พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. ๒๕๕๐
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดียาเสพติด
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๓ มาตรา ๓๖ และมาตรา ๔๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
พระราชบัญญัตินี้ เรียกว่า “พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. ๒๕๕๐”
พระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป[1]
บทบัญญัติหรือวิธีพิจารณาใดซึ่งพระราชบัญญัตินี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นำบทบัญญัติหรือวิธีพิจารณาแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง หรือกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร มาใช้บังคับ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้
ห้ามมิให้นำบทบัญญัติในหมวด ๓ วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น และหมวด ๔ อุทธรณ์และฎีกา แห่งพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแก่คดีเยาวชนและครอบครัวตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว
ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
“พนักงานอัยการ” หมายความรวมถึง อัยการทหารตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร
“ยาเสพติด” หมายความว่า ยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
“กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด” หมายความว่า กฎหมายว่าด้วยการป้องกันการใช้สารระเหย กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ และกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
“ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” หมายความว่า ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด
“เจ้าพนักงาน” หมายความว่า เจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
“ศาลอุทธรณ์” หมายความว่า ศาลอุทธรณ์ซึ่งมิใช่ศาลอุทธรณ์ภาค
ให้ประธานศาลฎีกา นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ โดยให้ประธานศาลฎีกามีอำนาจออกระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของตน
ระเบียบหรือกฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
ในกรณีจำเป็น และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ เจ้าพนักงานผู้ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย แล้วแต่กรณี มีอำนาจปฏิบัติการอำพราง เพื่อการสืบสวนความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด
การอำพราง หมายความว่า การดำเนินการทั้งหลายเพื่อปิดบังสถานะหรือวัตถุประสงค์ของการดำเนินการ โดยลวงผู้อื่นให้เข้าใจไปทางอื่น หรือเพื่อมิให้รู้ความจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน
ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน และมีเหตุอันสมควร ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจปฏิบัติการอำพรางเพื่อการสืบสวนความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดไปก่อน แล้วรายงานผู้มีอำนาจอนุญาตตามวรรคหนึ่งโดยเร็ว
การอนุญาตและการอำพรางตามวรรคหนึ่ง รวมทั้งการดำเนินการตามวรรคสาม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ ในกฎกระทรวงดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีมาตรการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจด้วย
การกระทำและพยานหลักฐานที่ได้มาจากการอำพรางของเจ้าพนักงานตามมาตรานี้ ให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
ในกรณีจำเป็น และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เจ้าพนักงานผู้ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย แล้วแต่กรณี มีอำนาจครอบครองหรือให้มีการครอบครองยาเสพติดภายใต้การควบคุม ทั้งในและนอกราชอาณาจักร เพื่อการสืบสวนความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดได้
ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนั้น โดยในการมอบหมาย ให้คำนึงถึงระดับความรับผิดชอบของผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย
การครอบครองยาเสพติดภายใต้การควบคุม หมายความว่า การครอบครองชั่วคราวซึ่งยาเสพติด เพื่อส่งต่อแก่ผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับ คำสั่ง หรือการสะกดรอยติดตามของเจ้าพนักงาน ทั้งนี้ การส่งต่อนั้น ให้รวมถึง การนำเข้าหรือส่งออกเพื่อการส่งต่อในหรือนอกราชอาณาจักรด้วย
การขออนุญาต การอนุญาต การครอบครอง ระยะเวลาในการครอบครอง หรือการให้มีการครอบครองยาเสพติดภายใต้การควบคุม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ ในกฎกระทรวงดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีมาตรการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจด้วย
การกระทำและพยานหลักฐานที่ได้มาจากการกระทำของเจ้าพนักงานตามมาตรานี้ ให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
ในกรณีที่เจ้าพนักงานขอให้บุคคลใดซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษเฉพาะในเรื่องหนึ่งเรื่องใดเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้บุคคลนั้นไม่ต้องรับผิดทางแพ่งเป็นการส่วนตัวในบรรดาความเสียหายที่เกิดขึ้น เว้นแต่จะได้กระทำด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง แต่ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการ
ในกรณีจำเป็น และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ เจ้าพนักงานอาจร้องขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ดำเนินการให้ได้มาซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิด และการดำเนินคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ได้รับการร้องขอดังกล่าว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการตามคำร้องขอโดยปฏิบัติตามวิธีการในกฎหมายดังกล่าว
เจ้าพนักงานผู้ใดเปิดเผยหรือส่งมอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ได้มาตามวรรคหนึ่งให้แก่บุคคลอื่น อันมิใช่เพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นล่วงรู้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าว ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
ในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ยึดสิ่งของไว้ตามกฎหมาย และอ้างว่าเป็นยาเสพติด ให้พนักงานสอบสวนส่งสิ่งของที่ยึดนั้นภายในสามวันทำการนับแต่เวลาที่พนักงานสอบสวนได้รับสิ่งของนั้นไว้เป็นของกลางในคดี เพื่อให้ผู้ชำนาญการพิเศษตรวจพิสูจน์และทำความเห็นเป็นหนังสือรวมไว้ในสำนวนการสอบสวน เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่ไม่อาจส่งสิ่งของที่ยึดนั้นภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้ โดยให้บันทึกเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นที่ไม่อาจดำเนินการดังกล่าวไว้ในสำนวนการสอบสวนด้วย
ในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งจำเลยมีทนายความ ถ้าปรากฏว่า จำเลยคนใดจงใจไม่มาศาลหรือหลบหนี และมีความจำเป็นเพื่อมิให้พยานหลักฐานสูญหายหรือยากแก่การนำมาสืบในภายหลัง เมื่อศาลเห็นเป็นการสมควร ก็ให้ศาลมีอำนาจสืบพยานหลักฐานลับหลังจำเลย แต่ต้องให้โอกาสทนายความของจำเลยที่จะถามค้านและนำสืบหักล้างพยานหลักฐานนั้นได้
ในชั้นพิจารณา ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นแต่กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิด หรือคดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้นกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตลอดชีวิตหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานหลักฐานโจทก์ จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง
ให้จัดตั้งแผนกคดียาเสพติดขึ้นในศาลอุทธรณ์ โดยให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่มีการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น และตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้
ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา ๑๖ คดีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ โดยยื่นต่อศาลชั้นต้นในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นให้คู่ความฝ่ายที่อุทธรณ์ฟัง
เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ หรือเมื่อมีการยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรีบส่งอุทธรณ์หรือคำร้องเช่นว่านั้นพร้อมสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ เพื่อพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยเร็ว
คดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต เมื่อไม่มีการอุทธรณ์คำพิพากษา ให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนและคำพิพากษาไปยังศาลอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๔๕ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ในคดีที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน และกรรมใดกรรมหนึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หากมีการอุทธรณ์ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพร้อมความผิดอื่น ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ และให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิจารณาพิพากษาในความผิดอื่นซึ่งมิใช่ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดด้วย
ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยมิชักช้า และภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา ๑๖ และมาตรา ๑๙ คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้เป็นที่สุด คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ในการกระทำกรรมอื่นซึ่งมิใช่ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด คู่ความอาจฎีกาได้ภายใต้บทบัญญัติว่าด้วยการฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา ๑๘ วรรคหนึ่งแล้ว คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกา ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้
เมื่อมีคำร้องขอตามวรรคหนึ่ง ศาลฎีกาอาจพิจารณารับฎีกาในปัญหาเรื่องหนึ่งเรื่องใดไว้วินิจฉัยก็ได้ หากเห็นว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรจะได้วินิจฉัย
คดีที่ศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับฎีกาไว้วินิจฉัย ให้เป็นที่สุดตั้งแต่วันที่ได้อ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์
หลักเกณฑ์และวิธีการยื่นคำขอ ตลอดจนการพิจารณาและมีคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ฎีกาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ทั้งนี้ ในระเบียบดังกล่าวอย่างน้อยต้องระบุเงื่อนเวลาของการสั่งไม่อนุญาตที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อการปฏิบัติตามมาตรา ๒๖๒ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ระเบียบตามวรรคสี่ เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
การอุทธรณ์หรือฎีกาในศาลทหาร ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร
ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษปรับ ให้พนักงานอัยการร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีของกรมบังคับคดีดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องโทษแทนค่าปรับได้
การบังคับคดีตามวรรคหนึ่ง ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมีอำนาจตรวจสอบทรัพย์สิน และให้ถือว่าเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา
บทบัญญัติมาตรานี้ ไม่กระทบต่อการที่ศาลจะมีคำสั่งขังผู้ต้องโทษแทนค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา
ในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด สำหรับฐานความผิดซึ่งต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดสามสิบปีนับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ
ถ้าได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาล แล้วผู้กระทำความผิดวิกลจริต และศาลสั่งงดการพิจารณา หรือหลบหนี จนเกินกำหนดตามวรรคหนึ่งแล้ว นับแต่วันที่ศาลสั่งงดการพิจารณา หรือนับแต่วันที่ผู้นั้นหลบหนี แล้วแต่กรณี ก็ให้ถือว่าเป็นอันขาดอายุความเช่นเดียวกัน
ในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตผู้ใด และผู้นั้นยังมิได้รับโทษ หรือได้รับโทษแต่ยังไม่ครบถ้วนเพราะหลบหนี ถ้ายังมิได้ตัวผู้นั้นมาเพื่อรับโทษเกินกำหนดเวลาสามสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด หรือนับแต่วันที่ผู้นั้นหลบหนี แล้วแต่กรณี เป็นอันล่วงเลยการลงโทษ จะลงโทษผู้นั้นมิได้
บรรดาคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลใดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ศาลนั้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไป และให้บังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ จนกว่าคดีนั้นจะถึงที่สุด
- ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
- โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์
- รองนายกรัฐมนตรี
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบัน การกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดได้เปลี่ยนแปลงไปสู่อาชญากรรมที่มีการจัดตั้งในลักษณะองค์กร และมีลักษณะพิเศษมากยิ่งขึ้น โดยผู้กระทำความผิดอาศัยความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และข้อจำกัดของกฎหมายที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ประกอบกับมีคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดขึ้นสู่การพิจารณาของศาลเป็นจำนวนมาก ซึ่งคดีดังกล่าวมีลักษณะพิเศษและซับซ้อนแตกต่างจากการกระทำความผิดอาญาทั่วไป สมควรมีกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดียาเสพติดโดยเฉพาะ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การสืบสวนสอบสวนโดยการใช้เทคนิคการสืบสวนสอบสวนพิเศษ และกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น การอุทธรณ์ ฎีกา และอายุความ รวมทั้งกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการบังคับชำระค่าปรับตามคำพิพากษา เพื่อให้ศาลพิจารณาพิพากษาและบังคับโทษคดียาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
เชิงอรรถ
แก้ไข- ↑ ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕/ตอนที่ ๙ ก/หน้า ๔๕/๑๔ มกราคม ๒๕๕๑
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"