ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 53 (2473)/ผู้วายชนม์

  • นายพันตำรวจเอก พระยาอาชญาพิทักษ์ (เกษ สุนทรรัตน์)
  • ต,จ,ว, ต,ม, บ,ช, ร,จ,ม,

ประวัติ
นายพันตำรวจเอก พระยาอาชญาพิทักษ์ (เกษ สุนทรรัตน์)
ต,จ,ว, ต,ม, บ,ช, ร,จ,ม,

พระยาอาชญาพิทักษ์ เกิดวันที่ ๕ เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๑ ตรงกับปีขาล วันจันทร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๙ จุลศักราช ๑๒๔๐ ณบ้านหลังวัดอนงคาราม จังหวัดธนบุรี เป็นบุตร์นายแก้ว นางสุ่น

เมื่อปฐมวัย ได้เข้าศึกษาหนังสือไทยที่โรงเรียนวัดพิไชยญาติการาม สอบได้ชั้นประโยค ๑ แล้วย้ายไปเรียนหนังสืออังกฤษที่โรงเรียนวัดมหรรณพาราม สอบได้ชั้น ๕ ภาษาอังกฤษ

เมื่ออายุครบอุปสมบท ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดอนงคาราม ครั้นลาสิกขาบทแล้ว จึงเข้าสมัคเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจภูธรที่จังหวัดนครราชสิมาเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๕ ได้รับเงินเดือน ๆ ละ ๑๒ บาท

ถึงวันที่ ๑ สิงหาคม ปีนั้น ได้รับยศเป็นนายร้อยตำรวจตรี ไปประจำที่สถานีอำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย ได้รับพระราชทานเงินเดือน ๆ ละ ๘๐ บาท

วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๖ ได้ย้ายมาเป็นผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยตำราจภูธรที่จังหวัดนครปฐม ได้รับพระราชทานเงินเดือน ๆ ละ ๑๒๐ บาท

วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๗ ได้ย้ายไปเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรมณฑลปัตตานี ถึงเดือนมิถุนายน ในปีนั้น ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนอาชญาพิทักษ์ และเลื่อนยศเป็นนายร้อยตำรวจเอก

วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๘ กลับเข้ามารับราชการณกรุงเทพฯ ในตำแหน่งปลัดกรม ได้รับพระราชทานเงินเดือน ๆ ละ ๒๐๐ บาท

พ.ศ. ๒๔๔๙ กลับไปรับราชการเป็นผู้บังคับการที่มณฑลปัตตานี ได้รับพระราชทานเงินเดือน ๆ ละ ๒๒๐ บาท

ถึง พ.ศ. ๒๔๕๑ ได้รับพระราชทานเงินเดือน ๆ ละ ๒๖๐ บาท และได้เลื่อนยศเป็นนายพันตำรวจตรีเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ปีนี้

วันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๒ ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นหลวงในราชทินนามเดิม

วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้ย้ายจากมณฑลปัตตานีไปเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรมณฑลภูเก็จ ครั้นวันที่ ๙ เมษายน ศกนั้น ได้เลื่อนยศเป็นนายพันตำรวจโท ได้รับพระราชทานเงินเดือน ๆ ละ ๓๐๐ บาท

วันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระในราชทินนามเดิม

พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้รับพระราชทานเงินเดือน ๆ ละ ๕๐๐ บาท

วันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้รับพระราชทานยศเป็นนายพันตำรวจเอก

วันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิเป็นพระยาอาชญาพิทักษ์

พ.ศ. ๒๔๖๔ ได้รับพระราชทานเงินเดือน ๆ ละ ๕๕๐ บาท จน พ.ศ. ๒๔๖๙ ได้เลื่อนขึ้นเป็นเดือนละ ๖๐๐ บาท

วันที่ ๓๑ พฤษาคม พ.ศ ๒๔๖๙ ได้ย้ายไปเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรมณฑลนครศรีธรรมราช

พ.ศ. ๒๔๗๐ ได้ย้ายไปเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรมณฑลนครสวรรค์

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ กลับจากตรวจราชการ ได้ป่วยเป็นไข้มาเลเรีย ภายหลัง อาการหนัก พิษกำเริบขึ้นสู่สมอง ลงมารักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อาการมีแต่ทรงกับทรุด ครั้นถึงวันที่ ๑๒ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๒ เวลาเที่ยงกับ ๒๕ นาฑี ได้ถึงอนิจจกรรมที่โรงพยาบาลนั้น สรุปอายุได้ ๕๒ ปี

ในราชการเสือป่า ได้รับพระราชทานยศชั้นต้นเป็นนายหมู่ตรีเป็นลำดับขื้นไปถึงเป็นนายกองโท

ราชการพิเศษ เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๕ ไปปราบพวกเงี้ยวทำการจลาจลที่จังหวัดแพร่ ในหน้าที่ผู้บังคับหมวด แล้วไปรักษาการอยู่จังหวัดลำปาง และเป็นผู้บังคับกองอยู่จังหวัดพะเยา

พ.ศ. ๒๔๕๕ ไปปราบพวกที่แสดงตนอวดอ้างว่า เป็นผู้วิเศษ ที่จังหวัดยะลา และสืบจับหัวหน้าผู้ก่อการจลาจลได้

เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้เป็นผู้สมทบจับชนชาติศัตรู (เยอรมัน)

เครื่องราชอิสสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทาน มงกุฎสยามชั้น ๕ ช้างเผือกชั้น ๔ มงกุฎสยามชั้น ๔ ช้างเผือกชั้น ๔ มงกุฎสยามชั้น ๓ ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ นอกจากนั้น ยังได้รับพระราชทานเหรียญรัชชมงคล เหรียญรัชชมังคลาภิเษก เหรียญบรมราชาภิเษกรัชชกาลที่ ๖ เหรียญจักรมาลา เหรียญบรมราชาภิเษกรัชชกาลปัจจุบัน และเหรียญศารทูลมาลา

พระยาอาชญาพิทักษ์ (เกษ สุนทรรัตน์) เป็นผู้หนึ่งที่มีความบากบั่นตรากตรำในหน้าที่ราชการ ไม่มีความท้อถอย เป็นผู้ที่ผู้น้อยซึ่งอยู่ใต้บังคับบัญชานับถือและยำเกรง และเป็นผู้มีอัธยาศรัยกว้างขวาง มีมิตรสหายมาก เมื่อถึงอนิจจกรรม คงมีบุตรและบุตรีเกิดด้วยคุณหญิงอาชญาพิทักษ์ (สุด) หลานพระยาสุรเสนา (บุญคง บุณยเกียรติ) ๒ คน คือ สวิง ภรรยานายร้อยตำรวจตรี พุฒ เสวตะทัด และนายสมนึก และมีบุตรีเกิดด้วยนางม้วนอีกคน ๑ ชื่อ เด็กหญิงกมล