พระราชบัญญัติ นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำรัฐประหาร พ.ศ. ๒๔๙๐
พระราชบัญญัติ
นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำรัฐประหาร
พ.ศ. ๒๔๙๐[1]
ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช คณะอภิรัฐมนตรี ในหน้าที่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร
อลงกฏ
มานวราชเสวี
อดุลเดชจรัส
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๐
เป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
โดยที่นับแต่ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภาและสภาผู้แทน หลังจากที่ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙ เป็นต้นมาภาวะการเมืองภายในประเทศผันแปรไป ประเทศชาติได้ประสบวิกฤตกาลอย่างไม่เคยปรากฏมาแต่กาลก่อน การเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาราษฎรได้รับความกระทบกระเทือนและทรุดโทรมลงอย่างหนัก ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหลายเหล่านี้เป็นที่คาดหมายได้ว่า หากมิได้มีการแก้ไขสถานการณ์ให้ทันท่วงทีแล้ว ประเทศชาติจะเสื่อมโทรมเป็นลำดับอันจะนำมาซึ่งความหายนะในที่สุด จึงได้มีบุคคลคณะหนึ่งประกอบด้วยทหาร ตำรวจและพลเรือนพร้อมใจกันกระทำรัฐประหารขึ้น เพื่อให้เลิกใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙ และประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๔๙๐ ทั้งนี้ เหตุการณ์ได้ดำเนินไปด้วยความราบรื่นปราศจากการรุนแรงแต่อย่างใด และในการกระทำรัฐประหารครั้งนี้ คณะผู้ก่อการรัฐประหารก็มิได้มีความปรารถนาเป็นอย่างอื่น นอกจากที่จะแก้ไขขจัดความเสื่อมโทรมอันบังเกิดแก่ประเทศชาติเพื่อเป็นทางบำบัดความเดือดร้อนของประชาชนและเป็นการจรรโลงประเทศชาติให้วัฒนาถาวร มิได้มุ่งที่จะกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือเพื่อบำเหน็จตอบแทนประการใด จึงเห็นเป็นการสมควรให้มีการนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำรัฐประหารครั้งนี้พระมหากษัตริย์โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแกผู้กระทำรัฐประหาร พ.ศ. ๒๔๙๐"
มาตรา ๒* พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลใด ๆ ก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้ เนื่องในการกระทำรัฐประหารเพื่อเลิกใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙ และประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๔๙๐ หากเป็นการผิดกฎหมายใด ๆ ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง และการใด ๆ ที่ได้กระทำตลอดจนบรรดาประกาศและคำสั่งใด ๆ ที่ได้ออกสืบเนื่องในการกระทำรัฐประหารที่กล่าวแล้ว ให้ถือว่าเป็นอันชอบด้วยกฎหมายทุกประการ
มาตรา ๔ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ควง อภัยวงศ์
นายกรัฐมนตรี
เชิงอรรถ
แก้ไข- ↑ รก. ๒๔๙๐/๖๒/๗๔๑/๒๓ ธันวาคม ๒๔๙๐
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"