แถลงการณ์สำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การยุบสภาผู้แทนราษฎรฯ ลงวันที่ 27 กันยายน 2539

แถลงการณ์สำนักนายกรัฐมนตรี
เรื่อง การยุบสภาผู้แทนราษฎร การกำหนดวันเลือกตั้ง
และการดำเนินการเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม

เนื่องจาก บัดนี้ ได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๙ แล้ว ซึ่งมีผลให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง รัฐบาลจึงขอชี้แจงเหตุผลและแนวทางที่จะดำเนินการต่อไปให้ประชาชนทราบ ดังนี้

๑. การยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นกระบวนการปกติของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาดังที่ปฏิบัติอยู่ในหลายประเทศ เมื่อใดที่มีความขัดแย้งหรือเกิดปัญหาทางการเมืองขึ้นอันอาจนำมาซึ่งวิกฤตการณ์ต่าง ๆ จนฝ่ายบริหารไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดิน หรือฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปให้เป็นปกติได้ และกระแสความต้องการหรือมติมหาชนปรากฏเป็นประเด็นสำคัญในขณะนั้น ๆ วิธีการสุดท้ายที่มักนำมาใช้อยู่เสมอ คือ การยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่ ดังที่เรียกว่า เป็นการคืนอำนาจอธิปไตยกลับไปให้ประชาชน ซึ่งระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็ยอมรับวิธีการดังกล่าว ดังที่ได้เคยดำเนินการเช่นนี้มาแล้วหลายครั้ง เช่น เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ พ.ศ. ๒๕๒๖ พ.ศ. ๒๕๒๙ พ.ศ. ๒๕๓๑ พ.ศ. ๒๕๓๕ และ พ.ศ. ๒๕๓๘

๒. การยุบสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้เกิดจากการที่นายกรัฐมนตรีประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งเพื่อเปิดทางให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งในการนี้ จำเป็นต้องเริ่มจากการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรนำความกราบบังคมทูล ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรีคนใหม่ก็จะดำเนินการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีอีกไม่เกิน ๔๘ คน เพื่อนำความกราบบังคมทูลเป็นลำดับไป แต่การดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวไม่อาจเป็นไปโดยเรียบร้อย ทั้งเป็นที่เชื่อว่า การบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาลผสมหลายพรรคจะนำไปสู่ความขัดแย้งและเกิดปัญหาทางการเมืองได้ดังที่ประสบมาแล้ว แม้จะไม่มีความรุนแรงมากนัก เพราะต่างตะหนักในปัญหาและพยายามประคับประคองสถานการณ์มาเป็นลำดับ แต่มีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นได้ เมื่อพิจารณาประกอบกับกระแสเรียกร้องของประชาชนแล้ว เห็นว่า หากปล่อยทิ้งไว้ จะเป็นชนวนให้เกิดปัญหาความไม่เชื่อมั่นในระบบและกลไกต่าง ๆ ของรัฐ อันจะเป็นอันตรายต่อการปกครองแบบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาได้ในที่สุด จึงสมควรตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองในยามหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้กลับไปให้ประชาชนพิจารณาโดยการเลือกตั้งใหม่ในวันอาทิตย์ที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๙

๓. โดยที่ขณะนี้ มีจำนวนรัฐมนตรีว่างอยู่ ๗ คน นายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อจะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ก็สมควรแสวงหาและดำเนินการแต่งตั้งบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถและเป็นที่เชื่อถือแก่ประชาชนทั่วไป อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง มาเข้าร่วมรัฐบาล โดยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีที่ว่างอยู่ดังกล่าว เพื่อช่วยปฏิบัติภารกิจบริหารราชแผ่นดินที่ยังจำเป็นต้องดำเนินการต่อไปให้ลุล่วง โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ มิให้ขาดตกบกพร่องโดยเหตุที่มีการยุบสภาผู้แทนราษร หรือโดยเหตุว่ารัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องไปเตรียมการเลือกตั้งในส่วนของตนหรือพรรคการเมืองของตน

๔. สำหรับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา ๒๑๑ เพื่อเปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยอ้อมนั้น รัฐบาลได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ แล้ว ขณะนี้ อยู่ระหว่างทางพิจารณาตามขั้นตอนในรัฐธรรมนูญ การยุบสภาครั้งนี้ไม่มีผลกระทบต่อร่างรัฐธรรมนูญตลอดจนร่างพระราชบัญญัติอื่น ๆ ที่อยู่ระหว่างทรงพิจารณาแต่ประการใด เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ลงมาแล้ว ก็จะได้ประกาศใช้และดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายเหล่านั้นต่อไป

รัฐบาล ซึ่งประกอบด้วยพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลทั้ง ๖ พรรค และรัฐมนตรีซึ่งมิได้มาจากพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองฝ่ายใด ขอให้คำมั่นสัญญาแก่พี่น้องประชาชนทั้งหลายว่า จะปฏิบัติภารกิจในช่วงเวลาต่อไปนี้ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อให้บังเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง แก่ประเทศชาติและประชาชน ทั้งจะกำกับดูแลการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ นี้ให้เป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม

  • สำนักนายกรัฐมนตรี
  • วันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๙

บรรณานุกรม แก้ไข

 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (3) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"