ตราของโบราณคดีสโมสร
ตราของโบราณคดีสโมสร
โบราณคดีสโมสร
โบราณคดีสโมสร
ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๔
อำมาตย์เอก พระยาศรีสำรวจ (ชื่น ภัทรนาวิก)
ม.ม, ท.ช, รัตน ว,ป,ร.๔
พิมพ์แจกในงานศพ
พัน ภัทรนาวิก ผู้มารดา
เมื่อปีเถาะสัปตศก พ.ศ. ๒๔๕๘
พิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร
ถนนราชบพิธ กรุงเทพฯ

คำนำ

อำมาตย์เอก พระยาศรีสำรวจ (ชื่น ภัทรนาวิก) ในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ จะทำการปลงศพสนองคุณท่านพัน ภัทรนาวิก ผู้มารดา ประสงค์จะพิมพ์หนังสือเปนของแจกในงานศพ มาหารือกรรมการหอพระสมุดวชิรญาณแลแสดงความพอใจจะใคร่พิมพ์หนังสือเรื่องเนื่องในทางพงษาวดาร กรรมการจึงได้แนะนำให้พิมพ์หนังสือประชุมพงษาวดารภาคที่ ๔ ต่อจาก ๓ ภาคซึ่งได้พิมพ์แล้วแต่ก่อน หนังสือประชุมพงษาวดารที่ได้พิมพ์มาแล้วคือ:-

ประชุมพงษาวดารภาคที่ ๑ สมเด็จพระนางเจ้าพระมาตุจฉาได้โปรดให้พิมพ์เปนของแจกในงานศพหม่อมเจ้าดไนยวรนุชในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงษ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗

ประชุมพงษาวดารภาคที่ ๒ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนารถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานศพฟักทองราชินิกูลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗

ประชุมพงษาวดารภาคที่ ๓ เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธรพิมพ์แจกในงานศพหม่อมเจ้าอรชรในพระเจ้าบรมวงษ์เธอชั้น ๑ กรมหมื่นไกรสรวิชิต เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗

หนังสือที่เรียกชื่อว่าประชุมพงษาวดารนี้คือหนังสือพงษาวดารเกร็ดต่าง ๆ ทั้งเก่าแลใหม่ซึ่งกรรมการเห็นว่าเปนหนังสือเรื่องดีหรือความแปลก จึงเก็บมารวบรวมพิมพ์ไว้เพื่อรักษาหนังสือหายากมิให้เปนอันตรายหายสูญ แลให้เกิดประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้ศึกษาโบราณคดีทั้งปวงโดยได้มีโอกาศอ่านทราบแลสอบสวนหนังสือซึ่งลี้ลับอยู่ให้สดวกทั่วกัน หนังสือพงษาวดารเกร็ดต่าง ๆ นี้หอพระสมุดฯ หาได้อยู่เนือง ๆ ถ้ามีเรื่องพอจะรวมเปนเล่มพิมพ์ได้ก็รวบรวมพิมพ์เสียคราว ๑ เพราะเหตุนี้จึงต้องจัดแบ่งเปนภาค ๆ ดังพิมพ์มาแล้ว แลต่อไปก็ตั้งใจจะทำเช่นนี้ เห็นว่าดีกว่าจะรอไว้คอยไปไม่มีกำหนดจนรวบรวมร้อยกรองให้สำเร็จเปนเรื่องใหญ่แล้วจึงพิมพ์เฉภาะเรื่อง

หนังสือประชุมพงษาวดารภาคที่ ๔ นี้มีพระราชพงษาวดารกรุงเก่าตามต้นฉบับหลวงเขียนครั้งกรุงธนบุรีเมื่อปีมเมียฉศก จุลศักราช ๑๑๓๖ พ.ศ. ๒๓๑๗ หรือที่เรียกกันในหอพระสมุดฯ โดยย่อว่า “ฉบับจุลศักราช ๑๑๓๖” เรื่อง ๑ พงษาวดารเมืองละแวก ฉบับสมเด็จพระนารายน์รามาธิบดี (นักพระองค์เอง) พระเจ้ากรุงกัมพูชาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เรื่อง ๑ พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ ฉบับหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร ณกรุงเทพ) ปลัดมณฑลอิสาณ แต่ง เรื่อง ๑ รวมเปนหนังสือพงษาวดาร ๓ เรื่องด้วยกัน หนังสือ ๓ เรื่องที่รวมพิมพ์ในภาคที่ ๔ นี้มีคุณวิเศษต่างกัน ควรอธิบายไว้ให้ผู้อ่านทราบในคำนำนี้เสียก่อน

พระราชพงษาวดารฉบับจุลศักราช ๑๑๓๖ นายเสถียรรักษา (กองแก้ว มานิตยกุล) ต.จ. บุตรเจ้าพระยานรรัตนราชมานิต ให้แก่หอพระสมุดฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ ได้มาแต่เล่ม ๓ เล่มสมุดไทยเดียว ซ้ำตัวหนังสือในเล่มสมุดนั้นลบเลือนก็หลายแห่ง ว่าโดยเรื่องพระราชพงษาวดาร ผิดกับฉบับอื่น มีฉบับพระราชหัดถเลขาเปนต้น แต่เล็กน้อย ข้อสำคัญของหนังสือฉบับนี้อยู่ที่สำนวนหนังสือเปนสำนวนแต่งครั้งกรุงเก่า เปนโครงเดิมของหนังสือพระราชพงษาวดารที่เราได้อ่านกันในชั้นหลัง พิมพ์ไว้ให้ผู้ศึกษาโบราณคดีเห็นหลักฐานในทางประวัติของการแต่งหนังสือพระราชพงษาวดารว่าเดินโดยอันดับมาอย่างไร ประวัติของหนังสือพระราชพงษาวดาร ข้าพเจ้าเคยได้กล่าวไว้ในคำนำหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับพระราชหัดถเลขาเมื่อพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๕๕ แลเมื่อพิมพ์เล่ม ๑ ครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ ต่อมา ข้าพเจ้าได้ตรวจสอบหนังสือพระราชพงษาวดารต่าง ๆ ที่มีอยู่ในหอพระสมุดฯ เห็นความที่กล่าวไว้แต่ก่อนจะเคลื่อนคลาดอยู่บ้าง ตามการที่ได้สอบสวนมาจนเวลานี้ เข้าใจว่าเรื่องประวัติหนังสือพระราชพงษาวดารจะมีมาเปนชั้น ๆ ดังนี้ คือ:-

๑.หนังสือพระราชพงษาวดารฉบับแรกแต่งในแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์มหาราชเมื่อปีวอกโทศก จุลศักราช ๑๐๔๒ พ.ศ. ๒๒๒๓ หนังสือพระราชพงษาวดารฉบับนี้เรียกในหอพระสมุดฯ ว่าฉบับหลวงประเสริฐ แลได้พิมพ์ไว้ในหนังสือประชุมพงษาวดารภาคที่ ๑ แล้ว

๒.ต่อมาในชั้นกรุงเก่านั้น เข้าใจว่าเห็นจะเปนในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ มีรับสั่งให้แต่งหนังสือพระราชพงษาวดารขึ้นอิกฉบับ ๑ คือฉบับที่พิมพ์ในหนังสือประชุมพงษาวดารภาคที่ ๔ นี้ ที่รู้ได้ว่าเปนหนังสือแต่งครั้งกรุงเก่า เพราะสำนวนที่แต่งเปนสำนวนเก่าใกล้เกือบจะถึงสำนวนที่แต่งพระราชพงษาวดารฉบับหลวงประเสริฐ แต่มิใช่ฉบับเดียวกัน ด้วยเรื่องซ้ำกัน แลความในฉบับหลังพิศดารกว่าฉบับหลวงประเสริฐ หนังสือพระราชพงษาวดาร ๒ ฉบับนี้เปนหลักฐานให้เข้าใจว่า เมื่อครั้งกรุงเก่านั้นมีหนังสือพระราชพงษาวดาร ๒ ฉบับ ๆ ความย่อแต่งในแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์มหาราชฉบับ ๑ ฉบับความพิศดารแต่งเมื่อราวแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐฉบับ ๑ ฉบับความย่อตั้งต้นเรื่องตั้งแต่สร้างพระเจ้าพนัญเชิง ฉบับความพิศดารจะตั้งต้นเรื่องตรงไหนรู้ไม่ได้ แต่ฉบับที่มีอยู่ในหอพระสมุดฯ เล่ม ๓ สมุดไทยความกล่าวในตอนแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิตอนปลาย เอาความข้อนี้เปนหลัก สันนิฐานว่าฉบับพิศดารตั้งเรื่องตั้งแต่พระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุทธยา เห็นจะไม่ผิด

๓.เมื่อกรุงเก่าเสียแก่พม่าข้าศึก บ้านเมืองเปนจลาจล หนังสือเปนอันตรายหายสูญเสียครั้งนั้นมาก ครั้นพระเจ้ากรุงธนบุรีกลับตั้งเปนอิศรได้ จึงให้รวบรวมหนังสือพระราชพงษาวดารครั้งกรุงเก่าทั้ง ๒ ฉบับที่กล่าวมาแล้ว ฉบับย่อที่แต่งในแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์มหาราชหาฉบับได้ในครั้งกรุงธนบุรีสิ้นเรื่องเพียงสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ความที่กล่าวข้อนี้มีหลักฐาน ด้วยหอพระสมุดฯ ได้หนังสือพระราชพงษาวดารความย่อนั้นไว้ ๒ ฉบับ ฉบับ ๑ ฝีมือเขียนครั้งกรุงเก่า หลวงประเสริฐหามาได้ อิกฉบับ ๑ เปนตัวฉบับหลวงของพระเจ้ากรุงธนบุรี กรมพระสมมตอมรพันธุ์ประทาน เอาหนังสือ ๒ ฉบับนี้สอบกันดู ความขึ้นต้นลงท้ายเท่ากัน จึงรู้ได้เปนแน่ว่า ครั้งกรุงธนบุรีหาฉบับได้เพียงเท่านั้นเอง ส่วนฉบับความพิศดารนั้นจะหาได้ในครั้งกรุงธนบุรีกี่เล่มทราบไม่ได้ เพราะหอพระสมุดฯ หาได้แต่ ๓ เล่ม แต่มีหลักฐานมั่นคงรู้ได้ว่า ในครั้งกรุงธนบุรีรวบรวมหนังสือพระราชพงษาวดารครั้งกรุงเก่าไม่ได้ฉบับครบ แลเข้าใจว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีเปนแต่ได้รวบรวมหนังสือพระราชพงษาวดารไว้ ถ้าจะได้แต่งเพิ่มเติมในครั้งกรุงธนบุรีบ้างก็แต่เล็กน้อย

๔.มาจนในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร เมื่อปีเถาะสัปตศก จุลศักราช ๑๑๕๗ พ.ศ. ๒๓๓๘ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงได้ทรงชำระหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับกรุงเก่าแลแต่งเติมที่บกพร่อง มีหนังสือพระราชพงษาวดารสำหรับพระนครบริบูรณ์ขึ้นในครั้งนั้น หนังสือพระราชพงษาวดารชุดนี้มีบานแพนกบอกปีแลการที่ทรงชำระหนังสือพระราชพงษาวดารไว้เปนหลักฐาน การชำระหนังสือพระราชพงษาวดารครั้งรัชกาลที่ ๑ เอาฉบับครั้งกรุงเก่าทั้งฉบับย่อแลฉบับพิศดารเปนหลัก เห็นจะระวังรักษาเรื่องของเดิมมาก ในตอนข้างต้นที่ไม่มีฉบับพิศดาร จึงคัดเอาฉบับย่อลงเต็มสำนวนโดยมาก ตอนที่มีฉบับพิศดารก็เปนแต่เอาฉบับเดิมมาแก้ไขถ้อยคำเพื่อจะให้เปนสำนวนเดียวกับที่ต้องแต่งใหม่ แต่ประโยคต่อประโยคยังคงกันอยู่โดยมาก ความที่กล่าวนี้ ถ้าผู้ใดเอาหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับหลวงประเสริฐ แลฉบับที่พิมพ์ในประชุมพงษาวดารภาคที่ ๔ นี้ ไปสอบกับพระราชพงษาวดารความพิศดาร จะเปนฉบับที่หมอบรัดเลพิมพ์ก็ตาม ฉบับพระราชหัดถเลขาก็ตาม จะแลเห็นจริงได้ดังข้าพเจ้าว่า เพราะหนังสือพระราชพงษาวดารความพิศดารที่พิมพ์ทั้ง ๒ ฉบับนั้นที่จริงเปนแต่แก้ไขหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับรัชกาลที่ ๑ ในที่บางแห่งเท่านั้น

ที่ข้าพเจ้ารู้สึกว่าข้าพเจ้าพลาดไปในความวินิจฉัยแต่ก่อนนั้นคือที่ไปเข้าใจว่า ได้แต่งหนังสือพระราชพงษาวดารครั้งกรุงธนบุรี เมื่อมาพิจารณาหนังสือมากเข้า เห็นว่า ครั้งกรุงธนบุรีเปนแต่ได้รวมฉบับหนังสือครั้งกรุงเก่าที่พลัดพรายเข้าไว้ในหอหลวง ที่ได้มาแต่งให้พระราชพงษาวดารมีขึ้นบริบูรณ์สำหรับพระนครดังแต่ก่อนเปนการในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร ควรเฉลิมเปนพระเกียรติยศในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกที่ได้ทรงรวบรวมแลชำระหนังสืออันเปนตำราสำหรับบ้านเมืองสำเร็จถึง ๓ อย่าง คือ สังคายนาพระไตรปิฎกอย่าง ๑ ชำระพระราชกำหนดกฎหมายอย่าง ๑ ชำระพระราชพงษาวดารอย่าง ๑ พระราชพงษาวดารที่ชำระในรัชกาลที่ ๑ นั้นไม่ใช่แต่ซ่อมแซมของเก่าที่ฉบับขาดอย่างเดียว ได้แต่งเรื่องพระราชพงษาวดารต่อลงมาจนถึงเสียกรุงเก่าด้วยอิกตอน ๑

๕.ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๓ จะเปนในปีใดยังไม่พบจดหมายเหตุ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอาราธนาสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส แต่ยังดำรงพระยศเปนกรมหมื่นนุชิตชิโนรส ให้ทรงชำระเรื่องพระราชพงษาวดารอิกครั้ง ๑ พระราชพงษาวดารที่สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงชำระสำเร็จรูปเปนฉบับที่หมอบรัดเลพิมพ์ สังเกตดูทางสำนวนในตอนข้างต้นที่แต่งมาแต่ในรัชกาลที่ ๑ แล้วนั้น เปนแต่แก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำให้เพราะขึ้น ส่วนตัวเรื่องพระราชพงษาวดารได้แต่งต่อมาอีกตอน ๑ เริ่มแต่พระเจ้ากรุงธนบุรีหนีออกจากกรุงเก่า จดไว้ในหนังสือฉบับหมอบรัดเลพิมพ์ว่า แผ่นดินพระเจ้าตาก (สิน) แต่งเรื่องตลอดรัชกาลกรุงธนบุรี แลต่อมาในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร จนถึงเจ้าพระยายมราชยกกองทัพออกไปเมืองทวายเมื่อปีชวดจัตวาศก จุลศักราช ๑๑๕๔ พ.ศ. ๒๓๓๕ ความที่กล่าวตอนนี้ไม่ต้องอ้างหลักฐาน ด้วยบรรดาผู้ศึกษาโบราณคดีทราบอยู่ทั่วกันแล้ว

๖.ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๔ ราวปีเถาะสัปตศก จุลศักราช ๑๒๑๗ พ.ศ. ๒๓๙๘ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับกรมหลวงวงษาธิราชสนิททรงช่วยกันชำระหนังสือพระราชพงษาวดารอิกครั้ง ๑ ความข้อนี้มีปรากฏในพระราชหัตถเลขาถึงเซอยอนเบาริงในปีนั้น มีสำเนาพิมพ์ไว้ในหนังสือเรื่องเมืองไทยที่เขาแต่ง เล่ม ๒ น่า ๔๔๔ การชำระครั้งรัชกาลที่ ๔ แก้ไขถ้อยคำเรียบร้อยดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ส่วนตัวเรื่องก็ได้ทรงแก้ไขเพิ่มเติมในตอนที่แต่งมาแล้วหลายแห่ง แต่ไม่ได้ทรงแต่งเรื่องต่อ สำเร็จรูปเปนหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับพระราชหัดถเลขา ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงษ์วรเดชทรงพิมพ์เปนครั้งแรกเมื่อปีชวดจัตวาศก จุลศักราช ๑๒๔๗ พ.ศ. ๒๔๕๕

๗.ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จผ่านพิภพเมื่อปีมโรงสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๓๐ พ.ศ. ๒๔๑๑ ในปีนั้นเองมีรับสั่งให้เจ้าพระยาทิพากรวงษ์ (ขำ บุนนาค) แต่งหนังสือพระราชพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทรต่อจากที่สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโรสได้ทรงแต่งค้างไว้ เจ้าพระยาทิพากรวงษ์ท่านเก็บรวบรวมจดหมายเหตุต่าง ๆ เปนต้นว่า หมายรับสั่งแลท้องตราใบบอกหัวเมืองซึ่งมีอยู่ตามต่างกระทรวง ไปรวบรวมแต่งพระราชพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทรขึ้นทั้ง ๔ รัชกาล แต่งแล้วถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ทรงตรวจอิกชั้น ๑ แล้วจึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย หนังสือพระราชพงษาวดารที่เจ้าพระยาทิพากรวงษ์แต่งทำเร็วเปนอัศจรรย์ หนังสือราว ๑๐๐ เล่มสมุดไทย แต่งแล้วได้ถวายภายใน ๒ ปี ต่อมาถึงปีฉลูตรีศก จุลศักราช ๑๒๖๓ พ.ศ. ๒๔๔๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะให้พิมพ์หนังสือพระราชพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทร ทรงพระราชดำริห์ว่า หนังสือที่เจ้าพระยาทิพากรวงษ์แต่งไว้เปนด้วยรีบทำ ยังไม่เรียบร้อยควรแก่การพิมพ์ทีเดียว จึงมีรับสั่งให้ข้าพเจ้ารับน่าที่ตรวจชำระหนังสือพระราชพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทรสำหรับการที่จะพิมพ์ตามพระราชประสงค์ ข้าพเจ้าได้ตรวจชำระส่วนรัชกาลที่ ๑ สำเร็จ แลได้พิมพ์แต่ในปีนั้นรัชกาล ๑ ครั้นตรวจมาถึงรัชกาลที่ ๒ เห็นฉบับเดิมบกพร่องมากนัก เรื่องราวเหตุการณ์ในรัชกาลที่ ๒ ยังมีอยู่ในหนังสืออื่น เปนหนังสือต่างประเทศโดยมาก ควรจะรวบรวมเรื่องตรวจเสียใหม่แล้วจึงค่อยพิมพ์จึงจะดี ด้วยเหตุนี้ประการ ๑ ประกอบกับที่ข้าพเจ้าติดธุระในตำแหน่งราชการมากด้วยอิกประการ ๑ การที่จะตรวจชำระหนังสือพระราชพงษาวดารรัชกาลที่ ๒ จึงได้ค้างมา แต่ก็มิได้เสียเวลาเปล่า ด้วยในระหว่างนั้นข้าพเจ้าได้เอาเปนธุระเสาะแสวงหาแลรวบรวมหนังสือต่าง ๆ ซึ่งเนื่องด้วยพระราชพงษาวดารรัชกาลที่ ๒ มาโดยลำดับ พึ่งมาได้ลงมือแต่งเมื่อปีฉลูเบญจศก จุลศักราช ๑๒๗๕ พ.ศ. ๒๔๕๖ เดี๋ยวนี้หนังสือนั้นกำลังพิมพ์อยู่ ท่านทั้งหลายคงจะได้อ่านในไม่ช้านัก ประวัติของหนังสือพระราชพงษาวดารเท่าที่ข้าพเจ้าทราบความมีดังอธิบายมานี้

หนังสือพงษาวดารเมืองละแวกนั้น ที่จริงเปนเรื่องพงษาวดารกรุงกัมพูชา มิใช่พงษาวดารเมืองละแวก ที่เรียกชื่อหนังสือเรื่องนี้ว่าพงษาวดารเมืองละแวก จะเปนด้วยได้หนังสือนี้มาจากเมืองละแวก หรือมิฉนั้นเรียกตามคติโบราณเมื่อเมืองละแวกเปนราชธานีของกรุงกัมพูชา เริ่มแต่สมัยเมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชครองกรุงศรีอยุทธยา เรียกเมืองละแวก หมายความอันเดียวกันว่ากรุงกัมพูชา เหมือนอย่างเรียกกรุงศรีอยุทธยา หมายความว่ากรุงสยามทั่วไปฉนั้น ถึงในหนังสือพระราชพงษาวดารของเราที่แต่งมาแต่ครั้งกรุงเก่าก็เรียกชื่อโดยนิยมอย่างว่านี้ เช่นพระยาละแวกยกกองทัพเข้ามากวาดครัวแลรบพุ่งถึงในเมืองไทยครั้งแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช แลที่กล่าวถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จยกกองทัพหลวงลงไปตีเมืองละแวก จับพระยาละแวกได้ ให้ทำพิธีปฐมกรรม ก็หมายความว่ากรุงกัมพูชาทั้งนั้น

หนังสือพงษาวดารเมืองละแวกที่พิมพ์ในประชุมพงษาวดารภาคที่ ๔ นี้มีบานแพนกปรากฏรู้ได้ว่า นักพระองค์เอง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงเปนพระราชบุตรบุญธรรมาแต่ยังเยาว์ แลพระราชทานอภิเศกเปนสมเด็จพระนารายน์รามาธิบดี ศรีสุริโยดม บรมสุรินทรา มหาจักรพรรดิราช บรมนารถบพิตร ออกไปครองกรุงกัมพูชาเมื่อปีขาลฉศก จุลศักราช ๑๑๕๖ พ.ศ. ๒๓๓๗ สมเด็จพระนารายน์รามาธิบดีออกไปอยู่กรุงกัมพูชา ส่งหนังสือพงษาวดารฉบับนี้เข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย โปรดให้แปลเปนภาษาไทยสำเร็จเมื่อณวันพฤหัศบดี เดือน ๗ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีมโรงอัฐศก จุลศักราช ๑๑๕๘ พ.ศ. ๒๓๓๙ คิดสันนิฐานดู เข้าใจว่าในเวลานั้นหนังสือพงษาวดารเขมรจะไม่มีฉบับที่ดีอยู่ในกรุงเทพฯ เมื่ออภิเศกสมเด็จพระนารายน์รามาธิบดีออกไปครองเมือง เห็นจะมีรับสั่งออกไปให้สืบหาหนังสือพงษาวดารเขมรส่งเข้ามาถวาย ในเวลานั้นกรุงกัมพูชาก็กำลังยับเยิน ด้วยถูกข้าศึกภายนอกเข้าไปตี แลเกิดเหตุจลาจลภายในติดต่อกันมากว่า ๒๐ ปี สมเด็จพระนารายน์รามาธิบดีเที่ยวสืบเสาะหาหนังสือพงษาวดาร จึงได้แต่ฉบับนี้มาถวาย เปนฉบับอย่างย่อ แลข้อความไม่ถูกถ้วน แต่เชื่อได้ว่าเปนหนังสือพงษาวดารเขมรฉบับแรกที่ได้มาในครั้งกรุงรัตนโกสินทรนี้ ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้นักพระองค์ด้วง โอรสสมเด็จพระนารายน์รามาธิบดี ซึ่งได้เปนสมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี สืบเสาะหาหนังสือพงษาวดารเขมรถวายอิกครั้ง ๑ สมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดีส่งพงษาวดารเขมรเข้ามาถวายอิกฉบับ ๑ เนื้อความถ้วนถี่ถูกต้องพิศดารดีกว่าพงษาวดารเมืองละแวกที่ได้มาเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๑ เข้าใจว่าจะถึงรวบรวมหนังสือเก่าที่หาได้ แลมาประชุมพระยาพระเขมรแต่งเรื่องเพิ่มเติมต่อมา เพราะมีเรื่องพงษาวดารลงมาจนถึงปีขาลสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๘๐ พ.ศ. ๒๓๖๑ ตรงสมัยในรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทรนี้ หนังสือพงษาวดารเขมรฉบับที่ได้มาในรัชกาลที่ ๔ นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้แปลเปนภาษาไทยสำเร็จเมื่อณวันพฤหัศบดี เดือน ๘ บุรพาสาธ แรม ๖ ค่ำ ปีเถาะสัปตศก จุลศักราช ๑๒๑๗ พ.ศ. ๒๓๙๘ แลได้พิมพ์แล้วในหนังสือประชุมพงษาวดารภาคที่ ๑

ต่อมาเมื่อหาหนังสือรวบรวมเข้าหอพระสมุดวชิรญาณเมื่อตั้งเปนหอพระสมุดสำหรับพระนคร ข้าพเจ้าได้ให้สืบสวนที่กรุงกัมพูชาจะหาหนังสือพงษาวดารเขมรอีก ได้ความว่า ฉบับที่แปลครั้งรัชกาลที่ ๔ นี้เปนฉบับดีที่สุดที่เขามีอยู่ เขากลับถามว่า ที่ในกรุงเทพฯ นี้มีหนังสือพงษาวดารเขมรฉบับอื่นที่ดีกว่าฉบับนั้นบ้างหรือไม่ ถ้ามีขอให้ช่วยคัดให้ไปไว้สำหรับกรุงกัมพูชา ตามความที่ปรากฎดังแสดงมานี้เปนยุติได้ว่า หนังสือพงษาวดารเขมรที่แปลเมื่อในรัชกาลที่ ๔ นั้นเปนพงษาวดารเขมรที่ดีที่สุดที่มีอยู่ในเวลานี้

หนังสือพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณที่พิมพ์ในหนังสือประชุมพงษาวดารภาคที่ ๔ นี้เปนหนังสือใหม่ ทั้งการที่รวบรวมเรื่องแลการที่แต่ง หม่อมอมรวงษ์วิจิตรเปนนักเรียนโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบชั้นแรก ได้เรียนวิชาความรู้สอบได้เต็มที่แล้ว จึงออกไปรับราชการ มีตำแหน่งอยู่ในกระทรวงอื่นก่อน แล้วย้ายมาอยู่กระทรวงมหาดไทย สมัคออกไปรับราชการในมณฑลอิสาณ คือ ที่แบ่งเปนมณฑลอุบลราชธานีแลมณฑลร้อยเอ็จทุกวันนี้ แต่ครั้งพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ยังเปนข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการรวมเปนมณฑลเดียวกัน ได้เปนตำแหน่งตั้งแต่ผู้ช่วยขึ้นไปจนได้เปนปลัดมณฑล ถ้าหากอยู่มาจนปานนี้ไม่สิ้นชีพเสีย ข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่าคงจะได้รับพระราชทานเกียรติยศแลบันดาศักดิสูงขึ้น แม้กล่าวในเหตุที่หม่อมอมรวงษ์วิจิตรสิ้นชีพ ผู้อ่านก็จะแลเห็นได้ว่า หม่อมอมรวงษ์วิจิตรเปนผู้มีอัชฌาไศรยอย่างไร คือ เมื่อปีมแมนพศก จุลศักราช ๑๒๖๙ พ.ศ. ๒๔๕๐ มีราชการเกิดขึ้นทางชายแดนซึ่งจำจะต้องส่งข้าราชการผู้รู้ราชการออกไปพบปะกับข้าหลวงฝรั่งเศส เวลานั้นเปนฤดูฝน ทางที่จะไปต้องไปในดงที่ไข้ร้าย หม่อมอมรวงษ์วิจิตรรับอาษาออกไป ก็ไปเปนไข้กลางทาง แต่ไม่ยอมกลับ ทำแคร่ให้คนหามออกไปราชการทั้งเปนไข้ จนสำเร็จราชการแล้ว ขากลับมาหมดกำลังทนพิศม์ไข้ไม่ได้ สิ้นชีพในระหว่างทางที่มาเมื่อณวันที่ ๑๑ ตุลาคม ปีวอกสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๗๐ พ.ศ. ๒๔๕๑ ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะทรงยกย่องความชอบของหม่อมอมรวงษ์วิจิตร ทรงทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทว่า เมื่อหม่อมอมรวงษ์วิจิตรมีชีวิตรอยู่ ได้แบ่งเงินเดือนส่งเข้ามาเลี้ยงหม่อมเจ้าเมฆินทร์ผู้บิดาเสมอ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินพระคลังข้างที่เลี้ยงหม่อมเจ้าเมฆินทร์เท่าที่ได้เคยรับจากหม่อมอมรวงษ์วิจิตรทุกปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันนี้ก็พระราชทานต่อมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ ส่วนภรรยาของหม่อมอมรวงษ์วิจิตรก็ได้รับพระราชทานเบี้ยบำนาญเต็มตามพระราชบัญญัติฐานที่สามีไปสิ้นชีพในเวลาทำราชการ ยังหม่อมหลวงอุรา (คเนจร ณกรุงเทพ) ซึ่งเปนบุตรชายใหญ่ของหม่อมอมรวงษ์วิจิตร บิดาได้ถวายเปนมหาดเล็กข้าหลวงเดิมไว้ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันนี้ ก็ทรงพระกรุณาชุบเกล้าชุบกระหม่อมเลี้ยง เวลานี้มียศเปนจ่า มีบันดาศักดิเปนที่พระทรงพลราบ รับราชการอยู่ในกรมพระอัศวราช

หนังสือพงษาวดารมณฑลอิสาณนี้ไม่ได้มีผู้ใดสั่งให้หม่อมอมรวงษ์วิจิตรแต่ง หม่อมอมรวงษ์วิจิตรแต่งโดยอำเภอใจในเวลาว่างราชการ ด้วยรักวิชาความรู้แลเจตนาจะให้เปนประโยชน์ต่อราชการบ้านเมือง เที่ยวสืบถามตามผู้รู้ในเวลาเที่ยวตรวจหัวเมืองบ้าง ดูจากหนังสือราชการที่มีอยู่ในมณฑลบ้าง แลอาไศรยหนังสือพงษาวดารต่าง ๆ ที่จะซื้อหาได้บ้าง เมื่อแต่งได้สักน่อย ๑ หม่อมอมรวงษ์วิจิตรมีราชการเข้ามากรุงเทพฯ ได้พาหนังสือนี้มามอบไว้ให้ข้าพเจ้าตรวจ ข้าพเจ้าตรวจแล้วส่งกลับไปให้หม่อมอมรวงษ์วิจิตรแต่งต่อจนสำเร็จ ได้ส่งเข้ามาให้ข้าพเจ้าครั้งหลังเมื่อก่อนหม่อมอมรวงษ์วิจิตรจะสิ้นชีพสักน่อย ๑ ยังไม่ทันที่ข้าพเจ้าจะได้ทำอย่างไร เปนแต่ให้เก็บรักษาหนังสือนั้นไว้ในกระทรวงมหาดไทย ครั้นเมื่อได้ข่าวว่าหม่อมอมรวงษ์วิจิตรสิ้นชีพ มารฦกขึ้นได้ถึงหนังสือเรื่องนี้ จำไม่ได้ว่าส่งเข้ามาแล้วหรือยัง ให้ค้นหาในกระทรวง บังเอิญหนังสือนี้ไปซุกอยู่เสียผิดที่ หาไม่ได้ ให้ถามออกไปยังมณฑลก็ไม่ได้ความ จึงทอดธุระว่าจะหายสูญ มีความเสียดายมาช้านาน พึ่งมาค้นพบหนังสือนี้เมื่อก่อนข้าพเจ้าจะออกจากกระทรวงมหาดไทยไม่ช้านัก จึงได้ส่งต้นฉบับมารักษาไว้ในหอพระสมุดสำหรับพระนครเพื่อจะได้พิมพ์ในโอกาศที่สมควร มีโอกาศจึงได้พิมพ์ในครั้งนี้

ข้าพเจ้ารู้สึกว่า คำนำนี้ออกจะยืดยาวไปสักหน่อย การแต่งคำนำที่ข้าพเจ้าได้ทำมา ไม่เคยกำหนดข้อสั้นยาว แล้วแต่เรื่องจะพาไป บางเรื่องก็ยาว บางเรื่องก็สั้น ดูไม่อยู่ในอำนาจแม้ตัวข้าพเจ้าผู้ที่แต่งเองจะกำหนดได้ว่าจะให้สั้นยาวเพียงใด แต่ได้ถือเปนคติตั้งใจรักษาคลองกุศลธรรมอันเปนเจตนาของผู้พิมพ์หนังสือมิให้เสื่อมเสีย หนังสือประชุมพงษาวดารภาคที่ ๔ นี้ พระยาศรีสำรวจพิมพ์ด้วยประสงค์จะอจกในงานทำบุญปลงศพสนองคุณมารดาเปนการกุศลอันบริสุทธิซึ่งมิได้เลือกหน้าว่าผู้ใด เมื่อทราบแล้วคงจะอนุโมทนาความกตัญญูกตเวทีของพระยาศรีสำรวจในส่วนบำเพ็ญการกุศลปลงศพมารดาตามน่าที่บุตร ยังส่วนประโยชน์ กล่าวคือ ความรู้ซึ่งจะได้แก่ผู้อ่านหนังสือนี้ ก็เปนกุศลนับในธรรมทานที่พระยาศรีสำรวจได้บำเพ็ญอิกอย่าง ๑ เรื่องราวกล่าวประวัติของหนังสือ แม้จะยาว ก็เปนส่วนข้างให้ความรู้ ข้อที่ข้าพเจ้ากล่าวเล่าประวัติหม่อมอมรวงษ์วิจิตรผู้แต่งหนังสือพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณนั้น การที่ยกย่องตัวอย่างข้าราชการที่ทำความดีมาให้ปรากฎ ก็เห็นว่าเปนกุศลธรรม แม้ผู้ใดได้อ่านแลทราบความจากหนังสือนี้ แลไปประพฤติตาม ก็ชื่อว่าหนังสือนี้ได้ทำประโยชน์ แต่ยังมีอิกข้อ ๑ ซึ่งข้าพเจ้ามีความประสงค์โดยเฉภาะ ที่เอาเรื่องหม่อมอมรวงษ์วิจิตรมากล่าวในที่นี้ ด้วยทุกวันนี้ข้าราชการที่ได้เล่าเรียนมีความรู้ออกไปรับราชการมีตำแหน่งอยู่ตามหัวเมืองก็มาก ถ้าใช้เวลาว่างในทางสืบเสาะพงษาวดารแลโบราณคดี หรือแม้จะเปนขนบธรรมเนียมในท้องที่ ๆ ไปอยู่ จดขึ้นไว้เล่นเช่นหม่อมอมรวงษ์วิจิตรแต่งพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ ถึงจะทำได้ไม่มาก ทำเพียงเท่าที่รู้ที่เห็น เอาเวลาว่างใช้ในทางที่จะเกิดประโยชน์อย่างนี้บ้างดูก็จะดี ถึงอย่างต่ำก็ไม่มีโทษในที่ทั้งปวง.

ลายมือชื่อของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
หอพระสมุดวชิรญาณ
วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๘

สารบาน
น่า
น่า ๒๑
น่า ๒๙

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก