พระราชบัญญัติฯเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฯ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔


พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มา
ซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒)
พ.ศ. ๒๕๕๔[1]




ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
เป็นปีที่ ๖๖ ในรัชกาลปัจจุบัน


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔”

มาตรา ๒ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในบทนิยามคำว่า “เขตเลือกตั้ง” ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

““เขตเลือกตั้ง” หมายความว่า ท้องที่ที่กำหนดเป็นเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหรือแบบบัญชีรายชื่อ หรือเขตเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา แล้วแต่กรณี”

มาตรา ๔ ให้ยกเลิกบทนิยามคำว่า “กลุ่มจังหวัด” ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐

มาตรา ๕ ให้ยกเลิกความใน (๒) ของมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(๒) การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งเป็นการลงคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้น โดยเลือกจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเพียงพรรคการเมืองเดียวและใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง”

มาตรา ๖ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๗ เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้

(๑) กำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งต้องกำหนดให้มีการเริ่มรับสมัครไม่เกินยี่สิบวันนับจากวันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใช้บังคับและต้องกำหนดวันรับสมัครไม่น้อยกว่าห้าวัน

(๒) กำหนดวันที่พรรคการเมืองจะยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งต้องกำหนดให้เป็นวันก่อนวันรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งตาม (๑) และกำหนดวันรับสมัครไม่น้อยกว่าห้าวัน

(๓) จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีและจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด ซึ่งจะต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับอำเภอหรือเขตพื้นที่ที่อยู่ในเขตเลือกตั้ง สำหรับการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

ในกรณีที่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้นำความใน (๑) มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

มาตรา ๗ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๙/๑ ในส่วนที่ ๑ บททั่วไปของหมวด ๑ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐

“มาตรา ๙/๑ ภายใต้บังคับมาตรา ๙๕ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ประสงค์จะขอใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้ง ต้องมาลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้ง

การจัดให้มีการใช้สิทธิการลงคะแนนเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งให้กำหนดเพียงหนึ่งวันและต้องเป็นวันเดียวกันทุกเขตเลือกตั้งที่มีการเลือกตั้ง ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงความสุจริตและเที่ยงธรรม และการตรวจสอบเหตุผลและความจำเป็นของผู้ขอใช้สิทธิดังกล่าว”

มาตรา ๘ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๓) ของมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐

“(๓) เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งตาม (๑) และ (๒) ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด”

มาตรา ๙ ให้ยกเลิกมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐

มาตรา ๑๐ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๔ การลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อให้ใช้หน่วยเลือกตั้งและที่เลือกตั้งตามที่กำหนดไว้ สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง”

มาตรา ๑๑ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๔ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๓๔ บุคคลซึ่งจะมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหรือแบบบัญชีรายชื่อ ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ”

มาตรา ๑๒ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๓๕ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๓๕ บุคคลใดประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้ง ให้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคการเมืองใดได้เพียงพรรคการเมืองเดียว และจะสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหรือแบบบัญชีรายชื่อแบบใดแบบหนึ่งได้เพียงแบบเดียวและสมัครรับเลือกตั้งได้เพียงเขตเลือกตั้งเดียว”

มาตรา ๑๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๓๖ ในการสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครของแต่ละพรรคการเมืองที่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใด ยื่นใบสมัครต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งนั้น ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งกำหนด ภายในระยะเวลาการรับสมัคร

การยื่นใบสมัครตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้สมัครยื่นหนังสือรับรองของหัวหน้าพรรคการเมืองที่ส่งสมาชิกผู้นั้นเข้าสมัครรับเลือกตั้ง พร้อมกับชำระเงินค่าธรรมเนียมคนละห้าพันบาทและมีหลักฐานการสมัครครบถ้วนตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับหลักฐานการสมัครและวิธีการสมัครรับเลือกตั้ง”

มาตรา ๑๔ ให้ยกเลิกชื่อ ๓. การสมัครรับเลือกตั้งแบบสัดส่วน ในส่วนที่ ๕ ผู้สมัครและการสมัครรับเลือกตั้ง ของหมวด ๑ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“๓. การสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ”

มาตรา ๑๕ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๑ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๔๑ ในกรณีที่พรรคการเมืองใดจะเสนอบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคการเมืองนั้นจะต้องจัดทำบัญชีรายชื่อ โดยมีหลักเกณฑ์ตามลำดับ ดังต่อไปนี้

(๑) พรรคการเมืองจะเสนอรายชื่อบุคคลใดต้องได้รับความยินยอมเป็นหลักฐานโดยชัดแจ้งจากบุคคลนั้น และบุคคลดังกล่าวต้องเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่จะเสนอรายชื่อเพียงพรรคเดียว

(๒) ให้จัดทำบัญชีรายชื่อตามแบบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด โดยจัดเรียงลำดับรายชื่อผู้สมัครตามลำดับหมายเลขจำนวนไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบห้าคน

บัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องประกอบด้วยรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่าง ๆ อย่างเป็นธรรม และต้องคำนึงถึงโอกาส สัดส่วนที่เหมาะสมและความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงและชาย”

มาตรา ๑๖ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๔๒ การสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ให้หัวหน้าพรรคการเมืองหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าพรรคการเมือง ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้นตามมาตรา ๔๑ ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งตามวันเวลาที่กำหนด พร้อมทั้งหนังสือยินยอมของผู้สมัคร เงินค่าธรรมเนียมการสมัครคนละห้าพันบาท และหลักฐานการสมัครอื่นครบถ้วนตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด”

มาตรา ๑๗ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๓ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๔๓ เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับบัญชีรายชื่อผู้สมัครตามมาตรา ๔๒ แล้วให้คณะกรรมการการเลือกตั้งตรวจสอบหลักฐานประกอบการสมัคร คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ถ้าเห็นว่าถูกต้องให้ประกาศรายชื่อพรรคการเมืองและรายชื่อผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นไว้โดยเปิดเผย ณ สถานที่ตามมาตรา ๓๗ และให้นำความในมาตรา ๓๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

มาตรา ๑๘ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๔๕ ก่อนวันเลือกตั้ง ถ้าปรากฏว่าผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อผู้ใดขาดคุณสมบัติสมัครรับเลือกตั้ง หรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการสืบสวนสอบสวนโดยเร็ว และให้นำความในมาตรา ๔๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

มาตรา ๑๙ ให้ยกเลิกชื่อ ๔. หมายเลขที่จะใช้ลงคะแนนเลือกตั้งแบบสัดส่วนและแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ในส่วนที่ ๕ ผู้สมัครและการสมัครรับเลือกตั้ง ของหมวด ๑ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“๔. หมายเลขที่จะใช้ลงคะแนนเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง”

มาตรา ๒๐ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๔๖ ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ให้พรรคการเมืองที่ส่งสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ได้รับหมายเลขที่จะใช้ลงคะแนนเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นเรียงตามลำดับก่อนหลังในการยื่นบัญชีรายชื่อ ในกรณีที่มีพรรคการเมืองมายื่นบัญชีรายชื่อพร้อมกันและไม่อาจตกลงกันได้ ให้ใช้วิธีจับสลากระหว่างพรรคการเมืองที่มาพร้อมกัน ทั้งนี้ ให้พรรคการเมืองหนึ่งได้รับหนึ่งหมายเลข และถ้าพรรคการเมืองใดส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งด้วย ให้ใช้หมายเลขเดียวกับหมายเลขของผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่ตนสังกัดเป็นหมายเลขประจำตัวผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของพรรคการเมืองนั้น ทุกเขตเลือกตั้งที่ส่งสมัครด้วย

ถ้าพรรคการเมืองใดมิได้ส่งสมัครแบบบัญชีรายชื่อ แต่ส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เมื่อผู้สมัครของพรรคการเมืองนั้นยื่นใบสมัครในเขตเลือกตั้งใด ให้ได้รับหมายเลขประจำตัวผู้สมัครต่อจากหมายเลขสุดท้ายของหมายเลขแบบบัญชีรายชื่อตามวรรคหนึ่ง และเมื่อมีการยื่นใบสมัครของผู้สมัครของพรรคการเมืองอื่นที่ส่งสมัครเฉพาะแบบแบ่งเขตเลือกตั้งอีก ให้ได้รับหมายเลขเรียงลำดับถัดไปตามลำดับการสมัครก่อนหลัง แต่ถ้ามีผู้สมัครพร้อมกันหลายคนและไม่อาจตกลงกันได้ให้ใช้วิธีจับสลากระหว่างผู้สมัครที่มาพร้อมกัน”

มาตรา ๒๑ ให้ยกเลิกมาตรา ๔๗ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐

มาตรา ๒๒ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๘ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๔๘ ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งแทนตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งซึ่งว่างลง ให้ผู้สมัครได้รับหมายเลขประจำตัวผู้สมัครเรียงตามลำดับก่อนหลังในการมายื่นใบสมัคร ถ้ามีผู้สมัครพร้อมกันหลายคนและไม่อาจตกลงกันได้ให้ใช้วิธีจับสลากระหว่างผู้สมัครที่มาพร้อมกัน”

มาตรา ๒๓ ให้ยกเลิกความใน (๒) ของมาตรา ๕๐ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(๒) จำนวนเงินค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองที่จะใช้จ่ายในการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ในกรณีที่ผู้สมัครในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใดได้ใช้จ่ายไปเพื่อการเลือกตั้งเป็นจำนวนเท่าใด ให้นับรวมเป็นค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองด้วย”

มาตรา ๒๔ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๕๒ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๕๒ ภายในกำหนดเก้าสิบวันหลังจากวันเลือกตั้ง ผู้สมัครแต่ละคนและพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ ต้องยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายที่สมุห์บัญชีเลือกตั้งจัดทำขึ้น โดยผู้สมัครหรือหัวหน้าพรรคการเมือง แล้วแต่กรณี ได้รับรองความถูกต้องบัญชีรายรับและรายจ่าย อย่างน้อยต้องประกอบด้วยค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ได้จ่ายไปแล้วและที่ยังค้างชำระ รวมทั้งหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วนตามความเป็นจริงต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง”

มาตรา ๒๕ ให้ยกเลิกความในวรรคสามและวรรคสี่ ของมาตรา ๖๑ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“บัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจะต้องมีช่องทำเครื่องหมายและหมายเลขของพรรคการเมืองและชื่อพรรคการเมืองพร้อมภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองครบทุกพรรคที่ส่งสมัครเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ และมีช่องทำเครื่องหมายว่าไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้งด้วย

บัตรเลือกตั้งสำหรับการลงคะแนนเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อต้องมีลักษณะแตกต่างที่สามารถจำแนกออกจากกันได้อย่างชัดเจน”

มาตรา ๒๖ ให้ยกเลิกความใน (๓) (๔) และ (๕) ของมาตรา ๘๒ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(๓) บัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ทำเครื่องหมายลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครเกินจำนวนหนึ่งคน หรือบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่ทำเครื่องหมายลงคะแนนเลือกพรรคการเมืองเกินหนึ่งพรรคการเมือง

(๔) บัตรที่ไม่อาจทราบได้ว่าลงคะแนนเลือกตั้งให้กับผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งผู้ใดหรือพรรคการเมืองที่ส่งสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด

(๕) บัตรที่ได้ทำเครื่องหมายลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหรือแบบบัญชีรายชื่อ แล้วทำเครื่องหมายในช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้งด้วย”

มาตรา ๒๗ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๘๘ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๘๘ ในเขตเลือกตั้งใด ถ้าในวันเลือกตั้งมีผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งคนเดียว ผู้สมัครจะได้รับเลือกตั้งต่อเมื่อได้รับคะแนนเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น และมากกว่าจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้ง

ในกรณีที่ผู้สมัครได้รับคะแนนเลือกตั้งน้อยกว่าร้อยละยี่สิบของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นหรือไม่มากกว่าจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนน ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งนั้น โดยให้รับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ และให้นำความในมาตรา ๙ มาใช้บังคับ

ในการเลือกตั้งใหม่ตามวรรคสอง ถ้ามีผู้สมัครคนเดียวให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม และถ้าผู้สมัครได้คะแนนเลือกตั้งน้อยกว่าร้อยละยี่สิบของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นอีก หรือได้ไม่มากกว่าจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยให้ดำเนินการตามวรรคสองอีกครั้งหนึ่ง

ในการเลือกตั้งใหม่ตามวรรคสาม ถ้ามีผู้สมัครคนเดียวให้ผู้สมัครซึ่งได้คะแนนเลือกตั้งเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง โดยให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการเลือกตั้งให้ผู้ได้รับเลือกตั้งภายในระยะเวลาตามมาตรา ๘

ในกรณีที่มีการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามวรรคสาม หากปรากฏว่าไม่มีผู้สมัครให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มเติม เพื่อให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และให้นำความในวรรคสองและวรรคสามและความในส่วนที่ ๕ ผู้สมัครและการสมัครรับเลือกตั้ง ๒. การสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งมาใช้บังคับโดยอนุโลม”

มาตรา ๒๘ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๘๙ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๘๙ ภายใต้บังคับมาตรา ๘๘ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครซึ่งได้รับคะแนนเลือกตั้งมากที่สุดในเขตเลือกตั้งนั้นเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้ง ในกรณีที่มีผู้ได้รับคะแนนเลือกตั้งมากที่สุดเท่ากันหลายคน ให้ใช้วิธีการจับสลากซึ่งต้องกระทำต่อหน้าคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งตามวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด”

มาตรา ๒๙ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๙๐ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๙๐ การรวมผลคะแนนเลือกตั้งของการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

(๑) ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งรวมคะแนนเลือกตั้งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของทุกหน่วยเลือกตั้งที่อยู่ในเขตเลือกตั้งในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เพื่อรายงานต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ในการนี้ เพื่อให้การรวมคะแนนเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งอาจมอบหมายให้บุคคลหรือคณะบุคคลช่วยเหลือในการรวมคะแนนเลือกตั้งได้ตามความจำเป็น

(๒) เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดได้รับผลคะแนนเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจากทุกเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งตาม (๑) แล้ว ให้ดำเนินการรวมผลคะแนนเลือกตั้งจากทุกเขตเลือกตั้งแล้วส่งผลการรวมคะแนนดังกล่าวให้คณะกรรมการการเลือกตั้งโดยพลัน”

มาตรา ๓๐ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๙๑ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๙๑ เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับผลรวมคะแนนเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจากคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดแล้ว ให้ดำเนินการคำนวณสัดส่วนเพื่อหาผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ดังต่อไปนี้

(๑) ให้รวมผลคะแนนทั้งหมดที่พรรคการเมืองได้รับคะแนนจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น

(๒) ให้นำคะแนนรวมจาก (๑) หารด้วยหนึ่งร้อยยี่สิบห้า ผลลัพธ์ที่ได้ให้ถือเป็นคะแนนเฉลี่ยต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อหนึ่งคน

(๓) ในการคำนวณหาจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งแต่ละพรรคการเมืองจะได้รับ ให้นำคะแนนรวมของแต่ละพรรคการเมืองที่ได้รับ หารด้วยคะแนนเฉลี่ยตาม (๒) ผลลัพธ์ที่ได้เป็นจำนวนเต็มคือจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นได้รับ โดยเรียงตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น

(๔) ในกรณีที่จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองได้รับรวมกันทุกพรรคการเมืองมีจำนวนไม่ครบหนึ่งร้อยยี่สิบห้าคน ให้พรรคการเมืองที่มีผลลัพธ์ตาม (๓) เป็นเศษที่มีจำนวนมากที่สุด ได้รับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนเรียงตามลำดับ จนกว่าจะมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองทั้งหมดได้รับรวมกันครบจำนวนหนึ่งร้อยยี่สิบห้าคน

(๕) ในการดำเนินการตาม (๔) ถ้ามีคะแนนเท่ากัน ให้พรรคการเมืองที่มีคะแนนเท่ากันจับสลากโดยตัวแทนของพรรคการเมืองที่มีคะแนนเท่ากันภายในวันและเวลาที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด เพื่อให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อครบจำนวน

จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่จะได้รับตามผลการคำนวณข้างต้น จะต้องไม่เกินจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อเท่าที่มีอยู่ในแต่ละบัญชีรายชื่อผู้สมัครที่พรรคการเมืองนั้นได้จัดทำขึ้น”

มาตรา ๓๑ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๙๒ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๙๒ ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งส่วนที่ ๑๐ การดำเนินการกรณีการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับผลการนับคะแนนแบบแบ่งเขตเลือกตั้งตามมาตรา ๘๗ และดำเนินการคำนวณสัดส่วนจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองตามมาตรา ๙๑ แล้วให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการเลือกตั้งว่าผู้สมัครผู้ใดเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ”

มาตรา ๓๒ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๙๓ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๙๓ เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการเลือกตั้งแล้วให้ส่งผลการเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของทุกพรรคการเมืองไปยังประธานรัฐสภาเพื่อทราบโดยเร็ว และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา”

มาตรา ๓๓ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่ง ของมาตรา ๙๖ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๙๖ ผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งติดต่อกันเป็นเวลาน้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง ให้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านติดต่อกันครั้งสุดท้ายเป็นเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน และให้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่ผู้นั้นใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งด้วย”

มาตรา ๓๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๑๐ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๑๐ ก่อนวันประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้าปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมืองผู้ใดได้กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ระเบียบหรือประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือก่อให้ผู้อื่นกระทำ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้ผู้อื่นกระทำการดังกล่าวเพื่อประโยชน์แก่พรรคการเมือง ถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าการกระทำดังกล่าวน่าจะเป็นผลให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจประกาศให้บัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนให้แก่พรรคการเมืองนั้นในการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อเป็นบัตรเสียและมิให้นับเป็นคะแนน ทั้งนี้ เฉพาะในเขตพื้นที่ที่มีการกระทำนั้น

การกำหนดเขตพื้นที่ตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจกำหนดจากหน่วยเลือกตั้งหรือเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งก็ได้ โดยคำนึงถึงผลกระทบแห่งการกระทำนั้น”

มาตรา ๓๕ เมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดประชุมหารือกับหัวหน้าพรรคการเมือง เพื่อกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองและของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกภายหลังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ

มาตรา ๓๖ มิให้นำความในมาตรา ๑๐ (๓) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ มาใช้บังคับกับการแบ่งเขตเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปครั้งแรกภายหลังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ

มาตรา ๓๗ ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งรักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายกรัฐมนตรี


หมายเหตุ

แก้ไข

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑) พุทธศักราช ๒๕๕๔ ได้เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจำนวนห้าร้อยคน โดยให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน ๓๗๕ คน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจำนวน ๑๒๕ คน และมาตรา ๗ ได้บัญญัติให้รัฐสภาดำเนินการพิจารณาและให้ความเห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญนี้ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้


เชิงอรรถ

แก้ไข
  1. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๘/ตอนที่ ๓๖ ก/หน้า ๑/๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๔



ขึ้น

 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"