พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ ฉะบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร)
ฉะบับ หม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม) เรียบเรียง
เมืองนครจำปาศักดิ์นี้ พงศาวดารมณฑลอีสานว่า พระครูโพนเสม็ดได้ตั้งขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๒๕๑ ปีมะเส็งเบ็ญจศกจุลศักราช ๑๐๗๕ ต่อนั้นมาจนถึงปีรัตนโกสินทรศก ๑๒๖ นี้ได้ ๑๙๔ ปี มีเรื่องราวดังนี้
เมื่อก่อนจุลศักราช ๑๐๐๐ ปี เมืองนครจำปาศักดิ์นี้ยังเป็นทำเลป่าดง แต่มีชาวบ้านเรียกว่าข่า, ส่วย, กวย, อยู่สืบเชื้อสายต่อมา ภายหลังลาวชาวเมืองเหนือ (มีเมืองศรีสัตนาคนหุตเป็นต้น) พากันมาตั้งนิวาสถานอยู่มากขึ้น แล้วพร้อมกันยกหัวหน้าแห่งตนขึ้นเป็นผู้ปกครองสืบตระกูลต่อมา จนถึงผู้ครองเมืองคนหนึ่งได้สร้างเมืองขึ้นที่ริมแม่น้ำโขงฝั่งตะวันตก คือตำบลที่เรียกว่าบ้านกระตึบเมืองกลางเดี๋ยวนี้ ขนานนามเมืองว่า พระนครกาลจำบากนาคบุรี ครั้นพิราลัยแล้วเจ้าสุทัศนราชาผู้บุตรได้ครองเมืองต่อมาจนถึง จุลศักราช ๑๐๐๐ ปี พิราลัยไม่มีบุตร ประชุมชนจึงยกผู้มีตระกูลผู้หนึ่งนามไม่ปรากฏ ขึ้นเป็นผู้อำนวยการบ้านเมืองได้ ๖ ปี ก็ถึงแก่กรรม นางแพงบุตรนางเภาหลานได้เป็นหัวหน้าอำนวยการบ้านเมืองต่อมา
จุลศักราช๑๐๐๕ (ระหว่างรัชชกาลสมเด็จพระสรรเพ็ชญ์ที่ ๕ พระเจ้าปราสาททอง) มีภิกษุรูปหนึ่งอยู่วัดโพนเสม็ดแขวงเมืองศรีสัตนาคนหุต ชาวเมืองเรียกว่าพระครูโพนเสม็ด ๆ มีญาติโยมสานุศิษย์มาก ครั้นเมื่อจุลศักราช ๑๐๕๑ (ระหว่างรัชชกาลสมเด็จพระมหาบุรุษพระเพทราชา) ผู้ครองเมืองศรีสัตนาคนหุตพิราลัย มีบุตรชายชื่อเจ้าองค์หล่ออายุ ๓ ปี และมารดายังมีครรภ์อยู่ พระยาเมืองแสนจึงชิงสมบัติขึ้นครองเมือง และมีความปรารถนาจะใคร่ได้มารดาเจ้าองค์หล่อเป็นภรรยา นางไม่ยินดีพาบุตรหนีไปอยู่กับพระครูโพนเสม็ด ๆ ออกอุบายฯจึงให้ไปอยู่ที่ตำบลภูซ่อง้อห่อคำ(ภายหลังเรียกบ้านสะง้อหอคำ) ครั้นนางคลอดบุตรเป็นชาย คนทั้งหลายเรียกว่าเจ้าหน่อกษัตริย์ ฝ่ายเจ้าองค์หล่อผู้เป็นเชษฐา ครั้นเจริญวัยขึ้นคิดคุมโทษโกรธแค้นพระยาเมืองแสน จึงพาบ่าวไพร่หนีไปตั้งเกลี้ยกล่อมส้องสุมผู้คนอยู่ณเมืองญวน ส่วนพระยาเมืองแสนคิดจะกำจัดพระครูโพนเสม็ด ด้วยเห็นว่าเป็นผู้มีกำลังวังชามากเกรงจะเป็นศัตรูต่อบ้านเมือง พระครูโพนเสม็ดรู้ตัวจึงพาเจ้าหน่อกษัตริย์กับมารดาพร้อมทั้งญาติโยมพรรคพวกประมาณ ๓๐๐๐ เศษ อพยพออกจากเมืองศรีสัตนาคนหุตไปถึงตำบลงิ้วพันลำน้ำโสมสนุก จึงให้เจ้าหน่อกษัตริย์กับมารดาและสานุศิษย์ตั้งเคหะสถานอยู่ที่นั้นบ้าง เหลือนั้นพระครูโพนเสม็ดก็พาต่อไปถึงตำบลใด ก็มีผู้นิยมยินดีนับถือและติดตามไปด้วยเป็นอันมาก จนไปถึงเขตต์แขวงเมืองบันทายเพ็ชร คิดว่าจะตั้งพักอยู่ณแขวงเมืองบันทายเพ็ชร ๆ ตรวจสำมะโนครัวและจะเก็บเงินครัวละ ๘ บาท พระครูเสม็ดเห็นว่ายังไม่มีผลประโยชน์และจะเป็นความเดือดร้อนแก่พวกญาติโยม จึงได้พากันย้อนกลับมาทางลำแม่น้ำโขง ถึงนครกาลจำบากนาคบุรีศรีก็หยุดตั้งพักอาศัยอยู่ แต่พวกศิษย์ซึ่งเป็นลาวและเขมรก็พากันแยกไปตั้งนิวาสถานอยู่ณที่ต่าง ๆ คละปะปนกันอยู่กับพวกข่า, กวย, ตามภูมิลำเนาอันสมควร
ฝ่ายนางแพงนางเภา ตั้งแต่พระครูโพนเสม็ดมาอยู่ในเมืองแล้ว ก็มีความนิยมนับถือ จึงพร้อมด้วยแสนท้าวพระยาลาวอาราธนาให้พระครูโพนเสม็ดบัญชาการบ้านเมือง และสั่งสอนพระพุทธศาสนา
ครั้นจุลศักราช ๑๐๗๑ (ระหว่างรัชชกาลสมเด็จพระสรรเพ็ชญ์ที่ ๙ ขุนหลวงท้ายสระ) ประชาชนชาวนครกาลจำบากนาคบุรีศรีเกิดวิวาทบาดหมางและคบพากันตั้งชุมนุมประพฤติเป็นโจรผู้ร้ายกำเริบทวีขึ้น จนราษฎรซึ่งตั้งอยู่ในความสุจริตพากันเดือดร้อน พระครูโพนเสม็ดได้ว่ากล่าวห้ามปรามโดยทางธรรม ก็หาเป็นการสงบเรียบร้อยสมประสงค์ไม่ ครั้นจะใช้อำนาจปราบปรามเอาตามอาญาจารีตก็เกรงว่าจะผิดวินัยสมณเพศ จึงดำริเห็นว่าเจ้าหน่อกษัตริย์ซึ่งให้ตั้งอยู่ตำบลงิ้วพันลำน้ำโสมสนุก มีความเจริญวัยประกอบด้วยเกียรติยศเกียรติคุณพอจะเป็นผู้ระงับปราบปรามและปกครองบ้านเมืองได้ จึงให้แสนท้าวพระยาลาวไปอัญเชิญเจ้าหน่อกษัตริย์ กับมารดามายังนครกาลจำบากนาคบุรีศรี
ครั้นจุลศักราช ๑๐๗๕ พระครูโพนเสม็ดพร้อมด้วยแสนท้าวพระยาลาวจัดตั้งพิธียกเจ้าหน่อกษัตริย์ ขึ้นเป็นเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรครองนครกาลจำบากนาคบุรีศรี แล้วเปลี่ยนนามเมืองว่านครจำปาศักดิ์นาคบุรีศรี แล้วตำแหน่งเจ้านายแสนท้าวพระยาลาวเต็มตามตำแหน่งอย่างกรุงศรีสัตนาคตหุต (เวียงจันทน์) และตั้งอัตราเก็บเงินส่วยแก่ชายที่มีบุตรเขย ๑๐ เก็บแต่พ่อตา ๑ บุตรเขย ๑ ถ้ามี ๕ เก็บฉะเพาะพ่อตา ๑ กำหนดคนละ ๑ ลาด และข้าวเปลือกหนักคนละร้อยชั่ง (ข้าวเวลานั้นหนักร้อยชั่งต่อบาท ลาดนั้นทำด้วยทองแดงบ้างทองเหลืองบ้างทองขาวบ้าง รูปคล้ายเรือชะล่าแต่หัวแหลมท้ายแหลมขนาดยาว ๓, ๔, ๕ นิ้ว ใช้เป็นอัตราสิบหกอันต่อบาทของเงินพดด้วงลาว ที่เรียกว่าเงินเป้งแปดน้ำหนักสามสลึงเฟื้อง) แล้วเจ้าสร้อยศรีสมุท ฯ สร้างอารามขึ้นในเมืองวัดหนึ่ง ให้ชื่อว่าวัดหลวงใหม่ อาราธนาพระครูโพนเสม็ดกับพระสงฆ์อันดับ มาอยู่ณวัดหลวงใหม่นั้น (วัดนั้นยังปรากฏอยู่จนบัดนี้) เจ้าสร้อยศรีสมุทรมีบุตรชาย ๓ คน ชื่อเจ้าไชยกุมาร ๑ เจ้าธรรมเทโว ๑ เจ้าสุริโย ๑ และเจ้าสร้อยศรีสมุท ฯ มีศุภอักษรแต่งให้แสนท้าวพระยาลาว คุมบรรณาการไปขอธิดาเจ้าเขมรเมืองบันทายเพ็ชรมาเป็นชายา มีบุตรอีกคนหนึ่งชื่อเจ้าโพธิสาร แล้วเจ้าสร้อยศรีสมุท ฯ ให้จารหวดเป็นนายอำเภอรักษาบ้านดอนโขง ซึ่งเป็นเกาะอยู่ในลำแม่น้ำโขง (คือที่เรียกว่าเมืองศรีทันดรบัดนี้) ให้ท้าวสุดเป็นพระไชยเชษฐ์รักษาอำเภอบ้านหางโคปากน้ำเซกอง ซึ่งอยู่ฝั่งโขงตะวันออก (คือเมืองเชียงแตงเดี๋ยวนี้) ให้จารแก้วเป็นนายอำเภอรักษาบ้านทง (ภายหลังเรียกบ้านเมืองทงคือเมืองสุวรณภูมิบัดนี้) ให้จันสุริยวงศ์เป็นอำเภอรักษาบ้านโพนสิมเมืองตะโปนเมืองพินเมืองนอง ให้นายมั่นบ่าวเดิมของนางแพง เป็นหลวงเอกรักษาอำเภอบ้านโพน (ภายหลังเรียกว่าเมืองมั่นคือเมืองศาลวันเดี๋ยวนี้) ให้นายพรหมเป็นซาบุตตโคตรักษาอำเภอบ้านแก้วอาเฮิมซึ่งมีเจดีย์อยู่ที่นั้นลาวเรียกว่าธาตุกำเดาทึก ภายหลังเรียกว่าเมืองคำทองหลวง (คือเมืองคำทองใหญ่บัดนี้) ให้จารโสมรักษาบ้านทุ่งอิดกระบือ (คือเมืองอัตปือบัดนี้) เป็นทำเลเมืองร้างมาก่อนเรียกว่าเมืองโศรก เมืองซุงคือซองและพะเนียดแต่ก่อนพวกเวียงจันทน์แซกคล้องและฝึกช้างเถื่อนที่นั้น ให้ท้าวหลวงบุตรพระละงุมเป็นขุนนักเฒ่ารักษาอำเภอโขงเจียม เขตต์แขวงเมืองนครจำปาศักดิ์ในเวลานั้นมีว่าทิศเหนือตั้งแต่ยางสามต้นอันสามขวายหลักทอดยอดยาง ทิศตะวันออกถึงแนวภูเขาบรรทัดต่อแดนญวน ทิศใต้เวลานั้นยังไม่ปรากฏ ทิศตะวันตกต่อเขตต์แขวงเมืองพิมายฟากลำน้ำกระยุง
จุลศักราช ๑๐๘๒ พระครูโพนเสม็ดอาพาธเป็นโรคชรา ถึงมรณภาพอายุ ๙๐ ปี เจ้าสร้อยศรีสมุท ฯ ได้จัดการฌาปนกิจเสร็จแล้วสร้างพระเจดีย์ที่ตรงหอไว้ศพ ๓ องค์ กับสร้างพระเจดีย์องค์ใหญ่ณที่ปลงศพองค์หนึ่งลาวเรียกว่าธาตุฝุ่น ภายหลังได้สร้างวิหารขึ้นณที่นั้น จึงได้ปรากฏนามว่าวัดธาตุฝุ่นมาจนบัดนี้ แล้วเจ้าสร้อยศรีสมุท ฯ ให้เจ้าโพธิสารบุตร ไปเป็นเจ้าเมืองควบคุมคนเขมรอยู่ณบ้านทุ่งบัวศรียกบ้านทุ่งบัวศรีเป็นเมืองศรีจำบัง คือตำบลที่ตั้งอยู่ฝั่งลำน้ำใต้เมืองเซลำเภาในปัตยุบันนี้ แล้วได้ตกลงกับเมืองเขมรปันเขตต์แดนเป็นเขตต์แขวงเมืองนครจำปาศักดิ์ ในทิศใต้ตั้งแต่ริมลำน้ำโขงฝั่งตะวันตกปากคลองน้ำจะหลีกไปตามปลายคลอง ถึงลำน้ำเสนต่อแดนเมืองสะทมกำพงสวาย ฝั่งน้ำโขงตะวันออกแต่บุ่งขลาไปถึงลำน้ำปากคลองสบา
จุลศักราช ๑๐๘๖ พรานทึงพรานเทืองข่าบ้านส้มป่อยนายอน(คือที่เป็นเมืองสะพาดบัดนี้) ได้พระแก้วผลึกมา แต่เข้าใจว่าเป็นรูปมนุษย์จึงให้บุตรเล่น พระกรรณลิไปข้างหนึ่ง ครั้นความทราบถึงเจ้าสร้อยศรีสมุท ฯ จึงจัดให้แสนท้าวพระยาลาว ไปเชิญพระแก้วผลึกแห่มาประดิษฐานไว้ณเมืองนครจำปาศักดิ์
จุลศักราช ๑๐๘๗ เจ้าสร้อยศรีสมุท ฯ ป่วย จึงให้เจ้าไชยกุมารผู้บุตรว่าการบ้านเมืองแทน แล้วออกจำศีลอยู่
จุลศักราช ๑๐๙๔ เจ้าองค์หล่อซึ่งหนีไปตั้งเกลี้ยกล่อมผู้คนอยู่ ณเมืองญวนนั้น ครั้นได้กำลังมากขึ้นก็ยกมาจับพระยาเมืองแสนฆ่าเสีย แล้วขึ้นครองเมืองศรีสัตนาคตหุตต่อไป
จุลศักราช ๑๐๙๙ (ระหว่างรัชชกาลสมเด็จพระบรมราชธิราชที่ ๓ พระเจ้าหัวบรมโกศ) เจ้าสร้อยศรีสมุท ฯ พิราลัย อายุได้ ๕๐ ปี เจ้าไชยกุมารบุตรได้ครองเมืองต่อไป เจ้าไชยกุมารได้ตั้งให้เจ้าธรรมเทโวผู้น้องเป็นเจ้าอุปราช และเปลี่ยนธรรมเนียมเก็บส่วยเป็นไหมหนักคนละ ๑ บาท แก่ชายฉกรรจ์ที่มีภรรยาแล้ว
จุลศักราช ๑๑๒๐ (ระหว่างรัชชกาลสมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ กับที่ ๔ ต่อกัน) เจ้าไชยกุมารกับเจ้าอุปราชธรรมเทโววิวาทกัน เจ้าอุปราชคบคิดกับศรีธาตุบุตรจารหวดผู้รักษาอำเภอดอนโขงส้องสุมผู้คน ได้มาก แล้วยกมาเมืองนครจำปาศักดิ์ เจ้าไชยกุมารมิได้คิดต่อสู้จึงหนีไปอยู่ดอนมดแดง ซึ่งตั้งอยู่ในลำน้ำมูนแขวงเมืองนครจำปาศักดิ์ (บัดนี้เป็นแขวงเมืองอุบล ฯ) เจ้าอุปราชจึงเข้ารักษาเมืองนครจำปาศักดิ์อยู่ ครั้นทราบว่าเจ้าไชยกุมารหนีไปตั้งอยู่ดอนมดแดงก็เกณฑ์กำลังจะยกไปขับไล่เพื่อให้ไปเสียให้พ้นเขตต์แขวงเมืองจำปาศักดิ์ ฝ่ายมารดาจึงห้ามเจ้าอุปราชไว้และว่ากล่าวให้คืนดีกันกับเจ้าไชยกุมาร เจ้าอุปราชจึงแต่งให้แสนท้าวพระยาลาวไปอัญเชิญเจ้าไชยกุมารกลับมาครองเมืองนครจำปาศักดิ์ตามเดิม
จุลศักราช ๑๑๒๑ (ระหว่างรัชชกาลสมเด็จพระบรมราชที่ ๓ พระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามรินทร์ คือเจ้าฟ้าเอกทัศ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี) เวลานั้นพระยาช้างเผือกแตกโรงออกจากกรุง ไปอยู่ในป่าดงทางตะวันตกเมืองนครจำปาศักดิ์ จึงโปรดให้สองพี่น้อง (ผู้เรียบเรียงพงศาวดารเดิมนี้เข้าใจว่า คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แต่ครั้งยังดำรงพระยศเป็นหลวงยกบัตรเมืองราชบุรี กับกรมราชวังบวรสถานมงคลมหาสุรสีหนาท แต่ครั้งยังดำรงพระยศเป็นนายสุจินดา) กับพวกกรมช้างคุมไพร่พลเที่ยวติดตามพระยาช้าง เผือกไปทางแขวงเมืองพิมายแล้วเลยไปถึงดงทางฟากลำน้ำมูนข้างใต้ จึงได้ข่าวพระยาช้างเผือกจากพวกเขมรส่วยอยู่ป่าดงคือ ตากะจะ เชียงขัน ซึ่งตั้งอยู่บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวนใหญ่ ตาคะบ้านดงยางหรือเรียกว่าโคกอัจประหนึ่ง เชียงปุ่มบ้านโคกเมืองพี่เชียงสี (หรือตาพ่อควาน) บ้านกุดหวาย (หรือบ้านเมืองเตาตามชื่อเชียงสีเมื่อเป็นหลวงศรีนครเตา) เป็นผู้นำสองพี่น้องติดตามพระยาช้างเผือกได้มา
จุลศักราช ๑๑๒๙ เจ้าองค์หล่อผู้ครองเมืองศรีสัตนาคนหุตพิราลัยไม่มีบุตร แสนท้าวพระยาลาวและนายวอนายตาจึงพร้อมกันเชิญกุมารสองคน (นามไม่ปรากฏ) ซึ่งเป็นเชื้อวงศ์ผู้ครองเมืองศรีสัตนาคนหุตคนเก่า (ไม่ปรากฏว่าคนไหน) ซึ่งได้หนีไปอยู่กับนายวอนายตาเมื่อเจ้าองค์หล่อยกกำลังมาจับพระยาเมืองแสนฆ่าเสียนั้น ขึ้นครองเมืองศรีสัตนาคนหุตแล้วนายวอนายตาขอเป็นที่มหาอุปราช กุมารผู้เป็นเชษฐาเห็นว่านายวอนายตามิได้เป็นเชื้อเจ้า จึงตั้งให้นายวอนายตาเป็นแต่ตำแหน่งพระเสนาบดี และตั้งให้กุมารผู้น้องเป็นมหาอุปราช พระวอพระตามีความโทมนัสจึงพากันอพยพไปสร้างเวียงอยู่ที่บ้านหนองบัวลำภู ให้ชื่อว่าเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (บัดนี้เป็นเมือง กมุทาไสย) ผู้ครองเมืองศรีสัตนาคนหุต ได้ห้ามไม่ให้พระวอพระตาตั้งเป็นเมือง ก็หาฟังไม่ จึงได้ยกกำลังไปตีพระวอพระตาสู้รบกันได้ประมาณ ๓ ปี พระวอพระตาเห็นจะต้านมิได้ จึงได้แต่งคนไปอ่อนน้อมแก่พะม่าขอกำลังไปช่วย พะม่าได้แต่งให้มองละแงะเป็นแม่ทัพยกไปช่วยพระวอพระตา ฝ่ายผู้ครองเมืองศรีสัตนาคนหุตแจ้งดังนั้น จึงแต่งบรรณาการให้แสนท้าวพระยาลาวคุมลงมาดักกองทัพพะม่าอยู่กลางทาง แล้วพูดเกลี้ยกล่อมชักชวนเอาพะม่าเข้าเป็นพวกเดียวกันยกไปตีพระวอพระตา พระตาตายในที่รบ ยังอยู่แต่พระวอกับท้าวฝ่ายหน้าท้าวคำผง ท้าวทิพยพรหมผู้เป็นบุตรพระตา กับท้าวทิตยก่ำบุตรพระวอจึงพาครอบคัวหนีอพยพลงไปพึ่งอยู่กับเจ้าไชยกุมารเมือง นครจำปาศักดิ์ ตั้งอยู่ตำบลเวียงดอนกอง (คือที่เรียกว่าบ้านดู่บ้านแคแขวงเมืองนครจำปาศักดิ์บัดนี้)
เจ้าอุปราชธรรมเทโวถึงแก่กรรม มีบุตรชาย ๔ คน คือเจ้าโอ ๑ เจ้าอิน ๑ เจ้าธรรมกิติกา ๑ เจ้าคำสุก ๑ บุตรหญิง ๑ ชื่อนางตุ่ย
จุลศักราช ๑๑๓๓ (ระหว่างรัชชกาลสมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ พระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี) ผู้ครองเมืองศรีสัตนาคนหุตทราบว่าพระวอแตกหนีไปตั้งอยู่ตำบลดอนกอง จึงได้แต่งให้อัคฮาดคุมกำลังยกตามไปถึงแขวงนครจำปาศักดิ์ เจ้าไชยกุมารจึงแต่งให้พระยาพลเชียงสาคุมกองทัพขึ้นไปต้านทานไว้ แล้วมีศุภอักษรถึงผู้ครองเมืองศรีสัตนาคนหุตขอโทษพระวอ ผู้ครองเมืองศรีสัตนาคนหุตก็มีศุภอักษรตอบยกโทษให้โดยทางไมตรี และมีคำสั่งให้อัคฮาดยกกำลังกลับไปยังเมืองศรีสัตนาคนหุต
ฝ่ายเจ้าไชยกุมารดำริจะสร้างเมืองใหม่ ที่ตำบลศรีสุมังถอยไปจากเมืองเดิมทางประมาณ ๒๐๐ เส้น พระวอรับอาสาเป็นผู้สร้างกำแพงเมือง พระมโนสาราชและพระศรีอัคฮาดเมืองโขงรับอาสาสร้างหอคำ ครั้นสร้างเสร็จแล้ว เจ้าไชยกุมารยกไปอยู่เมืองใหม่ อยู่มาวันหนึ่งเจ้าไชยกุมารออกว่าการณหอราชสิงห์หาร พร้อมด้วยเจ้านายแสนท้าวพระยาลาว พระวอจึงทูลว่าที่พระวอได้สร้างกำแพงเมืองถวาย กับผู้ที่ได้สร้างหอคำถวายนั้น ใครจะประเสริฐกว่ากัน เจ้าไชยกุมารตอบว่า กำแพงเมืองนั้นก็ดีเป็นที่กำบัง สำหรับป้องกันศัตรูซึ่งจะมาทำร้าย แต่หอคำนั้นจะดีกว่าสักหน่อยด้วยได้เป็นที่อาศัยนั่งนอนมีความสุขสำราญ มาก พระวอได้ฟังดังนั้นก็มีความอัปยศโทมนัส จึงพาครอบครัวอพยพหนีไปตั้งส้องสุมผู้คนอยู่ดอนมดแดงในลำน้ำมูน (ซึ่งเป็นแขวงเมืองอุบล ฯ เดี๋ยวนี้) แล้วมีใบบอกแต่งให้ท้าวเพี้ยพี่น้องคุมเครื่องบรรณาการมายังเมืองนครราชสิมา ให้นำขึ้นสมัครอยู่ในความปกครองของกรุงธนบุรี
ฝ่ายผู้ครองเมืองศรีสัตนาคนหุตทราบว่า พระวอมีความวิวาทบาดหมางกับเจ้านครจำปาศักดิ์ ยกครอบครัวไปตั้งอยู่ดอนมดแดง จึงแต่งให้พระยาสุโปคุมกองทัพไปตีพระวอ ๆ เห็นจะสู้มิได้จึงพาครอบครัวหนีไปตั้งอยู่ตำบลเวียงดอนกอง แล้วแต่งคนให้มาขอกำลังเจ้านครจำปาศักดิ์ไปช่วย เจ้านครจำปาศักดิ์ก็หาไปช่วยไม่ กองทัพพระยาสุโพจึงยกตามไปล้อมเวียงไว้ จับพระวอได้ฆ่าเสีย ท้าวก่ำบุตรพระวอกับท้าวฝ่ายหน้าท้าวคำผงท้าวทิตยพรหมบุตรพระตาหนีออกจาก ที่ล้อมได้ จึงมีใบบอกแต่งคนลงมาเมืองนครราชสิมา เพื่อให้บอกลงมากรุงธนบุรีขอกองทัพขึ้นไปช่วย
จุลศักราช ๑๑๔๐ เจ้าธนบุรี จึงโปรดให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แต่ครั้งยังทรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เป็นแม่ทัพยกไปทางบกสมทบกับกำลังเกณฑ์ของหัวเมืองตะวันออก และโปรดให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลมหาสีหนาท แต่เมื่อยังดำรงพระยศเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์พิศณุวาธิราชเป็นแม่ทัพยกไปเมืองกัมพูชา เกณฑ์พลเมืองเขมรต่อเรือรบยกขึ้นไปตามลำน้ำโขง
ฝ่ายกองทัพพระยาสุโพทราบว่ากองทัพกรุงยกขึ้นไปเห็นจะต้านทาน มิได้ ก็ยกถอยกลับไปยังเมืองศรีสัตนาคนหุต กองทัพกรุงทั้งสองทัพก็ยกขึ้นไปตีเมืองนครจำปาศักดิ์ เจ้าไชยกุมารผู้ครองเมืองนครจำปาศักดิ์ เห็นว่าจะต่อสู้ต้านทานมิได้ จึงพาครอบครัวอพยพหนีไปตั้งอยู่ที่เกาะไชย กองทัพกรุงตามไปจับเจ้าไชยกุมารได้แล้วก็เลยยกไปตีเมืองนครพนมและเมืองหนองคาย (บางทีจะเป็นเมืองไชยบุรี) ได้แล้วยกเลยไปล้อมเมืองศรีสัตนาคนหุตไว้ ผู้ครองเมืองศรีสัตนาคนหุตต่อสู้ต้านทานไม่ได้ก็แตกหนีไปทางเมืองคำเกิด กองทัพกรุงยกเข้าเมืองศรีสัตนาคนหุตได้แล้ว จึงตั้งให้พระยาสุโพเป็นผู้รั้งเมืองศรีสัตนาคนหุตและจัดราชการบ้านเมืองเรียบร้อยแล้วเชิญพระแก้วมรกตหนึ่ง พระบางหนึ่ง ซึ่งอยู่ในเมืองศรีสัตนาคนหุตกับคุมตัวเจ้าไชยกุมารยกกองทัพกลับมายังกรุงธนบุรี เจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดให้เจ้าไชยกุมารกลับไปครองเมืองนครจำปาศักดิ์ เป็นเมืองประเทศราชขึ้นกับประเทศไทยแต่นั้นมา
เจ้าสุริโยราชวงศ์เมืองนครจำปาศักดิ์ถึงแก่กรรม มีบุตรชายชื่อเจ้าหมาน้อย ๑ แล้วท้าวคำผงบุตรพระตาไปได้นางตุ้ยบุตรเจ้าอุป ราชธรรมเทโวเป็นภรรยา เจ้าไชยกุมารเห็นว่าท้าวคำผงมาเกี่ยวเป็นเขยและเป็นผู้มีครอบครัวบ่าวไพร่มาก จึงตั้งให้ท้าวคำผงเป็นพระประทุมสุรราชนายกองใหญ่ ควบคุมครอบครัวตัวเลขตั้งบ้านเวียงดอนกองแขวงนครจำปาศักดิ์ (คือตำบลที่เรียกว่าบ้านดู่กับบ้านแกบัดนี้)
จุลศักราช ๑๑๔๒ เจ้าโอบุตรเจ้าอุปราชธรรมเทโวผู้เป็นเจ้าเมืองและเจ้าอินอุปฮาดผู้น้องเมืองอิดกระบือ (คือเมืองอัตปือ) กระทำการกดขี่ข่มเหงราฎษรได้ความเดือดร้อน เจ้านครจำปาศักดิ์ (ไชยกุมาร) ทราบจึงให้เจ้าเชฐ เจ้านู หลานคุมกำลังไปตามตัวเจ้าโอเจ้าอิน ๆ รู้ตัวหนีไป แต่เจ้าโอนั้นหนีเข้าไปกอดพระศอพระปฏิมากรอยู่ เจ้าเชฐจึงให้จับตัวเจ้าโออกมา แล้วให้เอาเชือกหนังรัดคอเจ้าโอถึงแก่กรรม เจ้าโอมีบุตรชายสองคน ชื่อเจ้านากหนึ่ง เจ้าฮุยหนึ่ง
จุลศักราช ๑๑๔๔ (ระหว่างรัชชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) ได้ทรงทราบว่าเมืองนคจำปาศักดิ์กับเมืองอัตปือเกิดวิวาทฆ่าฟันกัน จึงโปรดให้ข้าหลวงขึ้นไปคุมเอาตัวเจ้านครจำปาศักดิ์ (ไชยกุมาร) กับเจ้าเชฐเจ้านูและเจ้าหมาน้อยลงมากรุงเทพฯ ถึงกลางทางเจ้านครจำปาศักดิ์ (ไชยกุมาร) ป่วยจึงโปรดให้กลับไปรักษาตัวอยู่เมืองนครจำปาศักดิ์ ข้าหลวงก็คุมเอาแต่ตัวเจ้าเชฐเจ้านูเจ้าหมาน้อยลงมากรุงเทพ ฯ
จุลศักราช ๑๑๕๓ อ้ายเชียงแก้วซึ่งอยู่ตำบลเขาโองฝั่งน้ำลำน้ำโขงตะวันออกแขวงเมืองโขง แสดงตนว่าเป็นคนมีวิทยาคุณมีผู้คน นับถือมาก และอ้ายเชียงแก้วรู้ข่าวว่า เจ้านครจำปาศักดิ์ (ไชยกุมาร) ป่วยหนักอยู่เห็นเป็นโอกาสอันดี จึงคิดการเป็นขบถยกกำลังมาล้อมเมืองนครจำปาศักดิ์ไว้
ฝ่ายเจ้านครจำปาศักดิ์ (ไชยกุมาร) ทราบดังนั้น ก็ตกใจโรคกำเริบขึ้นเลยถึงแก่พิราลัยอายุได้ ๘๑ ปี มีบุตรชายชื่อเจ้าหน่อเมือง ๑ บุตรหญิงชื่อเจ้าป้อมหัวขวากุมารี ๑ เจ้าท่อนแก้ว ๑ แลกองทัพอ้ายเชียงแก้วก็เข้าตีเมืองนครจำปาศักดิ์ได้ ครั้นความทราบถึงกรุงเทพ ฯ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยานครราชสิมา (ทองอิน) แต่เมื่อครั้งยังเป็นพระพรหมยกบัตร ยกกองทัพขึ้นไปปราบปรามอ้ายเชียงแก้ว และจัดราชการเมืองนครจำปาศักดิ์ กองทัพยกขึ้นไปยังมิทันถึง
ฝ่ายพระประทุมสุรราช (คำผง) นายกองใหญ่บ้านเวียงดอนกองซึ่งย้ายไปตั้งอยู่บ้านห้วยแจะละแม (คือตำบลที่อยู่ริมเมืองอุบลฯ เดี๋ยวนี้) กับท้าวฝ่ายหน้าบุตรพระตาซึ่งไปตั้งอยู่บ้านสิงทา (คือเป็นเมืองยโสธรเดี๋ยวนี้) จึงพากันยกกำลังไปตีอ้ายเชียงแก้ว ๆ ยกกำลังออกต่อสู้ ณที่แก่งตนะ (อยู่ในลำน้ำมูนแขวงเมืองพิมูลมังษาหารเดี๋ยวนี้) กองทัพอ้ายเชียงแก้วแตกหนี ท้าวฝ่ายหน้าจับตัวอ้ายเชียงแก้วได้ให้ฆ่าเสียแล้ว พอกองทัพเจ้าพระยานครราชสิมา (ทองอิน) ยกขึ้นไปถึงก็พากันไปจัดราชการที่เมืองนครจำปาศักดิ์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้ท้าวฝ่ายหน้าเป็นเจ้าพระวิไชยราชขัติยวงศาเจ้านครจำปาศักดิ์ และโปรดให้เจ้าเชฐเจ้านูขึ้นไปช่วยราชการอยู่ด้วยเจ้าพระวิไชยราชขัติวงศา จึงได้ย้ายเมืองขึ้นไปตั้งอยู่ทางเหนือ (คือที่เรียกว่าเมืองเก่าคันเกิงเดี๋ยวนี้) จุลศักราช ๑๑๖๗ เจ้าพระวิไชยราชขัติวงศา ขอตั้งบ้านนายอนเป็นเมือง จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ขนานนามว่าเมืองสะพาด (อยู่ฝั่งลำน้ำโขงตะวันออก) ตั้งพระศรีอัคฮาดบุตรจารหวดเจ้าเมืองโขง (ศรีทันดร) เป็นเจ้าเมืองขึ้นเมืองนครจำปาศักดิ์
จุลศักราช ๑๑๗๒ (ระหว่างรัชชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) พระยาเดโช (เม่ง) เจ้าเมืองกำพงสวาย (เขมร) กับนักปรังผู้เป็นน้องชาย มีความวิวาทกันกับนักพระอุทัยราชา (นักองจัน) เจ้ากรุงกำพุชประเทศ พระยาเดโชกับนักปรังจึงอพยพ ครอบครัวเข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธสมภารอยู่ณแขวงเมืองโขง (ศรีทันดร) เมืองนครจำปาศักดิ์มีบอกเข้ามากรุงเทพ ฯ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้พระยากลาโหมราชเสนา คุมกำลังขึ้นไปขัดตาทัพรับครัวเขมรอยู่ ณท่าหม้อออม ครัวพระยาเดโช ได้มาตั้งอยู่ณบ้านลงปลา ครัวนักปรังตั้งอยู่บ้านเวนฆ้อง (เมืองเซลำเภา) จึงมีเขมรแซกปนอยู่ในเมืองโขงตั้งแต่นั้นมา
จุลศักราช ๑๑๗๓ เจ้าพระยาวิไชยราชขัติยวงศา (ท้าวฝ่ายหน้า) เจ้านครจำปาศักดิ์พิราลัย มีบุตรชายชื่อเจ้าบุตร ๑ บุตรหญิง ๓ ชื่อนางแดง ๑ นางไทย ๑ นางก้อนแก้ว ๑ แสนท้าวพระยาลาวมีใบบอกมากรุงเทพ ฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระยากลาโหมราชเสนา เป็นข้าหลวงเชิญตรากับหีบศิลาหน้าเพลิงเครื่องไทยทาน ซึ่งพระราชทานในการศพเจ้าพระวิไชยราชขัติยวงศา กับสัญญาบัตรซึ่งโปรดเกล้า ฯ พระราชทานให้เจ้านูบุตรเจ้าหน่อเมืองหลานเจ้านครจำปาศักดิ์ (ไชยกุมาร) เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์นั้นขึ้นไปถึงนครจำปาศักดิ์ได้ ๓ วัน เจ้านครจำปาศักดิ์ (นู) ก็พิราลัย พระยากลาโหมราชเสนาจึงพร้อมด้วยท้าวพระยาลาวจัดการปลงศพเจ้าพระวิไชยราชขัติยวงศาเสร็จแล้ว บุตรเจ้าพระวิไชยราชขัติยวงศากับแสนท้าวพระยาลาวได้ก่อเจดีย์บรรจุอัฎฐิไว้ณวัดเหนือ ซึ่งอยู่ในเมืองเก่าคันเกิง (คำลาวเรียกว่าธาตุหลวงเฒ่ามาจนบัดนี้)
จุลศักราช ๑๑๗๔ พระยากลาโหมราชเสนาจัดราชการเมืองนครจำปาศักดิ์เรียบร้อยแล้วจึงได้เชิญพระแก้วผลึกซึ่งเจ้าสร้อยศรีสมุท ฯ ประดิษฐานไว้ณเมืองนครจำปาศักดิ์นั้น นำกลับมาทูลเกล้า ฯ ถวายณกรุงเทพ ฯ (พระแก้วผลึกองค์นี้หน้าตักกว้าง ๙ นิ้วกึ่ง สูง ๑๒ นิ้วเศษ ซึ่งปรากฏพระนามในปัตยุบันนี้ ว่าพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย)
จุลศักราช ๑๑๗๕ ทรงกระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าหมาน้อยบุตรเจ้าราชวงศ์ (สุริโย) หลานเจ้าสร้อยศรีสมุท ฯ เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ ให้เจ้าธรรมกิติกาบุตรเจ้าอุปราช (ธรรมเทโว) เป็นเจ้าอุปราชเมืองนครจำปาศักดิ์ ภายหลังเจ้านครจำปาศักดิ์ (หมาน้อย) กับเจ้าอุปราช (ธรรมกิติกา) มีความวิวาทบาดหมางคุมกันลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท จึงโปรดเกล้า ฯ ให้แยกเจ้าอุปราชอยู่เสีย ณกรุงเทพ ฯ ให้เจ้านครจำปาศักดิ์กลับไปครองเมืองนครจำปาศักดิ์
จุลศักราช ๑๑๗๙ มีภิกษุอลัชชีรูปหนึ่งชื่อสาอยู่บ้านหลุดเลาเตาปูนแขวงเมืองสารบุรี ได้มาพักอยู่เขาเกียดโง้งฝั่งลำน้ำโขงตะวันออก แขวงเมืองนครจำปาศักดิ์ อ้ายสมีสาแสดงตนว่าเป็นคนมีวิชาและมีฤทธานุภาพต่าง ๆ เป็นต้นว่าเอาแว่นแก้วมาส่องแดดให้ติดเชื้อเป็นไฟขึ้น แล้วอวดว่าเรียกไฟฟ้าได้ และสามารถที่จะเรียกให้ไฟนั้นมาเฝ้าบ้านเมืองให้ไหม้วินาศไปสิ้นก็ได้ คนในเขตต์แขวงเหล่านั้นมีพวกข่าเป็นต้นซึ่งประกอบไปด้วยความโง่เขลา ครั้นเมื่อเห็นอ้ายสมีสาแสดงวิชาเช่นนั้นก็เห็นเป็นอัศจรรย์ ต่างมีความกลัวเกรง ก็พากันมีความนิยมยินดีเชื่อถือเข้าเป็นพวกอ้ายสมีสาเป็นอันมาก อ้ายสมีสาใจกำเริบจึงคิดขบถยกเป็นกระบวนทัพเที่ยวตีตามตำบลบ้านใหญ่น้อย ไปจนถึงเมืองนครจำปาศักดิ์ เจ้านครจำปาศักดิ์ (หมาน้อย) ทราบดังนั้นก็ตกใจมิทันที่จะเตรียมตัว จึงอพยพครอบครัวหนีเข้าป่าไป อ้ายสาเกียดโง้งก็ยกเข้าเมืองนครจำปาศักดิ์ได้ เที่ยวเก็บเงินเอาทรัพย์สิ่งของต่าง ๆ แล้วเอาไฟจุดเผาเมืองนครจำปาศักดิ์ ขณะนั้นเจ้าพระยานครราชสิมา (ทองอิน) กำลังเที่ยวปราบข่าพวกเสม็ดกัญชาและข่าประไรนบประไรต่างอยู่ณแขวงเมืองโขง (ศรีทันดร) ครั้นทราบว่าอ้ายสาเกียดโง้งคิดการเป็นขบถขึ้นเช่นนั้น จึงมีใบบอกลงมากรุงเทพ ฯ แล้วเจ้านายพระยานครราชสิมากับพระศรีอัคฮาดพระโพสาราชเมืองโขง จึงเกณฑ์กำลังยกไปตีอ้ายสาเกียดโง้งแตกหนีไปตั้งอยู่ ณเขายาปุ แขวงเมืองอัตปือ
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระยามหาอำมาตย์ (ป้อม) กับพระศรสำแดงคุมกองทัพยกขึ้นไปตามจับอ้ายสาเกียดโง้ง อ้ายสาเกียดโง้งก็หนีต่อไปหาได้ตัวไม่ พระยามหาอำมาตย์ พระศรสำแดงจึงคุมเอาตัวเจ้านครจำปาศักดิ์ (หมาน้อย) ลงมาถึงกรุงเทพ ฯ แล้วเจ้านครจำปาศักดิ์ (หมาน้อย) ถึงแก่พิราลัย มีบุตรชาย ๖ คน ชื่อเจ้าอุ่น ๑ เจ้านุด ๑ เจ้าแสง ๑ เจ้าบุญ ๑ เจ้าจุ่น ๑ เจ้าจู ๑
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าอนุเวียงจันทน์ยกกำลังเทียวตามจับอ้างสาเกียดโง้ง ฝ่ายกองเจ้าราชบุตร (โย่) บุตรเจ้าอนุเวียงจันทน์จับตัวอ้ายสาเกียดโง้งได้ส่งลงมากรุงเทพ ฯ
จุลศักราช ๑๓๘๓ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าราชบุตร (โย่) เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ และให้เจ้าคำป้อมเมืองเวียงจันทน์เป็นเจ้าอุปราช เจ้านครจำปาศักดิ์ (โย่) ไปอยู่เมืองนครจำปาศักดิ์ แล้วเกณฑ์ไพร่พลขุดดินพูนขึ้นเป็นกำแพงเมือง และก่อสร้างกำแพงวัง และสร้างหอพระแก้วไว้สำหรับเจ้านายแสนท้าวพระยาลาวถือน้ำตามธรรมเนียม แล้วเปลี่ยนธรรมเนียมเก็บส่วยแก่ชายฉกรรจ์ที่มีภรรยาแล้วเป็นไหมหรือป่านหรือผลเร่วคนหนึ่งหนักชั่งห้าตำลึง ส่วนข้าวเปลือกคงเก็บตามเดิม
จุลศักราช ๑๑๘๘ (ระหว่างรัชชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ฝ่ายเจ้าอนุบิดาผู้ครองเมืองเวียงจันทน์ และเจ้านครจำปาศักดิ์ (โย่) บุตรผู้ครองเมืองนครจำปาศักดิ์ เห็นว่ามีเขตต์แขวงและกำลังผู้คนมากขึ้น ก็มีความกำเริบคิดการเป็นขบถขึ้น เจ้าอนุจึงแต่งให้เจ้าอุปราช (ศรีถาน) กับเจ้าราชวงศ์เมืองเวียงจันทน์และเจ้านครจำปาศักดิ์ (โย่) คุมกองทัพตีเมืองรายทางเข้ามาตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลมูลเคงแห่งหนึ่ง ที่บ้านส้มป่อยแห่งหนึ่ง ที่ทุ่งมนแห่งหนึ่ง ที่ค่ายน้ำคำแห่งหนึ่ง ที่บกหวานแห่งหนึ่ง
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นทัพหลวง เจ้าพระยาบดินทร์เดชาแต่เมื่อยังเป็นเจ้าพระยาราชสุภาวดีเป็นทัพหน้ายกขึ้นไปปราบปราม ครั้นกองทัพกรุงยกขึ้นไปถึงแขวงเมืองนครราชสิมา ก็พบกับกองทัพเจ้าราชวงศ์เวียงจันทน์ได้สู้รบกันเป็นสามารถ กองทัพเจ้าราชวงศ์แตกถอยไปค่ายมูลเคงกองทัพกรุงก็ยกตามไปตีค่ายมูลเคงแตกแล้วยกไปตีค่ายส้มป่อย และค่ายทุ่งมน ค่ายน้ำคำแตกกระจัดกระจายไปทุก ๆ ค่าย จนถึงปะทะกับกองทัพเจ้านครจำปาศักดิ์ (โย่) ขณะนั้นพวกครัวลาวเขมรที่เจ้านครจำปาศักดิ์ (โย่) ให้กวาดส่งไปไว้ยังเมืองนครจำปาศักดิ์นั้น ครั้นทราบว่ากองทัพกรุงยกขึ้นไปก็พากันจุดเผาบ้านเรือนในเมืองนครจำปาศักดิ์ขึ้น ไพร่บ้านพลเมืองก็พากันแตกตื่นเป็นอลหม่าน กองทัพเจ้านครจำปาศักดิ์ (โย่) ก็แตกหนีข้ามแม่น้ำโขงไป แต่เจ้าอุปราช (คำป้อม) เมืองนครจำปาศักดิ์หนีไปตายอยู่กลางป่า กองทัพเจ้าอุปราชและเจ้าราชวงศ์เวียงจันทน์ก็แตกหนีไปตั้งรวบรวมอยู่ด่านบกหวาน เจ้าพระยาราชสุภาวดีจึงยกกองทัพตามไปตั้งอยู่เมืองยโสธรพักผ่อนไพร่พล และจัดเกณฑ์หัวเมืองต่าง ๆ มาเข้ากองทัพ แล้วให้เจ้าฮุยบุตรเจ้าโอเมืองอัตปือยกกำลังกองหนึ่งไปติดตามจับเจ้านครจำปาศักดิ์ (โย่) ณ ฟากโขงตะวันออก และให้เจ้านากพี่เจ้าฮุยคุมกำลังมาสมทบกองทัพพร้อมแล้ว เจ้าพระยาราชสุภาวดีก็ยกไปตีกองทัพเจ้าอุปราช เจ้าราชวงศ์เวียงจันทน์ซึ่งตั้งอยู่ตำบลบกหวานนั้น และมีเสียงกล่าวกันว่า วันหนึ่งเจ้าพระยาราชสุภาวดีได้ขี่ม้าไปกับนายทัพนายกอง เพื่อเที่ยวตรวจหาชัยภูมิที่ตั้งค่าย ครั้นถึงที่เลี้ยวแห่งหนึ่ง พอพบเจ้าราชวงศ์ขี่ม้ามากับนายทหารสองสามคนจนหน้าม้าชนกันโดยยั้งมิทัน เจ้าพระยาราชสุภาวดีไม่รู้จักเจ้าราชวงศ์ เจ้าราชวงศ์เอาหอกแทงเจ้าพระยาราชสุภาวดี ๆ หลบปลายหอกพลาดถากถูกสีข้าง ๆ ซ้ายตกม้าลง นายทัพนายกองที่ตามไปรู้จักตัวเจ้าราชวงศ์ และได้ต่อสู้ป้องกันเจ้าพระยาราชสุภาวดี ๆ ขึ้นม้าได้แล้วก็ช่วยกันต่อรบกับเจ้าราชวงศ์ ๆ น้อยกว่าก็หนีไปทางฝั่งแม่น้ำโขง แล้วเจ้าพระยาราชสุภาวดีก็ยกกองทัพไปตีทัพเจ้าอุปราชเวียงจันทน์แตกในวันนั้น แล้วก็ยกกองทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์แตก และจับเจ้าอนุได้จึงเข้าตั้งพักกองทัพอยู่ในเมืองเวียงจันทน์ ฝ่ายเจ้าฮุยตามไปจับเจ้านครจำปาศักดิ์ (โย่) ได้ที่ปลายลำน้ำคลองบางเรียงฟากแม่น้ำโขงตะวันออก คุมมาส่งเจ้าพระยาราชสุภาวดี ๆ หยุดพักไพร่พลจัดราชการหัวเมืองลาวตะวันออกฝ่ายเหนือทั้งปวงเรียบร้อยแล้ว ให้คุมเอาตัวเจ้าอนุเวียงจันทน์ เจ้านครจำปาศักดิ์ (โย่) ยกกองทัพกลับลงมากรุงเทพ ฯ
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาราชสุภาวดีเป็นเจ้าพระยาบดินทร์เดชา ให้เจ้าฮุยเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ ให้เจ้านากเป็นเจ้าอุปราชเมืองนครจำปาศักดิ์ ให้ตั้งเงินส่วยปีละร้อยชั่ง กำหนดให้เก็บแก่ชายฉกรรจ์คนละสี่บาทสลึง ถ้าชราพิการคนละสองบาทสลึง(เศษสลึงนี้คือเป็นค่าเผา) และให้เมืองนครจำปาศักดิ์จัดเครื่องบรรณาการลงมาทูลเกล้า ฯ ถวายณกรุงเทพ ฯ กำหนดสามปีครั้งหนึ่ง
จุลศักราช ๑๑๙๙ เกิดเพลิงไหม้ในเมืองนครจำปาศักดิ์ บ้านเรือนเจ้านายแสนท้าวพระยาลาว เสียไปด้วยเพลิงครั้งนั้นเป็นอันมาก เจ้านครจำปาศักดิ์ (ฮุย) จึงได้พาไพร่บ้านพลเมืองอพยพจากเมืองเก่าคันเกิง ย้ายลงมาตั้งเมืองอยู่ที่ตำบลเมืองหินรอด (จึงได้เรียกว่าเมืองเก่าหินรอดมาจนบัดนี้)
จุลศักราช ๑๒๐๒ เจ้านครจำปาศักดิ์ (ฮุย) พิราลัย อายุได้ ๖๓ ปี มีบุตรชาย ๗ คน ชื่อเจ้าโสม ๑ เจ้าอิน ๑ เจ้าคำใหญ่ ๑ เจ้าคำสุก ๑ เจ้าคำสุย ๑ เจ้าน้อย ๑ เจ้าพรหมบุตร ๑ บุตรหญิง ๗ คน ชื่อเจ้าพิมพ์ ๑ เจ้าเข็ม ๑ เจ้าทุม ๑ เจ้าคำสิง ๑ เจ้าไช ๑ เจ้าคำแพง ๑ เจ้าดวงจันทร์ ๑ รวม ๑๔ คน พร้อมกันจัดการปลงศพแล้วก่อพระเจดีย์บรรจุอัฏฐิไว้ที่วัดไชยเมืองเก่าหินรอด (คำลาวเรียกว่าธาตุเจ้าย่ำขม่อมปาศักดิ์ฮุยปรากฎอยู่จนบัดนี้)
จุลศักราช ๑๒๐๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าอุปราช(นาก) เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ ให้เจ้าเสือบุตรเจ้าอินหลานเจ้าอุปราช(ธรรมเทโว) เป็นเจ้าอุปราช เจ้าเสนเป็นเจ้าราชวงศ์ เจ้าสาเป็นเจ้าราชบุตร ทั้งสองคนนี้เป็นบุตรเจ้านครจำปาศักดิ์ (นาก)
จุลศักราช ๑๒๑๒ เจ้าเมืองบัวกับเจ้าเมืองเดชอุดมเกิดวิวาทเรื่องเขตต์แดนที่ติดต่อว่ากล่าวไม่ตกลงกัน เจ้านครจำปาศักดิ์ (นาก) กับพระศรีสุระเจ้าเมืองเดชอุดม จึงได้พากันลงมาณกรุงเทพ ฯ ขอให้กระทรวงมหาดไทย ตัดสินเรื่องวิวาทเขตต์แดนเป็นการตกลงกันแล้วเจ้านครจำปาศักดิ์ (นาก) ป่วยเป็นอหิวาตกโรคพิราลัยอยู่ณ กรุงเทพ ฯ อายุได้ ๗๖ ปี มีบุตรชาย ๖ คน ชื่อเจ้าราชวงศ์ (เสน) ๑ เจ้าราชบุตร (สา) ๑ เจ้าโพธิสาร (หมี) ๑ เจ้าอินทชิต (บุตร) ๑ เจ้าสิงคำ ๑ เจ้าคำน้อย ๑ บุตรหญิง ๔ คน ชื่อดวงจันทร์ ๑ เจ้า อิ่ม ๑ เจ้าเจียง ๑ เจ้าเข็ม ๑ รวม ๑๐ คน ในระหว่างนั้นยังมิได้โปรดเกล้า ฯ ตั้งให้ผู้ใดเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์
จุลศักราช ๑๒๑๓ (ระหว่างรัชชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์เป็นข้าหลวงขึ้นไปจัดราชการณเมืองนครจำปาศักดิ์
จุลศักราช ๑๒๑๔ เจ้าอุปราช (เสือ) เมืองนครจำปาศักดิ์ป่วยถึงแก่กรรม หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์จึงพาตัวเจ้าบัวบุตรเจ้านู กับเจ้าราชวงศ์ (เสน) เจ้าโพธิสาร (หมี) เจ้าแสงคุมเครื่องยศและเงินส่วยเมืองนครจำปาศักดิ์ลงมาทูลเกล้า ฯ ถวาย ณ กรุงเทพ ฯ
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งเจ้าบัวเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ แต่ยังหาได้ทันรับพระราชทานสัญญาบัตรไม่ เจ้าบัวป่วยพิราลัยอยู่ ณ บ้านช่างแสงกรุงเทพ ฯ เจ้าราชวงศ์ (เสน) กับเจ้าแสง ต่างกราบบังคมทูลพระกรุณาขอเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ และ ต่างกล่าวโทษซึ่งกันและกันอยู่ จึงทรงพระกรุณาโปรดกล้า ฯ ให้หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์กับหลวงเสนีพิทักษ์ เป็นข้าหลวงขึ้นไปตามสมัครและจัดราชการ ณ เมืองนครจำปาศักดิ์
จุลศักราช ๑๒๑๕ เจ้าท้าวพระยาลาวเมืองนครจำปาศักดิ์ มีใบบอกกล่าวโทษหลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ หลวงเสนีพิทักษ์ว่า ทำการข่มขู่ลงเอาเงินราษฎร จึงโปรดเกล้า ฯ ให้มีตราให้หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ หลวงเสนีพิทักษ์กลับมากรุงเทพ ฯ แล้วให้นำตัวเจ้าคำใหญ่บุตรเจ้านครจำปาศักดิ์ (ฮุย) เจ้าจูบุตรเจ้านครจำปาศักดิ์ (หมาน้อย) ลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพ ฯ แล้วโปรดเกล้า ฯ ให้พระวัชรินทรารักษ์ พระมหาวินิจฉัยเป็นข้าหลวงพาเจ้าคำใหญ่ เจ้าจูกลับไปจัดราชการบ้านเมือง ณ เมืองนครจำปาศักดิ์ พระวัชรินทรารักษ์ป่วยถึงแก่กรรมอยู่เมืองนครจำปาศักดิ์ พระมหาวินิจฉัยจึงพาเจ้าใหญ่ เจ้าจู กลับลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพ ฯ
ครั้นจุลศักราช ๑๒๑๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าคำใหญ่บุตรเจ้านครจำปาศักดิ์ (ฮุย) เป็นเจ้ายุตติธรรมธรเจ้านครจำปาศักดิ์ เจ้าจูเป็นอุปราช เจ้าหมีบุตรเจ้าราชบุตร (เกต) เป็นเจ้าราชวงศ์เจ้าอินทชิตบุตรเจ้านครจำปาศักดิ์ (นาก) เป็นเจ้าราชบุตร เจ้าสุริย (บ้ง) น้องเจ้านครจำปาศักดิ์ (ฮุย) เป็นเจ้าศรีสุราช กลับไปรักษาราชการเมืองนครจำปาศักดิ์ และโปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนธรรมเนียมกำหนด ให้จัดเครื่องราชบรรณาการลงมาทูลเกล้า ฯ ถวาย ณ กรุงเทพ ฯ ปีละครั้งทุกปี
จุลศักราช ๑๒๒๐ เจ้านครจำปาศักดิ์ (คำใหญ่) พิราลัย อายุ ๒๘ ปี มีบุตรหญิง ๒ คน ชื่อเจ้าคำผิว ๑ เจ้ามาลา ๑ โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าอุปราช (จู) บังคับบัญชาเมืองต่อไป
จุลศักราช ๑๒๒๔ เจ้าอุปราช (จู) ผู้บังคับบัญชาการเมืองนครจำปาศักดิ์ไม่ถูกกับแสนท้าวพระยาแล มีผู้ทำเรื่องราวกล่าวโทษเจ้าอุปราชา (จู) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้หาตัวเจ้าอุปราช(จู) ลงมาแก้คดีที่กรุงเทพ ฯ และโปรดให้มีตราถึงเจ้าพระยายมราช (แก้ว) เมื่อยังเป็นพระยากำแหงสงคราม เจ้าเมืองนครราชสิมาซึ่งตั้งกองสักอยู่ ณ เมืองยโสธรนั้น ให้เลือกหาบุตรหลานเจ้านครจำปาศักดิ์เก่า ซึ่งสมควรจะได้รับตำแหน่งเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ต่อไป พระยากำแหงสงครามจึงมีใบบอกลงมา ณ กรุงเทพ ฯ ขอเจ้าคำสุกบุตรเจ้านครจำปาศักดิ์ (ฮุย) เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์
จุลศักราช ๑๒๒๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าคำสุกเป็นเจ้ายุตติธรรมธรเจ้านครจำปาศักดิ์ ฯ ระหว่างนั้นเจ้าอุปราช (จู) ป่วยถึงแก่กรรมอยู่ ณ บ้านช่างแสนกรุงเทพ ฯ โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าแสงบุตรเจ้านครจำปาศักดิ์ (หมาน้อย) เป็นเจ้าอุปราช ให้เจ้าหน่อคำบุตรเจ้าเสือหลานเจ้าอนุเวียงจันทน์เป็นเจ้าราชวงศ์
จุลศักราช ๑๒๒๖ เจ้ายุตติธรรมธรเจ้านครจำปาศักดิ์ (คำสุก) ได้ย้ายครอบครัวจากเมืองเก่าหินรอด ไปตั้งอยู่ที่ตำบลระหว่างโพนบกกับวัดละครริมแม่น้ำโขงฝั่งตะวันตก เป็นเมืองนครจำปาศักดิ์ซึ่งคงปรากฏมาจนบัดนี้ ฯ