คำนำของของผู้จัดพิมพ์

ในการชำระสะสางกฎหมายในรัชกาลที่ ๑ นั้น ปรากฏตามพระราชปรารภซึ่งเขียนไว้ในตอนต้นแห่งฉะบับหลวงทุกฉะบับว่า เมื่อการชำระเสร็จสิ้นแล้ว อาลักษณ์ได้เขียนลงไว้ในสมุด ๓ ชุด เก็บไว้ห้องเครื่องชุดหนึ่ง หอหลวงชุดหนึ่ง และศาลหลวงชุดหนึ่ง ประทับตรา ๓ ดวงทุกเล่ม ตามฉะบับที่ตกทอดมาในสมัยปัจจุบันสันนิษฐานได้ว่า เดิมชุดหนึ่งมี ๔๑ เล่ม ฉะนั้น ในครั้งเดิมคงมีฉะบับหลวงตรา ๓ ดวงถึง ๑๒๓ เล่ม ในสมัยปัจจุบันยังเหลืออยู่เพียง ๗๙ เล่ม เก็บอยู่ณกระทรวงยุตติธรรม ๓๗ เล่ม ณหอสมุดแห่งชาติ ๔๒ เล่ม ส่วนอีก ๔๔ เล่มนั้นไม่ทราบว่าขาดหายไปด้วยประการใด[วซ 1]

นอกจากฉะบับหลวงตรา ๓ ดวง ๓ ชุดนี้ อาลักษณ์ได้เขียนไว้อีกชุดหนึ่ง เรียกว่า ฉะบับรองทรง ยังเหลือตกทอดมาในสมัยปัจจุบันเพียง ๑๗ เล่ม ซึ่งเก็บอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติทั้งหมด ฉะบับรองทรงนี้ผิดกับฉะบับหลวง ๓ ชุดก่อนนั้นโดยไม่มีตรา ๓ ดวงประทับไว้ และในฉะบับหลวงมีอาลักษณ์สอบทาน ๓ คน แต่ในฉะบับรองทรงมีเพียง ๒ คน อนึ่ง ตามฉะบับหลวงที่ตกทอดมานี้เขียนปีฉลู จ.ศ. ๑๑๖๗ (พ.ศ. ๒๓๔๘) ทุกเล่ม ส่วนฉะบับรองทรงเขียนในปีเถาะ จ.ศ. ๑๑๖๙ (พ.ศ. ๒๓๕๐)[1]

ในการพิมพ์กฎหมายนี้ ได้อาศัยฉะบับหลวงตรา ๓ ดวงโดยฉะเพาะ เว้นแต่เมื่อไม่มีฉะบับหลวงเหลืออยู่ จึงพิมพ์ตามฉะบับรองทรง[2]

ในเมื่อเหลือฉะบับหลวงหรือฉะบับรองทรงแต่ฉะบับเดียว ก็พิมพ์ตามโดยมิได้เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด เว้นแต่ปรากฏชัดว่า อาลักษณ์เขียนผิดหรือเขียนตก[3] จึงได้พิมพ์เพิ่มเติมและแก้ไขให้ถูกต้อง แต่คงมีเชิงอรรถไว้ ในการตรวจแก้นี้ ได้อาศัยฉะบับพิมพ์ของนายโหมด อมาตยกุล (พระยากระสาปน์) เล่มหนึ่ง ซึ่งพิมพ์ปีระกา จ.ศ. ๑๒๑๑ (พ.ศ. ๒๓๙๒) หรือฉะบับของหมอบรัดเล เล่ม ๒ พิมพ์ปีกุน จ.ศ. ๑๒๒๕ (พ.ศ. ๒๔๐๖) และได้สอบทานกับฉะบับที่ใช้ในการพิมพ์นี้เสมอ

ถ้าเหลือหลายฉะบับ ก็ได้เลือกเอาฉะบับหนึ่งมาพิมพ์ตามที่กล่าวไว้นี้ และที่ผิดกับฉะบับอื่นก็แถลงไว้ในเชิงอรรถ เนื่องจากอาลักษณ์ได้เขียนและสอบทานฉะบับหลวงด้วยความระมัดระวัง จึงมีที่แตกต่างแต่เพียงเล็กน้อย โดยมากที่ต่างกันนั้น ก็คือ การสกดการันต์ เพราะอาลักษณ์ต่างก็เขียนศัพท์ต่างกันตามใจของตนเอง เช่น มิ หมิ มี หรือ หมิ ไหม่ หรือ ใหม่ ภูดาษ หรือ ผู้ดาษ ค่า หรือ ข้า พบ ภบ หรือ ภพ สาร หรือ สาน ฯลฯ เป็นต้น ข้อแตกต่างทางอักษรที่มีบ่อย ๆ เช่นนี้มิได้หยิบยกขึ้นไว้ในเชิงอรรถ เพราะได้พิมพ์ตัวบทกฎหมายตามที่อาลักษณ์ต่างเขียนไว้[4] ผู้อ่านจึงจะมีโอกาสพบตัวอย่างแห่งวิธีเขียนต่าง ๆ นี้ แต่ข้อต่างอื่น ๆ ได้ทำเชิงอรรถไว้ทุกข้อ

ฉะบับที่ใช้ในการพิมพ์นี้ ได้อ้างตามเครื่องหมายที่ปรากฏอยู่ในบัญชีฉะบับหลวงของนาย ย. บูรเนย์ พิมพ์ไว้ในหนังสือของสยามสมาคม[5]

ในการพิมพ์นี้ มิได้เรียงกฎหมายลักษณะต่าง ๆ ตามฉะบับพิมพ์ครั้งก่อน เพราะลำดับลักษณะกฎหมายในฉะบับพิมพ์ครั้งก่อนนั้นหาได้มาจากการปฏิบัติเก่าแก่อันใช้สืบเนื่องกันแต่เนิ่นนานมาไม่ ประการหนึ่ง ลำดับนี้ไม่ตรงกับลำดับมูลคดีในพระธรรมสาตร ทั้งไม่ตรงกับลำดับที่ฉะบับหลวงเรียงใส่ตู้ไว้ จะเห็นได้จากการที่กฎหมายลักษณะลักพาซึ่งในฉะบับหลวงเขียนรวมอยู่กับกฎหมายลักษณะมูลคดีวิวาท ในฉะบับพิมพ์กลับแยกเอาไว้คนละเล่ม ซึ่งแสดงให้เห็นชัดว่า ลำดับกฎหมายในฉะบับพิมพ์หาได้อาศัยเรียงลำดับตามฉะบับหลวงไม่ อีกประการหนึ่ง ฉะบับหลวงที่เหลืออยู่ก็ไม่มีเครื่องหมายอันใดอันจะทำให้เชื่อว่า ต้องเรียงตามลำดับอันหนึ่งอันใด

โดยเหตุเหล่านี้ ในการพิมพ์ครั้งนี้จึงได้พยายามเรียงลำดับกฎหมายตรา ๓ ดวงเพื่อให้สะดวกในการค้นหา ซึ่งจะได้พิมพ์เป็น ๓ เล่ม ในเล่ม ๑ รวมบทกฎหมายลักษณะทั่วไป กฎมณเฑียรบาล กฎหมายลักษณะปกครอง กฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลและพิจารณาคดี กล่าวคือ บรรดาบทกฎหมายซึ่งเรียกว่า กฎหมายมหาชนในสมัยปัจจุบัน ในเล่ม ๒ รวมกฎหมายเอกชน และกฎหมายอาญา ส่วนเล่ม ๓ รวมกฎหมายซึ่งมิได้จัดอยู่ตามมูลคดี เช่น กฎหมายพระสงฆ์ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนดเก่า ฯลฯ ซึ่งโดยมากเป็นบทกฎหมายที่ไม่สู้เก่าแก่เช่นกฎหมายที่รวมไว้ในเล่ม ๑ และเล่ม ๒

บทกฎหมาย เรียกตามชื่อที่เขียนอยู่หน้าปกสมุดฉะบับตรา ๓ ดวง ซึ่งบางบทผิดกับชื่อที่ได้เรียกกันมาตามฉะบับพิมพ์ เช่น กฎหมายที่เรียกกันว่า "กรมศักดิ์" และ "ลักษณะมูลคดีวิวาท" ตามฉะบับพิมพ์นั้นณที่นี้ก็เรียกชื่อว่า พระไอยการพรมศักดิ และพระไอยการบานผแนก ตามชื่อในต้นฉะบับ ส่วนจ่าหน้าเรื่องนั้นก็ถือเอาตามชื่อย่อที่มีไว้ที่สันแห่งสมุด

ในการพิมพ์นี้ ได้ขึ้นหัวข้อใหม่ตามสมควร อนุโลมตามอย่างเสด็จในกรมหลวงราชบุรีฯ ทั้งได้มีเลขเรียงลำดับจนจบลักษณะกฎหมายนั้น เลขนี้เขียนเป็นเลขอาหรับเพื่อแสดงให้เห็นว่า เป็นการเพิ่มเติมของผู้พิมพ์ ในการลงเลขใหม่นี้ โดยมากก็ได้จัดเรียงให้เหมือนกับฉะบับของเสด็จในกรมหลวงราชบุรีฯ เท่าที่จะทำได้ เมื่อจำเป็นจะต้องเปลี่ยน ก็ทำเป็นตารางแสดงไว้ในตอนท้ายเล่ม

ในฉะบับหลวง คำภาษาบาลีเขียนเป็นตัวหนังสือขอม ในการพิมพ์คราวนี้จึงได้ใช้ตัวพิมพ์บาง (ชะนิดที่เรียกว่า วัชชรินทร์)[วซ 2] เพื่อให้เห็นชัดขึ้นทำนองฉะบับหลวง

ในการจัดพิมพ์กฎหมายตรา ๓ ดวงนี้ ย่อมจะมีที่ผิดตกบกพร่องอยู่บ้าง เมื่อพิมพ์เสร็จแล้ว ก็ได้สอบทานกับต้นฉะบับอีกครั้งหนึ่ง และลงไว้ในใบบอกแก้คำผิด จึงขอผู้อ่านได้โปรดตรวจแก้ตามนั้น และถ้ายังมีข้อคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง ก็ขอได้โปรดให้อภัยด้วย

ในที่สุดนี้ ผู้จัดพิมพ์ขอแสดงความขอบใจนาย ย. บูรเนย์ ผู้ซึ่งได้ช่วยออกความเห็นและคำปรึกษา เป็นประโยชน์แก่การพิมพ์เป็นอย่างยิ่ง กับขอขอบใจนายสนั่น ภมรสูต ผู้ที่ได้ช่วยคัดสำเนาฉะบับหลวง อันเป็นปัจจัยให้การพิมพ์กฎหมายนี้ได้สำเร็จผลลุล่วงไปโดยสะดวก และขอขอบใจนางสาวเชิดชื่น[วซ 3] พุทธิแพทย์ ที่ได้ช่วยเหลือเอาใจใส่ทำคำบอกแก้คำผิดให้ ซึ่งนับว่า เป็นการบรรเทาภาระของผู้จัดพิมพ์หาน้อยไม่

ร. แลงกาต์

  1. มีฉะบับรองทรงที่เหลืออยู่ฉะบับหนึ่งซึ่งต่างกับฉะบับอื่น คือ ฉะบับที่มีกฎหมายลักษณะทาส ฉะบับนี้เขียนในปีฉลู จ.ศ. ๑๑๖๗ และมีอาลักษณ์สอบทาน ๓ คน ดุจเดียวกันกับฉะบับหลวง ผิดกันแต่ไม่ได้ประทับตรา ๓ ดวงเท่านั้น
  2. กฎหมายที่ไม่มีฉะบับหลวงเหลืออยู่เลย มีแต่ฉะบับรองทรงนั้น มีแต่ ๒ บท คือ กรมศักดิ์ และลักษณะทาส
  3. ที่ว่า อาลักษณ์เขียนผิด นั้นคือ อาลักษณ์เขียนเผลอไป ถ้าหากได้รู้สึกตัว ก็คงจะได้แก้เอง ฉะนั้น เมื่ออาลักษณ์คนใดเขียนคำ ๆ หนึ่งหลายอย่างต่างกัน เช่น เขียน เนี้อ และ เนื้อ สกรร และ สกัน กระทรวง และ ตระทรวง ขาย และ ฃาย เงิน และ เงีน เป็นต้นดั่งนี้ เห็นว่า ไม่ควรแก้ เพราะเป็นการเขียนตามความรู้สึกของอาลักษณ์คนนั้น หาใช่เขียนผิดไม่
  4. ชื่ออาลักษณ์เหล่านี้ได้แถลงไว้ในตารางตอนท้ายเล่ม
  5. J. Burnay, Inventaire des Manuscrits Juridiques Siamois, Journal of the Siam Society, vol. XXIII, XXIV, XXV.
เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ
  1. มีใบบอกแก้คำผิดว่า "ในปี พ.ศ. 2477 หอสมุดแห่งชาติได้ซื้อฉะบับหลวงมาอีก 1 เล่ม จึงควรแก้จำนวนที่แถลงไว้ว่า 79 เล่ม เป็น 80 เล่ม เก็บอยู่ณหอสมุดแห่งชาติ 43 เล่ม"
  2. ด้วยข้อจำกัดทางเทคนิค วิกิซอร์ซเปลี่ยนไปใช้ ตัวอักษรสีเทา แทน
  3. มีใบบอกแก้คำผิดให้แก้เป็น "เชื้อชื่น"