ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 6 (2460)

ดูฉบับอื่นของงานนี้ที่ ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 6
ตราของราชบัณฑิตยสภา
ตราของราชบัณฑิตยสภา
โบราณคดีสโมสร
โบราณคดีสโมสร
ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๖
เรื่องไทยรบพม่าครั้งกรุงเก่า
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ
สภานายกหอพระสมุดสำหรับพระนคร
ทรงเรียบเรียง
นายพลโท พระยาสีหราชฤทธิไกร มสม. ทจว. ภช. รรป๓, รจม,
พิมพ์ครั้งแรกแจกในงานปลงศพสนองคุณมารดา
พ.ศ. ๒๔๖๐
พิมพ์ที่โรงพิมพ์อักษรนิติ์

คำนำ

นายพลโท พระยาสีหเดชฤทธิไกร มสม, ทจว, ภช, รรป๓, รจม. จะบำเพ็ญการกุศลปลงศพสนองคุณมารดา คือ ปริก ปาณิกบุตร์ ภรรยานายร้อยเอก พระพิทักษ์ยุทธภัณฑ์ (เทศ) ผู้เปนบุตรพระยามหาเทพ (ทองปาน) ต้นสกุล ปาณิกบุตร พระยาสีหราชฤทธิไกรมีความศรัทธาจะรับสร้างหนังสือในหอพระสมุดสำหรับพระนครเปนของแจกในงานศพสักเรื่อง ๑ จึงมาแจ้งความต่อกรรมการ แลขอให้กรรมการช่วยเลือกเรื่องหนังสือให้ ข้าพเจ้าเห็นว่า พระยาสีหราชฤทธิไกรรับราชการตำแหน่งแม่ทัพ หนังสือที่พิมพ์คงจะนำแจกจ่ายไปในหมู่ทหารมาก ถ้าได้เปนเรื่องข้างทางทหารเห็นจะสมควรดี ข้าพเจ้าเคยนึกอยู่ว่า เรื่องที่ไทยเราทำสงครามกับพม่า ทั้งที่พม่ามาตีเมืองไทย แลไทยไปตีเมืองพม่า มีปรากฎอยู่ในหนังสือพระราชพงษาวดารแลหนังสือพงษาวดารพม่าหลายครั้งหลายคราว ถ้าคัดเฉภาะเรื่องสงครามมาเรียบเรียงขึ้นเปนหนังสือเรื่อง ๑ ต่างหาก จะน่าอ่านอยู่ การที่คัดก็จะไม่สู้ยากปานใดนัก ข้าพเจ้าจึงชักชวนพระยาสีหราชฤทธิไกรให้พิมพ์ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๖ เฉภาะเรื่องไทยรบกับพม่า พระยาสีหราชฤทธิไกรเห็นชอบด้วย จึงได้พิมพ์หนังสือเรื่องนี้

หนังสือเรื่องนี้ ข้าพเจ้าตรวจสอบแลเรียบเรียงเอง ได้อาไศรยหนังสือเก่า ๕ เรื่อง คือ พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ซึ่งสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช โปรดให้พิมพ์เมื่อปีชวด พ,ศ, ๒๔๕๕ เรื่อง ๑ หนังสืออธิบายพระราชพงษาวดาร ข้าพเจ้าได้เรียบเรียงไว้เอง พิมพ์เมื่อปีขาล พ,ศ, ๒๔๕๗ เรื่อง ๑ หนังสือพงษาวดารพม่า หลวงไพรสณฑ์สาลารักษ์ (เทียน สุพินทุ) แปลจากภาษาพม่าเปนภาษาอังกฤษ พิมพ์ไว้ในหนังสือสยามสมาคม เรื่อง ๑ คำให้การชาวกรุงเก่า แปลจากภาษาพม่า พระยาโชฎึกราชเศรษฐ์ (มิ้น เลาหเศรษฐี) พิมพ์เมื่อปีขาล พ,ศ, ๒๔๕๗ เรื่อง ๑ หนังสือพงษาวดารกรุงสยาม ฝรั่งเศสชื่อ เตอแปง เก็บความจากจดหมายเหตุของบาตหลวงครั้งกรุงเก่า แต่งไว้ เรื่อง ๑ การเรียบเรียงหนังสือนี้ ข้าพเจ้ามิได้ตั้งใจจะให้เปนตำหรับตำราอย่างไร ประสงค์แต่จะให้ผู้อ่านทราบว่า ไทยได้เคยรบกับพม่ากี่ครั้ง รบกันเมื่อไรบ้าง รบกันที่ไหน รบกันด้วยเหตุไร ผลการรบในครั้งนั้นเปนอย่างไร เท่านี้เอง จะให้ได้ความเพียงเท่าที่ว่านี้ก็ลำบากอยู่บ้าง ด้วยหนังสือที่สอบทุก ๆ เรื่องความไม่ตรงกัน มีเรื่องราวหลายแห่งที่จำต้องตัดสินด้วยความสันนิษฐานของข้าพเจ้าเอง โดยเชื่อว่าความจริงเปนอย่างไรก็เอาอย่างนั้น ความสันนิษฐานของข้าพเจ้าอาจจะผิดได้ เพราะฉนั้น ขอให้ท่านผู้อ่านเข้าใจว่า บรรดาข้อสันนิษฐานทั้งปวงเปนสันนิษฐานของข้าพเจ้าทั้งนั้น ไม่จำเปนต้องถือว่าเปนถูกต้อง เว้นแต่เห็นชอบด้วย

ชาวเราที่อ่านหนังสือพงษาวดาร เห็นจะมีอยู่ไม่น้อยที่เข้าใจว่า สงครามคราวใหญ่ครั้งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ตลอดจนสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้น ไทยรบกับมอญ ด้วยพระเจ้าหงษาวดีเปนผู้มาทำสงคราม แต่ความจริงไม่เช่นนั้น ถ้าจะว่าไทยไม่เคยรบกับมอญโดยลำภังเลยก็ว่าได้ พระเจ้าหงษาวดีนั้นเปนพม่าทุกองค์ ชั่วแต่มาตั้งเมืองหงษาวดีเปนราชธานีในเวลาเมื่อรวมประเทศพม่ารามัญไว้ได้ในอำนาจ จึงเรียกว่าพระเจ้าหงษาวดี มอญที่รบกับไทย ไม่ว่าคราวใด ๆ ต้องมารบด้วยอยู่ในบังคับพม่า ถ้ามอญมีกำลังพอตั้งเปนอิศระได้ ก็เปนหันกลับไปรบพม่า หรือถ้าถูกพม่ากดขี่ทนไม่ไหว ก็มาพึ่งไทย เปนดังนี้แต่โบราณมาจนชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ สงครามที่ไทยได้ทำมา ที่จริงรบกับพม่า มิใช่มอญ ข้าพเจ้าจึงเรียกชื่อเรื่องหนังสือนี้ว่า "เรื่องไทยรบพม่า"

ข้าพเจ้าอยากจะเรียบเรียงหนังสือเรื่องนี้ต่อลงมาให้ตลอดจนถึงชั้นกรุงธนบุรีแลกรุงรัตนโกสินทร์ แต่จนใจจะทำให้แล้วทันกำหนดงานของพระยาสีหราชฤทธิไกรไม่ได้ ที่ทำเพียงเท่านี้ พระยาสีหราชฤทธิไกรก็ต้องเลื่อนกำหนดงานมาให้ครั้ง ๑ แล้ว จึงจำต้องจบเพียงสิ้นสมัยกรุงเก่าไว้ชั้น ๑ ข้าพเจ้ายังตั้งใจจะเรียบเรียงต่อไปให้จบในวันน่า ถ้ามีผู้ใดศรัทธารับจะพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ต่อไป ท่านทั้งหลายคงจะได้อ่านทราบเรื่องต่อไปจนไทยสิ้นการรบกับพม่า

กรรมการขออนุโมทนากุศลบุญราษีทักษิณานุประทาน ซึ่งบุตรธิดาปริก ปาณิกบุตร มีพระยาสีหราชฤทธิไกรเปนต้น ได้บำเพ็ญในการปลงศพสนองคุณมารดาด้วยความกตัญญูกตเวที แลได้พิมพ์หนังสือเรื่องนี้ให้แพร่หลายเปนครั้งแรก แลเชื่อว่าท่านทั้งหลายผู้ที่ได้อ่านสมุดเล่มนี้จะพอใจแลอนุโมทนาด้วยทั่วกัน

  • ลายมือชื่อของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ   สภานายก
  • หอพระสมุดวชิรญาณ
  • วันที่ ๒๗ เมษายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๐


แผ่นดินสมเด็จพระไชยราชา
สงคราม ครั้งที่ คราวพม่ายกมาตีเมืองเชียงกราน น่า

แผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์
" ครั้งที่ คราวสมเด็จพระสุรโยไทยขาดคอช้าง "
" ครั้งที่ คราวขอช้างเผือก "
" ครั้งที่ คราวเสียพระนครครั้งแรก " ๑๐

แผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชา
" ครั้งที่ คราวสมเด็จพระนเรศวรประกาศอิศรภาพ " ๑๕
" ครั้งที่ คราวรบพญาพสิม " ๒๒
" ครั้งที่ คราวรบพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกษ " ๒๔
" ครั้งที่ คราวพระเจ้าหงษาวดีล้อมพระนคร " ๒๖

แผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
" ครั้งที่ คราวรบพระมหาอุปราชาที่เมืองสุพรรณ " ๓๐
" ครั้งที่ ๑๐ คราวชนช้าง " ๓๒
" ครั้งที่ ๑๑ คราวไทยตีเมืองทวายแลเมืองตนาวศรี " ๓๗
" ครั้งที่ ๑๒ คราวรบพม่าที่เมืองเมาะลำเลีง " ๓๘
" ครั้งที่ ๑๓ คราวสมเด็จพระนเรศวรตีเมือง
หงษาวดี ครั้งที่ ๑ " ๓๘
สงคราม ครั้งที่ ๑๔ คราวสมเด็จพระนเรศวรตีเมือง
หงษาวดี ครั้งที่ ๒ น่า ๔๐
" ครั้งที่ ๑๕ คราวสมเด็จพระนเรศวรตีเมืองอังวะ " ๔๓

แผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ
" ครั้งที่ ๑๖ คราวพม่าตีเมืองทวาย เมืองตนาวศรี " ๔๕
" ครั้งที่ ๑๗ คราวพม่าตีเมืองเชียงใหม่ " ๔๗

แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
" ครั้งที่ ๑๘ คราวพม่าตีเมืองทวาย " ๔๙

แผ่นดินสมเด็จพระนารายน์มหาราช
" ครั้งที่ ๑๙ คราวไทยรบพม่าที่เมืองเชียงใหม่ " ๕๐
" ครั้งที่ ๒๐ คราวรบพม่าที่เมืองไทรโยก " ๕๑
" ครั้งที่ ๒๑ คราวเจ้าพระยาโกษาฯ ขุนเหล็ก
ตีเมืองพม่า " ๕๒

แผ่นดินสมเด็จพระเอกทัศ
" ครั้งที่ ๒๒ คราวพระเจ้าอลองพญาล้อมกรุง " ๕๔
" ครั้งที่ ๒๓ คราวพม่าตีหัวเมืองปักษ์ใต้ " ๖๒
" ครั้งที่ ๒๔ คราวเสียกรุงครั้งหลัง " ๖๗


ในสมัยเมื่อกรุงศรีอยุทธยาเปนราชธานีของสยามประเทศอยู่ ๔๑๗ ปี ตั้งแต่ พ,ศ, ๑๘๙๓ จน พ,ศ, ๒๓๑๐ ปรากฎในเรื่องพระราชพงษาวดารว่า ไทยได้ทำสงครามกับพม่า ๒๔ ครั้ง เรื่องการสงครามเหล่านี้ ข้าพเจ้าสอบสวนหนังสือจดหมายเหตุเก่า มีหนังสือพระราชพงษาวดารแลพงษาวดารพม่าเปนต้น ประกอบกับความวินิจฉัยของข้าพเจ้า ได้เนื้อความดังจะกล่าวต่อไปนี้


เมื่อปีจอ จุลศักราช ๙๐๐ พ,ศ, ๒๐๘๑ ในแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราช ปรากฎว่า พม่ายกกองทัพมาตีอาณาเขตรสยามที่เมืองเชียงกราน เมืองเชียงกรานนี้เปนเมืองเดียวกับเมืองแครง มอญเรียกว่า "เดีงกรายน์" เดี๋ยวนี้ อยู่ในแดนมอญไม่ห่างด่านเม้ยวะดี ทำนองครั้งนั้นอาณาเขตรไทยจะออกไปถึงแม่น้ำสละวิน เมืองเชียงกรานจึงอยู่ในอาณาเขตรไทย สงครามคราวนี้มีเรื่องปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดาร หนังสือพงษาวดารพม่า แลจดหมายเหตุของปิ่นโตโปจุเกต ประกอบกันว่า มังตราพม่าเปนโอรสของเจ้าเมืองตองอู ตั้งตัวเปนใหญ่ ได้หัวเมืองพม่ารามัญเปนอันมากแล้ว ราชาภิเศกขนานพระนามว่า "พระเจ้าตะเบงชเวตี้" แปลว่า พระเจ้าสุวรรณเอกฉัตร แล้วยกกองทัพเข้ามาตีได้เมืองเชียงกราน สมเด็จพระไชยราชายกกองทัพหลวงไป ได้สู้รบกันเปนสามารถ กองทัพไทยตีกองทัพพม่ารามัญพ่ายถอยไป ไทยได้เมืองเชียงกรานคืน


ปีมะเมีย จุลศักราช ๙๐๘ พ,ศ, ๒๐๘๙ สมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคต เกิดจลาจลในกรุงศรีอยุทธยา เหตุด้วยท้าวศรีสุดาจันทร์ผู้เปนพระชนนีสมเด็จพระยอดฟ้าเปนใจให้ขุนวรวงษาธิราชผู้เปนชู้ชิงราชสมบัติ เวลานั้น พระเจ้าตะเบงชเวตี้พม่าที่เคยรบกับสมเด็จพระไชยราชาธิราชที่เมืองเชียงกรานมีไชยชนะได้ประเทศที่ใกล้เคียงทั้งมอญแลพม่ารวมไว้ในอำนาจ แล้วตั้งเมืองหงษาวดีเปนราชธานี จึงปรากฎพระนามว่า พระเจ้าหงษาวดี เมื่อได้ทราบข่าวว่าเกิดเหตุจลาจลขึ้นในกรุงศรีอยุทธยา เห็นเปนท่วงทีจะขยายอำนาจ แลแก้ความเสื่อมเสียที่ปรากฎว่าเคยรบแพ้ไทย จึงยกกองทัพใหญ่เข้าทางด้านพระเจดีย์ ๓ องค์ ฝ่ายข้างกรุงศรีอยุทธยา เมื่อท้าวศรีสุดาจันทร์กับขุนวรวงษาธิราชคบคิดกันจับสมเด็จพระยอดฟ้าปลงพระชนม์แล้ว ขุนวรวงษาธิราชครองราชสมบัติอยู่ได้ ๔๒ วัน พวกขุนนางข้าราชการก็ช่วยกันจับท้าวศรีสุดาจันทร์กับวรวงษาธิราชฆ่าเสีย เชิญพระเทียรราชาราชอนุชาสมเด็จพระไชยราชาธิราชขึ้นครองราชสมบัติเมื่อปีวอก จุลศักราช ๙๙๐ พ,ศ, ๒๐๙๑ ทรงพระนาม สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์เสวยราชย์ได้ ๗ เดือน พระเจ้าหงษาวดีตะเบงชเวตี้ก็ยกกองทัพเข้ามา ในครั้งนั้น ไทยมีกำลังสมบูรณ์ แต่เสียเปรียบพม่าอยู่อย่าง ๑ ด้วยพม่าทำศึกสงครามมีไชยชนะต่อติดกันมาหลายปี กำลังชำนาญแลอิ่มเอิบในการศึก ไทยแต่งกองทัพออกไปต่อสู้ดูกำลังพม่าที่เมืองสุพรรณ เห็นเปนศึกใหญ่ทัพกระษัตริย์ จะต่อสู้ทางหัวเมืองไม่ไหว จึงถอยทัพเข้ามาตั้งมั่นที่กรุงศรีอยุทธยา กองทัพพม่าก็ยกตามเข้ามาตั้งล้อมกรุงฯ ไว้ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ยกกองทัพออกไปรบ ได้ชนช้างกับพระเจ้าแปร เสียทีข้าศึก สมเด็จพระสุริโยไทยพระอรรคมเหษีแต่งพระองค์เปนชายออกไปด้วย เห็นพระราชสามีจะเปนอันตราย จึงขับช้างพระที่นั่งเข้ากันให้พระราชสามีพ้นภัยมาได้ แต่องค์สมเด็จพระสุริโยไทยต้องอาวุธข้าศึกทิวงคตในสมรภูมิ์นั้น ไทยเห็นเหลือกำลังจะต่อสู้ข้าศึกด้วยการรบพุ่งในสนาม จึงเปลี่ยนอุบายการรบ เอาพระนครที่มั่นตั้งต่อสู้ แล้วสั่งให้พระมหาธรรมราชาราชบุตรเขยซึ่งครองเมืองพิษณุโลกรวบรวมพลเมืองฝ่ายเหนือยกกองทัพลงมาตีโอบข้าศึก ฝ่ายข้างพม่ายกเข้ามาปล้นพระนครหลายคราวตีไม่ได้ จะเข้าตั้งค่ายประชิด ไทยก็เอาปืนใหญ่ลงเรือเที่ยวไล่ยิง เข้ามาไม่ได้ พม่าตั้งล้อมพระนครอยู่ สะเบียงอาหารเบาบางลง พอได้ข่าวว่า ทัพเมืองเหนือจะลงมาช่วยกรุงศรีอยุทธยา ก็จำเปนต้องเลิกทัพกลับไป จะกลับไปทางเดิม สะเบียงอาหารตามทางที่มาย่อยยับเสียหายหมด จึงยกกลับไปทางข้างเหนือ จะไปออกทางด่านแม่สอดซึ่งเรียกอิกนาม ๑ ว่า แม่ลำเมา ทางเมืองตาก ความปรากฎในหนังสือพงษาวดารพม่าว่า เมื่อพระเจ้าหงษาวดีถอยทัพไปคราวนั้น พระราเมศวรราชโอรสของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์คุมกองทัพไทยออกติดตามตีทัพพม่าทาง ๑ พระมหาธรรมราชาเมืองพิศณุโลกติดตามตีอิกทาง ๑ ฆ่าพม่าล้มตายมาก เมื่อพระเจ้าหงษาวดีขึ้นไปถึงเมืองกำแพงเพ็ชร์ กองทัพไทยทั้ง ๒ กองตามไปทางอิก ๓ วันจะทันกองทัพหลวง พระเจ้าหงษาวดีจึงคิดกลอุบายแต่งกองทัพมาซุ่ม แล้วสั่งให้รบล่อกองทัพไทยเข้าไป ฝ่ายไทยหลงไล่ละเลิงเข้าไป พม่าล้อมจับได้ทั้งพระราเมศวรแลพระมหาธรรมราชา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์จึงยอมเปนไมตรีหย่าทัพกับพม่า ยอมให้ช้างชนะงาแก่พระเจ้าหงษาวดี ๒ ช้าง พระเจ้าหงษาวดีจึงปล่อยพระราเมศวรและพระมหาธรรมราชากลับมา

พระเจ้าหงษาวดีตะเบงชเวตี้กลับไปถึงเมืองหงษาวดีแล้วไม่ช้า ก็เกิดประพฤติดุร้ายด้วยอารมณ์ฟั่นเฟือน จนพวกขุนนางล่อลวงให้ไปจับช้างเผือก แล้วจับพระเจ้าหงษาวดีตะเบงชเวตี้ฆ่าเสีย หัวเมืองมอญพม่าแลไทยใหญ่ที่เคยขึ้นหงษาวดีพากันกระด้างกระเดื่อง บ้านเมืองจลาจลอยู่กว่าสิบปี ทางนี้ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ให้ตระเตรียมการป้องกันพระนครหลายอย่าง เปนต้นว่า กำแพงกรุงเก่าแต่ก่อนมาเปนแต่ถมดินเปนเชิงเทินแล้วปักระเนียดไม้ข้างบน แก้ไขก่อเปนกำแพงอิฐปูนเมื่อในแผ่นดินพระมหาจักรพรรดิ์คราวนี้ หัวเมืองรายรอบพระนครที่มีเชิงเทินเปนที่มั่นคงมาแต่เดิม เห็นว่า จะรักษาไม่ได้ จะไม่ให้ข้าศึกยึดเปนที่มั่นได้ ให้รื้อเชิงเทินกำแพงเสียทั้งเมืองสุพรรณบุรี เมืองลพบุรี เมืองนครนายก ส่วนหัวเมืองเหนือที่มีกำแพงของเดิมตั้งแต่ครั้งพระร่วง ให้ทำป้อมคูต่อออกมาสำหรับสู้ทางปืนทั้งเมืองสวรรคโลก ศุโขไทย (แลเข้าใจว่าเมืองกำแพงเพ็ชร์ด้วย) ทางที่ข้าศึกจะเข้ามาที่ย่านเมืองยังห่าง ก็ให้ตั้งเมืองขึ้นใหม่ ทั้งเมืองนครไชยศรีแลเมืองสาครบุรี นอกจากนี้ ตระเตรียมกำลังไพร่พลแลพาหนะอิกหลายอย่าง ไม่ได้ประมาท


ทางเมืองหงษาวดีมีคนสำคัญขึ้นในพวกพม่าคน ๑ เปนพี่พระมเหษีพระเจ้าหงษาวดีตะเบงชเวตี้ ได้เปนแม่ทัพช่วยพระเจ้าหงษาวดีทำศึกสงครามมาแต่แรก พระเจ้าหงษาวดียกย่องให้มียศเปนบุเรงนอง แปลว่า พระเชษฐาธิราช เมื่อสิ้นหงษาวดีตะเบงชเวตี้แล้ว บุเรงนองพยายามรวบรวมกำลังเที่ยวปราบปรามหัวเมืองพม่า มอญ แลไทยใหญ่ รวบรวมได้อาณาจักร์ของพระเจ้าตะเบงชเวตี้ไว้ในอำนาจทั้งหมดแล้ว ตั้งตัวเปนพระเจ้าหงษาวดี ตีประเทศยะไข่แลเมืองเชียงใหม่ ได้อาณาเขตรขยายยิ่งออกไป จึงคิดจะมาตีกรุงศรีอยุทธยาอิก ด้วยพระเจ้าหงษาวดีบุเรงนองเคยเปนแม่ทัพคน ๑ เข้ามารบเมืองไทยครั้งพระเจ้าตะเบงชเวตี้ รู้ภูมิ์ฐานแลกำลังทั้งวิธีรบของไทยอยู่แล้ว เวลานั้นไม่มีสาเหตุอะไรกับเมืองไทย ความปรากฎว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์มีบุญญาภินิหารได้ช้างเผือกถึง ๗ ช้าง ข้างพระเจ้าหงษาวดีไม่มีช้างเผือก จึงแกล้งมีพระราชสาสนเข้ามาขอช้างเผือก ๒ ช้างเพื่อจะให้เปนเหตุ เพราะช้างเผือกเปนของคู่พระบารมีของพระราชาธิบดี ถ้ายอมถวายแก่พระราชประเทศอื่น ก็เหมือนหนึ่งว่ายอมอยู่ในอำนาจของพระราชาประเทศนั้น ถ้าหากว่าไม่ยอมถวาย ก็จะถือว่าที่ขัดขืนนั้นเปนการหมิ่นประมาท พอเปนเหตุที่จะยกกองทัพเข้ามารบพุ่งปราบปราม ฝ่ายข้างกรุงศรีอยุทธยา เมื่อได้รับพระราชสาสนของพระเจ้าหงษาวดี ก็รู้เท่าถึงการตลอด สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์จึงประชุมข้าราชการปฤกษา ความเห็นข้าราชการแตกเปน ๒ ฝ่าย ฝ่าย ๑ เห็นว่า พระเจ้าหงษาวดีบุเรงนองมีกำลังมากยิ่งกว่าพระเจ้าตะเบงชเวตี้ กำลังไทยในเวลานั้นเห็นจะสู้ไม่ไหว พวกนี้เห็นว่า ยอมให้ช้างเผือกเสีย ๒ ช้าง อย่าให้มีเหตุวิวาทบาดหมางกับพระเจ้าหงษาวดีดีกว่า แต่อิกฝ่าย ๑ มีพระราเมศวรราชโอรสองค์ใหญ่ของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ พระยาจักรี แลพระสุนทรสงครามผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณ ทั้ง ๓ นี้เปนต้น ว่า การที่พระเจ้าหงษาวดีขอช้างเผือกนั้นเปนแต่อุบายที่จะให้เกิดเหตุหาอำนาจครอบงำกรุงสยาม ถึงให้ช้างเผือกไป พระเจ้าหงษาวดีก็คงหาเรื่องอื่นให้เปนเหตุเข้ามาเบียดเบียนอิก ที่จะให้ช้างเผือกไม่เปนเครื่องป้องกันเหตุร้ายที่จะมีมาจากเมืองหงษาวดีได้ เปนแต่จะเสียพระเกียรติยศไปเปล่า ๆ ไหน ๆ อยู่ในจะต้องเกิดเหตุรบพุ่งกับพระจ้าหงษาวดีแล้ว รักษาพระเกียรติยศไว้จะดีกว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์เห็นชอบด้วย จึงมีพระราชสาสนตอบไปยังพระเจ้าหงษาวดีว่า ช้างเผือกเปนของได้ด้วยบุญญาภินิหาร ถ้าพระเจ้าหงษาวดีบำเพ็ญพระบารมีให้แก่กล้า ก็คงจะได้ช้างเผือกมาสู่พระบารมี ไม่ควรจะต้องทรงวิตก พระเจ้าหงษาวดีจึงถือเอาเหตุที่ไม่ยอมให้ช้างเผือกนั้นยกกองทัพเข้ารบเมืองไทย

พระเจ้าหงษาวดีบุเรงนองยกมาครั้งนี้ได้เปรียบเมืองไทยหลายอย่าง กำลังไพร่พลก็มีมากกว่าครั้งพระเจ้าตะเบงชเวตี้ พระเจ้าหงษาวดีบุเรงนองเคยเปนแม่ทัพคน ๑ เข้ามารบเมืองไทยครั้งพระเจ้าตะเบงชเวตี้ รู้ภูมิ์แผนที่เมืองไทย รู้กำลังแลวิธีรบของไทยอยู่ชัดเจน จึงจัดเตรียมการเข้ามาทุกอย่างที่จะแก้ไขความขัดข้องซึ่งเคยมีในครั้งก่อน เปนต้นว่า ครั้งก่อนยกกองทัพเข้าทางด่านพระเจดีย์ ๓ องค์ตรงเข้ามากรุงศรีอยุทธยา ถูกไทยเอาพระนครที่มั่นตั้งรับแล้วให้กองทัพหัวเมืองเหนือลงมาตีโอบหลัง คราวนี้พระเจ้าหงษาวดียกเข้ามาทางด่านแม่สอด จะตีทำลายกำลังหัวเมืองเหนือเสียก่อน แล้วจึงจะยกลงมาตีกรุงศรีอยุทธยา ไม่ให้มีกำลังข้างนอกช่วย สะเบียงอาหารที่เคยฝืดเคืองขัดข้อง คราวนี้ได้เมืองเชียงใหม่ไว้ในอำนาจ ให้พวกเชียงใหม่เปนกองสะเบียงลำเลียงส่งทางเรือ ในเรื่องที่สู้กำลังปืนใหญ่ของไทยไม่ได้ในคราวก่อนนั้น คราวนี้พระเจ้าหงษาวดีก็ตระเตรียมปืนใหญ่เข้ามาให้พอ แลจ้างโปจุเกตเข้ามาเปนทหารปืนใหญ่ ๔๐๐ คน กองทัพหงษาวดียกเข้ามาคราวนี้จัดเปน ๕ ทัพ มีจำนวนพลมาก (พม่าว่า ๕ แสน) ยกออกจากเมืองหงษาวดีเมื่อณวันจันทร์ เดือน ๑๒ แรม ๑๒ ค่ำ ปีกุญ จุลศักราช ๙๒๕ พุทธศักราช ๒๑๐๖ ตรงมาตีเมืองกำแพงเพ็ชร์ก่อน เมื่อตีได้เมืองกำแพงเพ็ชร์แล้ว จึงแยกกองทัพเปน ๓ กอง ให้ไปตีเมืองศุโขไทยกอง ๑ ไปตีเมืองสวรรคโลกกอง ๑ ไปตีเมืองพิศณุโลกกอง ๑ เมืองศุโขไทยสู้รบเปนสามารถจนพระยาศุโขไทยตายในที่รบ พระเจ้าหงษาวดีจึงได้เมืองศุโขไทย แต่เมืองสวรรคโลกนั้น เมื่อได้ข่าวว่าเสียเมืองศุโขไทยแล้ว ก็ยอมแพ้โดยดี ไม่ได้ต่อสู้ พระเจ้าหงษาวดียกมาตีเมืองพิศณุโลก ได้รบพุ่งกันเปนสามารถ พระเจ้าหงษาวดีตีได้เมืองพิศณุโลกแลจับพระมหาธรรมราชาได้ เนื้อความที่กล่าวมาด้วยเรื่องพระเจ้าหงษาวดีตีหัวเมืองเหนือตอนนี้กล่าวตามพงษาวดารพม่า ในหนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ มีเนื้อความปรากฎต่อออกไปว่า ครั้งนั้นเมืองพิศณุโลกขาดสะเบียง แลเกิดไข้ทรพิศม์ขึ้นในเมือง จึงเสียแก่พระเจ้าหงษาวดี เมื่อพระเจ้าหงษาวดีได้หัวเมืองฝ่ายเหนือแล้ว เนื้อความทั้งปวงยุติต้องกันว่า พระเจ้าหงษาวดีเกลี้ยกล่อมพวกไทยข้างฝ่ายเหนือ มีพระมหาธรรมราชาเปนต้น ให้เข้าด้วย ไม่ได้ทำอันตราย เช่น เก็บริบทรัพย์สมบัติ หรือกวาดต้อนครอบครัวไปเปนเชลย ให้รวบรวมเรือที่เมืองพิศณุโลก จัดเปนกองทัพเอาปืนใหญ่ลงในเรือ ให้พระเจ้าแปรราชอนุชาเปนนายทัพ ส่วนกองทัพบก ให้พระมหาอุปราชาราชโอรสเปนกองกลาง พระเจ้าอังวะราชบุตร์เขยเปนปีกซ้าย ๒ กองนี้ เข้าใจว่าเดินฝั่งตวันออก พระเจ้าหงษาวดียกกองทัพหลวงตามลงมา ที่กรุงศรีอยุทธยาก็จัดกองทัพให้พระราเมศวรคุมขึ้นไปช่วยหัวเมืองเหนือ แต่เห็นจะขึ้นไปช่วยไม่ทัน ด้วยปรากฎในพงษาวดารพม่าแต่ว่า พระราเมศวรคุมกองทัพเรือมีปืนใหญ่ขึ้นไปตั้งดักอยู่ณที่แห่ง ๑ กองทัพบกหงษาวดียกลงมา ถูกไทยเอาปืนใหญ่ยิง ต้องหยุดยั้งอยู่คราว ๑ จนกองทัพเรือของพวกหงษาวดีลงมาจากเมืองพิศณุโลก รบพุ่งตีกองทัพเรือของไทยแตกถอยลงมาแล้ว จึงยกกองทัพตามลงมาตั้งล้อมกรุงศรีอยุทธยา ลักษณการรบคราวนี้ได้ความตามพงษาวดารพม่าดูประหนึ่งว่าพม่าตั้งใจจะตัดกำลังปืนใหญ่ของไทยนั้นเปนสำคัญ ไทยเอาปืนใหญ่ลงในเรือ แลปรากฎว่าใช้พวกโปจุเกตเหมือนกันไปเที่ยวยิงกองทัพพม่า พม่าเพียรทำลายเรือปืนใหญ่ของไทยได้จนหมดแล้ว จึงยกเข้ามาตั้งใกล้พระนคร พอได้ทางปืนใหญ่ เอาปืนใหญ่ระดมเข้าไปในพระนครให้ถูกวัดวาบ้านเรือนแลผู้คนเปนอันตรายไปทุก ๆ วัน ฝ่ายไทยไม่มีกำลังพอที่จะต่อสู้ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์จึงขอหย่าทัพ พระเจ้าหงษาวดีเรียกเอาช้างเผือก ๔ ช้าง กับขอเอาตัวพระราเมศวร พระยาจักรี พระสุนทรสงคราม ซึ่งเปนหัวน่าในการต่อสู้ ไปเสียด้วย สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ก็ต้องบัญชาตาม ในหนังสือพงษาวดารพม่าว่า ในครั้งนั้นพระเจ้าหงษาวดีเอาพระมหาจักรพรรดิ์ไปด้วย แลเรียกเอาเงินภาษีอากรซึ่งเก็บได้ณเมืองตนาวศรีให้ส่งเปนของพม่าต่อไปด้วย ข้อที่ว่าเอาพระมหาจักรพรรดิไปนั้นไม่เห็นสม แลขัดกับเหตุการณ์ในเรื่องพระราชพงษาวดาร ข้าพเจ้าเข้าใจว่าไม่จริง แต่เรื่องเอาภาษีอากรเมืองตนาวศรีนั้นอาจจะเปนได้


เหตุสงครามคราวนี้เกิดด้วยพระเจ้าหงษาวดีตั้งพระไทยจะเอากรุงสยามเปนเมืองขึ้นให้ได้ แลฝ่ายไทยเราก็แตกสามัคคีกัน มีเรื่องราวที่เปนสาเหตุปรากฎมาในหนังสือพระราชพงษาวดารดังนี้ คือ พระไชยเชษฐาพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตตั้งพระราชธานีอยู่เมืองเวียงจันทร์ มีราชสาสนมาขอพระเทพกระษัตรีย์ราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์เปนอรรคมเหษี ข้างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์จะใคร่ได้กรุงศรีสัตนาหุตเปนกำลังช่วยต่อสู้พม่า จึงพระราชทานราชธิดา แต่เมื่อถึงฤกษ์จะส่งไป พระเทพกระษัตรีย์ประชวร ทำนองสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ไม่อยากจะให้ทางพระราชไมตรีเริศร้างไป จึงประทานพระแก้วฟ้า เห็นจะเปนราชธิดาเกิดด้วยพระสนม ไปแทน ไปอยู่ได้ไม่ช้า ได้ความในพงษาวดารพม่าว่า พระเจ้าหงษาวดีให้ยกไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุต พระไชยเชษฐาคุมกองทัพออกตั้งต่อสู้อยู่ในป่า พวกหงษาวดีตีเมืองเวียงจันทร์ได้ จับได้ครอบครัวของพระไชยเชษฐา แต่ไม่ชนะพระไชยเชษฐา ๆ ตี กองทัพหงษาวดีต้องเลิกถอนกลับไป ทำนองพระแก้วฟ้าจะหลบหนีได้ไม่ถูกจับ พระไชยเชษฐาได้พระนครคืน จะตั้งครอบครัวใหม่ จึงให้เชิญพระแก้วฟ้ามาส่งที่กรุงศรีอยุทธยาว่า แต่ก่อนได้ทูลขอพระเทพกระษัตรี ด้วยเห็นว่าเปนราชธิดาของสมเด็จพระสุริโยไทยซึ่งทิวงคตโดยความกตัญญู ปรากฎพระเกียรติยศ ที่พระราชทานพระแก้วฟ้าไปไม่ตรงต่อความประสงค์ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์จึงส่งพระเทพกระษัตรีย์ขึ้นไป การเรื่องนี้ทราบถึงพระมหาธรรมราชาตั้งแต่แรก พระมหาธรรมราชาลอบส่งข่าวไปถึงหงษาวดี พระเจ้าหงษาวดีจึงให้ทัพพม่ามาตั้งซุ่มอยู่ พอพวกไทยพวกล้านช้างเชิญพระเทพกระษัตรีย์ไปถึงแขวงเมืองเพ็ชรบูรณ์ พวกพม่าก็เข้าชิงพระเทพกระษัตรีย์พาไปถวายพระเจ้าหงษาวดี เปนเหตุให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์กับพระไชยเชษฐาขัดเคือง ด้วยรู้ว่าเปนความคิดของพระมหาธรรมราชา จึงอุบายให้พระไชยเชษฐายกกองทัพลงมาตีเมืองพิศณุโลก ข้างกรุงศรีอยุทธยาจะทำเปนแต่งกองทัพขึ้นไปช่วย แต่จะตีกระหนาบขึ้นไปจากข้างใต้อิกทาง ๑ พระมหาธรรมราชาได้ข่าวกองทัพศรีสัตนาคนหุตก็ให้บอกข่าวไปทั้งที่หงษาวดีแลที่กรุงศรีอยุทธยา ฝ่ายข้างกรุงศรีอยุทธยาในเวลาจัดกองทัพจะขึ้นไปเมืองพิศณุโลกนั้น ให้พระยาสีหราชเดโชกับพระท้ายน้ำล่วงน่าขึ้นไปก่อน เปนอย่างให้ไปช่วยพระมหาธรรมราชารักษาเมืองพิศณุโลก แต่สั่งไปให้เปนไส้ศึกเมื่อภายหลัง พระยาสีหราชเดโชกับพระท้ายน้ำกลับเอาความลับไปทูลพระมหาธรรมราชา พอกองทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตยกมาถึง ก็เข้าตั้งล้อมเมืองพิศณุโลก พระมหินทร์ก็ยกกองทัพเรือกรุงศรีอยุทธยาขึ้นไปถึงในคราวเดียวกัน ทัพหลวงตั้งอยู่ปากพิง ทัพน่าไปตั้งที่วัดจุฬามณี พระมหาธรรมราชาให้ทำแพไฟปล่อยลงมาเผาเรือทัพน่าแตกพ่ายลงมาจนถึงทัพหลวง ส่วนทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตยกเข้าปล้นเมืองพิศณุโลกหลายครั้ง ตีเมืองยังไม่ได้ พอกองทัพพม่าซึ่งพระเจ้าหงษาวดีให้เข้ามาช่วยพระมหาธรรมราชาเข้ามาถึง กองทัพเมืองศรีสัตนาคนหุตก็เลิกถอยไป กองทัพพระมหินทร์ก็เลิกกลับลงมากรุงศรีอยุทธยา พระมหาธรรมราชาจึงออกไปเมืองหงษาวดี ไปทูลความทั้งปวงแก่พระเจ้าหงษาวดี ในเวลาพระมหาธรรมราชาไม่อยู่นั้น พระมหินทร์ขึ้นไปรับพระวิสุทธิกระษัตรีย์ ราชธิดาสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ซึ่งเปนอรรคชายาของพระมหาธรรมราชา กับพระเอกาทศรถ ราชบุตร์องค์น้อย พาลงมาไว้กรุงศรีอยุทธยา เวลานั้น สมเด็จพระนเรศวรอยู่กับพระมหาธรรมราชาที่เมืองหงษาวดี พระเจ้าหงษาวดีเห็นไทยแตกกันขึ้นก็จริง เปนที ก็ยกกองทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุทธยาเมื่อปีมะโรง จุลศักราช ๙๓๐ พุทธศักราช ๒๑๑๑ จัดเปนกองทัพ ๗ ทัพ จำนวนพล (พม่าว่า) ห้าแสน พระมหาธรรมราชาคุมกองทัพไทยฝ่ายเหนือลงมาช่วยพระเจ้าหงษาวดีด้วยทัพ ๑ ทัพพม่ายกเข้ามาคราวนี้เดินทางด้านแม่สอดเหมือนคราวก่อน เข้ามาได้สดวกด้วยไม่ต้องรบพุ่งตามระยะทาง ฝ่ายข้างกรุงศรีอยุทธยาตั้งใจต่อสู้ด้วยเอาพระนครเปนที่มั่นอย่างเดียว การที่ต่อสู้ครั้งนี้ ได้ความตามหนังสือพระราชพงษาวดารว่า ผู้คนข้างฝ่ายไทยแตกหนีเข้าป่าเสียมาก เกณฑ์ระดมคนไม่ได้มากเหมือนคราวก่อน การบังคับบัญชาของพระมหินทร์ก็ไม่สิทธิ์ขาด สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ทรงผนวชอยู่ ต้องเชิญเสด็จลาผนวชออกมาทรงบัญชาการ แต่มีพระยารามรณรงค์ ผู้ว่าราชการเมืองกำแพงเพ็ชร์คนเก่าคน ๑ ซึ่งไม่เข้ากับพระมหาธรรมราชา มาทำราชการอยู่ในกรุงฯ เปนคนเข้มแข็ง จัดการป้องกันพระนคร ในเวลานั้น ลำน้ำทางด้านตวันออกตั้งแต่วัดมณฑปลงมาจนวัดพระเจ้าพนัญเชิงยังเปนคลองคูพระนคร กำแพงพระนครข้างด้านตวันออกนั้นก็ยังอยู่ลึกเข้าไปมาก ด้านนี้ไม่มีแม่น้ำใหญ่เปนคูเหมือนอย่างด้านอื่น ต้องตั้งค่ายรายตลอด แต่ข้างด้านอื่นที่มีแม่น้ำใหญ่นั้น ปรากฎว่า ปลูกหอรบเอาปืนใหญ่ขึ้นตั้งรายตลอด แลในคราวนี้ ไทยหาปืนใหญ่เตรียมไว้มากกว่าคราวก่อน ๆ พม่าตั้งล้อมเข้าตีปล้นพระนครหลายครั้งก็เข้าไม่ได้ ไทยขอกองทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตยกลงมาตีโอบหลัง พม่าก็ตีกองทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตแตกไป พระเจ้าหงษาวดีตั้งล้อมกรุงศรีอยุทธยาอยู่ถึง ๗ เดือน ตีหักเอาพระนครอย่างไร ๆ ก็ไม่ได้ ด้วยข้างด้านใต้ลำแม่น้ำเจ้าพระยาน้ำลึกลงไปจนออกปากน้ำ ไทยอาไศรยใช้เรือใหญ่หาเครื่องสาตราวุธแลสะเบียงอาหารส่งเข้าพระนครได้ แต่ถึงกระนั้น ข้างไทยในพระนครก็บอบช้ำอิดโรยลงทุกที สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ก็สวรรคต พระเจ้าหงษาวดีเห็นจวนจะถึงฤดูน้ำท่วม จึงอุบายให้พระมหาธรรมมหาราชาบอกเข้าไปในพระนครว่า พระเจ้าหงษาวดีขัดเคืองพระยารามรณรงค์คนเดียว ถ้าส่งตัวไปถวายแล้ว เห็นจะยอมเปนไมตรี สมเด็จพระมหินทร์สำคัญว่าจริง ส่งตัวพระยารามรณรงค์ออกไปให้ พระเจ้าหงษาวดีก็ไม่เลิกทัพ กลับเร่งการตีพระนครทางข้างด้านตวันออก ข้างไทยก็ยังต่อสู้แขงแรง พระเจ้าหงษาวดีเสียรี้พลลงอิกเปนอันมาก เห็นจะตีเอาพระนครไม่ได้ จึงเกลี้ยกล่อมพระยาจักรีที่เอาตัวไปพร้อมกับพระราเมศวรให้รับเปนไส้ศึก แล้วปล่อยตัวให้หนีเข้าไปในพระนคร ข้างสมเด็จพระมหินทร์สำคัญว่า พระยาจักรีหนีเข้ามาได้เอง เห็นเปนผู้ที่ต่อสู้พม่าแขงแรงมาแต่ก่อน ก็มอบการงานให้พระยาจักรีบัญชาการรักษาพระนครแทนพระยารามรณรงค์ ข้างพระยาจักรีเปนไส้ศึก แกล้งถอดถอนผลัดเปลียนแม่ทัพนายกองที่เข้มแขงไปเสียจากน่าที่ ก็เสียพระนครแก่พระเจ้าหงษาวดีเมื่อณวันอาทิตย์ เดือน ๑๑ แรม ๙ ค่ำ ปีมะเส็ง จุลศักราช ๙๓๑ พุทธศักราช ๒๑๑๒ ด้วยความทรยศของไทยด้วยกันเอง

พระเจ้าหงษาวดีได้กรุงศรีอยุทธยาแล้ว จึงตั้งพระมหาธรรมราชาให้ครองราชสมบัติ เอาสมเด็จพระมหินทร์ไปด้วย แลเก็บริบทรัพย์สมบัติแลกวาดต้อนผู้คนพลเมืองไปเปนเชลยเสียเกือบสิ้นพระนคร ปรากฎในพระราชพงษาวดารว่า เหลือกำลังไว้ให้รักษาพระนครรวมทั้งชายเพียง ๑๐,๐๐๐ คน แล้วแต่งกองทัพพม่าให้อยู่กำกับที่ในกรุงแลตามหัวเมืองที่สำคัญทุกแห่ง แต่นั้น กรุงศรีอยุทธยาก็ตกลงเปนเมืองประเทศราชขึ้นพม่าอยู่ ๑๕ ปี

ในสมัยเมื่อเมืองไทยต้องเปนประเทศราชขึ้นหงษาวดี เดชะบุญบังเอินมีนักรบไทยที่วิเศษสุดเกิดขึ้นในองค์สมเด็จพระนเรศวร สมเด็จพระนเรศวรเปนราชโอรสองค์ใหญ่ของสมเด็จพระมหาธรรมราชา แลเปนราชนัดดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ด้วยพระวิสุทธิกระษัตริย์เปนพระมารดา เมื่อสมเด็จพระนเรศวรยังทรงพระเยาว ได้เคยออกไปอยู่เมืองหงษาวดีคราว ๑ ในระหว่าง ๖ ปี ตั้งแต่ พ,ศ, ๒๑๐๖ จน พ,ศ, ๒๑๑๒ นี้ แต่จะอยู่กี่ปีไม่ทราบแน่ เปนเหตุให้ทรงทราบภาษาแลนิไสยใจคอของพวกพม่ารามัญแต่ครั้งนั้น ครั้นเมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาได้ครองกรุงศรีอยุทธยาเมื่อ พ,ศ, ๒๑๑๒ พระเจ้าหงษาวดีบุเรงนองได้พระสุวรรณเทวี พี่นางของสมเด็จพระนเรศวร ไปเปนพระชายา จึงปล่อยสมเด็จพระนเรศวร เวลานั้น พระชัณษาได้ ๑๕ ปี ให้กลับมาช่วยราชการอยู่กับสมเด็จพระมหาธรรมราชา ๆ จึงให้ขึ้นไปครองเมืองพิศณุโลกซึ่งเปนราชธานีฝ่ายเหนือตามราชประเพณีเดิม

ในระหว่างเวลา ๑๕ ปีที่เมืองไทยต้องเปนประเทศราชขึ้นหงษาวดีอยู่นั้น พระเจ้าหงษาวดีเกณฑ์กองทัพไปช่วยรบข้าศึกหลายครั้ง สมเด็จพระนเรศวรได้มีโอกาศจัดการทัพศึกฝึกหัดทแกล้วทหารมาแต่แรก ต่อมา พวกเขมรเมืองลแวกเห็นเมืองไทยอ่อนกำลัง ยกกองทัพเข้ามากวาดต้อนผู้คนไปเปนเชลย สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงคุมกองทัพออกรบพุ่งพวกเขมรแตกพ่ายไปด้วยกำลังแลอุบายหลายคราว ได้ความชำนาญการสงครามยิ่งขึ้นโดยลำดับ

ในสมัยนั้น ไทยมีความเจ็บแค้นคอยหาช่องที่จะกลับตั้งตัวเปนอิศระอยู่เสมอ แต่หากกำลังน้อย ยังเห็นจะทำการไม่สำเร็จได้ดังประสงค์ ก็ต้องอ่อนน้อมแก่พระเจ้าหงษาวดีมาด้วยความจำใจแลวิธีการปกครองพระราชอาณาจักร์ของพระเจ้าหงษาวดีนั้น ตามบรรดาเมืองใหญ่ พระเจ้าหงษาวดีตั้งพระญาติวงษ์ไปครอบครองทุกแห่ง ที่สำคัญคือ พระเจ้าตองอู พระเจ้าแปร สองพระองค์นี้เปนลูกเธอของพระเจ้าหงษาวดีบุเรงนอง พระเจ้าอังวะเปนราชบุตร์เขย ครั้นเมื่อได้เมืองเชียงใหม่ไว้ในอำนาจ พระเจ้าหงษาวดีตั้งลูกเธออิกองค์ ๑ ชื่อ มังนรธาช่อ มาเปนพระเจ้าเชียงใหม่ กำลังจะคิดตั้งลูกเธอออกไปครองเมืองล้านช้าง พระเจ้าหงษาวดีบุเรงนองก็ประชวนทิวงคตเมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช ๙๔๓ พ,ศ, ๒๑๒๔ มังไชยสิงห์ ราชโอรสผู้เปนพระมหาอุปราชา ได้ครองราชสมบัติเปนพระเจ้าหงษาวดี

เมื่อพระเจ้าหงษาวดีไชยสิงห์ขึ้นครองราชสมบัติ เจ้านายที่ครองเมืองพากันไปเฝ้าพระเจ้าหงษาวดีตามประเพณีเปลี่ยนรัชกาลใหม่ สมเด็จพระมหาธรรมราชาให้สมเด็จพระนเรศวรไปต่างพระองค์ เวลานั้น ประจวบเกิดเหตุด้วยเมืองคังซึ่งเปนประเทศราชไทยใหญ่ตั้งแขงเมืองไม่ยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าหงษาวดี ทำนองพระเจ้าหงษาวดีไชยสิงห์ประสงค์จะให้ปรากฎเกียรติยศมังกะยอชวา ราชโอรส (ในหนังสือพระราชพงษาดารเรียกตามว่ามอญว่า มังสามเกลียด) ซึ่งได้เปนพระมหาอุปราชาขึ้นใหม่ จึงเลือกสรรเจ้านายที่หนุ่ม ๆ ไปออกงานศึกตีเมืองคัง ๓ องค์ด้วยกัน คือ พระมหาอุปราชา องค์ ๑ พระสังขทัต (ข้าพเจ้าเข้าใจว่า เปนลูกเธอของพระเจ้าหงษาวดีที่ได้เปนพระเจ้าแปรเมื่อภายหลังนั้น) องค์ ๑ กับสมเด็จพระนเรศวร องค์ ๑ ให้คุมทหารเข้ากองทัพยกไปตีเมืองคัง จึงเปนการทำศึกประชันกันในเจ้านาย ๓ องค์นี้ พเอินเมื่อพระมหาอุปราชากับพระสังขทัตเข้าตีเมือง ตีไม่ได้ ต้องถอยกลับออกมาทั้ง ๒ คราว ด้วยเมืองคังนั้นตั้งอยู่บนเขา ตียาก ครั้นถึงคราวสมเด็จพระนเรศวรเข้าตี ทำอุบายให้ชาวเมืองสำคัญว่า จะยกขึ้นตีทาง ๑ แต่ที่จริงยกขึ้นตีทางอื่น สมเด็จพระนเรศวรตีได้เมืองคัง จึงเปนเหตุให้พระเจ้าหงษาวดีเห็นความสามารถในการสงครามของสมเด็จพระนเรศวรแลเกิดระแวงว่าอาจจะเปนสัตรูมาแต่ครั้งนั้น

ตั้งแต่พระเจ้าหงษาวดีไชยสิงห์ขึ้นครองราชสมบัติ เจ้านายประเทศราชไม่อ่อนน้อมยอมอยู่ในอำนาจสนิท ไม่เหมือนเมื่อครั้งพระเจ้าหงษาวดีบุเรงนอง พระเจ้าหงษาวดีไชยสิงห์จึงเกิดระแวงพวกเจ้านายประเทศราชทั้งที่เปนญาติวงษ์ตลอดมาจนเมืองไทย ส่วนเจ้าประเทศราชญาติวงษ์ ในชั้นแรก พระเจ้าหงษาวดีจะทำอย่างไร ไม่ปรากฎ แต่เมืองไทยนั้น พระเจ้าหงษาวดีไชยสิงห์ได้ครองราชสมบัติแล้วไม่ช้า ก็เกณฑ์กำลังไทยใหญ่ให้ทำทางตั้งแต่เมืองเมาะตมะเข้ามาเมืองกำแพงเพ็ชร์ ตั้งยุ้งฉางตามระยะทางตลอดเข้ามา แล้วให้นันทสูกับราชสังครำคุมทหารอิกกอง ๑ เข้ามาตั้งรวบรวมสะเบียงอาหารไว้ที่เมืองกำแพงเพ็ชร การที่ทำอย่างนี้ในเวลาไม่มีเหตุอย่างใด ส่อให้เห็นว่า พระเจ้าหงษาวดีสงไสยว่า ไทยจะต้องแขงเมือง เห็นว่า กำลังทหารพม่าที่อยู่กำกับในพื้นเมืองไม่พอ จึงส่งกำลังเข้ามาเพิ่มเติม แลให้ทำทางเตรียมสะเบียงอาหารสำหรับที่จะยกกองทัพใหญ่เข้ามาตีเมืองไทยกวาดต้อนไพร่บ้านพลเรือนไปเปนเชลยอิก การเปนดังนี้ จึงเชื่อได้ว่า สมเด็จพระนเรศวรจะได้ทรงดำริห์เตรียมการรบพม่าตั้งแต่ในเวลานั้น พอประจวบเหตุเกิดขึ้นทางข้างเมืองอังวะ ด้วยพระเจ้าอังวะตั้งแขงเมืองไม่ยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าหงษาวดี แล้วแต่งทูตเที่ยวชักชวนเจ้าประเทศราชเมืองอื่นให้ตั้งแขงเมืองเอาพระเจ้าหงษาวดีไชยสิงห์เหมือนอย่างเมืองอังวะ พระเจ้าอังวะจะได้ชักชวนถึงกรุงศรีอยุทธยาด้วยหรือไม่ ข้อนี้ไม่ปรากฎ ปรากฎแต่ว่า พระเจ้าแปร พระเจ้าตองอู พระเจ้าเชียงใหม่ ทั้ง ๓ นี้ ไม่เข้าด้วยพระเจ้าอังวะ จับทูตส่งไปถวายพระเจ้าหงษาวดี พระเจ้าหงษาวดีจึงเตรียมทัพหลวงจะยกไปตีเมืองอังวะ เกณฑ์พระเจ้าแปร พระเจ้าตองอู พระเจ้าเชียงใหม่ แลสมเด็จพระมหาธรรมราชากรุงศรีอยุทธยา ให้ยกกองทัพไปช่วยตีเมืองอังวะด้วย พระเจ้าแปร พระเจ้า ตองอู พระเจ้าเชียงใหม่ ยกไปทันตามกำหนด ฝ่ายข้างกรุงศรีอยุทธยารับว่า จะให้สมเด็จพระนเรศวรคุมกองทัพขึ้นไป แต่กองทัพไทยไม่ยกไปตามกำหนด พระเจ้าหงษาวดีสงไสยว่า ไทยจะคิดร้าย เมื่อพระเจ้าหงษาวดีจะยกไปเมืองอังวะ จึงจัดการป้องกันเตรียมไว้ทางเมืองหงษาวดี ให้พระมหาอุปราชาคุมกองทัพอยู่รักษาพระนคร แลจัดทหารกองมอญให้พระยาเกียรติ์ พระยาราม ซึ่งเปนผู้คุ้นเคยกับสมเด็จพระนเรศวร คุมลงมาคอยรับสมเด็จพระนเรศวร ถ้ากองทัพไทยยกขึ้นไปเมื่อใด ให้ทำเปนทีต้อนรับ แล้วเข้าอยู่เปนไส้ศึก ล่อสมเด็จพระนเรศวรขึ้นไปให้ถึงที่พระมหาอุปราชาเตรียมกำลังไว้ แล้วช่วยกันตีทัพจับสมเด็จพระนเรศวรไว้ให้ได้

ข้อความตามเรื่องที่ปรากฎในพระราชพงษาวดารแลในพงษาวดารพม่าประกอบกันดังกล่าวมานี้ เข้าใจว่า ข้างสมเด็จพระนเรศวรก็คิดร้ายต่อพระเจ้าหงษาวดีจริง ด้วยทราบอยู่แก่พระไทยแล้วว่า พระเจ้าหงษาวดีให้ทำทางตั้งยุ้งฉางเตรียมสะเบียงอาหารเข้ามาในเมืองไทยด้วยจะมาทำร้ายในไม่ช้า ครั้นทางหงษาวดีเกิดอริกันขึ้นเอง เปนทีที่จะทำได้ก่อน สมเด็จพระนเรศวรจึงรั้งรอจนพระเจ้าหงษาวดียกไปเมืองอังวะ แล้วจึงยกกองทัพหลวงออกจากเมืองกำแพงเพ็ชร์เมื่อแรมเดือน ๕ ปีวอก จุลศักราช ๙๔๖ พ.ศ. ๒๑๒๗ ถ้าจะคาดดูพระดำริห์ของสมเด็จพระนเรศวรที่ยกไปครั้งนั้น เข้าใจว่า จะขึ้นไปให้ถึงในเวลาพระเจ้าหงษาวดีไปทำศึกติดพันอยู่ที่เมืองอังวะ ถ้าพระเจ้าหงษาวดีไปเพลี่ยงพล้ำอย่างไร ก็จะตีเมืองหงษาวดีซ้ำทางนี้ ถ้าได้ข่าวว่า ชนะ ก็จะชิงกวาดแต่ครอบครัวลงมาตัดกำลังมิให้กองทัพหงษาวดียกเข้ามาทำร้ายได้โดยง่าย

สมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพขึ้นไปถึงเมืองแครง คือ เมืองเดียวกับเมืองเชียงกรานที่สมเด็จพระไชยราชาธิราชไปรบพม่าครั้งพระเจ้าหงษาวดีตะเบงชเวตี้ พระยาเกียรติ์ พระยาพระราม ก็ลงมารับเสด็จตามอุบายของพระเจ้าหงษาวดี แต่เวลานั้น พวกมอญเอาใจออกหากจากพระเจ้าหงษาวดีอยู่เปนอันมากแล้ว ด้วยมอญกับไทยใหญ่ ๒ พวกนี้ไม่ได้เคยขึ้นพม่าด้วยใจสมัค เวลาใดพม่ามีอำนาจมาก จึงเอามอญแลไทยใหญ่ไว้ได้ ถ้าพม่าหย่อนอำนาจลงเมื่อใด ทั้งมอญแลไทยใหญ่ก็เอาใจออกหากขัดแขงต่อพม่า เปนดังนี้มาแต่โบราณตลอดจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ความปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า พระมหาเถรคันฉ่องเปนอาจารย์ของพระยาเกียรติ์ พระยาพระราม อยู่ที่เมืองแครง ได้ทราบความลับจากพระยาเกียรติ์ พระยาพระราม ไม่เข้ากับพระเจ้าหงษาวดี จึงพาพระยาเกียรติ์ พระยาพระราม มาสามิภักดิ์ทูลความทั้งปวงให้สมเด็จพระนเรศวรทราบ สมเด็จพระนเรศวรก็ทรงหลั่งสิโนทกประกาศความเปนอิศรภาพของกรุงสยามที่เมืองแครงนั้นเมื่อ เดือน ๖ ปีวอก พ,ศ, ๒๑๒๗ ได้ความในพงษาวดาวพม่าต่อมาว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรประกาศอิศรภาพแล้ว เสด็จยกกองทัพจากเมืองแครงตรงเข้าไปหมายจะตีเมืองหงษาวดี ยังไม่ทันถึงพอได้ข่าวว่า พระเจ้าหงษาวดีไชยสิงห์ ขนช้างชนะพระเจ้าอังวะ ตีได้เมืองอังวะแล้ว สมเด็จพระนเรศวรก็กวาดครอบครัวในระยะทางกลับมากรุงศรีอยุทธยา ได้ความในหนังสือพระราชพงษาวดารต่อมาว่า พระมหาอุปราชายกกองทัพออกติดตามสมเด็จพระนเรศวรมาทันที่แม่น้ำสะโตง สมเด็จพระนเรศวรให้ต้อนครอบครัวล่วงน่าเข้ามาก่อน ส่วนกองทัพหลวงตั้งคอยต่อสู้พม่าอยู่ที่แม่น้ำสะโตง กองทัพพม่ามาทันอยู่คนละฟากแม่น้ำ สมเด็จพระนเรศวรทรงพระแสงปืนต้นยิงถูกสุรกันมา แม่ทัพน่าพม่า ตาย กองทัพพม่าถอยกลับไปแล้ว ก็เสด็จกลับคืนพระนคร

เมื่อสมเด็จพระนเรศวรประกาศอิศรภาพที่เมืองแครงแล้วกวาดครอบครัวเข้ามาคราวนั้น เสด็จกลับตรงมากรุงศรีอยุทธยา ทูลสมเด็จพระราชบิดารให้ทรงทราบถึงเหตุที่เกิดสงครามกับพม่าแล้ว แต่นั้น ก็ตั้งต้นตระเตรียมการต่อสู้ข้าศึกทีเดียว ด้วยทรงทราบอยู่ว่า ในไม่ช้า พม่าคงจะยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุทธยา เริ่มต้นก็ให้จับกุมขับไล่พวกพม่าที่เข้ามาอยู่กำกับไทยทั่วทุกแห่ง ในพวกไทยที่ใครยังเชื่ออำนาจพม่า เช่น พระยาสวรรคโลก พระยาพิไชย ก็รีบปราบปรามจนสิ้นเสี้ยนศึกภายใน พวกไทยใหญ่ที่พม่าเกณฑ์มาทำทาง เมื่อรู้ว่า ไทยจะตั้งแขงเอาพม่า พากันหลบหนีมาเข้าไทย สมเด็จพระนเรศวรก็ให้รับทำนุบำรุงไว้ การอย่างอื่นซึ่งตระเตรียมต่อสู้ข้าศึกครั้งนั้น ตามรายการที่ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดาร ดูเอาวิธีที่เคยรบพุ่งพม่ามาแต่ก่อนมาทรงพระดำริห์ตรองทั้งที่ได้แลทางเสียแล้วแก้ไขให้สมกับกำลังแลเวลาที่ทำศึกนั้นทุกอย่าง เปนต้นว่า วิธีต่อสู้อย่างครั้งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ที่เอาพระนครเปนที่มั่นแลเอากำลังหัวเมืองเหนือเปนทัพตีกะหนาบนั้น เห็นใช้ไม่ได้เสียแล้ว ด้วยถูกพม่ากวาดผู้คนพลเมืองไปเสียเมื่อเสียกรุงมากกว่ามาก กำลังมีอยู่น้อยกว่าครั้งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์หลายเท่า แลรู้อยู่ว่า ข้างหงษาวดีเข้าใจวิธีกำลังทางเมืองเหนือเสียแล้ว จึงตกลงเอาพระนครเปนที่มั่นแห่งเดียว ให้กวาดคนหัวเมืองเหนือลงมาไว้ในพระนครศรีอยุทธยาหมด ยอมทิ้งหัวเมืองเหนือให้ร้างเสียคราว ๑ ทางเสียอีกอย่าง ๑ ซึ่งเคยเห็นมาแต่ก่อน ที่ชานพระนครด้านตวันออกห่างลำน้ำ ข้าศึกตีเข้าได้ทางนั้น คราวนี้ ก็ให้ขุดคลองชักสายแม่น้ำสักเข้าขื่อน่า แลขุดขยายให้กว้างออกไปจนเปนลำแม่น้ำ ส่วนวิธีที่เคยได้เปรียบข้าศึก เปนต้นว่า การที่รวบรวมสะเบียงอาหารเข้าไว้ในพระนครให้มากก็ดี แลระวังทางส่งสะเบียงอาหารก็ดี วิธีเอาปืนใหญ่ลงเรือเที่ยวยิงข้าศึกก็ดี คราวนี้ ก็ตระเตรียมแข็งแรงยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน เชื่อได้ว่า การอย่างใดที่จะตระเตรียมต่อสู้ข้าศึกให้เปนประโยชน์ได้ ได้ทำทุกอย่างในคราวนั้น เพราะจำต้องสู้กองทัพใหญ่ด้วยคนน้อย

ในปลายปีวอก พ,ศ, ๒๑๒๗ นั้น กองทัพพม่าก็ยกเข้ามา กองทัพพม่าที่ยกเข้ามาคราวนี้ พระเจ้าหงษาวดีให้เจ้าเมืองพสิม ซึ่งเปนน้องยาเธอของพระเจ้าหงษาวดีบุเรงนอง เปนแม่ทัพเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ทัพ ๑ ให้พระเจ้าเชียงใหม่มังนรธาช่อ ราชอนุชา ยกลงมาทางข้างเหนืออิกทัพ ๑ ให้สมทบกันตีกรุงศรีอยุทธยา ด้วยเห็นว่า กรุงศรีอยุทธยากำลังน้อย คงไม่ต่อสู้ได้แขงแรงดังแต่ก่อน กองทัพเจ้าเมืองพสิมยกเข้ามา ถึงเมืองสุพรรณบุรีก่อน ทำนองจะมาถึงราวเดือนอ้าย น้ำยังมาก จึงตั้งยั้งอยู่ที่เมืองสุพรรณรอคอยกองทัพเมืองเชียงใหม่ ข้างกรุงศรีอยุทธยา พอทราบว่า กองทัพพญาพสิมยกเข้ามาถึงเมืองสุพรรณในเวลายังมีน้ำ พอจะใช้เรือได้ ก็แต่งกองทัพเรือให้พระยาจักรี พระยาพระคลัง คุมออกไปรบพญาพสิมที่เมืองสุพรรณ กองทัพไทยเอาปืนใหญ่ยิง กองทัพพม่าทนอยู่ใกล้แม่น้ำไม่ได้ ต้องถอยทัพย้ายไปตั้งอยู่ที่เขาพระยาแมนในระหว่างเมืองสุพรรณกับเมืองกาญจนบุรี ครั้นถึงเดือนยี่ พอแผ่นดินแห้ง สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จยกกองทัพไปตั้งที่อำเภอวิเศษไชยชาญ แต่งกองทัพคนหัวเมืองฝ่ายเหนือ ให้เจ้าพระยาศุโขไทยเปนแม่ทัพ รีบยกไปตีกองทัพพญาพสิมที่เขาพระยาแมนแตกพ่ายไปแต่ในเวลากองทัพเมืองเชียงใหม่ยังลงมาไม่ถึง ครั้นกองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ยกลงมาถึงปากน้ำบางพุดซา ทัพน่าลงมาตั้งบ้านชะไว แขวงจังหวัดอ่างทองทุกวันนี้ สมเด็จพระนเรศวรก็เสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไป ให้พระราชมนูเปนทัพน่า เข้าตีกองทัพน่าเชียงใหม่แตกพ่าย ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่รู้ว่า กองทัพพญาพสิมแตกกลับไปแล้ว ก็ไม่อยู่สู้รบ รีบถอยกองทัพกลับไป

เรื่องสงครามคราวนี้เปนเรื่องติดต่อกับสงครามคราวหลังต่อไป ด้วยเมื่อพญาพสิมเข้ามาเสียทีไทยกลับไป ความปรากฎแก่พระเจ้าหงษาวดีว่า ไทยมีกำลังที่จะต่อสู้ได้แข็งแรง การตีเมืองไทยจะต้องทำเปนศึกใหญ่คิดการแรมปีอย่างครั้งพระเจ้าบุเรงนองเคยทำแต่ก่อน จึงจะตีเมืองไทยได้ พระเจ้าหงษาวดีจึงให้พระมหาอุปราชาคุมพลเข้ามาตั้งทำไร่นาที่เมืองกำแพงเพ็ชร์สะสมสะเบียงอาหารไว้ปี ๑ ในเวลาที่มาตั้งทำนานั้น ให้พระเจ้าเชียงใหม่ยกกองทัพลงมาข้างใต้ให้มาคอยรังแกไทยตามหัวเมืองอย่าให้ทำนาได้ ประสงค์จะให้กรุงศรีอยุทธยาขัดสนสะเบียงอาหาร พระเจ้าเชียงใหม่จึงยกกองทัพลงมาตั้งที่บ้านสระเกษไชโย แขวงจังหวัดอ่างทอง เมื่อปีระกา จุลศักราช ๙๔๗ พ,ศ, ๒๑๒๘ แล้วให้พระยาเชียงแสนเปนทัพน่ายกลงมาตั้งที่บ้านป่าโมกข์ สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถจึงเสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไปจากกรุงศรีอยุทธยาเมื่อเดือน ๕ ขึ้น ๗ ค่ำ ทัพน่าไปประทะทัพพระยาเชียงแสนที่ป่าโมกข์น้อย ตีกองทัพพระยาเชียงแสนแตกพ่ายกลับขึ้นไป พระเจ้าเชียงใหม่รู้ว่า กองทัพน่าแตก ก็ยกกองทัพหลวงหนุนลงมาประทะทัพพระราชมนูกับเจ้าพระยาศุโขไทยซึ่งเปนทัพน่าของสมเด็จพระนเรศวรที่บางแก้ว รบพุ่งติดพันกันอยู่ สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไปถึงบ้านแห ทรงทราบว่า พระเจ้าเชียงใหม่ยกมาเอง จึงให้ซุ่มกองทัพหลวงไว้ มีรับสั่งขึ้นไปให้กองทัพน่าเปิดถอยลงมา พระเจ้าเชียงใหม่สำคัญว่า ทัพไทยแตก ก็รีบยกติดตามลงมาเข้าในที่ซุ่ม กองหลวงยกออกตีทัพพระเจ้าเชียงใหม่แตกยับเยิน แล้วติดตามตีขึ้นไปจนบ้านสระเกษไชโย ได้ค่ายหลวงของพระเจ้าเชียงใหม่ กองทัพเชียงใหม่เสียช้างม้ารี้พลเครื่องสาตราวุธแก่ไทยเกือบหมด แม้จนเครื่องราชูประโภคของพระเจ้าเชียงใหม่ก็ตกอยู่ในมือไทย เกือบจับพระเจ้าเชียงใหม่ได้ในครั้งนั้น พระเจ้าเชียงใหม่กับพวกพลที่เหลืออยู่ต่างรีบหนีเอาตัวรอดกลับไปยังเมืองกำแพงเพ็ชร์

สงครามคราวนี้ พระเจ้าหงษาวดีไชยสิงห์ยกกองทัพหลวงมาเอง ได้ความในหนังสือพงศาวดารพม่าว่า ตั้งแต่กองทัพที่พระเจ้าหงษาวดีแต่งให้เข้ามารบพุ่งเสียทีแตกไทยไป พระเจ้าหงษาวดีทรงวิตก ปฤกษากับเสนาบดีเห็นพร้อมกัน ถ้าไม่ปราบปรามไทยลงให้ได้ เมืองประเทศราชทั้งปวงคงจะพากันเอาอย่างไทยกระด้างกระเดื่องขึ้น พระเจ้าหงษาวดีจึงเสด็จเปนจอมพลยกมาเองเมื่อเดือน ๑๒ ปีจอ จุลศักราช ๙๔๘ พ,ศ, ๒๑๒๙ จำนวนพลพระเจ้าหงษาวดียกมาครั้งนั้น ๒๕๐,๐๐๐ คน เดิรทัพเข้ามาทางด่านแม่สอด มาตั้งประชุมพลที่เมืองกำแพงเพ็ชร์ แล้วแยกทัพเดิรเปน ๒ ทาง ให้พระมหาอุปราชากับพระเจ้าตองอูยกลงมาทางฝั่งตวันออก พระเจ้าหงษาวดียกลงมาทางฝั่งตวันตก พระเจ้าเชียงใหม่คุมกองลำเลียงแลสะเบียงอาหารลงมาทางเรือ กองทัพลงมาถึงกรุงศรีอยุทธยาเมื่อเดือนยี่ ปีจอ พ,ศ, ๒๑๒๙ พระเจ้าหงษาวดีตั้งทัพหลวงทางทิศตวันตกเฉียงเหนือที่ขนอนปากคู ทัพมังมอด ราชบุตร์ กับพระยาพระราม ตั้งที่ทุ่งมะขามหย่อง ทัพพระยานครตั้งที่ปากน้ำพุทธเลา ทัพนันทสูตั้งที่ขนอนบางลาง ทัพพระเจ้าตองอูตั้งทุ่งชายเคือง ทัพพระมหาอุปราชาตั้งที่ขนอนบางตนาว

การต่อสู้พม่าคราวนี้ รายการที่ปรากฎในพงษาวดารพม่ากับหนังสือพระราชพงษาวดารประกอบเปนเนื้อความยุติต้องกันว่า เมื่อไทยเห็นว่า เปนศึกใหญ่ เหลือกำลังจะต่อสู้เอาไชยชนะได้กลางแปลง จึงเอาพระนครเปนที่มั่น ให้ต้อนคนเข้าพระนคร แต่ทราบอยู่ว่า คราวก่อน มีคนเคยแตกฉานไปเที่ยวซุ่มซ่อนตามป่าดง ต้อนเข้าไปไม่ได้หมด คราวนี้ จึงแต่งพวกกองอาศาให้แยกย้ายออกไปอยู่ตามบ้านนอกไปรวบรวมราษฎรที่ยังกระจัดกระจายอยู่จัดเปนกองโจรคอยเที่ยวตัดลำเลียงเสบียงอาหารข้าศึกอยู่ทุกหนทุกแห่ง การป้องกันพระนครคราวนี้ ขุดลำแม่น้ำเปนคูพระนครทางตวันออกสำเร็จ ก่อกำแพงด้านตวันออกขยายลงไปจนริมน้ำเหมือนกับด้านอื่น ๆ ตั้งปืนใหญ่ประจำป้อมแลกำแพงแขงแรงเหมือนกันหมดทุกด้าน มีปืนใหญ่น้อยกระสุนดินดำและเครื่องสาตราวุธเสบียงอาหารบริบูรณ์ เสบียงอาหารที่จะขนเข้าพระนครไม่ได้ก็ให้ทำลายเสียมิให้เปนกำลังแก่ข้าศึก

กองทัพพม่ายกเข้าถึงพระนคร ก็ได้แต่ตั้งล้อมอยู่ห่าง ๆ จะเข้าตั้งค่ายประชิดไม่ได้ ด้วยไทยเอาปืนใหญ่ลงเรือเที่ยวยิงกราดเอาอย่างคราวแรก พระเจ้าหงษาวดีแต่งกองทัพเข้าปล้นพระนครหลายครั้งก็ปล้นไม่ได้ ในชั้นแรก ฝ่ายไทยไม่ออกดี เปนแต่รักษาพระนครมั่นไว้ จนกองทัพพม่าขัดสนเสบียงแลเกิดความไข้ เจ็บขึ้นในกองทัพ สมเด็จพระนเรศวรเห็นกำลังข้าศึกหย่อนลงแล้ว จึงยกออกตีข้าศึก ในพงษาวดารพม่ากล่าวว่า พอไทยรู้ว่า กองทัพพม่าเกิดความไข้และอดอยาก ก็ยกกองโจรออกเที่ยวปล้นตีทัพพม่าทั้งกลางวันกลางคืนมิให้มีเวลาเปนปรกติได้ ความที่กล่าวนี้มีรายการปรากฎอยู่ในหนังสือพระราชพงษาวดารหลายคราว ได้คัดลงไว้ต่อไปนี้

วัน ๑๐ ค่ำ เวลาตี ๑๑ เสด็จยกออกตีทัพพระยานครที่ปากน้ำพุทธเลา ข้าศึกแตกหนี ได้ค่ายพระยานคร

ณวัน ๑๐ ฯ  ค่ำ เสด็จยกออกตีทัพข้าศึก (เห็นจะเปนกองน่าของพระเจ้าหงษาวดี) ข้าศึกแตกพ่าย ไล่ฟันแทงเข้าไปจนถึงค่ายพระเจ้าหงษาวดี คราวนี้ มีข้อความพิศดารกล่าวไว้ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเข้าไปได้ถึงค่ายพระเจ้าหงษาวดี เสด็จลงจากม้าพระที่นั่ง คาบพระแสงดาบนำทหารปีนจะเข้าค่ายพระเจ้าหงษาวดี ต่อเห็นว่า จะเข้าไม่ได้ จึงถอยทัพกลับมา

ณวัน ๑๐ ค่ำ เสด็จออกตั้งทัพซุ่มณทุ่งลุมพลี แล้วออกตีทัพข้าศึก ได้รบพุ่งถึงตลุมบอนกับม้าพระที่นั่ง ทรงพระแสงทวนแทงเหล่าทหารข้าศึกตาย ข้าศึกแตกพ่าย ไล่ฟันแทงข้าศึกเข้าไปจนถึงน่าค่าย คราวนี้ กล่าวความพิศดารไว้ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า พระเจ้าหงษาวดีทราบว่า สมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปปีนค่าย ตรัสว่า สมเด็จพระนเรศวรทำการสงครามกล้าหาญหนัก จะจับเอาให้จงได้ จึงแต่งพลทหารมาล่อ และให้หลักไวทำมู กับทหารทศ ทำนองจะเปนนายทหารที่เข้มแขงในกระบวนทัพม้า คุมพลไปซุ่มอยู่ ถ้าสมเด็จพระนเรศวรไล่หลวมเข้าไป ให้ล้อมจับ ครั้นเมื่อสมเด็จพระนเรศวรไล่หลวมเข้าไปถึงค่าย หลักไวทำมูกับทหารทศออกล้อมรบสมเด็จพระนเรศวร ๆ ฆ่าตัวตายด้วยฝีพระหัตถทั้ง ๒ คน แล้วจึงถอยกลับเข้าพระนคร

ณวัน ๑๔ ค่ เสด็จทัพเรือไปตีทัพพระมหาอุปราชาที่ขนอนบางตนาว พระมหาอุปราชาแตกพ่ายลงไปอยู่บางกระดาน

ณวัน ๑๐ ค่ำ เสด็จออกไปตีทัพพระมหาอุปราชาที่ตั้งอยู่บางกระดานแตกพ่ายไป

ณวัน ค่ำ เสด็จยกทัพไชยออกตั้งค่ายมั่นที่วัดเดช

ณวัน ค่ำ เอาปืนใหญ่ลงสำเภาขึ้นไปยิงค่ายพระเจ้าหงษาวดี ๆ ต้านทานไม่ได้ ถอยกลับไปตั้งที่ป่าโมกข์ใหญ่

รายการทั้งปวงนี้กล่าวเฉภาะแต่คราวที่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปรบเอง ที่แต่งผู้อื่นออกไปรบหรือปล้นค่ายข้าศึกไม่ได้กล่าวถึงในรายการนี้คงจะมีอีกมาก สมดังที่พม่ากล่าวในพงษาวดารว่า ครั้งนั้น พอไทยได้ที ก็ตีปล้นทั้งกลางวันกลางคืนไม่ให้กองทัพพม่าอยู่เปนปรกติได้

พระเจ้าหงษาวดีมาตั้งล้อมพระนครอยู่ถึง ๗ เดือน เอาไชยชนะไม่ได้ ปฤกษาแม่ทัพนายกองเห็นว่า เชิงศึกเสียเปรียบไทยลงทุกวัน ก็เลิกทัพกลับคืนไปเมืองหงษาวดี

ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า รุ่งปีขึ้น พระเจ้าหงษาวดียกมาล้อมพระนครอิกครั้ง ๑ ตีพระนครไม่ได้ เลิกกลับไปอิก การศึกพระเจ้าหงษาวดีครั้งหลังนี้ไม่มีในพงษาวดารพม่า ในหนังสือพระราชพงษาวดารก็ไม่ปรากฎรายการ ข้าพเจ้าจึงเข้าใจว่า ที่จริง พระเจ้าหงษาวดีเห็นจะยกมาคราวเดียว แต่สงครามทำอยู่ตั้งแต่เดือนยี่ ปีจอ จนเดือน ๘ ปีกุญ จดหมายเหตุจดเปน ๒ ปี เปนเหตุให้ผู้แต่งพงษาวดารเข้าใจไปว่า ๒ คราว ข้าพเจ้าจึงไม่นับที่ว่า พระเจ้าหงษาวดียกมาครั้งที่ ๒ อิกคราว ๑ นั้น

ปีขาล จุลศักราช ๙๕๒ พ,ศ, ๒๑๓๓ สมเด็จพระมหาธรรมราชาสวรรคตเมื่อณวัน ๑๓ ค่ำ ถึงแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จผ่านพิภพได้ ๔ เดือน พอถึงเดือน ๑๒ ข้างแรม ในปีนั้น พระเจ้าหงษาวดีไชยสิงห์ก็ให้พระมหาอุปราชาหงษาวดี กับเจ้าเมืองพสิม เจ้าเมืองภุกาม ยกกองทัพเข้ามาตีเมืองไทยทางด่านพระเจดีย์สามองค์ เหตุที่พม่าจะยกเข้ามาครั้งนี้ ได้ความในหนังสือพงษาวดารพม่าว่า ตั้งแต่พระเจ้าหงษาวดีเข้ามาตีกรุงศรีอยุทธยามา เสียรี้พลล้มตายเปนอันมาก ตีกรุงศรีอยุทธยาไม่ได้ ต้องถอยทัพกลับออกไป พวกหัวเมืองประเทศราชที่ห่างไกลก็กระด้างกระเดื่อง เจ้าเมืองคังตั้งแขงเมืองขึ้นอิก พระเจ้าหงษาวดีปฤกษาเสนาบดีเห็นพร้อมกันว่า เปนเพราะรบไทยไม่ชนะ เมืองอื่นจึงกำเริบ จะต้องพยายามเอาไชยชนะไทยให้จงได้ พระเจ้าหงษาวดีจึงให้จัดกองทัพเปน ๒ กอง ๆ หนึ่งให้ราชบุตร์องค์ ๑ ซึ่งได้เปนพระเจ้าแปร ยกไปตีเมืองคัง อิกกอง ๑ ให้พระมหาอุปราชายกมากับเจ้าเมืองพสิม เจ้าเมืองภุกาม เข้ามาตีกรุงศรีอยุทธยา รายการรบคราวนี้มีปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ แต่ตอนปลายพระราชพงษาวดารฉบับอื่นไม่กล่าวถึงทีเดียว แต่ในพงษาวดารพม่าว่ารายการไขว้ไปเสียกับคราวชนช้าง ข้าพเจ้าจะกล่าวรายการตามที่ได้ความจากพงษาวดารพม่าอย่างที่เห็นว่า ถูกต้อง คือ เมื่อสมเด็จพระนเรศวรได้ข่าวศึก ก็เสด็จยกกองทัพหลวงออกไปต่อสู้ข้าศึกที่เมืองสุพรรณบุรี พระมหาอุปราชาเห็นว่า กำลังไทยที่ยกไปน้อยกว่า จึงหาที่มั่นตั้งรับเปนน่ากระดาน หมายว่า เมื่อไทยยกเข้ารบ จะตีโอบล้อมกองทัพไทยให้ได้ ข้างสมเด็จพระนเรศวรทรงสังเกตเห็นกระบวนข้าศึกตั้ง รู้ท่วงทีข้าศึก ไม่ยกเข้าตีตรงน่าอย่างข้าศึกคาด เห็นว่า ข้างปีกขวาข้าศึกมีกำลังอ่อน ยกกองทัพไทยเข้าทุ่มเทตีปีกขวาฝ่ายเดียว ปีกขวาแตกแล้ว ตีกองกลางแตกอิกกอง ๑ แต่ปีกซ้ายได้ไชยภูมิ์ที่ตั้งมั่น สมเด็จพระนเรศวรไม่เข้าตี พม่าเสียช้างม้ารี้พลเปนอันมาก กองทัพพม่ารีบหนี ไทยติดตามจับตัวเจ้าเมืองภุกาม แลเจ้าเมืองพสิม แม่ทัพพม่า ได้ที่บ้านจรเข้สามพัน (ใกล้เมืองอู่ทอง) แต่พระมหาอุปราชานั้นหนีกลับไปได้

เรื่องศึกครั้งนี้ หนังสือพงษาวดารพม่ากับพระราชพงษาวดารยุติต้องกันว่า ตั้งแต่พระมหาอุปราชาแตกทัพกลับไป พระเจ้าหงษาวดีน้อยพระไทยที่ไม่สามารถจะปราบปรามเอากรุงศรีอยุทธยาไว้ในอำนาจได้ วัน ๑ ในเดือนอ้าย ปีมะโรง จุลศักราช ๙๕๔ พ,ศ, ๒๑๓๕ รับสั่งให้หาพระมหาอุปราชากับบรรดาพระราชบุตร์มาประชุมพร้อมด้วยเสนาข้าราชการ พระเจ้าหงษาวดีตรัสตัดพ้อว่า พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยามีโอรสทำการสงคราม พระราชบิดาไม่ต้องพักสั่ง แต่ฝ่ายข้างหงษาวดี ทั้งเจ้าทั้งขุนนางไม่มีใครเจ็บร้อนช่วยทำราชการสงครามให้สมที่ได้ชุบเลี้ยงให้มียศบรรดาศักดิ์ พากันอ่อนแอเสียหมด ด้วยเหตุนี้ จึงทำสงครามไม่ชนะกรุงศรีอยุทธยา ถ้าตั้งใจทำราชการให้พรักพร้อมกันแล้ว ทำไมกับพระนเรศวร ไม่เท่าใดก็จะจับได้ มีขุนนางคน ๑ ชื่อ พระยาลอ กราบทูลว่า การรบพุ่งกับกรุงศรีอยุทธยา ที่จริงไพร่พลกรุงศรีอยุทธยาน้อยกว่าหงษาวดีหลายเท่า แต่พวกไทยกลัวเกรงสมเด็จพระนเรศวรเสียยิ่งกว่ากลัวตาย เวลาเข้ารบพุ่ง ไพร่พลของสมเด็จพระนเรศวรไม่รู้จักเสียดายชีวิตร์ ข้าศึกจึงกล้าแขงนัก ถ้าจะเอาไชยชนะสมเด็จพระนเรศวรให้ได้ เห็นว่า ควรจะทรงเลือกสรรเจ้านายในพระราชวงษ์ที่อาจหาญการสงครามหลาย ๆ องค์ด้วยกันคุมพลไปช่วยกันทำศึกกับสมเด็จพระนเรศวร จึงจะเอาไชยชนะได้ พระเจ้าหงษาวดีเห็นชอบด้วย จึงให้พระมหาอุปราชา องค์ ๑ ลูกเธอที่เปนพระเจ้าแปร องค์ ๑ นัตจินหน่อง ราชภาคิไนย ซึ่งเปนโอรสของพระเจ้าตองอู องค์ ๑ ยกกองทัพใหญ่รวมจำนวนพล ๒๔๐,๐๐๐ เข้ามาตีกรุงศรีอยุทธยา และสั่งให้พระเจ้าเชียงใหม่ยกกองทัพเมืองเชียงใหม่ลงมาสมทบด้วยอิกทาง ๑ กองทัพยกจากเมืองหงษาวดีเมื่อณวัน ค่ำ ปีมะโรง จุลศักราช ๙๕๔ พ,ศ, ๒๑๓๕ เดินทัพเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ มาตั้งประชุมพลที่บ้านกะพังกรุ แขวงเมืองสุพรรณบุรี (เดี๋ยวนี้อยู่ในแขวงกาญจนบุรี)

ฝ่ายข้างกรุงศรีอยุทธยา เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงทราบว่า พระมหาอุปราชายกกองทัพพม่าเข้ามาอิกเปนกองทัพใหญ่มีกำลังมากกว่าคราวก่อน จึงโปรดให้ประชุมปฤกษาการศึก ปฤกษาเห็นพร้อมกันว่า วิธีต่อสู้ที่พระนครปล่อยให้ข้าศึกเข้ามาถึงชานเมืองเปนการลำบากเดือดร้อนแก่ราษฎรนัก ถึงจะรบพุ่งมีไชยชนะ บ้านเมืองที่ข้าศึกเข้ามาเหยียบย่ำแล้วก็ต้องยับเยิน เห็นว่า ฝ่ายไทยได้เคยรบพุ่งมีไชยชนะหลายคราว ชำนาญการศึกแลรู้ความสามารถของพวกหงษาวดีอยู่แล้ว เห็นพอจะต่อสู้เอาไชยชนะในหัวเมืองได้ สมเด็จพระนเรศวรจึงดำรัสสั่งให้เตรียมกองทัพหลวงจะเสด็จออกไปต่อสู้ข้าศึกที่เมืองสุพรรณบุรี เสด็จยกกองทัพหลวงออกจากกรุงศรีอยุทธยาเมื่อณวัน ค่ำ ปีมะโรง จุลศักราช ๘๕๔ พ,ศ, ๒๑๓๕ ไปตั้งประชุมพลที่ตำบลป่าโมกข์ พอจัดทัพบกเสร็จแล้ว ก็ยกกองทัพหลวงขึ้นไปตั้งที่ค่ายหนองสาหร่าย (อยู่ริมลำน้ำบ้านคอย แขวงสุพรรณบุรี) เห็นจะเสด็จถึงหนองสาหร่ายราววัน ๑๔ ฯ  ค่ำ เวลานั้น พระมหาอุปราชาเห็นจะเดิรทัพเข้ามาตั้งค่ายบ้านโข้ง ห่างหนองสาหร่ายทางประมาณ ๖๐๐ เส้น มีรอยค่ายกองทัพน่าอยู่ที่ดอนระฆัง เหนือบ้านโข้งทางราว ๓๐๐ เส้น สมเด็จพระนเรศวรดำรัสสั่งให้กองทัพพระยาศรีไสยณรงค์กับพระยาราชฤทธานนท์ออกไปสอดแนม ทรงทราบขบวนของข้าศึกที่ยกมาแล้ว จึงทรงจัดขบวนทัพที่จะยกเข้ารบข้าศึก หนังสือพระราชพงษาวดารว่า จัดเปนขบวนเบ็ญจเสนา คือ จัดเปน ๕ กองทัพ กองทัพที่ ๑ กองทัพน่า พระยาสีหราชเดโชไชยเปนนายทัพ พระยาพิไชยชาญฤทธิ์เปนปีกขวา พระยาวิชิตณรงค์เปนปีกซ้าย กองทัพที่ ๒ พระยาเทพอรชุน เกียกกาย เปนนายทัพ พระยาพิไชยสงครามเปนปีกขวา พระยารามกำแหงเปนปีกซ้าย กองทัพที่ ๓ ทัพหลวง สมเด็จพระนเรศวรเปนจอมพล เสด็จกับสมเด็จพระเอกาทศรถ เจ้าพระยามหาเสนาเปนปีกขวา เจ้าพระยาจักรีเปนปีกซ้าย กองทัพที่ ๔ พระยาพระคลัง ยกรบัตร์ เปนนายทัพ พระยาราชสงครามเปนปีกขวา พระยารามรณภพเปนปีกซ้าย กองทัพที่ ๕ ทัพหลัง พระยาท้ายน้ำเปนนายทัพ หลวงหฤไทยเปนปีกขวา หลวงอภัยสุรินทร์เปนปีกซ้าย

ณวัน ค่ำ เวลาเช้า พอกองทัพน่ายกไปไม่ห่างทัพหลวงเท่าไร ก็ประทะกองทัพน่าข้าศึกที่ยกมา กองทัพน่าไทยกำลังไม่พอต้านทานข้าศึก ต้องรบพลางถอยพลาง ขณะนั้น สมเด็จพระนเรศวรเสด็จอยู่ที่หนองสาหร่าย ได้ยินเสียงปืนแลได้รับรายงาน ทรงทราบขบวนทัพของข้าศึกที่ยกมาในเช้าวันนั้น ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า จะส่งกำลังไปหนุนกองทัพน่าซึ่งข้าศึกกำลังตีถอยลงมา จะรับไม่อยู่ จึงสั่งขึ้นไปให้กองน่าถอยล่อข้าศึกที่ติดตามให้หลงว่า กองทัพไทยแตกเสียขบวน ส่วนกองทัพหลวงตั้งซุ่มไว้จนข้าศึกไล่ถลำเข้ามา จึงยกตีโอบข้าศึก กองทัพใหญ่ได้รบกันตั้งแต่เวลา ๕ โมงเช้าจนถึงตลุมบอน พอข้าศึกแตกพ่าย ช้างพระที่นั่งก็เรียกมันลุยไล่ข้าศึกเข้าไป

ที่หนังสือพระราชพงษาวดารกล่าวว่า ช้างพระที่นั่งเรียกมันลุยไล่ข้าศึกเข้าไปนั้น ต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่อย่างม้าพาห้อ วิไสยช้างโดยปรกติผู้ขี่ต้องขับให้ถึงขนาดจึงจะเข้ารบข้าศึก แต่วันนั้น ช้างพระที่นั่งเกิดตกน้ำมัน เห็นข้าศึกแตกพ่าย ก็วิ่งไล่ไปโดยลำภัง ไม่ต้องขับไส หมายความเท่านี้เอง

ในเวลานั้น กองทัพไทยกำลังรบพุ่งข้าศึกเปนโกลาหล ผงคลีกลุ้มตระหลบ แลไม่เห็นว่าใครเปนใคร ช้างพระที่นั่งสมเด็จพระนเรศวรไล่เข้าไปในกองทัพข้าศึก มีติดตามเสด็จไปทันแต่ช้างพระที่นั่งสมเด็จพระเอกาทศรถ ราชอนุชา กับพวกองครักษ์เดินท้าววิ่งตามไปทันไม่กี่มากน้อย นายมหานุภาพ นายท้ายช้างพระที่นั่งสมเด็จพระนเรศวร หมื่นภักดีศวร กลางช้างสมเด็จพระเอกาทศรถ ถูกปืนข้าศึกตาย สมเด็จพระนเรศวรก็ถูกปืนข้าศึกที่พระหัตถ์หน่อยหนึ่ง พอผงคลีที่กลุ้มตระหลบจางลง ช้างพระที่นั่งสมเด็จพระนเรศวรก็เข้าไปถึงที่พระมหาอุปราชายืนช้างอยู่ในกองทัพหลวงข้าศึก สมเด็จพระนเรศวรก็ไม่หวาดหวั่น เห็นได้ช่องในเชิงสงคราม จึงตรัสท้าพระมหาอุปราชาให้ทำยุทธหัตถี คือ ชนช้างสู้กันตัวต่อตัว ด้วยเปนลักษณยุทธการที่ถือกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ว่า เปนเกียรติยศอย่างสำคัญ แลในสมัยนั้น คงกำลังเลื่องลือเกียรติยศของพระเจ้าหงษาวดีไชยสิงห์ที่ได้ชนช้างชนะพระเจ้าอังวะ พระมหาอุปราชาได้ยินสมเด็จพระนเรศวรชวนชนช้าง จะไม่ชนก็เสียเกียรติยศ มีความละอาย จึงเข้าชนช้างด้วยสมเด็จพระนเรศวร ทีแรก ช้างพระที่นั่งสมเด็จพระนเรศวรเสียที พระมหาอุปราชาฟันด้วยของ้าว สมเด็จพระนเรศวรหลบทัน ถูกแต่พระมาลาบิ่นไป พอช้างพระที่นั่งสมเด็จพระนเรศวรกลับได้ที ชนช้างที่นั่งพระมหาอุปราชาเบนไป สมเด็จพระนเรศวรฟันด้วยพระแสงของ้าวเจ้าพระยาแสนพลพ่ายถูกพระมหาอุปราชาทิวงคตบนคอช้าง ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถนั้นชนช้างกับเจ้าเมืองจาปโร (พระราชพงษาวดารเรียกว่า มังจาชโร พี่เลี้ยง) ฟันเจ้าเมืองจาปโรตาย พอสมเด็จพระนเรศวรชนะยุทธหัตถี ก็พอพวกทหารไทยตามเสด็จเข้าไปถึง แต่ไม่พอเปนกำลังที่จะตีข้าศึกให้แตกยับเยินไปได้ สมเด็จพระนเรศวรต้องถอยกลับออกมา พวกข้าศึกจึงรวบรวมกันพาศพพระมหาอุปราชากลับไปเมืองหงษาวดี ไม่แตกยับเยินไปเหมือนอย่างคราวก่อน

ความปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ ว่า ต่อเมื่อชนะศึกคราวยุทธหัตถีนี้แล้ว สมเด็จพระนเรศวรจึงเฉลีมพระราชมณเฑียรแลกลับตั้งหัวเมืองเหนือขึ้นดังแต่ก่อน

เมื่อชนะศึกคราวชนช้าง สมเด็จพระนเรศวรทรงพระพิโรธแม่ทัพนายกองที่ไม่ตามเสด็จเข้าไปให้ทันเวลาทำยุทธหัตถี ไม่ได้กำลังพอที่จะซ้ำเตีมข้าศึกให้แตกยับเยินไป จะให้ลงพระราชอาญาประหารชีวิตร์แม่ทัพนายกองที่มีความผิดตามพระอัยการศึก สมเด็จพระวันรัตน์ทูลขอโทษไว้ จึงดำรัสให้พวกแม่ทัพนายกองเหล่านั้น คือ เจ้าพระยาจักรี ๑ พระยาพระคลัง ๑ พระยาศรีไสยณรงค์ ๑ พระยาเทพอรชุน ๑ พระยาพิไชยสงคราม ๑ พระยารามกำแหง ๑ ทั้ง ๖ คนนี้ไปทำการแก้ตัว ให้ยกกองทัพไปตีเมืองทวาย เมืองตนาวศรี ซึ่งพระเจ้าหงษาวดีตีชิงเอาไปจากไทยแต่ก่อน ฝ่ายข้างพระเจ้าหงษาวดีก็ทรงพระพิโรธพวกแม่ทัพนายกองที่มาเสียทีไทย ให้ลงมาทำการแก้ตัวรักษาเมืองทวายแลเมืองตนาวศรี กองทัพไทยตีกองทัพพม่าแตกไป ได้เมืองทวายแลเมืองตนาวศรีกลับมาเปนของกรุงศรีอยุทธยาทั้ง ๒ เมือง

มีความปรากฎในพงษาวดารพม่าว่า ในคราวเมื่อไทยออกไปตีเมืองทวาย เมืองตนาวศรี ครั้งนั้น พระเจ้าหงษาวดีสงไสยว่า มอญเอาใจออกหากมาเข้ากับไทย ให้จับพวกมอญฆ่าฟัน พวกมอญพากันอพยพหนีเข้ามาพึ่งกรุงศรีอยุทธยามาก ที่ไปอยู่เมืองเชียงใหม่ก็มี

สงครามคราวนี้มีเรื่องราวในหนังสือพงษาวดารพม่ากับหนังสือพระราชพงษาวดารประกอบกัน ได้ความดังนี้ว่า เมื่อปีมะเมีย จุลศักราช ๘๕๖ พ,ศ, ๒๑๓๗ มอญเจ้าเมืองเมาะลำเลีง (คือ ที่เรียกทุกวันนี้ว่า เมืองมรแมน) ขอสามิภักดิ์ขึ้นกรุงศรีอยุทธยา ด้วยเหตุเจ้าเมืองเมาะตมะ ทำนองจะเปนเจ้าเมืองใหมที่พม่าตั้งลงมา จะยกมาตีเมืองเมาะลำเลีง ขอกำลังกองทัพไทยไปช่วย สมเด็จพระนเรศวรโปรดให้กองทัพไทยยกไป แต่ผู้ใดจะเปนแม่ทัพหาปรากฎไม่ ทางโน้น เมื่อพระเจ้าหงษาวดีได้ทราบความว่า พระยาเมาะลำเลีงมาเข้ากับไทย จึงให้พระเจ้าตองอูยกกองทัพลงมา พอกองทัพไทยขึ้นไป ถึงได้สู้รบกัน กองทัพไทยตีกองทัพพระเจ้าตองอูแตก แลติดตามขึ้นไปจนถึงเมืองสะโตง แต่นั้น ก็ได้เมืองเมาะตมะแลเมืองเมาะลำเลีงมาขึ้นกรุงศรีอยุทธยา

สงครามคราวนี้มีเรื่องราวในพระราชพงษาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ กับพงษาวดารพม่า ประกอบกันเปนยุติว่า เมื่อณวัน ปีมะแม จุลศักราช ๙๕๗ พ.ศ, ๒๑๓๘ สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกกองทัพหลวงไปตีเมืองหงษาวดี ตั้งล้อมเมืองหงษาวดีอยู่ ๔ เดือน ตียังไม่ได้ สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบว่า กองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ พระเจ้าตองอู พระเจ้าแปร ยกมาช่วยพระเจ้าหงษาวดี จึงถอยทัพกลับคืนพระนคร

การสงครามที่สมเด็จพระนเรศวรยกไปตีเมืองหงสาวดีครั้งนี้มีผลมาก เหตุด้วยพวกเจ้านายประเทศราชญาติวงษ์ของพระเจ้าหงษาวดีไม่เข้ากันอยู่แล้ว เมื่อพระเจ้าแปรกับพระเจ้าตองอูยกมาช่วยเมืองหงษาวดีนั้น พระเจ้าตองอูยกมาก่อน พระเจ้าแปรยกมาทีหลัง พระเจ้าแปรมาทราบความกลางทางว่า สมเด็จพระนเรศวรถอยทัพกลับแล้ว เห็นเปนที จึงเลยยกทัพไปตีเมืองตองอู แต่ตีไม่ได้ ต้องถอยกลับไปเมือง พระเจ้าหงษาวดีเห็นจะขัดเคืองพระเจ้าแปรด้วยเรื่องนี้ จึงตั้งลูกเธออิกองค์ ๑ ซึ่งครองเมืองอังวะ ให้เปนพระมหาอุปราชาแทนพระมหาอุปราชาที่มาขาดคอช้าง พระเจ้าแปรมีความโทมนัศ ก็เลยตั้งแขงเมือง ไม่ยอมขึ้นต่อพระเจ้าหงษาวดี ผู้เปนพระราชบิดา เลยเปนเหตุให้พระเจ้าหงษาวดีไชยสิงห์เกิดระแวงเจ้าประเทศราชญาติวงษ์ยิ่งขึ้น จนถึงสั่งให้ส่งบุตร์แลนัดดาเข้าไปอยู่เปนตัวจำนำที่เมืองหงษาวดี พระเจ้าเชียงใหม่นรธาช่อมีความโทมนัศในเรื่องนี้ ประกอบกับมีเหตุด้วยพวกท้าวพระยาชาวเมืองเชียงใหม่เห็นว่า อำนาจพม่าหย่อนลง พากันกระด้างกระเดื่องขึ้น พวกเมืองล้านช้างก็จะยกมาตีเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าเชียงใหม่นรธาช่อจึงมาสามิภักดิ์ขอขึ้นต่อกรุงศรีอยุทธยา พวกไทยใหญ่แลพวกลื้อซึ่งอยู่เหนือเมืองเชียงใหม่ขึ้นไป เมื่อทราบว่า สมเด็จพระนเรศวรมีอานุภาพถึงไปตีเมืองหงษาวดี ก็เอาใจออกหากจากพม่า มาขอขึ้นกรุงศรีอยุทธยาแต่ครั้งนั้นเปนหลายเมือง

สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไปตีเมืองหงษาวดีครั้งที่ ๒ เมื่อณวัน ๑๑ ฯ  ค่ำ ปีกุญ จุลศักราช ๙๖๑ พ.ศ. ๒๑๔๒ เรื่องการสงครามคราวนี้ สมเด็จพระนเรศวรทรงพระราชดำริห์ว่า คราวก่อน ยกจู่ขึ้นไปตีเมืองหงษาวดีไม่สำเร็จ คราวนี้ จะคิดทำการแรมปี จึงให้เจ้าพระยาจักรียกล่วงน่าไปตั้งทำนาสะสมเสบียงอาหารไว้ที่เมืองเมาะตมะปี ๑ ก่อน ในระหว่างนั้น ให้เจ้าพระยาจักรีเกลี้ยกล่อมหัวเมืองมอญทั้งปวงไปด้วย ความปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า หัวเมืองมอญข้างใต้มายอมสามิภักดิ์เข้ากับไทยโดยมาก มีเมืองที่สำคัญนอกจากหัวเมืองมอญ ๒ เมือง คือ เมืองตองอู แลเมืองยะไข่ ทั้ง ๒ เมืองนี้มีเรื่องราวต่างกัน พระเจ้าตองอูเปนน้องยาเธอของพระเจ้าหงษาวดีไชยสิงห์ คิดจะตั้งตัวเปนใหญ่แต่ไม่ออกน่า ไม่แข็งเมืองเอาพระเจ้าหงษาวดี เปนแต่ลอบมาบอกสามิภักดิ์ต่อไทย ส่วนเมืองยะไข่นั้นเปนเมืองต่างชาติต่างภาษา อยู่ริมทเลข้างฝ่ายใต้ เวลานั้น เห็นพระเจ้าหงษาวดีหมดอำนาจลง พระเจ้ายะไข่ให้มายึดเอาเมืองซีเรียมซึ่งอยู่ปากน้ำเอราวดีข้างตวันตกไว้ หมายจะชิงเอาอาณาเขตร์ของพระเจ้าหงษาวดีเหมือนกัน แต่เมื่อได้ข่าวว่า สมเด็จพระนเรศวรจะยกกองทัพหลวงขึ้นไป เกรงพระเดชานุภาพ จึงให้เข้ามาบอกสามิภักดิ์ ไม่เปนการสามิภักดิ์โดยสุจริตทั้งพระเจ้าตองอูแลพระเจ้ายะไข่ คราวนั้น เจ้าพระยาจักรีไปทำให้เกิดเหตุขึ้น ด้วยบังคับบัญชามอญไม่ดี พวกมอญที่ถูกกะเกณฑ์ทำไร่นาเปนขบถขึ้น สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกกองทัพหลวงออกไป ต้องไปจัดการปราบปรามพวกมอญ เสียเวลาอยู่เกือบ ๖ เดือน ทางโน้น เมื่อพระเจ้ายะไข่รู้ว่า สมเด็จพระนเรศวรยังยกขึ้นไปเมืองหงษาวดีไม่ได้ จึงลอบจู่ขึ้นไปจะชิงปล้นเมืองหงษาวดีเสียก่อน ข้างพระเจ้าตองอู ในหนังสือพระราชพงษาวดารกล่าวว่า ได้ความคิดของพระมหาเถรเสียมเพรียมยกกองทัพมาช่วยรักษาเมืองหงษาวดี ในเวลาเมื่อกองทัพเมืองตองอูกับเมืองยะไข่ไปถึงเมืองหงษาวดี ก็ได้ข่าวว่า สมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพหลวงขึ้นไปจากเมืองเมาะตมะ พระเจ้าตองอูกับพระเจ้ายะไข่จึงคบคิดสมยอมกัน ข้างพระเจ้าตองอูคิดจะกวาดต้อนพลเมืองหงษาวดีแลจะพาเอาพระเจ้าหงษาวดีไปไว้ในเงื้อมมือที่เมืองตองอู ด้วยประสงค์จะอ้างรับสั่งเปนอำนาจบังคับบัญชาหัวเมืองอื่น ๆ ให้ยำเกรงยอมอยู่ในอำนาจ ยอมให้พวกยะไข่เก็บทรัพย์สมบัติในเมืองหงษาวดีเอาตามชอบใจ ถ้าหากว่า สมเด็จพระนเรศวรจะยกตามไปตีเมืองตองอู ให้พวกเมืองยะไข่คอยสะกัดตัดลำเลียงอยู่ทางข้างหลัง เมื่อตกลงกันอย่างนี้แล้ว พระเจ้าตองอูจึงเข้าไปขู่พระเจ้าหงษาวดีว่า จะอยู่สู้รบสมเด็จพระนเรศวรที่เมืองหงษาวดีนั้น เห็นจะสู้ไม่ได้ ขอเชิญเสด็จทิ้งเมืองหงษาวดีไปอยู่เมืองตองอู พระเจ้าหงษาวดีกำลังกลัวสมเด็จพระนเรศวร ก็บัญชาตาม พระเจ้าตองอูจึงพาพระเจ้าหงษาวดีแลกวาดต้อนผู้คนเมืองไปเมืองตองอู ข้างพวกยะไข่ก็เข้าค้นปล้นเก็บทรัพย์สมบัติบรรดามีในเมืองได้แล้วเอาไฟเผาเมืองหงษาวดีไหม้หมดทั้งปราสาทราชมณเฑียร สมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพหลวงขึ้นไปถึงเมืองหงษาวดี เห็นแต่เมืองร้างเปล่า จึงมีรับสั่งให้ไปถามพระเจ้าตองอูว่า คิดอ่านอย่างไร พระเจ้าตองอูมีราชสาส์นส่งบรรณาการมาถวายว่า จะอ่อนน้อมยอมส่งพระเจ้าหงษาวดี แต่อุบายขอผัดเพี้ยนไป สมเด็จพระนเรศวรทรงพระราชดำริห์เห็นพระเจ้าตองอูไม่สามิภักดิ์โดยสุจริต จึงเสด็จยกกองทัพหลวงตามไปถึงเมืองตองอูเมื่อณวัน ๑๐ ฯ  ค่ำ ล้อมเมืองไว้ได้ ๒ เดือน ขาดเสบียงอาหาร ด้วยทางที่จะส่งเสบียงอาหารขึ้นไปจากเมืองเมาะตมะเปนทางไกล พวกยะไข่คอยตีตัดกองลำเลียงเสีย จึงต้องถอยทัพกลับคืนพระนคร แต่ได้หัวเมืองมอญในลุ่มแม่น้ำสะโตงใต้เมืองหงษาวดีมาเปนเมืองขึ้นกรุงศรีอยุทธยาในครั้งนั้นทั้งสิ้น สมเด็จพระนเรศวรทรงตั้งพระยามอญคน ๑ ซึ่งทรงไว้วางพระราชหฤไทย เปนพระยาทละ อยู่ที่เมืองเมาะตมะ เปนผู้ปกครองหัวเมืองมอญต่างพระเนตร์พระกรรณต่อมา

คราวนี้จะเรียกว่า สงคราม ไม่ได้แท้นัก ด้วยไม่ได้รบกัน แต่เปนเรื่องสำคัญของตำนานการสงครามในยุคนั้น มีเนื้อความปรากฎในพงษาวดารพม่าว่า เมื่อพระเจ้าตองอูได้พระเจ้าหงษาวดีไชยสิงห์ไว้ในเงื้อมมือแล้ว พระเจ้าตองอูก็อ้างรับสั่งบังคับบัญชาการหัวเมืองที่ยังขึ้นอยู่กับพระเจ้าหงษาวดีตามอำเภอใจต่อมา บางเมืองเชื่อถือ ยอมอยู่ในอำนาจพระเจ้าตองอู บางเมืองสงไสยว่า พระเจ้าตองอูคิดร้ายต่อพระเจ้าหงษาวดี พวกนี้ชวนกันยกกองทัพขึ้นไปล้อมเมืองตองอูไว้ แลว่ากล่าวจะให้พระเจ้าตองอูส่งพระเจ้าหงษาวดีให้ พระเจ้าตองอูคิดอ่านบังคับพระเจ้าหงษาวดีให้มีหนังสือรับสั่งตั้งกระทู้ถามเจ้าเมืองเหล่านั้นว่า จะเปนขบถหรือ พวกหัวเมืองที่ยกไปเห็นสำคัญมั่นคงว่า เปนหนังสือรับสั่งของพระเจ้าหงษาวดี ต่างก็เกรงพระราชอาญา ยกทัพกลับไป ไม่กล้าเข้าตีเมืองตองอู เมื่อพวกหัวเมืองกลับไปแล้ว นัตจินหน่อง ในหนังสือพระราชพงษาวดารเรียกว่า นักสร้าง โอรสพระเจ้าตองอู มาคิดว่า พระเจ้าหงษาวดีเปนต้นเหตุทำความเดือดร้อนให้แก่เมืองตองอูมากนัก ตั้งแต่เปนเหตุให้สมเด็จพระนเรศวรยกไปล้อมเมืองแล้ว ไม่ช้าพวกเจ้าเมืองก็พากันไปล้อมเมืองอิก ต่อไปจะมีศึกเสือมาทางไหนอิกก็ไม่รู้ คิดดังนี้แล้ว จึงลอบใส่ยาพิศม์ในกระยาหาร พระเจ้าหงษาวดีไชยสิงห์เสวยเข้าไปสิ้นพระชนม์ที่เมืองตองอู พระเจ้าตองอูจึงจำเปนประกาศตั้งตนเปนผู้รับราชสมบัติเปนพระเจ้าหงษาวดี แต่พวกประเทศราชแลหัวเมืองที่ไกลก็ไม่มีผู้ใดนับถือยำเกรง

ในขณะนั้น ลูกเธอของพระเจ้าหงษาวดีบุเรงนององค์ ๑ ครองเมืองนยองยานอยู่แต่ก่อน เห็นเปนโอกาศ จึงเข้ายึดเอาเมืองอังวะซึ่งยังว่างเจ้าปกครองมาตั้งแต่ครั้งพระเจ้าหงษาวดี ตั้งพระเจ้าอังวะองค์ก่อนเปนพระมหาอุปราชา ประกาศตั้งตัวเปนอิศระขึ้นที่เมืองอังวะ ฝ่ายพระเจ้าแปรกับพระเจ้าตองอูเห็นว่า ถ้าพระเจ้าอังวะองค์ใหม่ตั้งตัวได้ ก็จะยกลงมาตีเมืองแปรแลเมืองตองอู จึงชวนกันยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองอังวะ กองทัพเมืองตองอูยกไปก่อน ครั้นเมื่อพระเจ้าแปรจะยกกองทัพ พเอินมีคนจะทำร้าย พระเจ้าแปรหนีคนร้ายตกน้ำพิราไลย ฝ่ายพระเจ้าตองอูเห็นเปนที กลับสั่งกองทัพให้ไปตีเมืองแปร ตีไม่ได้ เมืองแปรกับเมืองตองอูจึงเกิดแตกกันขึ้นอิก ข้างพระเจ้าอังวะได้โอกาศ จึงขยายอำนาจออกมาทางหัวเมืองไทยใหญ่ได้จนถึงเมืองแสนหวี เวลานั้น เมืองแสนหวีขึ้นกรุงศรีอยุทธยา สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงทราบ เห็นว่า พระเจ้าอังวะจะคิดตั้งตัวเปนใหญ่ ต่อไปคงจะเปนสัตรู จึงเสด็จยกกองทัพหลวงจากกรุงศรีอยุทธยาเมื่อณวัน ค่ำ ปีมะโรง จุลศักราช ๙๖๖ พ.ศ. ๒๑๔๗ ขึ้นทางเมืองเชียงใหม่จะไปตีเมืองอังวะ เสด็จไปถึงเมืองห้างหลวง ริมแม่น้ำสละวิน ซึ่งเรียกว่า เมืองหาง ทุกวันนี้ ประชวรสวรรคตณวัน ค่ำ ปีมะเส็ง จุลศักราช ๙๖๗ พ.ศ. ๒๑๔๘ กองทัพไทยจึงต้องเลิกกลับคืนพระนคร

สมเด็จพระเอกาทศรถผ่านพิภพเมื่อปีมะเสง จุลศักราช ๙๖๗ พ.ศ. ๒๑๔๘ ในหนังสือพระราชพงษาวดารไม่ปรากฎว่า มีสงครามในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ แต่มีเรื่องราวในพงษาวดารพม่า แลมีจดหมายเหตูของฝรั่งซึ่งเริ่มเข้ามาค้าขายอยู่ในเมืองไทยในเวลานั้น ได้ความว่า มูลเหตุที่ไทยรบกับพม่าในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถนั้นเนื่องในเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในเมืองพม่าที่กล่าวมาในการสงครามครั้งที่ ๑๕ คือ เมื่อในปลายรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้น พระเจ้าตองอูกับพระเจ้ายะไข่ยังเปนไมตรีกันสนิทต่อมา แต่งทูตไปมาถึงกันเนือง ๆ ในเวลานั้น อาณาจักร์หงษาวดีแต่ก่อนแยกกันเปนหลายเจ้าของ ข้างเหนือพระเจ้าอังวะก็ตั้งเปนอิศระ ต่อลงมาทางตวันตกพระเจ้าแปรก็ตั้งเปนอิศระ หัวเมืองข้างใต้เมืองหงษาวดีแถบตวันออกก็เปนอาณาเขตร์ของกรุงศรีอยุทธยา พระเจ้าตองอูซึ่งตั้งตัวเปนพระเจ้าหงษาวดีคงมีอาณาเขตร์แต่ตอนกลางลงไปทางตวันตกเฉียงใต้ ด้วยเหตุนี้ ทูตของพระเจ้าตองอูแลพระเจ้ายะไข่ที่ไปมาทางแม่น้ำเอราวดีจึงถูกสลัดแลผู้ร้ายปล้นหลายคราว พระเจ้ายะไข่จึงให้โปจุเกตุคน ๑ ชื่อ ฟิลิบเดอบริโต ซึ่งฝากตัวอยู่กับพระเจ้ายะไข่ มาอยู่รักษาเมืองซีเรียม พิลิปเดอบริโตชักชวนพวกโปจุเกตมาอยู่ด้วยมากขึ้น แต่แรกทำการปราบปรามโจรผู้ร้ายแลเก็บส่วยส่งพระเจ้ายะไข่แลพระเจ้าตองอูโดยซื่อตรง แลตั้งประกอบการค้าขายของตนเองด้วย ครั้นได้กำไรมีกำลังมากขึ้น ก็คิดจะตั้งตัวเปนใหญ่ ในพงษาวดารพม่ากล่าวว่า มาเปนไมตรีกับพระยาทละ น่าเข้าใจว่า เห็นจะเข้ามาสวามิภักดิ์ขอขึ้นต่อกรุงศรีอยุทธยา ด้วยพระยาทละเปนผู้ปกครองหัวเมืองมอญซึ่งขึ้นกรุงศรีอยุทธยาในเวลานั้น ฟิลิปเดอบริโตได้กำลังพระยาทละอุดหนุน จึงตั้งแข็งเมืองไม่ยอมขึ้นพระเจ้ายะไข่แลพระเจ้าตองอู พระเจ้ายะไข่กับพระเจ้าตองอูให้พระมหาอุปราชาทั้ง ๒ เมืองยกกองทัพลงมาตีเมืองซีเรียม มาแพ้ฟิลิปเดอบริโต ๆ จับพระมหาอุปราชาเมืองยะไข่ได้ พระเจ้ายะไข่กับพระเจ้าตองอูจึงต้องยอมหย่าทัพ ปล่อยให้ฟิลิปเดอบริโตครองเมืองซีเรียมต่อมา

ฝ่ายข้างเมืองอังวะ พระเจ้าอังวะ ราชบุตร์ของพระเจ้าบุเรงนอง ที่ไปตีเมืองแสนหวีนั้น สิ้นพระชนม์ในปีเดียวกับสมเด็จพระนเรศวร ราชโอรสได้เปนพระเจ้าอังวะแทน พระเจ้าอังวะองค์นี้เข้มแขงในการสงคราม ต่อมาไม่ช้า ก็ตีเมืองแปร เมืองตองอู ได้ เมื่อได้เมืองแปร เมืองตองอู แล้ว จึงรวบรวมกำลังลงมาตีได้เมืองซีเรียม แล้วจะยกมาตีเมืองเมาะตะมะ ความปรากฎในพงษาวดารพม่าว่า พระยาทละเห็นจะสู้พระเจ้าอังวะไม่ได้ ก็ยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าอังวะ พระเจ้าอังวะให้พระยาทละครองเมืองเมาะตมะอยู่อย่างเดิม แต่เอาพระยาพระราม ลูกพระยาทละ ซึ่งครองเมืองเยอยู่แต่ก่อน ไปไว้เปนตัวจำนำ ให้จักกายแมง น้องยาเธอองค์ ๑ ของพระเจ้าอังวะ มารักษาเมืองเย ในพงษาวดารพม่าว่า เมื่อปีฉลู จุลศักราช ๙๗๕ พ.ศ. ๒๑๕๖ สมเด็จพระเอกาทศรถให้เจ้าเมืองทวายยกกองทัพไปตีเมืองเย จับจักกายแมงได้ ส่งเข้ามากรุงศรีอยุทธยา พระเจ้าอังวะในเวลานั้นลงมาตั้งเมืองหงษาวดีเปนราชธานีอย่างแต่ก่อนแล้ว จึงยกกองทัพหลวงลงมาเมืองเมาะตมะ แต่งกองทัพมีจำนวนพล ๔๐,๐๐๐ ให้ยกลงมาตีเมืองทวาย ตีเมืองทวายได้แล้วให้ลงมาตีเมืองตนาวศรี กองทัพไทยยกออกไป ผู้ที่เปนแม่ทัพ พม่าเรียก ออกญาวิน ๑ พญาอู ๑ (ทั้ง ๒ นี้เห็นจะเปนเจ้าพระยาพิศณุโลกกับพระยาศุโขไทย) ออกญาสวรรคโลก ๑ ออกญาพิไชย ๑ กองทัพไทยตีกองทัพพม่าต้องถอยมาจากเมืองตนาวศรี แล้วกองทัพไทยติดตามตีต่อไปทางเมืองเมาะตมะ พม่าสู้รบ กองทัพไทยต้องถอยกลับมา.

พระเจ้าเชียงใหม่มังนรธาช่อถึงพิราไลยในต้นแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ พงษาวดารพม่ากล่าวว่า พระเจ้าเชียงใหม่มังนรธาช่อได้ถวายราชธิดาแด่สมเด็จ (พระเอกาทศรถ) พระเจ้ากรุงสยามองค์ ๑ แลถวายราชโอรสชื่อ พระทุลอง ลงมาทำราชการอยู่ที่กรุงศรีอยุทธยา ว่า มาได้เปนราชบุตร์เขยของสมเด็จพระเอกาทศรถ ราชบุตร์ของพระเจ้าเชียงใหม่ น้องพระทุลอง ยังมีอิก ๒ องค์ ชื่อ พระไชยทิพย์ องค์ ๑ พม่าเรียกว่า สะโด๊ะกะยอ องค์ ๑ เมื่อพระเจ้าเชียงใหม่พิราไลย สมเด็จพระเอกาทศรถโปรดให้พระทุลองกลับขึ้นไปครองเมืองเชียงใหม่ แต่บังเอิญพอไปถึงเมือง พระทุลองไปป่วยเจ็บสิ้นชีพ ไม่ทันจะได้ครองเมือง พวกท้าวพระยาเมืองเชียงใหม่จึงยกพระไชยทิพย์ขึ้นเปนพระเจ้าเชียงใหม่ แต่ครองเมืองอยู่ไม่เปนปรกติ เกิดเหตุผิดใจกับท้าวพระยาผู้ใหญ่ พวกท้าวพระยาจึงบังคับให้พระไชยทิพย์ออกบวช ยกสะโด๊ะกะยอ น้องคนเล็ก ขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ ในเวลาที่เกิดเหตุอันนี้ พระเจ้าอังวะอยู่ที่เมืองเมาะตมะ ทราบข่าวว่า เกิดเกี่ยงแย่งกันขึ้นในเมืองเชียงใหม่ พอรบไทยทางเมืองตนาวศรีแล้ว พระเจ้าอังวะก็ยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่เมื่อปีขาล จุลศักราช ๙๗๖ พ,ศ, ๒๑๕๗ พวกเมืองเชียงใหม่ต่อสู้ พระเจ้าอังวะตั้งล้อมเมืองลครลำปางไว้ ยังตีไม่ได้ พระเจ้าอังวะขัดสนสะเบียงอาหารลง จะเลิกทัพอยู่แล้ว พอเจ้าเมืองน่านมาเข้าด้วย ได้อาไศรยเสบียงเมืองนาน จึงตั้งล้อมเมืองต่อไป ในเวลาพระเจ้าอังวะตั้งล้อมเมืองนครลำปางอยู่นั้น เผอิญพระเจ้าเชียงใหม่สะโด๊ะกะยอป่วยเจ็บพิราไลย ท้าวพระยาเมืองเชียงใหม่ไม่มีผู้ใดเปนเจ้านาย จึงมายอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าอังวะ พระเจ้าอังวะตั้งให้พระยาน่านครองเมืองเชียงใหม่ แล้วเลิกทัพกลับไป เนื้อความในพงษาวดารพม่าไม่ปรากฎว่า ไทยได้ช่วยเหลือเมืองเชียงใหม่อย่างไร แต่มีในจดหมายเหตุของฝรั่งว่า เมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถนั้น ไทยกับพม่ารบกันอยู่ ๖ ปี แล้วเปนไมตรีหย่าสงครามกัน ด้วยพม่ายอมคืนเมืองเชียงใหม่และหัวเมืองขึ้นของไทยที่พม่าตีไปได้ให้แก่ไทยทั้งหมด ข้าพเจ้าจึงสันนิษฐานว่า ไทยคงได้เมืองเชียงใหม่กับเมืองทวายคืนมา แต่หัวเมืองมอญตอนเมืองเมาะตะมะเห็นจะกลับไปเปนของพระเจ้าอังวะแต่ครั้งนั้น ด้วยเนื้อความสมกับเรื่องราวที่มีต่อมาในพระราชพงษาวดาร

สมเด็จพระเอกาทสรถสวรรคตเมื่อปีวอก จุลศักราช ๙๘๒ พ,ศ, ๒๑๖๓ เจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ครองราชสมบัติอยู่ไม่ถึงปี สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมก็ได้ราชสมบัติ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมนั้น มีในหนังสือพระราชพงษาวดารพม่าว่า พม่ายกกองทัพมาตีเมืองตนาวศรี กองทัพไทยยกออกไปช่วยไม่ทัน พม่าจึงได้เมืองตนาวศรีไปในครั้งนั้น ความจริงมีจดหมายเหตุในครั้งนั้นปรากฎอยู่แน่นอนว่า เมืองตนาวศรีเปนของไทยอยู่ตลอดแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เพราะฉนั้น จึงเข้าใจว่า เมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พม่าตีได้คืนไปแต่เมืองทวาย หาได้ ๆ เมืองตนาวศรีไม่ แต่สงครามครั้งนี้ไม่มีปรากฎในหนังสือพงษาวดารพม่า ส่วนเมืองเชียงใหม่นั้นพม่าได้กลับไปเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมหรือเมื่อต้นแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ไทยกับพม่าหาได้รบพุ่งกันไม่ ดีกันตลอดมาจนถึงแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์มหาราช จึงเกิดรบกับพม่าขึ้นอิก

เหตุที่จะเกิดรบกับพม่าในแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์มหาราชนั้น ด้วยจีนยกกองทัพลงมาตีเมืองอังวะ สมัยนั้น พม่าตั้งเมืองหงษาวดีเปนราชธานีดังแต่ก่อน เมืองเชียงใหม่ได้ข่าวว่า จีนจะลงมาตีเมืองเชียงใหม่ด้วย เห็นว่า พม่าจะช่วยไม่ได้ จึงแต่งทูตม้า มาขอสามิภักดิ์ต่อกรุงศรีอยุทธยาเมื่อปีชวด จุลศักราช ๑๐๒๒ พ,ศ, ๒๒๐๓ ขอกองทัพไทยขึ้นไปช่วยป้องกันเมืองเชียงใหม่ เวลานั้น สมเด็จพระนารายน์มหาราชเสวยราชย์ได้ ๔ ปี จึงโปรดให้จัดกองทัพ พระยารามเดโชคุมพล ๑๐๐๐ พระยาท้ายน้ำคุมพล ๔๐๐๐ สองกองให้นี้ยกล่วงน่าขึ้นไปกับทูตเชียงใหม่เมื่อเดือน ๑๒ ครั้นถึงเดือนอ้าย สมเด็จพระนารายน์มหาราชเสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไปตั้งอยู่ที่เมืองพิศณุโลก จัดกองทัพเพิ่มเติมขึ้นไปอิก ๕ กอง คือ พระยากระลาโหมถือพล ๕๐๐๐ กอง ๑ พระยานครราชสิมาถือพล ๒๐๐๐ กอง ๑ พระยายมราชถือพล ๑๐๐๐ กอง ๑ พระยาราชบังสรรถือพล ๓๐๐๐ กอง ๑ พระยาพิไชยสงครามถือพล ๕๐๐ กอง ๑ ขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่ ในเวลาเมื่อกองทัพไทยยกขึ้นไป ข้างเชียงใหม่ได้ความว่า กองทัพจีนที่มาตีเมืองอังวะเลิกถอยไปแล้ว ก็กลับใจลอบให้คนมาบอกทูตที่นำทัพให้หลบหนีไปเสีย สมเด็จพระนารายน์มหาราชทรงทราบ ทรงพระพิโรธ จึงดำรัสสั่งให้กองทัพไทยทั้งปวงนั้นยกเลยขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ แลเสด็จยกกองทัพหลวงมาตั้งอยู่ที่เมืองศุโขไทย ครั้งนั้น ตามความที่กล่าวในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า กองทัพไทยตีได้เมืองเถิน เมืองนครลำปาง แล้วแยกย้ายกันไปเที่ยวตีหัวเมืองละว้าที่เปนเมืองขึ้นเชียงใหม่อยู่ระหว่างแดนพม่าได้มาเปนเมืองขึ้นกรุงศรีอยุทธยาเปนอันมาก แต่ไม่ได้เมืองเชียงใหม่ แต่ข้างพงษาวดารพม่ากล่าวว่า เมื่อจีนถอยทัพกลับไปแล้ว พระเจ้าหงษาวดีให้กองทัพพม่าเข้ามาช่วยรักษาเมืองเชียงใหม่ กองทัพพม่าเข้ามาไม่ทัน ไทยได้เมืองเชียงใหม่เสียแต่เมื่อณวัน ค่ำ ปีขาล จุลศักราช ๑๐๒๔ พ,ศ, ๒๒๐๕ (ที่จริงน่าจะเปนปีฉลู) กองทัพพม่ายกเข้ามาถึง ไทยตีกองทัพพม่าแตกกลับออกไป แลว่า ไทยรักษาเมืองเชียงใหม่ต่อมาอิกหลายปี พวกเมืองเชียงใหม่เอาใจออกหาก ไทยปราบปรามไม่อยู่ จึงได้ทิ้งเมืองเชียงใหม่เสีย

เหตุสงครามคราวนี้เนื่องต่อคราวที่ ๑๙ ที่กล่าวมาแล้ว เรื่องปรากฎในพระราชพงษาวดารว่า เมื่อจีนยกกองทัพมาติดเมืองอังวะ พระเจ้าหงษาวดีให้มังนันทมิตร์ พม่าซึ่งเปนอาว์ของพระเจ้าหงษาวดี ลงมาครองเมืองเมาะตะมะ ให้เกณฑ์กองทัพมอญขึ้นไปช่วยรักษาบ้านเมืองอังวะ พวกมอญเปนขบถขึ้น พากันจับมังนันทมิตร์ แล้วอพยพครอบครัวมอญเปนจำนวนคนหมื่นเศษเข้ามาสามิภักดิ์สมเด็จพระนารายน์มหาราช มีรับสั่งให้แต่งกองทัพออกไปรับครอบครัวมอญเข้ามากรุงศรีอยุทธยา ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่สามโคกบ้าง ที่คลองคูจาม แลที่ริมวัดตองปุ จังหวัดพระนครบ้าง พระเจ้าหงษาวดีได้ทราบว่า มอญเมาะตะมะเปนขบถ จึงจัดกองทัพให้มังสุระราชาคุมพล ๓๐,๐๐๐ ยกเข้ามาติดตามครัวมอญ มังสุระราชามีหนังสือเข้ามาถึงเมืองกาญจนบุรีว่า ให้ส่งครัวมอญไปให้โดยดี ถ้าไม่ส่ง จะยกกองทัพเข้ามาชิงเอาครัวมอญไปให้จงได้ สมเด็จพระนารายน์มหาราชจึงดำรัสส่งให้จัดกองทัพมีจำนวนพล ๕๐,๐๐๐ ให้เจ้าพระยาโกษาธิบดี ขุนเหล็ก เปนแม่ทัพ ยกออกไปต่อสู้พม่า แลให้มีตราให้หากองทัพที่ตั้งอยู่ทางเมืองเชียงใหม่ให้ยกลงมาบรรจบรบพม่าด้วย กองทัพพม่ายกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ประทะทัพเจ้าพระยาโกษาฯ ขุนเหล็ก ที่ท่าดินแดง แขวงเมืองไทรโยก รบพุ่งติดพันกันอยู่ พอกองทัพไทยฝ่ายเหนือยกลงมาถึง เข้าตีโอบทัพพม่า ข้าศึกแตกพ่ายยับเยินกลับไป

สงครามคราวนี้ ในพงษาวดารพม่ากล่าวแต่ว่า มอญเปนขบถ หาได้กล่าวถึงที่กองทัพพม่ายกเข้ามาในเมืองไทยไม่ ในหนังสือพระราชพงษาวดารก็ไม่ลงศักราชสงครามคราวนี้ไว้ให้ปรากฎ แต่ประมาณดู จะอยู่ราวปีขาล จุลศักราช ๑๐๒๔ พ,ศ, ๒๒๐๕

เรื่องสงครามคราวนี้ ในพงษาวดารพม่ากับหนังสือพระราชพงษาวดารมีเนื้อความยุติต้องกันเพียงว่า ไทยได้ยกกองทัพออกไปตีเมืองพม่า แต่ผิดกันในข้อสำคัญ ในพระราชพงษาวดารว่า เจ้าพระยาโกษาฯ ขุนเหล็ก ได้เมืองย่างกุ้ง เมืองแปร เมืองตองอู เมืองหงษาวดี แล้วขึ้นไปล้อมเมืองอังวะ ขาดสเบียงอาหาร จึงต้องยกกลับมา ฝ่ายข้างพงษาวดารพม่าว่า ไทยยกไปตีเพียงเมืองเมาะตะมะกับเมืองทวาย ไปเสียที ต้องเลิกทัพกลับมา พิเคราะห์ดูแผนที่ เห็นว่า ความจริงเห็นจะไม่ได้ขึ้นไปถึงเมืองอังวะ ด้วยเวลานั้น เมืองหงษาวดียังเปนราชธานีของพม่า มิใช่เมืองอังวะเปนราชธานีดังกล่าวในพระราชพงษาวดาร ที่จะเดิรทัพทางลุ่มแม่น้ำเอราวดีขึ้นไปถึงเมืองอังวะทางไกลมาก แลจะต้องผ่านแดนข้าศึกที่เปนเมืองใหญ่ไปหลายเมือง แม้เมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรจะเสด็จไปตีเมืองอังวะ ยังเดิรกองทัพหลวงทางเมืองเชียงใหม่ไปทางเมืองหาง เพื่อจะเดิรในแดนข้าศึกให้ใกล้ กองทัพเจ้าพระยาโกษาฯ ขุนเหล็ก เปนแต่ทัพขุนนาง เห็นจะเดิรทางลุ่มแม่น้ำเอราวดีตั้งแต่เมืองเมาะตะมะขึ้นไปถึงเมืองอังวะไม่ได้ ความข้อนี้ผู้ศึกษาโบราณคดีก็มีความสงไสยกันอยู่แต่ก่อนแล้ว

เหตุที่เกิดสงครามคราวนี้ก็เนื่องกับสงครามคราวที่ ๒๐ คือ เมื่อกองทัพพม่าที่เข้ามารบกับเจ้าพระยาโกษาฯ ขุนเหล็ก ที่ไทรโยกแตกยับเยินออกไปแล้ว สมเด็จพระนารายน์มหาราชทรงพระราชดำริห์เห็นการสงครามเปนที ด้วยพวกมอญเปนใจเข้ากับไทย แลพม่าก็แพ้ไป จึงโปรดให้เจ้าพระยาโกษาฯ ขุนเหล็ก ยกกองทัพจำนวนพล ๙๐,๐๐๐ ออกไปตีเมืองพม่า ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า ครั้งนั้น กองทัพไทยเดิรออกไปหลายทาง ไปทางด่านพระเจดิย์สามองค์บ้าง ทางด่านเขาปูนบ้าง ด่านสลักพระ แขวงเมืองอุไทยธานีบ้าง ด่านเขาสูงทางเมืองทวายบ้าง เดิรทางด่านแม่สอด เมืองตากบ้าง ไปตั้งล้อมเมืองอยู่ แต่ไปขัดเสบียงอาหารต้องถอยทัพกลับมา การสงครามครั้งนี้ ในหนังสือพระราชพงษาวดารลงศักราชไว้ว่าปี ขาล จุลศักราช ๑๐๒๔ พ,ศ, ๒๒๐๕

พม่ากับไทยรบกันคราวนี้แล้วก็เลิกสงครามต่อกันมาช้านานเกือบร้อยปี ด้วยในระหว่างนั้น พม่าเสื่อมอำนาจถอยกำลังลงจนมอญกลับตั้งตัวเปนอิศระได้ ในที่สุด พวกมอญจับพระเจ้าแผ่นดินพม่าได้ สิ้นเชื้อสายเจ้าแผ่นดินพม่าที่สืบวงษ์ของพระเจ้าหงษาวดีบุเรงนอง นายบ้านพม่าชื่อง อองจัยยะ จึงตั้งตัวเปนใหญ่ รบพุ่งชนะมอญ รวมอาณาจักร์มอญพม่าเข้าได้ดังแต่ก่อน ตั้งตัวเปนพระเจ้าอลองพญา ที่ไทยเราเรียกว่า พระเจ้ามังลอง ครองเมืองรัตนสิงห์เปนราชธานี พม่าจึงเกิดสงครามขึ้นกับไทยอิก

เหตุที่จะเกิดสงครามคราวนี้ เดิมเมื่อพระเจ้าอลองพญาตั้งตัวเปนใหญ่ขึ้นในเมืองพม่าแล้วยกกองทัพมาปราบปรามหัวเมืองมอญ พวกมอญที่พ่ายแพ้พากันอพยพหลบหนีเข้ามาในราชอาณาเขตร์กรุงศรีอยุทธยามาก เมืองทวายก็มาขอขึ้นกรุงศรีอยุทธาด้วยกลัวอำนาจพม่า พระเจ้าอลองพญามีไชยชนะมอญ จับได้พระยาหงษาวดี แลได้หัวเมืองมอญไว้ในอำนาจ แต่การยังไม่เปนปรกติดี ด้วยยังมีพวกแม่ทัพนายกองของพระยาหงษาวดีที่แตกฉานไปเที่ยวหลบหลีกอยู่หลายแห่ง พระเจ้าอลองพญายกกองทัพหลวงกลับขึ้นไปตีพวกกระแซทางเมืองมณีบุระ ทางข้างเมืองมอญมีแม่ทัพมอญซึ่งหลบหนีอยู่คน ๑ รวบรวมกำลังจู่โจมเจ้าตีได้เมืองซีเรียมซึ่งอยู่ใกล้ทเลริมแม่น้ำเอราวดีข้างตะวันตก กองทัพพวกพม่าที่อยู่รักษาเมืองมอญคุมกำลังไปตีเมืองซีเรียม พระยามอญรักษาเมืองซีเรียมไว้ไม่ได้ จึงอพยพครอบครัวขนเอาทรัพย์สมบัติลงเรือกำปั่นของฝรั่งเศสซึ่งไปค้าขายอยู่ที่เมืองซีเรียมแล่นออกทเลจะไปอาไศรยอยู่หัวเมืองของฝรั่งเศสในอินเดีย เรือนั้นถูกพายุพัดซัดมาทางตะวันออก ต้องเข้าไปอาไศรยซ่อมแซมในอ่าวเมืองมฤทซึ่งเปนเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าอลองพญาให้มาขอตัวพระยามอญกับทั้งเรือกำปั่นที่พระยามอญเอามา ข้างกรุงศรีอยุธยาตอบไปว่า เรือกำปั่นเปนเรือของฝรั่งเศส ถูกพายุเข้าไปอาไศรยซ่อมแซมในอ่าวเมืองมฤท ไม่มีเหตุอะไรที่ไทยจะจับกุมไว้ เมื่อซ่อมแซมแล้วจึงปล่อยให้กลับไป พระเจ้าอลองพญาขัดเคืองด้วยเรื่องนี้ ครั้นตีเมืองกระแซได้แล้ว พระเจ้าอลองพญายกกองทัพลงมาฉลองพระเกษธาตุที่เมืองย่างกุ้งซึ่งปฏิสังขรณ์สำเร็จเมื่อปีเถาะ จุลศักราช ๑๑๒๑ พ,ศ, ๒๓๐๒ ครั้นฉลองพระเกษธาตุแล้ว พระเจ้าอลองพญาจึงจัดกองทัพบกทัพเรือเปนจำนวนพล ๘,๐๐๐ ให้มังระ ราชโอรส กับมังฆ้องนรธา (ในพระราชพงษาวดารเรียกว่า แมงละแมงข้อง) ยกลงมาตีเมืองทวาย เมื่อตีเมืองทวายได้แล้ว ได้ข่าวว่า เรือค้าขายทั้งที่มาจากประเทศอื่นแลที่หลบหนีไปจากเมืองทวายไปอาไศรยอยู่ในเขตร์แดนไทยที่เมืองตนาวศรีแลเมืองมฤทมาก พระเจ้าอลองพญาจะใคร่ได้เรือแลทรัพย์สิ่งของ จึงยกเหตุข้อที่ไทยขาดทางไมตรีด้วยไม่ยอมส่งพระยามอญ ให้กองทัพพม่ายกเลยมาตีเมืองตนาวศรีแลเมืองมฤท จะเปนด้วยไทยไม่ได้คาดว่า พม่าจะมาตี หรือจะเปนด้วยความอ่อนแอของไทยในเวลานั้นเอง อย่างใดอย่างหนึ่งนี้ พม่าตีเมืองตนาวศรีแลเมืองมฤทได้โดยง่าย จนพม่าเองก็ปลาดใจว่า เหตุไรไทยจึงต่อสู้จนอ่อนแอนัก พม่าได้ใจ จึงให้ยกกองทัพข้ามแหลมมลายูเข้ามาทางด่านสิงขรข้างหลังเกาะหลัก ประสงค์จะลองเที่ยวตีปล้นหาเชลยแลทรัพย์สมบัติต่อเข้ามาในแดนไทย แล้วแต่จะมาได้เพียงไร ถ้ามาติดเพียงไหน ก็จะกลับไป ไม่ได้เข้าใจว่า จะเข้ามาได้จนถึงกรุงศรีอยุทธยาในคราวนั้น จริงอยู่ผู้แต่งพงษาวดารพม่ากล่าวว่า พระเจ้าอลองพญาตั้งพระไทยจะเข้ามาตีกรุงศรีอยุทธยา ซึ่งควรเชื่อว่า เปนความประสงค์ของพระเจ้าอลองพญาเหมือนกับพระเจ้าแผ่นดินพม่าองค์ก่อน ๆ ถ้าองค์ใดได้อาณาจักร์พม่า มอญ กระแซ แลยะไข่ รวมอยู่ในอำนาจแล้ว ก็เปนเกิดความประสงค์ที่จะตีเมืองไทยต่อมาทุกคราว แต่ที่เห็นได้ว่า พม่าไม่ได้ตั้งใจจะตีเข้ามาถึงกรุงศรีอยุทธยาในคราวที่กล่าวนี้นั้น ด้วยเดิรกองทัพเข้ามาทางด่านสิงขรอันเปนทางไกลแลเปนทางที่เสียเปรียบไทยในกระบวนยุทธมากนัก เพราะต้องเดิรเข้ามาในทางแคบ มีเขาข้าง ๑ ทเลข้าง ๑ ข้างไทยอาจจะต่อสู้ทำอันตรายได้ทั้งทางบกแลทางน้ำ ถ้าไทยต่อสู้จริง ๆ ยากที่จะมาถึงกรุงศรีอยุทธยาได้ ที่พม่าเคยตีกรุงศรีอยุทธยามาแต่ก่อนหรือในคราวหลัง ๆ ต่อคราวนี้ไป เดิรแต่ทางด่านพระเจดีย์ ๓ องค์กับด่านแม่สอด ไม่ได้เดิรทางด่านสิงขรเลยสักคราวเดียว

ฝ่ายข้างกรุงศรีอยุทธยาในสมัยนั้นเปนเวลากำลังเสื่อมทรามด้วยเหตุหลายอย่าง ว่าโดยย่อ คือ

 เกิดเหตุที่รบพุ่งกันเองในการแย่งชิงราชสมบัติมาหลายครั้งหลายคราว ข้าราชการที่เข้มแขงทัพศึกหรือรอบรู้ราชการบ้านเมืองถูกฆ่าฟันล้มตายเสียมาก ตัวคนที่เข้ามามีตำแหน่งในราชการโดยมากสำส่อน ไม่ชำนิชำนาญการงาน

 เปนเวลาที่ปราศจากความสามัคคีต่อกัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์มีลูกเธอเปนเจ้าฟ้าชาย ๓ พระองค์ คือ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ เปนพระองค์ใหญ่ ได้เปนพระมหาอุปราช สิ้นพระชนม์ไปเสีย พระองค์ที่ ๒ เจ้าฟ้าเอกทัศ เปนกรมขุนอนุรักษ์มนตรี พระราชบิดารับสั่งว่า โง่เขลา ไม่ควรจะครองราชสมบัติ จึงต้องออกทรงผนวชเสีย ทรงตั้งเจ้าฟ้าพระองค์น้อย คือ เจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต เปนพระมหาอุปราช สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ยังมีพระองค์เจ้าชายลูกเธอ ๔ พระองค์ เปนกรมหมื่นเทพพิพิธ องค์ ๑ กรมหมื่นจิตร์สุนทร องค์ ๑ กรมหมื่นสุนทรเทพ องค์ ๑ กรมหมื่นเสพภักดี องค์ ๑ ทั้ง ๔ องค์นี้พระชัณษาเปนผู้ใหญ่กว่าเจ้าฟ้าอุทุมพร พระมหาอุปราช มาก กรมหมื่นเทพพิพิธชอบกับเจ้าฟ้าอุทุมพร แต่อิก ๓ องค์ไม่เข้ากัน เปนอริมาแต่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์สวรรคตเมื่อปีขาล จุลศักราช ๑๑๒๐ พ,ศ, ๒๓๐๑ เจ้าฟ้าอุทุมพร พระมหาอุปราช ได้ราชสมบัติ มีเหตุเกิดระแวงกันขึ้นกับเจ้า ๓ กรม คือ กรมหมื่นจิตร์สุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ กรมหมื่นเสพภักดี ให้จับสำเร็จโทษเสียทั้ง ๓ องค์ แล้วเชิญเจ้าฟ้าเอกทัศ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี ลาผนวชให้มาช่วยคิดอ่านราชการ เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีเข้ามาอยู่ด้วยในพระราชวัง แล้วเข้าเกี่ยวข้องหมองยุ่งในราชการต่าง ๆ จนสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรมีความรำคาญ มิรู้ที่จะทำประการใด ด้วยร่วมพระอุทรอันเดียวกัน เกรงจะเกิดเปนปรปักษ์กันขึ้น จึงถวายราชสมบัติแก่เจ้าฟ้าเอกทัศ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี แล้วเสด็จออกทรงผนวช ครั้นเจ้าฟ้าเอกทัศ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี ขึ้นครองราชสมบัติ ความเกี่ยงแย่งก็เกิดขึ้นในหมู่ข้าราชการ มีขุนนางพวก ๑ เปนขบถ คิดจะปลงพระเจ้าเอกทัศลงจากราชสมบัติ พวกนี้ไปปฤกษากับกรมหมื่นเทพพิพิธ ความทราบถึงสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ ด้วยพวกขบถไปทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรให้ครองราชสมบัติ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรทูลความให้สมเด็จพระเชษฐาธิราชทราบ แต่ทูลขออย่าให้ประหารชีวิตร์พวกขบถ ด้วยพระองค์ผู้ทูลความเปนสมณะ เกรงจะมัวหมองทางพระวินัย สมเด็จพระเอกทัศจึงให้จับหัวน่าพวกขบถจำไว้ ส่วนกรมหมื่นเทพพิพิธนั้นให้ฝากเรือกำปั่นไปปล่อยเสียลังกาทวีปด้วยทรงผนวชเปนภิกษุภาวนาอยู่ ในเวลากำลังยุ่งกันอยู่อย่างนี้ ศึกพม่าก็มีเข้ามาเมื่อปีเถาะ จุลศักราช ๑๑๒๑ พ,ศ, ๒๓๐๒

ตามความที่ผู้หลักผู้ใหญ่เล่าสืบต่อกันมา ยุติต้องกับจดหมายเหตุครั้งนั้น เช่น หนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า แลรายการที่ปรากฎในพระราชพงษาวดาร ตลอดจนพงษาวดารพม่า แลจดหมายเหตุของพวกบาตหลวงที่อยู่ในกรุงศรีอยุทธยาเวลานั้น ว่า กำลังผู้คน สะเบียงอาหาร แลเครื่องสาตราวุธทั้งปวง กรุงศรีอยุทธยามีบริบูรณ์ทุกอย่าง ครั้งนั้น ขาดแต่ผู้ที่มีความสามารถจะคิดอ่านแลบัญชาการศึก ไม่ได้สืบสวนว่า ข้าศึกจะมาทางไหนบ้าง แลกำลังข้าศึกมากน้อยเท่าใด ได้ข่าวหัวเมืองบอกเข้ามาว่า สืบสวนได้ความว่า ข้าศึกจะยกเข้ามาทางไหน ก็แต่งกองทัพออกไปคอยต่อสู้ข้าศึกทางนั้น มีจำนวนกองทัพปรากฎในคำให้การชาวกรุงเก่าว่า ให้พระยารัตนาธิเบศร์ ผู้ว่าที่ธรรมาฯ ยกไปคอยต่อสู้พม่าที่มาทางเมืองตนาวศรี ทัพ ๑ ให้พระยาพระคลังยกไปตั้งที่เมืองราชบุรี ทัพ ๑ ให้พระยาสีหราชเดโชไชยยกไปคอยต่อสู้พม่าที่จะมาทางด่านพระเจดีย์ ๓ องค์ แขวงกาญจนบุรี ทัพ ๑ ให้เจ้าพระยาอภัยราชายกไปคอยต่อสู้พม่าที่จะยกมาทางด่านแม่สอด ทัพ ๑ แต่ที่จริง คราวนั้น พม่ายกมาจากทางเมืองตนาวศรีทางเดียว

เมื่อพระเจ้าอลองพญาเห็นว่า ตีเมืองมฤท เมืองตนาวศรี ได้โดยง่ายดาย สั่งให้กองทัพน่ายกเลยเข้ามาแล้ว พระเจ้าอลองพญาจึงตกลงยกทัพหลวงตามมาทีหลัง กองทัพไทยที่ไปต่อสู้ทางนี้ พระยายมราชถือพล ๓,๐๐๐ ไปตั้งอยู่ที่แก่งตุ่ม ใต้เมืองกุย กองทัพพระยารัตนาธิเบศร์ตั้งอยู่ที่เมืองกุย พม่าตีกองทัพพระยายมราชแตกในเวลาเดียว พระยารัตนาธิเบศร์รู้ว่า ทัพพระยายมราชแตก ให้ขุนรองปลัด ชู ซึ่งคุมกองทัพอาศาสมทบลงไปจากกรุงศรีอยุทธยา ด้วยทำนองเชื่อกันว่า เปนผู้มีความรู้วิชาดี คุมกองอาศา ๕๐๐ ไปต่อสู้พม่า ได้สู้รบกันที่ตำบลหว้าขาว ริมชายทเล พวกขุนรองปลัดชูฆ่าฟันพม่าล้มตายมาก แต่ไทยน้อยตัว ลงปลายก็เหลือกำลัง ต้องแตกพ่าย พระยารัตนาธิเบศร์พอรู้ว่า ขุนรองปลัด ชู แตกอิกกอง ๑ ก็ไม่รออยู่ต่อสู้พม่า รีบหนีเข้ามากรุงศรีอยุทธยากับพระยายมราชด้วยกัน พม่าก็ตีเมืองกุย เมืองปราณ เมืองเพ็ชร์บุรี เมืองราชบุรี แลเมืองสุพรรณบุรี ได้สดวกโดยลำดับมา ด้วยไม่มีผู้ใดต่อสู้ จนกองทัพพระเจ้าอลองพญาเข้ามาตั้งอยู่ที่เมืองสุพรรณ์บุรี ข้างในกรุงจึงตกใจกันขึ้น พวกข้าราชการพากันไปทูลวิงวอนสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรให้ลาผนวชออกมาบัญชาการรักษาพระนคร จึงตระเตรียมเอาพระนครเปนที่มั่นตั้งต่อสู้พม่า ให้ก่อกำแพงเมืองข้างด้านเหนือซึ่งใกล้พระราชวังขยายต่อออกไปข้างริมน้ำอิกชั้น ๑ ต้อนคนเข้าในพระนครให้ขึ้นรักษาน่าที่เชิงเทิน แล้วแต่งกองทัพ ให้เจ้าพระยามหาเสนาเปนแม่ทัพ กับพระยารัตนาธิเบศร์ พระยายมราช พระยาราชบังสรร คุมพล ๒๐๐๐๐ เศษ ไปตั้งรับทัพพม่าที่ลำน้ำเอกราช คือ ที่เรียกว่า ลำน้ำปากไห่ตาลาน ทุกวันนี้ พม่ายกเข้ามาจากเมืองสุพรรณ์ ตีกำองทัพไทยที่ตั้งที่ลำน้ำเอกราช พงษาวดารพม่ากล่าวว่า เมื่อพม่าข้ามน้ำเข้าตีค่ายไทยตรงนี้ ไทยรบพุ่งฆ่าฟันพม่าล้มตายลงเปนอันมาก กองทัพน่าพม่าขยั้นอยู่จนกองทัพหลวงพระเจ้าอลองพญายกมาถึง จึงรดมตีกองทัพไทยแตกมาทุกกอง เจ้าพระยามหาเสนา พระยายมราช ถูกอาวุธข้าศึกตาย หนีมาได้แต่พระยารัตนาธิเบศร์กับพระยาราชบังสรร พม่าตีกองทัพไทงที่ลำน้ำเอกราชแตกแล้ว พระเจ้าอลองพญาก็ยกกองทัพหลวงเข้ามาตั้งณทุ่งบางกุ่ม บ้านกระเดื่อง ข้างเหนือพระนคร กองทัพน่าเข้ามาตั้งที่โพธิ์ ๓ ต้น ข้างในกรุงแต่งกองทัพไทยจีนออกไปรบ พม่าก็ตีแตกมา พม่าจึงเข้ามาตั้งถึงพะเนียดแลวัดสามวิหาร แล้วเอาปืนใหญ่เข้ามาตั้งที่วัดราชพรี วัดกระษัตริยา ยิงเข้าไปในพระนคร ข้างไทยยิงโต้ตอบ พม่าจะเข้าไม่ได้ทางนั้น จึงเอาปืนใหญ่ไปตั้งที่วัดน่าพระเมรุยิงเข้าไปในพระราชวัง ในขณะที่พม่าเอาปืนใหญ่มาตั้งยิงพระนครนั้น พระเจ้าอลองพญามาตรวจตราการยิงปืนใหญ่เอง เมื่อวันมายิงพระราชวัง ปืนพม่าแตก ไฟลวกเอาพระเจ้าอลองพญาประชวรอาการมาก พม่าจึงเลิกกองทัพกลับไปเมื่อวัน ค่ำ ปีมโรง จุลศักราช ๑๑๒๒ พ,ศ, ๒๓๐๓ กองทัพพม่าเดินกลับไปทางเมืองตาก ยังไม่ทันออกจากแดนไทย พระเจ้าอลองพญาก็สิ้นพระชนม์ พม่ายกกลับไปคราวนี้ ปรากฎทั้งในพงษาวดารพม่าแลพระราชพงษาวดารว่า ไทยได้แต่งกองทัพยกออกติดตาม ข้างพม่าว่า พม่าตีกองทัพไทยแตกกลับมา แต่ข้างพระราชพงษาวดารว่า ไทยตามไปไม่ทัน ข้าพเจ้าเห็นว่า จะจริงข้างไปไม่ทัน

เมื่อพระเจ้าอลองพญาสิ้นพระชนม์ในปีมะโรง จุลศักราช ๑๑๒๒ พ,ศ, ๒๓๐๓ มังลอก ราชโอรสองค์ใหญ่ ได้ครองราชสมบัติเมืองพม่ารามัญ กลับมีเหตุต้องรบพุ่งกันเองอิก ด้วยมังฆ้องนรธา แม่ทัพคน ๑ ซึ่งเข้ามาตีเมืองไทยกับพระเจ้าอลองพญา กลับไปตั้งแขงเมืองที่เมืองอังวะ แล้วสะโต๊ะมหาสุริยอุจนา เจ้าเมืองตองอูผู้เปนอาว์ของพระเจ้ามังลอก ตั้งแขงเมืองขึ้นที่เมืองตองอูอิกแห่ง ๑ พวกกระแซแลพวกมอญก็พากันกระด้างกระเดื่องขึ้นด้วย พระเจ้ามังลอกต้องทำการปราบปรามเสี้ยนศึกภายในอยู่ ๒ ปี ในเวลาเมื่อเมืองพม่าเกิดรบพุ่งกันเองนั้น ขุนนางทวายเก่าคน ๑ ชื่อ หุยตองจา คุมสมัครพรรคพวกเข้าชิงเมืองทวายได้จากพม่าซึ่งพระเจ้าอลองพญาตั้งให้ลงมาเปนเจ้าเมือง พอการรบพุ่งกันทางเมืองพม่าสงบลง หุยตองจากลัวพระเจ้ามังลอกะยกมาตีเมืองทวาย จึงให้ทูตคุมเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวายสมเด็จพระเจ้าเอกทัศสามิภักดิ์ขอขึ้นต่อกรุงศรีอยุทธยา

ฝ่ายข้างกรุงศรีอยุทธยา ตั้งแต่พม่าเลิกทัพกลับไป มีเนื้อความปรากฎในจดหมายเหตุของพวกบาตหลวงว่า ได้ปฤกษาจัดการแก้ไขกระบวนป้องกันพระนคร แลปรากฎในพระราชพงษาวดารว่า ได้สร้างสมเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์บ้าง แต่ไม่ปรากฎว่า ความสามัคคีดีขึ้นอย่างไร เปนต้นว่า สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรที่ลาผนวชออกมาช่วยบัญชาการครั้งพม่าเข้ามาล้อมกรุง เมื่อพม่ากลับไปแล้ว ก็เกิดไม่ถูกพระไทยกับสมเด็จพระเชษฐาธิราช เลยทูลลาออกทรงผนวชเสียอิก ฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธที่ถูกไปปล่อยเมืองลังกา เมื่อพระเจ้าอลองพญาเข้ามาตีกรุงศรีอยุทธยา ได้ข่าวออกไปว่า เสียกรุงแก่พม่า ก็กลับมา เห็นจะมาทั้งเปนพระ มาขึ้นที่เมืองมฤทเมื่อพม่ายกทัพกลับไปแล้ว ความทราบถึงกรุงศรีอยุทธยา มีรับสั่งให้คุมกรมหมื่นเทพพิพิธไว้ที่เมืองมฤท ในสมัยเมื่อว่างสงครามอยู่ ๓ ปีนั้น ทำนองข้างกรุงศรีอยุทธยาตั้งแต่ได้ข่าวว่า พม่าเกิดรบพุ่งกันขึ้นเอง เห็นจะเข้าใจกันว่า พม่าสิ้นพระเจ้าอลองพญาแล้ว คงจะหย่อนกำลังลงเปนอย่างเมื่อครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ คงจะไม่มีศึกพม่าเข้ามาอิก หรือถ้าหากจะมีมา ก็คงสู้ได้ไม่ยาก มีเนื้อความปรากฎในจดหมายเหตุของบาตหลวงที่อยู่กรุงศรีอยุทธยาในครั้งนี้ว่า เมื่อทูตทวายเข้ามา สมเด็จพระเจ้าเอกทัศให้เสนาบดีประชุมปฤกษากันว่า จะควรรับเมืองทวายไว้เปนเมืองขึ้นหรือไม่ มีข้าราชการพวก ๑ ว่า ไม่ควรจะรับ ด้วยเห็นว่า ถ้ารับเมืองทวาย อาจจะเปนเหตุให้เกิดสงครามกับพม่าอิก แต่ข้าราชการโดยมากเห็นว่า ควรจะรับ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศจึงรับเมืองทวายไว้เปนเมืองขึ้นกรุงศรีอยุทธยา

ฝ่ายข้างเมืองพม่า พระเจ้ามังลอกปราบปรามพม่ามอญลงได้เรียบร้อยแล้ว จึงให้อภัยคามณี (เรียกในพงษาวดารว่า อาปะระกามณี) เปนแม่ทัพคุมพล ๗,๕๐๐ เข้ามาตีเมืองเชียงใหม่เมื่อปีมะเมีย จุลศักราช ๑๑๒๔ พ,ศ, ๒๓๐๕ ปรากฎในพระราชพงษาวดารว่า พระยาจันทร์ เจ้าเมืองเชียงใหม่ ให้มาสามิภักดิ์ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศก็รับเมืองเชียงใหม่ไว้เปนเมืองขึ้น แล้วดำรัสสั่งให้เจ้าพระยาพิศณุโลกยกกองทัพขึ้นไปช่วยป้องกันเมืองเชียงใหม่ แต่กองทัพเมืองพิศณุโลกไม่ทันยกไป พม่าตีได้เมืองเชียงใหม่เสียก่อน จับพระยาจันทร์และท้าวพระยาผู้ใหญ่ไปไว้เมืองพม่า พระเจ้ามังลอกจึงตั้งให้อภัยคามณีเปนเจ้าเมืองเชียงใหม่แต่นั้นมา พระเจ้ามังลอกครองราชสมบัติอยู่ ๓ ปี ยังไม่ทันให้ลงมาตีเมืองทวาย ก็สิ้นพระชนม์ในปีมะเมีย จุลศักราช ๑๑๒๔ นั้น พระเจ้ามังระ ราชอนุชา ได้ราชสมบัติ ทางเมืองเชียงใหม่พม่ายังปราบปรามไม่ได้เรียบร้อย ด้วยพวกท้าวพระยาที่เปนเจ้าเมืองต่าง ๆ ในลานนาคบคิดกับเจ้านครหลวงพระบางจะตีเอาเมืองเชียงใหม่คืนจากพม่า พระเจ้ามังระจึงให้เนเมียวสีหบดีเปนแม่ทัพคุมพล ๒๐,๐๐ ยกไปปราบปรามพวกขบถทางเมืองเชียงใหม่เมื่อปลายปีมะแม จุลศักราช ๑๑๒๕ พ,ศ, ๑๓๐๖ ทาง ๑ ให้ มังมหานรธาเปนแม่ทัพคุมพล ๒๐,๐๐๐ ลงมาตีเมืองทวายอิกทาง ๑ ส่วนพระเจ้ามังระเองยกกองทัพขึ้นไปปราบปรามพวกกระแซทางเมืองมณีบุระ

กองทัพมังมหานรธายกลงมาตีเมืองทวายเมื่อเดือนอ้าย ปีวอก จุลศักราช ๑๑๒๖ พ,ศ, ๒๓๐๗ หุยตองจา เจ้าเมืองทวาย ต่อสู้พม่าไม่ได้ จึงลงเรือหนีมาอาไศรยอยู่เมืองมฤทในอาณาเขตร์ไทย พม่าจะให้ไทยส่งตัวหุยตาจองให้ ไทยไม่ยอมส่ง พม่าได้เมืองทวายแล้ว ก็ยกกองทัพเรือ มีจำนวนเรือรบ ๖๐ ลำ ตามลงมาตีเมืองมฤทเมื่อเดือนยี่ ปีวอก ผู้คนพลเมืองพากันหนีเข้าป่า ไม่มีผู้ใดต่อสู้ พม่าได้เมืองมฤทแล้วจึงแบ่งกอทัพกอง ๑ ให้ยกติดตามหุยตองจากับกรมหมื่นเทพพิพิธลงมาเมืองกระบุรี ส่วนกองทัพมังมหานรธายกกลับไปเมืองตนาวศรี ก็ได้เมืองโดยง่าย ด้วยไม่มีผู้ใดต่อสู้อิก พม่าเก็บริบทรัพย์จับคนเปนเชลยได้พอแล้ว ก็ให้เผาเมืองเสียทั้งเมืองมฤทแลเมืองตนาวศรี ส่วนพม่าพวกที่ยกลงมาเมืองกระบุรีก็ทำอย่างเดียวกัน เที่ยวตีปล้นริบทรัพย์จับเชลยแจกจ่ายกันเรื่อยมา ด้วยไม่มีผู้ใดต่อสู้ พม่าก็ได้ใจ เลยเดินข้ามจากเมืองกระบุรีเข้ามาตีได้เมืองชุมพร เมืองไชยา แล้วย้อนขึ้นมาตีเมืองปทิว เมืองบางตะพาน ทางริมทเลข้างน่าใน จนเมืองกุย เมืองปราณ ทำนองจะได้ข่าวว่า กองทัพกรุงยกลงไปถึงเมืองเพ็ชร์บุรี พม่าก็พากันยกกลับออกไปเมืองทวายทางด่านสิงขร หุยตองจา ทวาย กับกรมหมื่นเทพพิพิธ หนีพม่าขึ้นมาที่เมืองเพ็ชร์บุรี ข้างกรุงศรีอยุทธยาให้ข้าหลวงเอาหุยจองตาไปคุมไว้ที่เมืองชลบุรี กรมหมื่นเทพพิพิธนั้นให้ไปคุมไว้ที่เมืองจันทบุรี ที่จริงพม่าที่เข้ามาถึงหัวเมืองชายทเลน่าในครั้งนั้นเปนแต่กองทัพน่าจู่เข้ามาเที่ยวเผาบ้านเรือนปล้นเก็บทรัพย์จับผู้คนไปเปนเชลยอย่างขะโมยกองใหญ่ ๆ หากไม่มีใครต่อสู้ จึงทำได้ตามชอบใจ แต่ตัวมังมหานรธา แม่ทัพนั้น กลับไปตั้งอยู่ที่เมืองทวาย หาได้ยกเข้ามาไม่

พม่ายกมาคราวนี้มีเนื้อความปรากฎในคำให้การพวกกรุงเก่าว่า ที่กรุงศรีอยุทธยา ให้กองทัพยกออกไปช่วยรักษาเมืองตนาวศรี พระยาพิพัฒนโกษาเปนแม่ทัพ พระเจ้ากรุงธนบุรี ในหนังสือนั้นเรียกว่า "พระยาตากสิน" ก็ไปในกองทัพนั้นด้วย แต่ไม่ปรากฎในที่ใด ๆ ว่า กองทัพไทยได้รบกับพม่าที่ยกมาคราวนี้ จึงเข้าใจว่า ยกไปไม่ทัน เห็นจะไปถึงราวเมืองเพ็ชร์บุรี ได้ข่าวว่า พม่ายกกลับไปหมดแล้ว ก็ให้หากองทัพกลับเพียงนั้น

พม่ายกมาคราวนี้ ในหนังสือพงษาวดารพม่ากล่าวว่า เมื่อมังมหานรธาตีได้หัวเมืองข้างใต้แล้ว ก็ยกเลยขึ้นมากรุงศรีอยุทธยา ผิดกับที่กล่าวในหนังสือพระราชพงษาวดาร ข้าพเจ้าเห็นว่า ความจริงถูกอย่างพระราชพงษาวดาร ๆ เปนแต่ลงศักราชผิดอยู่แห่ง ๑ ดังจะปรากฎต่อไปข้างน่า ด้วยตามความที่พม่ากล่าว พิเคราะห์ทางแผนที่เลอะเทอะ ว่า ยกจากเมืองทวายมาตีเมืองปราณ เมืองเพ็ชร์บุรี ได้แล้วก็ตีเมืองชุมพร ไชยา ต่อขึ้นมาจนถึงกรุงศรีอยุทธยา ดังนี้ จะเชื่อว่าเปนความจริงไม่ได้ แต่ฝ่ายข้างพระราชพงษาวดารเอาสงครามนี้ไปเชื่อมต่อเปนคราวเดียวกับที่พม่าเข้ามาตีกรุงครั้งหลัง ข้าพเจ้าพิจารณาดูรายการที่ปรากฎในเรื่องการรบ เห็นเปนคนละคราว ถึงระยะเวลาไม่สู้ห่างกันนัก ก็มีระยะหยุดการสงครามแล้วตั้งต้นใหม่ ข้าพเจ้าจึงกำหนดสงครามนี้แยกออกเปนคราว ๑ ต่างหาก

ที่จะเกิดสงครามคราวนี้ ไม่ปรากฎเหตุอย่างอื่นนอกจากพม่าเห็นว่า ไทยอ่อนแอปลกเปลี้ยจะทำร้ายได้ ก็ยกเข้ามา แลความตั้งใจที่ยกเข้ามานั้น ทั้งในหนังสือพระราชพงษาวดารแลพงษาวดารพม่ากล่าวว่า ตั้งใจจะเข้ามาตีกรุงศรีอยุทธยา แต่เมื่อพิเคราะห์ดูรายการสงคราม ประกอบกับวิธีที่พม่ายกเข้ามารบพุ่งในชั้นแรก ข้าพเจ้าสงไสยว่า ต่อเมื่อเสียกรุงแล้ว จึงกล่าวกันว่า พม่าตั้งใจจะตีกรุงศรีอยุทธยามาแต่แรก ที่จริงนั้น เมื่อแรกยกเข้า น่าจะตั้งใจเพียงเข้ามาปล้นบ้านเมืองเอาทรัพย์สมบัติแลจับคนไปเปนเชลย (ที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า เรด) แล้วแต่จะได้เท่าใด ก็เอาเท่านั้น ถ้าเห็นจะทำต่อไปไม่ได้เมื่อใด ก็จะยกกลับไป อย่างเดียวกับที่พม่าตีหัวเมืองปักษ์ใต้ที่กล่าวมาแล้วในสงครามคราวที่ ๒๓ ครั้นเห็นทำการได้สดวก ด้วยไทยอ่อนแอเสียเต็มที พม่าได้ใจ จึงเลยเข้าตีเอาราชธานี

พม่ายกมาคราวหลังนี้จัดเปน ๒ กองทัพ กองทัพข้างใต้ให้มังมหานรธายกเปนแม่ทัพเข้ามาทางด่านพระเจดีย์ ๓ องค์ กองทัพข้างเหนือให้เนเมียวสีหบดี (ในพระราชพงษาวดารเรียกว่า เนเมียวมหาเสนาบดี) ซึ่งเปนแม่ทัพ ยกไปปราบปรามเมืองเชียงใหม่แลเมืองหลวงพระบางได้ราบคาบแล้วนั้น ยกลงมาทางข้างเหนืออิกทาง ๑ ตามรายการที่ปรากฎในหนังสือต่าง ๆ สอบสวนได้ความว่า ทั้งมังมหานรธาแลเนเมียวสีหบดีให้กองทัพน่ามีจำนวนพลฝ่ายละ ๕,๐๐๐ ยกเข้ามาในแดนไทยเมื่อเดือน ๗ ปีระกา จุลศักราช ๑๑๒๗ พ,ศ, ๒๓๐๘

วิธีพม่ายกเข้ามาครั้งนั้นปรากฎในพงษาวดารพม่าว่า กำหนดเปนอุบายไว้อย่าง ๑ คือ ถ้าเมืองไหนหรือแม้แต่ตำบลบ้านไหนต่อสู้ พม่าตีได้แล้ว เก็บริบทรัพย์สมบัติเอาจนหมด ผู้คนก็จับเปนเชลยส่งไปเมืองพม่า แล้วให้เผาบ้านช่องเสียไม่ให้เหลือ ถ้าบ้านไหนเมืองไหนเข้าอ่อนน้อมต่อพม่าโดยดี พม่าให้กระทำสัตย์แล้ว ไม่ปล้นสดมภ์เก็บริบทรัพย์สมบัติ เปนแต่เรียกเอาเสบียงอาหารผู้คนพาหนะมาใช้สรอยการทัพตามแต่จะต้องการ ด้วยเหตุนี้ ตามหัวเมืองรายทางที่พม่ายกผ่านเข้ามา ปรากฎในพงษาวดารพม่าว่า บางแห่งก็สู้รบ บางแห่งก็เข้าอ่อนน้อมต่อพม่าโดยดี กองทัพน่าพม่าที่ยกลงมาทางเหนือต้องตีเมืองตาก เมื่อได้เมืองตากแล้ว บ้านระแหง เมืองกำแพงเพ็ชร์ (เวลานั้น ว่างเจ้าเมือง พระยาตากสินเข้ามารับตำแหน่งเปนพระยากำแพงเพ็ชร์ ยังอยู่ในกรุง) แลเมืองนครสวรรค์ ก็ยอมอ่อนน้อมโดยดี กองน่าพม่าที่ยกลงมาทางเหนือจึงลงมาตั้งรวบรวมเสบียงอาหารแลพาหนะอยู่ที่เมืองกำแพงเพ็ชร์กอง ๑ อยู่ที่เมืองนครสวรรค์กอง ๑

ได้ความตามจดหมายเหตุของพวกบาตหลวงว่า ในปีวอก พ,ศ, ๒๓๐๘ เมื่อพม่ายกมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ (คราวที่ ๒๓) นั้น ที่กรุงศรีอยุทธยาได้กะเกณฑ์เตรียมกองทัพหลายกอง แต่เมื่อพม่าเลิกทัพกลับไปเมืองทวาย ไทยสำคัญว่า สิ้นสงคราม จึงปล่อยคน เลิกการเกณฑ์ ครั้นได้ข่าวว่า พม่ายกเข้ามาอิก จึงต้องลงมือกะเกณฑ์กันใหม่ ทำนองจะรีบรวบรวมพลพอเข้ากองทัพได้กอง ๑ ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า ให้พระพิเรนทรเทพคุมพล ๓,๐๐๐ ออกไปต่อสู้พม่าที่เข้ามาทางด่านพระเจดีย์ ๓ องค์ ได้รบกันที่เมืองกาญจนบุรีเก่าที่เขาชนไก่ พม่ามากกว่า ตีกองทัพพระพิเรนทรเทพแตกยับเยินมา พม่ากองนั้นจึงตามเข้ามาจนถึงแม่น้ำราชบุรี มาตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลลูกแกแห่ง ๑ ตำบลตอกระออมแห่ง ๑ ที่ดงรังหนองขาวแห่ง ๑ ในคราวเดียวกับพม่าที่ยกลงมาทางเหนือมาตั้งที่เมืองนครสวรรค์แห่ง ๑ ที่เมืองกำแพงเพ็ชร์แห่ง ๑ ดังกล่าวมาแล้วนั้น ไม่ปรากฎว่า มีกองทัพไทยไปต่อสู้ในตอนนี้ทั้ง ๒ ทาง ได้ความแต่ว่า โปรดให้เจ้าพระยาพิศณุโลกขึ้นไปบัญชาการต่อสู้รักษาหัวเมืองเหนือ ส่วนที่กรุง ดูเหมือนจะกะเกณฑ์กองทัพกันอยู่สัก ๓ เดือน ในระหว่างนั้น กองทัพน่าพม่า ทั้งกองที่มาตั้งอยู่ข้างเหนือแลที่มาตั้งอยู่ในแขวงราชบุรี ก็เที่ยวปล้นสดมภ์หาเสบียงอาหารแลพาหนะมาสะสม ที่ไหนใครต่อสู้ ก็เผาบ้านเรือนเก็บทรัพย์จับผู้คนเปนเชลยส่งตัวไปเมืองพม่า ที่ใครยอมอ่อนน้อม ก็เอาไว้ใช้สรอยในกองทัพ ผู้คนพลเมืองแตกฉานซ่านเซ็น ไม่มีผู้ใดต่อสู้ พม่าจึงได้ใจ พวกกองใต้ยกไปปล้นได้เมืองราชบุรี เมืองเพ็ชร์บุรี เก็บทรัพย์จับผู้คนได้แล้ว ก็กลับมาอยู่ที่ค่ายเดิม พวกพม่าทางข้างเหนือก็ทำอย่างเดียวกันลงมาจนเมืองอ่างทอง

ถึงเดือน ๑๐ ปีระกา จึงปรากฎว่า มีกองทัพไทยยกออกไปต่อสู้พม่า กล่าวในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า เกณฑ์คนหัวเมืองปักษ์ใต้เข้ากองทัพ จะเปนจำนวนพลเท่าใด แลใครเปนแม่ทัพ หาปรากฎไม่ จัดเปนทัพเรือทัพ ๑ ทัพบกทัพ ๑ ทัพบกไปตั้งอยู่ตำบลบำหรุ ใต้เมืองราชบุรี ทัพเรือตั้งอยู่ที่บางกุ้ง ใต้เมืองราชบุรีเหมือนกัน อิกทัพ ๑ ให้พระยารัตนาธิเบศร์คุมพลเมืองนครราชสิมาลงมารักษาเมืองธนบุรี อิกทัพ ๑ ให้พระยายมราชคุมพลหัวเมืองอื่นรวมกันลงมารักษาเมืองนนทบุรี ทางนครสวรรค์นั้น ปรากฎในคำให้การชาวกรุงเก่าว่า แต่งกองทัพขึ้นไป ๓ ทัพ จำนวนพลเท่าใด ใครเปนแม่ทัพ แลไปตั้งที่ไหนบ้างไม่ ได้ความแน่ ด้วยหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่าเดิมแต่งเปนภาษาพม่า เรียกชื่อเสียงไทยไม่ใคร่ถูก ส่วนจำนวนคนแลกระบวรรบสู้ ไทยไปให้การก็อยู่ข้างจะแรง จึงเอารายการเปนยุติไม่ได้

พอกองทัพไทยยกออกไปถึงเมืองราชบุรี พวกพม่าที่ดงรังหนองขาวก็ยกลงมารบในเดือนนั้น ตีทัพไทยแตกเข้ามาทั้ง ๒ ทัพ พม่าเห็นได้ที ก็ยกติดตามเข้ามาตีเมืองธนบุรี พระยารัตนาธิเบศร์ (ผู้อ่านหนังสือเรื่องนี้ควรจะสังเกตว่า ท่านผู้นี้เปนตัวอุบาทว์มาตั้งแต่รบพม่าคราวแรก แลยังจะปรากฎต่อไปข้างน่าอิก) ไม่ต่อสู้ หนีกลับขึ้นมากรุง พวกกองทัพนครราชสิมาก็พากันกลับไปเมือง พม่าได้เมืองธนบุรีรักษาเมืองไม่ได้ ด้วยกำลังที่ยกไปเปนแต่อย่างกองโจร ครั้นปล้นทรัพย์สมบัติชาวบ้านได้พอแล้ว ก็กลับไปค่ายดงรักหนองขาว การที่รบพุ่งกันตามที่กล่าวมานี้เปนแต่รบพุ่งกับทัพน่าของพม่าที่ยกมาทางเมืองกาญจนบุรี ๕,๐๐๐ กับที่ยกลงมาอยู่เมืองนครสวรรค์ เมืองกำแพงเพ็ชร์ อิก ๕,๐๐๐

เนเมียวสีหบดี แม่ทัพใหญ่ทัพเหนือ คุมพล (พม่าว่า) ทั้ง กองทัพพม่า แลชาวล้านช้าง ลานนา รวมกัน ๔๐,๐๐๐ ยกลงมาจากเมืองเชียงใหม่เมื่อเดือน ๑๑ ปีระกา เดินทัพทางเมืองสวรรคโลก ศุขโขไทย ตีได้หัวเมืองรายทางเปนระยะเข้ามา ได้ทั้งเมืองสวรรคโลก เมืองศุโขไทย เมืองพิไชย เมืองพิจิตร์ แต่ทำนองเจ้าพระยาพิศณุโลกจะเปนคนเข้มแข็ง จึงรักษาเมืองพิศณุโลกไว้ได้ แต่ก็ไม่ได้มาช่วยสู้รบที่อื่นให้เปนประโยชน์ ด้วยไพร่พลที่ถูกเกณฑ์คราวพม่าตีเมืองปักษ์ใต้ยังค้างอยู่ที่กรุงศรีอยุทธยา ต้องรักษาพระนครข้างด้านเหนือ อีกประการ ๑ เมื่อเจ้าพระยาพิศณุโลกยกไปช่วยเมืองศุโขไทย ทางข้างเมืองพิศณุโลก เจ้าฟ้าจีด ไทยด้วยกันเอง แอบเข้าไปปล้นทรัพย์สมบัติของเจ้าพระยาพิศณุโลก เห็นจะมีเหตุห่วงหลัง จึงตั้งรักษาเมืองพิศณุโลกมั่นไว้ ไม่ได้เสียแก่พม่าในคราวนั้น (ทั้งพม่ากล่าวว่า ได้เมืองพิศณุโลกด้วย)

ฝ่ายทางข้างใต้ มังมหานรธา แม่ทัพใหญ่ ก็ยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์เมื่อเดือน ๑๒ ปีระกา (พม่าว่า) กำลังกองทัพนี้ทั้งพม่ามอญทวายรวมกัน ๓๐,๐๐๐ คน ความคิดของมังมหานรธาจะตีตัดทางข้างใต้เอาทางไปมาในแม่น้ำเจ้าพระยาไว้ในอำนาจ ไม่ให้กรุงศรีอยุทธยาหาเครื่องสาตราวุธแลเสบียงอาหารมาเพิ่มเติมได้ดังเคยมาแต่ก่อน พอมังมหานรธายกเข้ามาถึงราชบุรี ก็ให้กองทัพน่าเข้ามาตีเมืองธนบุรีอีก ในเวลานั้น มีเรือกำปั่นพ่อค้าอังกฤษเข้ามากรุงศรีอยุทธยา นายเรือรับอาศาจะลาดตระเวรตามลำน้ำด้วยวิธีเอาปืนใหญ่ลงในเรือกำปั่นแลมีเรือช่วงบรรทุกไพร่พลไปเที่ยวรบ พม่ายกเข้ามาถึงเมืองธนบุรีครั้งหลัง ไม่เห็นผู้ใดอยู่รักษาเมืองธนบุรี ก็เข้ายึดป้อมวิไชยประสิทธิ์ เอาปืนใหญ่บนป้อมยิงโต้ตอบกับเรือกำปั่นอังกฤษ ทางปืนป้อมได้เปรียบปืนเรือกำปั่น อังกฤษจึงถอยเรือกำปั่นกลับขึ้นไปทอดอยู่เหนือเมืองนนทบุรี พระยายมราชซึ่งรักษาเมืองนนทบุรีเห็นเรือกำปั่นอังกฤษถอยหนีข้าศึก ก็เลยหนีขึ้นไปกรุง ไม่ได้อยู่ต่อสู้ พม่าจึงยกขึ้นไปรักษาค่ายที่เมืองนนท์ไว้ทั้ง ๒ ฟาก อังกฤษถอยเรือกำปั่นไปยิงค่ายพม่า พม่าอยู่ไม่ได้ ต้องหลบหนีไปคราวหนึ่ง ทีหลัง พม่าคิดอุบายซุ่มคนไว้ข้างหลังค่าย แต่งกองล่อล่อให้อังกฤษไปยิง แล้วให้พวกนั้นทำแตกหนี พวกอังกฤษสำคัญก็กรูกันเข้าห้อมล้อมฟันล้าตาอังกฤษตายคน ๑ แลฆ่าฟันพวกพลที่ไปกับอังกฤษล้มตายหลายคน พวกอังกฤษแตกหนีไป อังกฤษช่วยสู้รบอยู่หน่อยหนึ่ง ก็แล่นเรือออกอ่าวไปเสียจากเมืองไทย กองทัพมังมหานรธาจึงยกเข้ามาทางเมืองสุพรรณบุรี มาตั้งค่ายที่ตำบลสีกุก ให้กองทัพเรือมาตั้งที่แม่น้ำ ๓ แยกตรงบางไทร ฝ่ายกองทัพเนเมียวสีหบดีก็ลงมาจากทางข้างเหนือ มาตั้งค่ายใหญ่อยู่ที่วัดป่าฝ้ายปากน้ำประสบในคราวเดียวกันเมื่อเดือน ๓ ปีระกา จุลศักราช ๑๑๒๗ พ,ศ, ๒๓๐๘ ในตอนนี้ เห็นได้ว่า พม่าตั้งใจจะตีพระนคร ทำนองแม่ทัพพม่าที่ยกเข้ามาจะเห็นกำลังยังไม่พอที่จะตีกรุงศรีอยุทธยาได้ จึงบอกขอกำลังเพิ่มเติมออกไปยังเมืองอังวะ ความปรากฎว่า พระเจ้าอังวะส่งกองทัพพม่ามอญเพิ่มเติมมาอิก กองทัพมังมหานรธาได้กำลังเพิ่มเติม จึงให้กองทัพน่าเลื่อนขึ้นไปตั้งอยู่ที่วัดโปรดสัตว์

มีเรื่องอัศจรรย์เกิดขึ้นในตอนนี้ ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า มีพวกราษฎรเมืองอ่างทอง เมืองสิงห์ เมืองสรรค์ มีความเจ็บแค้น คบคิดกันจะต่อสู้พม่า ผู้ที่เปนหัวน่าในชั้นแรก ๖ คน ชื่อ นายแท่น ๑ นายโชต ๑ นายอิน ๑ นายเมือง ๑ สี่คนนี้เปนชาวบ้านสีบัวทอง แขวงสิงห์บุรี นายดอก บ้านกรับ ๑ นายทองแก้ว บ้านโพธิ์ทเล ๑ สองคนนี้ เข้าใจว่า ชาวอ่างทอง พวกนี้คุมสมัคพรรคพวกไปฆ่าฟันพม่าที่ไปเที่ยวเลือกหาผู้หญิงตายสัก ๒๐ คน แล้วพากันไปหาพระธรรมโชต วัดเขานางบวช แขวงสุพรรณบุรี ซึ่งนับถือกันว่า เปนผู้มีวิชาความรู้ดี เชิญพระธรรมโชตเปนอาจารย์ พากันมาประชุมอยู่ที่บ้านบางระจันในแขวงสิงห์บุรี เกลี้ยกล่อมชาวบ้านเปนสมัคพรรคพวกได้ประมาณ ๔๐๐ ตั้งค่ายมั่นไว้ ๒ ค่าย คอยสืบสวนได้ความว่า พม่าไปทางแถวนั้นเมื่อใด ก็คุมกันออกรบพุ่งฆ่าฟันพม่าล้มตายลงเสมอ ข่าวรู้ถึงเนเมียวสีหบดี แม่ทัพพม่าข้างเหนือ จึงให้กองทหารออกไปปราบปรามพวกบ้านบางระจัน ออกไปทีไร พวกบางระจันก็รบพุ่งตีพม่าแตกเข้ามา ไทยจึงพากันได้ใจ มีคนเข้าไปเปนสมัคพรรคพวกมากขึ้น แลมีคนสำคัญเข้มแขงในการรบพุ่งปรากฎขึ้นในพวกบางระจันอิกหลายคน คือ นายแท่น นายทองเหมน ๑ พันเรือง กำนัน ๑ ขุนสรรค์ ๑ นายจันหนวดเขี้ยว ๑ นายทองแสงใหญ่ ๑ คนเหล่านี้จะเปนชาวบ้านไหนหาปรากฎไม่ แต่แรกพม่าสำคัญว่า เปนแต่อย่างกองโจร ส่งแต่กองทหารน้อย ๆ ออกไปปราบปราม ครั้นพม่าล้มตายแตกพ่ายมาหลายครั้งเข้า เนเมียวสีหบดีจึงจัดเปนกองทัพให้สุรินทรจอข่องเปนนายทัพยกไปตีค่ายบางระจันเปนครั้งที่ ๔ พวกบ้านบางระจันก็จัดกันเปนกองทัพออกสู้รบ ด้วยรบพุ่งมาจนชำนาญ ใช้แต่อาวุธสั้นฆ่าฟันพม่าล้มตายเปนอันมาก สุรินทจอข่อง นายทัพ ก็ถูกอาวุธตายในที่รบ แต่เนเมียวสีหบดีจัดกองทัพยกไปตีค่ายบางระจันรวมเบ็ตเสร็จถึง ๗ ครั้ง พวกบางระจันก็ตีพม่าแตกยับเยินมาทุกที จนแม่ทัพพม่าหวาดหวั่นขยั้นอยู่ ด้วยจะหาผู้อาศาไปรบพวกบางระจันไม่ได้

ฝ่ายข้างในกรุง เมื่อได้ทราบว่า พวกราษฎรบ้านบางระจันควบคุมกันเปนกองทัพตั้งต่อสู้มีไชยชนะพม่าหลายคราว ก็มีใจ จึงเกณฑ์คนหัวเมืองที่เข้ามาอยู่รักษาพระนครสมทบกันจัดเปนกองทัพจำนวนพล ๑๐,๐๐๐ ให้พระยาพระคลังเปนแม่ทัพ กับข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยอิกหลายคน ยกออกไปตีค่ายเนเมียวสีหบดีที่ตั้งอยู่ที่ปากน้ำประสบ วันแรก รบกันไม่แพ้ไม่ชนะ กองทัพไทยถอยมา อิก ๒–๓ วัน รับสั่งให้ยกตีค่ายพม่าที่ปากน้ำประสบอิก คราวหลังนี้ ในหนังสือพระราชพงษาดารกล่าวว่า พวกชาวเมืองทั้งพระแลคฤหัสถ์ที่ไม่เคยเห็นเขารบกันมาแต่ก่อน ทำนองจะมั่นใจด้วยเห็นว่า กองทัพไทยไม่แพ้พม่ามาคราว ๑ พากันตามกองทัพออกไปดูรบพม่าเปนอันมาก พม่าทำกลอุบายให้กองทัพไทยเห็นว่า เหมือนหนึ่งจะแตกหนี กองทัพไทยไล่ถลำเข้าไป พม่าตีโอบหลัง กองทัพไทยแตกยับเยิน พวกแม่ทัพนายกองพากันหนีพม่า มีแต่พระยาตาก (สิน) คือ พระเจ้ากรุงธนบุรี ที่รอรบอยู่ และค่อยถอยมาต่อภายหลัง ครั้งนั้น พม่าฆ่าฟันพวกพลทหารที่ยกไปรบกับทั้งพวกชาวเมืองที่ตามออกไปดูรบล้มตายเปนอันมาก ต่อนี้มา ปรากฎในพงษาวดารพม่าว่า ไทยแต่งกองทัพ ๒ กอง ให้พระยาตาก ทำนองจะเปนพระเจ้ากรุงธนบุรี เปนนายทัพกอง ๑ พระยาสรรค์เปนนายทัพกอง ๑ ยกลงไปตีค่ายพม่าข้างใต้ เห็นจะเปนที่วัดโปรดสัตว์ ได้รบพุ่งกันเปนสามารถ ไทยตีกองทัพน่าพม่าแตก ชิงได้ค่ายพม่า ครั้นมังมหานรธายกกองทัพใหญ่ขึ้นมาช่วย ไทยรักษาค่ายไว้ไม่ได้ ต้องถอยกลับคืนเข้าพระนคร

ฝ่ายเนเมียวสีหบดี แม่ทัพฝ่ายเหนือ เมื่อตีกองทัพไทยแตกกลับเข้ากรุงศรีอยุทธยาแล้ว จึงคิดอ่านจะตีค่ายพวกราษฎรที่บ้านบางระจันต่อไป เนเมียวสีหบดีได้มอญคน ๑ เปนคนอยู่ในเมืองไทยมาแต่ก่อน ไปเข้าเกลี้ยกล่อมพม่ารบพุ่งมีฝีมือเข้มแขง รับอาศาพม่าจะตีค่ายบางระจัน พม่าตั้งมอญคนนี้เปนที่สุกี้ แปลเปนภาษาไทยว่า พระนายกอง (พระนายกองนี้จะปรากฎชื่อต่อไปข้างน่าอิก) แล้วให้เปนแม่ทัพคุมพลพม่ารามัญ ๒๐๐๐ คนยกไปตีค่ายบางระจันเปนครั้งที่ ๘ วิธีพม่ายกไปรบพวกบางระจันคราวนี้ไม่ได้ประมาทดังคราวก่อน ๆ ยกไปถึงไหนก็ตั้งค่ายมั่นไปทุกระยะ ค่อยเดินทัพไปช้า ๆ โดยกระบวนอย่างนี้ ครึ่งเดือนจึงใกล้จะถึงบ้านบางระจัน พวกไทยบ้านบางระจันออกรบหลายครั้ง พม่าก็ต่อสู้อยู่แต่ในค่าย พวกไทยไม่มีเครื่องสาตราวุธที่จะทำลายค่ายพม่า ให้เข้าขอปืนใหญ่ที่ในกรุง ก็ไม่ได้ออกไป ด้วยข้างในกรุงเกรงว่า ถ้าเสียค่ายบางระจัน ปืนใหญ่จะตกไปเปนกำลังของข้าศึก พม่าจึงตงค่ายเข้าประชิตค่ายไทยพวกบางระจันได้ เพราะพม่ามีเครื่องสาตราวุธดีกว่าชาวบ้านบางระจัน รบพุ่งกันไป ก็ฆ่าฟันพวกไทยล้มตายเปลืองไปทุกที แต่พวกบางระจันตั้งสู้พม่าอยู่ถึง ๕ เดือน ตั้งแต่เดือน ๔ ปีระกา จนถึงณวัน ค่ำ ปีจอ จุลศักราช ๑๑๒๘ พ,ศ, ๒๓๐๙ จึงเสียค่ายแก่พม่า พวกราษฎรที่เหลือตายต่างก็แตกหนีไป ครั้นพม่าได้ค่ายบางระจันแล้ว ก็ยกเข้ามาตั้งค่ายรายล้อมกรุง กองทัพเนเมียวสีหบดีตั้งล้อมด้านเหนือกับด้านตวันออก กองทัพมังมหานรธาล้อมด้านใต้กันด้านตวันตก ส่วนข้างในกรุง ก็ให้กวาดต้อนผู้คนไว้ในพระนคร สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรซึ่งทรงผนวชอยู่วัดประดู่ก็เสด็จเข้ามาอยู่ที่วัดราชประดิษฐาน ข้าราชการแลราษฎรพากันมาเชิญเสด็จให้ลาผนวชออกบัญชาการต่อสู้ข้าศึกอิก ก็ไม่ยอมลาผนวช ในตอนนี้ ตามเนื้อความที่ปรากฎในจดหมายเหตุบาตหลวงก็ว่า พม่ายังไม่รีบร้อนที่จะตีพระนคร เปนแต่ให้เที่ยวปล้นเผาหมู่บ้านในชานพระนคร เช่น บ้านวิลันดา บ้านโปจุเกต อยู่แถวเหนือครองตะเคียน เปนต้น ค่อยรุกกระชั้นเข้าไปโดยลำดับ

พม่าตั้งค่ายล้อมพระนครเสร็จแล้ว ปรากฎในหนังสือพงษาดารพม่าว่า แต่งกองทัพยกเข้าตีปล้นพระนครหลายครั้ง ก็เข้าไม่ได้ ด้วยการป้องกันพระนครแขงแรง แลยกเข้าตียาก เพราะมีลำน้ำกิดกันอยู่ทุกด้าน กำแพงพระนครก็แขงแรงมั่นคง พม่าตั้งล้อมอยู่จนถึงปีจอ จุลศักราช ๑๑๒๘ พ,ศ, ๒๓๐๙ เข้าฤดูฝน พวกนายทัพนายกองไปร้องต่อมังมหานรธาว่า ถึงน่าฝนแล้ว ไม่ช้าน้ำเหนือจะหลากลงมาท่วมทุ่ง รบพุ่งยาก ขอให้ถอยกองทัพไปเสียสักคราว ๑ เมื่อตกแล้ง จึงยกกลับมาใหม่ แต่มังมหานรธาไม่ยอมถอย ว่า ทำการร่วมเข้ามาจนถึงได้เข้าล้อมกรุงศรีอยุทธยาไว้แล้ว ถ้าล้อมไว้ยิ่งช้าวันไป นับวันแต่ไทยจะบอบช้ำอดอยากลงทุกที ถ้าเลิกทัพกลับไปเสียคราว ๑ ไทยก็จะมิช่องหาเสบียงอาหารทั้งกำลังแลเครื่องสาตราวุธมาเพิ่มเติม จะกลับมาตีอิกก็คงลำบาก มังมหานธาจึงให้ไปเที่ยวหาที่ดอนตามโคกวัดเปนต้น ซึ่งมีรายรอบพระนคร ทำเปนที่ตั้งค่าย แลแบ่งกำลังกองทัพกองทัพออกทำไร่นา ครั้นถึงฤดูน้ำเหนือหลากลงมาในปีจอ จุลศักราช ๑๑๒๘ พ,ศ, ๒๓๐๙ มังมหานรธาให้เอาช้างม้าออกไปเลี้ยงไว้ตามหัวเมืองดอน ค่ายพม่าที่ตั้งล้อมกรุงอยู่นั้นให้ปลูกหอรบรายถึงกันตามคลองน้ำ แล้วจัดเรือรบไว้ลาดตระเวรตามลำน้ำ บรรจบถึงกันตลอดรอบพระนคร ในฤดูน้ำ ปีจอนั้น ปรากฎในพงษาวดารพม่าว่า ไทยแต่งกองทัพเรือออกไปตีพม่า ๓ ครั้ง พม่าก็ตีแตกกลับเข้ามาทุกคราว

ครั้นน้ำลด แผ่นดินแห้ง พม่ากลับเข้าตั้งล้อมพระนครดังแต่ก่อน ปรากฎในพงษาวดารพม่าว่า ไทยแต่งกองทัพออกไปตีค่ายพม่าอิก ๒ ครั้ง ตีด้านตวันตกครั้ง ๑ ด้านตวันออกครั้ง ๑ พม่าก็ตีแตกกลับเข้ามา พม่าจึงคิดการจะตีพระนคร ให้ทำป้อมสูงสำหรับตั้งปืนใหญ่รายรอบพระนคร ข้างด้านเหนือ ๕ ป้อม ด้านตวันออก ๕ ป้อม ด้านใต้ ๙ ป้อม ด้านตวันตก ๖ ป้อม

ข้าพเจ้าได้พยายามจะสอบหาตำบลที่พม่าตั้งค่ายแลตั้งป้อมล้อมกรุงในคราวนี้ ในพงษาวดารพม่าบอกแต่ชื่อนายทัพนายกองที่สร้างป้อม ในหนังสือพระราชพงษาวดารแลคำให้การชาวกรุงเก่าบอกชื่อตำบลที่พม่าตั้งค่ายตั้งป้อมแต่น้อยแห่ง ครั้นสอบกับแผนที่ ก็เห็นอยู่ไกลบ้าง ใกล้บ้าง เข้าใจได้ว่า เปนการ ตั้งหลายคราวในเวลาที่ล้อมรุกเข้ามาโดยลำดับ จะเอาสายใดสายหนึ่งให้ได้ความแน่นอนไม่ได้ จึงไม่ได้ลงชื่อตำบลไว้ ในเวลาพม่ากำลังทำป้อมเหล่านี้ กรมหมื่นเทพพิพิธก็ยกเข้ามาที่เมืองปราจิณบุรี แต่ในพงษาวดารพม่าสำคัญผิดไปว่า เปนกองทัพหัวเมืองไทยฝ่ายเหนือ

ความปรากฎในพระราชพงษาวดารว่า กรมหมื่นเทพพิพิธซึ่งถูกคุมอยู่ที่เมืองจันทบุรีนั้น ครั้นได้ข่าวว่า พม่ายกเข้าล้อมกรุง จึง (ลาผนวช) ชักชวนเจ้าเมืองกรมการแลราษฎรทางหัวเมืองฝ่ายตวันออกให้มาช่วยรบพม่า เมื่อคนทั้งหลายทราบว่า กรมหมื่นเทพพิพิธจะยกเข้ามาช่วยกรุงศรีอยุทธยา ก็นิยมด้วยเห็นเปนเจ้านาย พากันมาเข้ากองทัพกรมหมื่นเทพพิพิธ ๆ ได้ผู้คนหลายพัน ยกเข้ามาตั้งอยู่ที่เมืองปราจิณบุรี ให้กองทัพน่ามาตั้งอยู่ที่ปากน้ำโยทกา แล้วแต่งคนลอบเข้ามารับครอบครัวของกรมหมื่นเทพพิพิธ ครั้นกิติศัพท์ปรากฎขึ้นในกรุงว่า กรมหมื่นเทพพิพิธยกกองทัพเข้ามา ก็มีคนนิยมพากันลอบหนีออกไปกับครอบครัวกรมหมื่นเทพพิพิธเปนอันมาก พระยารัตนาธิเบศร์ก็พาสมัคพรรคพวกหนีออกไปอยู่กับกรมหมื่นเทพพิพิธด้วย ด้วยในเวลานั้น ข้างในกรุงอดอยากเสบียงอาหารจนเปนเหตุให้เกิดโจรผู้ร้ายชุกชุม แล้วซ้ำเกิดไฟไหม้ใหญ่โต บ้านเรือนไหม้เสียกว่าหมื่นหลัง การบังคับบัญชาทัพศึกก็รวนเร มีคนหลบหนีออกไปจากพระนครอยู่เสมอ ฝ่ายพม่าทราบว่า กรมหมื่นเทพพิพิธยกกองทัพมา ก็ให้กองทัพพม่ายกออกไปตีกองทัพน่าของกรมหมื่นเทพพิพิธซึ่งมาตั้งอยู่ปากน้ำโยทกาแตกพ่าย กรมหมื่นเทพพิพิธกับพระยารัตนาธิเบศร์ทราบว่า กองทัพน่าแตกแล้ว ก็ไม่อยู่ต่อสู้พม่าต่อไป พาครอบครัวแลสมัคพรรคพวกพวกหลบหนีขึ้นไปอาไศรยอยู่เมืองนครราชสีมา ไพร่พลที่สมัคมาเข้าด้วยก็กระจัดกระจายไปตามภูมิ์ลำเนาเดิม

เมื่อพม่าเข้าล้อมชิดพระนคร มีเหตุเกิดขึ้นทางทัพพม่า ด้วยมังมหานรธา แม่ทัพข้างใต้ ตาย แต่เหตุที่มังมหานรธาตายนี้กลับเปนโทษแก่ไทย ด้วยแต่ก่อนมา เนเมียวสีหบดีกับมังมหานรธามีอำนาจเสมอกัน กองทัพพม่า ๒ กองไม่สู้กลมเกลียวกันนัก ครั้นมังมหานรธาตาย เนเมียวสีหบดีมีอำนาจบังคับบัญชากองทัพพม่าทั้งสิ้นแต่คนเดียว การรบพุ่งของพม่าจึงพรักพร้อมแขงแรงขึ้นกว่าแต่ก่อน

เมื่อพม่าทำป้อมรอบกรุงเสร็จแล้ว เอาปืนใหญ่ขึ้นป้อมยิงระดมเข้าไปพระนครถูกผู้คนล้มตายทุก ๆ วัน ราษฎรก็ได้ความอดอยากถึงกับหนีออกไปให้พม่าจับก็มี สมเด็จพระเจ้าเอกทัศกับข้าราชการปฤกษากันเห็นว่าจะต่อสู้ไม่ไหว จึงให้ออกไปพูดกับพม่าขอหย่าทัพ จะยอมเปนประเทศราชขึ้นเมืองอังวะ พม่าก็ไม่ยอม จึงรบกันต่อมา พม่ายังตีกรุงไม่ได้ จึงตั้งป้อมรุกเข้ามาทางหัวรอ แล้วให้ทำสะพานเรือกจะข้ามเข้ามาถึงเชิงกำแพงพระนคร ไทยเห็นพม่ากระชั้นเข้ามาจวนตัว จึงจัดกองทัพให้จมื่นศรีสรรักษ์ (ฉิม คนที่เปนน้องของเจ้าจอมเพ็งพระสนมเอก) เปนนายทัพยกไปตีค่ายพม่า ในพงษาดารพม่ากล่าวว่า ไทยยกออกไปคราวนั้น รบพุ่งแขงแรงมาก ตีเข้าไปได้จนได้จนในค่ายพม่า แต่คนน้อย ต้องแพ้พม่ากลับมา แต่นั้นไทยก็ไม่ได้ออกสู้รบ เปนแต่ทำพิธีโดยทางวิทยาคมเพื่อจะป้องกันอันตราย พม่าจึงยกข้ามคูพระนครเข้ามา ขุดอุโมงค์รวงเข้ามาจนถึงรากกำแพงที่ตรงหัวรอริมป้อมมหาไชย เอาไฟสุมจนกำแพงซุดลง ครั้นณวัน ค่ำ ปีกุญ จุลศักราช ๑๑๒๙ พ,ศ, ๒๓๑๐ พม่าให้เอาปืนใหญ่ระดมยิงเข้าไปในพระนครทุกด้าน ยิงอยู่วันยังค่ำ พอค่ำมืด พม่าก็พร้อมกันเข้าปล้นพระนคร เข้าได้เวลา ๒ ทุ่ม นับเวลาตั้งแต่พม่าเข้ามาตั้งล้อมไทยต่อสู้อยู่ ๑๔ เดือน ก็เสียพระนครศรีอยุทธยาแก่ข้าศึก

พม่าได้กรุงศรีอยุทธยาแล้ว ไม่ได้ตั้งใจที่จะเหลืออะไรไว้ เก็บริบรวบรวมทรัพย์สมบัติ จับผู้คนชายหญิงเด็กผู้ใหญ่เอาไปเปนเชลยทั้งสิ้น สิ่งใดที่เอาไปไม่ได้ก็ให้เผาไฟแลทำลายเสีย พม่าตั้งให้พระนายกองเปนหัวน่าอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้นคอยรวบรวมผู้คนทรัพย์สมบัติที่ยังเก็บไม่ได้ แลให้นายทองอินมอญที่ไปเข้ากับพม่าอิกคน ๑ ลงมารักษาอยู่เมืองธนบุรี แล้วก็เลิกทัพกลับไป

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก