ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 5/คำนำ
ด้วยท่านหุ่น โชติกเสถียร ต.จ. มาแจ้งความต่อกรรมการหอพระสมุดวชิรญาณว่า จะทำการปลงศพจางวางโท พระยารณไชยชาญยุทธ วรุตมราชภักดี พิริยพาหะ (ศุข โชติกเสถียร) รว. มสม. ทจว. นช. วปร.๓ สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์ นายกองตรีเสือป่า ผู้เป็นสามี มีศรัทธาจะรับสร้างหนังสือในหอพระสมุดสำหรับพระนครเปนของแจกในงานศพเรื่อง ๑ ขอให้กรรมการช่วยเลือกเรื่องหนังสือให้ ข้าพเจ้าจึงได้เลือกเรื่องหนังสือประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๕ ซึ่งพิมพ์ในเล่มนี้ ให้ท่านหุ่นพิมพ์เปนของแจกในงานศพพระยารณไชยชาญยุทธ
หนังสือประชุมพงษาวดารเปนหนังสือเรื่องพงษาวดารเกร็ดต่าง ๆ ซึ่งมีแยกย้ายอยู่ที่โน่นบ้างที่นี่บ้าง รวบรวมมาพิมพ์ไว้ด้วยกัน เพื่อรักษาเรื่องพงษาวดารนั้น ๆ ไว้ แลให้บรรดาผู้ศึกษาโบราณคดีมีโอกาศพบเห็นสอบสวนได้สดวก ไม่มีกำหนดว่า กี่ภาคจะจบ ฤๅเรียบเรียงเปนลำดับอย่างไร แล้วแต่หอพระสมุดฯ หาเรื่องพงษาวดารมาได้พอจะรวบรวมพิมพ์เปนภาคได้ ถ้ามีผู้ศรัทธาจะสร้าง ก็พิมพ์ออกเปนภาคหนึ่ง ๆ เปนลำดับกันไป หนังสือประชุมพงษาวดารที่ได้พิมพ์แล้ว ๔ ภาคนั้น คือ
ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๑ มี ๖ เรื่อง คือ
๑หนังสือพงษาวดารเหนือ
๒หนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ
๓หนังสือเรื่องครั้งศุโขไทยตามศิลาจาฤก
๔พงษาวดารเขมร
๕พงษาวดารพม่ารามัญ
๖พงษาวดารล้านช้าง
ภาคที่ ๑ นี้ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา สมเด็จพระมาตุฉา มีรับสั่งให้กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณรวบรวมพิมพ์เมื่อทรงบำเพ็ญพระกุศลในงานศพหม่อมเจ้าดไนยวรนุช ท,จ. เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗
ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๒ มี ๕ เรื่อง คือ
๑เรื่องตั้งเจ้าพระยานครศรีธรรมราช
๒พงษาวดารเมืองถลาง
๓พงษาวดารเมืองไทรบุรี
๔พงษาวดารเมืองตรังกานู
๕พงษาวดารเมืองกลันตัน
ภาคนี้ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนารถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชเสาวนีดำรัสสั่งให้พิมพ์พระราชทานในงานศพฟักทองราชินีกูลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗
ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๓ มี ๓ เรื่อง คือ
๑พงษาวดารเมืองปัตตานี
๒พงษาวดารเมืองสงขลา
๓พงษาวดารเชียงใหม่
ภาคที่ ๓ นี้ เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธรฯ พิมพ์แจกในงานศพหม่อมเจ้าอรชรในพระเจ้าบรมวงษ์เธอชั้น ๑ กรมหมื่นไกรสรวิชิต เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗
ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๔ มี ๓ เรื่อง คือ
๑พระราชพงษาวดารความแต่งครั้งกรุงเก่า
๒พงษาวดารเมืองลแวก
๓พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ
ภาคที่ ๔ นี้ อำมาตย์เอก พระยาศรีสำรวจ (ชื่น ภัทรนาวิก) พิมพ์แจกในงานศพพัน ภัทรนาวิก ผู้มารดา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘
หนังสือประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๕ นี้มี ๔ เรื่อง คือ
๑จดหมายเหตุจีนว่าด้วยกรุงสยามแต่โบราณ
๒ศักราชรัชกาลครั้งกรุงศรีอยุทธยาตามที่สอบใหม่
๓พงษาวดารลาวเฉียงของพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค)
๔พงษาวดารเมืองหลวงพระบาง
หนังสือทั้ง ๔ เรื่องที่รวมพิมพ์ในประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๕ นี้มีคุณวิเศษอย่างไร จะอธิบายไว้พอเปนเครื่องกำหนดของท่านผู้อ่าน
จดหมายเหตุจีนว่าด้วยสยามประเทศ ได้ตรวจสอบในหนังสือจีน มี ๕ เรื่อง คือ
๑หนังสือฮ่วงเฉียวบุ๋นเหี่ยนทงเค้า
๒หนังสือคิมเตี้ยซกทงจี่
๓หนังสือยี่จับสี่ซื้อ ตอนเหม็งซื้องั่วก๊กเลียดต้วน
๔หนังสือคิมเตี้ยซกทงเตี้ยน
๕หนังสือกึงตังทงจี่
จดหมายเหตุจีนเหล่านี้ หลวงเจนจีนอักษร (สุดใจ) พนักงานหอพระสมุดฯ ได้แปลเปนภาษาไทยเฉภาะตอนที่กล่าวด้วยสยามประเทศ เรียบเรียงทูลเกล้าฯ ถวายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อปีระกา เอกศก พ.ศ. ๒๔๕๒ เจ้าพระยายมราชได้พิมพ์ช่วยในงานศพพระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณระนอง) สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็จ เปนครั้งแรกเมื่อปีฉลู เบญจศก พ.ศ. ๒๔๕๖ ผู้ที่ได้อ่านพากันชอบ ด้วยได้ความรู้เรื่องพงษาวดารตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระร่วงศุโขไทยแลครั้งกรุงเก่าแปลก ๆ อิกหลายอย่าง แต่หนังสือเรื่องนี้ เมื่อพิมพ์ครั้งแรก ไปแจกไว้ตามหัวเมืองมาก เพราะทำศพพระยารัษฎานุประดิษฐที่เมืองระนอง ที่ในกรุงเทพฯ ไม่ใคร่จะมีใครได้อ่าน มีผู้มาสืบหาที่หอพระสมุดฯ อยู่เนือง ๆ ไม่ขาด อิกประการ ๑ เมื่อพิมพ์ครั้งแรกนั้น ยังไม่ได้สอบศักราชรัชกาลครั้งกรุงเก่าได้แน่นอน จดหมายเหตุจีนมักเรียกพระเจ้าแผ่นดินสยามแต่ว่า "เสี้ยมหลอก๊กอ๋อง" รู้ไม่ใคร่ได้ว่า ความที่กล่าวตรงไหนจะเปนในแผ่นดินไหนแน่ บัดนี้ ได้สอบศักราชรัชกาลครั้งกรุงเก่ารู้ได้เกือบจะไม่มีผิดแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้บอกรัชกาล แลได้ทำคำอธิบายเพิ่มเติมลงไว้ในฉบับที่พิมพ์ในเล่มนี้ เชื่อว่า ทำให้ดีขึ้นกว่าที่พิมพ์ครั้งแรกเปนอันมาก ถึงผู้ที่มีฉบับพิมพ์ครั้งแรกอยู่แล้ว ก็คงจะพอใจอ่านฉบับนี้อิก
เรื่องศักราชรัชกาลครั้งกรุงเก่านั้นเปนของที่รู้กันอยู่ในผู้ศึกษาโบราณคดีว่า ศักราชรัชกาลครั้งกรุงเก่าที่ลงไว้ในหนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับพิมพ์ ๒ เล่มก็ดี ฉบับพระราชหัดถเลขาก็ดี ผิดมากบ้างน้อยบ้างเกือบทุกรัชกาล แต่ยังไม่มีหลักฐานที่จะสอบสวนได้ตลอด จนหอพระสมุดฯ ได้หนังสือพระราชพงษาวดารซึ่งเรียกว่า "ฉบับหลวงประเสริฐ" อันเปนตัวต้นหนังสือพระราชพงษาวดารกรุงเก่าที่แต่งครั้งแรกเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์มหาราช ศักราชในหนังสือฉบับหลวงประเสริฐนี้ฉบับเดียวที่สอบได้ถูกต้องตรงกับจดหมายเหตุอื่น ๆ ที่ได้พบ มีปูมโหรเปนต้น เชื่อได้ว่า ศักราชแม่นยำกว่าฉบับอื่น ๆ แต่หนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ หมดความอยู่เพียงสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ข้าพเจ้าจึงค้นหาจดหมายเหตุโบราณต่าง ๆ สอบศักราชรัชกาลครั้งกรุงเก่าต่อลงมาจนตลอดทุกรัชกาล พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) อุปราชมณฑลกรุงเก่า ได้เห็นหนังสือนี้ แนะนำว่า ควรจะพิมพ์ให้ปรากฎ จะได้เปนประโยชน์แก่ผู้ที่สอบจดหมายเก่าต่าง ๆ ได้อาไศรยเปนหลักสำหรับสอบ ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงพิมพ์ศักราชรัชกาลครั้งกรุงเก่าลงไว้เปนเรื่องที่ ๒ ในเล่มนี้
เรื่องพงษาวดารลาวเฉียงนั้น พระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) แต่งส่งลงพิมพ์หนังสือวชิรญาณไว้เมื่อปีกุญ พ.ศ. ๒๔๔๒ ก่อนแต่งหนังสือตำนานโยนก หนังสือเรื่องนี้แต่งดีน่าอ่าน แต่พิมพ์ในหนังสือวชิรญาณอยู่แยกย้ายกันในหลายเล่ม สมควรจะรวบรวมมาพิมพ์ไว้ในที่อันเดียวกัน จะได้เปนอนุสาวรีปรีชาญาณของพระยาประชากิจกรจักร ข้าพเจ้าจึงได้เอาพิมพ์ไว้เปนเรื่องที่ ๓ หนังสือเรื่องนี้ตามต้นฉบับที่พิมพ์ในหนังสือวชิรญาณใช้ตัวอักษรแลภาษาอังกฤษมีอยู่หลายแห่ง เห็นลำบากแก่การพิมพ์ ไม่จำเปนแท้แก่เนื้อความ ข้าพเจ้าจึงตัดออกเสียบ้าง ส่วนคำภาษาอังกฤษแห่งใดที่มีคำไทยใช้แทน ข้าพเจ้าได้เปลี่ยนเปนคำไทยให้เข้าใจง่ายขึ้นบ่าง นอกนั้นคงตามต้นฉบับเดิม แต่ควรจะบอกไว้แก่ท่านผู้อ่านอย่าง ๑ ว่า ธรรมดาอธิบายโบราณคดีจำต้องใช้ความวินิจฉัย คือ ความนึกเดา ของผู้อธิบาย เปนธรรมดาการอธิบายโบราณคดี เพราะฉนั้น วินิจฉัยโบราณคดี ไม่ว่าวินิจฉัยของผู้ใด ย่อมมีผิดบ้างถูกบ้าง ผู้ศึกษาโบราณคดีด้วยกันเห็นชอบด้วยบ้าง เห็นแตกต่างบ้าง วินิจฉัยของพระยาประชากิจกรจักรที่ปรากฎในหนังสือพงษาวดารลาวเฉียงเล่มนี้ ท่านผู้อ่านควรเข้าใจว่า เปนความเห็นของพระยาประชากิจกรจักร มิใช่เปนความเห็นของผู้อื่นทั่วไป
เรื่องพงษาวดารเมืองหลวงพระบางนั้น ต้นฉบับมีอยู่ในกระทรวงมหาดไทย สังเกตตามสำนวนแลเนื้อเรื่อง เข้าใจว่า มีรับสั่งให้เรียบเรียงทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อในรัชกาลที่ ๕ หนังสือเรื่องนี้ได้ให้พิมพ์ไว้ในหนังสือเทศาภิบาลครั้ง ๑ เพื่อรักษาเรื่อง เห็นควรจะรวบรวมมาพิมพ์ไว้ในหนังสือประชุมพงษาวดาร ข้าพเจ้าจึงจัดไว้ในเรื่องที่ ๔
ข้าพเจ้าอยากจะกล่าวต่อไปถึงเรื่องหนังสือประชุมพงษาวดารสักหน่อย ด้วยยังไม่ทราบว่า จะเปนแก่ท่านผู้อื่นเหมือนกับเปนแก่ตัวข้าพเจ้าฤๅไม่ ข้าพเจ้าเก็บหนังสือเรื่องนี้เรียบเรียงไว้ในตู้ข้างโต๊ะเขียนหนังสือ ในเวลาแต่งหนังสือเรื่องราวในโบราณคดี ข้าพเจ้าต้องหยิบหนังสือประชุมพงษาวดารมาอาไศรยสอบสวนอยู่เสมอไม่ใคร่ขาด จนรู้สึกว่า หนังสือพวกนี้ช่างมีประโยชน์เสียจริง ๆ ถ้าหากไม่มีหนังสือประชุมพงษาวดารไว้ให้หยิบมาตรวจตราได้ง่าย ๆ การแต่งหนังสือเรื่องโบราณคดีจะช้าแลลำบากแก่ผู้แต่งอิกมิใช่น้อย ถ้าความรู้สึกเช่นนี้มีอยู่แก่ท่านผู้อื่นเหมือนกับตัวข้าพเจ้าไซ้ ขอชักชวนให้ช่วยกันอนุโมทนากุศลของท่านผู้ที่ได้พิมพ์หนังสือประชุมพงษาวดารให้เปนประโยชน์ดังกล่าวมา ถึงหนังสือเรื่องอื่นที่พิมพ์แจกในการกุศลในสมัยนี้ที่ได้เปนประโยชน์แลเปนที่อาไศรยปฤกษาเวลาแต่งหนังสือก็ยังมีอิกหลายเรื่อง ท่านผู้ที่ได้สร้างหนังสือเหล่านั้นก็ควรได้รับอนุโมทนาในกุศลจริยาอย่างเดียวกัน
หนังสือเล่มนี้พิมพ์แจกในงานศพของพระยารณไชยชาญยุทธ (ศุข โชติกเสถียร) ข้าพเจ้าคุ้นเคยชอบพอพระยารณไชยชาญยุทธมาตั้งแต่ยังเปนนักเรียน จนได้มารับราชการร่วมกระทรวงราชการอันเดียวกัน ได้รักชอบกันในฉันทมิตรมาอิกช้านาน จนกระทั่งพระยารณไชยชาญยุทธถึงอนิจจกรรม นับในผู้มีคุณูประการข้าพเจ้าผู้ ๑ เจ้าภาพมีประสงค์จะให้ข้าพเจ้าแต่งประวัติของพระยารณไชยชาญยุทธพิมพ์ไว้ในท้ายคำนำนี้ ก็ถูกใจ ด้วยเปนโอกาศจะได้กระทำปฏิการกิจแม้เล็กน้อย ทั้งตัวข้าพเจ้าได้ร่วมราชการเกี่ยวข้องกับพระยารณไชยฯ มาก็ช้านาน พอจะแต่งประวัติด้วยความรู้เห็นของตนเองได้โดยมาก
พระยารณไชยชาญยุทธ วรุตมราชภักดี พิริยพาหะ (ศุข โชติกเสถียร) เกิดเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีมแม ตรีศก จุลศักราช ๑๒๓๓ พ.ศ. ๒๔๑๔ เปนบุตรเจ้าหมื่นเสมอใจราช (จู) ๆ เปนบุตรพระยาโชดึกราชเศรษฐี (เถียน) ผู้ต้นสกุล โชติกเสถียร
เมื่อครั้งพระยาโชดึกฯ เถียน ยังไม่ได้ทำราชการ ทั้งตัวพระยาโชดึกฯ แลท่านสุ่น ผู้ภรรยา ได้ถวายตัวเปนข้าหลวงอยู่ในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เพราะฉนั้น สกุลโชติกเสถียรจึงเปนสกุลข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทุกชั้นมา พระยาโชดึกฯ ได้ถวายบรรดาบุตรเปนมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ยังไม่ได้เสวยราชย์ ส่วนเจ้าหมื่นเสมอใจราช (จู) บิดาของพระยารณไชยชาญยุทธนี้ ทรงใช้สอยสนิทติดพระองค์มาแต่ยังเสด็จประทับอยู่พระตำหนักสวนกุหลาบ เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ โปรดให้รับราชการอยู่ในกรมมหาดเล็ก ทรงใช้สอยติดพระองค์อยู่อย่างเดิม ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเปนขุนสมุทโคจร แล้วเลื่อนเปนนายชิดหุ้มแพร เปนนายจ่ายง เปนหลวงนายสิทธิ แล้วเปนเจ้าหมื่นเสมอใจราช แต่ถึงแก่กรรมเสียในที่นั้น ไม่ทันที่จะได้รับพระราชทานยศบันดาศักดิยิ่งขึ้นไป เจ้าหมื่นเสมอใจราช (จู) แต่งงานกับถมยา ธิดาพระยาโชดึกฯ (ฟัก) มีบุตรธิดาหลายคน พระยารณไชยชาญยุทธนี้เปนบุตรใหญ่ ได้ถวายตัวเปนมหาดเล็กแต่ยังเด็กตามประเพณีผู้ที่อยู่ในสกุลข้าหลวงเดิม แล้วไปเรียนอยู่ในโรงเรียนวัดบพิตรภิมุขจนสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรประโยค ๑ เมื่อบิดาถึงแก่กรรมแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดให้พระยารณไชยชาญยุทธเปนพระพี่เลี้ยงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันนี้ตั้งแต่อายุพระยารณไชยฯ ได้ ๑๒ ปี ต่อมาเมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๓๓ พระราชทานสัญญาบัตรเปนนายบำเรอบรมบาท ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๓๕ ได้เลื่อนเปนนายกวดหุ้มแพรมหาดเล็กต้นเชือก ปีมะเสง พ.ศ. ๒๔๓๖ เลื่อนเปนนายจ่ายง
เมื่อจัดหัวเมืองเปนมณฑลเทศาภิบาล จะจัตั้งมณฑลนครไชยศรี ตำแหน่งที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทสาครว่าง จะหาตัวผู้ซึ่งสมควรเปนผู้ว่าราชการจังหวัดจัดการปกครองตามแบบที่ตั้งใหม่ ทรงพระราชดำริห์ว่า นายจ่ายงหลักแหลมอยู่คน ๑ ในราชการชั้นหนุ่ม จึงพระราชทานสัญญาบัตรตั้งเปนพระสมุทสาครานุรักษ์ออกไปเปนผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทสาครเมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๔๐ ออกไปอยู่ไม่ช้าก็ปรากฎคุณวุฒิสำคัญของพระยารณไชยฯ อย่าง ๑ คือ ที่สามารถอาจจะทำให้กรมการตลอดจนราษฎรมีความนิยมนับถือทั่วไป คุณวุฒิอันนี้เปนเหตุอย่างสำคัญที่พระยารณไชยฯ ทำการงานสำเร็จได้ผลดี มีความชอบมาแต่ไปว่าราชการจังหวัดสมุทสาครครั้งนั้น แลในที่อื่น ๆ ซึ่งพระยารณไชยฯ ได้รับราชการต่อมาจนตลอดอายุ พระยารณไชยฯ ว่าราชการจังหวัดสมุทสาครอยู่ ๔ ปี ปรากฎว่า คุณวุฒิควรจะรับราชการในตำแหน่งสำคัญกว่านั้นได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนเปนพระยาศิริไชยบุรินทร์ย้ายมารับราชการในตำแหน่งปลัดมณฑลซึ่งมีน่าที่ว่าราชการจังหวัดนครปฐม มณฑลนครไชยศรี เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๔๔ รับราชการในตำแหน่งนี้อยู่จนตลอดรัชกาลที่ ๕
ถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ ในปีแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ ตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์ว่าง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปนสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์ แล้วพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนขึ้นเปนพระยารณไชยชาญยุทธ วรุตมราชภักดี พิริยพาหะ ถือศักดินา ๑๐๐๐๐ พระราชทานพานทองเปนเกียรติยศ รับราชการในตำแหน่งนั้นต่อมาจนตลอดอายุ
มีเรื่องซึ่งควรจะกล่าวเปนพิเศษให้ปรากฎในประวัติของพระยารณไชยชาญยุทธอย่าง ๑ ด้วยพระยารณไชยชาญยุทธได้เปนพระพี่เลี้ยง เปนข้าหลวงเดิม ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันนี้ดังกล่าวมาแล้ว พอเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ก็ประจวบตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์ว่าง ได้เปนตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลขึ้นไปอยู่มณฑลนครสวรรค์ พอไปถึงในหมู่นั้นเอง ก็ได้พระแสงศรกำลังรามมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเปนศิริมงคล แลต่อมาไม่อิกกี่เดือน ก็ได้พระยาช้างเผือก คือ พระเสวตรวชิรพาหะ มาถวายเพิ่มภูลพระบารมีติดต่อกันไป ของที่เกิดชูพระเกียรติยศทั้งนี้ล้วนได้มาแต่มณฑลนครสวรรค์ในเวลาแรกพระยารณไชยชาญยุทธขึ้นไปเปนสมุหเทศาภิบาลทั้ง ๒ อย่าง จึงเห็นเปนอัศจรรย์
พระยารณไชยชาญยุทธได้เคยรับราชการจรเปนพิเศษหลายครั้งหลายอย่าง ครั้งแรกตั้งแต่ยังเปนนายจ่ายงมหาดเล็ก ก็ได้เปนข้าหลวงไปตรวจราชการทางมณฑลปราจิณถึงมณฑลบุรพาเมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๔๓๘ คราว ๑ นอกจากนั้น ก็ล้วนในราชการที่เกี่ยวข้องด้วยปกครองหัวเมืองตามน่าที่ ซึ่งไม่จำต้องยกมาพรรณา
พระยารณไชยชาญยุทธได้รับพระราชทานบำเหน็จรางวัลหลายครั้งตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๕ เปนต้นมา เครื่องราชอิศริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทานเปนอย่างสูงในเวลาเมื่อถึงอนิจกรรม คือ
รัตนวราภรณ์
มหาสุราภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ ๑
ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ
นิภาภรณ์ช้างเผือกชั้นที่ ๓
รัตนาภรณ์ ว.ป.ร. ชั้นที่ ๓
เข็มพระชนมายุสมมงคลรัชกาลที่ ๕
เข็ม ว.ม. ชั้นที่ ๑ พระราชทานแต่ในรัชกาลที่ ๕
เข็ม ว.ป.ร. ชั้นที่ ๑
นอกจากนี้ ยังได้รับพระราชทานเหรียญที่รฦกในงานพระราชพิธีต่าง ๆ ตามบันดาศักดิ
พระยารณไชยชาญยุทธได้แต่งงานกับท่านหุ่น มีบุตรธิดาด้วยกัน คือ
๑ธิดาชื่อ สร้อย เปนภรรยาพระชวกิจบรรหา (เลื่อน ณป้อมเพชร)
๒บุตรชื่อ นายส่าน ถวายตัวเปนมหาดเล็ก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปเรียนวิชาอยู่เมืองอังกฤษในเวลานี้
๓นายโสตถิ์ คนเล็ก ยังเรียนหนังสืออยู่ในโรงเรียน
พระยารณไชยชายยุทธถึงอนิจกรรมเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ คำนวณอายุได้ ๔๕ ปี
ข้าพเจ้าขออนุโมทนาในกุศลราษีของท่านหุ่นแลบุตรธิดาซึ่งได้บำเพ็ญเปนปฏิการสนองคุณพระยารณไชยชาญยุทธด้วยความกตัญญูกตเวที แลเชื่อว่า ท่านผู้ที่ได้อ่านหนังสือนี้จะพอใจแลอนุโมทนาทั่วไป