พระราชดำรัสทรงตั้งอภิรัฐมนตรีสภา

พระราชดำรัสทรงตั้งอภิรัฐมนตรีสภา.

ณวันเสาร์ที่ ๒๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๖๘ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จออกณพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงตั้งองคมนตรีแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งอภิรัฐมนตรีสภาขึ้นโดยกระแสพระราชดำรัส ดังนี้

พระราชดำรัส

ขอขอบพระทัยและขอบใจท่านทั้งหลายผู้เปนองคมนตรีที่ได้กระทำสัตยสัญญารับจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อตรงจงรักภักดีต่อตัวเรา.

ตั้งแต่เราได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์แห่งสมเด็จพระบุรพมหาราชเจ้าซึ่งได้ทรงปกครองป้องกันและทำนุบำรุงสยามประเทศอันเปนที่รักของเราทั้งหลายให้มีความเจริญรุ่งเรืองสืบมาช้านาน. เราก็รู้สึกความรับผิดชอบในส่วนเรา ซึ่งจะต้องพยายามปกครองสยามประเทศกับทั้งประชาชนทั้งหลายให้ร่มเย็นเปนสันติสุข และให้บ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรือง โดยเต็มความสามารถของเราที่จะพึงกระทำได้ทุกอย่างทุกประการต่อไปจนสุดกำลัง. อาศัยความปรารภที่กล่าวมา. เราคิดเห็นว่า ตามราชประเพณีซึ่งมีอยู่ในบัดนี้ พระเจ้าแผ่นดินมีมนตรีสำหรับเปนที่ทรงปรึกษาหารือสองคณะด้วยกัน. คือ องคมนตรีซึ่งทรงตั้งไว้เปนจำนวนมากสำหรับทรงปรึกษากิจการพิเศษอันเกิดขึ้นฉะเพาะสิ่งฉะเพาะอย่างคณะ ๑, กับเสนาบดีสภาผู้บังคับบัญชาราชการกระทรวงต่าง ๆ มีจำนวนหย่อนญี่สิบ สำหรับทรงปรึกษาหารือราชการอันกำหนดไว้เปนหน้าที่ในกระทรวงนั้น ๆ คณะ ๑, แต่ยังมีราชการอีกอย่างหนึ่งซึ่งเปนการสำคัญอย่างยิ่ง กล่าวคือ ที่จะคิดให้กิจการตลอดรัฏฐาภิปาลโนบายของรัฐบาลเปนอุปการอันหนึ่งอันเดียวกันทุกกระทรวงทบวงการแต่ก่อนมาตกอยู่แต่ตามพระบรมราชวินิจฉัย, แม้มีพระราชประสงค์จะทรงปรึกษาหารือผู้อื่นก็ได้อาศัยแต่เสนาบดีสภา. เราเห็นว่า ยังไม่เหมาะ เพราะเหตุที่เสนาบดีสภาสมาชิกตั้งตามตำแหน่งกระทรวงมีจำนวนมากนั้นอย่าง ๑, และล้วนเปนเจ้าหน้าที่ฉะเพาะกิจการกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งนั้นอีกอย่าง ๑, เราจึงคิดจะตั้งมนตรีขึ้นใหม่อีกคณะหนึ่ง เรียกว่า "อภิรัฐมนตรีสภา" ให้มีจำนวนสมาชิกแต่น้อย สำหรับพระเจ้าแผ่นดินทรงปรึกษาราชการทั้งปวงเปนนิจ เพื่อจะได้เปนกำลังแก่การที่ทรงพระราชวินิจฉัยราชการทั้งปวง. ในการตั้งสภาอภิรัฐมนตรีนี้ ผู้ซึ่งสมควรจะเปนสมาชิกจำต้องเปนผู้ซึ่งมีความคุ้นเคยและชำนิชำนาญราชการมากมาแต่ก่อน และประกอบด้วยเกียรติคุณทั้งความปรีชาสามารถ สมควรเปนที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยของพระเจ้าแผ่นดินตลอดจนมหาชนทั้งหลาย, เราจึงได้เลือกสรร—

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระองค์ ๑

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต พระองค์ ๑

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ พระองค์ ๑

กรมพระดำรงราชานุภาพ พระองค์ ๑

กรมพระจันทบุรีนฤนาถ พระองค์ ๑

ด้วยทั้ง ๕ พระองค์นี้ได้ทรงรับราชการในตำแหน่งสำคัญมาแต่รัชกาลที่ ๕ เคยเปนที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย ทั้งได้คุ้นเคยทราบกระแสพระราชดำริห์และพระบรมราโชบายของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมาแต่ก่อน ล้วนทรงปรีชาสามารถและมีเกียรติคุณจะหาผู้อื่นเสมอเหมือนได้ยาก. เราตั้งให้เจ้านายผู้ใหญ่ทั้ง ๕ พระองค์เปนอภิรัฐมนตรีแต่นี้ไป ด้วยไว้วางใจในความซื่อตรงจงรักภักดีซึ่งทรงมีต่อบ้านเมืองและตัวเราด้วยกันทุกพระองค์. การที่เราคิดจัดดังกล่าวมานี้ หวังว่า จะเปนคุณเปนประโยชน์สืบต่อไป.

ในที่สุด เราขออำนวยพรแก่บรรดาองคมนตรี. ขอให้คุณพระศรีรัตนตรัยบันดาลให้ท่านทั้งหลายเจริญสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลชนมสุขสถาพรทุกประการเทอญ ๚

บรรณานุกรม

แก้ไข
 

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก