ผู้ใช้:JojoWishu/ทดลองเขียน
ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ ๖)
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๖๒”
พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป[1]
ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๐ สภากรุงเทพมหานครประกอบด้วยสมาชิกสภากรุงเทพมหานครจำนวนเขตละหนึ่งคน ซึ่งเลือกตั้งขึ้นโดยราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละเขต แต่เขตใดมีราษฎรเกินหนึ่งแสนห้าหมื่นคนให้มีสมาชิกสภากรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นทุกหนึ่งแสนห้าหมื่นคนต่อสมาชิกสภากรุงเทพมหานครหนึ่งคนเศษของหนึ่งแสนห้าหมื่นคนถ้าเกินเจ็ดหมื่นห้าพันคนให้มีสมาชิกสภากรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
เขตใดมีผู้ได้รับเลือกตั้งไม่ครบจำนวน ถ้าในการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ยังไม่มีผู้ได้รับเลือกตั้งครบจำนวนอีก ให้ถือว่าสภากรุงเทพมหานครประกอบด้วยจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่จนกว่าจะครบอายุของสภากรุงเทพมหานคร เว้นแต่จะมีจำนวนสมาชิกไม่ถึงสองในสามของจำนวนตามวรรคหนึ่ง”
ให้ยกเลิกมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘
ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๒ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานครต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น”
ให้ยกเลิกมาตรา ๑๓ และมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๒
ให้ยกเลิกมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๕๐
ให้ยกเลิกวรรคสองของมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘
ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๒๑ สมาชิกภาพของสมาชิกสภากรุงเทพมหานครเริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้งและอยู่ในตำแหน่งตามอายุของสภากรุงเทพมหานคร
เมื่อตำแหน่งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครว่างลงและมีการเลือกสมาชิกสภากรุงเทพมหานครเข้ามาแทน ให้สมาชิกสภากรุงเทพมหานครซึ่งเข้ามาแทนนั้นอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของสภากรุงเทพมหานครที่เหลืออยู่”
ให้ยกเลิกความใน (๔) และ (๕) ของวรรคหนึ่งในมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๒
(๕) กระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา ๒๒ หรือมาตรา ๕๑ วรรคสาม”
ให้ยกเลิก (๖) ของวรรคหนึ่งในมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘
ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๒๔ เมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสมาชิกภาพของสมาชิกสภากรุงเทพมหานครผู้ใดสิ้นสุดลงตามมาตรา ๒๓ (๔) (๕) หรือ (๗) หรือเมื่อได้รับแจ้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภากรุงเทพมหานครผู้ใดสิ้นสุดลงตามมาตรา ๒๓ (๔) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสอบสวนและวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยหรือได้รับแจ้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง แล้วแต่กรณี แม้ว่าสมาชิกสภากรุงเทพมหานครผู้นั้นจะได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้วไม่ว่าด้วยเหตุใด เว้นแต่เพราะเหตุตาย หรือพ้นจากตำแหน่งไปแล้วเกินสองปี ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
ในกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภากรุงเทพมหานครผู้นั้นสิ้นสุดลงตามมาตรา ๒๓ (๔) (๕) หรือ (๗) นั้น ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศคำวินิจฉัยให้ทราบทั่วกัน ไม่ว่าผู้นั้นจะได้พ้นจากตำแหน่งไปก่อนแล้วหรือไม่ก็ตาม โดยในคำวินิจฉัยนั้นให้ระบุเหตุที่ทำให้พ้นจากตำแหน่งไว้ และให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภากรุงเทพมหานครผู้นั้นสิ้นสุดลง ตั้งแต่วันที่มีเหตุตามมาตรา ๒๓ (๔) (๕) หรือ (๗) แต่ไม่กระทบต่อการดำเนินงานและการรับค่าตอบแทนที่ได้กระทำไปก่อนวันที่มีการประกาศคำวินิจฉัย ถ้าในขณะที่ประกาศคำวินิจฉัยดังกล่าวผู้นั้นกำลังดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นอันเป็นผลจากการเลือกตั้งต่างวาระหรือต่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกัน ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งที่กำลังดำรงอยู่ด้วย และในกรณีที่เป็นผลให้ถูกห้ามใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือใช้สิทธิเลือกตั้ง ให้ถือว่าวันที่ประกาศคำวินิจฉัยเป็นวันเริ่มนับระยะเวลาต้องห้ามดังกล่าว ทั้งนี้ คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด”
ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๔ มาตรา ๔๕ มาตรา ๔๖ และมาตรา ๔๗ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๔๔ ให้กรุงเทพมหานครมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนหนึ่งซึ่งราษฎรเลือกตั้งขึ้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นกำหนด
มาตรา ๔๕ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
มาตรา ๔๖ ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต้องมีอายุไม่ต่ากว่าสามสิบห้าปีนับถึงวันเลือกตั้ง สำเร็จการศึกษาไม่ต่ากว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่าและต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นด้วย
มาตรา ๔๗ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้งแต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้
ในกรณีที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครดำรงตำแหน่งไม่ครบระยะเวลาสี่ปีก็ให้ถือว่าเป็นหนึ่งวาระและเมื่อได้ดำรงตำแหน่งสองวาระติดต่อกันแล้วจะดำรงตำแหน่งได้อีกเมื่อพ้นระยะเวลาสี่ปีนับแต่วันพ้นจากตำแหน่ง”
ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๕๑ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต้องไม่กระทำการ ดังต่อไปนี้
(๑) ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานครหรือบริษัทซึ่งกรุงเทพมหานครถือหุ้น หรือตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่นหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น เว้นแต่ตำแหน่งที่ต้องดำรงตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินหรือตามนโยบายของรัฐบาล
(๒) รับเงินหรือประโยชน์ใด ๆ เป็นพิเศษจากส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานครหรือบริษัทซึ่งกรุงเทพมหานครถือหุ้นนอกเหนือไปจากที่ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือการพาณิชย์หรือบริษัทปฏิบัติกับบุคคลในธุรกิจการงานตามปกติ
(๓) เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญาหรือกิจการที่กระทำหรือจะกระทำกับหรือให้แก่กรุงเทพมหานคร หรือมีส่วนได้เสียในสัญญาหรือกิจการที่กระทำหรือจะกระทำกับหรือให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น โดยมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าเป็นการต่างตอบแทนหรือเอื้อประโยชน์ส่วนตนระหว่างกัน หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่เป็นคู่สัญญากับกรุงเทพมหานครอันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เว้นแต่ในส่วนที่เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทมหาชนจำกัดอยู่ก่อนได้รับการเลือกตั้ง”
ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามของมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘
“ให้นำความใน (๒) และ (๓) มาใช้บังคับแก่สมาชิกสภากรุงเทพมหานครด้วยโดยอนุโลม”
ให้ยกเลิกความใน (๔) ของวรรคหนึ่งในมาตรา ๕๒ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๔๖”
ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๓ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๕๓ เมื่อมีข้อสงสัยว่าความเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครผู้ใดสิ้นสุดลงตามมาตรา ๕๒ (๔) หรือ (๕) หรือเมื่อได้รับแจ้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าความเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครผู้ใดสิ้นสุดลงตามมาตรา ๕๒ (๔) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสอบสวนและวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยหรือได้รับแจ้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง แล้วแต่กรณี แม้ว่าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครผู้นั้นจะได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้วไม่ว่าด้วยเหตุใด เว้นแต่เพราะเหตุตาย หรือพ้นจากตำแหน่งไปแล้วเกินสองปี ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
ในกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยวินิจฉัยว่าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๕๒ (๔) หรือ (๕) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศคำวินิจฉัยให้ทราบทั่วกัน ไม่ว่าผู้นั้นจะได้พ้นจากตำแหน่งไปก่อนแล้วหรือไม่ก็ตาม โดยในคำวินิจฉัยนั้นให้ระบุเหตุที่ทำให้พ้นจากตำแหน่งไว้ และให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่มีเหตุตามมาตรา ๕๒ (๔) หรือ (๕) แต่ไม่กระทบต่อการดำเนินงานและการรับค่าตอบแทนที่ได้กระทำไปก่อนวันที่มีการประกาศคำวินิจฉัย ถ้าในขณะที่ประกาศคำวินิจฉัยดังกล่าวผู้นั้นกำลังดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นอันเป็นผลจากการเลือกตั้งต่างวาระหรือต่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกัน ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งที่กำลังดำรงอยู่ด้วย และในกรณีที่เป็นผลให้ถูกห้ามใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือใช้สิทธิเลือกตั้ง ให้ถือว่าวันที่ประกาศคำวินิจฉัยเป็นวันเริ่มนับระยะเวลาต้องห้ามดังกล่าวทั้งนี้ คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด”
ให้ยกเลิกความใน (๗) ของวรรคหนึ่งในมาตรา ๘๙ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(๗) การจัดการจราจรและการวิศวกรรมจราจร”
ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๗/๑) ของวรรคหนึ่งในมาตรา ๘๙ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘
“(๗/๑) การส่งเสริมและสนับสนุนสถานีตำรวจ และหน่วยงานอื่นในการปฏิบัติหน้าที่ตาม (๑) และ (๗)”
ให้ยกเลิกความใน (๒๑) ของวรรคหนึ่งในมาตรา ๘๙ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(๒๑) การจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับแผนการศึกษาของชาติ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา”
ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของมาตรา ๑๑๙ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘
“การจ่ายเงินของกรุงเทพมหานครตามวรรคหนึ่ง หรือการนำเงินของกิจการที่กรุงเทพมหานครเป็นเจ้าของหรือเป็นหุ้นส่วนหรือถือหุ้นในกิจการนั้น ไปใช้จ่ายเพื่อการฝึกอบรมหรือดูงานในต่างประเทศของข้าราชการการเมืองของกรุงเทพมหานคร ประธานสภากรุงเทพมหานคร รองประธานสภากรุงเทพมหานคร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือสมาชิกสภาเขต จะกระทำมิได้”
ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานสภากรุงเทพมหานคร รองประธานสภากรุงเทพมหานคร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๘๖/๒๕๕๗ เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและสมาชิกสภาเขตเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๖๔/๒๕๕๙ เรื่อง การให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพ้นจากตำแหน่งและการแต่งตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ ๑๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ ยังคงดำรงตำแหน่งต่อไปจนถึงวันก่อนวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี เว้นแต่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือข้าราชการการเมืองอื่นของกรุงเทพมหานครหรือสมาชิกสภากรุงเทพมหานครผู้ใด ประสงค์จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ผู้นั้นต้องลาออกจากตำแหน่งภายในสามวันนับแต่วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง ผู้ซึ่งมิได้ลาออกภายในกำหนดเวลาดังกล่าวไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร
เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ให้ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามวรรคหนึ่ง และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑/๒๕๕๗ เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ ๒๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นอันยกเลิก
บทบัญญัติมาตรา ๔๗ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ มิให้ใช้บังคับกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครซึ่งดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันเลือกตั้งครั้งแรกภายหลังพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ให้ดำเนินการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
ในระหว่างที่กฎหมายตามวรรคหนึ่งยังไม่มีผลใช้บังคับ มิให้นำมาตรา ๗๑ มาตรา ๗๒ มาตรา ๗๓ มาตรา ๗๔ มาตรา ๗๕ มาตรา ๗๖ มาตรา ๗๗ มาตรา ๗๘ มาตรา ๗๙ และมาตรา ๘๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ มาใช้บังคับ
ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
- ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
- พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
- นายกรัฐมนตรี
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับจำนวนสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และการดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร การพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และการกระทำอันเป็นการต้องห้ามของสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตลอดจนอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ มีความซื่อสัตย์สุจริตสามารถปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และมีประสิทธิภาพจึงจาเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
เชิงอรรถ
แก้ไข- ↑ ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๖/ตอนที่ ๕๐ ก/หน้า ๑๔๒/๑๖ เมษายน ๒๕๖๒