พระราชกฤษฎีกาการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๕๘

แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

Seal of the Royal Command of Thailand
Seal of the Royal Command of Thailand
พระราชกฤษฎีกา
การทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๕๘
พุทธศักราช ๒๕๕๘

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๘
เป็นปีที่ ๗๐ ในรัชกาลปัจจุบัน

โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้มีการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ประกอบกับมาตรา ๓/๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๕ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๕๘”

มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

มาตรา ๓ พระราชกฤษฎีกานี้ไม่ใช้บังคับแก่

(๑) กฎหมายที่มีผลใช้บังคับเฉพาะระยะเวลาหนึ่งและระยะเวลานั้นได้ล่วงพ้นไปแล้ว เช่นกฎหมายเกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นต้น

(๒) กฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม

(๓) กฎหมายที่บัญญัติให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งและได้มีการดำเนินการตามกฎหมายนั้นแล้ว เช่น กฎหมายให้ใช้ประมวลกฎหมาย กฎหมายเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ กฎหมายโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน กฎหมายจัดตั้งศาล กฎหมายจัดตั้งจังหวัด กฎหมายเกี่ยวกับการออกเหรียญ ธนบัตรหรือเครื่องราชอิสริยาภรณ์ กฎหมายกำหนดยศ กฎหมายกำหนดปริญญา กฎหมายกำหนดอักษรย่อปริญญา กฎหมายกำหนดวิทยฐานะ เป็นต้น

(๔) กฎหมายที่กำหนดลักษณะของเครื่องแสดงวิทยฐานะ เครื่องหมาย หรือเครื่องแบบ เช่น กฎหมายกำหนดครุยวิทยฐานะ กฎหมายกำหนดเครื่องหมายราชการ กฎหมายกำหนดเครื่องแบบ เป็นต้น

(๕) กฎหมายอื่นที่คณะรัฐมนตรีกำหนดตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย

มาตรา ๔ ในพระราชกฤษฎีกานี้

“กฎหมาย” หมายความว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ ประมวลกฎหมาย พระราชกำหนด และกฎตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง

“รัฐมนตรีผู้รักษาการ” หมายความว่า รัฐมนตรีหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นซึ่งกฎหมายกำหนดให้เป็น ผู้รักษาการตามกฎหมายนั้น ๆ และให้หมายความรวมถึงผู้มีอำนาจออกกฎตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองด้วย

“องค์กรที่เกี่ยวข้อง” หมายความว่า นิติบุคคลที่มีลักษณะเป็นสมาคม มูลนิธิ หรือสภาที่จัดตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือตามกฎหมายเฉพาะ บรรดาที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมาย

“คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย” หมายความว่า คณะกรรมการพัฒนากฎหมายตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา

มาตรา ๕ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๓ เพื่อให้บทบัญญัติของกฎหมายมีความเหมาะสมเป็นธรรม ไม่เป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตตามกาลสมัยและวิวัฒนาการของเทคโนโลยีที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ให้รัฐมนตรีผู้รักษาการมีหน้าที่จัดให้มีการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายทุกห้าปีที่กฎหมายใช้บังคับ หรือเมื่อมีกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(๑) เห็นว่าจำเป็นต้องมีการปรับปรุง แก้ไข หรือยกเลิกกฎหมาย

(๒) ได้รับหนังสือร้องเรียนหรือข้อเสนอแนะจากองค์กรที่เกี่ยวข้องหรือจากประชาชนทั่วไปและรัฐมนตรีผู้รักษาการเห็นว่าข้อร้องเรียนหรือข้อเสนอแนะนั้นมีเหตุผลอันสมควร

(๓) ได้รับข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย

(๔) เมื่อปรากฏว่ามิได้มีการบังคับใช้หรือปฏิบัติตามกฎหมายเกินสามปีนับแต่วันที่กฎหมายนั้นใช้บังคับ

มาตรา ๖ กฎหมายที่ไม่มีรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายให้เป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีที่จะต้องปฏิบัติการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ในการนี้ นายกรัฐมนตรีอาจมอบหมายให้รัฐมนตรีคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการก็ได้

มาตรา ๗ เมื่อมีกรณีที่จะต้องพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายตามมาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีผู้รักษาการประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป และให้ประกาศผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมทั้งแจ้งให้คณะกรรมการพัฒนากฎหมายทราบด้วยในระหว่างการดำเนินการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย หากได้รับข้อเสนอแนะจากผู้ใด หรือจากคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย ให้รัฐมนตรีผู้รักษาการนำข้อเสนอแนะดังกล่าวไปประกอบการพิจารณาด้วย

มาตรา ๘ เมื่อมีกรณีตามมาตรา ๕ (๒) ถ้ารัฐมนตรีผู้รักษาการเห็นว่าข้อร้องเรียนหรือข้อเสนอแนะนั้นไม่มีเหตุผลอันสมควร ให้มีหน้าที่แจ้งให้ผู้ร้องเรียนหรือผู้เสนอแนะทราบพร้อมทั้งเหตุผลภายในสิบวันนับแต่วันที่มีความเห็นดังกล่าว ถ้าผู้ร้องเรียนหรือผู้เสนอแนะยังเห็นว่ามีเหตุอันสมควรที่จะต้องพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายนั้น จะเสนอเรื่องไปยังคณะกรรมการพัฒนากฎหมายเพื่อพิจารณาต่อไปก็ได้

มาตรา ๙ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง ในการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย ให้รัฐมนตรีผู้รักษาการพิจารณาทบทวนในเรื่องดังต่อไปนี้ทั้งหมดหรือบางเรื่องตามที่จำเป็น

(๑) เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายนั้นใช้บังคับต่อไป

(๒) การปรับปรุง แก้ไข หรือยกเลิกกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครอง วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมทั้งของประเทศและของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

(๓) การปรับปรุง แก้ไข หรือยกเลิกกฎหมายให้สอดคล้องหรืออนุวัติการตามพันธกรณี ระหว่างประเทศที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามภายใต้บังคับกฎหมายระหว่างประเทศ

(๔) การปรับปรุง แก้ไข หรือยกเลิกกฎหมายเพื่อลดผลกระทบและภาระของประชาชนที่เกิดขึ้นจากกฎหมายนั้น

(๕) การใช้ระบบคณะกรรมการ การอนุมัติ การอนุญาต ใบอนุญาต ระบบการจดทะเบียนหรือระบบอื่นที่กำหนดขึ้นเพื่อกำกับหรือควบคุม เพียงเท่าที่จำเป็น

(๖) การให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

(๗) การป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายนั้น

(๘) เรื่องอื่นใดที่จะทำให้กฎหมายนั้นไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตหรือการประกอบอาชีพของประชาชนโดยไม่จำเป็น ไม่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน หรือทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น

ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง รัฐมนตรีผู้รักษาการต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นขององค์กรที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับกฎหมายนั้น หรือจะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นการทั่วไปก็ได้

มาตรา ๑๐ เมื่อมีกรณีตามมาตรา ๕ (๔) ให้รัฐมนตรีผู้รักษาการเสนอต่อคณะรัฐมนตรี

เพื่อยกเลิกกฎหมายดังกล่าว หรือถ้าเห็นว่ายังมีความจำเป็นต้องมีกฎหมายนั้นต่อไป ให้แสดงเหตุผลต่อ คณะรัฐมนตรีถึงความจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายนั้นต่อไปและเหตุที่ไม่มีการบังคับใช้หรือปฏิบัติตามกฎหมายนั้น พร้อมทั้งกำหนดเวลาที่ชัดเจนที่จะบังคับใช้หรือปฏิบัติตามกฎหมายนั้น ทั้งนี้ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ครบสามปีที่กฎหมายนั้นใช้บังคับ

ในกรณีอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง ให้รัฐมนตรีผู้รักษาการเสนอรายงานสรุปผลการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายที่มีสาระสำคัญตามมาตรา ๙ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายใน หนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่มีเหตุต้องพิจารณาทบทวน ในกรณีที่จำเป็นต้องปรับปรุง แก้ไข หรือยกเลิกกฎหมาย ให้เสนอร่างกฎหมายไปพร้อมกันด้วย ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแจ้งผลการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้คณะกรรมการพัฒนากฎหมายทราบเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำรายงานประจำปีต่อไป

มาตรา ๑๑ เมื่อมีกรณีที่จะต้องพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายตามมาตรา ๕คณะกรรมการพัฒนากฎหมายจะพิจารณาดำเนินการแทนรัฐมนตรีผู้รักษาการตามที่รัฐมนตรีผู้รักษาการร้องขอก็ได้ ในการนี้ คณะกรรมการพัฒนากฎหมายจะขอให้รัฐมนตรีผู้รักษาการสั่งให้หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายตามที่คณะกรรมการพัฒนากฎหมายกำหนดก็ได้ ทั้งนี้ การเบิกจ่ายและการใช้จ่ายสำหรับค่าใช้จ่ายที่ได้รับดังกล่าว ให้เป็นไปตามระเบียบสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าด้วยเงินทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนากฎหมายซึ่งได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังแล้ว

เมื่อคณะกรรมการพัฒนากฎหมายพิจารณาดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้เสนอผลการพิจารณาไปยังรัฐมนตรีผู้รักษาการและคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการต่อไป

มาตรา ๑๒ ให้คณะกรรมการพัฒนากฎหมายจัดทำรายงานประจำปีสรุปผลการปฏิบัติการตามพระราชกฤษฎีกานี้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเพื่อทราบ หากมีกรณีที่รัฐมนตรีผู้รักษาการ ไม่ปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกานี้ ให้บันทึกไว้ในรายงานดังกล่าวให้เป็นที่ประจักษ์ด้วย

มาตรา ๑๓ ในวาระเริ่มแรก ให้รัฐมนตรีผู้รักษาการสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐมนตรีผู้รักษาการนั้นทั้งหมด แล้วแจ้งให้คณะกรรมการพัฒนากฎหมายทราบตามแบบ วิธีการ และระยะเวลาที่คณะกรรมการพัฒนากฎหมายกำหนด ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ถ้ากฎหมายใดใช้บังคับเกินห้าปีนับถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ให้หน่วยงานตามวรรคหนึ่งแจ้งให้คณะกรรมการพัฒนากฎหมายทราบด้วยว่าจะดำเนินการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายฉบับใดในปีใด ซึ่งทั้งหมดต้องทำให้แล้วเสร็จภายในห้าปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ สำหรับกฎหมายใดที่ใช้บังคับยังไม่ถึงห้าปีนับถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายนั้นเมื่อกฎหมายนั้นใช้บังคับครบห้าปี นับแต่วันที่กฎหมายนั้นใช้บังคับ

เมื่อได้ข้อมูลตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐมนตรีผู้รักษาการสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำคำแปลของกฎหมายทั้งหมดเป็นภาษากลางของอาเซียนให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ และเผยแพร่ทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศโดยที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และแจ้งให้คณะกรรมการพัฒนากฎหมายทราบด้วย และเมื่อใดที่มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าวให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงแก้ไขและเผยแพร่คำแปลของกฎหมายนั้นโดยเร็ว

มาตรา ๑๔ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี

หหมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่กฎหมายเป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับแก่สังคมประกอบกับปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อความต้องการของสังคมมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น ทัศนคติของมหาชนในเรื่องต่าง ๆ พัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการสื่อสาร สภาพทางเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง สภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนพันธกรณีระหว่างประเทศ เป็นต้น ประเทศที่พัฒนาแล้วจึงดำเนินการให้มีการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของบทบัญญัติของกฎหมายอยู่เสมอ เพื่อให้บทบัญญัติของกฎหมายสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีมาตรการใด ที่กำหนดให้ต้องมีการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของบทบัญญัติของกฎหมายอย่างสม่ำเสมอ การเสนอให้มีการปรับปรุงหรือแก้ไขกฎหมายส่วนใหญ่จึงเป็นไปตามข้อเสนอของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของตน เป็นไปโดยง่ายโดยมิได้คำนึงถึงพลวัตที่เกิดขึ้น กฎหมายจำนวนมากจึงมีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ และกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ รวมทั้งการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวม กรณีจึงสมควรกำหนดให้ผู้รักษาการตามกฎหมายต่าง ๆ มีหน้าที่จัดให้มีการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของบทบัญญัติของกฎหมายทุกฉบับทุกรอบระยะเวลา รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาดำเนินการดังกล่าวให้ชัดเจน จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

เชิงอรรถ แก้ไข

  1. ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนที่ ๘๖/หน้า ๙๑-๙๖/๘ กันยายน ๒๕๕๘

ขึ้น

 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"