พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๑๑/๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๑

แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)


พระราชบัญญัติ
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
พ.ศ. ๒๕๑๑[1]




ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๑
เป็นปีที่ ๒๓ ในรัชกาลปัจจุบัน


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๑๑”

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ให้ยกเลิก

(๑) พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พุทธศักราช ๒๔๘๖

(๒) พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๖

(๓) พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๒

(๔) พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๔๙๕

(๕) พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๔๙๗ และ

(๖) พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๐๔

มาตรา ๔ ให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พุทธศักราช ๒๔๘๖ เป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตามพระราชบัญญัตินี้ และคงมีสภาพเป็นนิติบุคคล มีฐานะเป็นกรมในสำนักนายกรัฐมนตรี

มาตรา ๕ ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่จะมีข้อความแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

“มหาวิทยาลัย” หมายความว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

“สภามหาวิทยาลัย” หมายความว่า สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

มาตรา ๖ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้


หมวด ๑
บททั่วไป


มาตรา ๗ มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาและวิจัย มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการวิจัยส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง และทะนุบำรุงวัฒนธรรม

มาตรา ๘ มหาวิทยาลัยอาจแบ่งส่วนราชการดังนี้

(๑) สำนักงานอธิการบดี

(๒) คณะ

(๓) บัณฑิตวิทยาลัย

และอาจให้มีสถาบันเพื่อการวิจัยและสำนักเพื่อส่งเสริมวิชาการเป็นส่วนราชการในมหาวิทยาลัยอีกได้

สำนักงานอธิการบดีอาจแบ่งส่วนราชการเป็นกองและแผนก

คณะ และบัณฑิตวิทยาลัย อาจแบ่งส่วนราชการเป็นภาควิชาและสำนักงานเลขานุการ

สำนักงานเลขานุการอาจแบ่งส่วนราชการเป็นแผนก

มาตรา ๙ การแบ่งส่วนราชการของมหาวิทยาลัยตามมาตรา ๘ ให้ทำเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๑๐ ภายใต้วัตถุประสงค์ตามมาตรา ๗ มหาวิทยาลัยจะรับบัณฑิตวิทยาลัย วิทยาลัยหรือสถาบันวิชาการชั้นสูงอื่นเข้าสมทบในมหาวิทยาลัยก็ได้ และมีอำนาจให้ปริญญา อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรชั้นใดชั้นหนึ่งแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากบัณฑิตวิทยาลัย วิทยาลัยหรือสถาบันวิชาการชั้นสูงนั้น ๆ ได้

การรับบัณฑิตวิทยาลัย วิทยาลัยหรือสถาบันวิชาการชั้นสูงเข้าสมทบในมหาวิทยาลัย ให้ทำเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษา

การควบคุมบัณฑิตวิทยาลัย วิทยาลัยหรือสถาบันวิชาการชั้นสูง ซึ่งเข้าสมทบในมหาวิทยาลัยนั้น ให้เป็นไปตามข้อบังคับที่สภามหาวิทยาลัยกำหนด

มาตรา ๑๑ นอกจากเงินที่กำหนดไว้ในงบประมาณแผ่นดิน มหาวิทยาลัยอาจมีรายได้ดังนี้

(๑) เงินผลประโยชน์และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย

(๒) ทรัพย์สินซึ่งมีผู้ให้แก่มหาวิทยาลัย

รายได้ของมหาวิทยาลัยไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ

มาตรา ๑๒ บรรดาทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย จะต้องจัดการเพื่อประโยชน์และตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย

ทรัพย์สินซึ่งมีผู้ให้แก่มหาวิทยาลัย จะต้องจัดการตามเงื่อนไข ข้อบังคับและวัตถุประสงค์ซึ่งผู้ให้กำหนดไว้


หมวด ๒
การดำเนินงาน


มาตรา ๑๓ ให้มีสภามหาวิทยาลัย ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นนายกสภามหาวิทยาลัย เลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติ อธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน และผู้อำนวยการสำนักในมหาวิทยาลัยถ้ามี เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยโดยตำแหน่ง และกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งมีจำนวนไม่น้อยกว่าสี่คนและไม่เกินเก้าคน

ให้รองอธิการบดีเป็นเลขานุการสภามหาวิทยาลัย ในกรณีมีรองอธิการบดีหลายคน ให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งรองอธิการบดีคนหนึ่ง เป็นเลขานุการสภามหาวิทยาลัย

มาตรา ๑๔ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิดำรงตำแหน่งสองปีแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งใหม่อีกก็ได้

มาตรา ๑๕ สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจและหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของมหาวิทยาลัย และโดยเฉพาะมีอำนาจและหน้าที่ดังนี้

(๑) จัดวางระเบียบและข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

(๒) พิจารณาหลักสูตรวิชาเพื่อเสนอขอรับความเห็นชอบของสภาการศึกษาแห่งชาติ

(๓) จัดหาวิธีการอันจะยังการศึกษาอบรมและการวิจัยของมหาวิทยาลัยให้เจริญยิ่งขึ้น

(๔) อนุมัติให้ปริญญา ประกาศนียบัตรชั้นสูง อนุปริญญาและประกาศนียบัตร

(๕) เสนอการจัดตั้ง ยุบรวมและเลิกคณะ บัณฑิตวิทยาลัย สถาบันสำนักและภาควิชา

(๖) พิจารณาการรับบัณฑิตวิทยาลัย วิทยาลัยหรือสถาบันวิชาการชั้นสูงเข้าสมทบในมหาวิทยาลัย

(๗) พิจารณาการแต่งตั้งและถอดถอนอธิการบดี รองอธิการบดี คณบดีรองคณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก หัวหน้าภาควิชา ศาสตราจารย์รองศาสตราจารย์และผู้ช่วยศาสตราจารย์

(๘) จัดวางระเบียบเกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย

มาตรา ๑๖ ให้นายกสภามหาวิทยาลัยเป็นผู้เรียกประชุมสภามหาวิทยาลัย

ถ้ากรรมการสภามหาวิทยาลัยตั้งแต่สามคนขึ้นไปร้องขอให้สภามหาวิทยาลัยประชุมเพื่อกิจการอย่างหนึ่งอย่างใด ก็ให้นายกสภามหาวิทยาลัยเรียกประชุม

ในการประชุม ต้องมีกรรมการสภามหาวิทยาลัยมาประชุมอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม

ให้นายกสภามหาวิทยาลัยเป็นประธานในที่ประชุม ในกรณีนายกสภามหาวิทยาลัยไม่อาจมาประชุมได้ ถ้าได้มอบหมายให้บุคคลใดเป็นประธานในที่ประชุม ให้บุคคลนั้นมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับนายกสภามหาวิทยาลัยในการประชุมนั้น

แต่ถ้าไม่ได้มอบหมายก็ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการสภามหาวิทยาลัยสภามหาวิทยาลัยคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

มาตรา ๑๗ การลงมติให้ถือคะแนนเสียงข้างมาก ถ้ามีคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

มาตรา ๑๘ ให้มีอธิการบดีคนหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบในการบริหารงานของมหาวิทยาลัย จะมีรองอธิการบดีคนหนึ่งหรือหลายคนทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยก็ได้

อธิการบดีนั้นจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งโดยคำแนะนำของสภามหาวิทยาลัย และให้ดำรงตำแหน่งสองปี แต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯแต่งตั้งใหม่อีกก็ได้

มาตรา ๑๙ อธิการบดีและรองอธิการบดีต้องมีคุณวุฒิดังนี้

(๑) ได้ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัย หรือได้ปริญญาเอกหรือเทียบเท่าจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นซึ่งสภามหาวิทยาลัยรับรอง หรือ

(๒) ได้ปริญญาจากมหาวิทยาลัย หรือได้ปริญญาหรือเทียบเท่าจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่น ซึ่งสภามหาวิทยาลัยรับรอง และได้ทำการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีในมหาวิทยาลัย หรือในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นซึ่งสภามหาวิทยาลัยรับรอง หรือเคยดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยมาแล้วรวมเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสี่ปี

มาตรา ๒๐ ในกรณีที่ตำแหน่งอธิการบดีว่างลงหรืออธิการบดีไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองอธิการบดีเป็นผู้รักษาการแทนถ้ามีรองอธิการบดีหลายคนให้รองอธิการบดีที่อธิการบดีมอบหมายเป็นผู้รักษาการแทน ถ้าอธิการบดีไม่ได้มอบหมายให้รองอธิการบดีที่มีอาวุโสเป็นผู้รักษาการแทน

ในกรณีที่ไม่มีรองอธิการบดี ให้สภามหาวิทยาลัยกำหนดกรรมการสภามหาวิทยาลัยโดยตำแหน่งคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาการแทนอธิการบดี

มาตรา ๒๑ เพื่อประโยชน์ในการบังคับบัญชาให้ถือว่าอธิการบดีเป็นอธิบดีและรองอธิการบดีเป็นรองอธิบดี ทั้งนี้ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนและกฎหมายอื่น ๆ

มาตรา ๒๒ ในคณะหนึ่ง ให้มีคณบดีคนหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบในงานของคณะ จะมีรองคณบดีคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยก็ได้

คณบดีนั้น สภามหาวิทยาลัยจะได้แต่งตั้งจากคณาจารย์หรือผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยมาแล้วและให้ดำรงตำแหน่งสี่ปี แต่อาจได้รับแต่งตั้งใหม่อีกได้

ถ้ามีการแบ่งภาควิชาก็ให้มีหัวหน้าภาควิชาเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบในงานของภาควิชา

มาตรา ๒๓ ให้มีคณะกรรมการประจำคณะ ประกอบด้วยคณบดีเป็นประธานกรรมการ และหัวหน้าภาควิชาในคณะนั้นเป็นกรรมการ ถ้าในคณะไม่มีการแบ่งภาควิชาหรือมีไม่ถึงสี่ภาควิชา ให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งคณาจารย์ในคณะเป็นกรรมการหรือเป็นกรรมการเพิ่มเติมให้ได้จำนวนสี่คน

ให้คณะกรรมการประจำคณะแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นเลขานุการ

กรรมการซึ่งสภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งสองปีแต่อาจได้รับแต่งตั้งใหม่อีกได้

มาตรา ๒๔ คณะกรรมการประจำคณะมีอำนาจและหน้าที่ดังนี้

(๑) วางระเบียบของคณะด้วยความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัย

(๒) กำหนดหลักสูตรและรายละเอียดเกี่ยวกับหลักสูตรเพื่อเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย

(๓) จัดการสอบไล่

(๔) รับปรึกษาและให้ความเห็นแก่คณบดี

มาตรา ๒๕ ในบัณฑิตวิทยาลัย ให้มีคณบดีคนหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบในงานของบัณฑิตวิทยาลัย จะมีรองคณบดีคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยก็ได้

คณบดีนั้น สภามหาวิทยาลัยจะได้แต่งตั้งจากคณาจารย์หรือผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยมาแล้วและให้ดำรงตำแหน่งสี่ปี แต่อาจได้รับแต่งตั้งใหม่อีกได้

ถ้ามีการแบ่งภาควิชาก็ให้มีหัวหน้าภาควิชาเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบในงานของภาควิชา

มาตรา ๒๖ ให้มีคณะกรรมการประจำบัณฑิตวิทยาลัยประกอบด้วยคณบดีเป็นประธานกรรมการ และกรรมการซึ่งสภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งจากคณาจารย์ในบัณฑิตวิทยาลัยนั้นมีจำนวนไม่เกินเก้าคน

ให้คณะกรรมการประจำบัณฑิตวิทยาลัยแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นเลขานุการ

กรรมการซึ่งสภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งสองปี แต่อาจได้รับแต่งตั้งใหม่อีกได้

มาตรา ๒๗ คณะกรรมการประจำบัณฑิตวิทยาลัยมีอำนาจและหน้าที่ดังนี้

(๑) วางระเบียบของบัณฑิตวิทยาลัยด้วยความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัย

(๒) กำหนดหลักสูตรและรายละเอียดเกี่ยวกับหลักสูตรเพื่อเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย

(๓) จัดการสอบไล่

(๔) รับปรึกษาให้ความเห็นแก่คณบดี

มาตรา ๒๘ ในสถาบัน ให้มีผู้อำนวยการสถาบันคนหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบในงานของสถาบัน

มาตรา ๒๙ ให้มีคณะกรรมการประจำสถาบัน ประกอบด้วยผู้อำนวยการสถาบันเป็นประธานกรรมการ และกรรมการซึ่งสภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งจากคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยนั้นมีจำนวนไม่เกินเก้าคน

ให้คณะกรรมการประจำสถาบันแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นเลขานุการ

กรรมการซึ่งสภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งสองปีแต่อาจได้รับแต่งตั้งใหม่อีกได้

มาตรา ๓๐ คณะกรรมการประจำสถาบันมีอำนาจและหน้าที่ดังนี้

(๑) วางระเบียบของสถาบันด้วยความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัย

(๒) กำหนดหลักสูตรและรายละเอียดเกี่ยวกับหลักสูตรเพื่อเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย

(๓) จัดการสอบไล่

(๔) รับปรึกษาและให้ความเห็นแก่ผู้อำนวยการสถาบัน

มาตรา ๓๑ ในสำนัก ให้มีผู้อำนวยการสำนักคนหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบในงานของสำนัก

มาตรา ๓๒ ให้มีคณะกรรมการประจำสำนัก ประกอบด้วยผู้อำนวยการสำนักเป็นประธานกรรมการ และกรรมการซึ่งสภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งจากคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยนั้นมีจำนวนไม่เกินเก้าคน

ให้คณะกรรมการประจำสำนักแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นเลขานุการ

กรรมการซึ่งสภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งสองปี แต่อาจได้รับแต่งตั้งใหม่อีกได้

มาตรา ๓๓ คณะกรรมการประจำสำนักมีอำนาจและหน้าที่ดังนี้

(๑) วางระเบียบของสำนักด้วยความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัย

(๒) กำหนดหลักสูตรและรายละเอียดเกี่ยวกับหลักสูตรเพื่อเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย

(๓) จัดการสอบไล่

(๔) รับปรึกษาและให้ความเห็นแก่ผู้อำนวยการสำนัก

มาตรา ๓๔ ในการประชุมคณะกรรมการประจำคณะ คณะกรรมการประจำบัณฑิตวิทยาลัย คณะกรรมการประจำสถาบันหรือคณะกรรมการประจำสำนัก ให้นำมาตรา ๑๖ และมาตรา ๑๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๓๕ คณาจารย์ในมหาวิทยาลัย มีดังนี้

(๑) ศาสตราจารย์ซึ่งอาจเป็นศาสตราจารย์ประจำหรือศาสตราจารย์พิเศษ

(๒) รองศาสตราจารย์

(๓) ผู้ช่วยศาสตราจารย์

(๔) อาจารย์ซึ่งอาจเป็นอาจารย์ประจำหรืออาจารย์พิเศษ

มาตรา ๓๖ ศาสตราจารย์พิเศษนั้นจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯแต่งตั้งจากผู้ที่มิได้เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญของมหาวิทยาลัย

มาตรา ๓๗ ศาสตราจารย์ประจำซึ่งพ้นตำแหน่งไปโดยไม่มีความผิดให้เป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณ

มาตรา ๓๘ ศาสตราจารย์ต้องมีคุณวุฒิดังนี้

(๑) ได้ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัย หรือได้ปริญญาเอกหรือเทียบเท่าในสาขาวิชาที่มีการสอนในมหาวิทยาลัยจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นซึ่งสภามหาวิทยาลัยรับรอง และได้ทำการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีในมหาวิทยาลัย หรือในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นซึ่งสภามหาวิทยาลัยรับรอง และได้ทำการวิจัยถึงขั้นที่สภามหาวิทยาลัยเห็นว่าได้ผลดี หรือ

(๒) ได้ปริญญาโทจากมหาวิทยาลัย หรือได้ปริญญาโทหรือเทียบเท่าในสาขาวิชาที่มีการสอนในมหาวิทยาลัยจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นซึ่งสภามหาวิทยาลัยรับรอง และได้ทำการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปีในมหาวิทยาลัย หรือในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นซึ่งสภามหาวิทยาลัยรับรอง และได้ทำการวิจัยถึงขั้นที่สภามหาวิทยาลัยเห็นว่าได้ผลดี หรือ

(๓) ได้ปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัย หรือได้ปริญญาตรีหรือเทียบเท่าในสาขาวิชาที่มีการสอนในมหาวิทยาลัยจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นซึ่งสภามหาวิทยาลัยรับรองและได้ทำการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบห้าปีในมหาวิทยาลัยหรือในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นซึ่งสภามหาวิทยาลัยรับรอง และได้ทำการวิจัยถึงขั้นที่สภามหาวิทยาลัยเห็นว่าได้ผลดีหรือ

(๔) ได้ปริญญาจากมหาวิทยาลัย หรือได้ปริญญาหรือเทียบเท่าในสาขาวิชาที่มีการสอนในมหาวิทยาลัยจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นซึ่งสภามหาวิทยาลัยรับรองและได้ทำการวิจัยถึงขั้นที่สภามหาวิทยาลัยเห็นว่าได้ผลดีเป็นพิเศษในสาขาวิชาที่มีการสอนในมหาวิทยาลัย

มาตรา ๓๙ รองศาสตราจารย์ต้องมีคุณวุฒิดังนี้

(๑) ได้ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัย หรือได้ปริญญาเอกหรือเทียบเท่าในสาขาวิชาที่มีการสอนในมหาวิทยาลัยจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นซึ่งสภามหาวิทยาลัยรับรองและได้ทำการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีในมหาวิทยาลัยหรือในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นซึ่งสภามหาวิทยาลัยรับรอง และได้ทำการวิจัยถึงขั้นที่สภามหาวิทยาลัยเห็นว่าได้ผลดี หรือ

(๒) ได้ปริญญาโทจากมหาวิทยาลัย หรือได้ปริญญาโทหรือเทียบเท่าในสาขาวิชาที่มีการสอนในมหาวิทยาลัยจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นซึ่งสภามหาวิทยาลัยรับรองและได้ทำการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่าเจ็ดปีในมหาวิทยาลัย หรือในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นซึ่งสภามหาวิทยาลัยรับรอง และได้ทำการวิจัยถึงขั้นที่สภามหาวิทยาลัยเห็นว่าได้ผลดี หรือ

(๓) ได้ปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัย หรือได้ปริญญาตรีหรือเทียบเท่าในสาขาวิชาที่มีการสอนในมหาวิทยาลัยจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นซึ่งสภามหาวิทยาลัยรับรองและได้ทำการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปีในมหาวิทยาลัย หรือในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นซึ่งสภามหาวิทยาลัยรับรอง และได้ทำการวิจัยถึงขั้นที่สภามหาวิทยาลัยเห็นว่าได้ผลดี

มาตรา ๔๐ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ต้องมีคุณวุฒิดังนี้

(๑) ได้ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัย หรือได้ปริญญาเอก หรือเทียบเท่าในสาขาวิชาที่มีการสอนในมหาวิทยาลัยจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นซึ่งสภามหาวิทยาลัยรับรอง และได้ทำการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปีในมหาวิทยาลัย หรือในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นซึ่งสภามหาวิทยาลัยรับรอง หรือ

(๒) ได้ปริญญาโทจากมหาวิทยาลัย หรือได้ปริญญาโทหรือเทียบเท่าในสาขาวิชาที่มีการสอนในมหาวิทยาลัยจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นซึ่งสภามหาวิทยาลัยรับรอง และได้ทำการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่าสี่ปีในมหาวิทยาลัยหรือในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นซึ่งสภามหาวิทยาลัยรับรอง หรือ

(๓) ได้ปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัย หรือได้ปริญญาตรีหรือเทียบเท่าในสาขาวิชาที่มีการสอนในมหาวิทยาลัยจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นซึ่งสภามหาวิทยาลัยรับรอง และได้ทำการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่าเจ็ดปีในมหาวิทยาลัย หรือในมหาวิทยาลัย หรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นซึ่งสภามหาวิทยาลัยรับรอง

มาตรา ๔๑ อาจารย์ประจำต้องมีคุณวุฒิได้ปริญญาจากมหาวิทยาลัยหรือได้ปริญญาหรือเทียบเท่าจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นซึ่งสภามหาวิทยาลัยรับรอง หรือเป็นผู้มีความชำนาญในสาขาวิชาที่มีการสอนในมหาวิทยาลัย

อาจารย์พิเศษนั้นอธิการบดีจะได้แต่งตั้งขึ้นประจำปีการศึกษาตามคำแนะนำของคณบดีจากบุคคลที่มีคุณวุฒิเช่นเดียวกับอาจารย์ประจำ


หมวด ๓
ปริญญาและเครื่องหมายวิทยฐานะ


มาตรา ๔๒ ปริญญามีสามชั้น คือ

เอก เรียกว่า ดุษฎีบัณฑิต ใช้อักษรย่อ ด.

โท เรียกว่า มหาบัณฑิต ใช้อักษรย่อ ม.

ตรี เรียกว่า บัณฑิต ใช้อักษรย่อ บ.

มาตรา ๔๓ มหาวิทยาลัยมีอำนาจให้ปริญญาในสาขาวิชาที่มีการสอนในมหาวิทยาลัย

การกำหนดให้สาขาวิชาใดมีปริญญาชั้นใดและจะใช้อักษรย่อสำหรับสาขาวิชานั้นอย่างไร ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

มาตรา ๔๔ สภามหาวิทยาลัยอาจออกข้อบังคับให้ผู้สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรี ได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่งหรือปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับสองก็ได้

มาตรา ๔๕ สภามหาวิทยาลัยอาจออกข้อบังคับกำหนดให้มีประกาศนียบัตรชั้นสูง อนุปริญญาหรือประกาศนียบัตรได้ดังนี้

(๑) ประกาศนียบัตรชั้นสูง ออกให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาใดภายหลังที่ได้รับปริญญาแล้ว

(๒) อนุปริญญาหรือประกาศนียบัตร ออกให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรในสาขาวิชาใดที่ยังไม่ถึงขั้นปริญญา

(๓) ประกาศนียบัตร ออกให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาเฉพาะวิชา

มาตรา ๔๖ มหาวิทยาลัยมีอำนาจให้ปริญญากิตติมศักดิ์แก่บุคคลซึ่งมหาวิทยาลัยเห็นว่าทรงคุณวุฒิสมควรแก่ปริญญานั้น ๆ

มาตรา ๔๗ มหาวิทยาลัยจะจัดให้มีครุยวิทยฐานะและเข็มวิทยฐานะเป็นเครื่องหมายแสดงวิทยฐานะของผู้ได้ปริญญา ประกาศนียบัตรชั้นสูง อนุปริญญาและประกาศนียบัตรก็ได้

การกำหนดลักษณะ ชนิด ประเภท และส่วนประกอบของครุยวิทยฐานะและเข็มวิทยฐานะ ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

ครุยวิทยฐานะและเข็มวิทยฐานะ จะใช้ในโอกาสใด โดยมีเงื่อนไขอย่างใดให้เป็นไปตามที่สภามหาวิทยาลัยกำหนด

มาตรา ๔๘ สภามหาวิทยาลัยอาจออกข้อบังคับกำหนดให้มีเครื่องแบบเครื่องหมาย หรือเครื่องแต่งกายนิสิตได้โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา


หมวด ๔
บทกำหนดโทษ


มาตรา ๔๙ ผู้ใดใช้ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ เครื่องแบบ เครื่องหมายหรือเครื่องแต่งกายนิสิตของมหาวิทยาลัยโดยไม่มีสิทธิที่จะใช้ หรือแสดงด้วยประการใด ๆ ว่าตนมีปริญญา ประกาศนียบัตรชั้นสูง อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรของมหาวิทยาลัยโดยที่ตนไม่มี ถ้าได้กระทำเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิที่จะใช้หรือมีวิทยฐานะเช่นนั้น ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ



ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

จอมพล ถนอม กิตติขจร
นายกรัฐมนตรี


หมายเหตุ

แก้ไข

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทำการสอนได้เพียงบางวิชา จึงจำเป็นต้องปรับปรุงเพื่อขยายวิชาการให้กว้างขวางและขยายส่วนราชการให้เหมาะสมกับวิชา


เชิงอรรถ

แก้ไข
  1. ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๘๕/ตอนที่ ๑๒๓ ก/หน้า ๘ - ๒๙/๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๑.




ขึ้น

 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"