ปัญญาสชาดก/ภาคที่ 19/ผู้วายชนม์

  • อำมาตย์โท พระยาประเสริฐสุนทราศรัย (กระจ่าง สิงหเสนี)
  • พ.ศ. ๒๔๑๖–๒๔๗๑

ประวัติของอำมาตย์โท พระยาประเสริฐสุนทราศรัย

อำมาตย์โท พระยาประเสริฐสุนทราศรัย (กระจ่าง สิงหเสนี) เกิดที่บ้านข้างสะพานยาว วัดจักรวรรดิราชาวาศ จังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๖ เป็นบุตรพระยาเพ็ชฎา (ดิศ สิงหเสนี) มารดาชื่อ โหมด

เมื่ออายุ ๑๓ ปี ได้ศึกษาวิชชาหนังสือไทยกับพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ณโรงเรียนริมวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง และที่ตำหนักสวนกุหลาบ ในพระบรมมหาราชวัง.

เมื่อ พ.ศ. ๑๔๒๒ ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้น พ.ศ. ๒๔๒๖ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระพี่เลี้ยงสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๓๔ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปรับราชการเป็นผู้ช่วยข้าหลวงมณฑลนครราชสิมา พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้เป็นตำแหน่งจ่านายสิบในกองทัพของพระยาประสิทธิ์ศัลการ (สอาด สิงหเสน) ที่จะยกไปเมืองสกลนคร และแก่งเจ๊ก ฝั่งแม่น้ำโขงฟากตะวันออก แต่ยังมิได้ยกไป ยังคงรับราชการอยู่จังหวัดนครราชสีมา มีหน้าที่ช่วยจัดการเกณฑ์คนและพาหนะส่งกองทัพ และมีหน้าที่จัดการสื่อสารในระวางมณฑลอุบล มณฑลอุดร กับทางกรุงเทพฯ ด้วย จนเสร็จราชการทัพ.

ถึงวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๗ ได้เป็นตำแหน่งเลขานุการของข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครราชสิมา และเป็นผู้ช่วยข้าหลวงมหาดไทย มณฑลนครราชสิมา อีกตำแหน่งหนึ่ง ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์เป็นหลวงรังสฤษศุภการ ถือศักดินา ๖๐๐ สังกัดกระทรวงมหาดไทย ในวันที่ ๒๖ เมษายนนั้น และได้ทำการสมรสกับตุ่ม สิงหเสนี เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. นั้น.

วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นตำแหน่งข้าหลวงมหาดไทย มณฑลนครราชสิมา ได้กราบถวายบังคมลาอุปสมบทณวัดกลาง จังหวัดนครราชสิมา เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. นี้ ๑ พรรษา.

ครั้นลาสิกขาแล้ว กลับมารับราชการตามเดิม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนขึ้นเป็นพระนครภักดีศรีนครานุรักษ์ ถือศักดินา ๓๐๐๐ ไร่ เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๔ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ในมณฑลนครราชสิมาเมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๐

ระวางเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์นั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหัวหน้าควบคุมคนและพาหนะ กับทั้งเป็นข้าหลวงฝ่ายสยามสมทบกับข้าหลวงฝรั่งเศสในการปักปันเขตต์แดนตั้งแต่เขตต์อรัญประเทศ แขวงจังหวัดกะบินทร์บุรี มณฑลปราจีน ถึงบ่อไพริน มณฑลจันทบุรี ได้อยู่ประชุมปรึกษาหารือจนเสร็จการ.

วันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๓๔๕๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปเป็นปลัดมณฑลอุดร.

วันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ได้ไปเป็นผู้จัดการระงับปราบปรามพวกญวนที่คิดประทุษร้ายต่อประเทศฝรั่งเศสในเขตต์แขวงจังหวัดนครพนม สกลนคร.

วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ในมณฑลอุดร ถึง พ.ศ. ๒๔๖๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นพระยาประเสริฐสุนทราศรัย ถือศักดินา ๓๐๐๐ ไร่ เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม

วันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดตราษ มณฑลจันทบุรี.

ครั้นถึงวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๗ รู้สึกตัวว่า ชรา พยาธิเบียดเบียฬ ร่างกายทุพพลภาพ ไม่สามารถที่จะรับราชการฉลองพระเดชพระคุณณตำแหน่งอันสำคัญนี้ได้ดังแต่ก่อนมา จึงได้กราบถวายบังคมลาจากราชการเพื่อพักผ่อนรักษาตัว ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต และพระราชทานเบี้ยบำนาญมาจนตลอดอายุ

พระยาประเสริฐสุนทราศรัยได้พยายามรักษาตัวต่อมาจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๑ ให้มีอาการอ่อนเพลียลงทุกที ได้ให้พระยาเวชสิทธิ์พิลาศ พระยาอัศวินอำนวยเวช (หมอปัว) และพระวรสุนทโรสถ ตรวจเมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์นั้น ปรากฎว่า เป็นโรคตับพิการ แม้แพทย์ได้พยายามรักษาเป็นลำดับมา อาการไม่ทุเลา มีแต่ทรงกับซุด จนถึงวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ส. ๒๔๗๑ อาการได้กำเริบขึ้น สุดความสามารถของแพทย์ที่จะเยียวยาไว้ได้ ได้ถึงอนิจกรรมในวันที่ ๒๒ นั้น เวลา ๐๗.๐๕ นาฬิกา รวมอายุได้ ๕๕ ปี ๔ เดือน ๖ วัน

พระยาประเสริฐสุนทราศรัยได้รับราชการมาด้วยความดีความชอบ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสสริยาภรณ์เป็นบำเหน็จมาเป็นลำดับดังนี้ คือ.

  1. ตราจัตุรถาภรณ์ ช้างเผือก
  2. ตราจัตุรถาภรณ์ มงกุฎสยาม
  3. เหรียญจักรพรรดิมาลา
  4. เหรียญรัชฎาภิเษก
  5. เหรียญทวิธาภิเษก
  6. เหรียญรัชมงคล
  7. เหรียญรัชมังคลาภิเษก ชุบทอง
  8. เหรียญประภาสมาลา เงิน
  9. เหรียญบรมราชาภิเษก เงิน รัชชกาลที่ ๖

พระยาประเสริฐสุนทราศรัยมีบุตรและธิดา คือ.

ที่ ธิดา คุณหญิงนครราชเสนี (เจือ สิงหเสนี)
ที่ ธิดา เจริญ สิงหเสนี
ที่ บุตร หลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี)
ที่ ธิดา จำรัส สิงหเสนี (ภรรยานายเทียบ สิงหเสนี)
ที่ ธิดา จวง สิงหเสนี
ที่ บุตร นายประกอบ สิงหเสนี
ที่ ธิดา พวง สิงหเสนี
ที่ ธิดา กระจับ สิงหเสนี
ที่ บุตร นายดาบ จำเนียร สิงหาเสนี
ที่ ๑๐ บุตร นายประจง สิงหเสนี
ที่ ๑๑ บุตร นายกระจาย สิงหเสนี
ที่ ๑๒ บุตร นายประพันธ์ สิงหเสนี
ที่ ๑๓ บุตร นายนุช สิงหเสนี
ที่ ๑๔ บุตร นายกระเจิ่น สิงหเสนี
ที่ ๑๕ บุตร นายจำนงค์ สิงหเสนี
ที่ ๑๖ บุตร นายสมพงศ์ สิงหเสนี
ที่ ๑๗ ธิดา พิศ สิงหเสนี
ที่ ๑๘ ธิดา เพลินจิตร์ สิงหเสนี (ถึงแก่กรรมเมื่ออายุ ๔ ปี)

สิ้นประวัติย่อของพระยาประเสริฐสุนทราศรัยเพียงเท่านี้