พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวิดิทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยภาพยนตร์และกฎหมายว่าด้วยการควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๓ มาตรา ๔๑ มาตรา ๔๓ และมาตรา ๔๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
(๑) พระราชบัญญัติภาพยนตร์ พุทธศักราช ๒๔๗๓
(๒) พระราชบัญญัติภาพยนตร์ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๗๙
(๓) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๐๕ ลงวันที่ ๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๑๕
(๔) พระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๓๐
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“ภาพยนตร์” หมายความว่า วัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง แต่ไม่รวมถึงวีดิทัศน์
“วีดิทัศน์” หมายความว่า วัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่องในลักษณะที่เป็นเกมการเล่น คาราโอเกะที่มีภาพประกอบหรือลักษณะอื่นใดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
“ภาพยนตร์ไทย” หมายความว่า ภาพยนตร์ที่ใช้ภาษาไทยหรือภาษาท้องถิ่นของประเทศไทยทั้งหมดหรือเป็นส่วนใหญ่ในบทภาพยนตร์ต้นฉบับสำหรับการแสดงภาพยนตร์และเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นผู้มีสัญชาติไทย
“สร้างภาพยนตร์” หมายความว่า การผลิต ถ่าย อัด บันทึก หรือทำด้วยวิธีการใด ๆ เพื่อให้เป็นภาพยนตร์
“ฉาย” หมายความว่า การนำภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์มากระทำให้ปรากฏภาพ หรือภาพและเสียงด้วยเครื่องฉาย หรือเครื่องมืออื่นใด และให้หมายความรวมถึงการถ่ายทอดด้วย
“สื่อโฆษณา” หมายความว่า สิ่งที่ใช้เป็นสื่อในการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ แล้วแต่กรณี
“โรงภาพยนตร์” หมายความว่า สถานที่ฉายภาพยนตร์ ดังต่อไปนี้ ทั้งนี้ เท่าที่มิได้อยู่ภายใต้บังคับตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
(๑) อาคารหรือส่วนใดของอาคารที่ใช้เป็นสถานที่สำหรับฉายภาพยนตร์
(๒) สถานที่กลางแจ้งสำหรับฉายภาพยนตร์
(๓) สถานที่อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
“ร้านวีดิทัศน์” หมายความว่า สถานที่ที่จัดให้มีเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกในการฉาย เล่น หรือดูวีดิทัศน์
“หมายเลขรหัส” หมายความว่า หมายเลขที่กำหนดสำหรับภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ที่ผ่านการพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการแล้ว
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ
“กรรมการ” หมายความว่า กรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ
“นายทะเบียน” หมายความว่า นายทะเบียนกลางหรือนายทะเบียนประจำจังหวัด แล้วแต่กรณี
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งให้มีอำนาจเข้าไปในสถานที่สร้างภาพยนตร์ จะต้องเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าข้าราชการพลเรือนสามัญระดับเจ็ดหรือเทียบเท่า
“เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นในกระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๕ ให้เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นนายทะเบียนกลางมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้และเป็นนายทะเบียนประจำกรุงเทพมหานคร
ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งนายทะเบียนประจำจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ภายในเขตจังหวัดของตน
มาตรา ๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งนายทะเบียน พนักงานเจ้าหน้าที่ กับออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ และกำหนดกิจการอื่นหรือออกประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของตน
กฎกระทรวงและประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
มาตรา ๗ ให้มีคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นรองประธานกรรมการคนที่สอง ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งไม่เกินสิบเอ็ดคน เป็นกรรมการ และให้ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมเป็นกรรมการและเลขานุการ
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่งต้องประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาพยนตร์ วีดิทัศน์ โทรทัศน์ หรือการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งมิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เว้นแต่อาจารย์ในสถาบันการศึกษาของรัฐ ด้านละหนึ่งคน และผู้แทนนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ จำนวนเจ็ดคน
มาตรา ๘ ให้สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรมทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการรับผิดชอบงานธุรการ งานประชุม การศึกษาข้อมูล และกิจการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับงานของคณะกรรมการ
มาตรา ๙ คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) เสนอนโยบาย แผน และยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการประกอบอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ต่อคณะรัฐมนตรี
(๒) กำหนดมาตรการในการส่งเสริมให้มีการสร้างภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่มีลักษณะสร้างสรรค์ ส่งเสริมการเรียนรู้ หรือมีคุณค่าในทางศิลปวัฒนธรรมในรูปแบบที่คนทุกกลุ่มรวมทั้งคนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้
(๓) เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับภาพยนตร์และวีดิทัศน์
(๔) เสนอคำแนะนำต่อรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวงและประกาศตามพระราชบัญญัตินี้
(๕) ออกประกาศกำหนดสัดส่วนระหว่างภาพยนตร์ไทยและภาพยนตร์ต่างประเทศที่จะนำออกฉายในโรงภาพยนตร์ตาม (๑) ของบทนิยามคำว่า “โรงภาพยนตร์” ในมาตรา ๔
(๖) พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนและคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์
(๗) ปฏิบัติการอื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการหรือตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย
ประกาศตาม (๕) ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ให้กระทรวงวัฒนธรรมกำหนดหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตามนโยบาย แผน ยุทธศาสตร์ และมาตรการที่คณะกรรมการเสนอหรือกำหนดตาม (๑) และ (๒)
มาตรา ๑๐ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) มีสัญชาติไทย
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์
(๓) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
(๔) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๕) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
(๖) ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ
มาตรา ๑๑ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งมีวาระการดำรงตำแหน่งสามปี
ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ แต่ยังมิได้แต่งตั้งกรรมการใหม่ให้กรรมการนั้นปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่าจะได้แต่งตั้งกรรมการใหม่
กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้
มาตรา ๑๒ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) รัฐมนตรีให้ออก เพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ
(๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๐
มาตรา ๑๓ ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระให้รัฐมนตรีแต่งตั้งผู้อื่นดำรงตำแหน่งแทน และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน เว้นแต่วาระของกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึงเก้าสิบวันจะไม่ดำเนินการเพื่อให้มีการแต่งตั้งกรรมการแทนก็ได้
มาตรา ๑๔ การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการคนใดคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการหรือรองประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการซึ่งมาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
ในการประชุมถ้ามีการพิจารณาเรื่องที่กรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสีย กรรมการผู้นั้นไม่มีสิทธิเข้าร่วมประชุม
มาตรา ๑๕ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือดำเนินการตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้
ให้นำความในมาตรา ๑๔ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม
มาตรา ๑๖ ให้มีคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์คณะหนึ่งหรือหลายคณะ โดยแต่ละคณะให้ประกอบด้วยบุคคลซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งตามข้อเสนอของคณะกรรมการ
คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๑๘ (๑) ให้มีจำนวนไม่เกินเก้าคน โดยแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านการต่างประเทศ ภาพยนตร์ ศิลปวัฒนธรรม สื่อสารมวลชน หรือสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการภาพยนตร์
คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๑๘ (๒) (๓) (๔) และ (๕) ให้มีจำนวนไม่เกินเจ็ดคน โดยแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาพยนตร์ วีดิทัศน์ โทรทัศน์ ศิลปวัฒนธรรม หรือการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งต้องแต่งตั้งจากเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนไม่เกินสี่คนและจากภาคเอกชนจำนวนไม่เกินสามคน
มาตรา ๑๗ ให้สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ รับผิดชอบงานธุรการ งานประชุม การศึกษาข้อมูล และกิจการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับงานของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตามมาตรา ๑๘ (๒) (๓) (๔) (๕) และ (๖)
ให้สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยวทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ รับผิดชอบงานธุรการ งานประชุม การศึกษาข้อมูล และกิจการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับงานของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตามมาตรา ๑๘ (๑)
มาตรา ๑๘ คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) อนุญาตการสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักร
(๒) ตรวจพิจารณาและกำหนดประเภทภาพยนตร์ที่จะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักร
(๓) อนุญาตการนำวีดิทัศน์ออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักร
(๔) อนุญาตการนำสื่อโฆษณาออกโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ในราชอาณาจักร
(๕) อนุญาตการส่งภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ออกไปนอกราชอาณาจักร
(๖) ปฏิบัติการอื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์หรือตามที่รัฐมนตรีหรือคณะกรรมการมอบหมาย
มาตรา ๑๙ ให้นำความในมาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ มาตรา ๑๒ มาตรา ๑๓ มาตรา ๑๔ และมาตรา ๑๕ มาใช้บังคับแก่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยอนุโลม
มาตรา ๒๐ ผู้ใดประสงค์จะสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักร ให้ยื่นคำขออนุญาตพร้อมด้วยบทภาพยนตร์ เค้าโครง และเรื่องย่อของภาพยนตร์ที่จะสร้างต่อสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว และต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์และหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบสถานที่ที่จะใช้สร้างภาพยนตร์ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๒๑ ผู้รับอนุญาตตามมาตรา ๒๐ ต้องดำเนินการสร้างภาพยนตร์ตามบทภาพยนตร์และเค้าโครงตลอดจนเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาต โดยคำนึงถึงฉากที่ถ่ายทำ บทสนทนา และสถานที่ถ่ายทำเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ สภาพสังคม และสิ่งแวดล้อม
มาตรา ๒๒ การสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักรดังต่อไปนี้ ไม่ต้องขออนุญาต
(๑) ภาพยนตร์ข่าวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
(๒) ภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นเพื่อดูเป็นการส่วนตัว
(๓) ภาพยนตร์ที่มีการสร้างในต่างประเทศและได้นำมาใช้บริการตามกระบวนการหลังการถ่ายทำภาพยนตร์ในราชอาณาจักร ซึ่งได้แจ้งต่อสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยวตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
(๔) ภาพยนตร์อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๒๓ ผู้สร้างภาพยนตร์ต้องดำเนินการสร้างภาพยนตร์ในลักษณะที่ไม่เป็นการบ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคง และเกียรติภูมิของประเทศไทย
ผู้สร้างภาพยนตร์ผู้ใดสงสัยว่าการสร้างภาพยนตร์ของตนจะเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคหนึ่ง อาจขอให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์พิจารณาให้ความเห็นในเรื่องนั้นก่อนดำเนินการสร้างได้ ในกรณีนี้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์จะต้องให้ความเห็นและแจ้งให้ผู้ซึ่งขอความเห็นทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ได้รับคำขอ ถ้าไม่แจ้งภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวให้ถือว่าคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ให้ความเห็นชอบแล้ว
การขอความเห็นและค่าป่วยการในการให้ความเห็นให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ค่าป่วยการที่ได้รับให้นำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน การใดที่ได้กระทำไปตามความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคหนึ่ง
มาตรา ๒๔ ในกรณีที่การสร้างภาพยนตร์มีผลกระทบหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของรัฐหรือสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ผู้สร้างภาพยนตร์ต้องดำเนินการปรับปรุงสิ่งดังกล่าวให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม ทั้งนี้ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
มาตรา ๒๕ ภาพยนตร์ที่จะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักรต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์
การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๒๖ ในการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ตามมาตรา ๒๕ ให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์กำหนดด้วยว่าภาพยนตร์ดังกล่าวจัดอยู่ในภาพยนตร์ประเภทใด ดังต่อไปนี้
(๑) ภาพยนตร์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้และควรส่งเสริมให้มีการดู
(๒) ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ดูทั่วไป
(๓) ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบสามปีขึ้นไป
(๔) ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไป
(๕) ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบแปดปีขึ้นไป
(๖) ภาพยนตร์ที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีดู
(๗) ภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร
ความใน (๖) มิให้ใช้บังคับแก่ผู้ดูซึ่งบรรลุนิติภาวะโดยการสมรส
หลักเกณฑ์ในการกำหนดว่าภาพยนตร์ลักษณะใดควรจัดอยู่ในภาพยนตร์ประเภทใดให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๒๗ ภาพยนตร์ดังต่อไปนี้ ไม่ต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตตามมาตรา ๒๕
(๑) ภาพยนตร์ข่าวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
(๒) ภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นเพื่อดูเป็นการส่วนตัว
(๓) ภาพยนตร์ที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐสร้างขึ้น เพื่อเผยแพร่หรือส่งเสริมการดำเนินงานของหน่วยงานนั้น
(๔) ภาพยนตร์ที่ฉายในเทศกาลภาพยนตร์ระหว่างประเทศตามที่คณะกรรมการกำหนด
(๕) ภาพยนตร์ที่ฉายทางโทรทัศน์และผ่านการตรวจพิจารณาตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แล้ว
(๖) ภาพยนตร์อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ภาพยนตร์ตาม (๒) (๔) และ (๖) หากนำออกฉายเป็นการทั่วไป ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักร ต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตตามมาตรา ๒๕
ภาพยนตร์ตาม (๕) หากนำออกฉายทางสื่อประเภทอื่น หรือนำออกให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักร ต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตตามมาตรา ๒๕
มาตรา ๒๘ การตรวจพิจารณาและกำหนดประเภทภาพยนตร์ที่ฉายทางโทรทัศน์ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ให้นำความในมาตรา ๒๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ภาพยนตร์ตามมาตรา ๒๖ (๕) และ (๖) ให้ฉายทางโทรทัศน์ได้ในระหว่างเวลาที่คณะกรรมการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๒๙ ในการพิจารณาอนุญาตภาพยนตร์ตามมาตรา ๒๕ ถ้าคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์เห็นว่าภาพยนตร์ใดมีเนื้อหาที่เป็นการบ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศไทย ให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์มีอำนาจสั่งให้ผู้ขออนุญาตแก้ไขหรือตัดทอนก่อนอนุญาต หรือจะไม่อนุญาตก็ได้
ภาพยนตร์ที่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตตามมาตรา ๒๕ มิให้ถือว่าภาพยนตร์นั้นมีลักษณะที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคหนึ่ง
มาตรา ๓๐ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๙ การอนุญาตให้นำภาพยนตร์ออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักร ไม่คุ้มครองผู้รับอนุญาตตามมาตรา ๒๕ ให้พ้นจากความรับผิดในทางแพ่ง ทางอาญา หรือจากการกระทำที่ต้องรับผิดตามกฎหมายอื่นอันเกิดจากการฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์
มาตรา ๓๑ ให้นายทะเบียนกลางกำหนดหมายเลขรหัสและประทับตราเครื่องหมายการอนุญาต ประเภทของภาพยนตร์ และหมายเลขรหัสลงบนภาพยนตร์ที่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตตามมาตรา ๒๕
ในกรณีที่นายทะเบียนกลางเห็นสมควรอาจสั่งให้ผู้ยื่นคำขออัดหรือบันทึกคำบอกแจ้งว่าภาพยนตร์ดังกล่าวได้ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาต รวมทั้งประเภทของภาพยนตร์ไว้บนภาพยนตร์และบนหีบห่อที่บรรจุภาพยนตร์นั้นด้วยก็ได้
การกำหนดหมายเลขรหัส ลักษณะเครื่องหมายการอนุญาตและประเภทของภาพยนตร์ หรือคำบอกแจ้งว่าภาพยนตร์ได้ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตแล้วให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
มาตรา ๓๒ ให้นายทะเบียนกลางเก็บสำเนาภาพยนตร์ที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๒๕ ไว้เพื่อใช้ในการตรวจสอบหนึ่งชุด
ให้นายทะเบียนกลางส่งสำเนาภาพยนตร์ที่หมดความจำเป็นต้องใช้ในการตรวจสอบให้หอภาพยนตร์แห่งชาติเพื่อเก็บรักษาไว้
เพื่อประโยชน์ในการเก็บรักษา สำเนาภาพยนตร์จะจัดทำในรูปของวัสดุใดก็ได้
มาตรา ๓๓ ให้นำความในมาตรา ๒๕ มาตรา ๒๙ มาตรา ๓๐ มาตรา ๓๑ และมาตรา ๓๒ วรรคหนึ่ง รวมทั้งบทกำหนดโทษที่เกี่ยวข้อง มาใช้บังคับแก่สื่อโฆษณาภาพยนตร์โดยอนุโลม
มาตรา ๓๔ ห้ามผู้ใดส่งภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นในราชอาณาจักรออกไปนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์
การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๓๕ การส่งภาพยนตร์ดังต่อไปนี้ออกไปนอกราชอาณาจักร ไม่ต้องได้รับอนุญาตตามมาตรา ๓๔
(๑) ภาพยนตร์ที่ได้รับอนุญาตให้สร้างตามมาตรา ๒๐
(๒) ภาพยนตร์ตามมาตรา ๒๒
(๓) ภาพยนตร์ที่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตามมาตรา ๒๕
(๔) ภาพยนตร์ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตตามมาตรา ๒๗ วรรคหนึ่ง
มาตรา ๓๖ การพิจารณาและอนุญาตตามมาตรา ๒๕ มาตรา ๓๓ และมาตรา ๓๔ คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ ถ้าพิจารณาไม่เสร็จภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวให้ถือว่าอนุญาต
มาตรา ๓๗ ห้ามผู้ใดประกอบกิจการโรงภาพยนตร์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน
ใบอนุญาตนั้น ให้ออกสำหรับโรงภาพยนตร์แต่ละโรง ยกเว้นใบอนุญาตประกอบกิจการโรงภาพยนตร์ตาม (๒) ของบทนิยามคำว่า “โรงภาพยนตร์” ในมาตรา ๔ ให้ใช้ได้ทั่วราชอาณาจักร
การขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๓๘ ห้ามผู้ใดประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน
ใบอนุญาตนั้น ให้ออกสำหรับสถานที่ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์แต่ละแห่ง
การขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๓๙ ผู้ที่จะขออนุญาตประกอบกิจการตามมาตรา ๓๗ หรือมาตรา ๓๘ ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์
(๒) ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี
(๓) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๔) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดเกี่ยวกับเพศตามประมวลกฎหมายอาญา
(๕) ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตตามมาตรา ๓๗ หรือมาตรา ๓๘
(๖) ไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา ๓๗ หรือมาตรา ๓๘ เว้นแต่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตและเวลาได้ล่วงพ้นมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
ในกรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้ขออนุญาต กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบในการดำเนินการของนิติบุคคลนั้นต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในวรรคหนึ่ง
มาตรา ๔๐ ใบอนุญาตตามมาตรา ๓๗ และมาตรา ๓๘ ให้มีอายุห้าปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต
การขอต่ออายุใบอนุญาต ให้ผู้รับใบอนุญาตยื่นคำขอก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุและเมื่อได้ยื่นคำขอดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าผู้ยื่นคำขออยู่ในฐานะผู้รับใบอนุญาตจนกว่าจะได้รับแจ้งคำสั่งไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต
การขอต่ออายุใบอนุญาตและการให้ต่ออายุใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๔๑ ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๓๗ และมาตรา ๓๘ ต้องแสดงใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ สถานที่ประกอบกิจการ
มาตรา ๔๒ ถ้าใบอนุญาตสูญหาย ถูกทำลาย หรือบกพร่องในสาระสำคัญให้ผู้รับใบอนุญาตแจ้งต่อนายทะเบียนและยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบถึงกรณีดังกล่าว
การขอใบแทนใบอนุญาตและการออกใบแทนใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๔๓ ภาพยนตร์ที่ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๓๗ หรือมาตรา ๓๘ จะมีไว้ในสถานที่ประกอบกิจการของตนเพื่อนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายจะต้องเป็นภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาสาระเช่นเดียวกับภาพยนตร์ที่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตตามมาตรา ๒๕ และมีการแสดงเครื่องหมายการอนุญาต ประเภทของภาพยนตร์และหมายเลขรหัสเช่นเดียวกับมาตรา ๓๑
มาตรา ๔๔ ให้ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๓๗ แจ้งประเภทของภาพยนตร์ที่นำออกฉายแต่ละเรื่องไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ชัดเจนในบริเวณโรงภาพยนตร์
ห้ามผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๓๗ ยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้ผู้ซึ่งมีอายุต่ำกว่าที่กำหนดตามมาตรา ๒๖ (๖) เข้าไปในโรงภาพยนตร์ในระหว่างที่ทำการฉายภาพยนตร์ที่จัดอยู่ในประเภทดังกล่าว
มาตรา ๔๕ ห้ามผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๓๘ ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์ที่จัดอยู่ในประเภทตามมาตรา ๒๖ (๖) ให้แก่ผู้ซึ่งมีอายุต่ำกว่าที่กำหนดไว้สำหรับภาพยนตร์ประเภทดังกล่าว
มาตรา ๔๖ การฉายภาพยนตร์ในสถานที่ที่บุคคลทั่วไปสามารถดูได้ ต้องเป็นภาพยนตร์ที่จัดอยู่ในประเภทตามมาตรา ๒๖ (๑) หรือ (๒)
มาตรา ๔๗ วีดิทัศน์ที่จะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักรต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์
การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๔๘ วีดิทัศน์ดังต่อไปนี้ ไม่ต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตตามมาตรา ๔๗
(๑) วีดิทัศน์ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นการส่วนตัว
(๒) วีดิทัศน์ที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐสร้างขึ้น เพื่อเผยแพร่หรือส่งเสริมการดำเนินงานของหน่วยงานนั้น
(๓) วีดิทัศน์อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
วีดิทัศน์ตาม (๑) และ (๓) หากนำออกฉายเป็นการทั่วไป ให้เช่า หรือจำหน่ายในราชอาณาจักร ต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตตามมาตรา ๔๗
มาตรา ๔๙ ห้ามผู้ใดส่งวีดิทัศน์ที่สร้างขึ้นในราชอาณาจักรออกไปนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์
การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๕๐ การส่งวีดิทัศน์ดังต่อไปนี้ออกไปนอกราชอาณาจักร ไม่ต้องได้รับอนุญาตตามมาตรา ๔๙
(๑) วีดิทัศน์ที่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตามมาตรา ๔๗
(๒) วีดิทัศน์ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตตามมาตรา ๔๘ วรรคหนึ่ง
มาตรา ๕๑ ให้นำความในมาตรา ๒๙ มาตรา ๓๐ มาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๓๖ มาใช้บังคับแก่วีดิทัศน์โดยอนุโลม
มาตรา ๕๒ ให้นำความในมาตรา ๔๗ และมาตรา ๕๑ รวมทั้งบทกำหนดโทษที่เกี่ยวข้องมาใช้บังคับแก่สื่อโฆษณาวีดิทัศน์โดยอนุโลม
มาตรา ๕๓ ห้ามผู้ใดจัดตั้งหรือประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน
ใบอนุญาตนั้น ให้ออกสำหรับร้านวีดิทัศน์แต่ละแห่ง
การขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับแก่การประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ที่ตั้งอยู่ในสถานบริการที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ
เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองเด็กและเยาวชน การออกกฎกระทรวงตามวรรคสามจะกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับอาคารหรือสถานที่ตั้งของร้านวีดิทัศน์ด้วยก็ได้
มาตรา ๕๔ ห้ามผู้ใดประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวีดิทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน
ใบอนุญาตนั้น ให้ออกสำหรับสถานที่ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวีดิทัศน์แต่ละแห่ง
การขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๕๕ ให้ถือว่าผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๓๘ ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๕๔ ด้วย
มาตรา ๕๖ ใบอนุญาตตามมาตรา ๕๓ และมาตรา ๕๔ ให้มีอายุห้าปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต และให้นำความในมาตรา ๔๐ วรรคสองและวรรคสาม มาใช้บังคับแก่การต่ออายุใบอนุญาตโดยอนุโลม
มาตรา ๕๗ ให้นำความในมาตรา ๓๙ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๒ มาใช้บังคับแก่การประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์และการประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวีดิทัศน์โดยอนุโลม
มาตรา ๕๘ วีดิทัศน์ที่ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๕๓ หรือมาตรา ๕๔ จะมีไว้ในสถานที่ประกอบกิจการของตนเพื่อนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายจะต้องมีลักษณะเช่นเดียวกับวีดิทัศน์ที่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตตามมาตรา ๔๗ และมีการแสดงเครื่องหมายการอนุญาตและหมายเลขรหัสเช่นเดียวกับมาตรา ๓๑ ซึ่งนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๕๑
มาตรา ๕๙ การประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์จะต้องกระทำในวัน เวลา และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองเด็กและเยาวชน การออกกฎกระทรวงตามวรรคหนึ่งจะกำหนดเวลาในการเข้าใช้บริการของผู้ซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ แต่ไม่รวมถึงผู้ซึ่งบรรลุนิติภาวะโดยการสมรสด้วยก็ได้
มาตรา ๖๐ ในกรณีที่มีการขออนุญาตประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์และกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ในสถานที่เดียวกัน จะต้องแยกพื้นที่ในการให้บริการออกจากกัน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๖๑ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) เข้าไปในสถานที่ที่มีการสร้างภาพยนตร์ โรงภาพยนตร์ ร้านวีดิทัศน์ สถานที่ประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ ในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตกหรือในเวลาทำการของสถานที่นั้น เพื่อตรวจสอบภาพยนตร์ วีดิทัศน์ สื่อโฆษณา หรือการกระทำใดที่อาจฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้
(๒) ตรวจ ค้น อายัด หรือยึดภาพยนตร์ วีดิทัศน์ หรือสื่อโฆษณาในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตกหรือในเวลาทำการของสถานที่นั้น
(๓) สั่งให้หยุดการสร้างภาพยนตร์ที่ฝ่าฝืนมาตรา ๒๑ หรือมาตรา ๒๓ วรรคหนึ่ง
(๔) สั่งห้ามการฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์ หรือวีดิทัศน์ที่ฝ่าฝืนมาตรา ๒๕ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๔๗ วรรคหนึ่ง
(๕) สั่งให้หยุดการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์สื่อโฆษณาที่ฝ่าฝืนมาตรา ๒๕ วรรคหนึ่ง ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๓๓ หรือมาตรา ๔๗ ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๕๒
เมื่อได้เข้าไปและลงมือทำการตรวจสอบตาม (๑) หรือทำการค้นตาม (๒) แล้วถ้ายังดำเนินการไม่เสร็จจะกระทำต่อไปในเวลากลางคืนหรือนอกเวลาทำการของสถานที่นั้นก็ได้
การค้นตาม (๒) ต้องมีหมายค้น เว้นแต่มีเหตุอันควรเชื่อว่าหากเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้หลักฐานดังกล่าวจะถูกยักย้าย ซุกซ่อน ทำลาย หรือทำให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม ให้ดำเนินการค้น อายัด หรือยึดหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดได้โดยไม่ต้องมีหมายค้นแต่ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการค้น
มาตรา ๖๒ ภาพยนตร์ วีดิทัศน์ หรือสื่อโฆษณาที่ได้ยึดไว้ตามมาตรา ๖๑ (๒) ถ้าไม่ปรากฏเจ้าของ หรือพนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือศาลไม่พิพากษาให้ริบและผู้เป็นเจ้าของ หรือผู้ครอบครองมิได้ร้องขอรับคืนภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ยึด หรือวันที่ทราบคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือวันที่ศาลพิพากษาถึงที่สุด ให้ตกเป็นของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาหรือกระทรวงวัฒนธรรม แล้วแต่กรณี
มาตรา ๖๓ ในกรณีที่นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งให้หยุดการสร้างภาพยนตร์ตามมาตรา ๖๑ (๓) ให้นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งให้ผู้รับอนุญาตหรือผู้สร้างภาพยนตร์ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืน แก้ไขปรับปรุงหรือปฏิบัติให้ถูกต้องหรือเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนด
ผู้รับอนุญาตหรือผู้สร้างภาพยนตร์ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่เสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์เพื่อพิจารณาเพิกถอนการอนุญาตหรือห้ามสร้างภาพยนตร์ดังกล่าวต่อไป
มาตรา ๖๔ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๖๑ นายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง
บัตรประจำตัวนายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
มาตรา ๖๕ ในการปฏิบัติหน้าที่ให้นายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๖๖ คำสั่งไม่อนุญาตตามมาตรา ๒๐ มาตรา ๒๕ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๔๗ มาตรา ๔๙ หรือมาตรา ๔๗ ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๕๒ คำสั่งเพิกถอนการอนุญาตหรือคำสั่งห้ามสร้างภาพยนตร์ตามมาตรา ๖๓ ของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ผู้ได้รับคำสั่งมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
ให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ ถ้าพิจารณาไม่เสร็จภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวให้ถือว่าเห็นด้วยกับคำอุทธรณ์
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด
มาตรา ๖๗ คำสั่งไม่ออกใบอนุญาต คำสั่งไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต คำสั่งให้ชำระค่าปรับทางปกครอง คำสั่งพักใช้หรือคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตของนายทะเบียนตามมาตรา ๓๗ มาตรา ๓๘ มาตรา ๔๐ มาตรา ๕๓ มาตรา ๕๔ มาตรา ๖๘ มาตรา ๖๙ วรรคสอง มาตรา ๗๐ มาตรา ๗๑ หรือมาตรา ๗๓ ผู้ได้รับคำสั่งมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
ให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ ถ้าพิจารณาไม่เสร็จภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวให้ถือว่าเห็นด้วยกับคำอุทธรณ์
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด
มาตรา ๖๘ ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงภาพยนตร์ผู้ใดฉายภาพยนตร์ไทยน้อยกว่าสัดส่วนที่คณะกรรมการประกาศกำหนดตามมาตรา ๙ (๔) ต้องชำระค่าปรับทางปกครองตามอัตราที่นายทะเบียนกลางประกาศกำหนด ทั้งนี้ ไม่เกินสามแสนบาท
อัตราค่าปรับทางปกครองตามวรรคหนึ่ง นายทะเบียนกลางจะกำหนดให้แตกต่างกันสำหรับแต่ละจังหวัดก็ได้
มาตรา ๖๙ ในกรณีที่ปรากฏแก่นายทะเบียนว่าผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๓๗ หรือมาตรา ๓๘ ผู้ใดดำเนินกิจการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๑ มาตรา ๔๒ หรือมาตรา ๔๔ วรรคหนึ่ง หรือผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๕๓ หรือมาตรา ๕๔ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๑ หรือมาตรา ๔๒ ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๕๗ ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืน แก้ไขปรับปรุง หรือปฏิบัติให้ถูกต้องหรือเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนด
ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนตามวรรคหนึ่งให้นายทะเบียนพิจารณากำหนดค่าปรับทางปกครองในอัตราไม่เกินสองหมื่นบาทต่อวันตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนอยู่
มาตรา ๗๐ ในกรณีที่ปรากฏภายหลังว่าผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๓๗ หรือมาตรา ๓๘ ผู้ใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๓๙ หรือผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๕๓ หรือมาตรา ๕๔ ผู้ใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๓๙ ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๕๗ ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตของผู้รับใบอนุญาตดังกล่าว
มาตรา ๗๑ ในกรณีที่ปรากฏแก่นายทะเบียนว่าผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๕๓ ประกอบกิจการโดยฝ่าฝืนมาตรา ๕๙ หรือมาตรา ๖๐ ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตได้โดยมีกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควรแต่ไม่เกินครั้งละเก้าสิบวัน
ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งประกอบกิจการโดยฝ่าฝืนมาตรา ๕๙ หรือมาตรา ๖๐ อีก ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตของผู้รับใบอนุญาตดังกล่าว
มาตรา ๗๒ ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตไม่ยอมชำระค่าปรับทางปกครองตามที่นายทะเบียนกำหนดตามมาตรา ๖๘ หรือมาตรา ๖๙ ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการบังคับทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๗๓ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดถูกลงโทษปรับทางปกครองตามมาตรา ๖๘ หรือมาตรา ๖๙ และจงใจหรือเจตนากระทำความผิดที่ถูกลงโทษปรับทางปกครองซ้ำอีก ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตของผู้รับใบอนุญาตดังกล่าว แล้วแต่กรณี
มาตรา ๗๔ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษปรับทางปกครองตามมาตรา ๖๘ หรือมาตรา ๖๙ เป็นนิติบุคคล ให้กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินการของนิติบุคคลนั้นต้องรับโทษปรับทางปกครองตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย
มาตรา ๗๖ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท
มาตรา ๗๗ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๓ วรรคหนึ่ง หรือนำภาพยนตร์ตามมาตรา ๒๖ (๗) ออกเผยแพร่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๗๘ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๕ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๘ วรรคสอง มาตรา ๓๔ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๔๙ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท
มาตรา ๗๙ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๗ วรรคหนึ่ง มาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง หรือประกอบกิจการดังกล่าวในระหว่างถูกพักใช้หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนอยู่
มาตรา ๘๐ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๓ มาตรา ๔๔ วรรคสอง มาตรา ๔๕ หรือมาตรา ๕๘ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท
มาตรา ๘๑ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๖ หรือมาตรา ๔๗ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท
มาตรา ๘๒ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๓ วรรคหนึ่ง มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง หรือประกอบกิจการดังกล่าวในระหว่างถูกพักใช้หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนอยู่
มาตรา ๘๓ ผู้ใดขัดขวางหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๖๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๘๔ บรรดาความผิดตามส่วนนี้ ให้คณะกรรมการมีอำนาจเปรียบเทียบได้ และในการนี้คณะกรรมการมีอำนาจมอบหมายให้คณะอนุกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการเปรียบเทียบได้ โดยจะกำหนดหลักเกณฑ์ในการเปรียบเทียบหรือเงื่อนไขประการใดให้แก่ผู้ได้รับมอบหมายตามที่เห็นสมควรด้วยก็ได้
ภายใต้บังคับของบทบัญญัติตามวรรคหนึ่ง ในการสอบสวนถ้าพนักงานสอบสวนพบว่าบุคคลใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และบุคคลนั้นยินยอมให้เปรียบเทียบให้พนักงานสอบสวนส่งเรื่องมายังคณะกรรมการหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายให้มีอำนาจเปรียบเทียบตามวรรคหนึ่งภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ผู้นั้นแสดงความยินยอมให้เปรียบเทียบ
เมื่อผู้กระทำความผิดได้เสียค่าปรับตามที่ได้เปรียบเทียบแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๘๕ ให้นำความในมาตรา ๗๔ มาใช้บังคับแก่กรณีที่นิติบุคคลต้องรับโทษอาญาตามส่วนนี้โดยอนุโลม
มาตรา ๘๖ ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อให้ได้คณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ในระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นรองประธานกรรมการคนที่สอง ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทำหน้าที่คณะกรรมการเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อน และให้ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมเป็นกรรมการและเลขานุการ
มาตรา ๘๗ ในระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ให้คณะกรรมการทำหน้าที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อน
มาตรา ๘๘ ใบอนุญาตหรือการอนุญาตใด ๆ ที่ได้ให้ไว้ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พุทธศักราช ๒๔๗๓ หรือพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๓๐ ที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุหรือถูกเพิกถอน
มาตรา ๘๙ บรรดาคำขออนุญาตที่ได้ยื่นไว้ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พุทธศักราช ๒๔๗๓ หรือพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๓๐ ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑) ถ้าเจ้าพนักงานผู้พิจารณาตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พุทธศักราช ๒๔๗๓ เจ้าพนักงานผู้ตรวจหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๓๐ ยังมิได้มีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับคำขอดังกล่าว ให้ถือว่าเป็นคำขอที่ได้ยื่นตามพระราชบัญญัตินี้ และให้ดำเนินการเกี่ยวกับคำขอดังกล่าวตามพระราชบัญญัตินี้
(๒) ถ้าเจ้าพนักงานผู้พิจารณาตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พุทธศักราช ๒๔๗๓ เจ้าพนักงานผู้ตรวจหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๓๐ ได้มีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับคำขอดังกล่าวแล้ว การดำเนินการเกี่ยวกับคำขอดังกล่าวให้อยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พุทธศักราช ๒๔๗๓ หรือพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๓๐ แล้วแต่กรณี ต่อไปจนกว่าจะถึงที่สุด
มาตรา ๙๐ ผู้ใดประกอบกิจการโรงภาพยนตร์หรือร้านวีดิทัศน์อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ต่อนายทะเบียนภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และเมื่อยื่นคำขอแล้วให้ประกอบกิจการต่อไปได้จนกว่าจะได้รับแจ้งคำสั่งไม่ออกใบอนุญาตจากนายทะเบียน
มาตรา ๙๑ บรรดากฎกระทรวง ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พุทธศักราช ๒๔๗๓ หรือพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๓๐ ที่ใช้อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้คงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะมีกฎกระทรวง ประกาศ หรือคำสั่งตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
การดำเนินการออกกฎกระทรวง ประกาศ หรือคำสั่งตามวรรคหนึ่งให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้รัฐมนตรีรายงานเหตุผลต่อคณะรัฐมนตรี
- ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
- พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
- นายกรัฐมนตรี
(๑) ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงภาพยนตร์ | ฉบับละ ๒๕,๐๐๐ บาท | |
(๒) ใบอนุญาตประกอบกิจการให้เช่าแลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายภาพยนตร์ | ฉบับละ ๕,๐๐๐ บาท | |
(๓) ใบอนุญาตประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ | ฉบับละ ๕,๐๐๐ บาท | |
(๔) ใบอนุญาตประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวีดิทัศน์ | ฉบับละ ๕,๐๐๐ บาท | |
(๕) การอนุญาตให้สร้างภาพยนตร์ต่างประเทศ | เรื่องละ ๕,๐๐๐ บาท | |
(๖) การตรวจพิจารณาภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ | นาทีละ ๕๐ บาท เศษของนาทีให้ปัดทิ้ง |
|
(๗) การตรวจพิจารณาสื่อโฆษณา | เรื่องละ ๒๐๐ บาท | |
(๘) ใบแทนใบอนุญาต | ฉบับละ ๕๐ บาท | |
(๙) การต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงภาพยนตร์ | ฉบับละ ๕,๐๐๐ บาท | |
(๑๐) การต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์ | ฉบับละ ๑,๐๐๐ บาท | |
(๑๑) การต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ | ฉบับละ ๑,๐๐๐ บาท | |
(๑๒) การต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวีดิทัศน์ | ฉบับละ ๑,๐๐๐ บาท |
ในการออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมจะกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม
ให้แตกต่างกันโดยคำนึงถึงลักษณะ ขนาด หรือประเภทของโรงภาพยนตร์ ร้านวีดิทัศน์หรือของสถานที่ประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ก็ได้
หมายเหตุ
แก้ไขเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติภาพยนตร์ พุทธศักราช ๒๔๗๓ ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน บทบัญญัติบางประการจึงไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันซึ่งเทคโนโลยีได้มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ในปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของหลายองค์กรและมีความซ้ำซ้อนกับพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๓๐ ดังนั้น เพื่อปรับปรุงบทบัญญัติตามกฎหมายว่าด้วยภาพยนตร์และกฎหมายว่าด้วยการควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมทั้งปรับปรุงระบบการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ให้อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรเดียวเพื่อลดความซ้ำซ้อนของการตรวจพิจารณา ประกอบกับกิจการภาพยนตร์ในปัจจุบันมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมอย่างเป็นรูปธรรม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
เชิงอรรถ
แก้ไข- ↑ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕/ตอนที่ ๔๒ ก/หน้า ๑๑๖/๔ มีนาคม ๒๕๕๑
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"