พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2539
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่นายกรัฐมนตรีได้กราบบังคมทูลฯ ว่า สภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันประกอบด้วยพรรคการเมืองต่าง ๆ หลายพรรค แต่ไม่มีพรรคการเมืองใดที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลเพียงลำพังได้ จำเป็นต้องอาศัยพรรคการเมืองอีกหลายพรรคเข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาล และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้เกิดปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยกในระหว่างพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลหลายครั้ง ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ส่งผลกระทบต่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้จะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรีประการใด เพื่อให้มีการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่และจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ แต่ก็ไม่สามารถทำได้โดยง่าย ทั้งเป็นที่เชื่อว่า ปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยกที่เคยปรากฏอยู่แต่เดิมจะปรากฏต่อไปและอาจทวีความรุนแรงจนเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดินยิ่งขึ้น หากปล่อยให้สภาวการณ์เป็นอยู่เช่นนี้ ย่อมจะเกิดความระส่ำระสายในทางเศรษฐกิจและการเมือง อันจะนำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธาต่อระบบรัฐสภาและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สมควรคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองของรัฐสภากลับไปให้ประชาชน ด้วยการยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปขึ้นใหม่
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑๘ และมาตรา ๑๗๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๕) พุทธศักราช ๒๕๓๘ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา๑พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๙"
มาตรา๒พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา๓ให้ยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่
มาตรา๔ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๙
มาตรา๕ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
- ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
- บรรหาร ศิลปอาชา
- นายกรัฐมนตรี
บรรณานุกรม
แก้ไข- "พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2539". (2539, 28 กันยายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 113, ตอน 43 ก. หน้า 1–2.
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"