ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 70/คำนำ

คำนำ

พ.ต.อ. พระพินิจชนคดี และ ม.ร.ว. บุญรับ พินิจชนคดี จะใคร่ได้หนังสือสำหรับพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ผู้เป็นป้า ได้ขอให้กรมศิลปากรช่วยจัดหาให้สักเรื่องหนึ่ง และต้องการหนังสือเรื่องซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ความรู้ทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับดินแดนภาคอีศาน กรมศิลปากรจึงจัดเรื่องที่พิมพ์อยู่นี้รวมเป็นประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ ให้พิมพ์ตามประสงค์

ประชุมพงศาวดารเป็นหนังสือชุดรวบรวมเรื่องที่เกี่ยวกับพงศาวดารและตำนานต่าง ๆ ในภาษาไทย ที่พิมพ์แล้วก็มี ที่ยังไม่ได้พิมพ์ก็มี บางเรื่องยาวซึ่งควรพิมพ์ฉะเพาะเรื่อง บางเรื่องมีขนาดสั้น ก็เอามารวมพิมพ์ไว้ในเล่มเดียวกันก็มี ทั้งนี้ ก็เพื่อให้บรรดาผู้ศึกษาจะได้มีโอกาสพบเห็น ทำการค้นคว้าเรื่องทางประวัติศาสตร์ได้สะดวก เรื่องที่รวบรวมอยู่ในชุดหนังสือประชุมพงศาวดารไม่มีกำหนดว่ากี่ภาคหรือเรียบเรียงเรื่องเป็นลำดับอย่างไร แล้วแต่จะหาเรื่องอันเนื่องด้วยพงศาวดารได้พอรวบรวม ถ้ามีผู้ศรัทธาว่าจะสร้าง ก็พิมพ์เป็นภาค ๆ ลำดับไป หนังสือประชุมพงศาวดารจึงมีขนาดต่าง ๆ กัน แล้วแต่จะรวบรวมได้ และตามขนาดที่มีผู้ศรัทธา ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ เล่มนี้ มีเรื่องที่พิมพ์ไว้ คือ:–

๑.พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ ฉะบับพระยามหาอำมาตย์ฯ เรียบเรียงทูลเกล้าฯ ถวายในรัชชกาลที่ ๕

๒.พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ ฉะบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว. ปฐม คเณจร) เรียบเรียง เคยพิมพ์อยู่ในหนังสือเทศาภิบาล

๓.ตำนานเมืองจำปาศักดิ์ เป็นเรื่องเกี่ยวด้วยตำนานพระพุทธบุษยรัตน์ ฉะบับเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์ และเจ้าราชวงศ์เมืองนครจำปาศักดิ์ เรียบเรียง

๔.เรื่องขุนบรม นายสุด ศรีสมวงศ์ เจ้าหน้าที่ในหอสมุดแห่งชาติ ถอดจากต้นฉะบับเดิมในใบลาน

๕.พงศาวดารเมืองยโสธร (เดี๋ยวนี้เป็นอำเภอขึ้นจังหวัดอุบลฯ)

๖.ตำนานเมืองทรายฟอง ถอดจากฉะบับเดิมเป็นใบลาน (เมืองทรายฟองเป็นเมืองร้างอยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงใต้เมืองเวียงจันทน์ลงมา แต่อยู่เหนือจังหวัดหนองคาย)

๗.ตำนานเมืองพวน ๒ ฉะบับ (เป็นแคว้นอยู่ทางตะวันออกของเวียงจันทน์ มีเมืองเชียงขวาง เชียงคำ เป็นต้น)

๘.พงศาวดารย่อเวียงจันทน์ ๒ ฉะบับ (เป็นชะนิดปูมโหร มีประโยชน์ในการสอบค้นศักราชเหตุการณ์)

๙.เรื่องสร้างวัดพระแก้วศรีเชียงใหม่ (บ้านศรีเชียงใหม่อยู่ในจังหวัดหนองคาย ตรงข้ามกับเมืองเวียงจันทน์)

๑๐.ประวัติท้าวสุวอ เจ้าเมืองหนองคาย

๑๑.คำให้การพระยาเมืองฮาม เรื่อง เมืองเชียงแตง

คำให้การพระกำแหงพลศักดิ์ เรื่อง เมืองเชียงแตง

คำให้การท้าวลอง เรื่อง เมืองอัตปือ

คำให้การพระราชวิตรบริรักษ์ เรื่อง เมืองสพังภูผา

คำให้การหลวงเทียมฯ เรื่อง เมืองเซลำเภา

คำให้การเหล่านี้ได้สำเนามาจากกระทรวงมหาดไทย เมืองที่กล่าวเหล่านี้ขึ้นอยู่กับเขตต์แคว้นนครจำปาศักดิ์ ส่วนมากเป็นเมืองอยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงถัดเมืองปากเซออกไป

๑๒.พงศาวดารเมืองนครพนมสังเขป ฉะบับพระยาจันทรโงนคำ

๑๓.ตำนานเมืองวังมล

๑๔.พงศาวดารเมืองมูลปาโมข

เรื่องที่รวบรวมดั่งมีรายชื่อแจ้งมาข้างต้นนี้ เป็นเรื่องของบ้านเมืองภาคอีศาน และข้ามไปถึงบ้านเมืองทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงด้วย เรื่องเหล่านี้และรวมทั้งที่ได้จัดพิมพ์มาแล้วในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑, ๔, ๙, ๑๑ และ ๒๒ ย่อมเป็นเครื่องมือสำหรับนักศึกษาทำการสอบสวนค้นคว้าเรื่องราวของชาติทางภาคลุ่มแม่น้ำโขง อันหนังสือประวัติศาสตร์จะเกิดมีขึ้นได้นั้นก็ต้องอาศัยเอกสารบางอย่างที่พิมพ์อยู่นี้เป็นหลักฐาน กรมศิลปากรจึงเชื่อว่า ในการที่ พ.ต.อ. พระพินิจชนคดี และ ม.ร.ว. บุญรับ พินิจชนคดี ได้จัดพิมพ์ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ นี้ขึ้นย่อมอำนวยประโยชน์แก่นักศึกษาไม่น้อย และคงจะยินดีอนุโมทนาทั่วกัน

เพื่อให้ทราบว่า ดินแดนตอนที่มีกล่าวไว้ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ นี้ มีเรื่องราวมาแต่โบราณอย่างไร จึงจะขอเล่าเป็นสังเขปไว้ในที่นี้ด้วย

แผ่นดินตอนสองฟากแม่น้ำโขงเมื่อราว ๑๖๐๐ ปีที่ล่วงมานี้ เป็นอาณาเขตต์ตอนหนึ่งของอาณาจักรฟูนัน ชื่อนี้เป็นอย่างจีนเรียก ชื่อจริงของฟูนันจะเรียกว่าอะไร ยังไม่มีหลักฐานให้ทราบได้ ประเทศฟูนันสมัยมีอำนาจมีอาณาเขตต์ทางตะวันตกจดแดนประเทศพะม่าและลงไปถึงแหลมมะลายู ทางเหนือว่า กินไปถึงภาคอีศานสองฝั่งแม่น้ำโขง จดแคว้นหลวงพระบาง ทิศใต้จดทะเล เป็นอันว่า ประเทศฟูนันสมัยมีอำนาจจึงรวมประเทศเขมรและลุ่มน้ำเจ้าพระยาอยู่ด้วย ทิศตะวันออกจดเขตต์แดนประเทศญวน ซึ่งในสมัยที่เล่านี้เป็นประเทศจัมปาของพวกจาม ครั้นถึง พ.ศ. ๑๐๙๓ โดยประมาณ คือ ล่วงจากที่เล่ามาข้างต้นราว ๒๐๐ ปี ประเทศฟูนันถูกประเทศซึ่งจีนเรียกว่า เจนละ และเป็นเมืองขึ้นของฟูนัน เป็นกบฏแย่งเอากรุงของประเทศฟูนันได้ แต่นั้นมา ประเทศฟูนันก็ค่อยเสื่อมและศูนย์สิ้นชื่อไป จนไม่มีใครทราบ นอกจากมีชื่อปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุของจีนจดไว้ ส่วนประเทศที่จีนเรียกว่า เจนละ นั้น ต่อมาได้แก่ประเทศเขมรกัมพุชา

ทางลุ่มแม่น้ำโขงตอนเหนือ เป็นแคว้นหลวงพระบาง ถัดแคว้นหลวงพระบางไปทางเหนือและทางตะวันออก เป็นแคว้นสิบสองจุไทย ซึ่งทางตะวันออกต่อแดนกับแคว้นตังเกี๋ย และทางเหนือต่อแดนกับมณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นบ้านเมืองของไทย เดิมอยู่ในตอนใต้ของประเทศจีน เขตต์แดนแคว้นสิบสองจุไทยกว้างขวางมาก เพราะฉะนั้น ในตอนที่อยู่ใกล้เมืองหลวงพระบางไปทางตะวันออก จึงเรียกแยกว่า "เมืองหัวพันห้าทั้งหก" หรือ "หัวพันทั้งหก" ส่วนตอนที่อยู่ใกล้เมืองเวียงจันทน์ เรียกว่า เมืองพวน ถัดแดนหัวพันห้าทั้งหกและเมืองพวนออกไป คงเรียกว่า แคว้นสิบสองจุไทย มีเมืองไล เมืองแถงหรือแถน เป็นต้น ในสมัยโบราณ เห็นจะราว ๒๐๐๐ ปีขึ้นไป ได้มีไทยอพยพเข้ามาตั้งภูมิลำเนาอยู่ในแดนสิบสองจุไทย ส่วนมากเห็นจะได้กับพวกผู้ไทย ซึ่งเป็นไทยสาขาหนึ่ง สายเดียวกับพวกไทยซ่ง แล้วก็มีไทยอีกสาขาหนึ่ง เรียกในประวัติศาสตร์ว่า ไทยน้อย ยกลงมาตั้งกรุงศรีสัตตนาคนหุตล้านช้างขึ้น ในที่สุด สายหนึ่งได้แผ่อาณาเขตต์ลงมาใต้ตามลุ่มน้ำโขงจนจดเขตต์แดนกัมพุชาตอนใต้จังหวัดนครจำปาศักดิ์ เพราะฉะนั้น แผ่นดินในลุ่มน้ำโขงบางตอนจึงมีเรื่องราวเกี่ยวเนื่องกับประเทศกัมพุชาด้วย ในระยะเดียวกับที่ไทยยกลงมาอยู่ในแว่นแคว้นสิบสองจุไทย ญวนซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศจีนเหนือมณฑลฮกเกี้ยนขึ้นไป ถูกจีนตีบ้านเมืองแตก ต้องหนีร่นลงมาใต้จนเข้าแดนตังเกี๋ย ก็มาเผชิญเข้ากับพวกจาม ซึ่งเป็นชนชาติในตระกูลชะวามะลายูปนชาวอินเดียใต้ พวกจามสู้ญวนไม่ได้ หนีร่นลงมาใต้เรื่อย แล้วยังถูกเขมรตีซ้ำเติมทางด้านหลังเป็นศึกขนาบ ในที่สุด ประเทศจามก็ศูนย์ไป กลายเป็นประเทศญวนในปัจจุบัน

รวมความ พวกไทย, ญวน, จาม, เขมร ในแดนเหล่านี้ ครั้งโบราณ มีเขตต์แดนติดต่อถึงกันโดยลำดับ จึ่งย่อมมีเรื่องราวเกี่ยวข้องพ้องพานกันทั้งในทางวัฒนธรรมและในทางสงครามด้วยประการฉะนี้

ขออนุโมทนากุศลราศีทักษิณานุปทานซึ่งนายพันตำรวจเอก พระพินิจชนคดี และ ม.ร.ว. บุญรับ พินิจชนคดี พร้อมด้วยญาติมิตร ได้บำเพ็ญกุศลแด่ผู้ซึ่งล่วงลับไปแล้ว และจัดพิมพ์หนังสือประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ นี้แจกจ่ายเป็นวิทยาทานเกื้อกูลแก่ความรู้เป็นสาธารณประโยชน์ ขอจงสัมฤทธิ์แด่หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช เพื่อประโยชน์สุขในสัมปรายภพ สมดังมโนปณิธานทุกประการเทอญ.

กรมศิลปากร
๑๘ มีนาคม ๒๔๘๔