ห.
หญิงข้าคนในพระราชวัง
หญิงข้าคนในพระราชวัง หญิงชาววัง
หญิงฉกรรจ์ ดู หญิงสะกัน
หญิงนครโสเภณี หญิงที่รับจ้างทำชำเราสำส่อนโดยได้รับเงินผลประโยชน์เป็นค่าจ้าง (พ.ร.บ. ป้องกันสัญจรโรค ร.ศ. ๑๒๗ มาตรา ๔ วรรค ๓)
ตามกฎมณเฑียรบาลหมายถึงหญิงที่หาเลี้ยงชีพโดยทางบำรุงกามโดยได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค (กฎม์ ว่าด้วยครอบครัวแห่งข้าราชการในพระราชสำนัก พ.ศ. ๒๔๕๗ มาตรา ๗ ข้อ ๖ และกฎม์ เพิ่มเติม พ.ศ. ๒๔๕๘ มาตรา ๑)
หญิงแพศยา หญิงคนชั่ว, หญิงมีชู้วันเดียว ๒ คนขึ้นไป (กฎห์ ลักษณะผัวเมีย บทที่ ๗ ซึ่งยกเลิกเสียเมื่อปี ร.ศ. ๑๑๗ แล้ว)
แต่ตามกฎมณเฑียรบาลหมายถึงหญิงที่หาเลี้ยงชีพโดยทางบำรุงกาม แต่มิใช่หญิงนครโสเภณี เป็นแต่มักสมจรกับชายหลายคนโดยอาการอันสำส่อนไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย (กฎม์ ว่าด้วยครอบครัวแห่งข้าราชการในพระราชสำนัก พ.ศ. ๒๔๕๗ มาตรา ๗ ข้อ ๗ และกฎม์ เพิ่มเติม พ.ศ. ๒๔๕๘ มาตรา ๑)
หญิงสะกัน หญิงอายุระวาง ๒๑ ปีถึง ๓๐ ปี
หญิงมีสามี หญิงที่กำลังอยู่กินเป็นเมียชาย แต่ยังมิได้เลิกกับชาย
หญิงหม้าย หญิงที่เคยมีผัวมาแล้ว แต่ไม่ได้อยู่กินกับผัว โดยเลิกกับผัวหรือผัวตาย และยังมิได้มีผัวใหม่
หญิงหม้ายเมียพราหมณ์ หญิงหม้ายที่มามีผัวเป็นพราหมณ์
หนังสือ บรรดาจดหมายที่จะใช้เป็นพะยานแห่งถ้อยคำที่เขียนไว้ในนั้นได้ (ป.ก.อ. มาตรา ๖ (๑๘))
หนังสือบริคณห์สนธิ หนังสือที่ผู้เริ่มก่อการบริษัททำขึ้นในเมื่อเริ่มก่อการบริษัทนั้น (ป.ก.พ. มาตรา ๑๐๙๗)
หนังสือบริคณห์สนธิต้องมีรายการดั่งนี้—
(๑)ชื่อบริษัทที่คิดจะตั้งขึ้น ต้องมีคำว่า "จำกัด" ไว้ปลายชื่อนั้นด้วยเสมอไป
(๒)ที่สำนักงานของบริษัทจะตั้งอยู่ในที่ใดในพระราชอาณาเขตต์
(๓)วัตถุที่ประสงค์ของบริษัท
(๔)ถ้อยคำสำแดงว่าความรับผิดของผู้ถือหุ้นจะมีจำกัด
(๕)จำนวนทุนเรือนหุ้นซึ่งบริษัทคิดกำหนดจะจดทะเบียนแบ่งออกเป็นหุ้นมีมูลค่ากำหนดหุ้นละเท่าใด
(๖)ชื่อ สำนัก อาชีวะ และลายมือชื่อของผู้เริ่มก่อการ ทั้งจำนวนหุ้นซึ่งต่างคนต่างเข้าชื่อไว้คนละเท่าใด
(ป.ก.พ. มาตรา ๑๐๙๘)
ต้องทำไม่น้อยกว่าสองฉะบับ ให้ลงลายมือชื่อของผู้เริ่มก่อการ และให้มีพะยานลงชื่อรับรองด้วยสองคน ต้องนำฉะบับหนึ่งไปจดทะเบียนและมอบไว้ณหอทะเบียนณที่ตั้งบริษัทนั้น (ป.ก.พ. มาตรา ๑๐๙๙)
หนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์ภาษาใด ๆ ซึ่งมีข่าว หรือสะแดงความเห็น หรือประกาศแจ้งความอย่างใด ๆ กับทั้งหนังสือรีวิวและแมกาซินซึ่งออกโฆษนาหรือที่เห็นประจักษ์ว่ามีเจตนาจะนำออกโฆษนาเป็นระยะเวลามีกำหนดหรือเป็นระยะครั้งคราวอันไม่มีกำหนดแน่
ข้อความที่คัดจากสมุด เอกสาร หรือหนังสือพิมพ์มาพิมพ์ขึ้นต่างหากจากสมุด และเอกสาร หรือหนังสือพิมพ์นั้น ๆ ก็ดี หรือที่คัดออกจากสมุด เอกสาร หรือหนังสือพิมพ์เช่นนั้นก็ดี ก็ถือว่าเป็นสมุด และเอกสาร หนังสือพิมพ์ แล้วแต่กรณีย์ (พ.ร.บ. สมุด เอกสาร และหนังสือพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๗๐ มาตรา ๔ วรรค ๔)
หนังสือมหาชน สรรพหนังสือหรือหลักถานซึ่งเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ได้จัดได้ทำให้มีขึ้นหรือรวบรวมรักษาไว้เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน เพื่อประโยชน์แก่มหาชนหรือบุคคลทั่วไป
หนังสือราชการ บรรดาหนังสือที่เจ้าหน้าที่เรียบเรียงหรือรับรองว่าเป็นของแท้ และหมายความตลอดถึงหนังสือที่เจ้าหน้าที่รับว่าเป็นสำเนาอันแท้จริงของหนังสือนั้น ๆ ด้วย (ป.ก.อ. มาตรา ๖ (๑๙))
หนังสือสำคัญ บรรดาหนังสือซึ่งเป็นสำคัญแก่การตั้งกรรมสิทธิ์หรือหนี้สิน และบรรดาหนังสือที่เป็นหลักถานแก่การเปลี่ยน แก้ หรือเลิกล้างโอนกรรมสิทธิ์หรือหนี้สินทุกอย่าง (ป.ก.อ. มาตรา ๖ (๒๐))
หนังสือสำคัญสำหรับที่บ้าน หนังสือสำคัญที่เจ้าพนักงานกระทรวงนครบาล (เดี๋ยวนี้เป็นมหาดไทย) ออกให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นสำคัญว่าเป็นที่ดินของใคร มีเขตต์เพียงไร ในเมื่อยังมิได้มีการออกโฉนดที่ดินมาแต่ก่อน แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีออกให้แล้ว (ดูคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๔๐/๑๑๙)
หนังสือเอกชน สรรพหนังสือเอกสารสัญญาที่เกี่ยวแก่บุคคลโดยฉะเพาะตัว และเกี่ยวแก่คนบางคนหรือบางจำพวก
หน้าที่ สิ่งที่บุคคลคนหนึ่งจะต้องกระทำให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งที่มีอำนาจที่จะขอร้องหรือบังคับให้กระทำตามกฎหมาย
หนี้ ความเกี่ยวพันตามกฎหมายซึ่งผูกพันบุคคลสองคนหรือมากกว่าสองคน อันเป็นเหตุให้ฝ่ายหนึ่งต้องส่งทรัพย์สิน หรือกระทำหรือละเว้นทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง
คำว่า "หนี้" คำนี้ ตรงกับในภาษาอังกฤษว่า "Obligation" ซึ่งเดิมแปลกันว่า "หน้าที่ในทางแพ่ง" ก็มี "ความจำต้องทำ" ก็มี "ความผูกพัน" ก็มี และ "พันธธรรม" ก็มี
หนี้เกลื่อนกลืนกัน อำนาจและความรับผิดชอบในหนี้ตกอยู่แก่บุคคลเดียวกัน เว้นแต่หนี้นั้นตกไปอยู่ในบังคับแห่งสิทธิของบุคคลภายนอก หรือเมื่อสลักหลังตั๋วเงินกลับคืน (ป.ก.พ. มาตรา ๓๕๓)
หมอความ บุคคลผู้กระทำหน้าที่ในทางความ อันมิใช่กระทำโดยหน้าที่ราชการ และซึ่งมิได้เกี่ยวแก่การว่าต่างแก้ต่างตัวความในโรงศาล (ดู ทนายความ)
หมาย (๑) หนังสือของศาลหรือของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมาย ได้ออกเรียกหรือสั่งจับหรือยึดทรัพย์ผู้ใดในคดีความ (๒) หนังสือกะกำหนดการในการเสด็จพระราชดำเนิรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีบอกไปยังผู้มีหน้าที่ให้ทราบ
หมายค้น หมายศาลหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมายได้ออกสั่งไปยังเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ให้ค้นทรัพย์สินบ้านเรือนผู้ใด เพื่อได้นำส่งไปยังผู้ออกหมายนั้น
หมายจับ หมายของศาลหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมายได้ออกไปให้เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ให้จับตัวผู้ใดผู้หนึ่งส่งไปตามทางการ
หมายนัด หมายที่ศาลนัดคู่ความให้ไปยังศาล
หมายบังคับ หมายที่ศาลบังคับให้คู่ความทำตามคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาล
หมายพะยาน หมายที่ศาลหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมายได้มีเรียกไปยังผู้ใดให้มาเบิกความเป็นพะยาน
หมายยึดทรัพย์ หมายที่ศาลสั่งให้เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ไปยึดทรัพย์สมบัติของผู้ที่จะต้องถูกยึดในคดีความ
หมายเรียก หมายที่ศาลหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมายได้ออกเรียกผู้ใดให้ไปยังศาลหรือเจ้าพนักงานที่ออกหมายนั้น
หมายส่งตัวคน หมายศาลส่งตัวจำเลยในคดีอาชญา ที่มีไปยังเจ้าพนักงานกองเรือนจำให้คุมขังจำเลยไว้
หมายส่งฟ้อง หมายที่ศาลนำส่งฟ้องของโจทก์ไปให้จำเลยแก้คดี
หมิ่นประมาท การกล่าวด้วยวาจา หรือขีดเขียนเป็นหนังสือ หรือสะแดงกิริยาอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจจะให้ผู้ถูกกล่าวเสียชื่อเสียงหรือให้คนทั้งหลายดูหมิ่นหรือเกลียดชังในส่วนตัวผู้ถูกกล่าว ในตำแหน่งหน้าที่ ในวิชชาหากิน หรือในการค้าขายของผู้ถูกกล่าว (ดู หลักกฎหมายประทุษฐร้ายส่วนแพ่ง ของพระยาเทพวิฑูร (บุญช่วย วณิกกุล) หน้า ๑๓๗)
หมิ่นประมาทในทางอาชญานั้นแบ่งออกได้เป็น ๒ อย่าง คือ—
(๑)หมิ่นประมาทโดยใส่ความ คือว่า ผู้ใดกล่าวหรือกระทำการอย่างใด ๆ ใส่ความผู้อื่นซึ่งอาจจะให้เขาเสียชื่อเสียงหรืออาจจะให้คนทั้งหลายดูหมิ่นหรือเกลียดชังเขา โดยได้กล่าวต่อหน้าคนตั้งแต่สองคนขึ้นไปก็ดี หรือกล่าวแก่บุคคลนับแต่สองคนขึ้นไปก็ดี (ป.ก.อ. มาตรา ๒๘๒) เว้นไว้แต่จะได้กล่าวสะแดงความคิดเห็นซึ่งคิดเห็นโดยสุจริตในลักษณะการเหล่านี้ จึงจะไม่มีความผิด คือ
(ก)ในการที่จะสะแดงความชอบธรรมของตน หรือในการที่จะต้องต่อสู้ป้องกันตน หรือในการป้องกันประโยชน์อันชอบด้วยกฎหมายก็ดี
(ข)เจ้าพนักงานกล่าวความในรายงานตามตำแหน่งหน้าที่ของตนก็ดี
(ค)การที่กล่าวสรรเสริญและติเตียนบุคคลหรือสิ่งใด ๆ โดยสุภาพ อันเป็นวิสัยธรรมดาสาธารณะชนย่อมกล่าวกันก็ดี
(ฆ)การที่โฆษนาหรือกล่าวถึงการที่ดำเนิรอยู่ในโรงศาลใด ๆ หรือในที่ประชุมชนใด ๆ และกล่าวแต่โดยสุภาพก็ดี
(ป.ก.อ. มาตรา ๒๘๓)
อนึ่ง คำให้การและคำชี้แจงซึ่งคู่ความหรือทนายของคู่ความกล่าวด้วยวาจาก็ดี ด้วยจดหมายก็ดี ในเวลาพิจารณาคดี ย่อมไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท (ป.ก.อ. มาตรา ๒๘๕)
ผู้ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทจะสืบความจริงว่าเป็นดั่งที่กล่าวไม่ได้ นอกจากคดีมีรูปความดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ—
(ก)เมื่อศาลพิจารณาเห็นว่าที่กล่าวนั้นมีเจตนาที่จะให้เป็นสาธารณะประโยชน์ ประการหนึ่ง
(ข)ข้อความที่กล่าวนั้นกล่าวโทษเจ้าพนักงานว่ากระทำความผิดในตำแหน่งหน้าที่ราชการ ประการหนึ่ง
(ค)เมื่อโจทก์ร้องขอให้ศาลพิจารณาข้อที่ใส่ความ และขอให้ศาลพิพากษาว่าความที่ใส่นั้นเป็นจริงหรือไม่ ประการหนึ่ง
(ป.ก.อ. มาตรา ๒๘๔)
(๒)หมิ่นประมาทโดยดูถูก คือว่า ผู้ใดกล่าวถ้อยคำต่ำช้าว่าเขา เป็นการหมิ่นประมาทซึ่งหน้า
(ป.ก.อ. มาตรา ๓๓๙ (๒))
ในทางแพ่งนั้น ผู้หมิ่นประมาทจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ถูกหมิ่นประมาท เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การหมิ่นประมาทนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้
(ป.ก.พ. มาตรา ๔๒๓)
หมู่บ้าน ท้องที่ ๆ รวมบ้านหลาย ๆ บ้านเข้าอยู่ในปกครองของผู้ใหญ่บ้านหนึ่ง
หลบฝาก ชายผู้สู่ขอหญิงมาอยู่เรือนบิดามารดาหญิง และทำการให้โดยมีกำหนดเวลา แล้วชายจึงระได้หญิงเป็นภรรยา (กฎห์ ลักษณะผัวเมีย บทที่ ๑๐๒)
หลักทรัพย์ ทรัพย์สินอันเป็นหลักแก่การประกันการชำระหนี้ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า "Security"
หลักทรัพย์ทองคำ หลักทรัพย์ที่ใช้ต้นและดอกเบี้ยด้วยเงินตราของประเทศที่ใช้มาตราทองคำ (พ.ร.บ. เงินตรา พ.ศ. ๒๔๗๑ มาตรา ๔ วรรค ๕)
หลาน ลูกของลูก, ลูกของพี่หรือน้อง
หลือ ลูกของเหลน
ห้องฉายภาพยนตร์ ห้องที่ตั้งเครื่องสำหรับฉายด้วยโคมไฟหรือด้วยเครื่องฉายอันประกอบด้วยแรงไฟทุกชะนิด (พ.ร.บ. ป้องกันภยันตรายอันเกิดแต่การเล่นมหรสพ พ.ศ. ๒๔๖๔ มาตรา ๔ วรรค ๓)
ห่อวัตถุ ห่อของ ถุง หีบ ตะกร้า และของสิ่งอื่น ๆ (รวมทั้งผลไม้ ผัก ปลา เป็ด ไก่ ห่าน ฯลฯ) ที่ได้บรรทุกในขบวนรถโดยสารของรถไฟตามอัตราระวางบรรทุกห่อวัตถุ (พ.ร.บ. จัดวางการรถไฟและทางหลวง พ.ศ. ๒๔๖๔ มาตรา ๓ (๑๐))
หักกลบลบหนี้ การที่บุคคลสองคนต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน และหนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกำหนดจะชำระแล้ว ลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมหลุดพ้นจากหนี้ของตน โดยหักกลบลบกันได้เพียงเท่าจำนวนที่ตรงกันในมูลหนี้ทั้งสองฝ่าย เว้นแต่สภาพแห่งหนี้ฝ่ายหนึ่งจะไม่เปิดช่องให้หักได้ (ป.ก.พ. มาตรา ๓๔๑ วรรค ๑)
หัดถภาระ ถุง ย่าม ห่อผ้า หรือกระเป๋าถือทุกชะนิด ซึ่งผู้โดยสารรถไฟนำไปในห้องรถโดยสารเพื่อใช้สอยเองหรือเพื่อความสะดวก (พ.ร.บ. จัดวางการรถไฟและทางหลวง พ.ศ. ๒๔๖๔ มาตรา ๓ (๘))
หัวงารราชการ ผู้ที่เป็นหัวแรง
หัวหน้าครอบครัว บุรพบุรุษคนหนึ่งซึ่งยังมีชีวิตอยู่ เป็นผู้ใหญ่มีอายุสูงในครอบครัวนั้น (พ.ร.บ. ขนานนามสกุล พ.ศ. ๒๔๕๖ มาตรา ๑๐)
หางน้ำนม น้ำนมหรือแป้งน้ำนมอย่างใด ๆ ที่ได้แยกมันซึ่งตามธรรมดาที่มีอยู่นั้นออกเสียส่วนหนึ่ง หรือมีส่วนมันเนยต่ำกว่ามาตราซึ่งกรมสาธารณกำหนดไว้ (พ.ร.บ. หางน้ำนม พ.ศ. ๒๔๗๐ มาตรา ๓ วรรค ๒)
หางว่าว บัญชีคน
ห้างหุ้นส่วน บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการนั้น (ป.ก.พ. มาตรา ๑๐๑๒)
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนประเภทหนึ่งซึ่งมีผู้เป็นหุ้นส่วนที่ต้องรับผิดชอบโดยจำกัดพวกหนึ่ง กับไม่จำกัดอีกพวกหนึ่งรวมกัน (ป.ก.พ. มาตรา ๑๐๗๗)
ห้างหุ้นส่วนชะนิดนี้ต้องจดทะเบียน มีรายการดั่งนี้
(๑)ชื่อห้างหุ้นส่วน
(๒)ข้อแถลงความว่าเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด และวัตถุที่ประสงค์ของห้างหุ้นส่วนนั้น
(๓)ที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่และสำนักงานสาขาทั้งปวง
(๔)ชื่อ ยี่ห้อ สำนัก และอาชีวะของผู้เป็นหุ้นส่วนจำกัดพวกจำกัดความรับผิด และจำนวนเงินที่ได้ลง
(๕)ชื่อ ยี่ห้อ สำนัก และอาชีวะของผู้ที่เป็นหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดความรับผิด
(๖)ชื่อหุ้นส่วนผู้จัดการ
(๗)ถ้ามีข้อจำกัดอำนาจหุ้นส่วนผู้จัดการอันจะผูกพันห้างประการใด ให้ลงไว้ด้วย
จะลงรายการอื่นที่ประสงค์จะให้ประชาชนทราบก็ได้ การลงทะเบียนต้องลงลายมือชื่อของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน และต้องประทับตราของห้างหุ้นส่วนด้วย (ป.ก.พ. มาตรา ๑๐๗๘)
ห้างหุ้นส่วนสามัญ ห้างหุ้นส่วนประเภทซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวน (ป.ก.พ. มาตรา ๑๐๒๕)
"ห้ามเปลี่ยนมือ" เป็นข้อความที่ผู้ทรงเช็คได้เขียนลงในเช็คขีดคร่อมทั่วไปหรือเช็ดขีดคร่อมโดยฉะเพาะ ไม่ให้เช็คนั้นเปลี่ยนมือกันต่อไป (ป.ก.พ. มาตรา ๙๙๕ (๓))
หุ้น จำนวนเงิน หรือทรัพย์สิน หรือแรง (เว้นแต่หุ้นจำกัดตาม ป.ก.พ. มาตรา ๑๐๘๓ จะลงแรงไม่ได้) ที่ผู้ถือหุ้นเอามาลงทุนกระทำการร่วมกันเพื่อหาประโยชน์จากคนภายนอกมาแบ่งปัน (ดู ป.ก.พ. มาตรา ๑๐๑๒ และ ๑๐๒๖)
หุ้นบุริมสิทธิ หุ้นที่มีสิทธิพิเศษยิ่งกว่าหุ้นธรรมดา เช่น หุ้นที่กำหนดไว้ว่าในเวลาปันผลจะต้องได้ส่วนแบ่งกำไรจำนวนเท่านั้นเท่านี้ก่อนหุ้นธรรมดา เป็นต้น
หุ้นส่วนผู้จัดการ ผู้ที่ถือหุ้นเป็นผู้จัดการห้างหุ้นส่วน (ป.ก.พ. มาตรา ๑๐๓๕)
หุ้นส่วนสามัญ หุ้นที่ไม่มีบุริมสิทธิ (ดู หุ้นบุริมสิทธิ)
เหตุสุดวิสัย เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี ไม่มีใครอาจป้องกันได้ แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสพหรือใกล้จะต้องประสพนั้น จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลนั้นในฐานะเช่นนั้น (ป.ก.พ. มาตรา ๘)
เหมือง ที่ใด ๆ ซึ่งเป็นที่ทางแร่ก็ดี ที่ลานแร่ก็ดี หรือที่อย่างใด ๆ ซึ่งคนขุดทำการหาแร่ (พ.ร.บ. การทำเหมืองแร่ พ.ศ. ๒๔๖๑ มาตรา ๓ ข้อ ๑๐)
เหรียญกระษาปณ์ เหรียญเงิน เหรียญทองขาว และเหรียญทองแดง (พ.ร.บ. เงินตรา พ.ศ. ๒๔๗๑ มาตรา ๗)
เหรียญกระษาปณ์บุบสลาย เหรียญที่ถูกตัด หรือถูกตอกตีเป็นรอย หรือถูกเปลี่ยนแปลงอย่างใด ๆ ในดลภาค หรือในรูปซึ่งอาจสังเกตได้ทันทีว่าไม่ใช่สึกหรอไปโดยธรรมดา (พ.ร.บ. เงินตรา พ.ศ. ๒๔๗๑ มาตรา ๔ วรรค ๒)
เหลน ลูกของหลาน
ให้ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่ง เรียกว่าผู้ให้ โอนทรัพย์สินของตนให้โดยเสนหาแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับ และผู้นับยอมรับเอาทรัพย์สินนั้น (ป.ก.พ. มาตรา ๕๒๑)
การให้ย่อมสมบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ให้ (ป.ก.พ. มาตรา ๕๒๓)
ให้สิทธิอันมีตราสาร ต้องส่งมอบตราสารและมีหนังสือไปบอกแก่ลูกหนี้ (ป.ก.พ. มาตรา ๕๒๔)
ให้ทรัพย์สินที่ซื้อขายจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน เมื่อได้ทำหนังสือและจดทะเบียนแล้ว จึงจะเป็นพันสมบูรณ์โดยไม่ต้องส่งมอบ (ป.ก.พ. มาตรา ๕๒๕)
ผู้ให้จะเรียกทรัพย์ที่ให้คืนได้ เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณ แต่จะเรียกได้ในกรณีย์ดั่งจะกล่าวต่อไปนี้—
(๑)ผู้รับประทุษฐร้ายผู้ให้เป็นความผิดอาชญาอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายลักษณะอาชญา ฤๅ
(๒)ผู้รับได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียงหรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง ฤๅ
(๓)ผู้รับได้บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ ในเวลาที่ผู้ให้ยากไร้และผู้รับยังสามารถจะให้ได้
(ป.ก.พ. มาตรา ๕๓๑)
การให้ดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ จะถอนคืนเหตุเนรคุณไม่ได้ คือ—
(๑)ให้เป็นบำเหน็จสินจ้างโดยแท้
(๒)ให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน
(๓)ให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยา
(๔)ให้ในการสมรส
(ป.ก.พ. มาตรา ๕๓๕)
ให้การ ดู คำให้การ
ให้โดยระดอก ให้โดยไม่คิดเอาบำเหน็จค่าน้ำนมเข้าป้อน
ให้บังวาย จะให้ภายหลัง