พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๘

แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

Seal of the Royal Command of Thailand
Seal of the Royal Command of Thailand


พระราชบัญญัติ


จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ ๓)


พ.ศ. ๒๕๔๘




ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.


ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘


เป็นปีที่ ๖๐ ในรัชกาลปัจจุบัน



โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย

พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ มาตรา ๓๗ และมาตรา ๔๘ บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้



มาตรา ๑

พระราชบัญญัตินี้ เรียกว่า "พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๘"


มาตรา ๒

พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป[1]


มาตรา ๓

ให้ยกเลิกความในบทนิยามคำว่า "คดีล้มละลาย" ในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

""คดีล้มละลาย"หมายความว่า คดีตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายและให้หมายความรวมถึงคดีแพ่งที่เกี่ยวพันกันกับคดีดังกล่าวด้วย"


มาตรา ๔

ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา ๔

ให้ประธานศาลฎีการักษาการตามพระราชบัญญัตินี้"


มาตรา ๕

ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ ของมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒

"ในการฟ้องคดีอาญาสำหรับการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท และบทใดบทหนึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย ให้ศาลล้มละลายรับพิจารณาพิพากษาความผิดบทอื่นไว้ด้วย

ในการฟ้องคดีอาญาสำหรับการกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันในความผิดที่เกี่ยวเนื่องกัน และบางกรรมไม่เป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย ศาลล้มละลายจะรับพิจารณาพิพากษาทุกกรรม หรือไม่รับพิจารณาพิพากษาเฉพาะกรรมใดกรรมหนึ่งหรือหลายกรรมที่ไม่เป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย โดยให้โจทก์แยกฟ้องเป็นคดีใหม่ยังศาลที่มีอำนาจก็ได้ ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงความสะดวกและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเป็นสำคัญ

ก่อนเริ่มต้นสืบพยาน หากจำเลยเห็นว่า การพิจารณาคดีอาญาตามวรรคสามต่อไปในศาลล้มละลายจะไม่สะดวก หรือไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จำเลยอาจยื่นคำร้องพร้อมแสดงเหตุผลหรือพยานหลักฐานต่อศาลล้มละลายขอให้แยกฟ้องไปยังศาลที่มีอำนาจ เมื่อศาลล้มละลายเห็นสมควร จะมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องนั้นก็ได้"


มาตรา ๖

ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา ๑๒

ในศาลล้มละลายกลางและศาลล้มละลายภาค ให้มีอธิบดีผู้พิพากษา กับรองอธิบดีผู้พิพากษา ศาลละหนึ่งคน และในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในทางราชการ คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม โดยความเห็นชอบของประธานศาลฎีกา จะกำหนดให้มีรองอธิบดีผู้พิพากษามากกว่าหนึ่งคน แต่ไม่เกินสามคนก็ได้"


มาตรา ๗

ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา ๑๔

นอกจากที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ กระบวนพิจารณาในศาลล้มละลายให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย และข้อกำหนดตามมาตรา ๑๙ ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับโดยอนุโลม"


มาตรา ๘

ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา ๑๙

เพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว และเที่ยงธรรม อธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางมีอำนาจออกข้อกำหนดใด ๆ เกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณา และการรับฟังพยานหลักฐาน ใช้บังคับในศาลล้มละลายได้ แต่ข้อกำหนดดังกล่าวจะต้องไม่ทำให้สิทธิในการต่อสู้คดีอาญาของจำเลยต้องลดน้อยกว่าที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย

ข้อกำหนดนั้น เมื่อได้รับความเห็นชอบจากประธานศาลฎีกา และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้"


มาตรา ๙

ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๒๔/๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒

"มาตรา ๒๔/๑

ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการฎีกา คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล้มละลายให้อุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น

ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล้มละลาย เว้นแต่

(๑) คำพิพากษายกฟ้อง หรือคำสั่งยกคำร้องหรือคำร้องขอให้ล้มละลาย

(๒) คำสั่งยกคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการ

(๓) คำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วน

(๔) คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด

(๕) คำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีแพ่งที่เกี่ยวพันกับคดีตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย"


มาตรา ๑๐

ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๒๖/๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒

"มาตรา ๒๖/๑

ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม วรรคสี่ และวรรคหก มาใช้บังคับแก่คดีล้มละลาย ในส่วนที่เกี่ยวกับคดีอาญาที่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๔/๑ โดยอนุโลม"


มาตรา ๑๑

ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๒๘/๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒

"มาตรา ๒๘/๑

ให้นำบทบัญญัติของส่วนที่ ๑ วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้นในหมวด ๓ วิธีพิจารณาคดีล้มละลาย และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาและการชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกา มาใช้บังคับแก่การพิจารณาพิพากษาและการชี้ขาดตัดสินคดีล้มละลาย ในส่วนที่เกี่ยวกับคดีอาญาที่มีการอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๔/๑ ในศาลฎีกาโดยอนุโลม"


มาตรา ๑๒

บรรดาคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลล้มละลายที่ค้าง พิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ หรืออยู่ระหว่างอายุอุทธรณ์หรือฎีกา ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ดำเนินคดีดังกล่าวต่อไป โดยถือว่า คดีนั้นมิใช่คดีล้มละลายตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้


มาตรา ๑๓

ให้ประธานศาลฎีการักษาการตามพระราชบัญญัตินี้



ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ


พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี



หมายเหตุ

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากปัจจุบันศาลล้มละลายมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเฉพาะคดีตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายที่มิใช่คดีอาญา ทำให้คดีอาญาที่เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย ซึ่งต้องอาศัยผู้พิพากษาที่มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลธรรมดา ดังนั้น สมควรกำหนดให้ศาลล้มละลายซึ่งเป็นศาลชำนัญพิเศษสามารถพิจารณาพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวได้ รวมทั้งมีวิธีพิจารณาพิเศษที่เหมาะสมกับลักษณะของคดีล้มละลาย อันจะเป็นผลให้การดำเนินคดีล้มละลายมีความถูกต้องและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้



เชิงอรรถ

แก้ไข
  1. ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๒/ตอนที่ ๑๑๑ ก/หน้า ๑/๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๘




(ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๗ ขึ้น

 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"