พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การรถไฟฟ้ามหานคร พ.ศ. ๒๕๓๕

แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)



พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

Seal of the Royal Command of Thailand
Seal of the Royal Command of Thailand


พระราชกฤษฎีกา


จัดตั้งองค์การรถไฟฟ้ามหานคร


พ.ศ. ๒๕๓๕




ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.


ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๕


เป็นปีที่ ๔๗ ในรัชกาลปัจจุบัน



โดยที่เป็นการสมควรจัดตั้งองค์การรถไฟฟ้ามหานคร

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๗๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้



มาตรา ๑

พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การรถไฟฟ้ามหานคร พ.ศ. ๒๕๓๕"


มาตรา ๒

พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป[1]


มาตรา ๓

ในพระราชกฤษฎีกานี้

"รถไฟฟ้า" หมายความว่า รถที่พ่วงกันเป็นขบวนยาวโดยขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าแล่นไปตามราง

"ราง" หมายความว่า ทางซึ่งใช้สำหรับรถไฟฟ้า

"คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการองค์การรถไฟฟ้ามหานคร

"กรรมการ" หมายความว่า กรรมการองค์การรถไฟฟ้ามหานคร

"ผู้อำนวยการ" หมายความว่า ผู้อำนวยการองค์การรถไฟฟ้ามหานคร

"พนักงาน" หมายความว่า พนักงานขององค์การรถไฟฟ้ามหานคร รวมทั้งผู้อำนวยการ

"ลูกจ้าง" หมายความว่า ลูกจ้างขององค์การรถไฟฟ้ามหานคร

"รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้


มาตรา ๔

ให้จัดตั้งองค์การขึ้นองค์การหนึ่ง เรียกว่า "องค์การรถไฟฟ้ามหานคร" เรียกโดยย่อว่า "รฟม." และให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า "Metropolitan Rapid Transit Authority" เรียกโดยย่อว่า "MRTA"


มาตรา ๕

ให้ รฟม. มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานครหรือในจังหวัดใกล้เคียง และจะจัดตั้งสำนักงานสาขาหรือตัวแทนขึ้น ณ ที่ใดในราชอาณาจักรก็ได้


มาตรา ๖

รฟม. มีวัตถุประสงค์ในการจัดระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยการสร้างหรือจัดให้มีด้วยวิธีการใด ๆ ซึ่งการขนส่งโดยรถไฟฟ้าและดำเนินการหรือให้บริการอันเกี่ยวกับการขนส่งโดยรถไฟฟ้าดังกล่าว กับดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเพื่อประโยชน์ของ รฟม.


มาตรา ๗

ให้ รฟม. มีอำนาจกระทำการต่าง ๆ ภายในขอบวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๖ และอำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง

(๑) จัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งของ เครื่องใช้หรือบริการต่าง ๆ เพื่อความสะดวกและความปลอดภัยอันเกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับกิจการของ รฟม.

(๒) ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง หรือมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ สร้าง ซื้อ ว่าจ้าง รับจ้าง จัดหา ขาย จำหน่าย เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ ยืม ให้ยืม รับจำนำ รับจำนอง แลกเปลี่ยน โอน รับโอน หรือดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินทั้งในและนอกราชอาณาจักร ตลอดจนทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้

(๓) กำหนดอัตราค่าบริการในการใช้รถไฟฟ้า ตลอดจนมาตรการเพื่อความปลอดภัยในการใช้และรักษาเครื่องอุปกรณ์หรือสิ่งของต่าง ๆ ที่ใช้ในการบริการรถไฟฟ้า

(๔) วางแผน สำรวจ และออกแบบเกี่ยวกับการสร้างหรือขยายรถไฟฟ้า

(๕) กู้หรือยืมเงินภายในและภายนอกราชอาณาจักร

(๖) ให้กู้หรือให้ยืมเงิน โดยมีหลักประกันด้วยบุคคลหรือทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แก่กิจการของ รฟม.

(๗) ออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุน

(๘) จัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด เพื่อประกอบกิจการขนส่งมวลชน หรือถือหุ้นหรือเข้าเป็นหุ้นส่วนหรือร่วมกิจการกับบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์แก่กิจการของ รฟม.

(๙) ตั้งหรือรับเป็นตัวแทน ตัวแทนค้าต่าง หรือนายหน้าในกิจการตามวัตถุประสงค์ของ รฟม.

(๑๐) ว่าจ้างหรือมอบให้บุคคลใดประกอบกิจการส่วนหนึ่งส่วนใดของ รฟม.

(๑๑) ประสานงานในเรื่องการจัดโครงข่ายเส้นทางรถไฟฟ้ากับหน่วยงานอื่น

(๑๒) กระทำการอื่นบรรดาที่เกี่ยวกับหรือเนื่องในการจัดการให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของ รฟม.


มาตรา ๘

ทุนของ รฟม. ประกอบด้วย

(๑) เงินที่รัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประเดิม

(๒) เงินและทรัพย์สินอื่นที่เกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้ามหานครที่รับโอนจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทยตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

(๓) เงินที่รัฐบาลจ่ายเพิ่มเติมให้เป็นคราว ๆ

(๔) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้

(๕) ดอกผลของเงินและทรัพย์สินตาม (๑) (๒) (๓) และ (๔)


มาตรา ๙

เงินสำรองของ รฟม. ให้ประกอบด้วยเงินสำรองธรรมดา ซึ่งตั้งไว้เผื่อขาด เงินสำรองเพื่อไถ่ถอนหนี้ เงินสำรองเพื่อขยายกิจการ และเงินสำรองอื่น ๆ เพื่อความประสงค์แต่ละอย่างโดยเฉพาะตามแต่คณะกรรมการจะเห็นสมควร

เงินสำรองจะนำออกใช้ได้ก็แต่โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ


มาตรา ๑๐

ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า "คณะกรรมการองค์การรถไฟฟ้ามหานคร" ประกอบด้วยประธานกรรมการ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงคมนาคม ผู้แทนสำนักผังเมือง ผู้แทนกรุงเทพมหานคร ผู้แทนการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และกรรมการอื่นอีกไม่เกินสี่คน และให้ผู้อำนวยการเป็นกรรมการและเลขานุการ


มาตรา ๑๑

ประธานกรรมการ กรรมการ และผู้อำนวยการต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย และมีความรู้และจัดเจนเกี่ยวกับการบริหาร กฎหมาย วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ การผังเมือง เศรษฐศาสตร์ หรือการคลัง


มาตรา ๑๒

ผู้มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ต้องห้ามมิให้เป็นประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง

(๑) มีส่วนได้เสียในสัญญากับ รฟม. หรือในกิจการที่กระทำให้แก่ รฟม. หรือในกิจการที่เป็นการแข่งขันกับกิจการของ รฟม. ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม เว้นแต่จะเป็นเพียงผู้ถือหุ้น หุ้นส่วน กรรมการ หรือเข้าร่วมดำเนินกิจการโดยการมอบหมายของ รฟม. ตามมาตรา ๗ (๘)

(๒) เป็นพนักงาน

(๓) เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย

(๔) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

(๕) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ หรือข้าราชการการเมือง

(๖) เป็นที่ปรึกษาพรรคการเมือง กรรมการพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง


มาตรา ๑๓

ให้ประธานกรรมการและกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี

ในกรณีที่ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระหรือในกรณีที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างเป็นกรรมการเพิ่มขึ้น อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระทีเหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

เมื่อครบกำหนดตามวาระในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งประธานกรรมการหรือกรรมการขึ้นใหม่ ให้ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้น อยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่าประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่

ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้แต่ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน


มาตรา ๑๔

นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๑๓ ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) คณะรัฐมนตรีให้ออกเพราะบกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรงหรือไม่สุจริตต่อหน้าที่

(๔) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(๕) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๑ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๒


มาตรา ๑๕

ประธานกรรมการและกรรมการย่อมได้รับประโยชน์ตอบแทนตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด


มาตรา ๑๖

ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของ รฟม. อำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง

(๑) ออกระเบียบหรือข้อบังคับเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์

(๒) ออกระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยการประชุมและการดำเนินกิจการของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ

(๓) ออกระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยการจัดแบ่งส่วนงานหรือวิธีปฏิบัติงาน

(๔) ออกระเบียบหรือข้อบังคับกำหนดตำแหน่ง อัตราเงินเดือน หรือค่าจ้างหรือเงินอื่น ๆ ของพนักงานหรือลูกจ้าง

(๕) ออกระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การเลื่อนเงินเดือน หรือค่าจ้าง การออกจากตำแหน่ง วินัย การลงโทษ และการร้องทุกข์ของพนักงานและลูกจ้าง

(๖) ออกระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์หรือการสงเคราะห์อื่นเพื่อสวัสดิการของพนักงานและลูกจ้างและครอบครัว โดยได้รับความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

(๗) ออกระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยการจ่ายค่าพาหนะ เบี้ยเลี้ยงเดินทาง ค่าเช่าที่พัก ค่าทำงานล่วงเวลา และการจ่ายเงินอื่น

(๘) ออกระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยเครื่องแบบพนักงานและลูกจ้าง

(๙) ออกระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้และรักษาทรัพย์สินของ รฟม.

(๑๐) ออกระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการจัดเก็บค่าบริการใช้รถไฟฟ้า

ระเบียบหรือข้อบังคับตามวรรคหนึ่ง ถ้ามีข้อความจำกัดอำนาจของผู้อำนวยการในการทำนิติกรรมไว้ประการใด ให้รัฐมนตรีประกาศข้อความเช่นว่านั้นในราชกิจจานุเบกษา


มาตรา ๑๗

เพื่อประโยชน์แก่กิจการของ รฟม. ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดของ รฟม. และกำหนดค่าตอบแทนอนุกรรมการได้


มาตรา ๑๘

ให้คณะกรรมการเป็นผู้แต่งตั้งและกำหนดอัตราเงินเดือนของผู้อำนวยการ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี


มาตรา ๑๙

ผู้อำนวยการต้อง

(๑) มีความรู้ความสามารถในการบริการกิจการของ รฟม.

(๒) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๒ (๑) และ (๖)

(๓) มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ


มาตรา ๒๐

ผู้อำนวยการพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) คณะกรรมการด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีให้ออก เพราะบกพร่องต่อหน้าที่หรือมีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือหย่อนความสามารถ

(๔) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(๕) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๙

มติของคณะกรรมการให้ผู้อำนวยการพ้นจากตำแหน่งตาม (๓) ต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดที่อยู่ในตำแหน่ง แต่ไม่รวมผู้อำนวยการ


มาตรา ๒๑

ผู้อำนวยการมีหน้าที่บริหารกิจการของ รฟม. ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของ รฟม. และตามนโยบาย ระเบียบ หรือข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด และมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างทุกตำแหน่ง

ผู้อำนวยการต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการในการบริหารกิจการของ รฟม.


มาตรา ๒๒

ผู้อำนวยการมีอำนาจ

(๑) บรรจุ แต่งตั้ง เลื่อน ลด ตัดเงินเดือนหรือค่าจ้าง ลงโทษทางวินัยแก่พนักงานและลูกจ้าง ตลอดจนให้พนักงานและลูกจ้างออกจากตำแหน่ง ตามระเบียบหรือข้อบังคับของคณะกรรมการ แต่ถ้าเป็นพนักงานหรือลูกจ้างตั้งแต่ตำแหน่งที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการฝ่ายหรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าขึ้นไป จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อน

(๒) กำหนดเงื่อนไขในการทำงานของพนักงานและลูกจ้าง และออกระเบียบวิธีปฏิบัติงานของ รฟม. โดยไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบหรือข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด


มาตรา ๒๓

ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้อำนวยการเป็นตัวแทนของ รฟม. และเพื่อการนี้ ผู้อำนวยการจะมอบอำนาจให้ตัวแทนหรือบุคคลใดกระทำกิจการเฉพาะอย่างแทนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด

นิติกรรมที่ผู้อำนวยการกระทำโดยฝ่าฝืนระเบียบหรือข้อบังคับตามมาตรา ๑๖ วรรคสอง ย่อมไม่ผูกพัน รฟม. เว้นแต่คณะกรรมการจะให้สัตยาบัน


มาตรา ๒๔

ในกรณีที่ผู้อำนวยการไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือเมื่อตำแหน่งผู้อำนวยการว่างลงและยังมิได้มีการแต่งตั้งผู้อำนวยการ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งพนักงานคนหนึ่งเป็นผู้รักษาการแทนผู้อำนวยการ

ให้ผู้รักษาการแทนผู้อำนวยการมีอำนาจหน้าที่อย่างเดียวกับผู้อำนวยการ เว้นแต่อำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการในฐานะกรรมการ


มาตรา ๒๕

ให้พนักงานและลูกจ้างของ รฟม. มีสิทธิร้องทุกข์เกี่ยวกับการลงโทษได้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด


มาตรา ๒๖

ให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งกิจการของ รฟม. เพื่อการนี้จะสั่งให้ รฟม. ชี้แจงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็น ทำรายงานหรือยับยั้งการกระทำที่ขัดต่อนโยบายของรัฐบาลหรือมติของคณะรัฐมนตรี ตลอดจนมีอำนาจที่จะสั่งให้ปฏิบัติการตามนโยบายของรัฐบาลหรือมติของคณะรัฐมนตรี และสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการดำเนินการได้


มาตรา ๒๗

ในกรณีที่ รฟม. จะต้องเสนอเรื่องใด ๆ ไปยังคณะรัฐมนตรี ให้ รฟม. นำเรื่องเสนอรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรี


มาตรา ๒๘

รฟม. ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนจึงจะดำเนินการดังต่อไปนี้ได้

(๑) กู้ยืมเงินหรือให้กู้ยืมเงินมีจำนวนเกินคราวละหนึ่งร้อยล้านบาท

(๒) ออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุน

(๓) จำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาเกินห้าล้านบาท

(๔) จัดตั้งบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ถือหุ้น หรือเข้าเป็นหุ้นส่วนหรือเข้าร่วมกิจการกับบุคคลอื่น


มาตรา ๒๙

ให้ รฟม. เปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารที่คณะกรรมการกำหนด


มาตรา ๓๐

ให้ รฟม. จัดทำงบประมาณประจำปี โดยแยกเป็นงบลงทุนและงบทำการ สำหรับงบลงทุนนั้นให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและให้ความเห็นชอบ ส่วนงบทำการให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ


มาตรา ๓๑

รายได้ที่ รฟม. ได้รับจากการดำเนินการในปีหนึ่ง ๆ ให้ตกเป็นของ รฟม. สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และเมื่อได้หักรายจ่ายสำหรับการดำเนินงาน ค่าภาระต่าง ๆ ที่เหมาะสม เช่น ค่าบำรุงรักษา ค่าเสื่อมราคา เงินสำรองตามมาตรา ๙ หนี้เงินกู้ที่ถึงกำหนดชำระ และเงินลงทุนตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เหลือเท่าใดให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ

ในกรณีที่รายได้มีไม่เพียงพอสำหรับกรณีตามวรรคหนึ่ง นอกจากเงินสำรองตามมาตรา ๙ และ รฟม. ไม่สามารถหาเงินจากทางอื่นได้ รัฐพึงจ่ายเงินให้แก่ รฟม. เท่าจำนวนที่ขาด หรือเท่าที่จำเป็นต่อการดำเนินงานของ รฟม.


มาตรา ๓๒

ให้ รฟม. ทำรายงานปีละครั้งเสนอรัฐมนตรี รายงานนี้ให้กล่าวถึงผลงานของ รฟม. ในปีที่ล่วงมาแล้ว และคำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายของคณะกรรมการ โครงการและแผนงานที่จะจัดทำให้ภายหน้า


มาตรา ๓๓

ให้ รฟม. วางและรักษาไว้ซึ่งระบบการบัญชีที่เหมาะสมแก่กิจการสาธารณูปโภคแยกตามประเภทงานส่วนที่สำคัญ มีการลงรายการรับและจ่ายเงินสินทรัพย์และหนี้สินที่แสดงกิจการที่เป็นอยู่ตามจริงและตามที่ควร ตามประเภทงานพร้อมด้วยข้อความอันเป็นที่มาของรายการดังกล่าวและให้มีการสอบบัญชีภายในเป็นประจำ


มาตรา ๓๔

ให้ รฟม. จัดทำงบดุล บัญชีทำการและบัญชีกำไรขาดทุนภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี


มาตรา ๓๕

ทุกปีให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชี ทำการตรวจสอบรับรองบัญชีรวมทั้งการเงินทุกประเภทของ รฟม.


มาตรา ๓๖

ผู้สอบบัญชีมีอำนาจตรวจสอบสรรพสมุดบัญชีและเอกสารหลักฐานของ รฟม. เพื่อการนี้ให้มีอำนาจสอบถามประธานกรรมการ กรรมการ พนักงาน ลูกจ้าง และผู้อื่นซึ่งเป็นผู้แทนของ รฟม.


มาตรา ๓๗

ให้ผู้สอบบัญชีทำรายงานผลการสอบบัญชีเสนอต่อคณะกรรมการ เพื่อเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรี และให้ รฟม. โฆษณารายงานประจำปีของปีที่ล่วงแล้ว แสดงงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน ที่ผู้สอบบัญชีรับรองว่าถูกต้องแล้วภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ผู้สอบบัญชีรับรองว่าถูกต้อง


มาตรา ๓๘

ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้



ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
อานันท์ ปันยารชุน
นายกรัฐมนตรี



หมายเหตุ

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีประชาชนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องจัดระบบการขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรคับคั่งและเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกยิ่งขึ้นในการใช้บริการของระบบการขนส่งดังกล่าว สมควรจัดตั้งองค์การรถไฟฟ้ามหานครขึ้นเพื่อให้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำระบบขนส่งด้วยรถไฟฟ้า จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้



เชิงอรรถ แก้ไข

  1. ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๙๐/หน้า ๑/๒๐ สิงหาคม ๒๕๓๕




ขึ้น

 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"