พระราชบัญญัติตั้งศาลฯ ที่ทุ่งเชียงคำ แลที่แก่งเจ๊ก เมืองคำมวญ (รก.)

ตราแผ่นดิน
ตราแผ่นดิน
ราชกิจจานุเบกษา
กรุงเทพมหานครในพระบรมมหาราชวัง


เล่ม ๑๐ แผ่นที่ ๔๖
น่า ๔๙๙
วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์ ๑๑๒


สารบาน
พระราชบัญญัติตั้งศาลรับสั่ง
น่า
๔๙๙
พระราชกุศลตรุศจีน
น่า
๕๐๕
ข่าวเพลิงไหม้
น่า
๕๐๖
ข่าวเสด็จออก
น่า
๕๐๖
ข่าวพระราชทานเพลิง
น่า
๕๐๖
ตราราชโองการ
ตราราชโองการ
พระราชบัญญัติ
ตั้งศาลรับสั่ง
เปนการพิเศษครั้งหนึ่ง
สำหรับชำระคนในบังคับสยาม
ที่ต้องหาว่า
กระทำความร้ายผิดกฎหมาย
ที่ทุ่งเชียงคำ แลที่แก่งเจ๊ก
เมืองคำมวญ

มีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาทในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า

ได้ทรงพระราชคำนึงถึงความข้อ ๓ ในหนังสือสัญญาคอนเวนชันที่ได้ทำกันไว้ในระหว่างอรรคราชทูตผู้มีอำนาจเต็มฝ่ายสยามกับฝ่ายฝรั่งเศสเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม รัตนโกสินทร์ ๑๑๒ นั้นแล้ว

ด้วยคนในบังคับสยามบางคนต้องหาว่า กระทำความร้ายผิดกฎหมายต่อคนในบังคับฝรั่งเศสแห่งหนึ่งที่ทุ่งเชียงคำเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน รัตนโกสินทร์ ๑๑๐ อีกแห่งหนึ่งที่แก่งเจ๊กเมืองคำมวญเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน รัตนโกสินทร์ ๑๑๒ นั้น

แลมีพระบรมราชประสงค์ว่า จะให้ได้กระทำตามความที่ได้สัญญาไว้ในฝ่ายไทยให้สำเร็จโดยเต็มโดยตรงทั้งสิ้น แลถ้าความร้ายผิดกฎหมายอย่างหนึ่งอย่างใด เมื่อพิจารณาเสร็จแล้วจะได้ความมีหลักฐานว่า คนในบังคับสยามผู้หนึ่งผู้ใดได้กระทำแล้ว ก็ให้มีโทษตามโทษานุโทษฉนี้

จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติไว้ดังต่อไปนี้ คือ

ส่วนที่ ๑ ว่าด้วยตั้งศาล

ข้อว่าให้ตั้งศาลรับสั่งพิเศษคราวหนึ่งขึ้น มีอธิบดีผู้พิพากษาใหญ่ผู้หนึ่ง กับผู้พิพากษารอง ๖ นาย พร้อมกันชำระตัดสินความตามกฎหมายแลตามความจริง เพื่อสำหรับพิจารณาคนในบังคับสยามผู้ต้องหาว่า กระทำความร้ายผิดกฎหมายต่อคนในบังคับฝรั่งเศสในกาลแลเทศอันได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น ศาลนี้ให้เรียกว่า ศาลรับสั่งพิเศษสำหรับชำระความที่เกิดขึ้นที่ทุ่งเชียงคำแลแก่งเจ๊กเมืองคำมวญ

ข้อผู้ที่มีนามต่อไปนี้ให้เปนอธิบดีผู้พิพากษาใหญ่แลผู้พิพากษารองโดยลำดับกันในศาลอันกล่าวมาแล้วนั้น ดังนี้

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร อธิบดีผู้พิพากษา
พระยาสีหราชเดโชไชย ผู้พิพากษารอง
พระยาอภัยรณฤทธิ์ ผู้พิพากษารอง
พระยาเทเวศรวงษวิวัฒน์ ผู้พิพากษารอง
พระยาธรรมสารนิติ ผู้พิพากษารอง
พระยาธรรมสารเนตติ์ ผู้พิพากษารอง
พระยาฤทธิรงค์รณเฉท ผู้พิพากษารอง

ข้อผู้มีนามต่อไปนี้ให้เป็นผู้กระทำการในศาลอันกล่าวมาแล้วในตำแหน่งทนายแผ่นดิน คือ หลวงสุนทรโกษา กับนายหัสบำเรอหุ้มแพร

ข้อบรรดาผู้ที่ได้รับตำแหน่งตามความข้อ ๒ แลข้อ ๓ แห่งพระราชบัญญัตินี้ให้กระทำการตลอดเวลาที่จำเปนจะต้องพิจารณาแลตัดสินคดีความทั้งหลายที่ว่ามาในข้อ ๑ นั้นจนแล้วเสร็จ แต่เพื่อจะป้องกันเหตุป่วยไข้อันตรายด้วยประการใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาจะไม่สามารถมากระทำการให้เต็มน่าที่ได้จนตลอดเวลาตัดสินแล้ว ให้ผู้แทนเสนาบดีว่าการยุติธรรมมีอำนาจจัดสรรเอาผู้อื่นในพวกอธิบดีผู้พิพากษาฤๅผู้พิพากษารองในศาลทั้ง ๗ ที่สนามสถิตยุติธรรมณกรุงเทพฯ นี้ ๒ นาย ๓ นายไปนั่งฟังความให้รู้เรื่องตลอด สำหรับที่จะได้รับตำแหน่งแทนผู้ที่มีเหตุมานั่งศาลไม่ได้ด้วย

ข้อให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลนี้มีอำนาจที่จะกำหนดที่ซึ่งจะนั่งศาลชำระความ แลที่จะตั้งผู้ซึ่งจะกระทำการเวลาหนึ่งเปนยกระบัตรศาล เปนเสมียน เปนล่าม เปนนักการ แลเปนพนักงานต่าง ๆ สำหรับกับศาลนี้ แลที่จะกำหนดน่าที่แลเงินบำเหน็จของพนักงานทั้งปวงนี้ด้วย

ส่วนที่ ๒ วิธีชั้นต้น

ข้อบรรดาหนังสือสำคัญทั้งหลาย หนังสือโต้ตอบไปมา ใบบอกรายงานในราชการแลว่าทั่วไปบรรดาข้อความที่จะใช้ในศาลได้อันเปนความเกี่ยวข้องกับคดีทั้งหลายที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ซึ่งราชาธิปตัยได้มีอยู่ฤๅจะได้มีต่อไปก็ดี ฤๅซึ่งราชทูตรีปับลิกฝรั่งเศสได้ส่งแล้วฤๅจะได้ส่งมายังเสนาบดีว่าการต่างประเทศนั้นก็ดี ให้เสนาบดีว่าการต่างประเทศส่งให้แก่ทนายแผ่นดินผู้ที่ได้รับตำแหน่งตามความข้อ ๓ แห่งพระราชบัญญัตินี้

ข้อเมื่อได้รับแลได้อ่านหนังสือทั้งปวงที่กล่าวมาในข้อ ๖ แลได้ปฤกษาหาฤๅในเรื่องนี้กับผู้แทนพิเศษรับตำแหน่งมาแต่คอเวอนเมนต์รีปับลิกฝรั่งเศสตามความข้อ ๓ ในหนังสือคอนเวนชัน ลงวันที่ ๓ ตุลาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๒ นั้นแล้ว ทนายแผ่นดินจะได้ร่างส่งต่ออธิบดีผู้พิพากษาเปนคำหาสองฉบับ ๆ หนึ่งว่าด้วยคดีที่ทุ่งเชียงคำ อีกฉบับหนึ่งว่าด้วยคดีที่แก่งเจ๊กเมืองคำมวญ ในคำหาสองฉบับนี้ต้องให้มี

ชื่อผู้ที่ต้องหาว่ากระทำความร้ายผิดกฎหมาย

ความร้ายผิดกฎหมายที่ว่าผู้นั้น ๆ ได้กระทำ

โทษซึ่งจะมีแก่ผู้ที่ได้กระทำความร้ายผิดกฎหมายนั้น ๆ ตามพระราชกำหนดกฎหมายฝ่ายสยาม

ข้อภายในกำหนดสามวันตั้งแต่ได้รับคำหาทั้งสองฤๅฉบับใดฉบับหนึ่งแล้วก็ดี ให้อธิบดีผู้พิพากษาออกหมายเกาะตัวผู้ต้องหาไว้ แลในขณะเดียวกันนั้น ให้กำหนดวันเวลาโดยเร็วพอสมควรที่จะเรียกตัวผู้ต้องหามาพิจารณายังน่าศาลให้ ๆ การแก้ข้อความที่กล่าวโทษหาผิดของผู้นั้น กำหนดวันเวลานี้ให้บอกล่วงน่าโดยเวลาสมควรให้ทูตฝรั่งเศสกับผู้แทนพิเศษของรีปับลิกฝรั่งเศสทราบด้วย

ส่วนที่ ๓ การพิจารณา

ข้อณวันที่กำหนดนัดนั้น เมื่อได้ตัวผู้ที่ต้องหามายังศาลแลได้ตรวจสอบสวนไม่ผิดตัวแล้ว ในทันทีนั้น จะได้อ่านคำหาแลคำให้การฤๅคำพยานอื่น ๆ ซึ่งได้นำมาว่าความหาเอาผิดนั้นให้ผู้ต้องหาฟัง ถ้าคำหาเหล่านั้นได้เขียนมาเปนภาษาต่างประเทศแลผู้ต้องหานั้นต้องการจะฟัง ก็ให้แปลออกเปนภาษาไทยด้วย แล้วอธิบดีในศาลนั้นจะได้ถามผู้ต้องหาว่า จะให้การแก้คำหาเปนประการใดบ้าง คำที่ผู้ต้องหากล่าวคำใด ๆ จะได้จดลงไว้แลอ่านสอบทานให้ถูกต้องแล้วจะใช้เปนหลักฐานในการที่ผู้ต้องหาจะพิรุทธนั้นไม่ต้องสืบพยานอื่นประกอบอีกก็ได้ ถ้าผู้ต้องหารับตามคำหาแลไม่ได้ให้การต่อสู้ฤๅไม่ได้ยกเหตุที่ควรลดหย่อนโทษขึ้นให้การแก้แล้ว ศาลก็พึงฟังเอาเปนสัจแลตัดสินได้ตามนั้น

ถ้าผู้ต้องหาผู้เดียวฤๅหลายคนก็ดีจะหลบหลีกหนีรอดไปฤๅไม่มายังศาลอีกต่อไป พ้นกำหนดสิบวันแล้ว ให้ศาลพิจารณาความต่อไปเสมอเหมือนกับผู้นั้นได้อยู่ในศาลแลไม่ได้ให้การต่อสู้ฤๅไม่ได้ยกเหตุที่ควรลดหย่อนโทษขึ้นให้การแก้นั้นเหมือนกัน

ข้อ๑๐ให้ผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งต้องหานั้นมีอำนาจที่จะแต่งทนายช่วยสู้ความได้นายหนึ่งฤๅหลายนาย แต่ทนายนั้นต้องเปนผู้มีคุณสมบัติอันได้ยอมให้ว่าความในศาลฝ่ายสยามนั้นด้วย แลผู้ต้องหานั้นจะได้รับอนุญาตให้ตัวเองฤๅทนายของผู้นั้นให้การแก้คำหาให้เต็มข้อความ แลให้การซักไซ้พยานคนใดคนหนึ่งซึ่งเปนพยานข้างฝ่ายอื่นได้ แลสืบถามพยานฤๅคำพยานอันใดที่จะสู้ความของตนได้ ให้ผู้ต้องหาฤๅทนายของผู้ต้องหาส่งรายชื่อพยานของตนนั้นให้แก่ทนายแผ่นดินทราบด้วย

ข้อ๑๑เมื่อผู้ต้องหาได้ให้การแก้คำหาเสร็จแล้ว ทนายแผ่นดินผู้หนึ่งจะได้อ่านรายชื่อพยานผู้ซึ่งทนายแผ่นดิน ฤๅผู้แทนรีปับลิกฝรั่งเศส ฤๅผู้ต้องหาจะขอให้นำมาเบิกความในศาลนั้น แล้วอธิบดีผู้พิพากษาจะได้เรียกพยานเหล่านั้นมาตามลำดับชื่อ แล้วจะได้มีคำสั่งให้ออกไปพักอยู่ยังห้องสำหรับพยานที่จะได้รอคอยอยู่จนกว่าจะได้เรียกเข้าไปเบิกความในศาลนั้น

ข้อ๑๒พยานทุก ๆ คนจะได้เรียกให้มาเบิกความแยกกันทีละคน แลอธิบดีผู้พิพากษาจะได้วินิจฉัยว่า จะเรียกพยานคนใดมาเบิกความก่อนแลหลังตามลำดับกัน

ข้อ๑๓คำพยานทุก ๆ คำจะได้เปนคำอันสาบาลตามแบบฤๅตามวิธีซึ่งพยานนั้นปฏิญาณว่าเปนที่นับถือผูกรัดในใจของพยานนั้นแล้ว

ข้อ๑๔ทนายแผ่นดินแลผู้แทนรีปับลิกฝรั่งเศสจะซักไซ้พยานคนใดคนหนึ่งซึ่งผู้ต้องหานำมาสืบนั้นก็ได้

ข้อ๑๕คำพยานอันใดที่ได้มาเบิกความในศาลเปนภาษาที่ผู้ต้องหาไม่เข้าใจแล้วก็ให้ล่ามแปลให้ฟังในเวลาที่เบิกความในศาลนั้น

คำพยานอันใดที่ได้มาเบิกความเปนสยามภาษาฤๅเปนภาษาอื่นในทวีปอาเซียแล้วจะได้แปลเปนภาษาฝรั่งเศสในเวลาใดเวลาหนึ่งซึ่งผู้แทนรีปับลิกฝรั่งเศสปรารถนาจะให้แปล

ห้ามไม่ให้ผู้ต้องหาก็ดี ฤๅผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งได้ให้การเปนคำพยานเขียนไว้ฤๅเบิกความด้วยปากก็ดี เปนล่ามในคดีเรื่องใดเรื่องหนึ่งในศาลนี้

ข้อ๑๖ในเวลาชำระความนี้ ศาลจะเห็นสมควรเองฤๅคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะร้องขอก็ดี ให้ศาลหมายเรียกคนในบังคับไทยมาให้การเปนพยานฤๅให้นำหนังสือสำคัญอันใดมา ฤๅจะซักถามผู้นั้นก็ได้ แลถ้าเปนการจำเปน ศาลจะออกหมายให้เกาะกุมผู้นั้นมาก็ได้

ข้อ๑๗ถ้าความปรากฏเห็นว่า คนในบังคับต่างประเทศจะเบิกความเปนแก่นสารในคำพยานของฝ่ายโจทฤๅฝ่ายจำเลยก็ดี ศาลจะขอให้เสนาบดีว่าการต่างประเทศจัดการตามความที่จำเปนจะต้องคิดกับราชทูตฤๅกงสุลต่างประเทศผู้ที่สมควรจะจัดได้เพื่อที่จะให้คนในบังคับต่างประเทศนั้นได้มายังศาลนี้ก็ได้ เงินค่าเดินทางแลค่าใช้สอยอื่น ๆ ของพยานเหล่านี้จะได้จ่ายเงินหลวงให้

ข้อ๑๘ผู้ต้องหาจะร้องขอเมื่อพยานได้เบิกความแล้วนั้นว่า ให้พยานบางคนออกไปเสียนอกศาลก็ได้ แลจะร้องขอให้ถามพยานคนหนึ่งฤๅหลายคนอีกโดยถามทีละคนฤๅให้เบิกความยันกันต่อปากซึ่งกันแลกันก็ได้ อธิบดีผู้พิพากษาจะบังคับให้ก็ได้ แลทนายแผ่นดินจะร้องขอให้ทำอย่างนั้นก็ได้เหมือนกัน

ข้อ๑๙ถ้าหลายคนต้องหาในคดีเรื่องเดียวกันแล้ว ในเวลาถามพยานอยู่ฤๅถามแล้วก็ดี อธิบดีผู้พิพากษาจะบังคับให้ผู้ต้องหาคนหนึ่งฤๅหลายคนออกเสียนอกศาลก็ได้ แลจะแยกถามผู้ต้องหาทีละคนในเหตุการบางข้อในคดีนั้นก็ได้ แต่เมื่อได้เรียกผู้ต้องหาที่ให้ออกไปนอกศาลนั้นกลับเข้ามายังน่าศาลขณใด อธิบดีผู้พิพากษาต้องบอกให้ผู้ต้องหานั้นทราบความที่พิจารณาได้ในเวลาผู้ต้องหาไม่ได้อยู่ในขณนั้น

ข้อ๒๐อธิบดีผู้พิพากษาเปนผู้วินิจฉัยว่า จะลำดับข้อหาตามความที่ว่าเปนจริงหลายข้อต่อผู้ที่ต้องหาหลายคนในคดีอันเดียวกันนั้น ควรพิจารณาข้อใดก่อนแลหลัง

ข้อ๒๑เมื่อได้สืบสวนทวนพยานเสร็จแล้ว ทนายแผ่นดินจะได้ร่างจดหมายข้อปัญหาตามกฎหมายแลตามความจริงซึ่งศาลจะตัดสินให้ถูกต้องได้ ในการที่ทนายแผ่นดินจะทำนี้จะต้องฟังตามความเห็นซึ่งผู้แทนรีปับลิกฝรั่งเศสจะพึงแจ้งความให้ทราบเพื่อเปนที่อุดหนุนในคำหานั้นด้วยแล้ว

ขณนั้น ผู้ต้องหาฤๅทนายของผู้ต้องหานั้นจะได้กระทำคำชี้แจงร้องต่อศาล แล้วถ้าทนายแผ่นดินเห็นควร จะทำคำตอบร้องต่อศาลก็ได้ แต่คำท้ายที่สุดก่อนตัดสินนั้นให้เปนข้างผู้ต้องหาฤๅทนายของผู้ต้องหาได้กล่าวต่อน่าศาล แล้วจะได้เลิกนั่งศาลสำหรับไปปรับสัตย์ตัดสินกัน

ข้อ๒๒ให้อธิบดีผู้พิพากษามีอำนาจตามความที่จะคิดเห็นชอบในการที่จะได้บังคับบัญชาให้การเปนไปโดยควร เพื่อที่จะให้ศาลคิดเห็นการที่จะเอาใจตนไปใส่ในที่ลูกความได้แจ่มแจ้งชัดเจน แลเพื่อจะยกเลิกเสียซึ่งเหตุทั้งหลายอันปรากฏว่าเปนธรรมดาประวิงความโดยไม่มีผลกับการว่าความแลสู้ความนั้น

ข้อ๒๓เมื่อได้ลงมือชำระความครั้งหนึ่งแล้วก็ให้เปิดศาลพิจารณาต่อกันไป อย่าให้ต้องหยุดหย่อนที่ไม่จำเปน ให้ศาลกระทำการแต่เฉพาะในเรื่องความที่ตั้งศาลนี้ขึ้นแล้ว แลให้พิจารณาความต่อติดเนื่องกันไป อย่าให้ต้องหยุดยั้งโดยเหตุอื่นนอกจากการซึ่งเปนจตุปัจจัย คำตัดสินนั้นให้ได้อ่านในศาลที่เปิดเผย อย่างช้าที่สุดภายใน ๒๔ ชั่วโมงนับตั้งแต่เวลาพิจารณาความนั้นแล้วเสร็จ

ส่วนที่ ๔ การตัดสิน

ข้อ๒๔คำตัดสินนั้นให้เรียงลงไว้ แลให้ลงชื่ออธิบดีผู้พิพากษา ผู้พิพากษารอง ๖ นาย กับยกระบัตรศาลด้วย จะต้องมีคำวินิจฉัยวิสัชนาปัญหาทั้งหลายที่เกี่ยวข้องแก่ผู้ต้องหาทั้งปวงนั้นตามความอย่างนี้

ผู้ต้องหามีผิดที่กระทำความร้ายผิดกฎหมายซึ่งกล่าวหาข้อเดียวก็ดี หลายข้อก็ดีนั้น ฤๅไม่มีผิด

ถ้าว่ามีคำร้องยกเหตุอันควรทวีโทษต่อผู้ต้องหา ฤๅว่ามีคำยกเหตุอันควรลดหย่อยโทษแก่ผู้ต้องหาก็ดี ผู้ต้องหานั้นจะได้กระทำความร้ายผิดกฎหมายในเหตุการณ์อย่างเช่นว่านั้นฤๅไม่

ถ้าว่ามีคำให้การแก้แทนผู้ต้องหาว่ามีข้อที่กฎหมายยอมยกเว้นโทษให้เปนการแก้ตัวได้แล้ว ประการหนึ่ง ความจริงที่กล่าวอ้างเปนการแก้ตัวนั้นเปนอันได้พิสูทธเห็นจริงแล้วฤๅไม่ อีกประการหนึ่ง ถ้าได้พิสูทธเห็นจริงแล้ว ความจริงอันนั้นเปนอันกฎหมายยอมยกเว้นโทษให้เปนการแก้ตัวได้ฤๅไม่

ถ้าตามคำวินิจฉัยวิสัชนาข้อปัญหาที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ปรากฏว่า ผู้ต้องหาไม่มีผิดในความร้ายผิดกฎหมายแล้ว เมื่อศาลอ่านคำตัดสินนั้น ในที่สุดจะได้แสดงว่า ผู้ต้องหาพ้นผิด แลให้ปล่อยตัวไป ถ้าการไม่เปนเช่นนั้น หากปรากฏว่า ผู้ต้องหานั้นมีเหตุควรทวีโทษฤๅไม่มีเหตุควรลดหย่อนโทษ แลไม่มีข้อแก้ตัวได้ตามกฎหมาย ได้กระทำความร้ายผิดกฎหมายซึ่งกล่าวต่อผู้ต้องหาแล้ว ศาลจะได้ว่าโทษตามกฎหมายที่ใช้อยู่สำหรับความร้ายผิดกฎหมายนั้น ศาลจะบังคับให้ผู้ต้องหาที่เปนสัตยว่า ได้กระทำความร้ายผิดกฎหมายซึ่งกล่าวหานั้นใช้เงินค่าฤชาธรรมเนียมแลค่าที่ใช้จ่ายในการชำระนั้นทั้งสิ้นฤๅแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดก็ได้

ข้อ๒๕ศาลจะปฤกษาปรับสัตยในเนื้อความแลข้อความในคำตัดสินนั้นณห้องที่สงัดในความทุกข้อทุกกระทง อธิบดีผู้พิพากษาจะต้องถามความเห็นเฉพาะตัวผู้พิพากษารองทุกนาย ตั้งต้นแต่ผู้ที่มีอายุมากกว่ากันก่อน อธิบดีผู้พิพากษาจะได้ออกความเห็นในที่สุด ข้อปัญหาอันใดอันหนึ่งจะพึงเปนอันไม่ได้ตัดสินตกลงเว้นไว้แต่ได้เห็นมากกว่ากันอย่างต่ำที่สุดก็ ๔ ความเห็นใน ๗ คนนั้น

ถ้ามีความเห็นแตกต่างกันมากกว่าสองอย่างขึ้นไปในความเห็นข้อเดียวกัน แลถ้าในความเห็นนั้นไม่เปนอันเห็นมากกว่ากันแต่อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ผู้พิพากษาผู้มีความเห็นอันไม่ชอบอย่างยิ่งแก่ผู้ที่ต้องหานั้นจำเปนต้องยอมตามความเหนอย่างอื่นทั้งปวง

อนึ่ง เปนพระบรมราชประสงค์แลเปนพระกระแสรับสั่งเฉพาะว่า ในการที่ผู้พิพากษาออกความเห็นต่อข้อปัญหาในกฎหมายแลในความจริงซึ่งจะต้องวินิจฉัยนั้น ผู้พิพากษาศาลนี้จงได้คิดตริตรองดูแต่โดยใจเย็น ๆ ในเหตุที่สมควร แลแต่โดยเอาใจของตนเข้าใส่ในใจของลูกความนั้น อย่าได้ปล่อยใจให้เห็นผิดไปโดยอคติ เห็นแก่หน้าบุทคลฤๅเห็นแก่ชาติของผู้ใด ดังนี้แล้ว คำตัดสินของศาลจะได้เปนการที่สมได้ที่สุดกับความจริงแลความยุติธรรม

ส่วนที่ ๕ ความเพิ่มเติม

ข้อ๒๖ศาลที่จะนั่งชำระความก็ดี ฤๅสำหรับที่จะอ่านคำตัดสินก็ดี ให้เปนที่เปิดเผย อธิบดีผู้พิพากษามีอำนาจที่จะขับไล่ฤๅห้ามไม่ให้อยู่ในศาลบรรดาคนผู้ที่กีดขวางฤๅขัดขวางทางพิจารณาคดีในศาลนั้น

ข้อ๒๗ให้จัดการให้ผู้แทนคอเวอนเมนต์ฝรั่งเศสได้กระทำการตามอำนาจซึ่งได้มีในหนังสือสัญญาคอนเวนชัน ลงวันที่ ๓ ตุลาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๒ ที่จะมาศาลในการชำระความนั้นโดยสะดวกทุกประการ

ข้อ๒๘ศาลรับสั่งพิเศษที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้มีตราสำหรับใช้ในศาลตามอย่างที่ผู้แทนเสนาบดีว่าการยุติธรรมจะมีหนังสือวางแบบไว้ให้ด้วย

ข้อ๒๙จดหมายเหตุของการชำระความนี้ให้เขียนไว้ แลให้ลงชื่ออธิบดีผู้พิพากษา ผู้พิพากษารอง กับยกระบัตรศาล แลประทับตราสำหรับศาลด้วย

จดหมายเหตุกับทั้งคำให้การพยานที่เขียนมาแลที่จดไว้ในเวลาเบิกความที่ศาลนั้น ให้รักษาไว้ณกองเก็บหนังสือของกระทรวงยุติธรรม

สำเนาจดหมายเหตุการณ์ชำระความแลคำพยานที่จัดไว้นั้น เมื่อได้ตัดสินแล้ว ให้ไปส่งยังราชทูตรีปับลิกฝรั่งเศสด้วย

ประกาศมาแต่ณวัน ๕ ที่ ๘ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์ ๑๑๒ เปนวันที่ ๙๒๒๑ ในรัชกาลปัตยุบันนี้

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"