พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕/๑๐ ตุลาคม ๒๔๘๗


พระราชบัญญัติ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
พุทธศักราช ๒๔๘๕[1]




ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร
(ลงวันที่ ๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐
และวันที่ ๑๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔)
อาทิตย์ทิพอาภา
ปรีดี พนมยงค์
ตราไว้ ณ วันที่ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๕
เป็นปีที่ ๙ ในรัชกาลปัจจุบัน


โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรจัดตั้งธนาคารกลางขึ้นในราชอาณาจักร

จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้


หมวด ๑
ความเบื้องต้น


มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕”

มาตรา ๒ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

“ผู้ว่าการ” หมายความว่า ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

“รองผู้ว่าการ” หมายความว่า รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย

“ธนาคาร” หมายความว่า บุคคล หรือ คณะบุคคลที่ใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อว่า “ธนาคาร” หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเดียวกัน และบริษัทจำกัดที่รับฝากเงิน ที่ถอนคืนได้โดยใช้เช็ค ดราฟต์ หรือหนังสือสั่ง

มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้


หมวด ๒
การจัดตั้ง ทุน และเงินสำรอง


มาตรา ๕ ให้จัดตั้งธนาคารกลางขึ้น เรียกว่า “ธนาคารแห่งประเทศไทย” เพื่อรับมอบการออกธนบัตรจากกระทรวงการคลัง และประกอบธุรกิจอันพึงเป็นงานธนาคารกลางตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๖ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นนิติบุคคล

มาตรา ๗ ให้กำหนดทุนประเดิมของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นจำนวนยี่สิบล้านบาท และธนาคารแห่งประเทศไทยจะได้รับเงินจำนวนนี้จากรัฐเป็นการอุดหนุน

มาตรา ๘ ทุนของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น จะเพิ่มหรือลดก็ได้โดยอนุมัติของรัฐบาล แต่จำนวนทุนทั้งสิ้นไม่ว่าในขณะใดต้องไม่เกินหนึ่งร้อยล้านบาท

มาตรา ๙ เงินสำรองของธนาคารแห่งประเทศไทยให้ประกอบด้วยเงินสำรองธรรมดาซึ่งตั้งไว้เผื่อขาดทุน และนอกจากนี้จะให้มีเงินสำรองประเภทอื่นเพื่อความประสงค์แต่ละอย่างโดยเฉพาะก็ได้ ตามแต่คณะกรรมการจะตั้งไว้โดยอนุมัติของรัฐมนตรี โดยสะสมขึ้นด้วยการจ่ายจากกำไรสุทธิในปีหนึ่ง ๆ

มาตรา ๑๐ เงินสำรองธรรมดานั้นให้สะสมขึ้นด้วยการจ่ายจากกำไรสุทธิในปีหนึ่ง ๆ เป็นจำนวนร้อยละยี่สิบห้าแห่งกำไรสุทธิ ภายหลังที่ได้กันเงินไว้แล้วสำหรับหนี้ซึ่งทวงไม่ได้ และซึ่งเป็นที่สงสัยประการหนึ่ง สำหรับการเสื่อมค่าแห่งสินทรัพย์ประการหนึ่ง และสำหรับรายจ่ายซึ่งนายธนาคารย่อมกันเงินไว้จ่ายตามปกติอีกประการหนึ่ง

เมื่อเงินสำรองธรรมดามีจำนวนถึงร้อยละร้อยแห่งทุนจำนวนลัพธ์หรือมากกว่านั้นแล้ว คณะกรรมการจะลดจำนวนที่ต้องจ่ายรายปีเพื่อสะสมก็ได้

มาตรา ๑๑ กำไรสุทธิส่วนที่เหลือภายหลังที่ได้หักจ่ายเป็นเงินสำรองธรรมดาและเป็นเงินสำรองประเภทอื่นที่คณะกรรมการอาจตั้งไว้ตามมาตรา ๙ แล้วให้นำส่งเป็นรายได้เบ็ดเสร็จของรัฐทุกปี

มาตรา ๑๒ ให้สินทรัพย์และหนี้สินของสำนักงานธนาคารชาติไทยโอนไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย และสินทรัพย์ส่วนที่เหลือ เมื่อหักหนี้สินนั้นออกแล้วให้จ่ายเป็นเงินสำรองธรรมดาของธนาคารแห่งประเทศไทย

มาตรา ๑๓ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ในพระนครและจะตั้งสาขาหรือตัวแทนขึ้น ณ ที่อื่นใดในราชอาณาจักรก็ได้ และเมื่อได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีแล้วจะตั้งสาขาหรือตัวแทนขึ้นในต่างประเทศก็ได้


หมวด ๓
การกำกับ ควบคุม และจัดการ


มาตรา ๑๔ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจและหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งกิจการของธนาคารแห่งประเทศไทย

มาตรา ๑๕[2] ให้คณะกรรมการ อันประกอบด้วยผู้ว่าการ รองผู้ว่าการ และกรรมการอีกไม่น้อยกว่าห้านาย เป็นผู้ควบคุมและดูแลโดยทั่วไป ซึ่งกิจการของธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ผู้ว่าการและรองผู้ว่าการ เป็นประธานและรองประธานแห่งคณะกรรมการโดยตำแหน่งตามลำดับ

มาตรา ๑๖ ให้ผู้ว่าการเป็นผู้จัดการของธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจและหน้าที่ดูแลให้การเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับของธนาคาร

ให้รองผู้ว่าการปฏิบัติงานตามหน้าที่ซึ่งผู้ว่าการมอบให้ไว้

มาตรา ๑๗ ในกรณีที่ผู้ว่าการไม่เห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของกรรมการฝ่ายข้างมาก ให้เสนอประเด็นไปยังรัฐมนตรีเพื่อชี้ขาด

มาตรา ๑๘ ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๒๐ กิจการทั้งปวงที่อยู่ในอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการนั้น ผู้ว่าการจะปฏิบัติไปก่อนก็ได้ แต่แล้วต้องเสนอต่อคณะกรรมการเพื่ออนุมัติ

มาตรา ๑๙ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งหรือถอนจากตำแหน่งซึ่งผู้ว่าการและรองผู้ว่าการโดยคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี

ส่วนกรรมการอื่น ให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งหรือถอนจากตำแหน่งโดยคำแนะนำของรัฐมนตรี

มาตรา ๒๐ การแต่งตั้งพนักงานตามจำเป็นแก่ธุรกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย การเรียกประกันจากพนักงานเพื่อจะได้ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตการกำหนดเงินเดือน โบนัส หรือเงินอื่น ๆ และการถอนจากตำแหน่ง ให้อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ


หมวด ๔
การออกบัตรธนาคาร


มาตรา ๒๑ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะออกบัตรธนาคารในราชอาณาจักร

มาตรา ๒๒ การออกและจัดการบัตรธนาคารนั้น ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดทำโดยมี “ฝ่ายออกบัตรธนาคาร” เป็นเจ้าหน้าที่ และให้แยกไว้ต่างหากจากธุรกิจอื่น ๆ

มาตรา ๒๓ จนกว่าจะถึงเวลาที่การเงินระหว่างประเทศจะได้เข้าสู่ภาวะอันประจักษ์แจ้งและมั่นคงพอสมควรแล้ว การออกและจัดการบัตรธนาคารของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น ให้อยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยระบบเงินตรา และคำว่า “ธนบัตร” ที่ใช้ในกฎหมายดังกล่าวนั้น ให้ถือว่ารวมตลอดถึง “บัตรธนาคาร” ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกด้วย

มาตรา ๒๔ นับตั้งแต่และจนถึงเวลาที่รัฐมนตรีกำหนด ธนาคารแห่งประเทศไทยจะออกธนบัตรของรัฐบาล ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยระบบเงินตราไปชั่วคราวก่อนก็ได้

มาตรา ๒๕ เพื่อความประสงค์แห่งมาตรา ๒๓ และมาตรา ๒๔ ให้มอบทุนสำรองที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเงินตรา พุทธศักราช ๒๔๗๑ หนี้สินเหนือทุนสำรองนั้นและกิจการของกองเงินตราในกรมคลัง พร้อมทั้งเงินที่อนุญาตในงบประมาณสำหรับกองนั้นให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทย สำหรับ“ฝ่ายออกบัตรธนาคาร” การมอบจะให้ทำเมื่อใดให้รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๒๖ เพื่อความประสงค์แห่งมาตรา ๒๓ และมาตรา ๒๔ และเพียงเท่าที่เกี่ยวแก่การออกและจัดการธนบัตร บัตรธนาคาร และทุนสำรองให้ใช้คำวา “ฝ่ายออกบัตรธนาคารของธนาคารแห่งประเทศไทย” และ “ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย” แทนคำว่า “กองเงินตรากรมคลัง” และ “อธิบดีกรมคลัง” ซึ่งใช้ในบรรดากฎหมายว่าด้วยระบบเงินตราทุกแห่งตามลำดับ และให้ใช้คำว่า “ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย” แทนคำว่า “รัฐมนตรี” ซึ่งใช้ในมาตรา ๑๕ และมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติเงินตรา พุทธศักราช ๒๔๗๑ และแทนคำว่า “กระทรวงการคลัง” ในข้อ ๒ แห่งกฎกระทรวงการคลังออกตามความในพระราชบัญญัติเงินตราในภาวะฉุกเฉิน พุทธศักราช ๒๔๘๔ (ฉบับที่ ๒)

มาตรา ๒๗ บัตรธนาคารของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น ให้ถือว่าเป็นเงินตราตามความหมายแห่งกฎหมายลักษณะอาญา


หมวด ๕
การธนาคาร


มาตรา ๒๘ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยประกอบธุรกิจประเภทที่พึงเป็นงานธนาคารกลาง ดังระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกา โดยมี “ฝ่ายการธนาคาร” เป็นเจ้าหน้าที่

ห้ามมิให้ธนาคารแห่งประเทศไทยประกอบธุรกิจที่มิได้ระบุให้ทำได้หรือระบุห้ามไว้ในพระราชกฤษฎีกา

มาตรา ๒๙ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศเป็นครั้งคราว แจ้งอัตรามาตรฐานที่จะซื้อหรือรับช่วงซื้อลด ซึ่งตั๋วแลกเงิน หรือตราสารพาณิชย์อย่างอื่น ที่อาจซื้อได้ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในมาตรา ๒๘


หมวด ๖
ความสัมพันธ์กับรัฐบาล


มาตรา ๓๐ ให้เป็นภารธุระของธนาคารแห่งประเทศไทยในอันที่จะรับเงินเพื่อเข้าบัญชีฝากของกระทรวงการคลัง และจ่ายเงินจำนวนต่าง ๆ ไม่เกินจำนวนลัพธ์อันเป็นสินเชื่อของบัญชีนั้น โดยกระทรวงการคลังไม่ต้องจ่ายเงินให้แก่ธนาคารนั้นเป็นค่ารักษาบัญชีที่กล่าวแล้ว และธนาคารนั้นไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยตามบัญชีฝากให้แก่กระทรวงการคลัง

เพื่อความประสงค์แห่งมาตรานี้ ให้มอบกิจการของส่วนราชการกรมบัญชีกลางและกรมคลังบางส่วน ตามจำเป็นพร้อมทั้งเงินที่อนุญาตในงบประมาณสำหรับส่วนราชการนั้นให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทย สำหรับ “ฝ่ายการธนาคาร” การมอบให้เป็นไปโดยพระราชกฤษฎีกา

มาตรา ๓๑ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีหน้าที่ทำการแลกเปลี่ยนเงินการส่งเงินไปต่างประเทศ และกิจการธนาคาร บรรดาที่เป็นของรัฐบาล และมีหน้าที่ออกและจัดการเงินกู้สำหรับรัฐบาลและองค์การสาธารณะ โดยมีข้อสัญญาและเงื่อนไขตามแต่จะได้ตกลงกัน


หมวด ๗
เงินสำรองที่ธนาคารต้องดำรงไว้


มาตรา ๓๒ ให้ทุกธนาคารดำรงเงินคงเหลือไว้เป็นเงินสำรองที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งในขณะเลิกทำงานไม่ว่าในวันใดต้องไม่น้อยกว่าที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาเป็นคราว ๆ ไป

การดำรงเงินคงเหลือสำรองนี้ ให้เริ่มตั้งแต่วันที่ได้รับคำสั่งจากธนาคารแห่งประเทศไทย

มาตรา ๓๓ ให้ทุกธนาคารส่งรายงานลับต่อผู้ว่าการ แสดงข้อความต่อไปนี้

ก. หนี้สินในราชอาณาจักรที่ต้องจ่ายเมื่อเรียกร้องและที่ต้องจ่ายโดยมีกำหนดเวลา

ข. ยอดจำนวนเงินซึ่งมีอยู่ในราชอาณาจักรเป็นธนบัตรของรัฐบาลไทยและบัตรธนาคารของธนาคารแห่งประเทศไทย

ค. ยอดจำนวนเงินซึ่งมีอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเหรียญกษาปณ์จำแนกตามชนิดราคา

ง. จำนวนเงินต่าง ๆ ที่ได้ให้กู้ยืม และยอดเงินตามตั๋วเงินที่ได้ซื้อลดในราชอาณาจักร

จ. ยอดเงินคงเหลือที่ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉ. ข้อความอื่น ๆ อันเกี่ยวกับหนี้สินหรือสินทรัพย์ตามแต่ผู้ว่าการจะต้องการ

บรรดาข้อความดังกล่าวนี้ ให้รายงานประจำสัปดาห์ตามที่เป็นอยู่ขณะเลิกทำงานทุกวันศุกร์ แต่ถ้าวันศุกร์ เป็นวันหยุดทำงานของธนาคาร ก็ให้รายงานตามที่เป็นอยู่ขณะเลิกทำงานก่อนวันหยุด

รายงานลับนี้ให้ส่งภายหลังวันที่เป็นเกณฑ์แห่งรายงานไม่ช้ากว่าสองวันอันเป็นวันทำงาน

แต่ทว่าเมื่อผู้ว่าการเป็นที่พอใจว่า ธนาคารใดไม่อาจส่งรายงานประจำสัปดาห์ได้ จะสั่งให้ธนาคารนั้นส่งรายงานประจำเดือนแทนภายในวันที่ผู้ว่าการจะกำหนดก็ได้

มาตรา ๓๔ เมื่อได้รับคำสั่งจากผู้ว่าการแล้ว ให้ธนาคารชี้แจงเพื่ออธิบายหรือขยายความในรายงานตามมาตรา ๓๓ โดยไม่ชักช้า


หมวด ๘
การสอบและตรวจบัญชี


มาตรา ๓๕ ให้ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีอำนาจและหน้าที่สอบบัญชีแสดงกิจการทั้งหลายซึ่งเกี่ยวกับทุนสำรองที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเงินตรา พุทธศักราช ๒๔๗๑ และมอบให้ธนาคารแห่งประเทศไทยตามความในมาตรา ๒๕

มาตรา ๓๖ โดยไม่เป็นการเสื่อมเสียต่ออำนาจและหน้าที่ของประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินตามมาตรา ๓๕ ให้คณะกรรมการเลือกตั้งผู้สอบบัญชีคนหนึ่งหรือมากกว่า โดยให้มีอำนาจและหน้าที่ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

ห้ามมิให้กรรมการหรือพนักงานของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้สอบบัญชีตามมาตรานี้

มาตรา ๓๗ โดยไม่เป็นการเสื่อมเสียต่ออำนาจและหน้าที่ของผู้สอบบัญชีตามมาตรา ๓๖ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งให้ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินหรือบุคคลอื่นตามแต่จะเห็นสมควร เป็นผู้ตรวจบัญชีของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อใดก็ได้


หมวด ๙
บทเบ็ดเสร็จ


มาตรา ๓๘ ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ ภาษีเสริมภาษีโรงค้า หรือภาษีการธนาคารตามประมวลรัษฎากร และบัตรธนาคารที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออก ก็ให้ยกเว้นจากอากรแสตมป์

มาตรา ๓๙ การเลิกธนาคารแห่งประเทศไทย จะทำได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ

มาตรา ๔๐ การกำหนดกิจการทั้งปวงที่จำเป็นหรือสมควรเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

กล่าวโดยเฉพาะ พระราชกฤษฎีกาอาจกำหนดข้อความดังต่อไปนี้

(ก) กิจการในหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ

(ข) ธุรกิจประเภทต่าง ๆ ที่อนุญาตให้ธนาคารแห่งประเทศไทยประกอบได้

(ค) ธุรกิจประเภทต่าง ๆ ที่ห้ามมิให้ธนาคารแห่งประเทศไทยประกอบ

(ง) จำนวนเงินคงเหลือที่ทุกธนาคารต้องดำรงไว้เป็นเงินสำรองที่ธนาคารแห่งประเทศไทย

(จ) อำนาจและหน้าที่ของผู้สอบบัญชีที่คณะกรรมการเลือกตั้งขึ้น

(ฉ) บัญชี ข้อความและรายงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องทำเสนอต่อรัฐมนตรี หรือที่ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๔๑ ห้ามมิให้บุคคลอื่นใดนอกจากธนาคารแห่งประเทศไทยใช้คำว่า “ชาติ” “รัฐ” “ประเทศไทย” หรือ “กลาง” หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเดียวกัน เป็นส่วนหนึ่งของชื่อหรือคำแสดงชื่อธนาคาร


หมวด ๑๐
บทลงโทษ


มาตรา ๔๒ ธนาคารใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ หรือมาตรา ๓๔ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาทและปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งพันบาท เรียงตามรายวันตลอดเวลาที่ยังทำการขาดตกบกพร่องอยู่

ในกรณีที่คณะบุคคลอันมิใช่นิติบุคคลกระทำการเป็นธนาคาร ได้กระทำความผิดตามความในวรรคก่อน ให้ถือว่าผู้อำนวยการของคณะบุคคลนั้นหรือผู้จัดการธนาคารนั้น เป็นผู้กระทำความผิด

มาตรา ๔๓ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๑ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

มาตรา ๔๔ ให้รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการธนาคาร พุทธศักราช ๒๔๘๐ มีอำนาจเรียกใบอนุญาตที่ออกให้ตามความในพระราชบัญญัตินั้นคืนจากธนาคารซึ่งกระทำความผิดตามมาตรา ๔๒ ได้ โดยคำแนะนำของคณะกรรมการ


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

จอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี


พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๗[3]

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับได้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้


เชิงอรรถ

แก้ไข
  1. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๙/ตอนที่ ๓๐/หน้า ๙๗๑/๕ พฤษภาคม ๒๔๘๕
  2. มาตรา ๑๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๗
  3. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๑/ตอนที่ ๖๓/หน้า ๙๓๑/๑๐ ตุลาคม ๒๔๘๗



ขึ้น

 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"