พระราชดำรัสฯ แก้ไขการปกครองแผ่นดิน (2470)/คำนำ

คำนำ

เมื่อข้าพเจ้ากลับมาจากทวีปยุโรปเมื่อครั้งหลังนี้ ใน พ.ศ. ๒๔๖๗ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงพระราชดำริห์ว่า ข้าพเจ้ามีอายุมากสมควรจะเล่าเรียนประเพณีการปกครองบ้านเมืองและราชการแผ่นดินเพื่อจะได้สามารถฉลองพระเดชพระคุณได้ตามโอกาศ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยามหิธรนำหนังสือราชการแผ่นดินเรื่องสำคัญ ๆ อันเปนหลักราชการมาให้ข้าพเจ้าอ่านและศึกษา ทั้งนี้ เปนพระราชประเพณีมาแต่เดิม.

ในบรรดาหนังสือที่พระเจ้ามหิธรได้นำมาให้ข้าพเจ้าอ่านนั้น มีพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในเรื่องการเปลี่ยนแปลงแก้ไขการปกครองแผ่นดินซึ่งข้าพเจ้าให้พิมพ์ขึ้นนี้.

เมื่อข้าพเจ้าได้อ่านพระราชดำรัสนี้แล้ว รู้สึกว่า เปนหนังสือสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกเพิ่มพูนความเลื่อมใสในพระปรีชาสามารถและพระบารมีของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงยิ่งขึ้นอีก ทั้งทำให้ความรักและความนับถือในพระองค์ซึ่งข้าพเจ้ามีอยู่แล้วเต็มหัวใจให้หนักแน่นเต็มตื้นมากขึ้นอีกด้วย.

พระราชดำรัสนี้ได้ทรงเรียบเรียงอย่างรอบคอบที่สุด แสดงให้เห็นชัดว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงมีพระปรีชารอบรู้ไนทางรัฐประศาสนประเพณีการปกครองของไทยอย่างเก่าเปนอย่างดี และส่วนการประเพณีการปกครองอย่างที่นิยมกันในทวีปยุโรป ก็ได้ทรงศึกษาทรงทราบหลักการโดยตลอด. พระราชดำรัสนี้จึงเปนหนังสือที่ให้ความรู้ในทางการปกครองของประเทศสยามเปนอย่างดียิ่ง.

พระราชดำรัสนี้ นอกจากที่จะให้ความรู้อันดียิ่งดังว่ามาแล้ว ยังทำให้เห็นพระราชหฤทัยของสมเด็จพระพุทะเจ้าหลวงเปนอย่างดีว่า พระองค์มิได้นึกถึงสิ่งอื่นเลยนอกจากความสุขของประชาชนและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศเปนที่ตั้งเปนหลักสำคัญในการที่จะทรงพระราชดำริห์กิจการใด ๆ ทั้งปวง.

การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากแบบเดิมเปนตั้งกระทรวง ๑๒ กระทรวงนี้ ต้องนับว่า เปนการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงซึ่งเรียกได้อย่างพูดกันตามธรรมดาว่า "พลิกแผ่นดิน" ถ้าจะใช้คำอังกฤษก็ต้องเรียกว่า "Revolution" ไม่ใช่ "Evolution".

การเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงดังนี้ มีน้อยประเทศนักที่จะสำเร็จไปได้โดยราบคาบปราศจากการจลาจล หรือจะว่าไม่มีเลยก็เกือบว่าได้. ประเทศญี่ปุ่นได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่าง "พลิกแผ่นดิน" เหมือนประเทศสยาม แต่หาได้ดำเนินกิจการไปโดยสงบราบคาบเหมือนอย่างประเทศสยามไม่ ยังต้องมีการจลาจลในบ้านเมือง เช่น มีขบถสัตสุมา ("Satsuma Rebellion") เปนต้น.

การที่ประเทศสยามได้เปลี่ยนแปลงวิธีปกครองอย่าง "Revolution" ได้โดยไม่ต้องมีใครต้องเสียเลือดเสียเนื้อแม้แต่หยดเดียวดังนี้ ต้องนับว่า เปนมหัศจรรย์ เปนโชคดีของประเทศสยามเป็นอย่างยิ่ง การเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ย่อมขัดกับประโยชน์ของคนบางจำพวก จึงยากนักที่จะสำเร็จไปได้โดยสงบราบคาบ.

การที่เปลี่ยนแปลงอย่างนี้สำเร็จไปได้ในประเทศสยามโดยราบคาบ เพราะ "Revolution" ของเรานั้น สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเปนผู้ทรงริเริ่ม. ประกอบทั้งสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นทรงพระปรีชาสามารถยิ่งกว่าผู้ใดหมดในเวลานั้น ทั้งทรงมีพระราชอัธยาศัยละมุนละม่อม ทรงสามารถปลุกความจงรักภักดีในชนทุกชั้นที่ได้เข้าเฝ้าใกล้ชิดพระองค์แม้แต่ครั้งเดียว.

พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงเล็งเห็นการภายหน้าอย่างชัดเจน และทรงทราบการที่ล่วงไปแล้วเป็นอย่างดี. ได้ทรงพระราชดำริห์ตริตรองโดยรอบคอบ ได้ทรงเลือกประเพณีการปกครองทั้งของไทยเราและของต่างประเทศประกอบกันด้วยพระปรีชาญาณอันยวดยิ่ง ได้ทรงจัดการเปลี่ยนแปลงวิธีปกครองเปนลำดับมาล้วนเหมาะกับเหตุการณ์และเหมาะกับเวลา ไม่ช้าเกินไป ไม่เร็วเกินไป.

พวกเรา ผู้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้มีความจงรักภักดีและรู้สึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงอยู่ทุกขณะจิตติ์ ควรตั้งใจดำเนินตามรอยพระยุคลบาทตามแต่จะทำได้ ควรพยายามแลดูการล่วงหน้า แต่ก็ควรเหลียวหลังดูประเพณีและหลักการที่ล่วงไปแล้วด้วยเหมือนกัน ใน ๒ อย่างนี้ก็พอจะทำได้ มียากอยู่เพียงจะเลือกเวลาให้เหมาะ อย่าให้ช้าเกินไป อย่าให้เร็วเกินไป ข้อนี้แหละยากยิ่งนัก นอกจากมีสติปัญญาแล้ว ยังต้องมีโชคดีประกอบด้วย แต่ถ้าเราทำการใด ๆ ไปโดยมีความสุจริตในใจและโดยเต็มความสามารถแล้ว ก็ต้องนับว่า ได้พยายามทำการงานตามหน้าที่จนสุดกำลังแล้ว.

ข้าพเจ้าหวังว่า หนังสือนี้คงจะเปนประโยชน์ ให้ความรู้แก่ท่านผู้ที่ได้รับแจก และคงจะเปนที่พอใจทั่วกัน.

  • พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต.
  • วันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๐.