พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๖/๒๕๒๖.๐๔.๒๐

แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

Seal of the Royal Command of Thailand
Seal of the Royal Command of Thailand


พระราชบัญญัติ


บัตรประจำตัวประชาชน


พ.ศ. ๒๕๒๖




ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.


ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๖


เป็นปีที่ ๓๘ ในรัชกาลปัจจุบัน



โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวประชาชน

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้



มาตรา ๑

พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๖"


มาตรา ๒

พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป[1]


มาตรา ๓

ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๐๕


มาตรา ๔

ในพระราชบัญญัตินี้

"บัตร" หมายความว่า บัตรประจำตัวประชาชน

"ผู้ถือบัตร" หมายความว่า ผู้มีชื่อเป็นเจ้าของบัตร

"ทะเบียนบ้าน" หมายความว่า ทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร

"เจ้าพนักงานออกบัตร" หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

"เจ้าพนักงานตรวจบัตร" หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

"พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

"รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้


มาตรา ๕

ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งมีอายุตั้งแต่สิบห้าปีบริบูรณ์แต่ไม่เกินเจ็ดสิบปีบริบูรณ์และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในท้องที่ใด ต้องขอมีบัตรต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในท้องที่นั้น เว้นแต่จะเป็นบุคคลซึ่งได้รับการยกเว้นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

บุคคลซึ่งได้รับการยกเว้นตามวรรคหนึ่ง หากประสงค์จะขอมีบัตร ให้เจ้าพนักงานออกบัตรออกบัตรให้


มาตรา ๖

บัตรให้ใช้ได้หกปีนับแต่วันออกบัตร เว้นแต่บัตรที่ยังใช้ได้ในวันที่ผู้ถือบัตรมีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ให้คงใช้ได้ตลอดชีวิต

ในบัตรอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้

(๑) ชื่อ ชื่อสกุล วันเดือนปีเกิด ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน รูปถ่าย และเลขหมายประจำตัวของผู้ถือบัตร

(๒) ลายมือชื่อหรือตราลายมือชื่อ และตราประจำตำแหน่งของเจ้าพนักงานออกบัตร และวันออกบัตร

ขนาด สี และลักษณะของบัตร ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง


มาตรา ๗

ในการขอมีบัตร ผู้ขอต้องยื่นคำขอภายในกำหนดเวลาดังต่อไปนี้

(๑) เก้าสิบวันนับแต่วันที่มีอายุครบสิบห้าปีบริบูรณ์

(๒) หกสิบวันนับแต่วันที่ได้สัญชาติไทยหรือได้กลับคืนสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ

(๓) หกสิบวันนับแต่วันที่พนักงานเจ้าหน้าที่เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร

(๔) หกสิบวันนับแต่วันที่พ้นสภาพจากการได้รับยกเว้น

ในกรณีที่บัตรหมดอายุ ผู้ถือบัตรต้องขอมีบัตรภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่บัตรเดิมหมดอายุ

ในกรณีที่บัตรหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดในสาระสำคัญ ผู้ถือบัตรต้องขอมีบัตรใหม่หรือขอเปลี่ยนบัตร แล้วแต่กรณี ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่บัตรนั้นหาย ถูกทำลาย หรือชำรุด

ในกรณีที่ผู้ถือบัตรเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล หรือชื่อตัวและชื่อสกุล ผู้ถือบัตรต้องขอเปลี่ยนบัตรภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล หรือชื่อตัวและชื่อสกุลแล้วแต่กรณี

รัฐมนตรีอาจขยายกำหนดเวลาตามความในมาตรานี้ได้ตามที่เห็นสมควร โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา


มาตรา ๘

การขอมีบัตร การขอบัตรใหม่ การขอเปลี่ยนบัตรการออกบัตร การออกใบรับ และการออกใบแทนใบรับ ให้เป็นไปตามแบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการ ที่กำหนดในกฎกระทรวง

เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับคำขอและเห็นว่า คำขอนั้นมีรายการถูกต้องครบถ้วน และผู้ขอได้ปฏิบัติตามกฎกระทรวงตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ถ่ายรูปผู้ขอและออกใบรับให้แก่ผู้ขอ

ในกรณีใบรับหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดในสาระสำคัญ ให้ออกใบแทนใบรับให้แก่ผู้ขอ

ใบรับหรือใบแทนใบรับให้ใช้ได้เสมือนบัตรตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในใบรับ ในการใช้ใบรับหรือใบแทนใบรับ ให้ใช้ร่วมกันกับบัตรเดิม เว้นแต่ในกรณีขอมีบัตรเป็นครั้งแรก บัตรหายหรือถูกทำลายทั้งหมด


มาตรา ๙

ผู้ถือบัตรผู้ใดเสียสัญชาติไทยเมื่อใดไม่ว่าด้วยเหตุใด ผู้นั้นหมดสิทธิที่จะใช้บัตรนั้นทันที และต้องส่งมอบบัตรนั้นให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่แห่งท้องที่ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เสียสัญชาติไทย


มาตรา ๑๐

ผู้มีส่วนได้เสียจะขอตรวจหลักฐานหรือคัดสำเนารายการเกี่ยวกับบัตรได้ที่สำนักงานทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชน ที่ว่าการอำเภอหรือเขต หรือที่ว่าการกิ่งอำเภอ ในเวลาราชการก็ได้ และจะขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่คัดและรับรองสำเนาด้วยก็ได้


มาตรา ๑๑

ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท


มาตรา ๑๒

ผู้ถือบัตรผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗ วรรคสอง วรรคสาม หรือวรรคสี่ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท


มาตรา ๑๓

ผู้ถือบัตรผู้ใดไม่ส่งมอบบัตรตามมาตรา ๙ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสามปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


มาตรา ๑๔

ผู้ไม่มีสัญชาติไทยผู้ใดยื่นคำขอมีบัตร โดยแจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่า ตนเป็นผู้มีสัญชาติไทย หรือใช้บัตรซึ่งตนหมดสิทธิใช้ตามมาตรา ๙ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท


มาตรา ๑๕

ผู้ใดนำบัตร หรือใบรับ หรือใบแทนใบรับของผู้อื่นไปใช้แสดงว่า ตนเป็นเจ้าของบัตร หรือใบรับ หรือใบแทนใบรับ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท


มาตรา ๑๖

ผู้ใดยินยอมให้ผู้อื่นนำบัตร หรือใบรับ หรือใบแทนใบรับของตนไปใช้ในทางทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงสามปี หรือปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


มาตรา ๑๗

ผู้ถือบัตรผู้ใดไม่อาจแสดงบัตร หรือใบรับ หรือใบแทนใบรับ เมื่อเจ้าพนักงานตรวจบัตรขอตรวจ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท


มาตรา ๑๘

บรรดาคำขอที่ยื่นตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๐๕ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือเป็นคำขอที่ได้ยื่นตามพระราชบัญญัตินี้


มาตรา ๑๙

บรรดาบัตรและใบรับที่ออกตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๐๕ ให้ถือว่า เป็นบัตรหรือใบรับที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ สำหรับบัตรที่หมดอายุแล้วให้ยังคงใช้ได้ต่อไปจนถึงวันครบรอบวันเกิดของผู้ถือบัตร และให้ผู้ถือบัตรขอมีบัตรตามพระราชบัญญัตินี้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันครบรอบวันเกิด และให้นำมาตรา ๑๒ มาใช้บังคับ


มาตรา ๒๐

ให้บรรดากฎกระทรวงและประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัว ประชาชน พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ยังคงใช้ได้ต่อไป เพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติ นี้ จนกว่าจะได้มีกฎกระทรวงหรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ


มาตรา ๒๑

ผู้ใดมีอายุครบสิบห้าปีบริบูรณ์แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และเป็นบุคคลซึ่งต้องขอมีบัตรต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๕ ให้ยื่นคำขอมีบัตรต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๕ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

การกำหนดตามวรรคหนึ่ง รัฐมนตรีจะกำหนดโดยคำนึงถึงอายุของผู้ขอจากมากไปหาน้อย และท้องที่ที่จะให้บุคคลมายื่นคำขอด้วยก็ได้


มาตรา ๒๒

บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ซึ่งมีโทษปรับสถานเดียว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้ เมื่อผู้ต้องหาชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ให้ถือว่า คดีเลิกกันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา


มาตรา ๒๓

ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานออกบัตร เจ้าพนักงานตรวจบัตร และพนักงานเจ้าหน้าที่ ออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ ยกเว้นค่าธรรมเนียม และกำหนดกิจการอื่น เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้



ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ป. ติณสูลานนท์
นายกรัฐมนตรี





อัตราค่าธรรมเนียม





(๑) การออกบัตรตามมาตรา ๕ วรรคสอง ฉบับละ ๒๐ บาท

(๒) การออกบัตรใหม่หรือเปลี่ยนบัตรตามมาตรา ๗ วรรคสาม หรือวรรคสี่ ฉบับละ ๒๐ บาท

(๓) การออกใบแทนใบรับ ฉบับละ ๒๐ บาท

(๔) การขอตรวจหลักฐานหรือคัดสำเนารายการเกี่ยวกับบัตร ฉบับละ ๒๐ บาท

(๕) การคัดและรับรองสำเนารายการเกี่ยวกับบัตร ฉบับละ ๔๐ บาท





หมายเหตุ

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวประชาชนที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว และมีบทบัญญัติต่าง ๆ ที่ไม่ทันสมัยและไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวประชาชนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้



เชิงอรรถ

แก้ไข
  1. ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๐/ตอนที่ ๖๒/ฉบับพิเศษ/หน้า ๑/๒๐ เมษายน ๒๕๒๖

ขึ้น ๒ มีนาคม ๒๕๔๒

 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"