ประชุมโคลงโลกนิติ/๐๓๒
๓๒.
สุกฺโขปิ จนฺทนตรํ | น ชหาติ คนฺธํ | |
นาโค คโต รณมุเข | น ชหาติ ลีฬํ |
ยนฺเต คโต มธุรสํ | น ชหาติ อุจฺฉุ | |
ทุกฺโข ปิ ปณฺฑิตชโน | น ชหาติ ธมฺมํ[ก] | |
โลกนีติ ร. |
ก. จันทน์เผาเหือดแห้งห่อน | กลิ่นธาร | |
อ้อยหีบแล้วหอมหวาน | กลิ่นอ้อย |
ช้างเข้าศึกเสี่ยมสาร | ยกย่าง งามนา | |
บัณฑิตแม้ทุกข์ร้อย | ห่อนรื้อเสียธรรม | |
สำนวนเก่า |
ข. จวงจันทน์แม้แห่งห่อน | โรยรส | |
ช้างสู่สงครามขยด | ค่อยเข้า |
อ้อยหีบพร่ำสาหส | ฤๅจืด จางนา | |
นักปราชญ์ทุกข์ร้อนเร้า | ห่อนรื้อลืมธรรม | |
สำนวนเก่า |
ค. รัตจันทน์แม้มาตรแห้ง | ฤๅหาย กลิ่นเฮย | |
คชสารสู้รณเยื้องผาย | ห่อนทิ้ง |
อ้อยอัดบดยนต์ขยาย | รสห่อน เสียแฮ | |
ปราชญ์ทุกข์แทบตัวกลิ้ง | ห่อนได้เสียธรรม | |
สำนวนเก่า |
ง. จันทน์แดงแห้งห่อนสิ้น | กลิ่นอาย | |
สารบ่ละลาดผาย | ศึกเข้า[ข] |
อ้อยอัดหีบห่อนหาย | หวานรส นะพ่อ | |
ปราชญ์ทุกข์ลำเค็ญเร้า | ไป่ร้างโรยธรรม | |
สำนวนเก่า |
จ. จันทน์แห้งกลิ่นห่อนได้ | ดรธาน | |
อ้อยหีบชานยังหวาน[ค] | โอชอ้อย |
ช้างเข้าศึกเสี่ยมสาร | ยกย่าง งามนา | |
บัณฑิตแม้นทุกข์ร้อย | เท่ารื้อลืมธรรม | |
สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร |
เชิงอรรถ
แก้ไขก คาถาหมายเลข ๓๒ เดิมไม่ปรากฏที่มา ได้ตรวจสอบพบใน โลกนีติ ร. ส่วน ธรรมนีติ ร. มีคาถาที่มีความหมายใกล้เคียงกับบทนี้ดังนี้
"ยนฺตคโต อุจฺฉุ รสํ | น ชหาติ คโช ตถา | |
สงฺคาเมสุ คโต ลีฬํ | สุสฺสุเตนาปิ จนฺทนํ |
สารคนฺธํ น ชหาติ | ทุกฺขปฺปตฺโตปิ ปณฺฑิโต | |
น ชหาติ สตํ ธมฺมํ | สุขกาเล กถา ว กา" |
ข สารบ่ละลาดผาย ศึกเข้า – ช้างจะไม่เคลื่อนหรือละทิ้งไป แต่จะเข้าไปสู้ศึก (ลาด คือ เคลื่อนไป); ละลาด กรมศิลปากร (๒๕๓๙) ใช้ ละลาย
ค ชานยังหวาน – นิยะดา (๒๕๓๘) ใช้ บ่หายหวาน
บทอธิบายศัพท์
แก้ไข- หมายเหตุต้นฉบับ
- ห่อนรื้อเสียธรรม – หรือจะเคยทิ้งธรรม คือ ไม่ทิ้งธรรม (ห่อน คือ เคย, รื้อ คือ หรือ, เสีย คือ ทิ้ง)[a]
- จวงจันทน์ – ไม้จันทน์ที่กรางหรือถูด้วยวัตถุอื่น ๆ ให้เป็นผง
- ขยด – กด กระเถิบ เลื่อนจาก
- สาหส – สาหัส
- รัตจันทน์ – จันทร์แดง (รัต คือ สีแดง)
- บดยนต์ – เครื่องหีบอ้อย
- หีบ – คั้น บีบเค้นให้น้ำ (หวาน) ออกมา
- ดรธาน – หายไป ลับไป (มาจาก อันตรธาน)
- เท่ารื้อลืมธรรม – แต่หรือจะลืมธรรม คือ ไม่ลืมธรรม (เท่า คือ แต่[b]; รื้อ คือ หรือ)
- หมายเหตุของวิกิซอร์ซ
a ความจริงแล้ว "ห่อน" แปลว่า ไม่ ตามความหมายที่ปรากฏในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ (เช่น "ห่อนเห็นเจ้าเศร้าใจครวญ" แปลว่า ไม่เห็นเจ้า ก็เศร้าใจและคร่ำครวญอยู่) ฉะนั้น "ห่อนรื้อเสียธรรม" ก็ควรแปลว่า ไม่เลิกละธรรม มากกว่า (รื้อ แปลว่า เลิกออก ขนออก)
b ความจริงแล้ว "เท่า" ในวรรคที่สองของบาทที่สี่นี้ไม่น่าจะแปลว่า "แต่" เพราะ "เท่า" ในที่นี้ควรต่อเนื่องกับคำว่า "ร้อย" ในวรรคที่หนึ่งของบาทเดียวกัน ("บัณฑิตแม้นทุกข์ร้อย เท่ารื้อลืมธรรม") โดยทั้งบาทนี้มีความหมายว่า บัณฑิตต่อให้เผชิญความทุกข์ร้อยเท่าก็ไม่เลิกละธรรม