พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕/๓ มีนาคม ๒๕๕๑/หมวด ๒
มาตรา ๕[2] ให้มีธนาคารกลางเรียกว่า “ธนาคารแห่งประเทศไทย” เรียกโดยย่อว่า “ธปท.”
ให้ ธปท. เป็นนิติบุคคล มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น
มาตรา ๖[3] ให้ ธปท. มีสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพมหานคร และจะตั้งสาขา หรือสำนักงานตัวแทนขึ้น ณ ที่ใดในราชอาณาจักรก็ได้ และเมื่อได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีแล้วจะตั้งสาขาหรือสำนักงานตัวแทนขึ้นนอกราชอาณาจักรก็ได้
มาตรา ๗[4] ธปท. มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินภารกิจอันพึงเป็นงานของธนาคารกลางเพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพทางการเงิน และเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินและระบบการชำระเงิน
การดำเนินภารกิจตามวรรคหนึ่งต้องคำนึงถึงการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วย
มาตรา ๘[5] ให้ ธปท. มีอำนาจกระทำกิจการต่าง ๆ เพื่อบรรลุซึ่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๗ และอำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึงการดำเนินการดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) การออกและจัดการธนบัตรของรัฐบาลและบัตรธนาคาร
(๒) การกำหนดและดำเนินนโยบายการเงิน
(๓) การบริหารจัดการสินทรัพย์ของ ธปท.
(๔) การเป็นนายธนาคารและนายทะเบียนหลักทรัพย์ของรัฐบาล
(๕) การเป็นนายธนาคารของสถาบันการเงิน
(๖) การจัดตั้งหรือสนับสนุนการจัดตั้งระบบการชำระเงิน
(๗) การกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน
(๘) การบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราภายใต้ระบบการแลกเปลี่ยนเงินตรา รวมทั้งการบริหารจัดการสินทรัพย์ในทุนสำรองเงินตรา ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา
(๙) การควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน
(๑๐) การปฏิบัติการตามที่กฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ ธปท.
(๑๑) การกระทำการอย่างอื่นที่เกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องในการจัดการให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของ ธปท.
ในการนี้ ธปท. อาจถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครองหรือทรัพยสิทธิต่าง ๆ ดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องใด ๆ หรือก่อตั้งสิทธิหรือกระทำนิติกรรมใด ๆ ทั้งในและนอกราชอาณาจักร
มาตรา ๙[6] ห้าม ธปท. กระทำการดังต่อไปนี้
(๑) ประกอบการค้าหรือมีส่วนได้เสียโดยตรงในกิจการพาณิชย์หรืออุตสาหกรรมหรือดำเนินการอื่นใดเพื่อหากำไรกับประชาชนโดยตรง แต่ ธปท. อาจได้มาซึ่งส่วนได้เสียอันเนื่องมาจากการบังคับตามสิทธิเรียกร้องของ ธปท.
(๒) ซื้อหรือมีหุ้นในสถาบันการเงินหรือบริษัทใด เว้นแต่
- (ก) เป็นหุ้นในธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศหรือสถาบันการเงินระหว่างประเทศ
- (ข) เป็นหุ้นที่ได้จากการชำระหนี้หรือการประกันการให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้
(๓) ซื้อหรือมีไว้ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ เว้นแต่
- (ก) เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจการของ ธปท. หรือเพื่อประโยชน์แก่กิจการของ ธปท.
- (ข) เป็นการได้มาจากการชำระหนี้หรือการประกันสินเชื่อ
(๔) ให้กู้ยืมเงินในกรณีอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้
(๕) รับจ้างพิมพ์ธนบัตร บัตรธนาคาร พันธบัตร อากรแสตมป์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นใดที่มีระบบป้องกันการปลอมแปลง ตลอดจนจำหน่ายหมึกพิมพ์หรืออุปกรณ์อันเกี่ยวเนื่องกับการพิมพ์สิ่งพิมพ์ดังกล่าว เว้นแต่เป็นกรณีที่ได้กระทำกับรัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ สถาบันการเงิน หรือนิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น และโดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ธปท.
บรรดาส่วนได้เสียหรืออสังหาริมทรัพย์ที่ตกเป็นของ ธปท. ตามวรรคหนึ่ง (๑) หรือ (๓) (ข) จะต้องจำหน่ายโดยเร็วภายในห้าปีนับแต่วันที่ส่วนได้เสียหรืออสังหาริมทรัพย์นั้นตกเป็นของ ธปท. เว้นแต่จะได้ใช้อสังหาริมทรัพย์นั้นเพื่อเป็นสถานที่ประกอบกิจการหรือเพื่อใช้ประโยชน์แก่กิจการของ ธปท.
มาตรา ๑๐[7] เพื่อประโยชน์ในการจัดทำสถิติดุลการชำระเงิน ฐานะการลงทุนระหว่างประเทศ และสถิติการเงินของประเทศ ให้ ธปท. มีอำนาจสั่งให้บุคคลซึ่งทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเงินและการลงทุนระหว่างประเทศจัดส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อ ธปท. ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ ธปท.กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๑๑[8] กิจการของ ธปท. ไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม กฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน และกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ ทั้งนี้ ธปท. ต้องจัดให้มีระเบียบหรือข้อบังคับกำหนดให้พนักงานและลูกจ้างได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม กฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน และกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์
เชิงอรรถ
แก้ไข- ↑ หมวด ๒ การจัดตั้งและวัตถุประสงค์ มาตรา ๕ ถึง มาตรา ๑๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
- ↑ มาตรา ๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
- ↑ มาตรา ๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
- ↑ มาตรา ๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
- ↑ มาตรา ๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
- ↑ มาตรา ๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
- ↑ มาตรา ๑๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
- ↑ มาตรา ๑๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"