พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๖/๒๕๕๔.๐๕.๑๑
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวประชาชน
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๖"
พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป[1]
ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๐๕
ในพระราชบัญญัตินี้
"บัตร" หมายความว่า บัตรประจำตัวประชาชน
"ผู้ถือบัตร" หมายความว่า ผู้มีชื่อเป็นเจ้าของบัตร
"ทะเบียนบ้าน" หมายความว่า ทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร
"เจ้าพนักงานออกบัตร" หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
"เจ้าพนักงานตรวจบัตร" หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
"พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
"รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งมีอายุตั้งแต่เจ็ดปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกินเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ และมีชื่อในทะเบียนบ้าน ต้องมีบัตรตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้
ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งได้รับการยกเว้นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ผู้ซึ่งได้รับการยกเว้นตามกฎกระทรวงตามวรรคสอง ซึ่งมีบัตรประจำตัวตามกฎหมายอื่น ให้ใช้บัตรประจำตัวนั้นแทนได้
ผู้ซึ่งมีอายุเกินเจ็ดสิบปี และผู้ซึ่งได้รับการยกเว้นตามกฎกระทรวง จะขอมีบัตรก็ได้
ผู้ซึ่งต้องมีบัตรตามมาตรา ๕ ให้ยื่นคำขอมีบัตรต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในกำหนดหกสิบวัน นับแต่
(๑) วันที่อายุครบเจ็ดปีบริบูรณ์
(๒) วันที่ได้สัญชาติไทย สำหรับผู้ไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิด หรือได้กลับคืนสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ
(๓) วันที่นายทะเบียนเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร
(๔) วันที่พ้นสภาพจากการได้รับการยกเว้น
บัตรให้ใช้ได้นับแต่วันออกบัตร และมีอายุแปดปีนับแต่วันเกิดของผู้ถือบัตรที่ถึงกำหนดภายหลังจากวันออกบัตร
บัตรที่ยังไม่หมดอายุในวันที่ผู้ถือบัตรมีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ ให้ใช้บัตรนั้นต่อไปได้ตลอดชีวิต
ผู้ถือบัตรต้องมีบัตรใหม่ โดยยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่บัตรเดิมหมดอายุ
ผู้ถือบัตรจะขอมีบัตรใหม่ก่อนวันที่บัตรเดิมหมดอายุก็ได้ โดยยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในหกสิบวันก่อนวันที่บัตรเดิมหมดอายุ
ผู้ถือบัตรต้องมีบัตรใหม่ หรือเปลี่ยนบัตร แล้วแต่กรณี โดยยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในกำหนดหกสิบวัน นับแต่
(๑) วันที่บัตรหายหรือถูกทำลาย
(๒) วันที่บัตรชำรุดในสาระสำคัญ
(๓) วันที่แก้ไขชื่อตัว ชื่อสกุล หรือชื่อตัวและชื่อสกุลในทะเบียนบ้าน
ผู้ถือบัตรผู้ใดย้ายที่อยู่จะขอเปลี่ยนบัตรก็ได้
ในกรณีที่มีเหตุสมควร รัฐมนตรีจะขยายกำหนดเวลาตามมาตรา ๖ มาตรา ๖ ตรี หรือมาตรา ๖ จัตวา สำหรับท้องที่ใดหรือบุคคลใดก็ได้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
การขอมีบัตรตามมาตรา ๖ และการขอมีบัตรใหม่หรือขอเปลี่ยนบัตรตามมาตรา ๖ จัตวา ของผู้มีอายุไม่ถึงสิบห้าปี ให้เป็นหน้าที่ของบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลซึ่งรับดูแลผู้นั้นอยู่ เป็นผู้ยื่นคำขอ แต่ไม่เป็นการตัดสิทธิบุคคลนั้นที่จะยื่นคำขอด้วยตนเอง
ขนาด สี และลักษณะของบัตร ตลอดจนรายการในบัตร และรายละเอียดของรายการในบัตร ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ในบัตรอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อตัว ชื่อสกุล วันเดือนปีเกิด ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน รูปถ่าย และเลขประจำตัวของผู้ถือบัตร และจะมีรายการศาสนา หรือนิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนาซึ่งผู้ถือบัตรนับถืออยู่ด้วยหรือไม่ก็ได้
(๒) ลายมือชื่อ หรือตราลายมือชื่อ และตราประจำตำแหน่งของเจ้าพนักงานออกบัตร และวันออกบัตร
บัตรนอกจากจะมีรายการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๗ แล้ว จะมีหน่วยความจำเพื่อบันทึกข้อมูลอื่นของผู้ถือบัตรด้วยก็ได้ แต่ข้อมูลที่บันทึกไว้ในหน่วยความจำดังกล่าวต้องไม่สามารถเปิดเผยต่อบุคคลหรือหน่วยงานซึ่งมิใช่เป็นผู้จัดทำหรือรวบรวมข้อมูลนั้นได้ เว้นแต่เป็นข้อมูลทั่วไปที่ปรากฏอยู่บนบัตร หรือเป็นการเปิดเผยต่อหน่วยงานที่มีความจำเป็นต้องทราบข้อมูลนั้น เท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ของผู้ถือบัตร โดยได้รับความยินยอมจากผู้ถือบัตร หรือเพื่อประโยชน์ของรัฐ หรือเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
การขอมีบัตร การขอมีบัตรใหม่ การขอเปลี่ยนบัตร การออกบัตร และการออกใบรับ และการออกใบแทนใบรับ ให้เป็นไปตามแบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่สามารถออกบัตรให้ผู้ยื่นคำขอได้ในวันเดียวกัน ให้ออกใบรับแก่ผู้ยื่นคำขอ
ใบรับหรือใบแทนใบรับนั้น ให้ใช้ได้เสมือนบัตรตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในใบรับหรือใบแทนใบรับ และการใช้ใบรับหรือใบแทนใบรับให้ใช้ร่วมกับบัตรเดิม เว้นแต่เป็นกรณีการขอมีบัตรครั้งแรก หรือบัตรหาย หรือถูกทำลายทั้งหมด
ผู้ถือบัตรผู้ใดเสียสัญชาติไทยเมื่อใดไม่ว่าด้วยเหตุใด ผู้นั้นหมดสิทธิที่จะใช้บัตรนั้นทันที และต้องส่งมอบบัตรนั้นให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่แห่งท้องที่ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เสียสัญชาติไทย
ภายใต้บังคับมาตรา ๗/๑ ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงจะขอตรวจหลักฐาน รายการ หรือข้อมูลใดเกี่ยวกับบัตร และจะขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ถ่ายเอกสาร หรือคัดและรับรองสำเนาด้วยก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการขอมีบัตรตามมาตรา ๖ ผู้ซึ่งต้องมีบัตรตามมาตรา ๕ ซึ่งมีอายุตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไป หรือบุคคลซึ่งมีหน้าที่ยื่นคำขอมีบัตรแทนตามมาตรา ๖ ฉ แล้วแต่กรณี ไม่ยื่นขอมีบัตร ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท
เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการขอมีบัตรใหม่ตามมาตรา ๖ ตรี วรรคหนึ่ง หรือการขอมีบัตรใหม่หรือขอเปลี่ยนบัตรตามมาตรา ๖ จัตวา วรรคหนึ่ง ผู้ถือบัตรซึ่งมีอายุตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไป หรือบุคคลซึ่งมีหน้าที่ยื่นคำขอมีบัตรแทนตามมาตรา ๖ ฉ แล้วแต่กรณี ไม่ยื่นขอมีบัตรใหม่ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท
ในกรณีตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง หากผู้ซึ่งต้องมีบัตรหรือผู้ถือบัตรซึ่งมีอายุไม่ถึงสิบห้าปีได้ยื่นคำขอด้วยตนเองแล้ว ให้บุคคลซึ่งมีหน้าที่ยื่นคำขอแทนตามมาตรา ๖ ฉ ไม่ต้องรับโทษ
ผู้ใดเข้าถึงข้อมูลหรือเปิดเผยข้อมูลที่บันทึกไว้ในหน่วยความจำตามมาตรา ๗/๑ อันมิใช่ข้อมูลทั่วไปที่ปรากฏอยู่บนบัตรตามมาตรา ๗ โดยมิได้รับความยินยอมจากผู้ถือบัตร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่เป็นการเข้าถึงข้อมูลหรือเปิดเผยตามมาตรา ๑๐ หรือตามคำสั่งศาล หรือเข้าถึงข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐที่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลนั้นในการปฏิบัติหน้าที่
ผู้ถือบัตรซึ่งเสียสัญชาติไทยผู้ใด
(๑) ไม่ส่งมอบบัตร หรือใบรับ หรือใบแทนใบรับ ตามมาตรา ๙ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(๒) ใช้หรือแสดงบัตร หรือใบรับ หรือใบแทนใบรับ ซึ่งตนหมดสิทธิใช้ตามมาตรา ๙ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
ผู้ใด
(๑) ยื่นคำขอมีบัตรโดยมิได้มีสัญชาติไทย ด้วยการแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(๒) แจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ในการขอมีบัตรตามมาตรา ๖ หรือการขอมีบัตรใหม่ตามมาตรา ๖ ตรี หรือการขอมีบัตรใหม่หรือขอเปลี่ยนบัตรตามมาตรา ๖ จัตวา อันมิใช่เป็นกรณีตาม (๑) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(๓) ปลอมบัตร หรือใบรับ หรือใบแทนใบรับ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(๔) ใช้หรือแสดงบัตร หรือใบรับ หรือใบแทนใบรับอันเกิดจากการกระทำความผิดตาม (๑) (๒) หรือ (๓) ต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
ถ้าผู้กระทำความผิดตาม (๔) เป็นผู้กระทำความผิดตาม (๑) (๒) หรือ (๓) ด้วย ให้ลงโทษตาม (๑) (๒) หรือ (๓) แล้วแต่กรณี แต่กระทงเดียว
ถ้าผู้กระทำความผิด หรือผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔) เป็นเจ้าพนักงานออกบัตร เจ้าพนักงานตรวจบัตร หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท
ผู้ใดนำบัตร หรือใบรับ หรือใบแทนใบรับของผู้อื่นไปใช้แสดงว่า ตนเป็นเจ้าของบัตร หรือใบรับ หรือใบแทนใบรับ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท
ผู้ใดเอาไปเสียหรือยึดไว้ซึ่งบัตร หรือใบรับ หรือใบแทนใบรับของผู้อื่น เพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
ผู้ใดยินยอมให้ผู้อื่นนำบัตร หรือใบรับ หรือใบแทนใบรับของตนไปใช้ในทางทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงสามปี หรือปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ถือบัตร หรือใบรับ หรือใบแทนใบรับ ซึ่งมีอายุตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไปผู้ใด ไม่สามารถแสดงบัตร หรือใบรับ หรือใบแทนใบรับ เมื่อเจ้าพนักงานตรวจบัตรขอตรวจ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท
บรรดาคำขอที่ยื่นตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๐๕ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือเป็นคำขอที่ได้ยื่นตามพระราชบัญญัตินี้
บรรดาบัตรและใบรับที่ออกตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๐๕ ให้ถือว่า เป็นบัตรหรือใบรับที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ สำหรับบัตรที่หมดอายุแล้วให้ยังคงใช้ได้ต่อไปจนถึงวันครบรอบวันเกิดของผู้ถือบัตร และให้ผู้ถือบัตรขอมีบัตรตามพระราชบัญญัตินี้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันครบรอบวันเกิด และให้นำมาตรา ๑๒ มาใช้บังคับ
ให้บรรดากฎกระทรวงและประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัว ประชาชน พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ยังคงใช้ได้ต่อไป เพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติ นี้ จนกว่าจะได้มีกฎกระทรวงหรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ผู้ใดมีอายุครบสิบห้าปีบริบูรณ์แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และเป็นบุคคลซึ่งต้องขอมีบัตรต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๕ ให้ยื่นคำขอมีบัตรต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๕ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
การกำหนดตามวรรคหนึ่ง รัฐมนตรีจะกำหนดโดยคำนึงถึงอายุของผู้ขอจากมากไปหาน้อย และท้องที่ที่จะให้บุคคลมายื่นคำขอด้วยก็ได้
บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ซึ่งมีโทษปรับสถานเดียว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้ เมื่อผู้ต้องหาชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ให้ถือว่า คดีเลิกกันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานออกบัตร เจ้าพนักงานตรวจบัตร และพนักงานเจ้าหน้าที่ ออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ ยกเว้นค่าธรรมเนียม และกำหนดกิจการอื่น เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
- ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
- พลเอก ป. ติณสูลานนท์
- นายกรัฐมนตรี
(๑) การออกบัตรตามมาตรา ๖ จัตวา ฉบับละ ๑๐๐ บาท
(๒) การออกใบแทนใบรับ ฉบับละ ๑๐ บาท
(๓) การขอคัดและรับรองสำเนาข้อมูลเกี่ยวกับบัตร ฉบับละ ๑๐ บาท
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวประชาชนที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว และมีบทบัญญัติต่าง ๆ ที่ไม่ทันสมัยและไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวประชาชนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
เชิงอรรถ
แก้ไข- ↑ ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๐/ตอนที่ ๖๒/ฉบับพิเศษ/หน้า ๑/๒๐ เมษายน ๒๕๒๖
- ↑ มาตรา ๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๔
- ↑ มาตรา ๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๔
- ↑ มาตรา ๖ ทวิ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕
- ↑ มาตรา ๖ ตรี แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๔
- ↑ มาตรา ๖ จัตวา เพิ่มโดย พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒
- ↑ มาตรา ๖ เบญจ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๔
- ↑ มาตรา ๖ ฉ เพิ่มโดย พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๔
- ↑ มาตรา ๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒
- ↑ มาตรา ๗/๑ เพิ่มโดย พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๔
- ↑ มาตรา ๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๔
- ↑ มาตรา ๑๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๔
- ↑ มาตรา ๑๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๔
- ↑ มาตรา ๑๒ เพิ่มโดย พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๔
- ↑ มาตรา ๑๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๔
- ↑ มาตรา ๑๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๔
- ↑ มาตรา ๑๕ ทวิ เพิ่มโดย พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒
- ↑ มาตรา ๑๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๔
- ↑ อัตราค่าธรรมเนียม แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๔
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"