พระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. ๒๕๕๕

แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

Seal of the Royal Command of Thailand
Seal of the Royal Command of Thailand


พระราชบัญญัติ


ควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา


พ.ศ. ๒๕๕๕




ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.


ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕


เป็นปีที่ ๖๗ ในรัชกาลปัจจุบัน



โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในทางแพ่งเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิควบคุมดูแลเด็ก

พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๕ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้



มาตรา ๑

พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. ๒๕๕๕"


มาตรา ๒

พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป[1]


มาตรา ๓

ในพระราชบัญญัตินี้

"สารต้องห้าม" หมายความว่า สารที่นำเข้าสู่ร่างกายแล้วทำให้ได้เปรียบทางการกีฬา ทั้งนี้ ตามรายชื่อที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา

"สมาคมกีฬา" หมายความว่า สมาคมที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการกีฬาแห่งประเทศไทย

"การกีฬาแห่งประเทศไทย" หมายความว่า การกีฬาแห่งประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยการกีฬาแห่งประเทศไทย

"การแข่งขันกีฬา" หมายความว่า การเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาในรายการใดรายการหนึ่งตามระดับ ประเภท หรือชนิดที่คณะกรรมการควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาประกาศกำหนด

"นักกีฬา" หมายความว่า ผู้ซึ่งเป็นสมาชิกหรือขึ้นทะเบียนไว้กับสมาคมกีฬา และหมายความรวมถึง ผู้ซึ่งเข้าแข่งขันกีฬาในนามของสมาคมกีฬาหรือเข้าแข่งขันกีฬาในรายการแข่งขันที่สมาคมกีฬาให้การรับรอง

"บุคคลซึ่งสนับสนุนการกีฬา" หมายความว่า คณะกรรมการบริหารสมาคมกีฬา ผู้ฝึกสอน ผู้ฝึกซ้อม ผู้จัดการ ตัวแทน เจ้าหน้าที่ร่วมทีม เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งทำงานให้แก่นักกีฬาหรือทำการรักษานักกีฬา

"สำนักงาน" หมายความว่า สำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา

"คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา

"ผู้อำนวยการ" หมายความว่า ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา

"พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

"รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้


มาตรา ๔

ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ กับออกกฎกระทรวงและประกาศ เพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงและประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้



หมวด ๑


คณะกรรมการ





มาตรา ๕

ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า "คณะกรรมการควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา" ประกอบด้วย

(๑) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานกรรมการ

(๒) ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง

(๓) ประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นรองประธานกรรมการคนที่สอง

(๔) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อัยการสูงสุด อธิบดีกรมพลศึกษา อธิการบดีสถาบันการพลศึกษา และประธานฝ่ายแพทย์ของคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

(๕) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา จำนวนไม่เกินสามคน

ให้ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทยเป็นกรรมการและเลขานุการ และผู้อำนวยการเป็นผู้ช่วยเลขานุการ


มาตรา ๖

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

ก. คุณสมบัติ

ก. (๑) มีสัญชาติไทย

ก. (๒) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี

ข. ลักษณะต้องห้าม

ข. (๑) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต

ข. (๒) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

ข. (๓) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

ข. (๔) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ องค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือถูกเลิกจ้างจากหน่วยงานของเอกชน ด้วยเหตุทุจริตต่อหน้าที่


มาตรา ๗

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี

ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทนตำแหน่งที่ว่างลง เว้นแต่วาระของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะเหลือไม่ถึงเก้าสิบวัน จะไม่แต่งตั้งแทนก็ได้ หรือในกรณีที่รัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างหรือได้รับแต่งตั้งเพิ่มขึ้นนั้น อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

เมื่อครบกำหนดตามวาระในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่


มาตรา ๘

นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) รัฐมนตรีให้ออกเพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือหย่อนความสามารถ

(๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา ๖


มาตรา ๙

คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) กำหนดนโยบายและควบคุมดูแลโดยทั่วไปในการดำเนินการของสำนักงาน

(๒) เสนอแนะรัฐมนตรีในการกำหนดรายชื่อของสารต้องห้าม

(๓) ออกระเบียบหรือประกาศเกี่ยวกับการพิจารณาโทษ มาตรฐาน และมาตรการการลงโทษ

(๔) ส่งเสริมการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับสารต้องห้ามแก่นักกีฬา บุคคลซึ่งสนับสนุนการกีฬา และบุคคลอื่นซึ่งเกี่ยวข้องกับการกีฬา

(๕) ออกข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศเพื่อปฏิบัติการอื่นใดให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ คณะกรรมการเฉพาะเรื่อง หรือคณะอนุกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้

(๖) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ หรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย


มาตรา ๑๐

การประชุมคณะกรรมการ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม

ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการคนที่หนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม ถ้ารองประธานกรรมการคนที่หนึ่งไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการคนที่สองเป็นประธานในที่ประชุม ถ้ารองประธานกรรมการคนที่สองไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีหนึ่งเสียงในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด


มาตรา ๑๑

ให้มีคณะกรรมการเฉพาะเรื่องดังต่อไปนี้

(๑) คณะกรรมการการแพทย์

(๒) คณะกรรมการพิจารณาโทษ

(๓) คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์

กรรมการเฉพาะเรื่องอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี และให้นำมาตรา ๖ มาตรา ๗ มาตรา ๘ และมาตรา ๑๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

คณะกรรมการเฉพาะเรื่องมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ และตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

กรรมการเฉพาะเรื่องตาม (๒) และ (๓) จะเป็นกรรมการในคราวเดียวกันไม่ได้


มาตรา ๑๒

คณะกรรมการหรือคณะกรรมการเฉพาะเรื่องจะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการหรือคณะกรรมการเฉพาะเรื่องมอบหมายก็ได้


มาตรา ๑๓

คณะกรรมการเฉพาะเรื่องมีอำนาจสั่งให้นักกีฬา บุคคลซึ่งสนับสนุนการกีฬา หรือบุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง ส่งสารต้องห้าม วัตถุ เอกสาร หลักฐาน หรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการตรวจหาสารต้องห้ามได้ ในการนี้ จะเรียกนักกีฬา บุคคลซึ่งสนับสนุนการกีฬา หรือบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องมาชี้แจงด้วยวาจาก็ได้


มาตรา ๑๔

คณะกรรมการการแพทย์ประกอบด้วยประธานกรรมการและกรรมการอื่นมีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่าห้าคนแต่ไม่เกินเจ็ดคน ซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในวิชาชีพเวชกรรม และผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในวิชาชีพเภสัชกรรม

ให้คณะกรรมการการแพทย์แต่งตั้งพนักงานคนหนึ่งของสำนักงานเป็นเลขานุการ


มาตรา ๑๕

คณะกรรมการพิจารณาโทษประกอบด้วยประธานกรรมการและกรรมการอื่นมีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่าห้าคนแต่ไม่เกินเจ็ดคน ซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ในด้านการแพทย์ ด้านกฎหมาย และด้านกีฬา อย่างน้อยด้านละหนึ่งคน

ให้คณะกรรมการพิจารณาโทษแต่งตั้งพนักงานคนหนึ่งของสำนักงานเป็นเลขานุการ


มาตรา ๑๖

คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ประกอบด้วยประธานกรรมการและกรรมการอื่นมีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่าห้าคนแต่ไม่เกินเจ็ดคน ซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ในด้านการแพทย์ ด้านกฎหมาย และด้านกีฬา อย่างน้อยด้านละหนึ่งคน

ให้คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์แต่งตั้งพนักงานคนหนึ่งของสำนักงานเป็นเลขานุการ


มาตรา ๑๗

ให้คณะกรรมการและคณะกรรมการเฉพาะเรื่องได้รับเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด


มาตรา ๑๘

ให้จัดตั้งสำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาเป็นหน่วยงานในการกีฬาแห่งประเทศไทย และให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการและคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง

(๒) ดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการควบคุมตรวจสอบการใช้สารต้องห้ามตามข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศที่คณะกรรมการกำหนด

(๓) ให้บริการทางวิชาการ ส่งเสริม สนับสนุนด้านวิชาการ การประกันคุณภาพของกระบวนการควบคุมการใช้สารต้องห้าม การวิจัยและพัฒนา เพื่อพัฒนาและป้องกันการควบคุมการใช้สารต้องห้าม

(๔) ส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือในการป้องกันการใช้สารต้องห้ามทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ

(๕) จัดทำฐานข้อมูลสำหรับเจ้าหน้าที่ควบคุมการใช้สารต้องห้าม ตลอดจนรวบรวมและปรับปรุงข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สารต้องห้ามให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

(๖) จัดให้มีการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ข่าวสารเกี่ยวกับสารต้องห้ามในการสร้างความรู้ความเข้าใจต่อนักกีฬาและประชาชน

(๗) ประสานงานกับนักกีฬา สมาคมกีฬา และองค์กรที่เกี่ยวข้องในการตรวจหาสารต้องห้ามทั้งในประเทศและต่างประเทศ

(๘) ประสานงานกับองค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาระดับสากล

(๙) จัดทำรายงานผลการดำเนินงานประจำปีเสนอต่อรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

(๑๐) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่รัฐมนตรี คณะกรรมการ และคณะกรรมการเฉพาะเรื่องมอบหมาย


มาตรา ๑๙

ให้สำนักงานมีผู้อำนวยการคนหนึ่งซึ่งผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทยแต่งตั้งจากพนักงานของการกีฬาแห่งประเทศไทย โดยมีอำนาจหน้าที่บริหารกิจการของสำนักงานให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน และตามระเบียบ ข้อบังคับ และนโยบายที่คณะกรรมการกำหนด



หมวด ๒


การควบคุมการใช้สารต้องห้าม





มาตรา ๒๐

ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดรายชื่อสารต้องห้ามโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ


มาตรา ๒๑

เมื่อรัฐมนตรีประกาศกำหนดให้สารใดเป็นสารต้องห้ามตามมาตรา ๒๐ แล้ว ให้คณะกรรมการประกาศกำหนดระดับ ประเภท ชนิดกีฬา และการแข่งขันกีฬาที่ควบคุมการใช้สารต้องห้าม

ประกาศตามวรรคหนึ่งจะกำหนดการควบคุมการใช้สารต้องห้ามในการแข่งขันกีฬาและนอกการแข่งขันกีฬาด้วยก็ได้


มาตรา ๒๒

เมื่อมีประกาศคณะกรรมการตามมาตรา ๒๑ แล้ว ห้ามนักกีฬากระทำการดังต่อไปนี้

(๑) ใช้สารต้องห้าม

(๒) ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน ให้ ขนส่ง หรือครอบครองสารต้องห้าม ไม่ว่าเพื่อตนเองหรือนักกีฬาอื่น

(๓) จูงใจ ชักนำ ยุยง แนะนำ ส่งเสริม สนับสนุน ใช้อุบายหลอกลวง หรือขู่เข็ญให้นักกีฬาอื่นใช้สารต้องห้าม

(๔) ยักย้าย ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย ทำให้สูญหาย หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งสารต้องห้าม เอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจหาสารต้องห้าม หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบการใช้สารต้องห้ามของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๒๙

(๕) กระทำการอื่นใดที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบหรือประกาศที่คณะกรรมการกำหนด


มาตรา ๒๓

เมื่อมีประกาศคณะกรรมการตามมาตรา ๒๑ แล้ว ห้ามบุคคลซึ่งสนับสนุนการกีฬากระทำการดังต่อไปนี้

(๑) ใช้สารต้องห้ามกับนักกีฬา

(๒) ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน ให้ ขนส่ง หรือครอบครองสารต้องห้ามสำหรับนักกีฬา

(๓) จูงใจ ชักนำ ยุยง แนะนำ ส่งเสริม สนับสนุน ใช้อุบายหลอกลวง หรือขู่เข็ญให้นักกีฬาใช้สารต้องห้าม

(๔) ยักย้าย ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย ทำให้สูญหาย หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งสารต้องห้าม เอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจหาสารต้องห้าม หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อมิให้มีการตรวจสอบการใช้สารต้องห้ามของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๒๙

(๕) กระทำการอื่นใดที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบหรือประกาศที่คณะกรรมการกำหนด


มาตรา ๒๔

การเก็บตัวอย่าง การเคลื่อนย้ายตัวอย่าง และการขนส่ง การตรวจทางห้องปฏิบัติการ มาตรฐานการตรวจสอบ และค่าบริการในการตรวจสารต้องห้าม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดในระเบียบ


มาตรา ๒๕

เมื่อมีประกาศคณะกรรมการตามมาตรา ๒๑ แล้ว นักกีฬาผู้ใดประสงค์จะใช้สารต้องห้ามเพื่อการรักษา ให้ยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงาน และให้สำนักงานส่งคำขอดังกล่าวให้คณะกรรมการการแพทย์พิจารณา

การยื่นคำขอ การพิจารณา และการแจ้งผลการพิจารณาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการแพทย์ให้เป็นที่สุด


มาตรา ๒๖

เมื่อคณะกรรมการพิจารณาโทษได้รับรายงานจากสำนักงานว่า นักกีฬาหรือบุคคลซึ่งสนับสนุนการกีฬาฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๒ หรือมาตรา ๒๓ แล้วแต่กรณี ให้คณะกรรมการพิจารณาโทษดำเนินการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด และแจ้งผลการกำหนดโทษต่อการกีฬาแห่งประเทศไทยเพื่อมีคำสั่งลงโทษตามที่คณะกรรมการพิจารณาโทษกำหนดต่อไป


มาตรา ๒๗

ในกรณีที่นักกีฬาหรือบุคคลซึ่งสนับสนุนการกีฬาได้รับคำสั่งลงโทษของการกีฬาแห่งประเทศไทยตามมาตรา ๒๖ แล้วไม่พอใจคำสั่งลงโทษนั้น ให้ผู้นั้นมีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง


มาตรา ๒๘

เมื่อได้รับหนังสืออุทธรณ์การพิจารณาโทษตามมาตรา ๒๗ แล้ว ให้คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์มีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยคำสั่งลงโทษของการกีฬาแห่งประเทศไทยตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสืออุทธรณ์ และให้แจ้งคำวินิจฉัยเป็นหนังสือลงทะเบียนตอบรับให้ผู้อุทธรณ์ทราบ

คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด



หมวด ๓


พนักงานเจ้าหน้าที่





มาตรา ๒๙

ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการดำเนินการตรวจสอบการใช้สารต้องห้าม เก็บตัวอย่างส่งตรวจ รายงานผลการตรวจหาสารต้องห้าม และให้มีอำนาจดังต่อไปนี้

(๑) เข้าไปเก็บตัวอย่างนอกการแข่งขันกีฬา เพื่อการตรวจหาสารต้องห้ามในสถานที่ใด ๆ ที่นักกีฬาอยู่ในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก

(๒) มีหนังสือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ ส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจหาสารต้องห้ามมาเพื่อตรวจสอบหรือประกอบการพิจารณา


มาตรา ๓๐

ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง

บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง


มาตรา ๓๑

ให้นักกีฬา บุคคลซึ่งสนับสนุนการกีฬา สมาคมกีฬา หรือบุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง มีหน้าที่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติการตามมาตรา ๒๙


มาตรา ๓๒

ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา



หมวด ๔


บทกำหนดโทษ





มาตรา ๓๓

ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๒ ให้ได้รับโทษอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(๑) ตัดสิทธิเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการพิจารณาโทษกำหนด

(๒) ตัดสิทธิเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาทุกรายการตลอดชีวิต

ในกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาโทษเห็นว่า การฝ่าฝืนนั้นไม่ร้ายแรง จะไม่ลงโทษและให้ภาคทัณฑ์หรือว่ากล่าวตักเตือนแทนก็ได้


มาตรา ๓๔

ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๓ ให้ได้รับโทษอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(๑) ตัดสิทธิเข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขันกีฬาภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการพิจารณาโทษกำหนด

(๒) ตัดสิทธิเข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขันกีฬาทุกรายการตลอดชีวิต

ในกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาโทษเห็นว่า การฝ่าฝืนนั้นไม่ร้ายแรง จะไม่ลงโทษและให้ภาคทัณฑ์หรือว่ากล่าวตักเตือนแทนก็ได้



ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ


ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี



หมายเหตุ

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่องค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่องค์กรกีฬานานาชาติยอมรับในมาตรการควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา ได้ประกาศให้ดำเนินการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา โดยการสร้างทักษะความพร้อมทางกายภาพและจิตสำนึกทางด้านคุณธรรมจริยธรรม ในการแข่งขันกีฬาด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมเป็นไปด้วยความเสมอภาคและเป็นธรรมโดยไม่ต้องใช้สารต้องห้าม รวมทั้งให้การคุ้มครองต่อสุขภาพและความปลอดภัยของนักกีฬา เพื่อให้มีมาตรการการควบคุมการใช้สารต้องห้ามที่สอดคล้องกับคำประกาศโคเปนเฮเกนว่าด้วยการต่อต้านสารต้องห้ามทางการกีฬา และส่งเสริมความร่วมมือด้านกีฬากับนานาประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้



เชิงอรรถ

แก้ไข
  1. ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๐/ตอนที่ ๒ ก/หน้า ๑๐/๙ มกราคม ๒๕๕๖




ขึ้น

 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"