พระประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช/อธิบายเบื้องต้น
สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จสมภพที่เมืองพิษณุโลกเมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๐๙๘ พระองค์เป็นราชโอรสของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช พระเจ้าแผ่นดินราชวงศ์สุโขทัยองค์แรกที่ครองกรุงศรีอยุธยา พระวิสุทธิกษัตรี ราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ อันเกิดด้วยพระสุริโยทัยเป็นพระชนนี เพราะฉะนั้น โดยพระชาติเป็นเชื้อกษัตริย์ทั้งราชวงศ์พระร่วงสุโขทัยและราชวงศ์กรุงศรีอยุธยา พระองค์มีพระพี่นางองค์ ๑ ทรงพระนามว่า พระสุพรรณกัลยาณี พระน้องยาองค์ ๑ ทรงพระนามว่า พระเอกาทศรถ ซึ่งได้รับรัชชทายาท แต่หามีพระราชโอรสธิดาไม่ เมื่อสมเด็จพระนเรศวรสมภพ ยศเจ้าฟ้ายังไม่มีในประเพณีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระชนกก็ยังทรงพระยศเพียงเป็นเจ้าขัณฑสีมา แต่พระชนนีเป็นสมเด็จพระราชธิดา พระองค์เป็นราชนัดดา คงทรงพระยศเป็นพระองค์เจ้า ฝรั่งจึงเรียกในจดหมายเหตุแต่งในสมัยนั้นว่า The Black Prince ตรงกับว่า “พระองค์ชายดำ” และเรียกพระอนุชาเอกาทศรถว่า The White Prince ตรงกับ “พระองค์ชายขาว” เป็นคู่กัน คงแปลไปจากพระนามที่คนทั้งหลายเรียกสมเด็จพระนเรศวรเมื่อยังทรงพระเยาว์ว่า “พระองค์ชายดำ” อาจจะมีพระนามขนานอีกต่างหากแต่ไม่ปรากฏ พระนามว่า “พระนเรศ” นั้น ต่อมาสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเสวยราชย์แล้ว จึงพระราชทานเมื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเวลาพระชันษาได้ ๑๕ ปี เป็นพระนามสำหรับลูกหลวงเอกเช่นเดียวกับพระนามว่า “พระราเมศวร” ซึ่งเคยมีมาแต่ก่อน แต่พระองค์อื่นเมื่อขึ้นเสวยราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินมักเปลี่ยนไปใช้พระนามอื่น ดังเช่นพระราเมศวร ราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราช (สามพระยา) เมื่อเสวยราชย์ เปลี่ยนพระนามเป็นสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ถึงสมเด็จพระนเรศวรเมื่อเสวยราชย์ก็อาจมีพระนามอื่นถวายเมื่อราชาภิเษก แต่ยังใช้พระนามว่า “พระนเรศวร” หรือ “พระนเรศ” ต่อมาในเวลาเมื่อเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ดังปรากฏอยู่ในบานแพนกกฎหมายลักษณะกบฏศึกตอน ๑ ซึ่งสมเด็จพระเอกาทศรถทรงตั้งเมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช ๙๕๕ (พ.ศ. ๒๑๓๖) ออกพระนามสมเด็จพระนเรศวรว่า “สมเด็จบรมบาทบงกชลักษณ์ อัครบุริโสดม บรมหน่อนรา เจ้าฟ้านเรศ เชษฐาธิบดี” ดังนี้ (เหตุที่ใช้คำว่าเจ้าฟ้า จะมีอธิบายในเรื่องต่อไปข้างหน้า) ถึงในพงศาวดารพะม่ามอญก็เรียกพระนามแต่ว่า “พระนเรศ” อย่างเดียวเหมือนเช่นไทยเราเรียกกันมา คิดหาเหตุที่ไม่เปลี่ยนพระนามก็พอเห็นได้ ด้วยสมเด็จพระนเรศวรทรงบำเพ็ญพระอภินิหารปรากฏพระเกียรติว่าเป็น “วีรบุรุษ” มาตั้งแต่ยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระนเรศวร พระนามนั้นเลื่องลือระบือไปทั่วทุกประเทศแล้ว ก็ไม่มีใครสามารถจะให้คนเรียกเป็นอย่างอื่นได้
ประเทศต่าง ๆ ย่อมมีวีรบุรุษเป็นพระเจ้าแผ่นดินในบางสมัย และย่อมจดจำอภินิหารของพระเจ้าแผ่นดินเช่นนั้นเชิดชูพระเกียรติไว้ในเรื่องพงศาวดารของประเทศ บางทีก็แต่งเป็นเรื่องราชประวัติเพิ่มขึ้นต่างหาก มีอ่านกันอยู่มาก สังเกตในเรื่องประวัติของวีรมหาราชทั้งหลายดูมีเค้าคล้ายกันหมด คือ บ้านเมืองต้องมียุคเข็ญจึงมีวีรมหาราชอย่าง ๑ วีรมหาราชย่อมเป็นบุรุษพิเศษมีสติปัญญาและความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวผิดกับผู้อื่นมาในอุปนิสสัยอย่าง ๑ และสามารถทำให้ผู้อื่นเชื่อถือไว้วางใจในพระปรีชาสามารถมั่นคงอย่าง ๑ จึงสามารถบำเพ็ญอภินิหารกู้บ้านเมืองและแผ่นราชอาณาเขตต์จนเป็นพระราชาธิราชได้ สมเด็จพระนเรศวรก็ทรงพระคุณสมบัติดังกล่าวมาบริบูรณ์ทุกอย่าง ดังจะพึงเห็นได้ในเรื่องพระประวัติต่อไปข้างหน้า อันจะเขียนปันเป็น ๓ ภาค คือ เรื่องบ้านเมืองเกิดยุคเข็ญ ภาค ๑ เรื่องสมเด็จพระนเรศวรทรงกู้บ้านเมืองเมื่อยังเป็นสมเด็จพระราชโอรส ภาค ๑ และเรื่องสมเด็จพระนเรศวรทรงแผ่พระราชอาณาเขตต์เมื่อเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ภาค ๑