พระราชบัญญัติให้อำนาจป้องกันประเทศในภาวะสงคราม พุทธศักราช ๒๔๘๘
พระราชบัญญัติ
ให้อำนาจป้องกันประเทศในภาวะสงคราม
พุทธศักราช ๒๔๘๘
ในพระปรมาธิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ ๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๗)
ปรีดี พนมยงค์
ตราไว้ ณ วันที่ ๓๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๗
เปนปีที่ ๑๑ ในรัชชกาลปัจจุบัน
- โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการให้อำนาจในการเตรียมป้องกันประเทศ จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้
- มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า "พระราชบัญญัติให้อำนาจในการป้องกันประเทศในภาวะสงคราม" พุทธศักราช ๒๔๘๘
- มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับได้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
- มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติให้อำนาจป้องกันประเทศในภาวะสงคราม พุทธศักราช ๒๔๘๔
- มาตรา ๔ เมื่อได้มีการประกาศว่าประเทศเข้าสู่ภาวะเตรียมการรบ หรือเมื่อประเทศเข้าสู่ภาวะสงคราม ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารตั้งแต่ชั้นผู้บังคับกองพัน หรือผู้บังคับกองร้อยอิสสระ หรือผู้บังคับการเรือ หรือผู้บังคับกองบินน้อย หรือผู้บังคับกองบินอิสระขึ้นไป ซึ่งปฏิบัติการอยู่ในท้องที่หนึ่ง ท้องที่ใด หรือข้าหลวงประจำจังหวัด หรืออธิบดีกรมตำรวจ แล้วแต่กรณีเป็นผู้มีอำนาจดังต่อไปนี้
- (๑) สั่งให้คนต่างด้าวซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในท้องที่นั้นรายงานตัวตามระยะเวลา หรือห้ามคนต่างด้าวเข้าไปหรือออกจากท้องที่นั้นชั่วคราว
- (๒) สั่งให้บุคคลอพยพไปจากท้องที่นั้นชั่วคราว
- การสั่งตามมาตรานี้ จะทำโดยสั่งเป็นรายบุคคลหรือประกาศกำหนดเขตต์ก็ได้ ในกรณีที่สั่งโดยประกาศ ให้ปิดประกาศไว้ในที่เปิดเผยในท้องถิ่นนั้น และต้องประกาศล่วงหน้าไม่ต่ำกว่าสามวัน
- มาตรา ๕ การสั่งตามความในมาตรา ๔(๒) ให้กระทำได้ฉะเพาะเพื่อเป็นประโยชน์ในการยุทธโดยตรง หรือเพื่อประโยชน์ในการป้องกันภยันตรายอันจะมาถึงตัวผู้รับคำสั่งเนื่องแต่การยุทธเท่านั้น
- มาตรา ๖ ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งที่ได้สั่งตามความในพระราชบัญญัตินี้ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ
- มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ควง อภัยวงศ์
นายกรัฐมนตรี
อ้างอิง
แก้ไข- ราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 3 เล่ม 62. 9 มกราคม 2488