พระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค รัตนโกสินทรศก 127
สัญจรโรค
มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศจงทราบทั่วกัน ด้วยทรงพระราชดำริห์เห็นว่า ทุกวันนี้ หญิงบางจำพวกประพฤติตนอย่างที่เรียกว่า หญิงนครโสเภณี มีหัวหน้ารวบรวมกันตั้งโรงหาเงินขึ้นหลายตำบล แต่ก่อนมา การตั้งโรงหญิงนครโสเภณี นายโรงช่วยไถ่หญิงมาเปนทาษ รับตั๋วจากเจ้าภาษีแล้วตั้งเปนโรงขึ้น ครั้นต่อมา ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลิกทาษเสียแล้ว หญิงบางจำพวกที่สมัคเข้าเปนหญิงนครโสเภณีก็รับตั๋วจากเจ้าภาษีแล้วมีหัวหน้ารวบรวมกันตั้งโรงขึ้นในท้องที่อันควรบ้างมิควรบ้าง กระทำให้มีเหตุเกิดการวิวาทขึ้นเนือง ๆ อีกประการหนึ่ง หญิงบางคนป่วยเปนโรคซึ่งอาจจะติดต่อเนื่องไปถึงผู้ชายที่คบหาสมาคมได้ ก็มิได้มีแพทย์ตรวจตรารักษา โรคร้ายนั้นอาจจะติดเนื่องกันไปจนถึงเปนอันตรายแก่ร่างกายและชีวิตมนุษย์เปนอันมาก และยังหาได้มีกฎหมายและข้อบังคับอย่างใดสำหรับจะป้องกันทุกข์โทษไภยแห่งประชาราษฎรทั้งหลายเหล่านี้ไม่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้สืบไปดังนี้
มาตรา๑พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า พระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค รัตนโกสินทรศ๔ก๑ ๑๒๗
มาตรา๒พระราชบัญญัตินี้ เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เมื่อใด ในกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองมณฑลใด จะได้ประกาศกำหนดวันในหนังสือราชกิจจานุเบกษาภายหลัง ส่วนหัวเมืองมณฑลใดที่ไม่ได้ประกาศให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ ห้ามมิให้ตั้งโรงหญิงนครโสเภณีเปนอันขาด
มาตรา๓เมื่อได้ใช้พระราชบัญญัตินี้แล้ว ให้เลิกวิธีเก็บภาษีบำรุงถนนแต่เดิมนั้นเสีย
มาตรา๔คำว่า “เสนาบดี” หมายความว่า เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย หรือเสนาบดีกระทรวงนครบาล ผู้บังคับบัญชาการท้องที่ซึ่งได้ใช้พระราชบัญญัตินี้
คำว่า “เจ้าพนักงาน” หมายความว่า เจ้าพนักงานต่าง ๆ ซึ่งเสนาบดีเจ้ากระทรวงได้มอบให้มีหน้าที่ทำการตามพระราชบัญญัตินี้
คำว่า “หญิงนครโสเภณี” หมายความว่า หญิงที่รับจ้างทำชำเราสำส่อนโดยได้รับเงินผลประโยชน์เปนค่าจ้าง
มาตรา๕ถ้าผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งไดตั้งโรงหญิงนครโสเภณีอยู่แล้วหรือจะตั้งขึ้นใหม่ณตำบลใดตำบลหนึ่ง ควบคุมหญิงนครโสเภณีคนหนึ่งหรือหลายคนก็ดี ผู้นั้นชื่อว่า นายโรงหญิงนครโสเภณี ตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ผู้ซึ่งจะเปนนายโรงนั้น อนุญาตให้เปนได้เฉภาะแต่ผู้ที่เปนหญิงด้วยกัน
มาตรา๖ห้ามมิให้ผู้ใดผู้หนึ่งตั้งโรงหญิงนครโสเภณีโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานเปนอันขาด
มาตรา๗ถ้าผู้ใดผู้หนึ่งที่ตั้งโรงอยู่ก่อนแล้วก็ดี หรือที่จะตั้งใหม่ก็ดี ปราถนาจะตั้งโรงหญิงนครโสเภณี ก็ให้ผู้นั้นทำเรื่องราวมายื่นขออนุญาตต่อเจ้าพนักงาน เมื่อเจ้าพนักงานเห็นสมควรออกใบอนุญาตให้แล้ว จึงจะตั้งโรงหญิงนครโสเภณีได้ ใบอนุญาตนั้น ใช้ได้แต่เฉภาะนายโรงผู้นั้นผู้เดียว ห้ามมิให้เอาใบอนุญาตไปให้ผู้อื่นใช้ หรือเอาใบอนุญาตของผู้อื่นมาใช้เปนอันขาด
มาตรา๘นายโรงผู้ใดได้รับอนุญาตตั้งโรงหญิงนครโสเภณีในตำบลใดแล้ว ถ้าจะย้ายไปตั้งที่ตำบลอื่น ก็ให้ชี้แจงเหตุผลที่จะต้องย้ายไปนั้นต่อเจ้าพนักงานก่อน เมื่อเจ้าพนักงานตรวจเห็นชอบเปลี่ยนตำบลในใบอนุญาตให้แล้ว จึงจะย้ายไปได้
มาตรา๙ถ้านายโรงผู้ใดประพฤติการให้เปนที่เดือดร้อนรำคานแก่มหาชน หรือก่อเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น ซึ่งเจ้าพนักงานเห็นว่า ไม่เปนการสมควร เจ้าพนักงานมีอำนาจที่จะถอนใบอนุญาตนั้นคืนเสียทีเดียว หรือจะเรียกใบอนุญาตคืนเสียชั่วคราวหนึ่งก็ทำได้
มาตรา๑๐นายโรงทั้งปวงจะรับเลี้ยงหญิงนครโสเภณีไว้ได้ก็เฉภาะแต่หญิงนั้นมีความสมัค ถ้าหญิงนครโสเภณีผู้ใดไม่สมัคอยู่ด้วย นายโรงไม่มีอำนาจที่จะกักขังขัดขวางหญิงนครโสเภณีผู้นั้นไว้ได้ นายโรงหญิงนครโสเภณีจะต้องทำบาญชีคนที่มีประจำ หรือที่เข้ามาอยู่ใหม่ หรือไปจากโรง หรือมีเหตุล้มตายประการใด ๆ ก็ดี ยื่นชี้แจงต่อเจ้าพนักงานให้ทราบภายในกำหนด ๒๔ ชั่วโมง ตามแบบที่เจ้าพนักงานจะกำหนดให้
มาตรา๑๑ผู้เปนนายโรงหญิงนครโสเภณีนั้น จะต้องปกครองและควบคุมหญงนครโสเภณีที่อยู่ในโรงของตนให้เปนการเรียบร้อย ห้ามมิให้นายโรงรับหญิงนครโสเภณีที่มิได้มีใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานไว้ และห้ามมิให้นายโรงทำสัญญากับหญิงนครโสเภณีด้วยเรื่องออกเงินล่วงหน้าให้รับจ้างเปนหญิงนครโสเภณีอยู่กับตนเปนอันขาด ถ้าสัญญาเช่นนี้มีขึ้น ก็เปนอันใช้ไม่ได้
มาตรา๑๒นายโรงหญิงนครโสเภณีจะต้องตรวจตราดูแลรักษาและจัดโรงของตนให้เปนไปดังนี้ คือ—
๑หน้าโรงต้องเปนที่กำบังปกปิดมิดชิด อย่าให้คนเดิรทางไปมาแลเห็นตลอดเข้าไปในโรงนั้นได้
๒หน้าโรง หลังโรง และบริเวณของโรงนั้นต้องให้สอาด ปราศจากสิ่งโสโครกและสิ่งที่รกรุงรังต่าง ๆ
๓ต้องมีโคมแขวนไว้หน้าโรงเปนเครื่องหมายด้วย
๔ห้ามมิให้นายโรงทำที่กักขังหญิงนครโสเภณี
๕ห้ามมิให้ผู้ใดผู้หนึ่งเลี้ยงเด็กหญิงอันมีอายุต่ำกว่า ๑๕ ปีลงมาไว้ในโรงของตนเปนอันขาด
มาตรา๑๓ถ้านายโรงหญิงนครโสเภณีจัดเครื่องทองเงินรูปภัณฑ์ หรือเครื่องประดับเพ็ชร์พลอย เครื่องนุ่งห่ม ให้หญิงนครโสเภณีตกแต่งหรือยืมใช้ แม้ของเหล่านั้นจะเปนอันตรายสูญหายไป นายโรงจะฟ้องหาว่า หญิงนครโสเภณีลักขะโมยหรือยักยอก ไม่ได้
มาตรา๑๔ผู้จะตั้งโรงหญิงนครโสเภณีต้องเสียเงินค่ารับใบอนุญาตเปนนายโรงฉบับละ ๓๐ บาท ในใบอนุญาตนั้น ให้มีกำหนดเวลาไม่เกินกว่า ๓ เดือนนับตั้งแต่วันที่ได้ลงในใบอนุญาตและได้จดทะเบียนไว้เป็นต้นไป
มาตรา๑๕ถ้าหญิงผู้ใดสมัคเปนหญิงนครโสเภณี ให้หญิงผู้นั้นมาขอรับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ก่อน เมื่อเจ้าพนักงานเห็นสมควรและออกใบอนุญาตให้แล้ว จึงจะไปเปนหญิงนครโสเภณีได้ และใบอนุญาตนั้นให้ใช้ได้แต่เฉภาะตัว ห้ามมิให้ใช้ใบอนุญาตของผู้อื่น หรือเอาใบอนุญาตของตัวไปให้ผู้อื่นใช้เปนอันขาด
มาตรา๑๖ห้ามมิให้หญิงนครโสเภณีผู้ใดผู้หนึ่งแสดงกิริยาอาการให้เปนที่รำคานแก่ผู้คนที่เดิรผ่านไปมาภายนอกโรง เช่น ยื้อแย่งฉุดคร่าล้อเลียน เปนต้น
มาตรา๑๗ถ้าหญิงนครโสเภณีผู้ใดสมัคจะเข้าอยู่ในโรงใดแล้ว ภายหลังไม่พอใจจะอยู่ในโรงนั้น จะย้ายไปอยู่ในโรงอื่น ก็ให้หญิงผู้นั้นชี้แจงขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานก่อน เมื่อเจ้าพนักงานเห็นสมควรและอนุญาตให้แล้ว จึงจะย้ายไปได้
มาตรา๑๘ถ้าหญิงนครโสเภณีผู้ใดกลับใจจะละความประพฤติเปนหญิงนครโสเภณีมาขอถอนใบอนุญาตและหักทะเบียน ก็ให้เจ้าพนักงานถอนใบอนุญาตและหักทะเบียนให้ตามควรประสงค์ของหญิงผู้นั้น
มาตรา๑๙ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตเปนหญิงนครโสเภณีจะต้องเสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฉบับละ ๑๒ บาท และให้มีกำหนดเวลาอนุญาตไม่เกินกว่า ๓ เดือนครั้งหนึ่งนับตั้งแต่วันที่ลงใบอนุญาตเปนต้นไป
มาตรา๒๐เมื่อมีผู้มาขอตั้งโรงหญิงนครโสเภณีณท้องที่ตำบลใด ให้เจ้าพนักงานสอบสวนก่อนว่า ที่นั้นจะควรอนุญาตให้ตั้งหรือไม่ เมื่อเห็นสมควรและได้รับอนุมัติจากเสนาบดีหรือข้าหลวงเทศาภิบาลแล้ว จึงให้ออกใบอนุญาตให้
มาตรา๒๑ให้เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตทำบาญชีโรงหญิงนครโสเภณีที่ได้ออกใบอนุญาตยื่นต่อเสนาบดีกระทรวงนครบาลหรือข้าหลวงเทศาภิบาลผู้บังคับบัญชาการท้องที่ซึ่งได้ใช้พระราชบัญญัตินี้ทุก ๆ เดือน เพื่อได้ทราบว่า ผู้ใดได้ตั้งโรงหญิงนครโสเภณีที่ตำบลใด มีจำนวนหญิงนครโสเภณีเท่าใด ได้ถอนใบอนุญาตเสียหรือเลิกไปโดยเหตุประการใดเท่าใด คงมีตั้งอยู่เท่าใด เจ้าพนักงานจะต้องคอยคะวังแก้ไขให้ถูกต้องเสมอ
มาตรา๒๒ถ้าหญิงผู้ใดจะขอรับอนุญาตเปนหญิงนครโสเภณี ให้เจ้าพนักงานสอบสวนให้ได้ความดังนี้ก่อน คือ
๑ผู้จะรับใบอนุญาตมีอายุเกินกว่า ๑๕ ปีแล้วหรือยัง
๒เปนผู้สมัครด้วยตนเองหรือไม่
๓เปนผู้ที่ไม่มีโรคที่จะติดต่อกันได้หรืออย่างไร เมื่อพร้องทั้ง ๓ อย่างนี้แล้ว จึงให้ออกใบอนุญาตให้
มาตรา๒๓ใบอนุญาตนั้นให้ลงวันเดือนปีที่ออก และวันเดือนปี อายุ ตำหนิรูปพรรณของหญิง และตำบลที่หญิงนครโสเภณีผู้นั้นจะอยู่โดยลำพังตนเองหรือในโรงหนึ่งโรงใดให้ชัดเจน แล้วให้หญิงนั้นกดลายมือไว้เปนสำคัญด้วย
มาตรา๒๔บรรดาใบอนุญาตที่เจ้าพนักงานออกให้แก่ผู้ตั้งโรงหญิงนครโสเภณีนั้น ให้ลงตำบลที่ตั้งและวันเดือนปีที่ได้ออกไปด้วย
มาตรา๒๕ถ้าเจ้าพนักงานจะตรวจใบอนุญาตของหญิงนครโสเภณีผู้ใด เวลาใด หญิงนครโสเภณีผู้นั้นต้องยอมให้เจ้าพนักงานตรวจในเวลานั้น ถ้าไม่มีใบอนุญาต ก็ให้จัดการตามพระราชบัญญัติ
มาตรา๒๖ถ้าเจ้าพนักงานเห็นว่า หญิงนครโสเภณีผู้ใดจะเปนโรคติดต่อกันได้ จะส่งให้แพทย์ตรวจโรคหญิงนครโสเภณีผู้นั้นเวลาใดเมื่อใดก็ได้ นายโรงต้องยอมให้แพทย์ตรวจทุกเวลา
มาตรา๒๗ถ้ามีข้อควรสงไสยว่า หญิงนครโสเภณีผู้ใดป่วยเปนโรคซึ่งอาจจะติดต่อกันได้ ก็ให้นำตัวหญิงผู้นั้นมาให้เจ้าพนักงานแพทย์ตรวจณที่ซึ่งได้จัดไว้ เมื่อเห็นว่า ผู้นั้นป่วยเปนโรคซึ่งอาจจะติดต่อกันได้จริง ก็อย่าให้เจ้าพนักงานออกใบอนุญาตให้ หรือเปนผู้ที่ถือใบอนุญาตอยู่แล้ว ก็ให้เรียกใบอนุญาตคืนเสียชั่วคราวหนึ่ง แลวให้ส่งตัวหญิงผู้นั้นไปรักษาณโรงพยาบาลกว่าจะหาย หรือว่า สมัคจะรักษาตนเองณที่ใด ๆ ก็ได้ และเมื่อผู้นั้นหายป่วยเปนปรกติแล้วได้นำหนังสือสำคัญของแพทย์มายื่นขอรับใบอนุญาต ก็ให้เจ้าพนักงานออกใบอนุญาตให้
มาตรา๒๘ผู้ใดตั้งโรงหญิงนครโสเภณีโดยไม่มีใบอนุญาต หรือเอาใบอนุญาตของผู้อื่นมาใช้ ให้มีโทษปรับเปนเงินคราวหนึ่งไม่เกินกว่า ๒๐๐ บาท หรือจำคุกมีกำหนดไม่เกินกว่า ๖ เดือน หรือทั้งปรับและจำด้วยทั้ง ๒ สถาน
มาตรา๒๙ถ้าผู้ใดย้ายโรงหญิงนครโสเภณีไปตั้งในที่ ๆ ยังไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานก็ดี หรือขัดขวางหญิงนครโสเภณีซึ่งไม่มีความสมัคจะอยู่ด้วยต่อไปไว้ก็ดี หรือรับหญิงที่ยังไม่ได้มีใบอนุญาตเปนหญิงนครโสเภณีไว้ก็ดี หรือทำการขัดขวางไม่ยอมให้เจ้าพนักงานต่าง ๆ ซึ่งมีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติตรวจใบอนุญาตและตรวจโรคในตัวก็ดี ผู้นั้นมีความผิด ให้ปรับเปนเงินคราวหนึ่งไม่เกินกว่า ๑๐๐ บาท หรือจำคุกมีกำหนดไม่เกิน ๓ เดือน หรือทั้งปรับและจำด้วยทั้ง ๒ สถาน
มาตรา๓๐ถ้าหญิงผู้ใดมาขอรับใบอนุญาตเปนหญิงนครโสเภณี แต่อายุของตนยังไม่ครบ ๑๕ ปี แกล้งหลอกลวงเจ้าพนักงานว่า ตนมีอายุเกินกว่า ๑๕ ปีดังว่าไว้ในมาตรา ๒๒ ก็ดี หรือกระทำการล่วงเลมิดไม่ขอใบอนุญาตสำหรับตัวก่อนประพฤติตนเปนหญิงนครโสเภณีก็ดี หรือเอาใบอนุญาตของผู้อื่นมาใช้ตามความในมาตรา ๑๕ ก็ดี ผู้นั้นมีความผิด ให้ปรับเปนเงินคราวหนึ่งไม่เกินกว่า ๑๐๐ บาท หรือจำคุกมีกำหนดไม่เกินกว่า ๓ เดือน หรือทั้งปรับและจำด้วยทั้ง ๒ สถาน
มาตรา๓๑ถ้าหญิงนครโสเภณีผู้ใดกระทำการทุราจารแก่ผู้ที่เดิรทางไปมาภายนอกโรงตามความในมาตรา ๑๖ ก็ดี หรือย้ายจากโรงที่อยู่ซึ่งได้รับอนุญาตไว้เดิมไปอยู่โรงอื่นก่อนได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามความในมาตรา ๑๗ ก็ดี ผู้นั้นมีความผิด ให้ปรับเปนเงินคราวนั้นไม่เกินกว่า ๒๐ บาท หรือจำคุกมีกำหนดไม่เกินกว่า ๑ เดือน หรือทั้งปรับและจำด้วยทั้ง ๒ สถาน
มาตรา๓๒ห้ามมิให้ผู้ใดผู้หนึ่งบังคับ กดขี่ หรือล่อลวงหญิงผู้ใดผู้หนึ่งที่ไม่สมัคเปนหญิงนครโสเภณีจนกระทำให้หญิงผู้นั้นต้องจำใจเปนหญิงนครโสเภณีด้วยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่งเปนอันขาด ถ้าผู้ใดข่มขืนหญิงให้เปนหญิงนครโสเภณีด้วยอุบายประการใด ๆ ก็ดี ผู้นั้นมีโทษตามพระราชบัญญัติลักษณะข่มขืนล่วงประเวณี
มาตรา๓๓ให้เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยและเสนาบดีกระทรวงนครบาลเปนผู้รักษาการให้เปนไปตามพระราชบัญญัตินี้ทุกประการ และเมื่อเห็นจำเปนจะต้องมีกฎข้อบังคับเพื่อให้เจ้าพนักงาน และเจ้าของโรงหญิงนครโสเภณี หรือตัวหญิงนครโสเภณี ประพฤติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติด้วยประการใด ๆ ก็ให้ตั้งกฎข้อบังคับสำหรับประกอบพระราชบัญญัตินี้ใช้ เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตและประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว ก็ให้ใช้กฎข้อบังคับนั้นเหมือนดังส่วนหนึ่งแห่งพระราชบัญญัตินี้
ประกาศมาณวันที่ ๑๓ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๖ เปนวันที่ ๑๔๓๖๗ ในรัชกาลปัตยุบันนี้ ๚
บรรณานุกรม
แก้ไข- "พระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค รัตนโกสินทรศก 127". (ร.ศ. 126 (พ.ศ. 2450), 22 มีนาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 24, ตอน 51. หน้า 1365–1370.
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"