง ภายหลังได้เปนจมื่นราชานุบาล เห็นจะอยู่ใน ๒ คนนี้ที่เปนผู้จด ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ผู้ที่ไม่เคยเห็นจดหมายเหตุหอสาตราคมเห็นจะมีมากด้วยกัน จึงได้เอามาพิมพ์ไว้ให้เปนประโยชน์ทางความรู้

๒) จดหมายเหตุเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ เรื่อง เสด็จทอดพระเนตรสุริยอุปราคาที่หว้ากอเมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ นั้น ท่านเรียงไว้แต่ย่อ ๆ ที่เอามาพิมพ์ในสมุดเล่มนี้ เพราะจะให้เข้าใจความในจดหมายเหตุของเซอร์แฮรีออดแจ่มแจ้งดีขึ้น การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยอุปราคาที่หว้ากอในระดูฝน จนเปนเหตุให้ประชวรแลสวรรคตครั้งนั้น ผู้ที่เกิดภายหลังฤๅเกิดทันแต่ยังเปนเด็กอยู่ เช่นตัวข้าพเจ้า เคยปรารภกันว่า เพียงแต่จะดูสุริยอุปราคา เหตุใดจึงเสด็จลงไปฝ่าอันตรายแลความลำบากถึงเพียงนั้น พึ่งมาได้ฟังคำชี้แจงภายหลังว่า สุริยอุปราคาที่จะเห็นได้หมดดวงในประเทศนี้ไม่เคยมีมาแต่ก่อน จนถึงในตำราโหรของไทยว่า สุริยอุปราคาไม่มีที่จะหมดดวงได้ ครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคำนวณทราบก่อนใคร ๆ ในประเทศนีว่า ในปีมะโรง สุริยอุปราคาจะมีหมดดวง แลจะเห็นได้ในเมืองไทยนี้ ดำรัสบอกพวกโหรก็ไม่มีใครลงเนื้อเห็นด้วย สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์เคยตรัสเล่าว่า แม้พระองค์ท่านเองก็ไม่ทรงเชื่อว่าจะเห็นหมดดวง แต่เกรงพระไทยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ต้องยอมจะไปทอดพระเนตรด้วย ที่เสด็จลงไปทอดพระเนตรที่ตำบลหว้ากอในแขวงจังหวัดประจวบคิรีขันธ์นั้น เพราะปรากฎในทางคำนวณว่าจะเห็นได้หมดดวงที่ตรงนั้น ถ้าดูอยู่ในกรุงเทพฯ นี้ หาเห็นหมดดวงไม่ เล่ากันว่า จนวันมีสุริยอุปราคา โหรที่ลงไปตามเสด็จก็ยังไม่เชื่อว่าจะเห็นหมดดวง พอเงากินปิดขอบพระอาทิตย์หมดดวง พระยาโหราธิบดี เถื่อน เวลานั้นยังเปนหลวงโลกทีป ร้อง "พลุบ" เต็มเสียงน่าพระที่นั่งด้วยความยินดี สิ้นกลัว เพราะความเลื่อมใสในวิชาที่ได้ร่ำเรียน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงศึกษาชำนาญในโหราศาสตร์ จึงมิได้ทรงเกรงความลำบากที่จะทอดพระเนตรสุริยอุปราคาครั้งนั้น

๓) จดหมายเหตุของเซอร์แฮรีออด เจ้าเมืองสิงคโปร์ นั้น เห็นจะเปนเลขานุการที่มาด้วยเปนผู้เรียบเรียงขึ้นตามคำสั่งของเซอร์แอรีออด หมอบรัดเลได้สำเนามาพิมพ์ไว้ในหนังสือบางกอกคาเลนดา เล่มคฤศตศก ๑๘๗๐ ข้าพเจ้าได้วานนักเรียนคน ๑ แปลออกเปนภาษาไทยสำหรับพิมพ์ในสมุดเล่มนี้ จดหมายเหตุของเซอร์แฮรีออดนี้ ต้องอ่านด้วยทรงไว้ในใจว่า เปนของฝรั่งแต่งตามความคิดแลความเห็นของฝรั่งตั้งแต่ต้นจนปลาย อ่านโดยกำหนดไว้ในใจเช่นนี้จึงจะน่าอ่านดี

อนึ่ง มีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฉายที่น่าพลับพลาเวลาเซอร์แฮรีออดเฝ้าปรากฎอยู่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ได้โปรดประทานอนุญาตให้จำลองมาไว้ในหอพระสมุดฯ จึงได้ให้ถ่ายพระบรมรูปนั้นมาพิมพ์ไว้ในสมุดเล่มนี้ด้วย.

  • ลายมือชื่อของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ สภานายก
  • หอพระสมุดวชิรญาณ
  • วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๓