ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 71/เรื่องที่ 1

บันทึกพงศาวดารเขมร

(๑)ราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา ฉะบับหอสมุดวชิรญาณแปลใหม่ กล่าวความเป็น ๓ ตอน คือ

ตอนที่ว่าด้วยตำนานครั้งดึกดำบรรพ์ ไม่ปรากฏศักราช เป็นเรื่องสร้างนครธมและนครวัด

ตอนที่เป็นพงศาวดารมีศักราช เริ่มแต่ พ.ศ. ๑๑๘๙ รัชชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมนิพันธบท จนถึง พ.ศ. ๒๓๓๖ ครั้งเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน) เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองเขมร (ซึ่งยังไม่มีกษัตริย์ปกครอง)

ตอนที่ตั้งแต่นักองเองได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ราชาภิเษกเป็นสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๗ เป็นที่ ๑๓ ในรัชชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาจนถึงรัชชสมัยสมเด็จพระนโรดม (นักองราชาวดี) พ.ศ. ๒๔๐๘

ต้นฉะบับเป็นอักษรและภาษาเขมร กระดาษฝรั่ง เส้นหมึกดำ ศาสตรจารย์ยอช เซเดส ได้มาจากกรุงกัมพูชามอบให้แก่หอพระสมุดวชิรญาณเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ กรรมการหอพระสมุดฯ ขอให้นายพันตรี หลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์) แปล พิมพ์ พ.ศ. ๒๔๖๐ โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร

(๒)เรื่องพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ กล่าวความตั้งแต่พระอินทราธิราชทรงพระสุบินว่า แก้วมณีโชติหลุดจากพระโอษฐ์ตกลงในเปือกตมเมืองมนุษย์ ครั้นทรงหยั่งทราบเหตุการณ์ภายหน้าคลอดแล้ว จึ่งมีเทวโองการให้เกตุเทวบุตรจุติลงมาถือปฏิสนธิในครรโภทรแห่งพระนางเทพวดี ท้าวโกเมราช พระเจ้านครเขมราช ต่อมาจนถึงกษัตริย์องค์หนึ่งสืบวงศ์มาแต่พระเจ้าปักษีจำกรงลอบเสด็จเข้าไปในไร่บุรุษแตงหวาน ๆ สำคัญว่าเป็นโจร จึ่งปลงพระชนม์เสียด้วยหอกคู่มือ แล้วมุขมนตรีทั้งปวงพร้อมกันกราบทูลเชิญบุรุษแตงหวานนั้นให้ขึ้นทรงราชย์ ทรงพระนาม พระเจ้าสุริโยพันธุ์ ครองอินทปัตถมหานคร

(เรื่องพระเจ้าแตงหวานของเขมรนี้ คล้ายกับเรื่องพระเจ้าแตงกวาของพะม่า ซึ่งเป็นกษัตริย์ครองกรุงภุกามเมื่อประมาณ ๑๕๐๐ ปีเศษล่วงมาแล้ว เป็นเรื่องแสดงให้เห็นพระราชสิทธิและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ดึกดำบรรพ์ ดังมีตรงกับเรื่องเตลปัตตชาดก คัมภีร์ชาตกัฏฐกถา ภาคสอง หน้า ๒๔๓ เป็นต้น)

พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๑๗ รวมอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดารย่อ เป็นเวลา ๖๔ ปี ล่วงแล้ว พิมพ์ครั้งที่ ๒ ในเล่มนี้

(๓)เรื่องราวของเมืองเขมร กล่าวความตั้งแต่เขมรยังแผ่อำนาจเข้ายึดการปกครองไทยตลอดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาจนถึงราชวงศ์แตงหวาน สมเด็จพระอุทัยราชา (นักองจันท์) เอาใจออกหากจากไทยไปฝักใฝ่ข้างญวน ถึงกับเกิดวิวาทกันในหมู่พี่น้องในระหว่างรัชชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์รวมอยู่ในหนังสือชุมนุมพระบรมราชาธิบาย พิมพ์ พ.ศ. ๒๔๕๗ โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย หลังวัดเทพศิรินทร์

(๔)พงศาวดารเมืองละแวก เริ่มความตั้งแต่สมเด็จพระมหานิพพานทรงราชย์ที่นครศรียโสธรราธานีเมื่อ พ.ศ. ๑๘๘๙ จนถึงสมเด็จพระศรีโสไทยวิวาทกับพระธรรมราชาแล้วหนีเข้ามาพึ่งกรุงศรีอยุธยา

ต้นฉะบับเป็นภาษาเขมร สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี (นักองเอง) เจ้ากรุงกัมพูชา นำมาถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๗ ขึ้น ๗ ค่ำ พ.ศ. ๒๓๓๙ แล้วโปรดให้หลวงพจนาพิจิตร ขุนสารประเสริฐ ขุนมหาสิทธิ นายชำนิโวหาร แปลออกเป็นภาษาไทย

พิมพ์อยู่ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔ พ.ศ. ๒๔๕๘ โรงพิมพ์โสภณพิรรฒธนากร

(๕)พงศาดารเขมร กล่าวความตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าบรมนิพันธบททรงราชย์อยู่ในนครธมเมื่อ พ.ศ. ๑๘๘๙ สืบต่อมาจนถึงสมเด็จพระอุทัยราชา (นักองจันท์) ทรงบำเพ็ญกุศลทำพิธีสังคายนาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๖

สมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี (นักองด้วง) เจ้ากรุงกัมพูชา ถวายต้นฉะบับเป็นภาษาเขมรแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วโปรดให้ขุนสุนทรโวหารในกรมพระอาลักษณ์ พระยาธรรมาธิบดี พระเสนาพิจิตร หมื่นมหาสมุท แปลเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘

พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๑๒ โรงพิมพ์หลวงในพระบรมมหาราชวัง พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๔๕ โรงพิมพ์วัชรินทรบริษัท พิมพ์ครั้งที่ ๓ รวมอยู่ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๕๗ โรงพิมพ์ไทย สะพานยศเส

(๖)พงศาวดารละแวก ฉะบับแปล จ.ศ.๑๑๗๐ กล่าวความในระหว่าง ๔๔ ปี คือ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๑๑๘ จนถึง พ.ศ. ๒๑๖๑ ตรงกับรัชชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาตลอดถึงรัชชกาลสมเด็จพระเอกาทศรฐ

สังเกตได้ว่า ผู้แต่งเรื่องนี้ตั้งใจจะทำบันทึกราชพิธีต่าง ๆ สมัยโบราณไว้ให้ปรากฏเป็นแบบแผน เช่น การตั้งตำแหน่งข้าราชการ พิธีประจำเดือนตลอดปีที่แยกเป็นฝ่ายพุทธศาสตรและไสยศาสตรนั้นทำอย่างไรบ้าง ก็กล่าวให้เห็นเป็นอย่าง ๆ ไป

พระราชพิธี ๑๒ เดือน ของกรุงกัมพูชา ที่ปรากฏในพงศาวดารฉะบับนี้ เป็นอย่างเก่า แต่คงจะเลือนไป ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘ สมเด็จพระหริรักษรามาธิบดี (นักองด้วง) ได้ทรงพื้นขึ้นทำเป็นราชประเพณีอีก บางข้อผิดเพี้ยนไปจากพิธีเดิมบ้าง ดังปรากฏอยู่ในพงศาวดารกรุงกัมพูชาที่กล่าวมาแล้วในหมายเลข (๑)

ต่อมาในสมัยปัจจุบันนี้ พิธีบางอย่างต่างจากครั้งสมเด็จพระหริรักษรามาธิบดีอีกเหมือนกัน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกไว้ในเรื่องนิราศนครวัดซึ่งพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๖๗ โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร

ต้นฉะบับพงศาวดารละแวก ฉะบับแปล จ.ศ.๑๑๗๐ นี้ เป็นภาษาเขมร พระองค์แก้วนำมาถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเมื่อวันอังคาร เดือน ๖ แรมค่ำหนึ่ง พ.ศ. ๒๓๕๑ ปีที่ ๒๗ ในรัชชกาลที่ ๑ จึงโปรดให้ขุนสาราบรรจง ปลัดกรมพระอาลักษณ์พระราชวังบวร แปล พิมพ์ครั้งแรกในเล่มนี้

(๗)พงศาวดารเขมรอย่างย่อ กล่าวความตั้งแต่พวกแขกจามก่อการกำเริบขึ้นในเมืองเขมรเมื่อจุลศักราช ๑๑๔๕ (พ.ศ. ๒๓๒๖) เป็นปีที่ ๒ ในรัชชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาจนถึงสมัยเขมรเป็นจลาจลระหว่าง พ.ศ. ๒๔๐๔ ถึง พ.ศ. ๒๔๐๕ เป็นปีที่ ๑๑ ในรัชชกาลที่ ๔ ไทยช่วยปราบปรามทำความสงบให้แก่บ้านเมืองเขมรได้อยู่เย็นเป็นสุขสมบูรณ์สืบมา

เรื่องนี้ไม่บอกว่าผู้ใดแต่ง แต่สำนวนใกล้กับพระราชนิพนธ์รัชชกาลที่ ๔ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๑๗ รวมอยู่ในหนังสือพระราชพงศาดารย่อ พิมพ์ครั้งที่ ๒ รวมอยู่ในเล่มนี้

(๘)เรื่องที่เรียบเรียงใหม่ยังมีอีกหลายตอน แซกอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ตามลำดับ ดังนี้

(ก)พระราชพงศาวดาร รัชชกาลที่ ๑ กล่าวความตั้งแต่นักองตนได้ทรงราชย์เป็นพระนารายณ์ราชาธิราช เจ้ากรุงกัมพูชา เมื่อ พ.ศ. ๒๓๐๑ ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา สืบต่อมาจนถึงสมเด็จพระอุทัยราชา (นักองจันท์) เข้ามาเฝ้าทูลละอองณกรุงเทพฯ แล้วกราบถวายบังคมลากลับไปเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๒ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์เรียบเรียง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงชำระ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ โรงพิมพ์บำรุงนุกุลกิจ พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๗๘ โรงพิมพ์พระจันทร์

(ช)พระราชพงศาวดาร รัชชกาลที่ ๒ เริ่มความตั้งแต่เขมรโบราณเสื่อมอำนาจ ไทยฟื้นอิสสระภาพในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และเกิดมีประเทศจำปาขึ้นที่ปากน้ำโขง สืบต่อมาจนถึงสมเด็จพระอุทัยราชา (นักองจันท์) เจ้ากรุงกัมพูชา คิดประทุษร้ายไทย แต่งกองทัพมารุกล้ำดินแดนเมืองพัตบองเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๘ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเรียบเรียง พิมพ์ พ.ศ. ๒๔๕๙ โรงพิมพ์ไทย สะพานยศเส

(ค)พระราชพงศาวดาร รัชชกาลที่ ๓ กล่าวความตั้งแต่สมเด็จพระอุทัยราชา (นักองจันท์) เจ้ากรุงกัมพูชา ถูกญวนกดขี่จนได้สำนึกแล้ว แต่งให้พระยาพระเขมรคุมเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวายเพื่อขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๒ ต่อมาจนถึงนักองด้วงได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ราชาภิเษกเป็นสมเด็จพระหริรักษรามาธิบดีใน พ.ศ. ๒๓๙๐ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์เรียบเรียง พิมพ์ พ.ศ. ๒๔๗๗ โรงพิมพ์ศรีหงส์

(ฆ)พระราชพงศาวดาร รัชชกาลที่ ๔ กล่าวความตั้งแต่สมเด็จพระหริรักษรามาธิบดีขอพระราชทานเปลี่ยนนามาภิไธยใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔ ต่อมาจนถึงองค์พระนโรดม (นักองราชาวดี) แต่งข้าหลวงให้มาประชุมปักเเขตต์แดนระหว่างเขมรกับไทยใน พ.ศ. ๒๔๑๐ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์เรียบเรียง พิมพ์ พ.ศ. ๒๔๗๗ โรงพิมพ์พระจันทร์

(๙)พงศาวดารเมืองพระตะบอง ของเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ (เยียบ อภัยวงศ์) พิมพ์เป็นประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑๖ พ.ศ. ๒๔๖๒ โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร

(๑๐)เหตุการณ์เมืองเขมรตอนเสร็จสงครามไทยกับญวนในรัชชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์ พิมพ์เป็นประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๕๖ พ.ศ. ๒๔๗๕ โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร

(๑๑)จดหมายเหตุเกี่ยวกับเขมรและญวนในรัชชกาลที่ ๓ ตอนที่ ๑ ว่าด้วยเหตุการณ์ตั้งแต่ปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๗๕ จนถึงปีกุน พ.ศ. ๒๓๘๒ พิมพ์เป็นประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๗ พ.ศ. ๒๔๘๑ โรงพิมพ์พระจันทร์

(๑๒)จดหมายเหตุเกี่ยวกับเขมรและญวนในรัชชกาลที่ ๓ ตอนที่ ๒ ว่าด้วยเหตุการณ์ส่วนหนึ่งในปีชวด พ.ศ. ๒๓๘๓ พิมพ์เป็นประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๘ พ.ศ. ๒๔๘๑ โรงพิมพ์บำรุงกูลกิจ

(๑๓)ส่วนที่เป็นแต่ทำเนียบบ้าง ธรรมเนียมบ้าง ตลอดถึงกฎหมายเก่าบางเรื่อง คือ

ตำราทำเนียบบรรดาศักดิ์กรุงกัมพูชา ว่าด้วยทำเนียบเจ้านาย ขุนนาง เมืองส่วย พระราขาคณะ และหัวเมือง เอก โท ตรี จัตวา ต้นฉะบับอยู่กระทรวงมหาดไทย ได้มาในรัชชกาลที่ ๑ และรัชชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์ พิมพ์อยู่ในทำเนียบนาม ภาคที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร

ราชกำหนดกรุงกัมพูชา ว่าด้วยพระราชประวัติและกำหนดการพระศพสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ พระเจ้ากรุงกัมพูชา ซึ่งมีใน พ.ศ. ๒๔๗๐ พิมพ์อยู่ในลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ ภาคที่ ๒๐ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร

ราชาภิเษกสมเด็จพระมณีวงศ์ ว่าด้วยพระราชประวัติและพระราชพิธีราชาภิเษกสมเด็จพระมณีวงศ์ ซึ่งกระท เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ทรงแปลถอดจากภาษาเขมร พิมพ์อยู่ในลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ ภาคที่ ๒๑ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร

กฎหมายเก่ากรุงกัมพุชา ที่พิมพ์แล้ว คือ

(ก)ลักษณะโจร ตั้งครั้งสมเด็จพระไชยเจษฎา พ.ศ. ๑๙๘๓ และครั้งสมเด็จพระนโรดม (นักองราชวดี) พ.ศ. ๒๔๐๓ พิมพ์ พ.ศ. ๒๔๖๒ โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร

(ข)ลักษณะทาษกรรมกร ตั้งครั้งสมเด็จพระไชยเจษฎา พ.ศ. ๒๒๓๖ พิมพ์ ๒๔๖๒ โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย หลังวัดเทพศิรินทราวาส

(ค)กฎมนเทียรบาล ตั้งครั้งสมเด็จพระนโรดม พ.ศ. ๒๔๑๘ พิมพ์ พ.ศ. ๒๔๖๒ โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร

(๑๔)นอกจากนี้ มีข้อความบางตอนแซกอยู่ในพงศาวดารเหนือ, ประชุมศิลาจารึกสยาม, ชินกาลมาลินี, จามเทวีวงศ์, ตำนานสิงหนวัติ, พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี, คำให้การขุนหลวงหาวัด หรือคำให้การชาวกรุงเก่า ตลอดถึงกฎหมายเก่าบางเรื่อง เป็นต้น