พระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอสิรินธร พ.ศ. ๒๕๓๔
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรตั้งอำเภอสิรินธรขึ้นในท้องที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อประโยชน์แก่การปกครองและความสะดวกของประชาชน
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๕ ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๓๔ และมาตรา ๖๑ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
พระราชกฤษฎีกานี้ เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอสิรินธร พ.ศ. ๒๕๓๔”
พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป[1]
ให้แยกตำบลคำเขื่อนแก้ว ของอำเภอโขงเจียม และตำบลคันไร่ ตำบลช่องเม็ก ตำบลนิคมสร้างตนเองลำโดมน้อย ตำบลโนนก่อ ตำบลฝางคำ ของอำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี จัดตั้งขึ้นเป็นอำเภอมีชื่อว่า “อำเภอสิรินธร” โดยให้ตั้งที่ว่าการอำเภอที่ตำบลนิคมสร้างตนเองลำโดมน้อย
ให้อำเภอสิรินธรมีเขตการปกครองตามเขตตำบลเดิมแยกออกจากเขตอำเภอที่ตำบลนั้นเคยอยู่ในเขตปกครอง และให้อำเภอสิรินธรขึ้นอยู่ในความปกครองของจังหวัดอุบลราชธานี
ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
- ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
- อานันท์ ปันยารชุน
- นายกรัฐมนตรี
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่ตำบลคำเขื่อนแก้ว ของอำเภอโขงเจียม และตำบลคันไร่ ตำบลช่องเม็ก ตำบลนิคมสร้างตนเองลำโดมน้อย ตำบลโนนก่อ ตำบลฝางคำ ของอำเภอพิบูลมังสาหาร มีท้องที่กว้างขวาง มีชุมชนและชุมชนการค้าหนาแน่น มีสภาพเจริญขึ้นกว่าเดิมมาก สมควรแยกตำบลดังกล่าวออกจากอำเภอโขงเจียมและอำเภอพิบูลมังสาหาร จัดตั้งขึ้นเป็นอำเภอมีชื่อว่า “อำเภอสิรินธร” เพื่อประโยชน์แก่การปกครอง การให้บริการของรัฐ ความสะดวกของประชาชน และส่งเสริมให้ท้องที่มีความเจริญยิ่งขึ้นตลอดจนเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสที่ทรงมีพระชันษาครบ ๓ รอบ ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๔ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
เชิงอรรถ
แก้ไข- ↑ ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๘/ตอนที่ ๒๑๑/ฉบับพิเศษ/หน้า ๒๙/๔ ธันวาคม ๒๕๓๔
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"