พระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสําหรับองค์พระมหากษัตริย์ฯ พ.ศ. ๒๕๔๙
เพื่อให้การรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ เป็นไปโดยรัดกุมและเรียบร้อยยิ่งขึ้น จึงให้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็นพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ พ.ศ. ๒๕๔๙
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
เพื่อให้การรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ เป็นไปโดยรัดกุมและเรียบร้อยยิ่งขึ้น
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑ (๘) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจึงวางระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ พ.ศ. ๒๕๔๖”
ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ พ.ศ. ๒๕๒๑
ข้อ ๔ ในระเบียบนี้
“ความปลอดภัย” หมายความว่า ความปลอดภัยส่วนพระองค์ ความปลอดภัยของพระราชฐาน ที่ประทับ พระราชพาหนะ และความปลอดภัยของเอกสาร รวมทั้งการติดต่อสื่อสารซึ่งถ้าหากเปิดเผยอาจกระทบกระเทือนต่อความปลอดภัยส่วนพระองค์ด้วย
“พื้นที่” หมายความว่า บริเวณที่กำหนดให้อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยหนึ่งหน่วยใดที่มีหน้าที่ถวายความปลอดภัยตามระเบียบนี้
ข้อ ๕ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับแก่ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐทั้งปวง เพื่อรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ
ในกรณีที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐแห่งใดมีเหตุพิเศษซึ่งจะต้องมีระเบียบเฉพาะเรื่องที่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดหรือผู้กำกับหน่วยงานของรัฐแห่งนั้นขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อวางระเบียบสำหรับส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐนั้น เป็นกรณีไป
ข้อ ๖ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามระเบียบนี้
ข้อ ๗ การถวายความปลอดภัย ต้องมีการประสานงานโดยใกล้ชิดระหว่างเจ้าหน้าที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และมีเอกภาพในการบังคับบัญชา
ข้อ ๘ การถวายความปลอดภัย ต้องมีความพร้อมทั้งการป้องกันและการตอบโต้และการวางแผนที่รัดกุมและละเอียดรอบคอบ รวมทั้งการถวายพระเกียรติด้วย
ข้อ ๙ การเข้าออกเขตพระราชฐานหรือที่ประทับทุกชั้น ต้องมีการควบคุมดูแลเพื่อให้เกิดความปลอดภัยโดยสมบูรณ์
ข้อ ๑๐ ส่วนราชการที่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ในการถวายความปลอดภัยต้องวางแผนถวายความปลอดภัยโดยละเอียดและชัดเจน ระบุตัวและจำนวนเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบตลอดจนมาตรการถวายความปลอดภัย แล้วเสนอแผนหรือคำสั่งถวายความปลอดภัยเป็นลายลักษณ์อักษรต่อสมุหราชองครักษ์ เพื่อพิจารณาสั่งการก่อนวันเสด็จพระราชดำเนิน
ข้อ ๑๑ ให้ศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการทหารสูงสุด จัดเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งพร้อมด้วยอุปกรณ์ที่จำเป็น ขึ้นควบคุมทางยุทธการกับกรมราชองครักษ์เพื่อทำหน้าที่วางแผนและถวายความปลอดภัย โดยให้อยู่ในการควบคุมทางปฏิบัติของสมุหราชองครักษ์
ข้อ ๑๒ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง ประกอบด้วย
(๑) สมุหราชองครักษ์ | เป็นประธานกรรมการ |
(๒) ปลัดกระทรวงมหาดไทย | เป็นกรรมการ |
(๓) ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ | เป็นกรรมการ |
(๔) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ | เป็นกรรมการ |
(๕) หัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ | เป็นกรรมการ |
(๖) เจ้ากรมข่าวทหารกองบัญชาการทหารสูงสุด | เป็นกรรมการ |
(๗) ผู้บัญชาการศูนย์รักษาความปลอดภัยกองบัญชาการทหารสูงสุด | เป็นกรรมการ |
(๘) ผู้แทนกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน | เป็นกรรมการ |
(๙) เจ้ากรมข่าวทหารบก | เป็นกรรมการ |
(๑๐) เจ้ากรมข่าวทหารเรือ | เป็นกรรมการ |
(๑๑) เจ้ากรมข่าวทหารอากาศ | เป็นกรรมการ |
(๑๒) เสนาธิการ กรมราชองครักษ์ | เป็นกรรมการและเลขานุการ |
ให้คณะกรรมการประชุมปรึกษาประมาณสถานการณ์เพื่อประโยชน์ในการวางแผนถวายความปลอดภัย ทั้งนี้ ตามความจำเป็นและเหมาะสม
ข้อ ๑๓ ขณะประทับ ณ พระราชฐานหรืออาคารที่จัดถวายเป็นที่ประทับชั่วคราว การวางแผนและอำนวยการถวายความปลอดภัย ณ พระราชฐานหรือที่ประทับนั้นให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วย
(๑) สมุหราชองครักษ์ | เป็นประธานกรรมการ |
(๒) เลขาธิการพระราชวัง | เป็นกรรมการ |
(๓) ผู้บัญชาการทหารบก | เป็นกรรมการ |
(๔) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ | เป็นกรรมการ |
ในกรณีที่ประทับในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร ให้ผู้บังคับหน่วยทหารที่รับผิดชอบพื้นที่บริเวณที่ประทับเป็นกรรมการเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งนาย
ข้อ ๑๔ ให้สมุหราชองครักษ์มีอำนาจสั่งการแก่กำลังทหารและตำรวจที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่อยู่ภายในเขตพระราชฐานและที่ประทับ
ข้อ ๑๕ เลขาธิการพระราชวังเป็นผู้บังคับบัญชาสั่งการถวายความปลอดภัยโดยเฉพาะในส่วนที่เป็นหน้าที่ของกองวัง
ข้อ ๑๖ เมื่อได้รับคำขอจากสมุหราชองครักษ์ ให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ หรือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แล้วแต่กรณี จัดกำลังทหารหรือตำรวจถวายความปลอดภัยในเขตพระราชฐานและที่ประทับ
ข้อ ๑๗ หลักเกณฑ์และวิธีการในการถวายความปลอดภัย ณ พระราชฐานและที่ประทับ ให้เป็นไปตามที่สมุหราชองครักษ์และเลขาธิการพระราชวังร่วมกันกำหนด
ข้อ ๑๘ การวางแผนและอำนวยการถวายความปลอดภัยเมื่อเสด็จพระราชดำเนินออกนอกเขตพระราชฐานหรือที่ประทับ ให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วย
(๑) สมุหราชองครักษ์ | เป็นประธานกรรมการ |
(๒) ผู้บัญชาการทหารบก | เป็นกรรมการ |
(๓) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ | เป็นกรรมการ |
ในกรณีเป็นการเสด็จพระราชดำเนินภายในเขตกรุงเทพมหานคร ให้มีกรรมการเพิ่มขึ้นอีกสองนาย คือผู้บัญชาการตำรวจนครบาลและผู้บังคับหน่วยทหารที่รับผิดชอบพี้นที่ที่จะเสด็จพระราชดำเนินถึง แต่ถ้าเป็นการเสด็จพระราชดำเนินจังหวัดอื่น ให้มีกรรมการเพิ่มขึ้นอีกสามนาย คือผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้บังคับหน่วยทหารที่รับผิดชอบพื้นที่ที่จะเสด็จพระราชดำเนินถึง
ข้อ ๑๙ ให้สมุหราชองครักษ์มีอำนาจสั่งการแก่กำลังทหารและตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัยอยู่ในขบวนเสด็จพระราชดำเนิน
ข้อ ๒๐ เมื่อได้รับคำขอจากสมุหราชองครักษ์ ให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ หรือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แล้วแต่กรณี จัดกำลังทหารหรือตำรวจถวายความปลอดภัยในขบวนเสด็จพระราชดำเนิน
ข้อ ๒๑ หลักเกณฑ์และวิธีการถวายความปลอดภัยในขบวนเสด็จพระราชดำเนินให้เป็นไปตามที่สมุหราชองครักษ์กำหนด
ข้อ ๒๒ การวางแผนและอำนวยการถวายความปลอดภัยเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปประทับในที่ชุมนุมสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นในพระราชพิธี รัฐพิธี หรือส่วนพระองค์ ให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการตามข้อ ๑๘
ข้อ ๒๓ ที่ประทับ บริเวณที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ และบริเวณใกล้เคียงจะต้องได้รับการตรวจอย่างละเอียด ทั้งโดยเจ้าหน้าที่และด้วยเครื่องมือเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีสิ่งที่อาจจะเป็นอันตรายอยู่ ณ ที่นั้น การตรวจต้องทำก่อนเวลาเสด็จพระราชดำเนินถึงพอสมควร และเมื่อตรวจแล้วต้องวางเวรยามไว้เพื่อป้องกันจนกว่าจะเสด็จพระราชดำเนินออกจากที่ประทับ
ข้อ ๒๔ ที่ประทับจะต้องมีทางออกสำหรับเหตุฉุกเฉินเสมอ ทางออกนี้ให้เตรียมล่วงหน้าไว้ตั้งแต่ก่อนเสด็จพระราชดำเนินถึงและให้วางกำลังเจ้าหน้าที่ควบคุมไว้โดยให้สามารถเปิดใช้ได้ทันที กับให้รู้แต่เฉพาะเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเท่านั้น
ข้อ ๒๕ ในกรณีที่เสด็จพระราชดำเนินโดยกะทันหัน หรือโดยไม่ได้มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า การตรวจที่ประทับ บริเวณที่เสด็จพระราชดำเนินไปประทับ และบริเวณใกล้เคียงรวมทั้งการเตรียมทางออกสำหรับเหตุฉุกเฉิน ให้กระทำในทันทีที่เจ้าหน้าที่ไปถึง แม้จะเป็นเวลาเมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงแล้วก็ตาม แต่จะต้องระวังมิให้กระทบกระเทือนพระเกียรติได้
ข้อ ๒๖ ให้ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลจัดส่งเจ้าหน้าที่ออกสืบสวนพฤติการณ์และสืบสวนหาข่าวที่อาจจะเป็นภัย หรือพฤติการณ์ที่ไม่เหมาะสมอื่นๆ ก่อนเวลาที่จะเสด็จพระราชดำเนินถึงหากพบว่ามีพฤติการณ์ดังกล่าว ให้ดำเนินการตามอำนาจและหน้าที่
ข้อ ๒๗ การเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์
(๑) ในกรุงเทพมหานคร ให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นผู้จัดยานพาหนะ และเจ้าหน้าที่ประจำยานพาหนะในการถวายความปลอดภัยตามคำขอจากสมุหราชองครักษ์
(๒) ในจังหวัดอื่น ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้บังคับหน่วยทหารในพื้นที่ที่เสด็จพระราชดำเนินถึงเป็นผู้จัดยานพาหนะและเจ้าหน้าที่ประจำยานพาหนะในการถวายความปลอดภัยตามคำขอจากสมุหราชองครักษ์
ข้อ ๒๘ การถวายความปลอดภัยขณะประทับอยู่ในขบวนรถไฟ หรือรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนไม่ว่าจะเป็นของทางราชการหรือของเอกชน ให้อยู่ในความรับผิดชอบของผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยหรือผู้มีอำนาจสั่งการ หรือหน่วยราชการเจ้าของสัมปทานนั้นๆ และผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางหรือผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค แล้วแต่กรณี
ข้อ ๒๙ การเสด็จพระราชดำเนินโดยเรือ ไม่ว่าจะประทับเรือของทางราชการหรือเอกชน การถวายความปลอดภัยในน่านน้ำหรือท้องน้ำ ให้อยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพเรือหรือผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางหรือผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค แล้วแต่กรณี และกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี
ข้อ ๓๐ การเสด็จพระราชดำเนินโดยอากาศยาน
(๑) การถวายความปลอดภัยขณะประทับอยู่ในอากาศยาน ให้อยู่ในความรับผิดชอบของส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นเจ้าของอากาศยานพระที่นั่ง หากเป็นอากาศยานของเอกชนการถวายความปลอดภัยให้อยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แล้วแต่กรณี
(๒) ในกรณีที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นเจ้าของอากาศยานมีกำลังและอุปกรณ์ถวายความปลอดภัยไม่เพียงพอ ให้ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ หรือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แล้วแต่กรณี จัดกำลังและอุปกรณ์ถวายความปลอดภัยสนับสนุนตามคำขอจากสมุหราชองครักษ์
(๓) ในกรณีที่มีอากาศยานหลายหน่วยร่วมอยู่ในขบวนเสด็จพระราชดำเนินให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นเจ้าของอากาศยานพระที่นั่งเป็นผู้รับผิดชอบควบคุมและอำนวยการเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการบินของอากาศยานทุกเครื่อง
ข้อ ๓๑ การวางแผนและอำนวยการถวายความปลอดภัยเมื่อเสด็จพระราชดำเนินต่างประเทศ ให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วย
(๑) สมุหราชองครักษ์ | เป็นประธานกรรมการ |
(๒) ราชเลขาธิการ | เป็นกรรมการ |
(๓) เลขาธิการพระราชวัง | เป็นกรรมการ |
(๔) เลขาธิการคณะรัฐมนตรี | เป็นกรรมการ |
(๕) ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ | เป็นกรรมการ |
(๖) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ | เป็นกรรมการ |
(๗) หัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ | เป็นกรรมการ |
(๘) เสนาธิการ กรมราชองครักษ์ | เป็นกรรมการและเลขานุการ |
ข้อ ๓๒ ให้สมุหราชองครักษ์จัดประชุมเพื่อสำรวจพื้นที่ของประเทศที่จะเสด็จพระราชดำเนิน เพื่อวางแผนและประสานการปฏิบัติการถวายความปลอดภัยร่วมกันกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของประเทศที่จะเสด็จพระราชดำเนิน ตามความเหมาะสม
ข้อ ๓๓ การถวายความปลอดภัยในกรณีอื่นๆ ที่มิได้ระบุไว้ในระเบียบนี้ให้ส่วนราชการที่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ถวายความปลอดภัยโดยเฉพาะเป็นผู้วางแผนแล้วเสนอต่อสมุหราชองครักษ์เพื่อประสานงานและอำนวยการ
ข้อ ๓๔ ให้นำความในหมวด ๑ มาใช้บังคับแก่การรักษาความปลอดภัยสำหรับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์โดยอนุโลม
ข้อ ๓๕ ถ้าสมุหราชองครักษ์ ราชเลขาธิการ หรือเลขาธิการพระราชวัง เห็นสมควรจัดให้มีการรักษาความปลอดภัยสำหรับบุคคลใดซึ่งเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป หรือผู้แทนพระองค์ หรือพระราชอาคันตุกะ ให้สมุหราชองครักษ์ ราชเลขาธิการ หรือเลขาธิการพระราชวังพิจารณาดำเนินการตามระเบียบนี้ตามความจำเป็นโดยสมควรแก่ฐานะและเหตุการณ์
เชิงอรรถ
แก้ไข- ↑ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๓/ตอนที่ ๑๐๖ ก/หน้า ๓/๔ ตุลาคม ๒๕๔๙
- ↑ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๐/ตอนพิเศษ ๔๕ ง/หน้า ๑๐/๑๑ เมษายน ๒๕๔๖
- ↑ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้เปลี่ยนฐานะเป็น พระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ พ.ศ. ๒๕๔๙ โดยประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๖ เรื่อง กฎหมายว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสถาบันพระมหากษัตริย์
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"