ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 9/เรื่องที่ 1
ณปีชวด จัตวาศก (จุลศักราช ๑๒๑๔ พ.ศ. ๒๓๙๕) ได้ถามมหาไชยเมืองพง ให้การว่า เมืองพง เดิมเจ้าฟ้าน้อย ปู่มหาไชย เปนเจ้าเมือง มีภรรยาคนหนึ่ง มีบุตรชายที่ ๑ ชื่อ เจ้าฟ้ามอกคำ ที่ ๒ ชื่อ เจ้าฟ้ากลาง ที่ ๓ ชื่อ เจ้าฟ้าเหา ครั้นเจ้าฟ้าน้อยถึงแก่กรรม เจ้าฟ้ามอกคำ บิดามหาไชย ได้เปนเจ้าเมือง มีภรรยา ๒ คน คนหนึ่งเปนบุตรขุนนางเมืองพง มีบุตรหญิง ๕ คนชื่อ นางอุ่น นางเทพ นางแก้ว นางยอด นางศิริพรหมา แต่นางอุ่นตาย นางเทพเปนภรรยานายพรหมวงษ์ บุตรพระยาหลวงเขื่อนเก่า นางเทพไม่มีบุตร นางแก้วเปนภรรยาเจ้าเมืองนูน มีบุตรชายคนหนึ่งชื่อ นายไหม มหาวังตั้งเปนที่เจ้าเมืองนูน ๆ ถึงแก่กรรมปีมเมีย อัฐศก (จุลศักราช ๑๒๐๘ พ.ศ. ๒๓๘๙)
นางยอดเปนภรรยาเจ้าเมืองลา มีบุตรชื่อ นายมหาวงษ์ ครั้นเจ้าเมืองลาถึงแก่กรรม นายมหาวงษ์ได้เปนเจ้าเมือง
นางศิริพรหมาเปนภรรยามหาวัง เจ้าเมืองเชียงรุ้ง ไม่มีบุตร
ภรรยาคนหนึ่งชื่อ นางกวยฟอง บุตรหม่อมสุวรรณ เจ้าเมืองเชียงรุ้ง มีบุตรชาย คือ มหาไชย อายุ ๔๕ ปี ๑ ชื่อ หม่อมขัติยพรหมา อายุ ๓๐ ปี ๑ ปีขาล ๒ คน ๚
เจ้าฟ้ามอกคำเปนเจ้าเมือง อายุได้ ๘๓ ปี ณเดือน ๓ ปีมแม สัปตศก (จุลศักราช ๑๑๙๗ พ.ศ. ๒๓๗๘) ถึงแก่กรรม ฮ่อ พม่า แลมหาวัง ตั้งมหาไชยเปนเจ้าเมือง มหาไชยมีภรรยา ๑๘ คน
ชื่อ นางกันไกร บุตรเจ้าเมืองลา มีบุตรชื่อ หม่อมยวง อายุ ๑๓ ปี นางกันไกรตาย ๑
ชื่อ นางอุกกา บุตรหม่อมพรหม เชื้อวงษ์หม่อมสุวรรณเมืองเชียงรุ้ง ไม่มีบุตร ๑
ชื่อ นางอุด เปนบุตรแสนมงคล มีบุตรหญิงชื่อ นางเกากำ ๆ ตาย ๑
ชื่อ นางแปง เปนบุตรพระยาหลวงชาย มีบุตรชื่อ นางยอดกันทา อายุ ๑๐ ปี ๑
ชื่อ นางปุกกำ เปนบุตรพระยาอริยะเมืองเชียงรุ้ง ไม่มีบุตร ๑
ชื่อ นางคำเอ้ย เปนบุตรพระยาหลวงจันเมืองเชียงรุ้ง มีบุตรชาย ตาย ๑ หญิงชื่อ มลิกา อายุ ๒ ปี ๑
ชื่อ นางแว่นแก้ว เปนบุตรจักกายมองอิต พม่าเมืองอังวะ มารดาเปนลื้อเมืองเชียงรุ้ง มีบุตรชาย ๑ หญิง ๑ รวม ๒ คน ตาย
ชื่อ นางหงษ์คำ เปนบุตรพระยาหลวงจันเมืองอูใต้ มีบุตรหญิงชื่อ นางบัวทองอายุ ๑๐ ปี ๑
ชื่อ นางเกงกำ เปนบุตรพระยาหลวงขัน ๑ ชาวเมืองรำ
ชื่อ นางคำ เปนบุตรพระยาหลวงธนัญไชย ๑ ชาวเมืองรำ
ชื่อนางปิ่นแก้ว เปนบุตรมองอูพม่าเมืองอังวะ ๑ ชื่อนางอุษา เปนหลานเจ้าเมืองลา ๑ ชื่อนางบุญ ชาวเมืองรำ ชื่อนางคำ ชาวเมืองรำ ไม่มีบุตร ชื่อนางเอื่อย ชาวเมืองรำ ชื่อนางเกงคำ บุตรพระยาสมบัติเมืองหุน ๑ ชื่อนางคำโนน ชื่อนางอินแก้ว เจ้าฟ้ากลางบุตรเจ้าฟ้าน้อย ได้บุตรขุนนางเมืองพงเปนภรรยา มีบุตรชายชื่อ เจ้าไข่คำ ๑ เจ้าขนาน ๑ เจ้าไข่คำได้หญิงเงี้ยว เมืองหน่ายเปนภรรยาชื่อนางอินคำ มีบุตรชายชื่อเจ้าขนานอายุ ๒๔ ปี ๑ เจ้าไหมอายุ ๑๘ ปี ๑ ครั้นเจ้าไข่คำถึงแก่กรรมยังแต่ภรรยา เจ้าขนานบุตรเจ้าฟ้ากลางได้ภรรยาเมืองหิง จะชื่อไรมีบุตรเท่าใดไม่ทราบ เจ้าฟ้าเหาบุตรเจ้าฟ้าน้อยที่ ๓ ได้บุตรขุนนางเมืองพงเปนภรรยา มีบุตรชายชื่อนายมหาพรหมอายุ ๖๗ ปี เจ้าฟ้าเหาภรรยาตาย นายมหาพรหมได้หญิงชาวเมืองลองเปนภรรยา มีบุตรชายชื่อ นายเทพวงษ์อายุ ๔๕ ปี ๑ นายไชยวงษ์อายุ ๓๙ ปี ๑ รวม ๒ คน หม่อมขัติยพรหมาน้องมหาไชย มหาวังตั้งเปนที่เจ้าเมืองหิง ขึ้นกับเมืองเชียงรุ้ง หม่อมขัติยพรหมาได้นางเกงคำน้องสาวนาย หน่อคำเปนภรรยา มีบุตรชายชื่อนายแสนเมืองอายุ ๑๓ ปี แต่หม่อมขัติยพรหมาตกน้ำตายเมื่อปีมะเสงสัปตศก (จุลศักราช ๑๒๐๗ พ.ศ. ๒๓๘๘) เมืองเชียงรุ้งเดิมหม่อมสุวรรณเปนเจ้าเมือง หม่อมสุวรรณ มีภรรยา ๒ คน ที่ ๑ เปนบุตรเจ้าเมืองลา จะชื่อไรไม่ทราบ มีบุตรชาย หม่อมกุมาร ๑ หม่อมมหาวงษ์๑ หม่อมมหาวัง ๑ รวม ๓ ที่ ๒ ชื่อหม่อมแจเปนบุตรเจ้าเมืองหิง มีบุตรหญิงชื่อ นางกวยฟอง ไปเปนภรรยาเจ้าฟ้ามอกคำเมืองพง ๑ รวม ๔ คน ครั้นหม่อมสุวรรณถึงแก่กรรม หม่อมกุมารอายุ ๑๖ ปี ยังไม่มีภรรยา ได้เปนเจ้าเมืองไม่ถึงปี หม่อมกุมารถึงแก่กรรม แล้วหม่อมมหาวงษ์ได้เปนเจ้าเมือง ได้บุตรหม่อมลาเปนภรรยา มีบุตรชายคนหนึ่งชื่อหม่อมน้อย ๆ คลอดได้ ๓ เดือน หม่อมมหาวงษ์ ถึงแก่กรรม แล้วหม่อมมหาวังได้เปนเจ้าเมือง หม่อมมหาวังมี ภรรยา ๓ คน ที่ ๑ ชื่อนางสุริยพรหมา บุตรเจ้าฟ้ามอกคำเมืองพง พี่สาวมหาไชยต่างมารดาไม่มีบุตร ๑ ที่ ๒ ชื่อนางปิ่นแก้ว บุตร พระยาหลวงสิงเมืองเชียงรุ้ง มีบุตรชายเจ้าสุจะวรรณคือราชบุตร อายุ ๒๘ ปี ๑ เจ้าอรำมาวุทะ คืออุปราชาอายุ ๒๔ ปี ๑ รวม ๒ มีบุตรหญิง ชื่อนางพรหมจาริยอายุ ๒๖ ปี ไปเปนภรรยาเจ้าเมืองลา ไม่มีบุตร ๑ ชื่อนางแว่นแก้ว เมื่อแตกทัพตกไปอยู่กับอุปราชา ๑ รวม ๔ คน ที่ ๓ ชื่อนางแก้วจอย เปนบุตรนายพิศวงเมืองเชียงรุ้ง ไม่มีบุตร ๑แล้วมหาวังไปรับหม่อมน้อยบุตรหม่อมมหาวงษ์มาเลี้ยงไว้จนอายุหม่อมน้อยได้ ๑๘ ปี หม่อมมหาวังยกนางจามคำบุตรมหาขนานเมืองเชียงรุ้งพี่สาวนายหน่อคำเปนภรรยา มีบุตรชายชื่อนายลิ้นด่างอายุ ๒๖ ปี ๑ ชื่อมหาไชยงาดำอายุ ๒๓ ปี ๑ รวม ๒ คน หม่อมน้อยตกไปอยู่เมืองฮ่อแล้วคิดขบถต่อฮ่อ ๆ จับหนีไป ฮ่อให้มาเอาบุตร ภรรยาไปจำไว้เมืองปักกิ่ง แต่นายลิ้นด่างไปอยู่เมืองฮ่อ หม่อม มหาวังป่วยเปนไข้ถึงแก่กรรม วัน ๑๒ ค่ำ ปีชวดอัฐศก (จุล ศักราช ๑๑๗๘ พ.ศ. ๒๓๕๙) เจ้าอังวะ เจ้าปักกิ่ง ตั้งเจ้าสุจะวรรณคือราชบุตรเปนเจ้าเมืองเชียงรุ้ง มหาไชยกับท้าวพระยาลื้อไปพร้อมกัน เผาศพมหาวังแต่ ณวัน ๒ ค่ำ ปีวอกอัฐศก (จุลศักราช ๑๑๙๘ พ.ศ. ๒๓๗๙) เสร็จแล้ว อยู่มาพระยาหลวงช้าง พระยาหลวงชาญ ฦๅไชย พระยาจุมคำ ไปเข้ากับนายหน่อคำจะยกเอานายหน่อคำเปนเจ้าเมืองเชียงรุ้ง แล้วเกณฑ์กองทัพได้ ๕๐๐ จะฆ่าเจ้าเมืองเชียงรุ้งเสีย มหาไชยตกใจกลัว พาเจ้าเมืองเชียงรุ้ง เจ้าอรำมาวุทะข้าม ของไปซ่อนไว้ที่กลางป่าไกลเมืองเชียงรุ้งครึ่งวัน แล้วมหาไชยกลับ มาพร้อมกับท้าวพระยาไปรับนายหน่อคำมาเปนเจ้าเมืองได้ ๖ วัน มหาไชย พระยาแสนเชียงหา จึงคิดอุบายไปบอกนายหน่อคำว่า เจ้าเมืองเชียงรุ้ง เจ้าอรำมาวุทะหนีไป เห็นจะไปชักชวนหัวเมืองมารบเอา เมืองคืน มหาไชย พระยาแสนเชียงหาจะขอเกณฑ์กองทัพมารักษาเมืองไว้ นายหน่อคำยอมให้เกณฑ์ ๆ คนได้ ๓๐๐๐ เศษ แล้วมหาไชยพระยาแสนเชียงหา จับพระยาจุมคำ พระยาชาญฦๅไชย พระยา หลวงช้าง ฆ่าเสีย ไพร่บ้านพลเมืองตื่นตกใจ นายหน่อคำหนีไป เมืองรำ มหาไชยให้ท้าวพระยาไปรับเจ้าเมืองเชียงรุ้ง เจ้าอรำมาวุทะมาครอบครองบ้านครองเมืองตามเดิม แล้วมหาไชยกลับมาเมืองพง อยู่มาณเดือน ๘ ปีจอสัมฤทธิศก (จุลศักราช ๑๒๐๐ พ.ศ. ๒๓๘๑) พระยาแสนเชียงหามีหนังสือมาว่า นายหน่อคำไปเกลี้ยกล่อมข่าขัด ได้คน ๒๐๐๐ ว่าจะยกมาตีเมืองวัง ให้มหาไชยคุมกองทัพยกขึ้นไป มหาไชยจัดให้นายพรหมวงษ์พี่เขยคุมไพร่เมืองพง ๑๐๐ คน ยกขึ้น ไปพร้อมกับเมืองสิบสองปันนา เจ้าเมืองเชียงรุ้งให้พระยาแสนเชียงหาเปนแม่ทัพคุมทัพ ๖๐๐๐ ยกไปรบนายหน่อคำ ๆ สู้ไม่ได้แตกหนีไปเมืองเชียงตุง แล้วนายหน่อคำคุมทัพพม่าเมืองเชียงตุงมาตีเมืองเชียงลอ พระยาแสนเชียงหาได้ยกไปสู้รบอิก กองทัพนายหน่อคำแตกหนีไป พระยาแสนเชียงหาถอยทัพกลับมาเมืองเชียงรุ้ง อยู่มาขุนนาง เมืองเชียงตุงมาบอกว่า นายหน่อคำลงไปกล่าวโทษเจ้าเมืองเชียงรุ้ง ต่อเจ้าอังวะสาวถีว่านายหน่อคำไม่มีความผิด เจ้าเมืองเชียงรุ้งให้ กองทัพมาจับนายหน่อคำจะฆ่าเสีย เจ้าอังวะโกรธ ให้เยนานโป พม่าขึ้นไปเอาตัวเจ้าเมืองเชียงรุ้งหาได้ไม่ อยู่มาณปีฉลูตรีศก (จุลศักราช ๑๒๐๓ พ.ศ. ๒๓๘๔) เจ้าอังวะให้ณทมเนมโยขึ้นไปเอาตัวเจ้าอรำมาวทะลงไปเมืองหน่าย พบจักกายหลวงมองชิณ ณทมมองโซณทมจันทบุรี มองตาลี พม่าคุมทัพเมืองอังวะ เมืองเชียงตุง เมืองหน่าย เมืองลายัท เมืองแสนหวี เมืองหมอกใหม่ นายไพร่ ๑๐๐๐๐ เศษ พานายหน่อคำขึ้นมา โปพม่าเมืองหน่ายส่งตัวเจ้าอรำมาวุทะกับมารดาน้องสาว นายไพร่ ๓๐๐ คนลงไปเมืองอังวะ แล้วนายหน่อคำนำกองทัพยกขึ้นมาเมืองเชียงรุ้ง เจ้าเมืองเชียงรุ้ง แลมหาไชยกลัว เจ้าเมืองเชียงรุ้งหนีไปอยู่เมืองฮ่อ มหาไชยหนีมาเมืองพง ไพร่บ้าน พลเมืองแตกตื่นระส่ำระสายไปสิ้น อยู่มาปีขาลจัตวาศก (จุลศักราช ๑๒๐๔ พ.ศ. ๒๓๘๕) ฮ่อเมืองลามีหนังสือมาว่าได้ลงมาพูดจากับพม่าว่า ฮ่อได้ตั้งเจ้าสุจะวรรณเปนเจ้าเมืองเชียงรุ้ง ฝ่ายพม่าก็ได้ตั้งมาด้วย ทำไมจะให้นาย หน่อคำมาเปนเจ้าเมืองอิกเล่า พม่าว่าเจ้าอังวะโกรธเจ้าเมืองเชียงรุ้งไม่ฟังบังคับบัญชา จึงให้ตั้งนายหน่อคำขึ้นมา ฮ่อว่าไม่ยอม พม่าก็ว่าไม่ฟัง แล้วได้ปฤกษาท้าวพระยาสิงสองปันนาก็ไม่ยอมให้ นายหน่อคำเปน พม่าให้ไปจับพระยาหลวงสิงหไชยา พระยา หลวงวอชูเมืองแสน ฆ่าเสีย ให้มหาไชยเปนแม่ทัพคุมกองทัพ ยกขึ้นไปตีพม่าจับนายหน่อคำฆ่าเสีย มหาไชยเกณฑ์ได้คน ๗๐๐๐ ยกขึ้นไปถึงแขวงเมืองเชียงรุ้ง แล้วนัดทัพพร้อมกันณวัน ๓ ค่ำ เข้าตีทัพพม่าแต่เช้าจนบ่าย กองทัพพม่า กองทัพนายหน่อคำ แตกกระจัดกระจาย ได้ไล่ติดตามไปจนสิ้นแดนเมืองสิบสองปันนา แล้วถอยทัพกลับมาเมืองเชียงรุ้ง พร้อมกันเชิญเจ้าเมืองเชียงรุ้ง มา ครอบครองบ้านเมืองดังเก่า ตัวมหาไชยก็ยังอยู่ที่เมืองเชียงรุ้งอยู่มาณเดือน ๕ ปีเถาะเบญจศก (จุลศักราช ๑๒๐๕ พ.ศ. ๒๓๘๖) ขุนนางเมืองลองเมืองยอ มีหนังสือมาณเมืองเชียงรุ้งว่า มหาขนาน เมืองเชียงตุง ให้เจ้าเมืองกางผู้บุตร กับพระยาหลวงราชวัง ณทมจันทบุรี คุมทัพพม่า ทัพเขิน ๓๐๐๐ ยกมาตีเมืองลอง ให้มหาไชย ยกไปช่วย มหาไชยรวบรวมได้คน ๒๕๐๐ ยกไป ได้สู้รบกับเจ้าเมืองกาศ ๆ ถูกปืนคาบศิลาทีหนึ่งแตกถอยไป ครั้นณวัน ๕ ค่ำ ปีเถาะเบญจศก (จุลศักราช ๑๒๐๕ พ.ศ. ๒๓๘๖) พระมโนราชาเมืองน่าน ยกทัพขึ้นไปตั้งอยู่เมืองหลวงภูคา แต่งให้นายตุย เข้าเมืองพงพูดจาด้วยทางไมตรี กับว่าด้วยครอบครัวพระยามงคล ท้าวกฤษณา เมืองเชียงแขงซึ่งหลบหนีมาอยู่เมืองสิบสองปันนา จะขอเอาคืน มหาไชยจัดได้ม้าตัว ๑ ฬาขาวตัวหนึ่ง พรม ๔ ผืน เจียม ๔ ผืน มาคำนับเมืองน่าน แต่ฬานั้นให้พระยาลาคุมมาทูลเกล้า ฯ ถวาย แต่ ครอบครัวท้าวกฤษณา พระยามงคล เปนคนต่างหมวดต่างกองส่งให้ยังไม่ได้ อยู่มาเจ้าอรำมาวุทะ มีหนังสือมาว่าเจ้าอังวะโกรธว่า เมืองเชียงรุ้ง เมืองพง คิดขบถ เจ้าอังวะให้เอาตัวไปจำไว้ ๗ วัน มองตาเลมาทูลว่า เจ้าเมืองเชียงรุ้ง เจ้าเมืองพง หาได้คิดขบถไม่ เปนเหตุด้วยณทมมองโซพม่ากับนายหน่อคำมาจับขุนนางเมืองเชียงรุ้งฆ่าเสีย ฮ่อขัดใจจึงให้เมืองสิบสองปันนาสู้รบกองทัพพม่า เจ้า อรำมาวุทะไม่มีความผิดขอให้ถอดเสียเถิด เจ้าอังวะจึงถอดตรวนออกแล้วเจ้าอังวะให้จับจักกายหลวงมองชิณ ณทมมองโซ ณทมเนมโยณทมจันทบุรี ๔ คนฆ่าเสีย ที่เมืองหน่าย ขอให้เจ้าเมืองเชียงรุ้ง ช่วยคิดแต่งท้าวพระยามารักษาบ้านเมือง ครั้นอยู่มาณเดือน ๖ ปีมโรงฉศก (จุลศักราช๑๒๐๖ พ.ศ. ๒๓๘๗) พระยาศรีสองเมือง พระเมืองน้อย พระอินทราชา เมืองน่าน ยกขึ้นไปตั้งอยู่เมืองหลวงภูคา มหาไชยได้ลงมาพบพูดจากัน พระยา ศรีสองเมืองขอเอาครัวเมืองเชียงแขง เมืองเชียงราย ซึ่งตกอยู่ใน เมืองสิบสองปันนา กับว่าได้จัดดอกไม้ทองดอกไม้เงินเครื่องราชบรรณาการลงมาเมืองน่าน จะได้พาลงมาเฝ้าทูลลออง ฯ มหาไชยว่าครัวเมืองเชียงแขง เมืองเชียงราย พม่ามารบกวนจะพากันหนีไป มหาไชยให้เกลี้ยกล่อมไว้ เจ้าเมืองเชียงแขงก็ได้มอบครอบครัวให้ ซึ่งพระยาศรีสองเมืองจะมาเอาไปนั้นให้ยังไม่ได้ แล้วดอกไม้ทอง ดอกไม้เงินซึ่งจะให้แต่งลงไปครั้งนี้ เมืองน่านกับเมืองสิบสองปันนา ก็ยังหาได้พูดจาปฏิญาณกันไม่ ฝ่ายพระยาสิงขะลื้อก็ลงไปค้างอยู่ เมืองน่านถึง ๑๐ ปี ท้าวพระยาในสิบสองปันนา มีความสงไสย แล้วฮ่อก็ยังไม่รู้ความ มหาไชยท้าวพระยาจะขอพระยาสิงขะนายไพร่ กับขอคำมั่นสัญญาเมืองน่านไว้ก่อน พระยาศรีสองเมืองจึงตอบว่า ครั้นจะให้ไปเอาตัวพระยาสิงขะมาก็จะช้า ฉันใดก็ดี ให้มหาไชยคิด มหาไชยจึงให้พระยาศรีสองเมืองหากระบือมาฆ่าข้างละตัวแลกกันคน ละครึ่ง แล้วปลูกศาลบวงสรวงเทพารักษ์ ขออัญเชิญเทพยดา ซึ่งรักษาเมืองน่าน เมืองสิบสองปันนา มาประชุมพร้อมกัน ถ้าเมืองไหนคิดคด ขอให้พินาศฉิบหาย ได้สาบาลไว้ต่อกัน แล้วมหาไชย ขุนนางเมืองน่านขึ้นไปเมืองเชียงรุ้งคนหนึ่ง พระยาศรีสองเมือง จึงให้พระอินทราชานายไพร่ ๕๐ คนขึ้นไปพบกับมหาวังเมืองเชียงรุ้งที่เมืองยาง แล้วพม่าเมืองอังวะนายไพร่ ๒๕ คน ญวน ๘๐ คน มาอยู่ด้วย แต่ญวนตัวนายชื่อไรมาแต่เมืองไหนไม่ทราบ ว่าจะเดิน ลงไปเมืองอังวะ แต่พม่า ๒๕ คนขึ้นมาเตือนให้ลงไปรับเจ้าอะรำมาวุทะเจ้าเมืองเชียงรุ้งจึงพูดกับพระอินทราชาว่า เจ้าอะรำมาวุทะ มารดา น้องสาว ค้างอยู่เมืองอังวะ เดี๋ยวนี้พม่าก็มาอยู่เมืองยาง จะให้จัดของไปกลัวพม่าจะรู้ จะต้องไปรับเจ้าอรำมาวุทะกับมารดาน้องสาว มาเสียก่อน อยู่มาเจ้าเมืองลาให้ฮ่อลงมาพบพระอินทราชา ฮ่อบังคับให้มหาไชยพากลับมาเสีย แล้วเจ้าเมืองเชียงรุ้งให้พระยาหลวงพรหมกับฮ่อลงมา ให้มหาไชยจัดม้า ๒ ม้า จานเงิน จานทอง เปนของไมตรี กับให้จานหนังสือด้วยแผ่นเงิน ๑ แผ่นทองคำ ๒ รวม ๓ ฉบับ หนังสือกระดาษฉบับหนึ่ง ให้นายเทพวงษ์ พระยาหลวงประสาท พระยาหลวงไชยนาม พาพระอินทราชาลงมาณเมืองน่าน อยู่มาเดือนยี่ปีมโรงฉศก เจ้าเมืองเชียงรุ้งแต่งให้พระยาหลวงอจิระปัญญา พระยาหลวงไชยสงคราม นายไพร่ ๕๐ คน ถือหนังสือแลคุมเอาจานเงินหนัก ๑ ตำลึง จานทองหนัก ๑ ตำลึง ม้า ๔ ม้า ดาบฝักเงินเล่ม ๑ ดาบด้ามเงินเล่ม ๑ ทวนหุ้มเงินเล่ม ๑ เจียมลายแดง ๔ ผืน ผ้าแพรพับ ๑ ผ้าเขียวครามพับ ๑ เปนเครื่องบรรณาการลงไปถวายเจ้าอังวะครั้นณเดือนสามปีมเสงสัปตศก (จุลศักราช๑๒๐๗ พ.ศ. ๒๓๘๘) เจ้าอังวะให้อมุกิ โกตองพม่านายไพร่ ๑๕๐ คน พาเจ้าอรำมาวุทะแลมารดาน้องสาวมาส่ง ครั้นมาถึงเมืองเชียงตุง เจ้าอรำมาวุทะชอบใจบุตรสาวมหาขนานแล้วก็เลยขึ้นไปเมืองเชียงรุ้ง เจ้าอังวะตั้งมาเปนที่เจ้าศิริวรรณมหาอุปราชา ให้ของมา ใบไม้ทองคำมีประจำยาม ๓ ดอก มีสายสร้อย ๑๙ เส้นใส่เปนสังวาล ๑ เสื้อกำมะหยี่แดงติดขลิบมีไหมทองปักริมขลิบเปนคดกฤช ๓ ชั้น ๑ ร่มขาวคันยาวมีระบายห้อยใบโพเงินก้าไหล่ทองยอดปิดทอง ๔ ร่มกระดาษคันยาวปิดทองไม่มีระบายปักไหมตามซี่ ๘ ทวนไม้ด้ามทาแดงฝักปิดทองคำสำหรับแห่ พัดโบกจามร ด้ามผ้าแดงปิดทอง ๒ รองเท้าเงินก้าไหล่ทองคำ ๑ ช้างพลาย ๒ ช้างพัง ๒ ตรางาใหญ่ ๔ นิ้วเปนรูปปราสาทตั้งอยู่บนยอดเขาดวง ๑ แต่เครื่องยศนอกนั้นให้ทำขึ้น ดาบฝักทองคำ ๘ ดาบด้ามทองคำ ๘ ดาบฝักทองคำประดับพลอย ๘ ดาบด้ามทองคำประดับพลอย ๘ คนโททองคำ ๑ พานทองคำเครื่องกินทองคำสำรับ ๑ กะโถนทองคำ ๑ เครื่องม้าทองคำสำรับ ๑ เครื่องช้างทองคำสำรับ ๑ รวม ๒ สำรับพม่าอยู่ที่เมืองเชียงรุ้งเดือนเศษ เจ้าเมืองเชียงรุ้งจัดม้าผู้ม้า ๑ ผ้าสักหลาดผืน ๑ เจียมผืน ๑ เงินจอย ๗ ตำลึง ๒ บาท ให้พม่าที่มาส่งแล้วกลับไป อยู่มาเดือน ๕ ปีมเมียอัฐศก (จุลศักราช ๑๒๐๘ พ.ศ. ๒๓๘๙) อุปราชาบอกเจ้าเมืองเชียงรุ้ง ว่าไปค้างอยู่เมืองอังวะ ๕ ปี กู้เงินพม่า มาซื้อกินใช้สอยเดินเปนที่เจ้าเมืองสิ้นเงิน ๑๔๐๐ จอย คิดจอยละ ๑ ชั่ง๗ ตำลึง ๒ บาท ให้ช่วยหาเงินใช้หนี้ เจ้าเมืองเชียงรุ้งให้เก็บเงิน กับพวกสิบสองปันนามา ไพร่สกรรจ์มีครัวเรือนละ ๔ ตำลึง ๒ สลึง ได้เงิน ๑๕๐๐ จอยเอาไปส่งแล้วเงินเหลือ ๑๐๐ จอยก็ยกให้ใช้สอย อยู่มาเดือน ๗ ปีมเมียอัฐศก เจ้าเมืองเชียงรุ้ง อุปราชามี หนังสือมาให้จัดม้า ๓ ศอกคืบ ๔ นิ้วม้า ๑ ให้มหาไชยคุมขึ้นไป ณเมืองเชียงรุ้ง มหาไชยป่วย แต่งให้นายพรหมวงษ์พี่เขยไปแทน ครั้นณเดือน ๑๒ นายพรหมวงษ์กลับลงมาบอกว่า เจ้าเมืองเชียงรุ้ง แต่งให้พระยาหลวงประสาท พระยาหลวงเขื่อน นายพรหมวงษ์ พากันลงไปรับนางสุนันตาบุตรมหาขนานเมืองเชียงตุงมาเปนภรรยา อุปราชา ครั้นมาถึงเมืองแล้ว นายแสนเมืองว่าม้าที่ส่งไปให้มหา ขนานนั้นเปนม้าเสียเอว เจ้าเมืองเชียงรุ้งถามพระยาหลวงประสาท พระยาหลวงประสาทบอกว่าเปนม้าเมืองพง เจ้าเมืองเชียงรุ้งอุปราชาโกรธ แล้วมีหนังสือถึงมหาไชยแลท้าวพระยาสิบสองปันนาว่า เงินที่ ให้เก็บใช้หนี้พม่าแต่ก่อนหาพอไม่ อุปราชายังเปนหนี้พม่าอยู่อิก ๕๐๐ จอย ให้มหาไชยท้าวพระยาเก็บไปส่งอิก มหาไชยไม่ยอมเก็บ พระยาแสนเชียงหาไปกล่าวโทษว่า มหาไชยไปร่วมคิดกับมหาไชย งาดำ จะยกไปตีเมืองเชียงรุ้ง เจ้าเมืองเชียงรุ้งให้เกณฑ์กองทัพ ๓๐๐๐ ให้นายพรหมวงษ์ พระยาหลวงพล พระยาหลวงประสาท เปนนายทัพจะยกลงมา มีฮ่อมาห้ามก็ไม่ฟัง ให้ยกกองทัพลงมาถึง เมืองนูน มหาไชยท้าวพระยาสิบสองปันนาเกณฑ์คนได้ ๓๒๐๐ เศษยกไปได้สู้รบกัน กองทัพนายพรหมวงษ์แตกหนีไป มหาไชยยกไป เข้าเมืองเชียงรุ้ง เจ้าเมืองเชียงรุ้งอุปราชาหนีไปอยู่บ้านหว้า อยู่มามหาไชยงาดำมีหนังสือมาว่า ฮ่อได้ตั้งมหาไชยงาดำ เปนเจ้าเมืองเชียงรุ้งแล้ว ให้มหาไชยแต่งท้าวพระยาไปรับ มหาไชย ไม่ยอมไป มหาไชยงาดำโกรธคุมทัพฮ่อทัพตากุย ๑๐๐๐ เศษยกมา ถึงแขวงเมืองเชียงเจียง ๆ แต่งขุนนางไปรับ มหาไชยงาดำจับ ขุนนางฆ่าเสียสองคน ๆ หนึ่งหนีไปได้ เจ้าเมืองเชียงเจียงเกณฑ์ คนได้ ๑๐๐๐ เศษ ออกสู้รบมหาไชยงาดำแตกหนีไป อยู่มาณเดือน ๒ ปีมแมนพศก (จุลศักราช ๑๒๐๙ พ.ศ. ๒๓๙๐) ณทมโดตองพม่านายไพร่ ๓๐๐ คน มาจากเมืองหน่ายขึ้นมาสืบดู พม่าเมืองหน่ายก็อยู่ที่เมืองเชียงรุ้ง อยู่มาณเดือน ๓ ข้างขึ้นปีมแมนพศกมหาไชยงาดำไปจ้างฮ่อมาเกลี้ยกล่อมได้ข่ากุย ๑๐๐๐ เศษ ยกมาตีเมืองวัง เมืองงาด เมืองเชียงเจียง แตกกระจัดกระจาย แล้วยกไปสู้รบกับอุปราชา ที่บ้านหว้าหาแพ้ชนะกันไม่ มหาไชยงาดำถอยไปตั้งอยู่บ้านมก เมืองแจ มหาไชยให้นายพรหมวงษ์เปนนายทัพคุมคน ๓๐๐๐ ยกไป ตีมหาไชยงาดำแตกถอยไป แล้วมหาไชยกับท้าวพระยาไปเชิญ เจ้าเมืองเชียงรุ้ง อุปราชา มาครอบครองบ้านเมืองอยู่ตามเดิม อยู่มาณเดือน ๘ ปีวอกสัมฤทธิศก (จุลศักราช ๑๒๑๐ พ.ศ. ๒๓๙๑) พระยาหลวงช้างเมืองพง พาท้าวเขื่อนแก้ว ท้าวอาสาเมืองน่านคุมช้างพลายช้างพัง ๖ ช้างขึ้นไปพบมหาไชยที่เมืองรำมหาไชยซื้อช้าง ๖ ช้างไว้ แล้วได้จัดม้า ๆ ๑ ผ้าไหมอย่างพม่าผืน ๑ ร่มปิดทองคัน ๑ มาให้พระยาราชบุตร อยู่มามหาไชยงาดำจ้างฮ่อแลชวนข่าได้ ๒๐๐๐ เศษ ยกมา ตั้งอยู่เมืองสูง มหาไชยอุปราชาจัดทัพได้ ๔๐๐๐ ยกไปได้สู้รบ กับมหาไชยงาดำแตกหนีไป จับได้พวกมหาไชยงาดำคนหนึ่ง ถาม ได้ความว่ามหาไชยงาดำ นายหน่อคำ ยกขึ้นไปอยู่เมืองแจ มหาไชย ยกตามขึ้นไป มหาไชยงาดำ นายหน่อคำรู้ความหนีไปเสีย อยู่มาเดือน ๑ ปีวอกสัมฤทธิศก (จุลศักราช ๑๒๑๐ พ.ศ. ๒๓๙๑) กองทัพมหาไชยงาดำ นายหน่อคำ ยกไปจุดเผาเมืองเชียงเหนือ มหาไชยอุปราชายกไปถึงเมืองยาง พบทัพมหาไชยงาดำนายหน่อคำ ได้สู้รบกันครั้งหนึ่งแตกหนีไป แล้วยกเลยมาเมืองเชียงเหนือ เมืองเชียงใต้ อยู่มาวัน ๑๑ ค่ำ เจ้าเมืองเชียงรุ้งบอกมาว่า กองทัพ มหาไชยงาดำ นายหน่อคำ ยกมาตั้งอยู่เมืองวัง มหาไชยอุปราชา ถอยทัพกลับมาถึงเมืองยาง ได้ความว่ากองทัพมหาไชยงาดำ นายหน่อคำ เข้าเมืองเชียงรุ้งได้แล้ว เจ้าเมืองเชียงรุ้งหนีมาอยู่ เมืองรำ มหาไชย อุปราชา รวบรวมกองทัพได้ ๒๕๐๐ คนยกไปเมืองเชียงรุ้ง หาพบมหาไชยงาดำ นายหน่อคำไม่ สืบได้ความว่า มหาไชยงาดำ นายหน่อคำ ยกไปทางเมืองสูง มหาไชยให้อุปราชา อยู่รักษาเมือง แล้วเกณฑ์คนเมืองพงได้ ๒๐๐๐ จะยกขึ้นไปครั้นณเดือน ๒ ปีวอกสัมฤทธิศก เจ้าเมืองหลวงพระบาง แต่งให้ท้าวขุนถือหนังสือขึ้นไปเกลี้ยกล่อมให้พาครัวมาเข้าเมืองหลวงพระบาง อยู่มาอิก ๓-๔ วัน แสนหลวงเมืองกว้างเมืองเชียงใหม่ คุมเอาปืนแฝดบอก ๑ ปั้นชาเลี่ยมทอง ๑ ขึ้นไปให้ณเมืองพงพูดจาเปนทางไมตรี กับพระยาเชียงใหม่ให้ถามว่าเมืองสิบสองปันนา กับเมืองเชียงตุงยังเปนไมตรีกันอยู่ฤๅ มหาไชยตอบว่าเมืองเชียงตุง กับเมืองสิบสองปันนาไม่ปรกติ ด้วยมหาไชยงาดำ นายหน่อคำไป ชักชวนเอาพม่าเอาเขินเมืองเชียงตุงมารบ มหาขนานรู้ก็ไม่ห้ามปรามแสนเมืองกว้างว่าเจ้านายเมืองเชียงใหม่ จะยกกองทัพขึ้นมาตีเมืองเชียงตุงเมืองสิบสองปันนาจะว่าอย่างไร มหาไชยตอบว่าเมืองเชียง ใหม่จะยกมาตีเมืองเชียงตุงดีแล้ว มหาไชยจะยกมาช่วย ได้นัดทัพพร้อมกัน ณวัน ๔ ค่ำปีวอก ครั้นณเดือน ๒ ปีวอกสัมฤทธิศก (จุลศักราช ๑๒๑๐ พ.ศ. ๒๓๙๑) เจ้าเมืองเชียงรุ้งอุปราชา กับครอบครัว ๑๑ ครัวเศษหนีมาหามหาไชยณเมืองพง ว่ากองทัพมหาไชยงาดำนายหน่อคำยกมาถึงเมืองยาง เจ้าเมืองเชียงรุ้ง อุปราชา เกณฑ์ท้าว พระยาแลไพร่จะออกรบหาได้ผู้คนไม่ มหาไชยเกณฑ์คนมาเตรียมไว้ ๓๐๐๐ เศษ แล้วจัดให้พระยาคำมูลไพร่ ๒๐๐ คนยกไปรักษาด่านกิวลมทางไกลเมืองพง ๒ คืน อยู่มาณเดือน ๒ ข้างขึ้น พระยาราชบุตร พระยาคงคาเขื่อนเพ็ชรยกเข้าไปตั้งอยู่เมืองมาง เจ้าเมืองมางให้ ท้าวพระยามาบอกมหาไชย ๆ แต่งให้ท้าวพระยาหลวงบังคมลงมา พูดจาไต่ถามแลเชิญพระยาราชบุตรกับนายทัพนายกองเข้าไปณเมืองพงพระยาราชบุตรให้พระยาคงคาเขื่อนเพ็ชร พระยาเผด็จดัษกร พระยาไชยสงคราม นายทัพนายกองเข้าไปพูดจาเปนทางไมตรี สิ้นคำ ให้การมหาไชยแต่เท่านี้ กับมหาไชยแจ้งว่า เมื่อแตกทัพ มหาไชยงาดำ นายหน่อคำ พระยาหอน่า ให้พระไชยราชา พระเมืองราชา พระยาไชยสงคราม นายหนานธรรมไชย นายไพร่ ๕๐ คนยกไปที่เรือนมหาไชย ใช้บ่าว ไปแก้เอาม้าเอาฬาของมหาไชย ๒๐ ม้า กับมหาไชยรวบรวมสิ่งของ เงินทองใส่ต่าง ๕ หลัง มอบให้พระไชยราชา พระเมืองราชารักษาไว้ ครั้นมหาไชยไปแก้ช้างกลับมา พระยาไชยสงคราม พระเมืองราชา พระไชยราชา เอาเงินทองสิ่งของซึ่งมอบไว้ ๕ หลังมาเสีย เปนทอง รูปพรรณ กระบังหน้าทองคำปรุสำรับ ๑ ปิ่นทองคำ ๒ คันหนัก ๒ บาทเฟื้อง ตุ้มหูทองคำลงยา ๔ ดอกทองหนัก ๒ ตำลึง ๓ บาท ดอกไม้รูปหงษ์ก้าไหล่ทอง ๔ ดอก เข็มขัดทองคำ ๑ ทองหนัก ๓ บาท ๓ สลึง เข็มขัดเงิน ๑ เงินหนัก ๑ ชั่ง ๕ ตำลึง รวม ๖ สิ่ง เงินรูปพรรณ ถาดเงิน ๒ ใบเงินหนัก ๑ ชั่ง คนโทเงิน ๙ ใบ เงินหนัก ๖ ชั่ง ๑๓ ตำลึง ๓ บาท กาเงิน ๖ ใบ ขันน้ำใหญ่เล็ก ๒๖ ใบ จอก ๑๓ ใบ อับหมาก ๑๐ ใบ แอบหมาก ๑๐ ใบ พรม ๒ ผืน เจียม ๒๑ผืน จามจุรี ๑๐๐ พวง เครื่องช้างสำรับ ๑ รวม ๑๗ สิ่ง โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาศรีสิงหเทพชำระ ได้ส่งคืนให้แก่มหาไชยแล้ว วัน ๖ ค่ำ จุลศักราช ๑๒๑๑ ปีรกาเอกศก พระยาศรี สิงหเทพ พระยาพิไชย ทำบาญชีแสนท้าวพวกลื้อเมืองพง เมืองมางเมืองยวม เมืองเชียงรุ้ง ที่ได้ตัวลงมาเมืองพิไชยแลอยู่กับเมือง หลวงภูคา เปนจำนวนคน ได้ลงมาถึงเมืองพิไชย เมืองพง นาย หม่อมมหาไชยเจ้าเมือง ๑ เจ้าไชยวงษ์บุตรนามวงษ์ ๑ พระยา หลวงบังคม ๑ พระยาพรหมา ๑ พระยาอินทวิไชย ๑ พระยา ทนิยวุธ ๑ แสนบุญแพง ๑ แสนหาญ ๑ แสนปัญญา ๑ ท้าวลังกา ๑ ท้าวป่าหาร ๑ ไพร่ ๓๓ เมืองมาง พระยาไชยวงษ์ ๑ พระยาสิงขะ ๑ เมืองยวม พระยาพิศระ ๑ เมืองเชียงรุ้ง หม่อมน้อย น้องภรรยามหาไชย ๑ เจ้าพรหมวงษ์ บุตรพระยาหลวงเขื่อน ๑ เจ้านามวงษ์ ๑ เจ้าราชวงษ์ บุตรนามวงษ์ ๑ เจ้าไชยวงษ์ บุตรเจ้าพรหมวงษ์ ๑ พระยาหลวงจัน ๑ พระยาหลวงเขื่อน ๑ พระยาหลวงพิศวง ๑ พระยาหลวงวัง ๑ พระยาหลวงพรหม ๑ พระยาหลวงอำมาตย์ ๑ พระยาหลวงเทพ ๑ พระยาหลวงคำแสง ๑ พระยาหลวงราชวงษ์ ๑ พระยาหลวงปัญญา ๑ พระยาหลวงหิง ๑ พระยาหลวงวงษ์ ๑ พระยา หลวงหาญ ๑ พระยาหลวงไชยพรหม ๑ อยู่เมืองภูคา พระยาขัติยะ ๑ พระยาไชยเสนา ๑ พระยาคำมูล ๑ พระยาจำปา ๑ พระยากันทะ ๑ พระยามังคละ ๑ พระยาคำแมน ๑ พระยาปัจจะละ ๑ พระยาพรหม ๑ พระยาสมบัติ ๑พระยาสุระ ๑ พระยามูล ๑ พระยาหิงเมือง ๑ พระยา วังหาร ๑ พระยาไชยวงษ์ ๑ เมืองมาง พระยาหลวงมาง ๑ เมืองเชียงราย เจ้าเมืองเชียงราย ๑ นายหนาน ๑ นายน้อย ๑ เมืองยวม พระยาหลวงยวม ๑ พระยาคำฦๅ ๑ พระชนะขม ๑ สิริ นาย ๕๕ ไพร่ ๓๓ สกรรจ์ ๓๐๐๐สำเนาตราพระราชสีห์
หนังสือ เจ้าพระยานิกรบดินทร ฯ มายังหม่อมมหาไชยเจ้า เมืองพง ด้วยเรามีความคิดถึงนัก เพราะแต่ก่อนเจ้ามหาอุปราชา หม่อมมหาไชย ได้เข้ามาพึ่งพระเดชพระคุณ พระบาทสมเด็จพระ นั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตัวเจ้ามหาอุปราชา หม่อมมหาไชยได้ลงมาอยู่ในกรุงเทพ ฯ แต่ครอบครัวที่มาด้วยนั้น ให้พักอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง เมืองน่าน ตัวหม่อมมหาไชยได้ลงมาพักอาไศรยอยู่ที่เรา แต่เจ้า มหาอุปราชาอยู่ด้วยเจ้านายเมืองหลวงพระบาง ครั้งนี้โปรดเกล้า ฯ ให้ถามราชการทางเมืองเชียงรุ้ง หม่อมมหาไชยก็ให้กราบบังคม ทูลพระกรุณาตามเหตุที่เปนมา แล้วหม่อมมหาไชยให้การว่า ที่ เมืองสิบสองปันนาเกิดศึกเนืองๆ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชดำริห์ว่า ครั้นจะโปรดให้เจ้ามหาอุปราชา หม่อม มหาไชย กลับขึ้นมาอยู่บ้านเมืองตามเดิม กลัวเกลือกฮ่อพม่าจะพาลพาโลจับฆ่าเสีย จะเปนเหตุให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศกรุงเทพ ฯ ไป จึงได้ให้เจ้ามหาอุปราชา หม่อมมหาไชย งดรออยู่ที่กรุงเทพ ฯ ตั้งแต่ปีวอกสัมฤทธิศก (จุลศักราช ๑๒๑๐ พ.ศ. ๒๓๙๑) มาถึงปีจอ โทศก (จุลศักราช ๑๒๑๒ พ.ศ. ๒๓๙๓) สิ้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นถึงปีกุญตรีศก (จุลศักราช ๑๒๑๓ พ.ศ. ๒๓๙๔) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ได้พระบรมราชาภิเศกแล้ว ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า เจ้ามหาอุปราชาหม่อมมหาไชย เปนคนหนีร้อนมาพึ่งเย็น ปราศจากชาติภูมิลำเนาลงมาค้างอยู่ช้านาน ทรงสงสารยิ่งนัก โปรดให้เจ้ามหาอุปราชา หม่อมมหาไชย เข้าเฝ้าทูลลออง ฯ ทรงพระกรุณาดำรัสปราไสไต่ ถามเจ้ามหาอุปราชา หม่อมมหาไชยว่า จะใคร่อยู่ณกรุงเทพ ฯ ฤๅ ถ้าจะใคร่อยู่ก็จะจัดแจงที่ให้อยู่เลี้ยงดูไม่ให้ขัดสน ฤๅจะขึ้นไปตั้ง อยู่ณหัวเมืองแห่งใดตำบลใด ก็จะโปรดให้อยู่ตามใจสมัค เจ้ามหา อุปราชา หม่อมมหาไชย ให้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า จะขอถวายบังคมลากลับขึ้นมาอยู่บ้านอยู่เมืองชาติภูมิตามเดิม ก็ทรงพระมหากรุณาโปรดให้ตามใจ หม่อมหาไชยจึงได้กลับขึ้นมาก่อน แต่ เจ้ามหาอุปราชายังหาได้ขึ้นมาไม่ ครั้นอยู่มาณปีมโรงอัฐศก (จุลศักราช ๑๒๑๘ พ.ศ. ๒๓๙๙) เจ้าแสนหวีฟ้าเมืองเชียงรุ้ง กับ หม่อมมหาไชย พร้อมใจกันมีอักษรสาสนแต่งให้นายพิศวงพี่น้อง หม่อมมหาไชยแลท้าวพระยาลื้อ คุมดอกไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการลงมาทูลเกล้า ฯ ถวาย ขอเจ้ามหาอุปราชา หม่อมมหา ไชย ท้าวพระยาครอบครัวซึ่งตกอยู่ณเมืองหลวงพระบางเมืองน่าน กลับคืนไปอยู่พร้อมญาติพี่น้องกัน แล้วก็รับต่อท่านเสนาบดีทั้งปวงว่าถึงปีที่ ๓ จะจัดดอกไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการลงไปทูลเกล้า ฯ ถวาย ขอเปนข้าทั้ง ๒ ฝ่ายฟ้า จึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ของเราทรงพระราชดำริห์เห็นว่า กรุงพระมหานครเขตรแดนกว้างขวางบ้านเมืองติดต่ออยู่กับเมืองจีน เมืองญวน เมืองอังกฤษแลฝรั่งชาติ อื่น ๆ ที่เปนประเทศใหญ่ ๆ มาเปนทางพระราชไมตรีอยู่หลายบ้านหลายเมือง เพราะฉนั้นควรจะประพฤติให้ปรากฎเปนเมืองใหญ่มีเมตตากรุณามาก เปนที่พึ่งพำนักแก่บ้านเล็กเมืองน้อยใกล้เคียง เขตรแดนทั้งปวง แลไม่ควรจะให้ต่ำหน้าทรามยศกว่าเมืองพม่า โปรดเกล้า ฯ ว่าแต่ก่อนเจ้ามหาอุปราชาลงไปค้างอยู่เมืองอังวะ เจ้าแสนหวีฟ้าคิดอ่านเดินอ้อนวอนขอแต่พม่า ได้เจ้ามหาอุปราชามา ครั้งนั้น เจ้าแสนหวีฟ้ากับเจ้ามหาอุปราชาก็ต้องเสียพัศดุทองเงิน หลายร้อยชั่ง เจ้าอังวะชุบเลี้ยงตั้งเจ้ามหาอุปราชามาอยู่เมืองเชียงรุ้ง ก็ได้แต่ชื่อกับจดหมายให้มีเครื่องยศสิ่งนั้น ๆ แต่เครื่องยศก็ต้อง มาทำเอาเอง ครั้งนี้เจ้ามหาอุปราชา หม่อมมหาไชย ได้ลงไปถึง กรุงเทพ ฯ แล้วได้ถวายสัตยานุสัตย์ต่อใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท ทั้ง ๒ พระองค์ ครั้นจะไม่พระราชทานเครื่องยศให้บ้าง ก็เห็นไม่ สมควรกับกรุงเปนพระนครใหญ่ เพราะฉนั้นจึงโปรดเกล้า ฯ ให้ พระราชทานเจ้ามหาอุปราชา แหวนมณฑปบุษย์น้ำทองมงคลเพ็ชร ๑ แหวนมณฑปมุกดามงคลเพ็ชร ๑ ชฎา ๑ พานหมากทองคำมีเครื่องพร้อมสำรับ ๑ คนโททองคำ ๑ กระโถนทองคำ ๑ ประคำทองสาย ๑ กระบี่บั้งทองเล่ม ๑ สัปทนพื้นระบายอัดตลัดคัน ๑ เสื้อเยียรบับดอกอย่างน้อย ๑ เสื้อเข้มขาบเกล็ดพิมเสนอย่างน้อย ๑ เสื้อครุยขาว ปักทองแล่งสำรดทอง ๑ เจียรบาดสาย ๑ ผ้าเกี้ยวเขียนทองผืน ๑ เสื้อเข้มขาบริ้วดี ๑ เสื้อยี่ปุ่นแพรหงอนไก่ลาย ๑ แพรหงอนไก่ สีต่าง ๔ เพลาะ ผ้าส่านปักทองผืน ๑ ผ้าส่านวิลาศผืน ๑ ผ้าลายนอกอย่างผืน ๑ ผ้าลายวิลาศผืน ๑ ผ้าปูมไทย ๑ ผ้าปูมเขมร ๑ สนับเพลาเชิงงอน ๑ อัดตลัดดอกลายสีต่าง ๆ ๓ พับ แพรอริยา ๒ พับกลีบทองใหญ่ ๒ สาย กลีบทองเล็ก ๔ สาย ผ้าลายวิลาศ ๕ พับ ผ้าแดงกุสราด ๑๐ พับ ปืนหันหกลำกล้องลำฅอเครื่องพร้อมหีบ ๑ หอกฅอทองเถลิงคู่ ๑ เงินตรา ๒ ชั่ง เปนเครื่องยศบันดาศักดิ หวังพระราชหฤไทยจะให้พระเกียรติยศปรากฎไปแก่นานาประเทศ แลทรงเห็นแก่เจ้าแสนหวีฟ้าผู้พี่แลหม่อมหาไชยด้วย ใช่จะประสงค์ ยกเอาเมืองลื้อสิบสองปันนามาขึ้นกรุงเทพ ฯ แลมีตราตั้งแต่งเจ้ามหาอุปราชามาเปนเจ้าเมืองเชียงรุ้ง จะก่อเหตุให้ต้องเสียพัศดุทองเงินเหมือนเช่นพม่าก็หาไม่ ใช่จะทรงพระราชดำริห์พระราชทานแต่ เจ้ามหาอุปราชาผู้เดียวก็หามิได้ ถึงหม่อมมหาไชยนั้นเล่า ก็ได้ โปรดเกล้า ฯ ให้จัดเครื่องยศบันดาศักดิเตรียมไว้ จะพระราชทาน หม่อมมหาไชยเหมือนกับเจ้ามหาอุปราชา แต่หม่อมมหาไชยยังไม่ ได้ลงไป การก็รอค้างอยู่ ครั้นตั้งแต่เจ้ามหาอุปราชาแลมารดา กราบถวายบังคมลาขึ้นมาถึงแดนเมืองสิบสองปันนาแล้ว ก็ได้ข่าว เล่าฦๅลงไปต่าง ๆ แต่จะฟังเอาเปนแน่ไม่ได้ ภายหลังสืบได้ความว่าเมืองสิบสองปันนาเกิดศึกฮ่อแลพม่าจับเจ้ามหาอุปราชาฆ่าเสีย ลางเมืองบอกลงไปว่า หม่อมมหาไชยฆ่าเจ้ามหาอุปราชาเสียเอง เจ้า แสนหวีฟ้าจะตกไปอยู่เมืองไหน ฮ่อพม่าฆ่าเจ้ามหาอุปราชาด้วยเหตุ สิ่งใด ฤๅพม่าจะคิดไปว่าเจ้ามหาอุปราชาขาดน้ำพระพิพัฒน์สัจจา ต่อฮ่อต่อพม่าหนีไปพึ่งกรุงเทพ ฯ โปรดเกล้า ฯ ชุบเลี้ยงพระราชทานเครื่องยศบันดาศักดิให้เกินหน้าพี่ชาย จะมีจิตรอิจฉาแกล้งฆ่าเจ้ามหาอุปราชาให้เปนที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศไปอย่างไรก็ไม่ได้ความชัด แลหม่อมมหาไชยกับเราก็รักใคร่นับถือกันมาก ตั้งแต่ครั้งหม่อม มหาไชยกลับขึ้นมาก็นานหลายปี ได้ความศุขความทุกข์อย่างไร หม่อมมหาไชยก็ไม่ได้มีหนังสือบอกลงไปถึงเรา ๆ ก็ยังไม่ได้มีหนังสือมายังหม่อมมหาไชยเลย เรามีความรฦกถึงอยู่ไม่ขาด ทั้งอยาก จะทราบราชการในเมืองสิบสองปันนาให้แน่ จึงได้มีหนังสือขึ้นมา เยี่ยมเยียนไต่ถาม ขอให้หม่อมมหาไชยบอกเหตุการณ์ในเมือง เชียงรุ้งลงไปถึงเราให้ทราบความโดยเร็ว จะได้บอกกล่าวท่าน เสนาบดีทั้งปวง แลกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงทราบใต้ฝ่าลออง ฯ แด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งสองพระองค์ก่อนนั้นก็จะเปนความชอบของหม่อมมหาไชยต่อไป ถ้าแม้นฮ่อแม้นพม่าฆ่าเจ้ามหาอุปราชาเสียแล้ว เจ้าแสนหวีฟ้าก็ปราศจากบ้านเมืองจริง ฮ่อพม่าไม่สงเคราะห์หม่อมหาไชย จัดแจง ตั้งผู้ใดเปนใหญ่อยู่ในเมืองเชียงรุ้ง ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เจ้าอยู่หัวทรงทราบก็คงจะไม่ชอบพระราชหฤไทย แต่เรามาคิดเห็นว่าหม่อมมหาไชยก็ประกอบไปด้วยสติปัญญา ท้าวพระยาลื้อในเมือง สิบสองปันนาก็รักใคร่นับถือมาก ฉันใดหม่อมมหาไชยจะได้เปนใหญ่ ไว้ชื่อเสียงให้ปรากฎ อยู่ในแผ่นดินเมืองเชียงรุ้งก็ให้เร่งคิดการเสียให้ตลอด เมื่อหม่อมมหาไชยคิดการแต่ลำพังไม่สำเร็จ จะให้ช่วยเหลืออย่างไร หม่อมมหาไชยบอกลงไปถึงกรุงเทพ ฯ แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็คงจะช่วยให้สมกับการที่ได้ทรงพระมหากรุณาเมตตา อย่าให้หม่อมมหาไชยมีความรังเกียจสิ่งใดเลย ถ้าแม้น ฮ่อพม่าคุมเหงได้ความทุกข์เหลือปัญญาหม่อมมหาไชยจะคิด หม่อมมหาไชยจะอยู่ที่เมืองสิบสองปันนาต่อไปไม่ได้ จะพาญาติพี่น้องข้าม มาอยู่ที่เมืองไหนซึ่งเปนเมืองขึ้นกรุงเทพฯ ก็จงมาอยู่ตามใจสมัค พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็จะได้ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงสืบไป หนังสือมาณวัน ๔๑๒ ค่ำ ปีมเมียสัมฤทธิศก (จุลศักราช ๑๒๒๐ พ.ศ. ๒๔๐๑)