ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 63/คำนำ

คำนำ

ในการพระราชทานเพลิงศพพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) เจ้าภาพและบรรดาผู้ที่เคารพนับถือในพระยาโบราณราชธานินทร์ประสงค์จะได้หนังสือสำหรับแจกเป็นที่ระลึก จึงแจ้งความประสงค์นี้มายังกรมศิลปากร

กรมศิลปากรมีความยินดีที่ได้มีโอกาสกระทำปฏิการโดยจัดหาหนังสือสำหรับพิมพ์ในครั้งนี้ เพราะพระยาโบราณราชธานินทร์เคยเป็นอุปนายกแผนกโบราณคดีในราชบัณฑิตยสภา และเป็นผู้มีอุปการะคุณแก่กรมศิลปากรด้วยผู้หนึ่ง คราวใดที่เจ้าหน้าที่ในกรมศิลปากรไปสอบถามความรู้อันเกี่ยวด้วยโบราณคดี พระยาโบราณราชธานินทร์ก็เต็มใจชี้แจงให้เสมอทุกคราว ถ้าว่าโดยฉะเพาะในเรื่องภูมิสถานพระนครศรีอยุธยา ก็เห็นจะหาผู้ที่มีความรู้เชี่ยวชาญเสมอด้วยพระยาโบราณราชธานินทร์ได้ยาก ความรู้ในทางโบราณคดีที่ทราบกันอยู่ในเวลานี้ก็มีอยู่มากที่พระยาโบราณราชธานินทร์เป็นผู้สอบสวนค้นพบมา เพราะฉะนั้น จึงเป็นการสมควรที่จะรวบรวมเรื่องโบราณคดีซึ่งพระยาโบราณราชธานินทร์ได้เรียบเรียงไว้ พิมพ์รวมเป็นเล่มเดียวจัดเข้าในลำดับประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๓ เพื่อเป็นเกียรติยศเชิดชูคุณงามความดีที่พระยาโบราณราชธานินทร์ได้ใช้ความพยายามค้นคว้าและนำมาเผยแผ่ให้เป็นประโยชน์เกื้อกูลความรู้ ซึ่งนักศึกษาทุกท่านคงยินดีอนุโมทนา

เรื่องที่พิมพ์อยู่ในหนังสือประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๓ นี้ คือ

(๑)เรื่องแก้คดีพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งพระยาโบราณราชธานินทร์แต่งขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง มูลเหตุของเรื่องนี้มีมาอย่างไรไม่ปรากฏ กรมศิลปากรจึงได้กราบทูลถามสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

(๒)ได้ทรงพระกรุณาประทานคำอธิบาย ดังได้ลงพิมพ์ไว้ข้างหน้าของเรื่องนี้ และกรมศิลปากรขอขอบพระเดชพระคุณสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นั้นไว้ในที่นี้ด้วย

(๓)ตำนานกรุงเก่า ซึ่งพระยาโบราณราชธานินทร์เรียบเรียงพิมพ์ทูลเกล้าฯ ถวายในงานพระราชพิธีรัชมงคลเมื่อ ร.ศ. ๑๒๖ (พ.ศ. ๒๔๕๐) ได้ชี้แจงข้อสำคัญไว้ในคำนำหนังสือที่พิมพ์คราวนั้นด้วยว่า เป็นการคิดเรียบเรียงขึ้นตามที่นึกได้ในระหว่างเวลาว่างตรวจการทำพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ปราสาท ซึ่งเป็นเวลากำลังฉุกละหุก มีเวลาน้อย ไม่พอที่จะตรวจสอบกับตำราทั้งหมดให้ละเอียดได้ ทั้งการพิมพ์ก็เร่งรัดที่จะให้แล้วเร็วทันวันงานพระราชพิธีรัชมงคล และการที่ทำโดยรีบร้อนเช่นนี้ ก็ย่อมจะมีที่ผิดพลั้งอยู่เป็นธรรมดา

คิดเวลาตั้งแต่พระยาโบราณราชธานินทร์พิมพ์ตำนานกรุงเก่าทูลเกล้าฯ ถวายในครั้งนั้นล่วงมาจนถึงบัดนี้ได้ ๒๙ ปีแล้ว การสืบสวนค้นคว้าในทางโบราณคดีก็คืบหน้ามาโดยลำดับ อาจมีข้อแตกต่ากันบ้าง ถึงกระนั้น หนังสือตำนานกรุงเก่าก็ยังคงเป็นประโยชน์ในการศึกษาโบราณคดีอยู่เป็นอันมาก

(๔)อธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีคำวินิจฉัยของพระยาโบราณราชธานินทร์

เรื่องอธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยานี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงชี้แจงไว้ในคำนำ ฉะบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ ว่า

"ต้นฉะบับได้มาในหนังสือมรดกของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ ซึ่งพระองค์เจ้าและหม่อมเจ้าในกรมพร้อมพระหฤทัยกันถวายแด่หอพระสมุดสำหรับพระนคร พิจารณาดูเห็นเป็นตัวฉะบับเดิมแท้ มิได้มีผู้ใดแก้ไขเพิ่มเติมให้วิปลาศ มีเรื่องในหนังสือเป็น ๒ ตอน ตอนต้นเป็นเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา อ้างไว้ข้างท้ายว่า เป็นพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพลงยาวนี้มีหลักฐานควรเชื่อว่า แต่งเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ด้วยในคำให้การของชาวกรุงเก่าที่พะม่าจับขึ้นไปถามคำให้การเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาได้กล่าวอ้างถึง แต่ข้อที่ว่า เป็นพระราชนิพนธ์สมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น ไม่มีหลักฐานอย่างอื่นนอกจากที่มีเขียนไว้กับเพลงยาว ประหลาดอยู่ที่เพลงยาวบทนี้ยังมีผู้ท่องจำกันมาได้แพร่หลายจนในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ แต่เรียกกันว่า เพลงยาวพุทธทำนาย"

"อีกเรื่องหนึ่งต่อเพลงยาวไป เป็นเรื่องพรรณนาถึงภูมิสถานพระนครศรีอยุธยา พิเคราะห์ดูสำนวนเห็นว่า ผู้แต่งเกิดทันสมัยเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แต่มาแต่งหนังสือในกรุงรัตนโกสินทร์"

"ก็เรื่องภูมิสถานพระนครศรีอยุธยา พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ได้เอาเป็นธุระสืบสวนตรวจตราโดยน้ำใจรักมากว่า ๒๐ ปี ตั้งแต่ยังเป็นหลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ ขึ้นไปรับราชการอยู่ในมณฑลอยุธยา ตลอดมาจนได้เป็นตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล และเป็นอุปนายกแผนกโบราณคดีในราชบัณฑิยตสภาอยู่จนทุกวันนี้ เมื่อข้าพเจ้าพบหนังสือเรื่องนี้ จึงได้คัดสำเนาส่งไปให้พระยาโบราณราชธานินทร์สอบสวนดู พระยาโบราณราชธานินทร์มีแก่ใจแต่งคำวินิจฉัยขึ้นอีกส่วนหนึ่งประกอบกับตันฉะบับที่ได้มา"

"หนังสือเรื่องนี้ พระยาโบราณราชธานินทร์ได้พิมพ์ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในการพระราชพิธีสังเวยอดีตมหาราชที่พระราชวังกรุงศรีอยุธยาครั้งหนึ่งแล้ว แต่โดยมากผู้ที่รับแจกเป็นข้าราชการที่ตามเสด็จพระราชดำเนินกับข้าราชการหัวเมือง ยังหาสู้แพร่หลายไม่ และทั้งต่อมา พระยาโบราณราชธานินทร์ก็ได้แต่งคำวินิจฉัยเพิ่มเติมและรวบรวมรูปโบราณสถานในพระนครศรีอยุธยาซึ่งได้ถ่ายไว้มาเข้าบรรจุเพื่อประกอบท้องเรื่อง ดังปรากฏอยู่ในสมุดเล่มนี้"

ในการพิมพ์คราวนี้ ได้พิมพ์พระวิจารณ์เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์แซกไว้ด้วย

อนึ่ง กรมศิลปากรขอชี้แจงไว้ในที่นี้ด้วยว่า ความรู้ทางโบราณคดีนั้นเป็นความรู้ที่ไม่ยุติ เพราะความรู้ในเรื่องเหล่านี้อยู่ที่การขุดค้นพบหลักฐานและสอบสวนพิจารณาอันไม่มีที่สิ้นสุด ถึงคราวค้นพบหลักฐานใหม่ ก็ย่อมมีการสันนิษฐานเพิ่มเติมกันต่อไปตามแนวทางของการตรวจสอบโบราณคดี เมื่อทราบความดังนี้แล้ว การอ่านเรื่องโบราณคดีจึงจะได้ประโยชน์

กรมศิลปากรขออนุโมทนาในกุศลที่เจ้าภาพและบรรดาผู้เคารพนับถือได้พร้อมใจกันพิมพ์ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๓ นี้ให้แพร่หลายสะดวกแก่การศึกษาทางโบราณคดีอันเป็นความรู้พึงปรารถนาอย่างยิ่งประการหนึ่ง ขออำนาจกุศลนี้จงเพิ่มพูลปีติโสมนัสและสุขสมบัติทั้งมวลแก่พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ผู้ได้พยายามเสาะค้นหาทางบำรุงความรู้โบราณคดีที่ชาติต้องการมานานแล้วให้สำเร็จเป็นข้อความดังปรากฏอยู่ในเล่มนี้เป็นต้น.

  • กรมศิลปากร
  • วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๙